สถานการณ์ปะการังฟอกขาว ปี 2553-2554
"ทส." เล็งปิด "อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน-พีพี-ราชา" หลังพบปะการังฟอกขาวสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ แย่กว่าเจอสึนามิถล่ม วันนี้ (16 ม.ค.) นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรีมทำหนังสือเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอให้ปิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา บางส่วน เนื่องจากเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของปะการังในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันจนเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งปะการังเขากวาง ปะการังวงแหวน ปะการังดาวใหญ่ ปะการังโขด เป็นต้น โดยสาเหตุมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นถึงกว่า 30 องศาเซลเซียสตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 ที่ผ่านมาต่อเนื่องกันถึง 3 เดือนรวมทั้งจากของเสียที่ถูกถ่ายเทลงน้ำ โดยเฉพาะของเสียจากเรือที่จอดอยู่จำนวนมากในบริเวณนั้นๆ รวมทั้งอาจเป็นของเสียที่ไหลซึมผ่านชั้นดิน เพราะปะการังที่เสียหายในหลายพื้นที่อยู่ไม่ไกลจากที่พักนักท่องเที่ยวและอีกสาเหตุหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่มีนักดำน้ำไปยืนเหยียบปะการังจนเสียหาย ทั้งนี้จากการสำรวจในหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2553 โดยเฉพาะที่หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน จ.พังงา รวมทั้งหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่และเกาะราชา จ.ภูเก็ต พบว่าในแต่ละแห่งแนวปะการังได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายจากการฟอกขาวมาก เช่น เกาะสุรินทร์เหนือ หน้าช่องแคบตอนใน ปะการังตายถึง 93.6 เปอร์เซ็นต์ เกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวแม่ยายทิศเหนือ ตายถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ เกาะปาชุมบา ตะวันออกเฉียงเหนือ ตายถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เกาะตาชัย ตายถึง 84 เปอร์เซ็นต์ เกาะสุรินทร์ใต้ (อ่าวเต่า) ตาย 85 เปอร์เซ็นต์ เกาะสิมิลัน หน้าประภาคาร ตาย 89.3 เปอร์เซ็นต์ เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 84 เปอร์เซ็นต์ เกาะบางงู ทิศใต้ ตาย 60.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น อธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กล่าวต่อว่า ขณะที่เกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง อาทิ เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะไผ่ เกาะยูง เกาะบิด๊ะใน และเกาะบิด๊ะนอก พบว่า แนวปะการังส่วนใหญ่ของทุก ๆ เกาะ อยู่ในสภาพเสียหาย มีปะการังตายมากกว่าปะการังมีชีวิตประมาณ 2-3 เท่าและเสียหายมาก โดยเฉพาะจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น อ่าวมาหยา อ่าวต้นไทร หาดยาว อ่าวรันตี แหลมตง มีปะการังเขากวางเป็นชนิดเด่น อยู่ในแนวปะการังน้ำตื้นพบว่าปะการังเขากวางกว่าร้อยละ 90 ได้ตายลงเช่นเดียวกับที่เกาะราชาใหญ่อ่าวทิศเหนือ ปะการังตายมากถึง 96.7 เปอร์เซ็นต์และในหลายพื้นที่ไม่พบปะการังวัยอ่อนเลย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าความเสียหายของแนวปะการังจากการฟอกขาวในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่าความเสียหายจากสึนามิเมื่อเดือน ธ.ค. 2547 นายเกษมสันต์ กล่าวอีกว่า ควรมีการลดผลกระทบโดยเฉพาะจากกิจกรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง เพราะพบว่าแนวปะการังหลายบริเวณยังมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวดำน้ำเป็นจำนวนมาก แต่นักท่องเที่ยวยังขาดความรู้ความเข้าใจ มีการเหยียบปะการังของไกด์นำเที่ยวและนักท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง รวมทั้งพบอวนและลอบที่อยู่ในสภาพใหม่และเก่าจำนวนมากในแนวปะการัง ผู้ประกอบการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวให้อาหารปลาในแนวปะการัง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีสาหร่ายขึ้นคลุมปะการังจำนวนมากในหลายบริเวณ เช่น เกาะไผ่ หินกลาง เนื่องจากปลาเปลี่ยนพฤติกรรมไปกินอาหารจากนักท่องเที่ยวแทนที่จะกินสาหร่ายที่ขึ้นคลุมปะการัง รวมทั้งผลักดันให้เรือท่องเที่ยวปรับปรุงเรือ โดยให้มีถังกักเก็บของเสียในเรือ ไมให้มีการปล่อยของเสียลงในแนวปะการังและให้มีการปิดพื้นที่ไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ ในพื้นที่แนวปะการังที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด เช่น บางบริเวณในเขตอุทยานแห่งชาติฯ ที่มีความเสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบเพิ่มจาการท่องเที่ยว เช่น จุดที่น้ำตื้น จนเหยียบพื้นได้ เป็นต้น หากไม่มีการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โอกาสที่แนวปะการังในทะเลอันดามันจะกลับมีความสวยงามสมบูรณ์ดังเดิมคงเป็นไปได้ยาก ด้านนายสุนันท์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดของปะการง ต้องไปสำรวจก่อน ถ้าเสียหายมากก็จำเป็นต้องปิดอุทยานฯ เลย ทั้งหมู่เกาะสิมินลันและสุรินทร์ รวมทั้งพีพี อาจจะเป็นบางจุดแม้จะเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญและขณะนี้อยู่ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวทางทะเลก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียมาก ที่สำคัญท้องทะเลอันดามัน ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นแหล่งที่จะประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกในอนาคต เพราะฉะนั้นจะเสียหายไม่ได้ โดยในวันที่ 20 ม.ค.นี้จะพื้นที่สำรวจที่ จ.ภูเก็ต และในวันเดียวกันนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ จะเรียกประชุมหัวหน้าอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางทะเลทั้ง 26 แห่งเข้าประชุมเพื่อรายงานสถานการณ์ด้วย. ขอบคุณข่าวจาก .... http://www.dailynews.co.th/newstartp...ntentId=115733 |
นับเป็นข่าวดี ที่ทางการเริ่มจะเอาจริงกับการออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากการฟอกขาว หลังจากนิ่งเงียบไม่ยอมทำอะไรมาเกือบปี นับจากเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2553.... |
จะปิดช่วงไหน อย่างไร หลังสำรวจก็น่าจะทำให้ชัดเจนนะคะ
