กระดานข่าว Save Our Sea.net
ธันวาคม 22, 2024, 05:13:27 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: บอร์ดนี้อ่านได้อย่างเดียว ต้องการตั้งกระทู้ใหม่กรุณาใช้งานบอร์ดใหม่ที่
http://www.saveoursea.net/forums/index.php
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา สมาชิก เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 ... 16 17 [18]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤต : โลกร้อน (2)  (อ่าน 143517 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #255 เมื่อ: มกราคม 20, 2009, 01:25:57 AM »


ปลูกสาหร่ายในทะเล


 
เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ออกไปสำรวจชายฝั่งมหาสมุทรแอนตาร์กติกากับ "เรือเอชเอ็มเอสเอนดิวแรนซ์" ของราชนาวีอังกฤษ และพบว่าการละลายของภูเขาน้ำแข็ง หรือ "ไอซ์เบิร์ก" ได้ปล่อยอนุภาคไอออนออกมา

ไอออนเป็นอาหารของสาหร่าย ทำให้สาหร่ายเต็มท้องทะเล แต่สิ่งที่ดีคือ สาหร่ายเป็นตัวเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นเหตุภาวะโลกร้อน

ศ.ร็อบ ไรสเวลล์ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ กล่าวว่า "เราจะนำ "ไอออนซัลเฟต" หลายตันไปใส่ไว้ในพื้นที่ทดลอง ซึ่งไม่ไกลจากเกาะเซาท์จอร์เจีย และอยู่ห่างจากหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 800 ไมล์ หรือ 1,300 กิโลเมตร เพื่อดูว่าสาหร่ายในเขตทดลองจะเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่าใด"
 


สำหรับสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์เลือกทดลองในทะเลตอนใต้ เพราะทะเลแถบนี้มีไอออนน้อยกว่าทะเลแถบอื่นๆ จึงมีสาหร่ายที่เก็บกักก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า

พื้นที่ทดลองนี้ยังมีขนาดใหญ่มากถึง 20 ล้านตารางไมล์ จนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ คาดว่าสาหร่ายในพื้นที่จะเก็บก๊าซที่เป็นภัยกับโลกได้ 3.5 กิ๊กกะตัน หรือเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อากาศบนโลกร้อนขึ้นอย่างมาก และตั้งแต่พ.ศ.2534 เป็นต้นมา มีปีที่ทำสถิติร้อนที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นบนโลกนับตั้งแต่บันทึกสถิติถึง 10 ปีด้วยกัน นักอุตุนิยมวิทยายังทำนายว่า พ.ศ.2552 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องตระหนักถึงคือ พื้นที่ทดลองไม่ได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว การทดลองอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งหมายความว่าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เปราะบางนั่นเอง



จาก                                         :                            ข่าวสด  หมุนก่อนโลก   วันที่ 20 มกราคม 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #256 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2009, 01:34:22 AM »


ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก "พันธกรณี"ที่"ไทย"ต้องเผชิญ


"ในสภาพการเจรจาปัจจุบัน โอกาสที่จีนจะรอดพ้นพันธกรณีลดการปล่อยก๊าซมีโอกาสน้อยมาก ไทยก็ไม่น่าจะพ้นเช่นกัน" นี่คือข้อความส่วนหนึ่งที่ระบุในผลงานวิจัยของโครงการจัดสรรพันธกรณี

ระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายหลังพิธีสารเกียวโต  โดย ดร.ชโลทร  แก่นสันติสุข  นักเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นักวิจัยชุดโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์โลกร้อน  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.)  ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ  ซึ่งนักวิชาการผู้นี้  ได้คาดการณ์บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะต้องมีพันธกรณีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ซึ่งเดิมไทยไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 1 ต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่พิธีสารเกียวโตกำหนด

ดร.ชโลธรกล่าวว่า  ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่มีความเร่งด่วนและรุนแรงสูงกว่าที่สาธารณชนรับรู้อย่างมาก เมื่อพิจารณาอันตรายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ  ระบบนิเวศ สังคม จะเห็นว่าการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส เป็นขีดจำกัดที่ไม่ได้เข้มงวดเกินไป  โดยข้อมูลปัจจุบัน กำหนดให้ระดับก๊าซเรือนกระจกคงที่ที่ 450 ppm-eq จะให้โอกาสที่เราจะไม่เกิน  2  องศาเซลเซียส แค่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่โลกจะต้องลดลงเพื่อรักษาระดับที่ 450 ppm-eq มีปริมาณที่สูงมากๆ

