ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,403
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ฟอกขาวครั้งใหญ่ โลกร้อนฉับพลัน ปะการังเสี่ยงสูญพันธุ์?



คุยกับนักชีววิทยาผู้ศึกษาวิวัฒนาการ ชี้การฟอกขาวเกิดจาก 'ภาวะเครียด' ซึ่งอาจไม่ใช่แค่ความร้อน พร้อมเปิดประเด็นที่เหล่านักวิทยาศาสตร์กังวล หากปะการังปรับตัวไม่ทันอากาศที่เปลี่ยนฉับพลัน!

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างพากันนำเสนอเรื่อง "ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่" เพื่อเน้นย้ำให้ 'มนุษย์' ได้เห็นความเป็นไปของโลกใบนี้ ที่นับวันยิ่งเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ 'แย่ลง'

สำหรับ 'Coral bleaching' หรือ 'ปะการังฟอกขาว' ครั้งใหญ่นี้ ถือเป็นรอบที่ 4 ของโลก โดย 3 ครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1998, ค.ศ. 2010 และช่วง ค.ศ. 2014-2017 ซึ่งการฟอกขาวใหญ่แต่ละครั้ง เกิดขึ้นในช่วงที่โลกต้องเผชิญกับ เอลนีโญ (El Ni?o) นักวิทยาศาสตร์จึงคาดการณ์กันว่า ความร้อน มีความสัมพันธ์ต่อเหตุการณ์นี้

สำนักข่าว CNN รายงานว่า องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา (NOAA) และโครงการริเริ่มแนวปะการังนานาชาติ (ICRI) ได้แถลงร่วมกันว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา พื้นที่แนวปะการังมากกว่า 54% ใน 53 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก ต้องเผชิญกับการฟอกขาว

หนึ่งในตัวอย่างที่สร้างความกังวลให้แก่นักวิทยาศาสตร์ คือ 'เกรตแบร์ริเออร์รีฟ' (Great Barrier Reef) แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งมีความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ตลอดความยาวนั้น ประกอบไปด้วยปะการังน้อยใหญ่ราว 3,000 แห่ง

หน่วยงานอุทยานทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ออกแถลงการณ์ว่า ที่ผ่านมาเกรตแบร์ริเออร์รีฟสามารถฟื้นตัวมาได้เสมอ แต่ความร้อนในปัจจุบัน อาจทำให้แนวปะการังไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งจากการสำรวจแนวปะการัง 1,080 แห่ง พบว่า 49% ของการสำรวจ พบ 'การฟอกขาวระดับรุนแรงมากที่สุด'

จากข้อมูลตัวอย่างดังกล่าว น่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้พอเข้าใจเบื้องต้นว่า เหตุใดนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงเริ่มแสดงความกังวลกันออกมา

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้เชิญชวน 'ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์' หรือ 'อาจารย์วิน' นักชีววิทยา และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยประเด็น 'ปะการัง' กันให้มากขึ้น

เราจะไปดูกันว่าปะการังสำคัญอย่างไร และเพราะเหตุใดเรื่องนี้จึงน่ากังวล? ซึ่งก่อนการสนทนาจะเริ่มขึ้น อ.วิน ได้กล่าวกับเราว่า "ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญปะการัง วันนี้ผมขอพูดในฐานะผู้ศึกษาวิวัฒนาการ ซึ่งศึกษาภาพรวมชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตทั่วไปอยู่แล้ว"


ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร? :

นักชีววิทยา เลกเชอร์ความรู้ให้เราฟังว่า Coral bleaching เกิดจากการที่สาหร่ายที่เราเรียกว่า สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) หนีออกจากตัวปะการัง ซึ่งสาหร่ายนี้จะมีสีสันแตกต่างกันออกไป จึงทำให้เราเห็นปะการังมีสีสวยงาม พอมันหนีออกไป? ปะการังกลายเป็นสีขาว ซึ่งเป็นสีปกติของมันอยู่แล้ว มนุษย์จึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'ปะการังฟอกขาว'