อย่างไรก็คิดแบบผู้ประกอบการด้วยว่า ปีนี้ หน้า ไฮ ก็แย่แล้ว หากปิดทั้งปี แล้วมีประมงมาลักลอบ ก็ไม่ยุติธรรมเช่นกัน |
น้องติ่ง....อย่าเพิ่งวิตกกังวลไปเลยค่ะ คงจะมีการศึกษาให้รอบคอบอีกครั้งว่าจะปิดอุทยานฯ บริเวณใด...เมื่อไร...ยาวนานเพียงใดนะคะ และหากมีการปิดจริง....ก็ต้องมีมาตรการดูแลอย่างดี ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำค่ะ |
อาจารย์บอย (ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง) ได้เขียนบทความลงใน Face Book ได้น่าสนใจมากค่ะ เชิญอ่านดูนะคะ
อ้างอิง:
|
ขอบคุณสำหรับบทความครับพี่น้อย อาจารย์ศักดิ์อนันต์เขียนหลายๆประเด็นไว้โดนใจมากเลยครับ
|
มันเหมือนๆกับเรื่องของ "ไก่ได้พลอย" หรือ "สุนัขในรางหญ้า" อย่างไงก็ไม่รู้นะคะ
แต่ไม่ใช่ "ช้าๆได้พร้าเล่มงาม" แน่ๆ......:( |
ขอบคุณบทความดีๆ จากพี่น้อยค่ะ (ตั้งใจอ่านมากกว่า textbook ตรงหน้าอีก ฮาาา)
หากมีการดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มแข็ง เชื่อว่า ซักวันปะการังสวยๆ จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในทะเลไทยค่ะ แต่ก็ยังกลัว ความไร้วินัยของคนบางกลุ่ม เช่นกันค่ะ |
อาจารย์บอยผู้เขียนบทความนี้ และนักวิชาการอีกหลายๆท่านจากหลายสถาบัน ทำการสำรวจและทำรายงานเรื่องปะการังฟอกขาวกันอย่างเอาจริงเอาจัง ด้วยความห่วงใยและหวังจะให้ปะการัง ได้รับความบอบช้ำน้อยที่สุด และกลับมาฟื้นคืนตัวอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยระบบการทำงานแบบไทยๆของทางการบ้านเรา ทำให้นักวิชาการเหล่านี้เหนื่อยใจ หนักใจ และเกือบจะถอดใจกันเป็นแถวๆ การเขียนบทความนี้ของอาจารย์บอยจึงเหมือนกลั่นออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจจริงๆ จึงน่าสนใจและน่าติดตามมากค่ะ พวกเราก็ต้องมาช่วยกันลุ้นว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือ จะไม่มีอะไรในกอไผ่.... |
ดูเหมือนนักวิชาการทุกคนทำงานกันหนักมากๆ แต่ข้างบนเอาตัวรอดไปวันๆ
ดูคำตอบของท่านอธิบดีกรมอุทยานซิครับ ผมว่า....ด้านแท้ๆ รู้ปัญหาอยู่เต็มอกตั้งแต่ปีมะโว้ ผมจะลองนะครับ(แต่จริงๆไอเดียยังเป็น 0 แค่รู้ว่าถ้ามันเกิดแล้วจะดีมาก) ผลักดันให้เกิดคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมที่ดูและเรื่องปะการังฟอกขาวโดยตรง หวังว่าผู้ที่มีความรู้อย่างท่านๆจะได้เข้าไปนั่งกำกับดูแล |
จริงๆตอนนี้ก็มีคณะกรรมการฯที่ประกอบด้วยนักวิชาการ วิทยาศาสตร์ทางทะเล หลายท่านจากหลายสถาบัน ดูแลปัญหานี้อยู่แล้วนะครับ ซึ่งสองสายเคยเข้าร่วมสังเกตุการณ์การประชุมมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่เอาจริง เป็นห่วงจริงๆ และอยากทำอะไรจริงๆก็คือ ท่านนักวิชาการเหล่านี้แหล่ะครับ สำรวจกันก็แล้ว ทำรายงานสรุปกันก็แล้ว เหลืออยู่แต่ทางหน่วยงานราชการเท่านั้นครับที่จะต้องคุยตกลงกันเอง และตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไป |
พี่จ๋อมครับ คณะกรรมการมีจริงครับ ทำงานจริงครับ ก็เหล่านักวิชาการทั้งหลายที่พยายามผลักพยายามดันกันงกๆนี่แหละ ทำทุกอย่างก็แล้วแต่ขาดกำลัง และอำนาจที่จะดำเนินการได้ คงช่วยกันทำออกมาเพียงในรูปของรายงานสรุปที่พร้อมนำมาปฎิบัติได้ ถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนอาหารที่ปรุงเสร็จพร้อมเสิร์ฟมาบนโต๊ะซึ่งมันก็ยากอยู่แล้วที่จะปรุงอาหารเหล่านี้ แต่ที่ยากยิ่งกว่าก็คือการป้อนอาหารเหล่านี้ให้แก่ผู้ที่(แกล้ง)พิการทางสมองซึ่งจะต้องเอาอาหารเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ก็นะ คนมันสมองพิการไปแล้วจะรู้ค่าอาหารที่ปรุงมาได้ยังไง คงต้องพยายามง้างปากป้อนอาหารกันต่อไป
ปล.ถ้าแรงไปก็ลบได้นะครับ |
เห็นใจคณะกรรมการมากๆค่ะ....ที่ทั้งผลักทั้งดัน จนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าระอาใจไปตามๆกัน ถ้าคนรับเรื่องไปทำต่อสมองพิการจริงๆ ก็น่าสงสาร และคงต้องตำหนิคนที่รับคนสมองพิการมาทำงานนะคะ.... เอ...หรือจะ(แกล้ง)สมองพิการกันไปหมดอย่างน้อง sea addict ว่า.....:p |
ผมอยากให้มีอนุกรรมการตามที่แนบด้านล่างครับ จะได้มีกำลังมากพอ
ทุกอย่างทำไปจะได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น http://www.onep.go.th/neb/4.%20Subco...e/sub_com.html |
ที่ผมจะบอกก็ตรงกับที่น้อง sea addict บอกน่ะแหละครับ เพียงแต่ไม่ค่อยจะกล้าใช้คำรุนแรงเท่านั้นเอง .... สรุปแล้ว มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินมากกว่าผลประโยชน์ทางธรรมชาติครับ อย่างหนึ่งที่น่าจะเริ่มทำดูคือ .... ยกเลิกการเข้าไปพักแรมบนเกาะของอุทยานทางทะเล ให้เหมือนกับที่ได้ทำไปแล้วที่ อช.เขาใหญ่ และตรวจสภาพเรือทุกลำว่ามีระบบเก็บของเสียจากเรือหรือไม่ ก่อนที่จะออกบัตรอนุญาตให้เข้าไปจอดเรือในเขตอุทยานได้ |
ท่านๆที่กำลังกังวลเรื่องการปิดคงจะต้องทำใจให้สบายๆไว้ก่อนครับ ปัญหานี้จากการได้คุยกับหลายๆฝ่าย คิดว่าเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการให้น้อยที่สุดจากมาตรการนี้ก็น่าจะเป็นการปิดเฉพาะจุดในแต่ละอุทยานฯเท่านั้น คงไม่ปิดทั้งหมด ในส่วนที่ยังมีศักยภาพและคาดว่าการดำน้ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณที่ดำน้ำนั้นมากนัก ก็ยังคงเปิดให้ดำน้ำกันต่อไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลและการตัดสินใจของผู้ที่เกียวข้องอีกที
ทั้งนี้ผมมองว่า การปิดนั้นมันสำคัญอยู่ที่ว่ามันปิดจริงหรือปิดหลอก ขนาดแฟนตาซีจุดเดียว ยังมีการลักลอบดำกันอยู่เลย เจ้าหน้าที่มีเพียงพอหรือไม่ที่จะดูแลจุดที่จะสั่งปิดซึ่งคาดว่าน่าจะมีหลายจุด หากยังมีไม่พอ กรมของท่านพร้อมที่จะเสริมกำลังและงบประมาณเพื่อการนี้หรือไม่ การทุ่มทุนดูแลทรัพยากรโดยไม่มีผลตอบแทนจากการท่องเที่ยวเข้ามาท่านเจ้ากรมนี้จะยอมทำหรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป ที่สำคัญหลังจากปิดแล้วจะมีมาตรการต่อเนื่องอย่างไรที่จะทำให้ทราบว่า การปิดจุดดำน้ำเหล่านี้จะช่วยให้แหล่งปะการังของเราได้ฟื้นตัวจริงๆ กรมกองใดจะเป็นผู้รับผิดชอบติดตาม จะจัดสรรงบประมาณในส่วนใดมาใช้เพื่อการนี้ มีโอกาสจะเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในมาตรการเหล่านี้หรือไม่ เหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญ นับว่าเป็นงานวัดใจผู้บริหารกรมกองทั้งหลายจริงๆ พูดจริงทำจริงอ๊ะป่าว? |
อ่านข่าวนี้แล้ว "เซ็งเป็ด.....
กรมอุทยานฯกร้าวไม่ปิดอันดามันฟื้นปะการัง http://www.dailynews.co.th/content/i...9/aundaman.gif วันนี้ (19 ม.ค.) นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ได้ส่งข้อมูลเรื่องปะการังฟอกขาวในบริเวณทะเลอันดามันมาให้ รวมทั้งเสนอให้ปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลเกือบทั้งหมด เพื่อให้ปะการังที่ฟอกขาวได้ฟื้นตัวนั้น ตนได้สั่งให้เจ้าหน้าของกรมอุทยานเข้าไปสำรวจเพิ่มเติมในส่วนของพื้นที่ที่ทางทช.แจ้งมา และในวันที่ 20 มกราคม เจ้าหน้าที่จะมารายงานผลการไปสำรวจในที่ประชุมของกรมอุทยานฯ ซึ่งตนได้เรียกหัวหน้าอุทยานทางทะเลทั้งหมดมาประชุมร่วมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมหารือในเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรดี “เบื้องต้นแล้ว ผมเห็นว่า เรายังไม่จำเป็นถึงขั้นต้องปิดอุทยานทางทะเล เพราะถึงปิดก็ไม่ได้ทำให้ปะการังฟอกขาวฟื้นขึ้นมาได้ในเวลานี้ แต่ควรจะหามาตรการที่จะลดผลกระทบ ไม่ให้ใครเข้าไปรบกวนมากกว่า การปิดอุทยานทางทะเลจะเกิดให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง”นายสุนันต์ กล่าว เมื่อถามว่า แสดงว่ากรมอุทยานจะไม่ทำตามที่ทางทช.เสนอให้ปิดอุทยานใช่หรือไม่ นายสุนันต์ กล่าวว่า ต้องรอฟังจากที่ประชุมในวันที่ 20 ม.ค.ก่อน ว่าทั้งเจ้าหน้าที่และนักวิชาการจะว่าอย่างไร แต่ตนเห็นว่า การหามาตรการที่เข้มงวดและเหมาะสมในการป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปรบกวน พื้นที่ที่มีความวิกฤตเรื่องปารังฟอกขาวน่าจะเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่าปิดอุทยานทั้งหมด อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่วิกฤตมากๆอาจต้องปิดบางส่วนก็ได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ เกาะเฮ และเกาะแอล จ.ภูเก็ต โดยสื่อมวลประจำกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ดำน้ำลงไปสำรวจปาการังรอบเกาะดังกล่าว พบว่า มีปะการังกิ่ง ปะการังก้อน ปะการังเขากวาง ปะการังโขด ฟอกขาวทั้งหมดมากกว่า 90% โดยบริเวณเกาะแอลนั้น ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปดูปะการังเลย เพราะไม่มีปะการังสวยงามให้ดูอีกต่อไป ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้บริเวณดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบริเวณเกาะเฮ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนักนั้น เกาะดังกล่าวมีรีสอร์ทของเอกชนตั้งอยู่ มีบริษัททัวร์แห่งหนึ่งได้นำนักท่องเที่ยวชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ประมาณ 500 คน มาดำน้ำชมปะการังน้ำตื้น ปรากฏว่านักท่องเที่ยวต่างทั้งดำน้ำละเดินดูปะการัง โดยมีการเหยียบย่ำบนปะการังอย่างสนุกสนาน โดยรู้เท่าไม่ถึงการ นอกจากนี้มีนักท่องเที่ยวหลายคนได้หยิบก้อนปะการังซึ่งเป็นปะการังดอกเห็ดที่ยังมีชีวิตซึ่งเหลือเป็นส่วนน้อยขึ้นมาอวดกันและถ่ายรูปด้วยความสนุกสนาน ต่อหน้าต่อตาสื่อมวลชนและทีมงานของทช. ทั้งนี้กลุ่มสื่อมวลชนพยายามห้ามปราม ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ทช. กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากบริษัททัวร์ ไม่ได้อธิบายให้ลูกทัวร์ รู้ว่าข้อควรปฏิบัติในการดำน้ำดูปะการังควรทำอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ จัดอบรมสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)และผู้ประกอบการบริษัทดำน้ำ ในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. นี้ ใน4 จุด คือภูเก็ต ทับละมุ จ.พังงา เกาะพีพี จ.กระบี่ และเกาะไข่นอก เพราะเป็นพื้นที่ที่ทัวร์จำนวนมาก “ยอมรับว่าตกใจที่เห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากเกินไปที่ดำน้ำไปดูปะการังในช่วงน้ำทะเลกำลังลด โดยหลายรายขึ้นไปยืนบนปะการัง บางรายหยิบมาถ่ายรูปเล่น เราได้แต่ยืนมอง เพราะไม่มีอำนาจตามกฏหมาย เพราะกฎหมายของทช.ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นของเอกชน แต่โดยหลักการทรัพยากรทางทะเลนั้นอยู่ในความดูแลของทช.ก็จริง แต่เมื่อเห็นจะจะแบบนี้เราทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากได้แต่อึ้ง” นายนิพนธ์ กล่าว ขอบคุณข้อมูลจาก....http://www.dailynews.co.th/newstartp...ntentID=116417 |
ข่าวข้างบนนี้........ทำให้เซ็งอยู่สองเรื่อง....
เรื่องแรก....เซ็งกับคำพูด "เรายังไม่จำเป็นถึงขั้นต้องปิดอุทยานทางทะเล เพราะถึงปิดก็ไม่ได้ทำให้ปะการังฟอกขาวฟื้นขึ้นมาได้ " เรื่องที่สอง.......เซ็งกับคำพูด "หลายรายขึ้นไปยืนบนปะการัง บางรายหยิบมาถ่ายรูปเล่น เราได้แต่ยืนมอง พราะไม่มีอำนาจตามกฏหมาย เพราะกฎหมายของทช.ยังไม่แล้วเสร็จ" เฮ้อออออ.......:cool: |
เห็นมั้ยล่ะ พูดไม่ทันขาดคำ หางโผล่ซะแล้ว ปิดแล้วจะเอาอะไรกิน จะหาที่ไหนไปส่งนาย เจ้าหน้าที่กรมตัวเองมีความรู้น่าเชื่อถือเสียเหลือเกิน ชาวบ้านนักวิชาการทั่วประเทศเค้าตะโกนมาแล้วก็ยังทำมึน...... มีหน้ามาห้าห่วง ทนหายห่วงได้อีก รู้อยู่เต็มอกว่าเกิดอะไรขึ้น คำแนะนำก็มีอยู่แล้วเค้าทำไว้ให้แล้วยังมาทำมึนอีก เฮ้อ ฝากความหวังกับคนสมองพิการก็อย่างงี้แหละ คนอยากทำก็ยังไม่มีอำนาจ เป็นที่มาของความเซ็งทั้งสองประการที่พี่สายชลว่าแหละครับ
|
รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นผลประโยชน์อันมหาศาลกับอุทยานรวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องแน่นอน เรื่องนี้เป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลย ..
ส่วนเรื่องนักท่องเที่ยวเหยียบ รวมถึงหยิบปะการังขึ้นมา การให้ความรู้และทำความเข้าใจน่าจะเป็นทางออกทางหนึ่งที่จะเยียวยาเรื่องนี้ได้บ้างนะครับ .. อะไรก็ตามที่ให้ความรู้สึกว่าเป็น "ของสาธารณะ" ความรู้สึกร่วมในการใช้ประโยชน์อย่่างทะนุถนอม อย่างคุ้มค่่ามันไม่ค่อยจะมี แต่พอรู้สึกว่า ของสิ่งนั้นเป็น "ของเรา" ขึ้นมาแล้วล่ะก็ ของๆข้าใครอย่าแตะ เมื่อไหร่ เราจะรู้สึกเป็นเจ้าของ "ทะเลไทยของเรา" จริงๆซะที .. |
บทความที่เกี่ยวข้องกันจาก น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันนี้ ใคร ? ฟอกขาวปะการัง http://www.bangkokbiznews.com/home/m...g_372817_1.jpg ปะการังฟอกขาว หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าสวย ถ้าปะการังฟอกขาว ไม่ถูกเอาไปโยงเป็นสาเหตุของการปิดเกาะ คนคงไม่สนใจและอะไรๆก็โลกร้อน แต่ความจริงเราๆท่านๆล้วนแต่เป็นจำเลยฐานฟอกขาวกันทั้งนั้น ข่าวอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติ “ปิดเกาะ” ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน พีพี ราชา หลังเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่เงียบหายไปพักใหญ่ คือ “การฟอกขาวของปะการัง” ในทะเลไทย กลับมาได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง แต่เสียงสะท้อนกลับมานั้นต่างออกไป เพราะนอกจากเสียงเห็นด้วยกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความเห็นแย้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้ง นี้ เริ่มตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา โดยไม่มีใครคาดคิดว่า เหตุการณ์จะยืดเยื้อยาวนานและส่งผลเสียหายร้ายแรงอย่างปัจจุบัน เพราะการฟอกขาวของปะการังนั้น เกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี อย่างที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอว่า ชาวบ้านพบเห็นการเกิด “ปะการังสีทอง” ตามชายหาดหรือบริเวณน้ำตื้น ว่ากันตามหลักธรรมชาติแล้ว การที่เรามองเห็นปะการังกลายเป็นสีเหลืองทองนั้นเพราะสาหร่ายที่ปกคลุมอยู่บนผิวปะการังเริ่มตายลงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นตามฤดูกาลและค่อยๆขาวซีดลง จนเหลือแต่สีขาวตุ่นๆของแคลเซียมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของปะการัง เมื่อเข้าฤดูฝน อุณหภูมิน้ำก็จะลดลง ปะการังและสาหร่ายก็จะสามารถกลับมาเจริญเติบโตได้ครั้งอีกตามวัฏจักร ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป น้ำทะเลมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้น "แต่ไม่ได้หมายความว่าปะการังจะตายทั้งหมด โดยทั่วไปที่เราพูดถึงปะการังแข็งหากเกิดการฟอกขาวขึ้นไม่เกิน 1 เดือน ปะการังก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ สีสันที่หายไปนั่นก็เพราะไม่มีสาหร่ายเกาะเหมือนแต่ก่อน เพียงแต่จะอยู่ในสภาพที่อ่อนแอมาก ถ้าหากในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอุณหภูมิน้ำกลับมาดีขึ้น เริ่มเข้าสู่สภาวปกติ ปะการังก็จะค่อยๆฟื้นตัวกลับมา" http://www.bangkokbiznews.com/home/m...g_372817_2.jpg พื้นที่(ควร)ปลอดมนุษย์ แม้ปัจจัยหลักจะมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์เราจะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะจริงๆแล้วสิ่งที่หนุนเสริมให้ปะการังอ่อนแอและฟื้นตัวช้า ก็คือ กิจกรรมทางทะเลของมนุษย์นั่นเอง "มีความเป็นไปได้ ถ้าเราปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครไปยุ่ง ปะการังที่แข็งแรงก็จะค่อยๆฟื้นตัวกลับคืนมา แต่ถ้าคนยังมีการเข้าไปทำกิจกรรมในบริเวณนั้นอยู่ ก็จะยิ่งทำให้ปะการังตายเร็วขึ้น" ผศ.ดร.วรณพ ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของกรณีปะการังฟอกขาวเมื่อปีที่แล้วกับปีนี้ว่า ทั้งหมดถือเป็น "ลอตเดียวกัน" ที่เป็นอย่างนั้นเพราะปีก่อนประเทศไทยเกิดปรากฏการเอลนินโญล่าช้าไป 3 เดือนทำให้ปะการังฟอกขาวกันเป็นจำนวนมาก และเมื่อเวลาผ่านไปปะการังค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมา แต่ก็ต้องมาเจอกับปรากฏการณ์ลานินญาอีก ซึ่งก็ส่งผลให้หมู่ปะการังชุดเดิมที่เพิ่งฟื้นตัวกลับมาฟอกขาวอีกครั้ง "ตอนนี้เรายังคงไม่สามารถคาดคะเนได้ชัดเจนถึงการฟื้นตัวของแนวปะการังภาย หลังการฟอกขาว เพราะปัจจัยแวดล้อมที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุณภูมิของน้ำ การไหลของกระแสน้ำ หรือกิจกรรมทางทะเลของผู้คนในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ซึ่งตอนนี้ทางนักวิจัยเองก็กำลังพยายามหาทางฟื้นฟูในส่วนที่น่าจะทำได้อยู่ เพราะตัวปัจจัยค่อนข้างผันผวนมาก หากมองในสเกลใหญ่เราก็คงต้องรอให้อุณหภูมิของน้ำดีขึ้น และพยายามลดกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อปะการังลงน่าจะเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ดีที่สุด" ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวนั้น ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะฝั่งอันดามันเท่านั้น เพราะตั้งแต่ต้นปี 2553 แนวปะการังในฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ จ.ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ตลอดเรื่อยไปจนถึง ชุมพร สุราษฎร์ธานี (ส่วนตั้งแต่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไปนั้น เกิดความเสียหายน้อยกว่า เพราะได้รับอิทธิพลจากปริมาณน้ำฝนจำนวนมากซึ่งไหลลงมาช่วยให้อุณหภูมิผิวน้ำลดลง) ล้วนได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำอุ่นซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าปกตินี้ไม่แพ้กัน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ จึงมีแต่นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการเข้าศึกษาสาเหตุและหาหนทางแก้ไข http://www.bangkokbiznews.com/home/m...g_372817_3.jpg ทีมใต้น้ำออกสำรวจความเสียหาย ให้ปลา ฆ่าปะการัง ด้านเจษฎา ณ ระนอง ผู้ประกอบการด้านการดำน้ำท่องเที่ยวรายหนึ่งใน จ.ภูเก็ต เล่าว่า “ตั้งแต่เดือนแปดเดือนเก้าก็เริ่มรู้ชะตากรรมแล้วว่าสถานการณ์ไม่ดีแน่ๆ เพราะอุณหภูมิน้ำขึ้นสูงถึง 32 องศาเซลเซียส ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งถือว่าร้อนจัด จนมาถึงทุกวันนี้ ที่แนวปะการังเกาะราชาใหญ่ด้านตะวันตก ใช้คำว่าหมดเกลี้ยงได้เลย ปะการังส่วนที่ยังดูดีอยู่เหลือไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ พวกปะการังโขดที่อยู่น้ำตื้นไม่ต้องพูดถึงเลย ตายเรียบ ขนาดว่าที่เคยขึ้นคลุมหินก้อนใหญ่ๆ มันถึงกับล่อนออกมาเป็นแผ่นๆ เหลือแต่ก้อนหิน หรืออย่าง East Eden ที่หมู่เกาะสิมิลัน ก็เหลือแต่หิน ปิดะนอก ปิดะใน ก็เหี้ยนหมด ในแง่ของความเสียหาย ตอนนี้แนวปะการังมันเหมือนคนใกล้ตาย เรื่องปิดอุทยานนั้น หลายคนบอกว่าเป็นการทำลายการท่องเที่ยว แต่ถ้ามันจำเป็น มันก็ต้องปิด เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มันเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น เพราะถ้ามันหมดไปในตอนนี้ อีกอนาคตจะเอาอะไรหากินกัน ทะเลบ้านเรามันจะเหลืออะไร แล้วอย่างที่อื่นๆ เช่น เกาะราชา มันก็ไม่ใช่เขตอุทยาน ก็ยังสามารถไปกันได้ ไม่จำเป็นต้องมุ่งไปหากินกันแต่ที่เกาะสิมิลัน หรือ เกาะพีพี” ตรงกันกับข้อมูลจากการสำรวจวิจัยที่ เกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลแลพชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ปะการังในแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันตายลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์และเสียหายมากกว่าเมื่อเผชิญสึนามิหลายเท่าตัว แต่กับเสียงสะท้อนจากบางมุมของสังคม ยังกังขากับเรื่องการเตรียม “ปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลบางแห่ง” ของหน่วยงานภาครัฐ เพราะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เจษฎาให้ความเห็นว่า “วัฒนธรรมการท่องเที่ยวบ้านเรามันก็แปลก เช่น ไปให้อาหารปลาตามแนวปะการัง ทีนี้ แทนที่ปลามันจะไปกินสาหร่ายที่ขึ้นคลุมปะการังที่ใกล้ตาย มันก็ไปกินขนมปังแทน สิ่งที่ยังภูมิใจอยู่อย่างหนึ่งคือ เรือที่เราพานักท่องเที่ยวออกไปดำน้ำจะไม่ให้อาหารปลา อย่างเรืออื่นเขาจะเอาขนมปังติดเรือไปด้วยเลย เอาไปให้ปลากินเพื่อให้ปลาขึ้นมาโชว์ตัวผิวน้ำ หรือแม้กระทั่งใต้น้ำก็มี ยิ่งหลังๆ ราคา(ค่าทริป)มันถูกลง คนมันก็ยิ่งเยอะขึ้น” ไม่เพียงแค่เรื่องเล็กๆที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องอย่างการให้อาหารปลาเท่านั้น การเข้าใช้ทรัพยากรบนเกาะต่างๆเหล่านี้ ส่งผลกระทบตามมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สิ่งปฏิกูล คราบน้ำมัน สารตกค้างจากการซักล้าง อันตรายจากใบจักรและสมอเรือ การขาดความรู้ความเข้าใจของนักท่องเที่ยว เช่น การเดินลงไปเหยียบย่ำ หรือ ยืนบนปะการังซึ่งไม่นับรวมปัญหาเดิมๆ อย่างการลักลอบเข้าทำประมงในเขตหวงห้าม ซึ่งหากเกิดขึ้นในยามที่ปะการังยังแข็งแรงสมบูรณ์ คงไม่เห็นผลอะไรมากนักในระยะสั้น เพราะในไม่ช้า ความสมดุลของธรรมชาติจะช่วยกันเยียวยาตัวเอง แต่ถ้ามาซ้ำเติมกันในช่วงที่ปะการังอยู่ในระยะไอซียู เรื่องเหล่านี้นับเป็นสิ่งสำคัญที่ “ต้อง” ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ล่าสุด สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปิดอุทยานในบางพื้นที่ “ถ้าศึกษาแล้วพื้นที่ใดมันสมควรปิดก็ต้องปิดเพื่อให้ธรรมชาติมันฟื้นฟูตัวเอง” "หลังจากนี้คงต้องจัดระเบียบการท่องเที่ยว เช่น ขยับทุ่นผูกเรือออกมาจากแนวปะการัง จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลว่าจะทำอย่างไร” รัฐมนตรีว่าไว้อย่างนั้น ปะการังสีขาว = สวย? ย้อนกลับไปที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะยังอยู่ในช่วงไฮซีซั่นที่จะต้องเร่งหาลูกค้าได้ให้มากที่สุด ก่อนจะหมดฤดูการท่องเที่ยวในอีกไม่นาน แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่ปะการังฟอกขาวไม่ส่งผลลบต่อรายได้ของบริษัทนำเที่ยวคือ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเห็นแนวปะการังของจริง ไม่เคยเห็นฝูงปลา เมื่อมาเจอแนวปะการังที่ฟอกขาว นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงไม่รู้ ยังคงตื่นตาตื่นใจ กระทั่งบางรายยังให้บอกว่า ปะการังสีขาวที่ประเทศไทยนั้น สวยแปลกตากว่าที่เคยเห็นในหนังสือ แต่กับนักดำน้ำที่เคยสัมผัสความอลังการของแนวปะการังครั้งที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เสียใจและเสียดาย ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยเท่านั้น เพราะก้อนกระแสน้ำอุ่นจากมหาสมุทรอินเดีย ไหลเวียนไปทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะที่เกาะอาเจะห์ ประเทศอินโดเนเซีย นั้น ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว เจษฎา ณ ระนอง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำรายเดิมเล่าอีกว่า "อย่างเมื่อวันก่อนเพิ่งไปมาเลเซียมา ก็ลองสังเกตดู ท่าทางก็ไม่ค่อยดี น้ำก็ยังอุ่นอยู่ แต่บ้านเราตอนนี้ดีหน่อย ลงมาอยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียส หรืออย่างที่ Manta alley (ทางตอนใต้ของเกาะโคโมโด ประเทศอินโดนีเซีย) อุณหภูมิน้ำขึ้นมาถึง 24-25 องศาเซลเซียส ซึ่งปกติอย่างมากก็แค่ 20 องศาเซลเซียส มันผิดปกติมาก” รวมทั้งแหล่งดำน้ำชื่อดังอย่าง เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปกติแล้วจะมีกระแสน้ำเย็นจากออสเตรเลียช่วยหล่อเลี้ยง แต่ในปีที่ผ่านมา อุณหภูมิก็สูงขึ้นจนถึงระดับ 27 องศาเซลเซียส ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้ปะการังน้ำตื้นที่คุ้นชินกับน้ำเย็นตายลงเป็นจำนวนมาก เอมิโกะ ชิบุยะ ชาวญี่ปุ่น ผู้จัดการร้านให้บริการด้านการดำน้ำแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลี บ่นให้ฟังเสียงดังๆ ว่า “ปีนี้ปะการังโทรมลงมาก น้ำก็ไม่ใสเหมือนเก่า แถมยังมีฝนตกนอกฤดูกาลอีก ถ้าเรายังไม่ช่วยกันดูแลโลกตั้งแต่วันนี้ ต่อไปก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว” |
อ้างอิง:
จริงค่ะน้องปี๊บ....ถ้าของอะไรที่มันเป็นของเราแล้ว เราก็จะรัก ทนุถนอม และอยากจะทำแต่สิ่งดีๆให้กับเขา ยิ่งยามที่เขากำลังเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย เราจะหันหลังไม่กลับไปมองดูเขาได้อย่างไร ยิ่งเห็นใครมาทำร้ายย่ำยีเขาด้วยแล้ว จะยืนดูเฉยๆได้อย่างไร.... ถ้าทำเฉยๆได้ ไม่ทำอะไรเลยนี่...จะใจดำไปหน่อยมั้ง...... |
อ่านดู.....ถูกใจกันไหมคะ... สั่งปิด "7 อุทยานทางใต้"ไม่มีกำหนด หวังฟื้นฟู"ปะการังฟอกขาว" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แถลงข่าว การจัดการปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแนวปะการัง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันเสียหายสูงสุด ในรอบ 12 ปี โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สั่งปิดพื้นที่บางส่วนของอุทยาน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง บริเวณเกาะเชือก อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล บริเวณเกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะบุโหลนรังผึ้ง อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะมะพร้าว อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะ-พีพี บริเวณแนวปะการังหินกลาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา บริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด็น ซึ่งดำเนินการปิดตั้งแต่วันที่ 21 มกราคมเป็นต้นไปอย่างไม่มีข้อกำหนดแน่ชัด นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้น ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ ได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เพราะต้องเสนอขึ้นเป็นมรดกโลก ดังนั้น พื้นที่ที่มีปะการังฟอกขาวเกิน 80% ขึ้นไป ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงสั่งปิดพื้นที่บางส่วน โดยงดกิจกรรมดำน้ำ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว วางทุ่นเพื่อตรวจการ ห้ามเรือจอดทิ้งสมอ หากมีผู้ฝ่าฝืนจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ตามกฎหมาย นายสุนันต์กล่าวว่า การปิดอุทยานดังกล่าวถือว่าเป็นการปิดเพื่อการศึกษาเรียนรู้ โดยขณะปิดจะศึกษาว่า ปะการังมีการฟื้นตัวตามธรรมชาติได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมสนับสนุนให้คณะผู้เชี่ยวชาญ ร่วมศึกษาพื้นที่ที่มีปะการังสวยงาม เพื่อช่วยกันหามาตราการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการฟื้นฟูนั้น จัดให้มีการเพาะเลี้ยงปะการังในพื้นที่ สร้างปะการังเทียมให้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ซึ่งให้อยู่ในการดำเนินการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สร้างแหล่งดำน้ำใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว และมีการวางทุ่นหมั่นตรวจการ รายงานผลทุกวัน ทั้งนี้ทางผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือด้วย ไม่ทิ้งของเสีย หรือขยะมูลฝอย อย่างไรก็ตาม ปะการังฟอกขาวไม่ใช่ปัญหาเพียงเรื่องเดียว ยังมีอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นชายหาด ภูเขา ความหลากหลายทางธรรมชาติ จึงขอฝากให้หัวหน้ากรมอุทยานฯ ให้ความสำคัญด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก....http://www.matichon.co.th/news_detai...tid=&subcatid= |
อาจารย์บอย (ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง) ให้ความเห็นในเรื่องการปิดอุทยานฯ ข้างต้นไว้ใน Facebook ว่า
อ้างอิง:
ท่าจะจริงอย่างที่อาจารย์บอยว่าจริงๆค่ะ... |
่อ่านแล้วยังงงๆครับพี่น้อย ..