"ในสภาพการเจรจาปัจจุบัน  ความเคลื่อนไหวของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ไม่ยอมให้จีนหลุดพ้นจากพันธกรณีได้นานนัก และถ้าเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยและอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบ้านเรา  คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า  ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับสูงทีเดียว มากเป็นอันดับ  3  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และมากเป็นอันดับ  26 จาก 186 ประเทศที่เป็นภาคี UNFCCC  ถ้าจีนต้องรับพันธกรณี  ไทยหลุดได้ยาก  อีกประการจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ถ้าจะควบคุมการปล่อยก๊าซไม่ให้ถึงระดับ  450 ppm พันธกรณีต้องมีความเข้มงวด  ประเทศพัฒนาแล้วลดฝ่ายเดียวไม่ได้ ประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ต้องทำด้วย" ดร.ชโลธรกล่าว

เป็นที่รู้กันว่า ที่ประชุมของประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ COP  13  ที่บาหลี  รู้จักกันว่า  "บาหลีโรดแมฟ" ได้กำหนดให้รัฐภาคีดำเนินการเจรจาเพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการจัดการสภาพภูมิอากาศในช่วงหลังปี  2555  ให้สำเร็จภายในการประชุม  COP  15  ที่กรุงโคเปนเฮเกนในปลายปี 2552 นี้

ล่าสุดในการประชุม  COP  14 ที่ประเทศโปแลนด์ เรื่องการจัดสรรพันธกรณีระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอีกประเด็นร้อนที่มีการการเจรจาต่อรองกัน เพื่อหาแนวทางการทำข้อตกลงในการลดภาวะโลกร้อนฉบับใหม่แทนที่ "พิธีสารเกียวโต"  ที่กำลังจะหมดอายุลง ดร.ชโลทร ซึ่งอยู่ในทีมเจรจาของประเทศไทยบอกว่า  ในการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฝ่ายสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของโลกก็เสนอพันธกรณีที่เข้มข้น เป้าหมายสูง  ขั้วประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มเป็นผู้รับภาระมีท่าทีขัดขวางการสร้างพันธกรณีที่เข้มงวด เรียกร้องให้มีการสร้างพันธกรณีที่มีความยืดหยุ่นได้ในอนาคต  ใช้สถานภาพหลักของแต่ละประเทศในการกำหนด  ประเทศอุตสาหกรรมมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก จะให้การปล่อยก๊าซลดลงเร็วไม่ได้ เช่นเดียวกับประเทศขนาดใหญ่ มีการเดินทางระหว่างรัฐต้องใช้พลังงานในภาคขนส่งมาก

ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนหนึ่งก็โยนภาระดังกล่าวให้ประเทศร่ำรวย  และมีแนวโน้มระวังตัว ไม่ให้ประเทศตนเองมีพันธกรณี  ในการประชุมยังเสนอให้แยกการปลดปล่อยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานกับการปลดปล่อยฟุ่มเฟือยออกจากกันด้วยเพื่อความยุติธรรม ข้อเสนออีกประการคือ ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้ลดการปล่อยก๊าซ  การสนับสนุนทางการเงิน  ส่วนประเทศที่มีที่ตั้งบนเกาะแก่งต่างๆ ก็พยายามผลักดันให้มีการลดการปล่อยก๊าซให้ได้มากที่สุด เพราะกลัวผลกระทบจากการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และอาจทำให้น้ำท่วมเกาะ

นอกจากนี้  ที่ผ่านมาได้มีกลุ่มนักวิจัย  นักวิชาการ  องค์กรพัฒนาเอกชน  รวมถึงประเทศภาคี UNFCCC  บางส่วน  ได้นำเสนอข้อเสนอโครงร่างในการจัดการสภาพภูมิอากาศในช่วงหลังปี 2555 ในลักษณะที่แตกต่างกันจำนวนมาก  นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์  อธิบายว่า มีกระบวนการสร้างพันธกรณีหลายรูปแบบ

ตั้งแต่  "Top-down  Approach" มีลักษณะเป็นการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในระดับนานาชาติ แล้วนำข้อตกลงนั้นไปบังคับใช้กับประเทศสมาชิกต่างๆ ทั้งหมด เช่นในกรณีของพิธีสารเกียวโตในปัจจุบัน

อีกรูปแบบ "Menu approach" เป็นลักษณะ Top-down แต่เพิ่มความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกเลือกรับพันธกรณีจากชุดข้อตกลงที่มีความเข้มงวดต่างกัน

สุดท้าย "Bottom-up  Approach" แบบนี้เปิดกว้างให้ประเทศสมาชิกเลือกสร้างพันธกรณีของตนได้เองในแบบที่เหมาะสมกับประเทศของตน

"ในทัศนะส่วนตัว ผมเห็นว่าการสร้างพันธกรณี Top-down ที่พิจารณาการจัดสรรในเชิงหลักการน่าจะเหมาะสมกว่า" ดร.ชโลทรกล่าว

ด้านกรอบของเวลาระยะสั้น  เน้นสร้างระบบพันธกรณีที่สามารถทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีแรงจูงใจในการเข้าร่วม  เพื่อให้เกิดพันธกรณีที่มีขนาดใหญ่และครอบคลุมในอนาคต  ระยะกลาง เน้นกระบวนการขั้นตอนและเชื่อมโยงเป้าหมายระยะสั้นไปสู่เป้าหมายระยะยาว  ที่ต้องการควบคุมระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงสู่ระดับที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตราย  รวมถึงจัดสรรภาระหน้าที่ระหว่างประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียม

ส่วนเรื่องความเข้มงวดต่อเป้าหมายของพันธกรณีมีความขัดแย้งเห็นได้ชัด  พันธกรณีที่เข้มงวด เป้าหมายสูง  ถ้าทำสำเร็จ เป็นไปได้มากที่จะบรรลุเป้าหมายลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย  แต่ประเทศต่างๆ  ไม่เกิดแรงจูงใจที่จะเข้าร่วม ส่วนพันธกรณีที่มีความเข้มงวดของเป้าหมายต่ำ ย่อมสร้างแรงจูงใจได้มากกว่า แต่บรรลุเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมได้ยากขึ้น ประเภทของพันธกรณีเห็นว่ามีแนวโน้มใช้แบบ  Nationnal  emission  targets  (Cap-and-Trade)  คือ  ประเทศใดสามารถลดการปล่อยได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดจะสามารถขายสิทธิการปล่อยที่เหลือได้  แต่ถ้าไม่สามารถลดได้ถึงระดับที่กำหนดไว้ ก็ไม่มีบทลงโทษ

ดร.ชโลทร  ยังให้ข้อมูลแนวคิดที่ปรากฏในการประชุมเกี่ยวกับการจัดสรรพันธกรณีด้วยว่า มีทั้งจัดสรรตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน  ที่แยกเป็นปริมาณการปล่อยรวม  หรือปริมาณการปล่อยต่อหัวประชากร  จัดสรรตามความสามารถที่จะจ่ายหรือความมั่งคั่ง  อีกแนวคิดจัดสรรตามความรับผิดชอบโดยเปรียบเทียบ  และจัดสรรโดยคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์

สำหรับประเทศไทย นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า  วิธีการจัดสรรพันธกรณีที่เป็นประโยชน์และมีความเป็นธรรมต่อไทย  เป็นการจัดสรรตามปริมาณการปล่อยต่อหัวประชากร  หรือจะเป็นการปล่อยสะสมในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้

หากการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีผลกับประเทศไทย  นักวิชาการผู้นี้ชี้ว่า ภาครัฐและภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซปริมาณมาก ต้องมีการเตรียมแผนการรองรับพันธกรณีที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะเราจะไม่สามารถปล่อยก๊าซได้อย่างสบายใจเหมือนที่ผ่านมา ฉะนั้น ต้องมองทางเลือกในการปรับตัวและลดก๊าซเรือนกระจก  เทคโนโลยีแบบใดแบบหนึ่งไม่สามาถตอบสนองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้  รัฐบาลมีเครื่องมือมากมายที่จะใช้ ไม่ว่านโยบายการประหยัดพลังงาน การออกแบบผังเมืองที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง  การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล  ที่สำคัญคือ  ต้องไม่เพิกเฉย  เร่งจัดทำแผนระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาวของประเทศให้เร็วที่สุด

"เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซฝ่ายเดียวไม่ได้ ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว  การแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกัน  ในทางกลับกัน ประเทศกำลังพัฒนา  รวมทั้งประเทศไทยที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราสูง  ถ้าปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพ  การลดก๊าซเรือนกระจกนำมาสู่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ประชาชนคนไทยก็มีสุขภาพดี  ต้นทุนในการลดของประเทศกำลังพัฒนาก็ต่ำกว่าประเทศอุตสาหกรรม  ศักยภาพตรงนี้เองทำให้เป้าหมายในการลดก๊าซของประเทศกำลังพัฒนามีความเป็นไปได้มาก" ดร.ชโลธรกล่าว



จาก                                         :                            ไทยโพสต์    วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552   
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #257 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2009, 01:01:14 AM »


บทวิเคราะห์    :      ปัญหาโลกร้อน..ไทยพร้อมที่จะป้องกันหรือแก้ไขแล้วหรือไม่


ปัญหาโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดปกติอย่างมีการคาดการณ์ว่า ชายฝั่งภาคตะวันออกด้านอ่าวไทยจะเกิดสตอร์มเซิร์จขนาดกลางและเล็ก และอุณหภูมิในปีนี้จะสูงถึง 42 องศาเซลเซียส อันเกิดจากแกนของโลกเอียงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้เกิดคลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟ

ในทางกลับกัน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนา เรื่อง "โลกเปลี่ยน : ฤดูเปลี่ยน : ภูมิอากาศเปลี่ยน" เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักวิชาการออกมาให้ข่าวว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เกิดจากแกนโลกเอียงมากกว่าปกติ และจะส่งผลให้ไทยมีอากาศร้อนสูงถึง 42 องศาในฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งถือเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และไม่ได้ใช้หลักฐานทางวิชาการมาอ้างอิง

ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นที่มีการวิเคราะห์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า น้ำจะท่วมสูงถึง 7 เมตร ปากอ่าวอยู่ที่จังหวัดสระบุรีนั้นไม่เป็นความจริง เพราะหากน้ำทะเลจะสามารถสูงได้ถึง 7 เมตรนั้นหมายความว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่กรีนแลนด์จะต้องละลายทั้งหมดภายใน 10 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้วน้ำแข็งขั้วโลกอยู่มานานกว่า 6 แสนปีแล้ว ไม่มีทางที่น้ำแข็งจะละลายทั้งหมดได้ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งจากรายงานยืนยันขององค์กรนานาชาติ (IPCC) ระบุว่าปัจจุบันน้ำทะเลสูงขึ้นเพียง 3.1 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น

ด้าน ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสตอร์มเซิร์จหรือคลื่นพายุซัดฝั่งว่า ทั่วไปจะมีความรุนแรงเมื่อพายุมีความเร็วลมสูงกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรืออยู่ในระดับพายุโซนร้อนถึงพายุไต้ฝุ่น แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่งรุนแรง 3 ลูก ซึ่งโอกาสของคลื่นพายุซัดในพื้นที่ประเทศไทยเป็นไปได้น้อยมาก เพราะลักษณะภูมิศาสตร์ของไทยมีปราการทางธรรมชาติอยู่ 2 ด้าน คือ ทิศตะวันตกมีประเทศพม่า ทิศตะวันออกมีกัมพูชาและเวียดนาม ช่วยป้องกันลมพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง อิทธิพลพายุจะเป็นลักษณะฝนตกหนักและน้ำท่วมมากกว่า

เหล่านี้เป็นบางตัวอย่างที่คณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หยิบยกขึ้นเพื่อเล่าถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่นของหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือสื่อมวลชนเอง ปัญหานี้จึงถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ที่กำลังสะท้อนถึงการอ่อนด้อยของข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ และการขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งจนอาจนำไปสู่ปัญหาจากภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริงต่อประเทศไทยในอนาคต

ปัญหาความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อนเหล่านี้เกิดจากอะไร??? อาจวิเคราะห์ได้ว่า

1) งานวิจัยในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยเกินไป และไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการหาทางออกและทางแก้ปัญหาได้อย่างเต็มที่
ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาของงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของประเทศไทยในขณะนี้ว่า งานวิจัยไทยยังไม่เป็นระบบและไม่สามารถนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับทางยุโรปหรืออเมริกาซึ่งมีเยอะมาก ได้ เมื่อมองถึงการศึกษาวิจัยของไทยในปัจจุบันจะพบว่า มักเป็นการศึกษาในประเด็นเล็กๆ ที่หยิบยกบางเรื่องขึ้นมาวิจัยเบื้องต้นเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการมองในเชิงการจัดการว่า จะทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น นอกจากนี้พบว่าบางครั้งประเทศไทยนำเอาข้อมูลงานวิจัยจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศ ซึ่ง ผศ.ดร.สมบัติ มองว่าในความเป็นจริงไทยไม่ควรนำงานวิจัยจากต่างประเทศมาใช้เพราะสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศมีความต่างกัน “…เราต้องมีข้อมูลของเรามายืนยันเอง งานวิจัยต้องเป็นงานวิจัยที่ประเทศไทยทำขึ้นเองโดยกำหนดงานวิจัยให้สอดคล้องกับพื้นที่ เพราะพื้นที่ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันได้รับผลกระทบต่างกัน เพราะเกิดมานาน มันสะสม และจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดตราบใดที่มีโลกอยู่...” นักธรณีวิทยากล่าว

หากมองถึงงานวิจัยในต่างประเทศจะพบว่า ต่างประเทศมีการศึกษาถึงภาวะโลกร้อน เพื่อประเมินถึงผลกระทบทั้งต่อคุณภาพชีวิต การเกษตร มาแล้วกว่า 20 ปี เช่น มีการศึกษาว่าพายุฤดูร้อนจะเกิดในพื้นที่ไหน และวิเคราะห์ไปถึงอนาคตว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะมีการเตรียมการรับมืออย่างไร การวิเคราะห์วิจัยจึงเป็นการหาทางป้องกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลในอนาคต แต่งานวิจัยของไทยมักเป็นเรื่องทางการเกษตร ที่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าอีก 10 ปี ข้างหน้าหากไม่มีน้ำจะทำอย่างไร? พืชจะเป็นอย่างไร? ฉะนั้นต้องวางแผนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงจริง ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยยังล้าหลังอยู่มาก หากไทยหยุดนิ่งไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดการเสียเปรียบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด “การได้หรือเสียผลประโยชน์...ขึ้นอยู่กับใครจะเข้าใจปัญหามากกว่ากันและปรับแก้ได้ทัน” ผศ.ดร.สมบัติ กล่าว