โดยปกติแล้ว เจ้าสองสิ่งนี้จะอาศัยอยู่ร่วมกัน แบบพึ่งพาอาศัยกัน สาหร่ายจะให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ปะการัง เช่น กรดไขมันจำเป็น ส่วนปะการังเองก็ให้อะไรกับสาหร่ายเหมือนกัน เช่น ให้ที่อยู่อาศัย ให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง หรือแร่ธาตุบางอย่าง

"อย่างไรก็ตาม เมื่อวันใดวันหนึ่ง 'สภาวะแวดล้อม' ไม่เหมาะสม พวกมันก็จะแยกกันอยู่สักครู่หนึ่ง" อาจารย์วิน กล่าว

หากแยกกันอยู่แล้ว พวกมันจะกลับมาอยู่ด้วยกันอีกไหม? ทีมข่าวฯ ถามด้วยความสงสัย

อ.วิน ตอบว่า สาหร่ายสามารถกลับเข้ามาได้ ถ้าปะการังยังไม่ตาย กล่าวคือช่วงที่สาหร่ายออกไป ปะการังยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่สารอาหารจะไม่เพียงพอ ทำให้สุขภาพของมันเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ และหากจะถามว่านานแค่ไหน ก็ต้องตอบว่า 'ระบุชัดเจนไม่ได้' เนื่องจากขึ้นอยู่กับชนิดและบริเวณที่ปะการังอาศัยอยู่

"อาจจะหลักวัน หลักสัปดาห์ หลักเดือน หรือหลักปี มันก็ต่างที่กันไป แต่เราลองสมมติให้มันมีอายุได้ 1 เดือน สาหร่ายจะกลับมาหรือไม่กลับ ก็ไม่ได้มีผลอะไรมาก เพราะปะการังเขาตายไปแล้ว"


รวมกันเราอยู่ แยกกันอยู่ได้ไหม? :

จากข้อมูลข้างต้น ทีมข่าวฯ จึงถามต่อว่า ปะการังกับสาหร่ายต้องมีกันและกันตลอดไปใช่ไหม จึงจะอยู่รอด? "ปะการังต้องมีสาหร่ายถึงจะไปรอด แต่สาหร่ายออกไปข้างนอก ไม่มีใครรู้ว่ามันอยู่รอดหรือเปล่า แต่เดาว่าน่าจะอยู่ได้" นักชีววิทยา กล่าวกับเรา ก่อนจะอธิบายเสริมว่า

"เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในส่วนวิวัฒนาการของปะการัง เพราะช่วงแรกๆ เจ้าปะการังมันถูกวิวัฒนาการให้อยู่กับตัวสาหร่าย ซึ่งมันอยู่ด้วยกันมานานมากแล้ว จนเหมือนขาดกันแล้วมันจะตาย"

แสดงว่าในอดีตปะการังอยู่ได้โดยไม่มีสาหร่าย?

ดร.วัชรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน จึงยังบอกไม่ได้ หากจะรู้ได้ นักวิทยาศาสตร์ต้องย้อนกลับไปศึกษาว่า ฟอสซิลของปะการังในอดีตมันเป็นยังไง ซึ่งถือว่าค่อนข้างดูยาก

เพราะปกติแล้ว ที่เราได้เห็นฟอสซิลปะการัง เนื่องจากมันมีโครงสร้างแข็งที่เป็นพวกแคลเซียมคาร์บอเนต ส่วนสาหร่ายเป็นเยื่ออ่อนๆ ถ้ามันตายมันก็หายไปเลย มันเลยทำให้เราไม่รู้ว่าในอดีตมันเคยมีสาหร่ายอยู่ในปะการังหรือไม่

แต่ถ้าเรามองกลับไปไกลๆ เลย ปะการังมีบรรพบุรุษร่วมกับพวกดอกไม้ทะเลและแมงกะพรุน ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปดูอีกในเชิงวิวัฒนาการ บรรพบุรุษของเจ้าพวกนี้ทั้งหมด ไม่ได้มีสาหร่ายอยู่ในตัว สาหร่ายเพิ่งจะเข้ามาอยู่ตอนที่มันกลายเป็นปะการัง


สภาวะ 'ไม่เหมาะสม' :

จากที่ได้แวะทำความรู้จักประวัติคร่าวๆ ของน้องปะการังมาแล้ว เราขอพาผู้อ่านกลับมาที่เรื่อง 'การฟอกขาว' กันต่อดีกว่า?