ตัวอย่างง่ายๆ จากรายงาน เกาะสุรินทร์ อ่าวแม่ยายทิศเหนือปะการังตายไป 99.9 เปอร์เซ็นต์ อ่าวนี้ไม่ยักปิด อ่าวเต่าปะการังเสียหายค่อนข้างมาก ก็ไม่มีประกาศเช่นกัน ไม่ทราบว่าอุทยานใช้เกณฑ์ไหนมาตัดสินนะครับ .. ท่านอธิบดีก็ไม่ได้พูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน บอกแค่ให้ผู้เี่ชี่ยวชาญมาศึกษา มาตรการฟื้นฟู ให้มีการเพาะเลี้ยงปะการัง สร้างปะการังเทียมให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ผมนึกถึงบางพื้นที่อย่างเกาะสุรินทร์ มาตรการนี้คงไม่เหมาะแน่ๆ ที่สำคัญ ไม่มีการพูดถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจรวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกกันเลย เหนื่อยใจครับ .. |
เหนื่อยใจจริงๆค่ะน้องปี๊บ.... คงเป็นอย่างที่เขาพูดไว้ก่อนหน้านี้ที่ว่า "ปิดก็ไม่ได้ทำให้ปะการังฟอกขาวฟื้นขึ้นมาได้ " เมื่อเห็นว่าจุดไหนตายไปเกือบ 100 % แล้ว ท่านก็เลยไม่สั่งปิดซะเลย เพราะไหนๆก็ตายไปแล้ว ก็ให้ตายไป ไม่ต้องให้ปะการังในบริเวณนั้นกลับมาฟื้นคืนชีพได้อีก ปล่อยให้คนเข้าไปย่ำยีกันให้สบายอารมณ์.... ไม่เข้าใจความคิดนี้จริงๆค่ะ....:( |
พี่น้อยขา
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป มันอยู่ตรงไหนคะ ไม่รู้จักค่ะ ไม่เคยได้ยินชื่อที่สิมิลันเลยคะ ค่ะใจเย็น ติดตามต่อไปอย่างรอฟังข้อสรุป ที่ถูกต้อง |
ไม่เข้าใจกรมอุทฯเลย ไม่มีใครบอกนายเค้าเหรอว่าที่ไหนควรปิดที่ไหนไม่ควรปิด หรือทั้งกรมไม่มีใครรู้ข้อมูลเลย สิมิลันปิดแค่สองจุดทั้งที่มีอีกหลายจุดที่น่าจะปิด
แต่ยังไงก็ตามถ้าประกาศปิดแล้วก็ขอให้ปิดได้จริงๆเถอะ กลัวจะเป็นการประกาศปิดเพื่อลดผลกระทบต่อกรมฯ มากกว่าประกาศปิดเพื่อลดผลกระทบต่อปะการัง ข้อเสนอที่น่าจะตามมากับการปิดคือ จัดงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับสนับสนุนการติดตามศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก โดยอาจให้มีเจ้าหน้าที่ของอุทยานร่วมศึกษาเพื่อหาประสบการณ์ด้วย คราวหน้าคราวหลังเวลาจะประกาศอะไรจะได้ไม่ขัดหูขัดตา |
น้องติ่งจ๋า....จุดไฟแว๊บ ก็คือจุดที่มีเสาสัญญาณไฟเตือน (ประภาคาร) บนยอดเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะแปด ซึ่งเราเรียกชื่อนี้กันมา 20 กว่าปีแล้วจ้ะ เป็นจุดแนวปะการังแข็งที่ก่อนสึนามิ สวยงามและสมบูรณ์มาก แต่พอสึนามิมา ถูกถล่มซะเละ แต่ก็ฟื้นตัวได้รวดเร็วมาก ภาษาอังกฤษ จะเรียกจุดดำน้ำนี้ว่า "Beacon Reef" ลากเรื่อยตั้งแต่หัวเกาะ ตรงบริเวณแนวเหนือ - ใต้ ที่เรือ "ระเริงชล" หรือ "Atlantis X" จมอยู่ ถ้าหนูมีหนังสือ Pocket Divesite ของสิมิลัน อยู่ในมือ ก็เปิดไปที่ #11 หน้า 59 ได้เลยจ้ะ |
น้อง sea addict ขา....เข้าใจว่าทางกรมอุทยานฯ จะไปใช้รายงานที่ทางนักวิชาการทำตอนปะการังเริ่มฟอกขาว ช่วงเดือนพฤาภาคม ปีที่แล้วมาใช้พิจารณา โดยไม่ได้ใช้รายงานล่าสุด ที่ได้แจ้งเรื่องปะการังที่ฟอกขาวจุดไหนที่ตายไปแล้วบ้าง และก็คงไม่ได้อ่านที่นักวิชาการเสนอแนะว่าควรปิดจุดไหนบ้าง และควรทำอะไรบ้าง จะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม...แต่ก็ทำให้เรามึนไปตามๆกันเลยล่ะค่ะ... |
สวดว่อนเน็ตปิดแหล่งดำน้ำ 7 อุทยานฯไม่ตรงจุดวิกฤติ
นักท่องเที่ยววิจารณ์ว่อนเน็ตปิดแหล่งดำน้ำ 7 อุทยานฯไม่ตรงจุดวิกฤติ ด้าน ทช. ระบุข้อมูลตรงกันแล้วรอดูปะการังฟื้นตัว หากพบทำผิดใช้กฎหมายจัดการทันที แฉไกด์เถื่อนต่างชาติไร้สำนึกเกลื่อนเมืองภูเก็ต วันนี้ (21 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีมาตรการห้ามดำน้ำใน 7 อุทยานแห่งชาติชื่อดังทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยเพื่อฟื้นฟูปะการังที่เกิดการฟอกขาวและมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.นั้นปรากฎว่าได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดานักท่องเที่ยวที่ได้เข้าไปโพสต์ข้อความในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ว่า จุดที่กรมอุทยานฯ สั่งปิดห้ามดำน้ำนั้นไม่ตรงหรือสัมพันธ์กับจุดที่เกิดปะการังฟอกขาว เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ บริเวณอ่าวแม่ยายทิศเหนือ เกิดปะการังฟอกขาวถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ เกาะสุรินทร์เหนือ หน้าช่องแคบตอนใน ฟอกขาว 93.6 เปอร์เซ็นต์ เกาะปาชุมบา ตะวันออกเฉียงเหนือ ฟอกขาว 95 เปอร์เซ็นต์ เกาะสุรินทร์ใต้ฝั่งตะวันออก(อ่าวเต่า) ฟอกขาว 85 เปอร์เซ็นต์ เกาะชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ฟอกขาว ฟอกขาว 84 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น แต่กรมอุทยานกลับสั่งปิดบริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน ซึ่งเกิดการฟอกขาวของปะการัง ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จุดที่เกิดปะการังฟอกขาว มากคือเกาะสิมิลัน ตะวันออก หน้าประภาคาร ฟอกขาว 89.3 เปอร์เซ็นต์ เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ฟอกขาว 84 เปอร์เซ็นต์ เกาะบางู ทิศใต้ ฟอกขาว 60.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น แต่กรมอุทยานฯ กลับไปปิดบริเวณอ่าวไฟแว๊บและอีส ออฟ อีเด็นซึ่งเป็นจุดที่เกิดปะการังฟอกขาวไม่มาก ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามไปยัง นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายเกษมสันต์ ชี้แจงว่า การปิดจุดน้ำดังกล่าวเป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ซึ่งจุดดำน้ำใน 7 อุทยานฯ ที่สั่งปิดไปนั้นก็ตรงกับข้อมูลของ ทช. และเป็นไปตามข้อมูลที่นักวิชาการของเราได้เข้าไปชี้แจง โดยสิ่งที่เราต้องการดูหลังจากการประกาศปิดจุดดำน้ำคือการฟื้นตัวของปะการังวัยอ่อน ว่าจะลงเกาะบนซากปะการังที่ตายแล้วหรือไม่ เป็นเรื่องที่คณะทำงานร่วมของทั้ง 2 หน่วยงาน คือกรมอุทยานฯ และทช.จะต้องเข้าไปดู โดยในส่วนของ ทช. จะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังเข้าไปร่วมด้วย ทั้งนี้ในพื้นที่นอกเขตอุทยานฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ทช.นั้น สิ่งที่จะทำคือเร่งประสานกับท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ พร้อมกับมอบหมายให้คณะทำงานจัดทำข้อมูลและสื่อประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับปะการังฟอกขาวของ ทช.เร่งจัดทำป้ายป้ายโปสเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์ตามจุดต่าง ๆ ถ้าพบการทำผิดกฎหมายก็สามารถดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนักท่องเที่ยวและบริษัททัวร์นำเที่ยวที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นนั้น ตนอยากให้ดูตามสถานการณ็ โดยใช้การทำความเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเราคงไม่สามารถใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติได้ จึงต้องให้บริษัททัวร์ทำความเข้าใจกับเขาก่อน และเราก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับบริษัททัวร์นำเที่ยวให้ช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจะได้เร่งจัดทำแผนพับประชาสัมพันธ์ เพื่อแจกให้บริษัททัวร์นำเที่ยวและนักท่องเที่ยวแล้ว กรณีดังกล่าวจะใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยมือหรือใช้กฎหมายเข้าไปจัดการทั้งหมดไม่ได้ แต่หากพบพวกลักลอบจับสัตว์น้ำหรือปะการังโดยผิดกฎหมาย คงต้องฟ้องร้องดำเนินคดีและยึดเครื่องมือดำเนินการทันที ด้าน นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) กล่าวว่า สำหรับกรณีที่นักท่องเที่ยวเข้าไปเหยียบย่ำบนปะการังและหักขึ้นมาถ่ายรูปเล่นนั้น ถือเป็นการขาดความรู้ความเข้าใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งการจะเอาผิดกับนักท่องเที่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ลำบาก สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการกับมัคคุเทศน์หรือบริษัททัวร์นำเที่ยวให้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเหล่านั้น ตลอดไปจนถึงการใช้มาตรการทางการกฎหมายเข้าดำเนินการกับบริษัททัวร์หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยจับกุมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฝ่าฝืนลักลอบเก็บปะการัง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ เพราะกระทบกับหลาย ๆ เรื่อง นอกจากนี้ยังเคยมีโรงแรมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักโทรศัพท์มาแจ้งกับทางศูนย์อนุรักษ์ฯ ของเราว่ามีนักท่องเที่ยวลักลอบเก็บปะการังสวยกลับไป แต่พอเก็บไปแล้วปะการังตายและส่งกลิ่นเน่าเหม็นก็ต้องทิ้งไว้ จนพนักงานโรงแรมไปพบและโทรมาแจ้งกับเรา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจิตสำนึกนักท่องเที่ยว ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหรือไกด์ต้องเร่งทำความเข้าใจกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงในเวลานี้ คือ มัคคุเทศน์หรือไกด์นำเที่ยวไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีชาวต่างชาติที่ไม่แน่ใจว่าเป็นไกด์เถื่อนหรือมีใบประกอบวิชาชีพมัคคุเทศน์ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงที่สุด โดยเรื่องนี้ต้องประสานไปยังจังหวัดให้มีการตรวจสอบต่อไป ซึ่งในเรื่องการตรวจสอบหาบริษัททัวร์หรือไกด์นำเที่ยวที่พานักท่องเที่ยวมานั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราทราบอยู่แล้วว่ามีบริษัทใดดำเนินการอยู่ในพื้นที่บ้าง ส่วนของเรือประมงหรือเรืออวนลากที่เข้ามาใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ สั่งผลต่อทั้งสัตว์น้ำและปะการัง ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการขั้นเด็ดขาดแล้ว โดยล่าสุดมีการจับเรือประมงผิดกฎหมายและผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและแรงงานต่างด้าวชาวพม่าได้ 9 ราย ในส่วนของนายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะใน 2541 เกิดขึ้นปะการังฟอกขาวที่หมู่เกาะมัลดีฟ ซึ่งถือเป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยมีการฟอกขาว 80-90 % มัลดีฟก็ได้จัดมาตรการควบคุบการท่องเที่ยว โดยบางจุดห้ามมีการท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด โดยมัลดีฟแม้ปะการังเสียหายแต่ก็ยังมีปลาสวยงามที่มีความหลากหลาย เพื่อเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว แต่ของไทยปลาสวยงามเริ่มลดน้อยลงแล้ว หากไม่มีการควบคุมก็จะยิ่งลดลงและเสื่อมโทรมไปเรื่อย ๆ สำหรับประเทศออสเตรเลีย ที่มีเกรทแบร์ริเออร์รีฟ เป็นแหล่งปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เคยเกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2541 ซึ่งคล้ายคลึงกับที่เกิดในประเทศไทย เพราะมีการทำทุ่นเพื่อจอดเฮลิคอร์ปเตอร์สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาดูปะการัง ทำให้มีฝูงนกมาเกาะที่ทุ่นและขับถ่ายออกมาจำนวนมาก เมื่อฝนตกลงมาก็ชะล้างขี้นลงไปในทะเลทำให้น้ำสกปรกและเกิดการเจริญเติบโตของไซยาโนแบคทีเรียปกคลุมปะการังที่ฟอกขาวจนปะการังไม่สามารถฟื้นคืนได้เช่นเดียวกับในประเทศไทยเวลานี้ อย่างไรก็ตามภายหลังออสเตรเลีย จึงตระหนักว่าการท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อแหล่งปะการัง และหาแนวทางจัดการที่เหมาะสมต่อไปเช่นกัน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนขอใช้คำแรง ๆ ไปเลยว่า "กูเตือนแล้ว" เพราะทั้งเขียนบทความ ให้ข่าวและบอกเล่าทุกทางให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่เพิ่งเริ่มเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวใหม่ ๆ ว่า เรื่องนี้จะสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางทะเลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครสนใจมาก ยังกระหน่ำเที่ยว และเที่ยวแบบไม่ทนุถนอมปะการังเลย ทั้งรู้เท่าถึงการณ์ และไม่รู้เท่าถึงการ เหมือนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เอาปะการังขึ้นมาโยนเล่นที่บริเวณเกาะเฮ จ.ภูเก็ต ที่สื่อมวลชนหลายแขนงเห็นมากับตาตัวเอง "การที่กรมอุทยานแห่งชาติฯสั่งปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุดใน 7 อุทยานฯ ทางทะเลนั้น เป็นข้อเสนอของผมเอง ทำแบบนุ่มนวลที่สุดแล้ว คือกระทบกับทุกฝ่ายให้น้อยที่สุด ใน 7 อุทยานฯที่สั่งปิดพื้นที่ดำน้ำชั่วคราวนั้น ถือว่าเสี่ยงสุด ๆ ต่อการไม่ฟื้นกลับมาเลยของปะการัง หากยังดันทุรังปล่อยให้เข้าไปดำน้ำต่อ เพราะเราไม่รู้ว่าคนดำน้ำแต่ละคนเข้าใจเรื่องการรักษาปะการังมากน้อยแค่ไหน แต่ความจริงแล้วเรื่องการปิดจุดน้ำดำน้ำนั้นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น สำคัญกว่านั้นของการฟื้นฟูปะการังฟอกขาวคือ เรื่องของน้ำเสียที่ปล่อยลงทะเล"นายธรณ์ กล่าว นายธรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้นำเสนอเพิ่มเติมไปต่ออธิบดีกรมอุทยานฯ ว่า พื้นที่เกาะที่มีปัญหา โดยเฉพาะ หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ที่ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อความเสียหายแบบไม่กลับคืนมานั้นจะต้องห้ามนักท่องเที่ยวค้างคืน จนกว่าปะการังจะฟื้นตัว เหตุผลก็คือการที่ปะการังจะฟื้นตัวได้ต้องได้รับการรบกวนน้อยที่สุด แต่บนเกาะสุรินทร์มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายของนักท่องเที่ยว มีการปล่อยน้ำเสีย จากห้องน้ำ ห้องครัว ลงทะเลอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน โดยน้ำเสียดังกล่าวจะเป็นตัวรบกวนที่สำคัญที่สุดไม่ให้ปะการังฟื้นตัว และรบกวนมากกว่านักท่องเที่ยวลงไปดำน้ำเล่นเสียอีก ซึ่งเรื่องนี้อธิบดีกรมอุทยานฯ ก็ได้รับปากไปแล้ว "ที่ผ่านมาตนและกลุ่มผู้หวังดีต่อปะการังหลายคนที่เห็นถึงปัญหานี้ ได้ร่วมกันทำโครงการสร้างทางเลือกแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ เพื่อกระจายนักดำน้ำไปยังจุดอื่น เป็นทางเลือกใหม่ กระจายความหนาแน่นจากพื้นที่เดิม โดยภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะนำเอาเรือหลวงปราบ ของกองทัพเรือไปจมที่หมู่เกาะง่าม จ.ชุมพร และเอาเรือหลวงสัตกูด ไปจมที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี" นายธรณ์ กล่าว เมื่อถามว่า ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีหลายจุดที่ปะการังฟอกขาวเกิน 80% แต่ทำไมไม่เสนอให้กรมอุทยานฯ ปิดพื้นที่ดำน้ำ นายธรณ์ กล่าวว่า จ.ภูเก็ต มีอุทยานแห่งชาติที่เดียวคือ "หาดไนยาง" ซึ่งไม่มีปะการัง แต่พื้นที่อื่นที่มีปัญหานั้นเป็นที่ของเอกชน ปัญหาการเข้าไปทำลายปะการังในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จึงต้องให้ทางจังหวัดเข้าไปรับผิดชอบดูแลเอง. ขอบคุณข่าวจาก .... http://www.dailynews.co.th/newstartp...ntentID=116796 |
เข้ามาอ่านได้ความรู้พอสมควร แต่ที่อ่านมาไม่เห็นบอกว่าปิดถึงเมื่อไร
แล้วจะดำเนินการนโยบายอะไรส่งเสริม ที่ปิดไปผมก็เข้าใจว่า มันยังมีส่วนรอดอยุ่เยอะเลยปิดให้มันฟื้นตัวได้ ส่วนที่โดนหนักๆก็ปล่อยไว้แต่ ก็ไม่เข้าใจอีกว่าที่ปล่อยไว้เนี่ยจะทำอย่างไร หรือมันหมดทางเยี่ยวยา เลยทำเป้นแหล่งท่องเที่ยวขาวๆๆแทน เพราะที่ผมอ่านๆมาการฟอกขาวการแก้ปัญหาจริงมันไม่มี มีแต่รอให้น้ำมันเย็นแล้วฟื้นตัวเอง ถ้าทำไม่ชัดเจน เดี่ยวถึงช่วงสงกรานผลประโยชน์ร่วนๆๆเนี่ย น่าจะมีกระแสเข้ามาแรงแน่ครับ |
ข้อมูลครบมากเลยครับ แต่เหมือนยิ่งรู้มากยิ่งอยากร้องให้ครับ
เดี๋ยวนัดเจอท่านอธิบดีกรมอุทยานไปเจอกันที่ศาลปกครองหน่อยดีกว่าไหมครับ !!!!! พี่ๆช่วยกันทำเรื่องป้องกันและให้ความรู้ ผมจะลองเป็นหน่วยโวยวายและปราบปรามให้ละกัน จะทำมาก ทำน้อย แต่จะพยายามลองทำครับ ดูคำให้สัมภาษณ์ของท่านแล้วมีพิรุธมากๆ http://www.krobkruakao.com/video.php...=2011&month=01 |
อ่าน comment ของชาวต่างชาติโง่ ๆ แล้วอยากให้ประเทศไทยปิดประเทศเพื่อไม่ให้พวกนี้เข้ามาโยนเศษเงินแล้วขโมยทองของเราไปจังเลยค่ะ
http://www.bangkokpost.com/news/loca...ve-coral-reefs |
น้อง moeak คะ....เราช่วยกันโวยมากๆอย่างนี้ พี่คิดว่าคงมีการปรับรายการจุดที่ปิดอีกครั้งในเร็วๆนี้ โดยเฉพาะที่หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งไม่เหมาะสมเลย ................................................ คุณ Thoto_Dive คะ....พยายามจะหาข้อมูลจากหลายๆที่มาลงไว้เป็นฐานข้อมูลเรื่องนี้ค่ะ คงต้องช่วยๆกันหาข่าวและบทวิจารณ์มาเพิ่มเติมกันหน่อยนะคะ ส่วนเรื่องจะไปศาลนั้น....ใจเย็นๆก่อน ข้อมูลเราต้องพร้อมจึงจะพูดคุยอะะไรให้สำเร็จได้ง่ายขึ้นค่ะ เปิดอ่าน link ของคุณยังไม่ได้ เดี๋ยวจะลองดูใหม่ค่ะ... ................................................ น้องท้อปจ๋า.....พวกนี้เขาโง่จริงๆ หรือแกล้งโง่กันคะ จะพูดอะไรดูเหมือนสมองมันกลวงๆ น่าจะใฝ่หาความรู้มาใส่สมองให้มากกว่านี้หน่อยค่อยมาแสดงความคิดเห็น ไม่อย่างนั้น....ขายหน้าจริงๆ |
"จากข่าวสด วันที่ 22 มกราคม 2554" "สตูล"หวั่นกระแสปะการังขาว ลือเหมือน"สึนามิ"กระทบท่องเที่ยว-ทัวร์เผ่นหนี สตูล - จากกรณีที่มีนักวิชาการประมง กล่าวถึงเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นจากธรรมชาติที่มนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในเมื่อมีความเสียหายสิ่งที่ทุกคนควรกระทำต่อไป โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวต้องมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวทุกคนต้องให้ความร่วมมือด้วย ซึ่งอาจมีบางจุดที่ทางราชการโดยเฉพาะอุทยานสั่งปิดพื้นที่ เพื่อไม่ให้แนวปะการังที่ได้รับความเสียหายถูกรบกวนและมีโอกาสฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ สำหรับบางแห่งที่เจ้าหน้าที่เปิดให้ท่องเที่ยวได้ ก็ต้องมีความระมัดระวัง มีการควบคุมเพิ่มมากขึ้น เช่น ไม่ขึ้นไปเหยียบ ไม่ไปแตะต้องบนแนวปะการัง การใช้อุปกรณ์ดำน้ำ หรือว่ายน้ำ ก็ต้องระมัดระวังไม่ทำให้แนวปะการังแตกหักได้รับความเสียหาย ส่วนเรือนำเที่ยวหรือนักท่องเที่ยวก็ต้องไม่ปล่อยของเสียและสิ่งปฏิกูลลงสู่ท้องทะเล เพราะน้ำเสียจะทำให้สารอาหารในน้ำทะเลมีประมาณเพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้สาหร่ายบางชนิดขึ้นปกคลุมแนวปะการัง ทำให้แนวปะการังหมดโอกาสฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้งหนึ่ง ด้านนางโรสนีย์ ยกชม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล กล่าวว่า ตามที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แถลงข่าวถึงกรณีการเกิดปะการังฟอกขาวในพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามันนั้น ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเกิดความสับสนถึงกรณีดังกล่าว กลัวเหมือนกรณีข่าวลือสึนามิที่ทำให้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางเข้ามาสตูลถึง 70-80% นางโรสนีย์กล่าวว่า ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลและผู้ประกอบการบริษัททัวร์ 80 บริษัท ในจ.สตูล ขอให้ทางจังหวัดและทางอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ว่าปะการังฟอกขาวในพื้นที่ จ.สตูล มีเพียงแค่ 10% เท่านั้น จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด และไม่ควรที่จะปิดอุทยานแห่งชาติหรือเกาะตะรุเตา อาดัง และหลีเป๊ะ จังหวัดสตูลในขณะนี้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก เมื่อสับสนอย่างนี้ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดการเข้าใจผิด ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว ต้องออกมาชี้แจงว่า จ.สตูล ไม่มีการปิดเกาะหรือปิดอุทยานตะรุเตาแต่อย่างใด จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเที่ยว จ.สตูล กันได้สบายใจ โดยเฉพาะในช่วงวันวาเลนไทน์ ช่วงตรุษจีนนี้ |
ผมอ่านข่าวทุกวัน ก็ว่าการแถลงข่าวออกไปก็ชัดเจนดีนะครับ ระบุจุดที่จะปิดห้ามเข้าไปท่องเที่ยวอย่างชัดเจนว่าเป็นจุดไหนบ้าง (จะถูกจุดหรือผิดจุดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ไม่เห็นมีข่าวไหนที่บอกว่า จะปิดทั้งอุทยาน แม้แต่ข่าวเดียว
แต่ทำไม จนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวในวิทยุ หรือ น.ส.พ. ก็ยังคงมีคนออกมาโวยวายว่า การปิดอุทยานจะจะทำให้จำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ส่งผลกระทบถึงรายได้จากการท่องเที่ยวของคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแตกตื่นจากข่าวเหมือนครั้งสึนามิ ตามความคิดของผม นักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่แตกตื่นหรอกครับ มีแต่คนที่ทำมาหากินกับธรรมชาติ มุ่งที่จะเอาประโยชน์จากธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรมนั่นแหล่ะที่แตกตื่น โดยไม่ได้ใช้สติไตร่ตรองกับมาตรการที่ทางการออกมาให้ถี่ถ้วน อุทยานปิดเพียงบางจุด ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็สามารถพาไปเที่ยวยังจุดอื่นที่ไม่ได้ถูกปิดได้อีกมากมายหลายจุด ทำไมจะต้องพยายามดันทุรังนำนักท่องเที่ยวเข้าไปยังจุดที่มันแหลกไปแล้วให้ได้ ผมไม่เข้าใจ????? ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปะการังในเขตอุทยาน ทำให้ปะการังต้องใช้เวลาในการฟื้นคืนชีพใหม่ โดยปราศจากการรบกวนโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ บางแห่งก็น่าจะต้องปิดทั้งอุทยานเสียด้วยซ้ำไป แต่เนื่องจาก Take action กันช้าไปหน่อย จนมาถึงกลางฤดูท่องเที่ยวเสียแล้ว มาทำอะไรกันตอนนี้คงสายไป แต่ ถ้าเตรียมการให้ดี มีมาตรการที่เหมาะสม ให้ข่าวล่วงหน้าเพื่อให้ทำใจกันไว้ก่อน ในฤดูกาลของทะเลอันดามันในปีหน้า อาจจะได้เห็นการปิดอุทยานบางแห่งทั้งเขตอุทยานเลยก็เป็นได้ ในเมื่อการทำเช่นนั้น เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้า ก็คงต้องยอมรับและปรับตัวกันให้ได้ ไม่เช่นนั้น คงต้องหันกลับไปถามตัวเองว่า "คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า?" |
แผนที่ จุดงดกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง ในเขตอุทยานแห่งชาติ กรณีเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวในแนวปะการังทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน .......... จากเว็บไซท์ของกรมอุทยานฯ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม http://i835.photobucket.com/albums/z...d-Chao-Mai.jpg |
|
|
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 19:36 |
vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger