|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย สำหรับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอันตรายจากฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน โดยมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และการระบายอากาศในบริเวณดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 29-31 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 4 ? 5 พ.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 7 พ.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 8 ? 9 พ.ค. 67 แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมทั้งมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้ ในช่วงวันที่ 4 ? 5 พ.ค. 67 สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันตกยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 พ.ค. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 4 ? 5 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานาน ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 9 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมทั้งมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย รวมทั้งระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับชาวเรือในช่วงวันที่ 6 ? 9 พ.ค. 67 ชาวเรือบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ****************************************************************************************************** ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 7 (85/2567) (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2567) ในช่วงวันที่ 4?5 พ.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนในช่วงวันที่ 6-7 พ.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้ วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดพะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด วันที่ 6 - 7 พฤษภาคม 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
เข้าสู่ภาวะโลกเดือดเป็นทางการ ........... โดย หมัดเหล็ก mudlek@thairath.co.th ผลพวง เอลนีโญ ที่เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้ แทนภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ทำให้ขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง และ ลานีญา ที่เกิดจากกระแสลมที่พัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงกว่าปกติทำให้กระแสน้ำอุ่น ไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฝนตกหนักมากกว่าปกติ ทำให้ อากาศแปรปรวน ร้อนจัด หนาวจัด มรสุมจัด ส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากความไม่สมดุลของธรรมชาติ ฤดูร้อนปีนี้ อุณหภูมิความร้อน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงที่สุดเฉลี่ยมากกว่า 40 องศาฯขึ้นไป ภาวะความ แห้งแล้ง เกิดเร็วขึ้นและกินระยะเวลายาวนาน ทำให้การเกษตร ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่าอากาศสุดขั้วจะทำให้เกิดผลกระทบกับการใช้น้ำในการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชนค่อนข้างหนัก สถิติอุณหภูมิความร้อนสูงสุดที่ อ.เถิน จ.ลำปาง วัดได้ 44.2 องศาเซลเซียส อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ วัดได้ 44.1 องศาฯ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี วัดได้ 44.0 องศาฯ จะส่งผลกระทบกับการเกษตรโดยตรง เพราะปริมาณน้ำที่ใช้ได้ในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำการเกษตรทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกในปีนี้มีถึง 10.21 ล้านไร่ หรือร้อยละ 126 ของแผนการเพาะปลูก หมายความว่ามีการเพาะปลูกของเกษตรกรมากกว่าปริมาณการใช้น้ำตามแผนที่วางไว้ เรากำลังเผชิญหน้ากับความแปรปรวนของ สภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว ทำให้เกิดฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้งและไฟป่าที่รุนแรงขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลจาก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พบว่า จำนวนระยะเวลาที่ อากาศหนาว คือตั้งแต่ 16 องศาฯลงไปที่ปกติจะมีอากาศหนาวระหว่างเดือน ธ.ค.-ก.พ. ประมาณ 60 วัน พบว่า ภาคเหนือ มีอากาศหนาวลดลงเหลือ 45 วัน ตะวันออกเฉียงเหนือ หนาวเพียง 30 วัน จำนวนฝนตกหนักคือมากกว่า 35.1 มม.เพิ่มขึ้น อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เข้าสู่ยุคโลกเดือด Global Boiling ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ส่วนหนึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสมีเป้าหมายคือการควบคุมอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาฯ ทุกปี และต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 43 ในปี 2573 ที่ประเทศไทยอยู่ในภาคีด้วย ไม่ประสบผลสำเร็จ วันนี้น้ำท่วมยังรุนแรง คลื่นความร้อนสูงขึ้นทุกที ภาวะความแห้งแล้งมีเวลานานขึ้น ไฟป่ามีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ เรายังห่างไกลจากการลดโลกร้อนมากจนเข้าสู่ยุคโลกเดือดในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเรายังแก้ปัญหาโลกเดือดกันแบบไฟไหม้ฟาง. https://www.thairath.co.th/news/local/2782900
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
อ่าวมาหยา คว้าอันดับ 5 ชายหาดที่ดีที่สุดในโลก 2024 โดย BeachAtlas Photo: Carola Frentzen/picture alliance via Getty Images "อ่าวมาหยา" ของไทย ติด Top 5 ชายหาดที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2024 โดย BeachAtlas เว็บไซต์จากประเทศอังกฤษ ที่เปิดโอกาสให้นักเดินทาง ช่างภาพ และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังช่วยกันโหวต ทั้งนี้ พัทยา กับ หาดไร่เลย์ ก็ติดอันดับ Top 100 ด้วย BeachAtlas เว็บไซต์สตาร์ทอัปจากอังกฤษที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องชายหาด ได้จัดรางวัล Golden Beach Award 2024 เป็นครั้งแรก ผ่านจากจัดอันดับ Top 100 Beaches in the World หรือ 100 ชายหาดที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 เปิดโอกาสให้นักเดินทาง ช่างภาพ และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังช่วยกันลงคะแนน ทั้งนี้ โดยทั่วไป สื่ออื่นๆมักพิจารณากันที่ความสวยงามของหาดทรายละเอียด น้ำทะเลสีฟ้าใส แต่สำหรับ BeachAtlas พิจารณาครอบคลุมเกณฑ์ที่หลากหลายกว่าเดิม เช่น คุณค่าต่อชุมชนท้องถิ่น ไลฟ์สไตล์และความบันเทิง ความสำคัญทางวัฒนธรรม ความเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของเมือง เป็นต้น โดยผลจากจัดอันดับใน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. Bora Bora เฟรนช์พอลินีเซีย (ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส) 2. Boulders Beach แอฟริกาใต้ 3. Waikiki Beach ฮาวาย, สหรัฐอเมริกา 4. Copacabana บราซิล 5. อ่าวมาหยา กระบี่, ประเทศไทย 6. Black Sand Beach ไอซ์แลนด์ 7. Glass Beach แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา 8. JBR Beach สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 9. Skeleton Coast นามิเบีย 10. Omaha Beach ฝรั่งเศส โดย BeachAtlas ระบุเหตุผลว่า อ่าวมาหยา แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศไทย โดดเด่นด้วยน้ำทะเลใสปิ๊งสีคราม หน้าผาสุดตระการตา และหาดทรายขาวงดงาม เป็นผลงานชิ้นเอกของธรรมชาติที่นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง ?ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ? เคยมาเยือนในภาพยนตร์เรื่อง "The Beach" และ นั่นก็ทำให้ใครๆต่างก็อยากมาสัมผัสเสี้ยวหนึ่งของหาดสวรรค์ของพระเอกคนดัง ทำให้อ่าวมาหยากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องปักหมุดมาเยือนสักครั้ง นอกจากนี้ ชายหาดพัทยา กับ หาดไร่เลย์ (กระบี่) ของประเทศไทย ยังติดอันดับที่ 12 และ 66 ตามลำดับ https://mgronline.com/travel/detail/9670000038371
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
วิกฤติ! เกาะพีพี ขาดน้ำ นทท. ยกเลิกจองห้องพัก-โปรแกรมท่องเที่ยวจำนวนมาก วันที่ 3 พฤษภาคม นายสรรเพ็ชญ์ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ขอรับการสนับสนุนน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งบนเกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ เร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้ ผู้ประกอบการ ที่พักโรงแรม รีสอร์ท ร้านค้าร้านอาหาร ขนาดเล็ก บ้านเรือนประชาชน ที่ไม่มีบ่อน้ำบาดาลเป็นของตัวเอง ได้รับความเดือดร้อน ขาดน้ำประปา อุปโภคบริโภค หลังจาก เอกชนผู้ผลิตน้ำประปา หยุดจ่ายน้ำตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา เนื่องจากแหล่งน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาขนาดกว่า 5 ไร่ ที่ตั้งอยู่บนภูเขา แห้งหมด ส่งผลให้ นักท่องเที่ยว ยกเลิกการจอง ที่พักโรงแรม โปรมแกรมการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ของจังหวัดกระบี่ ประสานขอสนับสนุนเรือ จากกองทัพเรือภาค 3 บรรทุกน้ำ ครั้งละ 1 แสนลิตร จากจังหวัดภูเก็ต ไปยังเกาะพีพี เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ขณะที่นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เรียกประชุมด่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานงานชลประทานจังหวัดกระบี่ การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดกระบี่ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ สำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขากระบี่ อำเภอเมืองกระบี่ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น หลังจาก สถานการณืน้ำประปากระบี่เข้าขั้นวิกฤต แม้ว่า การทำฝนหลวงจากกรมการฝนหลวงและการบินเกษตร แต่มีปริมาณฝนที่ตกลงมายังไม่ได้ตามเป้าหมายและมีแนวโน้มว่า วิกฤตภัยแล้งจะยืดเยื้อ น้ำดิบที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคจะไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดกระบี่ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ร่วมกับโครงการชลประทานกระบี่ดำเนินการขุดลอกคลองบริเวณหน้าประปาคลองกระบี่ใหญ่ซ่อมแซม ฝายบ้านทุ่งเจริญ ฝายคลองหญ้าไทร และฝายทับปริก ตำบลทับปริก อำเภอเมืองกระบี่ ที่มีสภาพชำรุดเนื่องจากมีการก่อสร้างเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ พร้อมให้การสนับสนุน การประปาส่วนภูมิภาค สาขา กระบี่ จัดสรรงบประมาณ วางท่อส่งน้ำมาจาก อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง ตำบลกระบี่น้อย ของ กรมชลประทาน ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตรมายัง คลองกระบี่ใหญ่ เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำรองรับปริมาณน้ำฝนจากการทำฝน โดย เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชน แม้ว่าปริมาณน้ำในคลองกระบี่ใหญ่ เพิ่มสูงขึ้น ที่บริเวณ โรงสูบน้ำแรงต่ำการประปาส่วนภูมิภาค สาขา กระบี่ หลังจากมีฝนตกในพื้นที่ ตลอด 2-3 วันที่ ผ่านมา จากปฏิบัติการฝนหลวง ระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำดิบนำไปผลิตน้ำประปาเพิ่มมากขึ้น การประปาส่วนภูมิภาคสาขากระบี่เร่งสูบน้ำ ชั่วโมงละ 1800 ลูกเมตร ไปผลิตน้ำประปา รองรับประชาชน อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลองบางส่วน แต่ยังคง บริหารจัดการน้ำ แบ่งโซน สลับวันจ่ายน้ำวันเว้นวัน ไปจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม แม้ว่า สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอ หากมีการปล่อยน้ำเต็มระบบ https://www.matichon.co.th/region/news_4558067
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews
ทำความรู้จัก แนวปะการัง บ้านหลังสำคัญใต้ท้องทะเล ที่กำลังพ่ายให้โลกเดือด! สปริงชวนทุกคนทำความรู้จัก บ้านหลังสำคัญแห่งโลกใต้ทะเลที่เรียกว่า "แนวปะการัง" ทำไมถึงสำคัญต่อระบบนิเวศ เกิดขึ้นได้ยังไง พบได้ที่ไหน ปัจจุบัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำร้ายพวกมันไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว ติดตามได้ที่บทความนี้ ขณะนี้ ท้องทะเลสีครามกำลังเกิดสงครามที่เรียกว่า "ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว" หรือ Coral bleaching จากแนวปะการังที่เคยสวยอร่ามงามตา อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ปัจจุบัน หากดำน้ำลงไป คุณอาจเห็นพวกมันกลับกลายเป็นสีขาวแล้ว ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องดีเลย... สปริงถือโอกาสนี้ชวนทุกคนทำความรู้จัก "แนวปะการัง" เกิดจากอะไร เมื่อชำแหละลึกลงไปแล้วเราจะพบกับสิ่งมีชีวิตใดบ้าง ปัจจุบันแนวปะการังในไทยอยู่ที่แหล่งใดบ้างในประเทศไทย และตบท้ายกันไปด้วยผลพวงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นตัวการทำให้เกิดปะการังฟอกขาว แนวปะการังเกิดได้ยังไง? ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุนิยามของแนวปะการังไว้ว่า แนวปะการังเกิดจากการร่วมกลุ่มกันของแนวปะการัง กระทั่งเกิดเป็นแนวหินปูนใต้ท้องทะเล สามารถพบได้ที่บริเวณน้ำตื้นตามชายฝั่ง แนวปะการังถือเป็นระบบนิเวศที่สำคัญมาก ในแง่ของการเป็นที่อิงอาศัยให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ปลาเล็กปลาน้อยต่างใช้แนวปะการังเป็นที่หลบภัย เหมือนที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์เรื่อง Finding Nemo นั่นแหละ แนวปะการังประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตใดบ้าง? 1. สาหร่าย (algae) 2. หญ้าทะเล (seagrass) 3. ฟองน้ำ (sponge) 4. ปะการังอ่อน (soft coral) 5. กัลปังหา และแส้ทะเล (sea fan and sea whip) 6. ดอกไม้ทะเล (sea anemone) 7. หนอนทะเล (Polychaete) 8. หอยและหมึก (molluse) 9. ครัสเตเชียน (crustacean) เช่น กุ้ง ปู 10. สัตว์ที่มีผิวหนังเป็นปุ่ม (echinoderm) เช่น เม่นทะเล ปลิงทะเล ดาวทะเล 11. เพรียงหัวหอม (ascidians) 12. ปลา (fish) แนวปะการังพบได้ที่จังหวัดใดบ้าง? เว็บไซต์ ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล ได้ฉายให้เห็นภาพรวมแนวปะการังไทยไว้อย่างละเอียด โดยระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปะการังทั้งสิ้น 149,182 ไร่ พบปะการังทั้งหมด 18 วงศ์ 71 สกุล 273 ชนิด โดยปะการังชนิดที่เด่นที่สุดได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปัจจุบัน สามารถพบแนวปะการังได้ทั้งหมด 17 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันมีแนวปะการังทั้งหมด 73,756 ไร่ และฝั่งอ่าวไทยมีทั้งสิ้น 75,426 ไร่ โดยจังหวัดที่พบแนวปะการังมากที่สุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี 35,982 ไร่ และแนวปะการังที่ดูจะมีปัญหามากที่สุดอยู่ที่ ตราดและพังงา จังหวัดที่มีแนวปะการังมีทั้งหมด 17 จังหวัด ดังนี้ 1. ตราด 2. จันทบุรี 3. ระยอง 4. ชลบุรี 5. ประจวบคีรีขันธ์ 6. ชุมพร 7. สุราษฎร์ธานี 8. นครศรีธรรมราช 9. สงขลา 10. ปัตตานี 11. นราธิวาส 12. ระนอง 13. พังงา 14. ภูเก็ต 15. กระบี่ 16. ตรัง 17. สตูล ทะเลไทยกำลังเดือดเหมือนแช่อยู่ในออนเซ็น อย่างไรก็ดี ไทย "เคย" เป็นพื้นที่ซึ่งมีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันดูจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ท้องทะเลเดือด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ค Thorn Thamrongnawasawat ว่า ขณะนี้น้ำทะเลไทยเดือดเหมือนแช่อยู่ในออนเซน "ผมลงดำน้ำดูปะการังฟอกขาวตั้งแต่ปี 2534 ถือเป็นครั้งแรกที่ปะการังฟอกขาวในทะเลไทยที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ" "หนที่หนักที่สุดคือช่วงปี 2541 ปะการังเขากวางที่อ่าวไทยตายเกือบทั้งอ่าว และบางแห่งยังไม่ฟื้นคืนกลับมาเลย" "ปัญหาคือปีนี้น้ำยังร้อนจัดต่อไป ฟ้ายังใสแดดยังแรงฝนยังไม่มา หากเป็นแบบนี้ อีก 7-8 วัน ปะการังภาคตะวันออกจะเข้าจุดพีค และถ้าฝนยังไม่มาอีก ความตายครั้งใหญ่จะมาเยือนทะเลไทย" "ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว 2567 ยังไม่จบ เพิ่งเริ่มเท่านั้น ฟอกขาว 30% วันนี้ อีก 5-6 วันอาจกลายเป็น 80-90%" ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย มันใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด... ที่มา: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/850008
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews
โลกเหลือเวลา 5 ปี 2 เดือน แก้วิกฤตโลกเดือด ก่อนไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไขได้ .............. โดย SUTHEEMON KUMKOOM SHORT CUT - Carbon Clock หรือ นาฬิกาคาร์บอน ชี้ มนุษย์เหลือเวลา 5 ปี 2 เดือน แก้วิกฤตโลกเดือด ก่อนที่โลกจะแตะ 1.5 องศาเซลเซียส - ข้อมูลในนาฬิกาคาร์บอนอ้างอิงมาจากข้อมูลจริงโดย IPCC - หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแตะ 1.5 องศาเซลเซียส วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะอยู่ในจุดที่ไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไขได้ โลกไม่มีวันหวนคืนได้อีกแล้ว Carbon Clock เผยว่า มนุษย์เหลือเวลาอีกเพียง 5 ปี 2 เดือนเท่านั้น ในการแก้วิกฤตโลกเดือด ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ถ้าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแตะ 1.5 องศาเซลเซียส โลกจะตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจหวนกลับมาแก้ไขได้อีกแล้ว Carbon Clock หรือนาฬิกาคาร์บอน ถูกสร้างขึ้นโดย Mercator Research Institute on Global Commons and Climate Change หรือ สถาบันวิจัยสิ่งมีชีวิตและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกจากประเทศเบอร์ลิน ซึ่งนาฬิกาเรือนนี้ได้รับข้อมูลและการตรวจสอบจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าโลกเหลือความสามารถในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศได้มากเพียงใด และมีการจำลองว่า หากคาร์บอนที่ปล่อยออกไปจำนวนมากนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ นาฬิกาจะคำนวนว่า มนุษยชาติเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ จึงจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแตะ 1.5 องศาเซลเซียส และ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจากตัวเลขล่าสุด การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะแตะ 1.5 องศาเซลเซียสได้นั้น มนุษย์เหลือเวลาอีกเพียง 5 ปี 2 เดือน 18 วันเท่านั้น นอกจากนี้มนุษย์ก็ยังเหลือเวลาอีกแค่ 22 ปี 11 เดือน 27 วันเท่านั้น ในการทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแตะ 2 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแตะ 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้โลกเดินทางมาถึงจุดผลิกผันด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate tipping points) ที่ไม่สามารถหวนคืนไปแก้ไขได้ หรือกลับมาเป็นแบบเดิมได้ อาทิ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สัตว์หลายชนิดล้มตายและสูญพันธุ์ ปะการังตายหมู่ พายุรุนแรงขึ้น สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง เดี๋ยวร้อนจัดหนาวจัด และระบบนิเวศที่ล่มสลาย ไปจนถึงกระทบกับมนุษย์ทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การเจ็บป่วย และความล้มเหลวของระบบการบริหารและการใช้ชีวิตทุกด้าน อย่างไรก็ตาม นาฬิกาคาร์บอน (Carbon Clock) นี้อ้างอิงการจำลองมาจากข้อมูลจริง เพื่อแสดงให้มนุษยชาติเห็นว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกเดือดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรช่วยกันแก้ไขขนาดไหน ที่มาข้อมูล MCC https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/850014
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|