2) ประเทศไทยยังขาดการทำงานร่วมกัน ในการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจ และการใส่ใจ เพราะปัจจุบันพบว่าภาครัฐฯ เองรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาคุยกัน ด้วยความเข้าใจ และหาทางออกร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันเรากำลังถูกผลักประเด็นโลกร้อน ไปเป็นประเด็นทางการเมืองทำให้การแก้ไขไม่ถูกจุดดังเช่นในปัจจุบัน

ด้าน ผศ.ดร.สมบัติ มองว่าการทำงานวิจัยของไทยปัจจุบันเป็นแบบเหมาเข่ง (Fashion Policy) ที่หยิบเพียงบางเรื่องขึ้นมาพูดคุยแล้วจบไป แต่มองภาพใหญ่ไม่เป็น เช่นมักมองประเด็นเรื่องของโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ รายได้ สุขภาพ มองแยกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด ซึ่งการมองแบบองค์รวมด้วยการให้ทุกฝ่ายหารือร่วมกันจะสามารถช่วยในการหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นได้
 
ดังนั้นหากประเทศไทยยังไม่มีการทำงานวิจัยที่เป็นเฉพาะพื้นที่ของคนไทยเอง รวมถึงขาดการทำงานร่วมกัน ปัญหาที่ตามมาคือประเทศไทยจะเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ที่มีงานวิจัยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงหาทางออกเพื่อรองรับปัญหา “หากไทยไม่เริ่มงานวิจัย เราจะขาดองค์ความรู้..และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นได้อย่างไรขณะที่คนอื่นเริ่มไปแล้ว.... ช้าไม่เป็นไร แต่เป็นระบบ และจริงจังที่จะทำ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผศ.ดร.สมบัติ กล่าว

ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่สะท้อนถึงมุมมองต่อปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันว่า เรายังคงห่างไกลจากความเข้าใจ และคงต้องยอมรับว่า องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาของไทยยังมีอย่างจำกัด แม้ว่าในการเสวนา คณาจารย์จะยืนยันว่าภาวะโลกร้อนจะไม่ได้เกิดขึ้นฉับพลันทันทีดังที่เข้าใจ แต่หากไทยยังคงขาดแนวทางการวิจัย และประเมินถึงทางออกและทางแก้ไขเพื่อป้องกันภาวะโลกร้อนในอนาคต ประเทศไทยก็จะเสียเปรียบในหลายๆ ประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างแน่นยอน และภาวะโลกร้อนอาจทำให้ไทยต้องอยู่ในภาวะแล้งแค้นในที่สุดอย่างเลี่ยงไม่ได้



จาก                                         :                            สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์     วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #258 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 16, 2009, 01:21:33 AM »


เตือนโลกร้อนรุนแรงเกินคาด



ชิคาโก - นักวิทยาศาสตร์เตือน สถานการณ์โลกร้อนรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปีที่แล้ว ชี้มีสิทธิอยู่เหนือการควบคุมได้ภายในปลายศตวรรษนี้

คณะนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพแวดล้อมชั้นนำของโลกหลายคน เตือนว่า ภาวะโลกร้อนในขณะนี้ มีความรุนแรงกว่าที่คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (ไอพีซีซี) เคยออกรายงานเตือนเอาไว้เมื่อหนึ่งปีก่อน ซึ่งหากไม่มีมาตรการแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง ภาวะโลกร้อนจะรุนแรงขึ้น และรับมือยากขึ้น

ข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมมาได้แสดงให้เห็นว่า ช่วงระหว่างปี 2543-2550 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3.5% ต่อปี เร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้มาก ทั้งยังสูงกว่าอัตราการเติบโตในช่วงทศวรรษ 2533 ซึ่งอยู่ที่ 0.9% ต่อปีถึงกว่า 3เท่า

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ทำให้ปัญหาโลกร้อนซับซ้อนมากยิ่งขึ้นก็คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้ทุ่งทุนดราในแถบขั้วโลกเหนือละลาย ทำให้ป่าฝนเขตร้อนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เก็บสะสมเอาไว้นานหลายพันปีออกมาเป็นปริมาณมากถึงหลายพันล้านตัน ซึ่งจะยิ่งทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไปอีก และก่อให้เกิดวงจรเลวร้ายที่อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมได้ในช่วงปลายศตวรรษนี้



จาก                                         :                            กรุงเทพธุรกิจ     วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #259 เมื่อ: มีนาคม 03, 2009, 01:00:11 AM »


ชี้"โลกร้อน"แค่4องศา มนุษย์ตายอื้อ-ไทยอยู่ไม่ได้


ธารน้ำแข็งละลาย
 
ผู้เชี่ยวชาญสภาวะอุณหภูมิโลก ได้รับเชิญจากนิตยสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำ "นิวไซเอินทิสต์" ฉบับล่าสุดให้ลองวิเคราะห์และวาดภาพแผนที่ออกมาว่า ในอีก 100 ปีข้างหน้า ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส แล้วประเทศทั่วโลกจะมีลักษณะใด พบว่า ทะเลทราย ซาฮาร่าจะขยายพื้นที่ไปไกลถึงทวีปยุโรป มนุษย์อาจเหลือชีวิตรอดอยู่เพียง 10% และที่น่าหวั่นใจคือ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดประมาณ พ.ศ.2593 หรืออีกแค่ 41 ปีข้างหน้า!

จากภาพกราฟิกที่นิวไซเอินทิสต์ทำนายไว้ชี้ว่า ในส่วนของ "ประเทศไทย" ถ้าโลกร้อนขึ้น 4 องศาจริงตามการพยากรณ์จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "พื้นสีน้ำตาล" หมายถึง เป็นเขตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ยากหรือแทบไม่ได้เลย เพราะสภาพอากาศเลวร้ายมาก เกิดเหตุน้ำท่วมรุนแรงหรือแห้งแล้งจัด ส่วนบริเวณ "ปากอ่าวไทย" เป็น "พื้นที่สีแดง" หมายถึง ถูกน้ำท่วมจากการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งระดับน้ำทะเลอาจสูงกว่า 2 เมตร

ส่วนภาพโดยรวมที่จะเกิดขึ้นกับโลก คือ มนุษย์จะย้ายถิ่นไปอยู่ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ ทะเลทรายขยายพื้นที่ ภูเขาน้ำแข็งละลาย

ต่อไปมนุษย์อาจต้องกินแต่ผัก เพราะสัตว์ส่วนใหญ่สูญพันธุ์


1 เมืองตุนหวง ประเทศจีน ถูกทะเลทรายบุก
2 ร้อนจนทะเลทรายขยายพื้นที่
3 กราฟิกแผนที่โลกเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศา


ความแตกต่างทางชีวภาพบนโลกจะหายไป จำนวนปลาในทะเลจะลดจำนวนอย่างฮวบฮาบ เพราะระดับความเป็นกรดในน้ำสูงขึ้น เนื่อง จากแพลงตอนลดลง

และเมื่อพื้นที่อยู่อาศัยน้อยลง มนุษย์อาจอยู่รวมกันบนตึกสูง ไม่แบ่งแยกกันเป็นประเทศอีกต่อไป

ครั้งล่าสุดที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมากคือเมื่อ 55 ล้านปีก่อน เหตุการณ์นี้เรียกว่า "พาเลโอซีน-อีโอซีน เธอร์มัล แม็กซิมั่ม" กล่าวคือ เมื่อทะเลคายก๊าซมีเทนออกมา ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนถึง 5 กิกะตัน จนอุณหภูมิโลกสูงถึง 6 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 100 เมตร เขตทะเลทรายกินพื้นที่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของแอฟริกาไปจนถึงทวีปยุโรป ซึ่งมนุษย์ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเพิ่งเริ่มวิวัฒนาการเมื่อ 250,000 ปีก่อน

ส่วนปัจจุบัน กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในโลกตั้งอยู่ในเขตร้อน เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลา เทศ ถือเป็นพื้นที่เปราะบางต่ออากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบังกลาเทศกำลังเผชิญกับการสูญเสีย ดินแดนถึง 1 ใน 3 อากาศร้อนจัดยังทำให้พื้นที่แถบประเทศเอเชีย เกิดพายุมรสุมที่มีความรุนแรง เพราะเมื่อใดก็ตามที่พื้นดินร้อนขึ้น น้ำก็จะระเหยเร็วขึ้น ทำให้เกิดความแห้งแล้งไปทั่ว

อากาศร้อนจัดยังทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ อย่างเช่นที่ประเทศจีน ภาคใต้-ตะวันตกของสหรัฐ อเมริกากลาง พื้นที่ส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ และออสเตรเลีย เนื่องจากพื้นดินขาดความชุ่มชื้น

เมื่อภูเขาน้ำแข็งละลาย น้ำในแม่น้ำของยุโรปตั้งแต่แม่น้ำดานูบจนถึงแม่น้ำไรน์แห้งผาก ทำให้ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงยังพื้นที่ไกลๆ อย่างที่เคยเลี้ยงในพื้นที่ของประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน จีน ภูฏาน อินเดีย และเวียดนาม

"เราต้องยอมรับว่าเรื่องอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันเราต้องเริ่มปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนี้" ปีเตอร์ ค็อกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศเปลี่ยนแปลง จากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ ประเทศอังกฤษ กล่าว

ขณะที่นายเจมส์ เลิฟล็อก นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) ชี้ว่า มนุษยชาติจะยังคงรอดชีวิตอยู่ได้ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอาจมีมาก ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศาจริง ในอีกร้อยปีข้างหน้า จะเหลือมนุษย์อยู่บนโลกประมาณ 1,000 ล้านคนหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีมนุษย์อยู่ราว 7,000 ล้านคน

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกป่านั้นไม่ได้ช่วยอะไรนักกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นักวิทยา ศาสตร์ของอังกฤษอย่างนายเดวิด วิลคินสัน จากมหาวิทยาลัยจอห์นมัวร์ส มีความเห็นไปในทางตรงข้ามว่า "การฟื้นฟูป่าในบริเวณที่ต้นไม้จำนวนน้อยสามารถส่งผลต่อภูมิอากาศในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มจำนวนฝนและให้ผืนป่าโตนั้น เป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ อย่างที่เกาะเอสเซนชั่น ที่มีมนุษย์ไปอยู่เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ ค.ศ.17 สมัยนั้นมีพืชเพียงแค่ 25 ชนิด แต่จากการปลูกป่าเพิ่มก็ทำให้เกิดฝนตก และป่าก็เติบโตขึ้นมาภายในเวลาเพียงร้อยปี"

ด้านนักวิทยาศาสตร์อย่างนายพอล เจ. ครุตเซ่น นักเคมีเจ้าของรางวัลโนเบลจากสถาบันแม็กซ์แพลงก์เพื่อเคมี ประเทศเยอรมนี เตือนว่า

"ถ้ามนุษย์โลกอยากจะอยู่อย่างปลอดภัย เราต้องลดการแพร่ก๊าซคาร์ บอนลงให้ได้ 70% ภายในพ.ศ.2558 เพราะตอนนี้เราแพร่ก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์"



จาก                                         :                            ข่าวสด     วันที่ 3 มีนาคม 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #260 เมื่อ: มีนาคม 13, 2009, 01:03:28 AM »


นักวิทย์ประชุมอัพเดทข้อมูล ข่าวร้ายเรื่องโลกร้อน
 
นักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คน จะประชุมกันที่โคเปนเฮเกน นำเอางานวิจัยครั้งล่าสุดเกี่ยวกับโลกร้อนไปผลักดันต่อรองทางการเมืองในปลายปีนี้ ประเด็นสำคัญเรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์รู้สึกเป็นห่วงว่าที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)  ออกรายงานประจำปี 2551 มานั้น ข้อมูลล้าสมัยไปแล้ว แต่ข้อมูลของพวกเขาเองชี้แนะว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นมากกว่านั้นในศตวรรษนี้

ในขณะที่รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล่าสุดได้รับการยกย่องว่าตระหนักถึงสาเหตุของโลกร้อนแต่ก็มิได้รวมข้อมูลที่สำคัญล่าสุดเข้าไว้ 

สำหรับการประชุมครั้งนี้แม้จะเกิดขึ้นนอกเหนือคณะกรรมการฯ แต่มันมีความหมายว่าจะมีการคาดการณ์ล่าสุด และนักวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกถ้อยคำของผู้นำทางการเมืองในประเด็นที่มีข้อห่วงใยเรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้นที่รายงานของคณะกรรมการฯแจ้งว่าในศตวรรษนี้จะสูงขึ้นประมาณ 59 เซนติเมตรนั้น ข้อมูลล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์แจ้งว่าจะมีจำนวนที่สูงกว่านั้น และมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชาติที่เป็นพื้นที่เกาะจำนวนมากและพื้นที่ชายฝั่ง

การประชุมของนักวิทยาศาสตร์ครั้งนี้มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนเป็นเจ้าภาพ ลิคเค ฟรีส ผู้อำนวยการประชุมกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ที่จะมาร่วมประชุมนี้จะเสนอข้อมูลล่าสุดและชัดเจนที่สุด ซึ่งนั้นหมายถึงว่าผู้นำการเมืองจะไม่ต้องแก้ตัวว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีกก่อนที่จะทำความตกลงใด.
 
 


จาก                                         :                            ไทยรัฐ     วันที่ 13 มีนาคม 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
สายน้ำ
Moderator
คุณคือสุดยอดรับไปเลย5ดาว
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4627



« ตอบ #261 เมื่อ: เมษายน 28, 2009, 12:36:26 AM »


พลาสติกกับภาวะโลกร้อน


 ภาวะโลกร้อนนั้นกำลังส่งผลทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายลงอย่างเร็วมาก เมื่อน้ำแข็งละลายทำให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติเป็นอย่างมาก และผลกระทบโดยตรงเลยก็คือทำให้ระดับน้ำทะเลนั้นสูงขึ้นจากปกติ ทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างแน่นอนโดยเฉพาะประเทศที่มีความสูงจากน้ำทะเลไม่มากนัก รวมทั้งประเทศไทยของเราก็จะถูกน้ำท่วมหายไปเป็นบางส่วนด้วย ในอนาคตกรุงเทพมหานครก็จะจมไปอยู่ใต้ทะเลอย่างแน่นอนทำให้หลายองค์กรในตอนนี้องค์กรต่างๆของบ้านเราก็เริ่มหันมาผลิตถุงผ้าของตัวเองออกมา และก็มีการรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะการรณรงค์ให้ลดใช้ถุงพลาสติก ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ได้เปิดตัวโครงการ "45 วัน รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน" โดยเซ็นสัญญาร่วมกับ 14 ภาคี หวังสร้างจิตสำนึก และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งเป้ามีผู้ร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)กล่าวว่า สภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลก ต่างตระหนักถึง และหาทางแก้ไข เพราะเมื่ออุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น จะเป็นสาเหตุให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล,ระดับน้ำทะเล , การผลิตพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะส่งผลอย่างหนักในวงกว้าง ทั้งต่อพืช และมนุษย์

 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักในความสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อนดังกล่าว จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดให้มีโครงการ "45 วัน รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน" ขึ้น คือตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ซึ่งเป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) จนถึง 5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) รวมระยะเวลาของโครงการ 45 วัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นการให้ความรู้ และความเข้าใจแก่ประชาชน ในเรื่องของการลดการใช้ถุงพลาสติก อันเป็นอีกหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน

 สำหรับประเทศไทยยังพบว่า ปัจจุบันมีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศกว่า 40,000 ตัน/วัน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีปริมาณขยะที่เก็บขนได้ 8,500 ตัน/วัน เป็นขยะจากถุงพลาสติก 1,800 ตัน/วัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเก็บขนถึง 1.78 ล้านบาท/วัน ซึ่งหากสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บขน 650 ล้านบาท/ปี และสามารถลด CO2 ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกได้ 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งในการจัดโครงการในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก 14 ภาคี ประกอบด้วย 22 ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ และ 2 หน่วยงานภาครัฐ

 ทั้งนี้ ประกอบด้วย ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต, วิลล่ามาร์เก็ต, ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ (เดอะมอลล์กรุ๊ป), ห้างสรรพสินค้าจัสโก้, บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), , สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสฯ บ.สยามพิวรรธน์, คาร์ฟูร์ บริษัทเซ็นคาร์ จำกัด, สยามแฟมิลี่มาร์ท, ห้างสรรพสินค้า แฟชั่นไอส์แลนด์, เซเว่น บริษัท ซีพีออล์ล จำกัด, ร้านหนังสือ B2S, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, Home Work, Office Depot, เพาเวอร์บาย, โรบินสัน, ห้าง ZEN, ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต, บิ๊กซี, กรุงเทพมหานคร และสมาคมสันนิบาตเทศบาล

 สำหรับการดำเนินงานจะให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะทำการบันทึกปริมาณการใช้ถุงพลาสติกตลอดระยะเวลาของโครงการ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้ถุงพลาสติกก่อนร่วมโครงการว่ามีปริมาณลดลงเท่าใด นอกเหนือจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีการแจ้งปฏิทินกิจกรรมมายังกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ในภาพรวม ทั้งนี้จะมีพันธมิตรสื่อมวลชน ทั้งสถานีโทรทัศน์ต่างๆ และค่ายเพลง ให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานด้วย

 นอกจากนี้ ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมผู้จัดโครงการคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถที่จะลดปริมาณจากถุงพลาสติกได้อย่างน้อย 2 ตัน แต่ในส่วนที่นอกเหนือจากการคาดการณ์นี้ ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมหวังว่าการจัดโครงการนี้ขึ้น จะช่วยให้ความรู้กับประชาชนผู้บริโภคในเรื่องของการลดการใช้ถุงพลาสติก อีกทั้งยังกระตุ้นให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน สื่อมวลชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดใช้ถุงพลาสติก หรือช่วยให้การใช้ถุงพลาสติกมีน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และเมื่อสิ้นสุดโครงการคือ วันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก จะมีการแถลงผลการดำเนินกิจกรรมของโครงการต่อผู้แทนของโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP)

 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้ากันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น แต่หลายคนอาจะมีคำถามในใจขึ้นว่า การแจกถุงผ้าของหลายหน่วยงานงานในช่วงที่ผ่านมานั้น การใช้ถุงพลาสติกลดลงหรือไม่ ทำให้ผู้คนตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อนมากน้อยแค่ไหนนั้นตอนไหน หรือว่าเป็นเพียงแค่สินค้าแฟชั่น เมื่อเลือกซื้อหรือรับแจกมาไว้มากมายเกินความจำเป็น มันก็จะไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น กลับจะทำให้เกิดขยะบนโลกมากขึ้น ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ที่แท้จริงที่ทำให้ถุงผ้าเกิดขึ้นมา ฉะนั้นอย่าตามกระแสแฟชั่นมากเกินไป เพราะมันก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นนั่นเอง



จาก                                      :                                 แนวหน้า    วันที่ 28 เมษายน 2552
บันทึกการเข้า

ความจริงใจ อยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด .....
หน้า: 1 ... 16 17 [18]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.2 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.032 วินาที กับ 21 คำสั่ง