จากที่ ดร.วัชรพงษ์ กล่าวในหัวข้อแรกว่า "วันใดวันหนึ่งสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม พวกมันจะแยกกันอยู่" จึงชวนสงสัยใคร่รู้ต่อไปว่า สภาวะไหนที่เรียกว่าไม่เหมาะสม จนสาหร่ายต้องออก?

อาจารย์วิน เอ่ยรับทันทีว่า "อันนี้เป็นส่วนสำคัญ" เพราะทุกคนจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของอุณหภูมิสูง จึงทำให้สาหร่ายหนีออกจากปะการัง แต่ถ้าเราไปอ่านดูดีๆ จะเห็นว่ามีปัจจัยอื่นด้วย เนื้อข่าวหรือบทความต่างๆ จะบอกว่าสิ่งที่ทำให้มัน 'ฟอกขาว' ก็คือ 'ความเครียด'

เวลาปะการัง 'เครียด' มันจะปล่อย 'สาหร่าย' ออกมา แต่เราก็อาจจะบอกไม่ได้เต็มที่ว่า ปะการังไล่สาหร่ายออกมา หรือสาหร่ายออกมาเอง เพราะถ้าอ่านเรื่องนี้จากภาษาอังกฤษ เขาจะใช้คำว่า Expel ที่แปลว่า พ่นออกไป เราจึงไม่รู้แน่ชัดว่าใครออกไปหรือใครอยากออก

"แต่การเครียด มันก็เกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง หากน้ำเย็นเกินไป ปะการังก็ฟอกขาวได้ ไม่จำเป็นแค่ว่าต้องเกิดขึ้นเพราะน้ำร้อนอย่างเดียว"

กรณีหนึ่งที่ผมเคยอ่านเจอ เป็นเหตุการณ์เกิดที่ฟลอริดา เมื่ออุณหภูมิลดเร็วมากภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ดังนั้น เราจะเห็นว่าไม่ใช่แค่ความร้อน แต่ความเย็นเกินก็ทำให้เกิด Coral bleaching ฉะนั้น การฟอกขาวเลยขึ้นอยู่กับความเครียดของปะการัง


สภาวะอื่นนอกจากเรื่อง 'อากาศ' :

ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ เลกเชอร์เรื่องราวของ 'ปะการัง' ด้วยความคล่องแคล่วต่อว่า ภาวะ 'เครียด' ไม่ได้มาจากแค่อุณหภูมิอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากปัจจัยอื่นได้อีก เช่น สารเคมี น้ำมันรั่ว หรือเหตุอื่นๆ แต่เรื่องนี้ยังไม่มีคนศึกษามากนัก แม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ได้ชัดเจน บวกกับกระแสของโลกที่ทุกคนกำลังพูดเรื่อง Climate Change (การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ)

ในความเป็นจริงเรารู้กันอยู่แล้วว่า Pollution (มลพิษ, มลภาวะ) อื่นๆ มีผลกับสิ่งมีชีวิต แต่ตอนนี้เราถูก Bias (โน้มเอียง) ไปที่เรื่องของ Climate Change ดังนั้น เมื่อมีคนพูดถึง 'ปะการังฟอกขาว' เขาก็จะพูดกันว่าเป็นเพราะอุณหภูมิเพิ่มขึ้น

"ผมเปรียบเทียบให้เห็นภาพโดยง่ายว่า เรามีเพื่อน 10 คน ทุกคนไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยกัน แล้วอยู่ๆ อุณหภูมิเกิดเย็นขึ้นกว่าเดิม ถามว่าทั้ง 10 คน จะป่วยพร้อมกันเลยหรือเปล่า คำตอบก็คือ 'ไม่ใช่' อาจจะป่วยเพียง 3 คน คำถามต่อไปคือ 'ทำไม 3 คนจึงป่วย แต่เราไม่ป่วย?' เพราะเราแข็งแรงกว่าเขา การที่เขาไม่แข็งแรงก็อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ หลายอย่างประกอบกัน"

อ.วิน กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับปะการัง เขาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็เป็นแบบนี้ เมื่อเขาเครียด ภูมิคุ้มกันจะตก ทำให้เสี่ยงกับการป่วยหรือตายได้ง่ายขึ้น ที่ผมพูดประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะทุกคนพูดถึงเพียงเรื่อง 'ความร้อน' แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ปะการังป่วย แค่มันยังไม่ได้ฟอกขาว แต่พอมีอุณหภูมิมาช่วยกระตุ้นก็เลยฟอกขาว

สมมติว่า? คุณเอาปะการังมาเลี้ยงไว้ในตู้ด้วยน้ำที่สะอาดมาก แล้วลองเพิ่มอุณหภูมิสัก 2 องศา มันอาจจะไม่ฟอกขาวก็ได้ เพราะในธรรมชาติมันมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย อย่างเรื่อง 'น้ำมันรั่ว' ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตในระบบนิเวศ

"อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจริง ถึงจะดูเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย แต่ก็เยอะสำหรับปะการัง แต่ยังมีสิ่งที่น่ากลัวกว่า ซึ่งเราอาจจะไม่ได้พูดถึงเลย เช่น มลพิษ สมมติว่าคุณล่องเรือไปดูปะการัง มันก็จะมีน้ำมันออกมา เรื่องพวกนี้ก็จะส่งผลอยู่เงียบๆ แต่เราไม่ได้สนใจมากเท่าไร เพราะเราไป Bias เรื่องของโลกร้อน"

ถ้าอย่างนี้การที่สื่อต่างๆ นำเสนอว่า 'เกิดจากโลกร้อน' ก็แสดงว่าทำให้ผู้รับสารเข้าใจเรื่องนี้คลาดเคลื่อนหรือเปล่า? ทีมข่าวฯ ถาม

"ความเข้าใจไม่คลาดเคลื่อน แต่บอกไม่หมด" นักชีววิทยา ตอบกลับ


ทำไมเรียกว่า 'การฟอกขาวครั้งใหญ่'? :

เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ ยกให้ครั้งนี้เป็น 'การฟอกขาวครั้งใหญ่' ดร.วัชรพงษ์ อธิบายว่า มาจากการที่ปะการังฟอกขาวพร้อมกันหลายที่ในโลก โดย NOAA ของสหรัฐฯ ได้รับรายงานจากหน่วยงานเครือข่ายในหลายประเทศว่า มีจุดไหนที่ฟอกขาวแล้วบ้าง ทำให้ NOAA ทราบว่า 'มันเริ่มฟอกพร้อมกันเยอะแล้ว'

ทีมข่าวฯ สอบถามนักชีววิทยาที่อยู่ปลายสายว่า อากาศร้อนเป็นสาเหตุหลักๆ ใช่หรือไม่ เนื่องจากมีรายงานว่า ทั้ง 4 ครั้งที่เกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ ล้วนแต่เป็นช่วงที่เกิด 'เอลนีโญ' ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเสมือนสาเหตุหลัก?

อาจารย์วัชรพงษ์ กล่าวว่า ต้องเรียกว่าการฟอกขาวใหญ่ทั้ง 4 ครั้ง บังเอิญมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิที่สูงขึ้น เราต้องแยกให้ออกว่าความสัมพันธ์ไม่ได้แปลว่า 'สาเหตุ' เพราะส่วนใหญ่จะบอกว่าโลกร้อนทำให้ปะการังฟอกขาว แต่จริงๆ แล้วมันคือ 'มีความสัมพันธ์ระหว่างการฟอกขาวกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น'


(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม