เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 04-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default ป่าชายเลน (2)



ติดตามอ่านได้จาก http://www.saveoursea.net/boardapr20...hp?topic=205.0

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 04-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default 'พื้นที่ชุ่มน้ำ' ระหว่างประเทศ


'พื้นที่ชุ่มน้ำ' ระหว่างประเทศ รัฐได้หน้า...ชาวบ้านได้อะไร!?


พื้นที่ป่าชายเลนเบื้องหน้าเรียบเป็นหน้ากลองตามคำบัญชาของนายทุนที่ให้รถแบ๊กโฮกวาดพื้นที่สีเขียว จนโล่งเตียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ไม้ใหญ่หลายชนิดล้มทับถมจมโคลน ตลิ่งถูกพังลงเพื่อระบายน้ำสู่คลองด้านข้าง ขณะหลายพื้นที่บริเวณเดียวกับป่าชายเลนได้รับการบุกรุกจากมนุษย์ในการสร้างร้านอาหารกลางบึง หรือบ่อขยะในอดีตที่ยังไม่มีวี่แววการบำรุงรักษา...

ความเสื่อมโทรมทั้งมวลที่ร่ายมานี้อยู่ใน พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ซึ่งบรรจุในทะเบียน พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ ภายใต้อนุสัญญาลำดับที่ 1099 เมื่อ พ.ศ. 2544 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งบนบกและในทะเลของ ต.บางแก้ว ต.บางจะเกร็ง ต.แหลมใหญ่ ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร (พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลและบึง ซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกไม่เกิน 6 เมตร)

ปีนี้การจัดกิจกรรมวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (2 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากประชาชนหลายพื้นที่ แต่สำหรับชาวบ้านดอนหอยหลอดหลายคนยอมรับว่า เพิ่งรู้ว่าดอนหอยหลอดได้รับประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ เพราะที่ผ่านมาไม่มีป้ายประกาศให้รู้มาก่อน

“รัฐประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดมาเกือบ 10 ปี แต่ชาวบ้านหลายคนยังไม่รู้ เพราะไม่มีแม้ป้ายประกาศ จะมีก็แต่ป้ายโฆษณาปักเกลื่อนกลาดรัฐเหมือนประกาศทิ้งประกาศขว้าง ขาดการส่งเสริมสนับสนุน ชาวบ้านตอนนี้พยายามรวมกลุ่มกันเพื่ออนุรักษ์เพราะผลกระทบจากมนุษย์และนักท่องเที่ยวที่ไหลบ่าเข้ามามากกว่าทรัพยากรธรรมชาติจะรับได้ ภาครัฐเองวันนี้ชาวบ้านมองว่าหวังพึ่งไม่ได้ จึงทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติกันเอง” บุญยืน ศิริธรรม ชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอดระบายความอัดอั้น

วันนี้ดอนหอยหลอดเหลือเพียงชื่อ เพราะเดิมหอยหลอดหาง่ายเพียงเดินไปไม่กี่ตารางเมตรชาวบ้านก็ได้หอยหลอดมากว่าร้อยตัว แต่ตอนนี้เดินหาเก็บหอยหลอดร้อยกว่าตารางเมตรจับได้แค่สองตัว นี่กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านซึ่งเคยจับเครื่องมือประมง ต่างอพยพจากเรือตังเกขึ้นมาเป็นลูกจ้างร้านรวงต่างๆที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยว บางรายมีทุนก็เปิดร้านอาหารหรือร้านค้า แต่ไม่นานก็ต้องปิดกิจการลงเพราะไม่มีความรู้เรื่องค้าขาย หลายคนใช้ชีวิตด้วยการเป็นหนี้พอกพูนจนยากจะปลดเปลื้อง

การหดหายของสัตว์ทะเลยังรวมไปถึง ปลาตีนใหญ่ ปูทะเล ปูม้า กุ้ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนกว่า 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง 2 ปีหลังพบว่า ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงการจับปูม้าขาย ชาวประมงเกือบทั้งแถบหาปูม้าไม่ได้มากเหมือนก่อน ทำให้ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งทำกิน

สำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด แม้ขณะนี้ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ แต่การดูแลของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน เป็นเพราะพื้นที่นี้อยู่บริเวณปากน้ำแม่กลองที่รับน้ำเสียมาจากกาญจนบุรี ราชบุรี และน้ำเสียพร้อมขยะจากชาวบ้านในพื้นที่ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเริ่มเสื่อมโทรม ป่าชายเลนถูกทำลายจากนายทุนที่ตัดป่าชายเลนเพื่อทำประโยชน์ ร้านค้าต่างรุกล้ำพื้นที่เข้ามาในทะเล ปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาจัดเก็บขยะอย่างเป็นระบบ

“ชาวบ้านยังมองว่า ดอนหอยหลอดมีอนาคตกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยภาครัฐต้องลงมาร่วมกับชาวบ้านอย่างจริงจัง อย่าพัฒนาด้วยน้ำลาย การประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ประกาศแล้วจะดูแลอย่างไรให้ยั่งยืนนั้นสำคัญกว่า” บุญยืน ฝากข้อคิดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พื้นที่ชุ่มน้ำใดได้ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ จัดว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์มีข้อบังคับในการให้เจ้าของพื้นที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ ในส่วนพื้นที่ของเอกชนก็สามารถประกาศได้ เพียงพื้นที่นั้นทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี เช่น นากุ้งที่ยังทำตามแบบดั้งเดิม

มาตราวัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำต้องเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำ กฤษณา แก้วปลั่ง ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มองว่า จากการร่วมกิจกรรม “นับนกน้ำโลกกับเรดบูลสปิริต” ช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า มีประชากรนกน้ำอพยพเข้ามาหากินในไทยลดลง เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งหากินได้รับผลกระทบจากการถมดินบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำและการคุกคามของมนุษย์ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำในไทยที่ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ตอนนี้มี 12 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ขณะที่พื้นที่แรมซาร์ไซต์ในพื้นที่ของประชาชนยังมีน้อย ภาครัฐควรให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น เพราะการประกาศแรมซาร์ไซต์ในพื้นที่ของชาวบ้านเหมือนกับการให้ความรู้ไปในตัว ขณะที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่มีความเข้าใจในการประกาศดังกล่าวเพราะกลัวว่า ถ้าประกาศแล้วพื้นที่ของตัวเองจะถูกหน่วยงานรัฐยึดที่ดิน ซึ่งความจริงรัฐไม่สามารถยึดได้เพราะ การประกาศสามารถยกเลิกได้หากพื้นที่นั้นเสื่อมโทรมหรือเจ้าของไม่ต้องการให้ เป็นแรมซาร์ไซต์

“หน่วยงานท้องถิ่นเองต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมในการผลักดันให้พื้นที่ชุ่มน้ำ ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์เพราะจะได้รับผลตอบรับ เช่น มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชอบดูนกมามากขึ้น หรือเกษตรกรที่ทำนากุ้งแบบดั้งเดิมสหภาพยุโรป จะซื้อกุ้งของเกษตรกรในราคาพิเศษ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้รับการรับรองว่า ไม่ใช้สารเคมีในการเลี้ยง”

ส่วน วิชา นรังศรี กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มองการประกาศพื้นที่แรมซาร์ไซต์ในพื้นที่ชาวบ้านที่ผ่านมายังล้มเหลวเพราะ ชาวบ้านต่างเชื่อว่าเป็นกฎหมาย ทั้งที่จริงไม่ใช่ ประกอบกับชาวบ้านไม่เชื่อใจภาครัฐ ซึ่งนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาแก้ไข ถ้าไม่อย่างนั้นพื้นที่ชุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์จะหมดลง

“องค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งพยายามพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นแหล่งท่อง เที่ยวจึงเอาเงินให้คนงานไปขุดลอกบึง เช่น บึงฉวาก, บึงบอระเพ็ด ทำให้แหล่งอาหารของนกน้ำถูกทำลายลง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายครั้งรัฐกับรัฐไม่ได้คุยถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อน ไม่ต่างจากการขุดลอกคลอง เพราะคลองธรรมชาติมันทำขึ้นมาเพื่อชะลอน้ำของมันเอง พอลอกคลองกระแสน้ำก็แรงขึ้น ซัดตลิ่งพังหมด คลองแบบธรรมชาติถ้าน้ำท่วมจะอยู่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ถ้าลอกคลองน้ำจะท่วมนานกว่าเดิม พอน้ำท่วมคนก็สร้างฝายกั้น ครั้นตะกอนทับถมอยู่หน้าฝายคนก็โกยเอาไปทิ้งอีกทั้งที่มันมีประโยชน์ต่อธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาของคนมีเงินที่ตรงข้ามกับวิถีธรรมชาติ อนาคตของพื้นที่ชุ่มน้ำไทยอาจไม่ทรุดไปกว่านี้ แต่ถ้าหวังให้ดีขึ้นกว่าเดิมคงยากถ้าเรายังไม่มีจิตสำนึกอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ” วิชา กล่าวถึงข้อคิดเห็น

แหล่งข้อมูลจากหน่วยงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านเริ่มมีความตื่นตัวในการดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำในท้องที่เพิ่มมากขึ้น แต่บางครั้งหน่วยงานรัฐเองกลับมองพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้นเป็นพื้นที่รกร้างไม่มีประโยชน์ จึงทำการใช้ประโยชน์โดยสร้างสำนักงาน เช่น บึงกะโล่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นการมองในมิติเดียวทั้งที่จริงควรมองให้รอบด้านกว่านี้

ขณะเดียวกันพื้นที่ชุ่มน้ำที่ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง ซึ่งในพื้นที่อุทยานยังไม่มี ความน่าเป็นห่วงเท่าพื้นที่ชุ่มน้ำภายนอก ที่ยังไม่มีงบประมาณในการดูแลรักษาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมามีเพียงเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดป้องกันการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ถ้าชาวบ้านพบเห็นผู้กระทำผิดทำลายป่าชายเลนและระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่ม น้ำ สามารถนำ พ.ร.บ. คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาใช้ได้ อนาคตรัฐเองควรมี พ.ร.บ. ในการป้องกันการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำให้มีมาตรการเข้มแข็งมากขึ้นกว่านี้

อนาคตรัฐควรมีศูนย์การเรียนรู้ในแต่ละแห่งของพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวและเยาวชนได้เรียนรู้ เพราะที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมาแล้วยังขาดความรู้ หลายคนจึงทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว เช่น บางคนเห็นกอหญ้าริมน้ำรกบังทิวทัศน์ของทะเลก็ไปถอนออก ทั้งที่จริงกอหญ้าเหล่านั้นเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ ส่วนชาวบ้านเองควรร่วมมือกันอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ไม่ควรช็อตปลาหรือตัดป่าชายเลนเพื่อถมที่สร้างสิ่งปลูกสร้าง

สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐ มนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลายไปมาก จึงพยายามปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่มากขึ้น และมีแผนการที่จะประกาศพื้นที่แรมซาร์ไซต์เพิ่มขึ้นตามนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งแรมซาร์ไซต์” ส่วนในการประกาศบนพื้นที่ของชาวบ้านต้องดูความเป็นไปได้ในพื้นที่ซึ่งตรงกับ มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่

เสียงคำปฏิญาณการร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำของชาวบ้านและภาครัฐในวัน พื้นที่ชุ่มน้ำโลกยังแว่วอยู่ในหู เพียงหวังไม่ให้คำพูดที่เอ่ยออกมาผ่านแล้วผ่านเลย เพราะนอกเหนือจากรัฐได้หน้าแล้ว ชาวบ้านยังจะได้ทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมา แถมยังได้เกราะป้องกันน้ำกัดเซาะทะเลชายฝั่งอีกด้วย.

12 พื้นที่แรมซาร์ไซต์ ในประเทศไทย

1. พรุควนขี้เสี้ยน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.สงขลา-พัทลุง

2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.หนองคาย

3. ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม

4. ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่

5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงกาย จ.เชียงราย

6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส

7. หาดเจ้าไหม (เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง) จ.ตรัง

8.อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี- ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง

9.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี

10. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา

11.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

12. กุดทิง จ.หนองคาย



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 4 มีนาคม 2553
รูป
   
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 27-05-2010
lamerdejoy's Avatar
lamerdejoy lamerdejoy is offline
Junior Member
 
วันที่สมัคร: May 2010
ข้อความ: 7
Default

เคยไปปลูกป่าชายเลนที่คลองโคลน ชอบมากๆค่ะ

แต่หลังจากนั้น 3 เดือน แผลที่โดนเพลียงบาดกลายเป็นฝี จนต้องเข้าโรงพญาบาลซะงั้น
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 06-06-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


อนุรักษ์ป่าชายเลน (เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน)


ป่าชายเลนมีความสำคัญอย่างมหาศาล ทั้งต่อการดำรงชีวิตของพืช สัตว์น้ำและสัตว์บกนานาชนิด รวมถึงมนุษย์ ไม้ในป่าชายเลนนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ในแต่ละปีไม้ป่าชายเลนจะถูกนำมาทำถ่านโดยเฉพาะไม้โกงกาง จะทำถ่านได้คุณภาพดีที่สุด และเปลือกไม้หลายชนิดนำมาสกัดจะได้แทนนิน ใช้ทำหมึก ทำสี ทำกาว ฟอกหนัง ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำและเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนกุ้งและปลา ที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้อาศัยป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เช่น กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว และปลาอื่นๆ

นอกจากประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาป่าชายเลนแล้วนั้น ป่าชายเลนยังสามารถป้องกันการพังทลายของดินชายฝั่ง ช่วยชะลอความเร็วของลมพายุให้ลดลงก่อนที่จะขึ้นสู่ฝั่งมิให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้เคียง รวมถึงรากของไม้ป่าชายเลนจะช่วยในการทับถมของเลนโคลน ทำให้เกิดดินเลนงอกใหม่อยู่เสมอ จึงช่วยกรองของเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล สร้างความเสียหายแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศในบริเวณชายฝั่ง

จากการสำรวจในปี 2529 พบว่าไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1,227,647 ไร่ แต่จากประโยชน์ของป่า ทั้งไม้ที่นำมาทำถ่าน ทำให้ป่าชายเลนลดน้อยลงในทุกๆปี โดยเมื่อมีการสำรวจในปี 2553 นี้ พบว่ามีการบุกรุกป่าชายเลนถึงกว่า 590 ไร่ นั่นหมายความว่าปัจจุบันปัญหาการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลการสำรวจของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน พบว่า ใน 24 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ป่าชายเลนโดนบุกรุกทุกปี ปีละกว่า 500 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นการบุกรุกเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตรที่เรียกว่า ป่าเชิงทรง คือพื้นที่ป่าบกอยู่ใกล้กับป่าชายเลนทำให้เกิดช่องว่างให้ราษฎรขยายการปลูกพืชล้ำเข้าไปในเขตป่าชายเลนได้ ซึ่งการทำแนวเขตถาวรจะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการแบ่ง ทำให้การบุกรุกป่าชายเลนลดน้อยลง

ปัจจุบันจำนวนพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในภาวะวิกฤติมี 109 แห่ง กระจายอยู่ใน 8 จังหวัดได้แก่ ตราด จันทบุรี ชุมพร ระนองกระบี่ ตรัง ภูเก็ต และสตูล ซึ่งจังหวัดสตูลมีพื้นที่วิกฤติมากที่สุดถึง 42 แห่ง โดยเฉพาะที่ อ.เมืองสตูล และ อ.ละงู

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าชายเลนของไทยมีพื้นที่ลดลงลงมีหลายปัจจัย อาทิ จากการขยายตัวของชุมชน การก่อสร้างอาคารการตัดถนน นอกจากนี้ยังมีผลจากการระบายน้ำทิ้ง การถมขยะทำให้อิทธิพลของน้ำจืดและน้ำเค็มถูกตัดขาด การเกษตรกรรมใกล้กับป่าชายเลนเนื่องจากน้ำทิ้งถูกระบายพร้อมกับปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช อีกทั้งน้ำเค็มจากการทำนาเกลือยังทำให้ปริมาณเกลือในพื้นที่ป่าชายเลนสูงขึ้น นอกจากนี้การทำนากุ้งบ่อปลามีส่วนทำให้พื้นทีป่าชายเลนลดลงซึ่งปัจจุบัน แม้จะมีพื้นที่หลายแห่งยกเลิกการทำนาเกลือและบ่อกุ้งแล้วก็ตาม

หากพื้นที่ป่าชายเลนหมดลง จะส่งผลให้สัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ พื้นที่ชายฝั่งหายไป เนื่องจากป่าชายเลนเป็นเกราะป้องกันภัย รวมถึงบ้านเรือนที่อยู่ตามแนวฝั่งชายเลนได้รับผลกระทบหากมีภัยธรรมชาติอย่างสึนามิเกิดขึ้น

มาตรการการอนุรักษ์ป่าชายเลนจึงมีการดำเนินการมานับแต่นั้นมา ทั้งการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน รวมถึงโครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนไร่ สำหรับในปีนี้ ทางรัฐบาล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานตามยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤติป่าไม้ของชาติตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 117 ล้านบาท โดยได้จัดทำแนวเขตถาวรเพื่อป้องกันพื้นที่ป่าชายเลนจำนวน 1,600 กิโลเมตรทั่วประเทศ และได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 800 กิโลเมตร และได้จัดเตรียมกล้าไม้ป่าชายเลนลงปลูกในพื้นที่วิกฤติจังหวัดละ 100,000 ต้น

แม้การอนุรักษ์และความพยายามในการฟื้นฟูจะถูกทำขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้การประกอบอาชีพกับการอนุรักษ์ไปด้วยกันได้ โดยจะต้องไม่เห็นแค่เพียงประโยชน์ส่วนตน

และเนื่องในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี ประชาชาติทั่วโลกได้กำหนดให้เป็น วันแห่งการร่วมมือระหว่างชาติของทั่วโลกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สำหรับปีนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้มุ่งประเด็นหลักในการรณรงค์โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดการสูญเสียและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่ออนาคตของมวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร การแก้ปัญหาความยากจน และการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับประเทศไทยในปีนี้จะจัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายนนี้ ณ อาคารคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและตื่นตัวเรื่องความสำคัญ คุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ และเพื่อฉลองในโอกาสที่เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมงานเพื่อได้ตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม




จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 5 มิถุนายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 22-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ป่าชายเลน...7 ปีหลังสึนามิถล่ม!


หลังเหตุการณ์ “คลื่นยักษ์สึนามิ” ถล่มไทย...ผ่านไปกว่า 7 ปีแล้ว แต่ความหวาดกลัวจากหายนะภัยพิบัติสึนามิก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของผู้คนเป็นจำนวนมาก และทุกครั้งที่เอ่ยถึง “สึนามิ” เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงนึกถึงภาพของความสูญเสียและความเสียหายต่างๆได้อย่างชัดเจน และยังได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชายเลน

จากเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 มนุษย์ต่างได้ประจักษ์ต่อความสำคัญของป่าชายเลนที่รับบทเป็นเสมือนปราการกันภัยชายฝั่งและเป็นกำแพงธรรมชาติที่ช่วยลดแรงปะทะจากคลื่น ช่วยลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนชายฝั่ง “ถ้าไม่มีป่าชายเลนกั้นไว้ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอาจมากกว่านี้” คำบอกกล่าวจากชาวประมงพื้นบ้านผู้ซึ่งมีอาชีพและวิถีชีวิตอยู่กับท้องทะเล ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของป่าชายเลน

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงสถานการณ์ของป่าชายเลนหลังเหตุการณ์สึนามิว่า “จากเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2547 ทำให้ป่าชายเลนในหลายๆพื้นที่ถูกทำลายไปประมาณ 1,961 ไร่ แต่ป่าชายเลนนั้นมีความพิเศษอยู่ตรงที่สามารถทนต่อแรงปะทะของคลื่นยักษ์สึนามิได้ดี จึงช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งและช่วยลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนได้มาก จากการลงพื้นที่สำรวจหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ พบว่าการเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลน นั้นมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับระบบนิเวศชายฝั่งอื่นๆ และยังใช้เวลาในการฟื้นฟูเพียง 10 เดือนเท่านั้น ป่าชายเลนจะค่อยๆฟื้นตัวได้ตามธรรมชาติและกลับมามีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากจะได้ผืนป่าที่สมบูรณ์คืนมาแล้วยังได้ความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรกลับมาด้วย โดยพบว่าต้นไม้มีอัตราการเจริญเติบโตมากขึ้น ทั้งความสูง ความหนาแน่น และอัตราการรอดตาย รวมถึงมีการกระจายของพันธุ์ไม้ทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและในแปลงปลูก

ส่วนความคืบหน้าในการฟื้นฟูป่าชายเลนหลังเกิดภัยพิบัติสึนามินั้น ปัจจุบัน ทช.ได้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ภาครัฐและเอกชน ร่วมกันปลูกป่าชายเลนทดแทนพื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายจนเต็มพื้นที่แล้ว จึงได้หันมาเน้นด้านการบำรุงฟื้นฟูแทน โดยจะเป็นการปลูกเสริมซึ่งทำในลักษณะของการซ่อมบำรุงด้วยการถอน แล้วปลูกต้นใหม่ทดแทน เรียกว่าเป็นการบำรุงด้วยการปลูกแซม หรือในบางพื้นที่ถ้าเห็นว่าแน่นไปก็จะไปตัดให้ได้ระยะห่างที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต เพื่อให้ป่าชายเลนสมบูรณ์และสามารถเติบโตได้เร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำทันที และได้ทำไปแล้วหลายหมื่นไร่

ป่าชายเลนไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะการเป็นระบบป้องกันภัยชายฝั่งที่ช่วยลดแรงปะทะจากคลื่นยักษ์สึนามิเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนชายฝั่งอีกด้วย โดยชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากการนำไม้ในป่าชายเลนไปเพื่อสร้างบ้านเรือน ฟืน ถ่าน เครื่องมือประมง และยาสมุนไพร เป็นระบบสวัสดิการชายฝั่ง ที่เปรียบเสมือนต้นทุนของชุมชนที่เป็นหลักประกันถึงการมีกินมีใช้ อู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นขุมทรัพย์ชายฝั่ง รวมทั้งยังเป็นบ้านที่มิใช่มีเพียงต้นไม้ เป็นแหล่งรวมของแพลงก์ตอน รวมถึงสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ พันธุ์สัตว์น้ำจำพวกปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วย

ปัจจุบัน สถานการณ์ป่าชายเลนของประเทศไทย จากการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนปี พ.ศ.2543 พื้นที่ป่าชายเลนมีจำนวนประมาณ 2.3 ล้านไร่ เป็นป่าชายเลนที่มีสภาพสมบูรณ์ 1.52 ล้านไร่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์และคงสภาพที่สมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลนไว้ โดยมีหลายโครงการที่สำคัญ ได้แก่

1.โครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อรักษาพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งจะมีสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน จำนวน 45 สถานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่คอยลาดตระเวนสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อตรวจสอบปัญหาการบุกรุกครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในความรับผิดชอบทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตในการรายงานผลอย่างละเอียด ซึ่งสามารถลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนลงเหลือครึ่งหนึ่งจากเดิมที่เคยมีการบุกรุกประมาณปีละ 500 ไร่

2.โครงการจัดทำแนวเขตและแผนที่ชุมชนในเขตป่าชายเลน โดยทาง ทช.ได้ดำเนินการปักหลักเขตรอบชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 600 ชุมชน เพื่อป้องกันมิให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มเติมโดยจะทำเป็นหมุดพิกัด gps หรือหมุด utm หมุดนี้จะส่งสัญญาณไปที่ดาวเทียมและจะสร้างพิกัดซึ่งวัดจากหมุด gps แล้วส่งลงมาในแผนที่ จะทำให้ได้ค่ามาตรฐาน ที่ทำให้ทราบได้ว่าขอบเขตของพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ตรงไหน เกิดการทำกินบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ป่าชายเลนแล้วหรือยัง จึงจะสามารถออกเป็นมาตรการในเรื่องของการป้องกัน การดูแล การอนุรักษ์ฟื้นฟูได้ ในปีงบประมาณ 2554 นี้ ทาง ทช.จะดำเนินการปักหลักเขตทั้งสิ้นจำนวน 280 ชุมชน

3.โครงการจัดทำแผนที่และเร่งรัดหมายแนวเขตที่ดินป่าชายเลน จำนวน 24 จังหวัด ซึ่งโครงการนี้ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่
3.1 กิจกรรมจัดทำแผนที่มาตรฐานป่าชายเลน เพื่อปรับระวางแผนที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับหน่วยงานอื่นคือ มาตราส่วน 1:4,000 ซึ่ง ทช.ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2552 ไปแล้วจำนวน 24 จังหวัด
3.2 กิจกรรมสำรวจรังวัดหมายปักหลักแนวเขต เพื่อให้แนวเขตที่ดินป่าชายเลนมีความชัดเจน ป้องกันการบุกรุก ในปีงบประมาณ 2552 ดำเนินการแล้วเสร็จในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ในปีงบประมาณ 2553 ดำเนินการแล้วเสร็จในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด ในปีงบประมาณ 2554 ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และในปีงบประมาณ 2555 จะดำเนินการใน 14 จังหวัดที่เหลือ
3.3 กิจกรรมหมายแนวเขตโดยการขุดคูแพรก เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่ล่อแหลม เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2554 รวมระยะทาง 100 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ 53 กิโลเมตร จังหวัดสตูล 20 กิโลเมตร จังหวัดชุมพร 12 กิโลเมตร จังหวัดสุราษฎร์ธานี 10 กิโลเมตร และจังหวัดระนอง 5 กิโลเมตร

“คูแพรก” หรือ “แพรก” คือคลองตามธรรมชาติแต่ขนาดเล็กที่อาจตื้นเขินหรือเริ่มมีการเปลี่ยนเส้นทาง ซึ่ง ทช.จะเข้าไปขุดแพรกขนาดกว้าง 4 เมตร สโลป 4 เมตร กว้าง 4 เมตร ลึก 2 เมตร ความกว้างของก้นแพรก 2 เมตร จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู การขุดแพรกเป็นการแบ่งเขตให้ชัดเจนว่าพื้นที่ตรงบริเวณนี้เป็นเขตพื้นที่ของป่าชายเลน อีกฝั่งของแพรกเป็นพื้นที่ของชุมชน แพรกทำให้เกิดเส้นทางการสัญจรของคนในชุมชน เป็นเส้นทางที่ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำ มีการเลี้ยวมุมของสัตว์น้ำเข้ามาหากินในป่าชายเลน และเป็นทางของน้ำขึ้นน้ำลง เพราะป่าชายเลนมีน้ำขึ้นน้ำลง การขุดแพรกเรียกว่ามีประโยชน์ นอกจากจะใช้แบ่งแนวเขตแล้วยังมีประโยชน์ช่วยในการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นประโยชน์ทางอ้อมของคนในชุมชนด้วย

การพัฒนาฟื้นฟู “ป่าชายเลน” นอกจากจะดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐอย่าง ทช.แล้ว ยังได้รับการดูแลจากคนในชุมชนที่ได้อาศัยป่าชายเลน เป็นการพึ่งพากันแบบมีนัยว่า “ป่าเป็นของคน คนเป็นของป่า” คนจะไม่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน แต่จะคอยเป็นหูเป็นตาไม่ให้ใครมาบุกรุก และจะคอยดูแลให้ป่าชายเลนเติบโตสมบูรณ์ มีปูมีปลามีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของคนเข้ามาอยู่อาศัย เป็นการสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์

“หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ป่าชายเลนสามารถฟื้นกลับคืนสภาพได้เองตามธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น ในขณะเดียวกันก็ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นกำแพงป้องกันภัยพิบัติสึนามิ ที่ช่วยลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ ทั้งๆที่ป่าชายเลนได้เอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านต่างๆอย่างมากมาย แต่กิจกรรมของมนุษย์กลับทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลงและมีการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่าชายเลน และเพื่อคงความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลนไว้ให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักในคุณค่าของป่าชายเลนนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือและการสนับสนุน”




จาก .................. บ้านเมือง วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 21-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


“ป่าชายเลน”เกราะกันภัยธรรมชาติ ช่วยลดทอนอำนาจสึนามิ ............... ปิ่น บุตรี


ป่าชายเลน เกราะธรรมชาติช่วยป้องกันภัยสึนามิ

ผมขอร่วมไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อผู้จากไปและผู้สูญเสียในญี่ปุ่น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิ ที่มหันตภัยธรรมชาติครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบตามมาอย่างรุนแรง

การเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงถี่ๆกันในโลกใบนี้ เป็นดังสัญญาณเตือนให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับโลกของเราใบนี้

นอกจากนี้ประเทศต่างๆจำเป็นต้องตระเตรียมให้พร้อมต่อการรับมือกับภัย พิบัติจากธรรมชาติ ที่พักหลังเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดตามมาหลังแผ่นดินไหวอย่าง รุนแรงนั้น นอกจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันหรือช่วยผ่อนหนักเป็นเบาแล้ว “ธรรมชาติ”เองก็ได้สร้างเครื่องป้องกันขึ้นมาเพื่อรับมือกับ“ธรรมชาติ”ด้วยเหมือนกัน

โดย“ป่าชายเลน” ถือเป็นหนึ่งในเกราะธรรมชาติอันสำคัญ ที่นอกจากจะช่วยลดทอนอำนาจทำลายล้างอันร้ายกาจของสึนามิให้อ่อนกำลังลงแล้ว ยังช่วยป้องกันชายฝั่ง ชุมชน และมนุษย์ที่อยู่ในละแวกนั้น ให้ได้รับความสูญเสียน้อยลงหรืออาจจะไม่ได้รับความสูญเสียเลย

ป่าชายเลน เป็นป่าลักษณะพิเศษ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อน ตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณปากแม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ และเกาะ บริเวณที่น้ำท่วมถึงในประเทศไทยสามารถพบป่าชายเลนได้ในพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

สังคมพืชในป่าชายเลนเป็นพืชประเภทไม้ผลัดใบ ขึ้นคั่นกลางระหว่างระบบนิเวศบนบกและทะเล ในบริเวณที่น้ำทะเลลงต่ำสุดและขึ้นสูงสุดที่มีดินเป็นเลนตม พันธุ์ไม้ในป่าชายเลนมีลักษณะคล้ายพืชทนแล้ง เพราะต้นไม้ที่ขึ้นริมทะเลจำเป็นต้องเผชิญกับน้ำที่มีความเค็มสูง อีกทั้งยังต้องรับแดดจัด โดนลมแรง ทำให้ต้นไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการคายน้ำสูงกว่าต้นไม้ทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ธรรมชาติจึงสรรค์สร้างให้พืชพันธุ์ในป่าชายเลนมีระบบราก ต่างจากพันธุ์ไม้ในป่าบกทั่วไป คือมีทั้งระบบรากอากาศและรากค้ำยันคอยช่วยรากที่อยู่ใต้ดินอีกแรงหนึ่ง โดยพืชพันธุ์ไม้ป่าชายเลนมากมายหลากหลายชนิดที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน มีทั้งไม้ยืนต้น พืชอิงอาศัย เถาวัลย์ สาหร่าย โดยมีพันธุ์ไม้เด่นๆ ได้แก่ โกงกาง แสม โปรง ลำพูน ลำแพน ตะบูน ตะบัน เป็นต้น


โกงกางพันธุ์ไม้สำคัญแห่งผืนป่าชายเลน

ในขณะที่เหล่าสรรพสัตว์ในผืนป่าชายเลนนั้นก็มีมากมายทั้งสัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก สัตว์ปีก และแมลงมากมาย รวมถึงสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษ อย่าง ปลาตีน ปูก้ามดาบ ที่พบเฉพาะในบริเวณผืนป่าชายเลน

ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศ ทำให้ป่าชายเลนจัดเป็น 1 ใน 3 ของระบบนิเวศชายฝั่งที่ทรงคุณค่าที่สุดในโลกซึ่งมีคุณประโยชน์มากหลาย อาทิ เป็นแหล่งออกซิเจนผืนใหญ่ ปอดสำคัญของคนและสัตว์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนกนานาพันธุ์ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในระยะตัวอ่อน เป็นแหล่งอาหารของทั้งคนและสัตว์ เป็นแหล่งทำมาหากินของมนุษย์ ไม้จากป่าโกงกางสามารถนำมาทำฟืน ถ่าน เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน ทำยา ทำอาหารได้

ป่าชายเลนยังมีประโยชน์ช่วยกรองของเสีย ขยะและสิ่งปฏิกูล ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ช่วยเพิ่มพื้นที่ชายฝั่ง เป็นเขตแนวหน้าช่วยลดความรุนแรงของคลื่นลม ช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง

นอกจากนี้ป่าชายเลนยังเป็นเกราะธรรมชาติช่วยป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคลื่นยักษ์สึนามิได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่าง การเกิดเหตุการณ์สึนามิพัดถาโถมถล่มพื้นที่ 6 ในจังหวัดอันดามันในเมืองไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

ผลปรากฏว่าชุมชน สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ทรัพยากรป่าชายเลนกลับได้รับความสูญเสียเพียงน้อยนิดไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นเพราะธรรมชาติได้สรรค์สร้างให้ป่าชายเลนมีพันธุ์ไม้ที่มีระบบรากอันเข้มแข็ง โดยเฉพาะกับต้นโกงกาง ซึ่งมีรากเป็นเครือข่ายอันแข็งแรงแน่นหนา เป็นดังตัวค้ำยันชั้นดี ที่ช่วยลดแรงกระแทกอันถาโถมของคลื่นยักษ์ได้เป็นอย่างดี


ปูก้ามดาบชีวิตน้อยๆที่มีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในผืนป่าชายเลน

ไม่เพียงเท่านั้น จากการสำรวจหลังการเกิดสึนามิในเมืองไทยพบว่า พื้นที่ที่มีป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ถูกคลื่นยักษ์ทำลาย ได้รับความเสียหายกินความลึกจากชายฝั่งเข้าไปไม่เกิน 40 เมตร ผิดกับบริเวณชายหาดทั่วไปที่ไม่มีป่าชายเลน ซึ่งนอกจากจะได้รับความเสียหายเป็นปริมาณมากแล้ว ยังกินลึกจากชายฝั่งเข้าไปหลายร้อยเมตร นั่นจึงทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หลังป่าชายเลนได้รับผลกระทบจากสึนามิเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ป่าชายเลนยังมีความสำคัญทางอ้อมอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นห้องเรียนธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่เปิดให้ผู้สนใจได้เข้าไปท่องเที่ยวเรียนรู้อยู่มิรู้เบื่อ


เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนไว้ไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตามแม้ป่าชายเลนจะมีคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากมาย เป็นดังเกราะธรรมชาติที่ช่วยป้องกันภัยสึนามิ แต่ปัจจุบันแนวเกราะธรรมชาติที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ กลับถูกทำลายโดยน้ำมือมนุษย์อย่างน่าเป็นห่วง สำหรับในเมืองไทยจากเดิมที่เคยมีป่าชายเลนราว 2.3 ล้านไร่ในพ.ศ.2504 ปัจจุบันถูกทำลายลงไปมากเหลือเพียงประมาณ 1 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องช่วยกันปกป้องอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนเอาไว้ให้คงอยู่คู่โลกตลอดไป


…………………………


“ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกางเป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ได้ค่อนข้างยากเพราะ ต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือกรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทานและกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ๆเหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2534





จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 15 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 25-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ชวนตื่นตาไปกับ 5 ป่าชายเลนชั้นเยี่ยมของไทย .................. โดย ปิ่น บุตรี

ธรรมชาติมีสมดุลในตัว เมื่อมีสึนามิก็มี“ป่าชายเลน” ซึ่งเปรียบเสมือนเกราะธรรมชาติ ที่นอกจากจะช่วยลดทอนอำนาจทำลายล้างอันร้ายกาจของสึนามิให้อ่อนกำลังลงแล้ว ยังช่วยป้องกันชายฝั่ง ชุมชน และมนุษย์ที่อยู่ในละแวกนั้น ให้ได้รับความสูญเสียน้อยลงหรืออาจจะไม่ได้รับความสูญเสียเลย

ไม่เพียงแต่เป็นเกาะธรรมชาติเท่านั้น ป่าชายเลนยังมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติอีกหลากหลาย (รายละเอียดในเรื่องนี้ผมได้เขียนไว้ในตอนที่แล้วจึงขอผ่านข้ามไป) รวมถึงคุณประโยชน์ทางอ้อมที่มาแรงไม่น้อยในช่วงหลังก็คือ การเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นห้องเรียนธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่มากมายไปด้วยเรื่องราวอันน่าสัมผัสและชวนค้นหา

อย่างไรก็ตามในบรรดาป่าชายเลนชวนเที่ยวที่มีอยู่มากมายหลากหลายในบ้านเรานั้น งานนี้ผมขอหยิบยกป่าชายเลนในดวงใจที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ มาบอกเล่าสู่กันฟังกัน 5 ป่าด้วยกัน


“ป่าชายเลนบางขุนเทียน” กทม.


หลักเขต 28 อนุสรณ์ระลึกถึงแผ่นดินที่หายไป ที่ชายทะเลบางขุนเทียน

ชายทะเลจริงๆเพียงหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯที่บางขุนเทียน อาจถูกหลายๆคนมองว่ามันสุดแสนธรรมด๊าธรรมดา หาได้มีอะไรน่าสนใจไม่ แถมทะเลยังไม่สวย มีแต่เลนมีแต่ตมอีกต่างหาก

แต่ถ้าหากมองในแง่คุณค่าของชายทะเลจริงๆเพียงหนึ่งเดียวของกรุงเทพฯแล้ว ชายทะเลบางขุนเทียนนับว่ามีดีชวนให้ค้นหาสัมผัสกันไม่น้อยเลย โดยเฉพาะกับ“ป่าชายเลนบางขุนเทียน”อันร่มรื่นน่ายลไปด้วยพืชพรรณ อย่าง โกงกาง แสม ตะบูน ป่าจาก ปู ปลา ปลาตีน ลิงแสม และนกนานาพันธุ์

ป่าชายเลนบางขุนเทียนนอกจากจะเป็นดังปอดชั้นดีของเมืองแล้ว ที่นี่ยังเป็นทั้ง แหล่งอาหาร(อร่อย) แหล่งทรัพยากร แหล่งอาชีพ รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีชาวเมืองเดินทางมาท่องเที่ยวกินอาหารทะเลที่ชายทะเลบางขุนเทียนกันไม่ได้ขาด

หากใครได้มาล่องเรือชมธรรมชาติที่นี่ จะได้พบกับความร่มรื่นของผืนป่าชายเลนริม 2 ฝั่งคลอง ร่วมด้วยภาพวิถีชาวบ้านที่ใช้ชีวิตผูกพันกับผืนป่าชายเลน ทั้งการออกเรือจับสัตว์น้ำ การเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงการปลูกบ้านเรือนอยู่ในบริเวณผืนป่าชายเลนอย่างแนบแน่นกลมกลืน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในกรุงเทพเมืองฟ้าอมรอันพลุกพล่านวุ่นวายยังคงมีแง่มุมของภาพวิถีแบบนี้หลงเหลืออยู่

อ้อ !?! ไม่เพียงเท่านั้น ชายทะเลบางขุนเทียนยังมีอีกสิ่งหนึ่งให้เราๆท่านๆได้พึงสังวรไว้ก็คือ หลักเขต 28 ที่กั้นแบ่งระหว่างเขตบางขุนเทียน กทม.กับ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ตั้งลอยเด่นอยู่กลางทะเล ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของชายทะเลแห่งนี้แล้ว เสาหลักเขต 28 ยังเป็นเป็นอนุสรณ์เตือนใจ แสดงให้เห็นถึงภัยจากการกัดเซาะชายฝั่ง ที่วันนี้ยังคงรุกเร้ากินแดนดินบนบกเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย


“ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน” จันทบุรี


อนุสรณ์หมูดุด ที่อ่าวคุ้งกระเบน

จากอดีตป่าเลื่อมโทรม ได้ฟ้ามาโปรดจนเกิดเป็น "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ขึ้นมา

หลังจากนั้นผืนป่าแห่งนี้ก็ได้พลิกฟื้นชีวิต กลายมาเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ มากไปด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายในอันดับต้นๆของเมืองไทย อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในฐานะห้องเรียนธรรมชาติที่น่าสนใจยิ่ง

โดยในเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทอดยาวอย่างกลมกลืนเข้าไปในผืนป่าประมาณ 1,800 เมตรนั้น บริเวณสองฟากฝั่งต่างน่ายลไปด้วยระบบนิเวศของผืนป่าชายเลนอันหลากหลายแต่กลมกลืน ไม่ว่าจะเป็น สารพัดพันธุ์พืช อย่าง โกงกาง ฝาด ลำพู ลำแพน แสม พร้อมๆกับมีร่องรอยความอำมหิตของมนุษย์ทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้ากับ“ตอแสม”ขนาดเขื่องที่คนใจร้ายเผาต้นมันตายสนิทเหลือแต่ตอดำๆไหม้เกรียมให้ดูต่างหน้า ส่วนบรรดาดาวเด่นของสรรพสัตว์ในผืนป่าแห่งนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น ปลาตีนที่วิ่งดุ๊กๆไปมาในดินเลน และปูก้ามดาบที่วิ่งโชว์ก้ามข้างเดียวประกาศศักดาให้ผู้พบเห็นรับรู้

สำหรับเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งในเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่าวคุ้งกระเบนก็คือ ที่นี่จะมีป้ายสื่อความหมายและศาลาฐานข้อมูล 8 ฐาน แสดงให้ความรู้เป็นช่วงๆไปตลอดเส้นทาง ส่วนจุดที่เป็นไฮไลท์ในป่าชายเลนคุ้งกระเบนมีอยู่ 2 จุดด้วยกันคือ “สะพานแขวน”ทรงเท่ที่ทอดข้ามคลองเล็กๆ และอนุสรณ์“หมูดุด”หรือ“พะยูน”หรือที่บางคนเรียกว่า “วัวทะเล” ซึ่งอดีตเจ้าสัตว์ชนิดนี้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งอ่าวคุ้งกระเบน แต่มาวันนี้แทบสูญพันธุ์เหลือแค่รูปปั้นเอาไว้ให้ดูต่างหน้าเท่านั้น

และด้วยศักยภาพ การจัดสรรพื้นที่ การจัดแต่งภูมิทัศน์เพื่อการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ศูนย์ฯพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนแห่งนี้ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือรางวัลกินรี ประเภทองค์กรส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ใน ปีพ.ศ.2545 เป็นการการันตีในคุณภาพ


“ป่าชายเลนหาดทรายดำ” ตราด


หาดทรายดำ ป่าชายเลนแหลมมะขาม

ปกติเราจะเจอแต่หาดทรายขาว แต่ที่จังหวัดตราดมี“หาดทรายดำ”ให้ชมกันด้วย เป็นหาดทรายดำที่เกิดจากแร่“ไลโมไนต์” ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของเศษเหมืองและเปลือกหอยผสมด้วยควอตซ์ หรือเป็นแร่ที่เกิดจากการผุกร่อนของเหล็ก ในโลกนี้มีหาดทรายดำลักษณะนี้เพียง 5 แห่งในโลก คือ ไต้หวัน มาเลเซีย(ลังกาวี) ฮาวาย แคลิฟอร์เนีย และไทย(หาดทรายสีดำที่ปรากฏในประเทศอื่นนอกเหนือจากนี้ จัดเป็นคนละประเภทกัน)

หาดทรายดำตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแหลมมะขาม หรือป่าชายเลนแหลมมะขาม ต.วังกระแจะ อ.เมือง ผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เพราะมีลักษณะเป็นหาดทรายในพื้นที่ป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสะพานไม้ทอดยาวไปในความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

สำหรับสิ่งน่าสนใจเส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้ ได้แก่ เส้นทางผ่านดงพืชพันธุ์ไม้อันร่มรื่นเขียวครึ้ม อาทิ โกงกาง ตะบูนดำ ลำพูทะเล ตาตุ่มทะเล แสมทะเล,จุดชมปูแสมที่มีทั้งพันธุ์สีดำกับพันธุ์สีสวย,จุดชมปูก้ามดาบ,จุดชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน,จุดชมหอยขี้ค้อนตัวตัวรูปทรงแหลมเป็นกรวย และจุดชมปลาตีนตัวโตที่มีพบเห็นเป็นระยะๆไปตลอดทาง ก่อนไปถึงยังบริเวณหาดทรายดำที่ทอดยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ที่ถือเป็นไฮไลท์ในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งนี่ถือเป็นป่าชายเลนที่ถือมีลักษณะค่อนข้างแตกต่างจากป่าชายเลนทั่วไป เพราะมีหาดทรายดำอันแปลกตาให้ได้สัมผัสชื่นชมกัน


“ป่าชายเลนอุทยานฯสิรินธร” เพชรบุรี


สะพานแขวนชวนเที่ยวที่ ป่าชายเลนอุทยานฯสิรินธร

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ สิรินธร ตั้งอยู่ใกล้ๆกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน(ทางเข้าเดียวกัน) อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่นี่มีป่าชายเลนที่หลายคนต่างมองข้ามไป เพราะดูเผินๆเป็นเพียงป่าชายเลนผืนเล็กๆดูไม่อุดมสมบูรณ์เท่าไหร่ หากเทียบกับป่าชายเลนหลายแห่ง แต่ประทานโทษ เมื่อไปดูที่มาที่ไปของป่าชายเลนแห่งนี้แล้ว ผมถึงกับทึ่ง!!!

เพราะนี้เป็นป่าชายเลนที่เกิดจากการปลูกสร้างโดยน้ำมือมนุษย์ หรือป่าชายเลน Man Made แห่งแรก และน่าจะเป็นแห่งเดียวในโลกที่ประสบความสำเร็จถึงระดับนี้

สำหรับจุดกำเนิดของป่าชายเลนแห่งนี้ มาจากการที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯมาทรงงานในค่ายพระรามหก วันหนึ่งพระองค์ท่านทรงจักรยานออกกำลังกายผ่านมาบริเวณนี้ สังเกตเห็นถึงลักษณะของทราย(พื้นที่เสื่อมโทรม)และต้นไม้เล็กๆที่ขึ้น พร้อมทรงตั้งข้อวินิจฉัยว่าที่นี่น่าจะเคยเป็นป่ามาก่อน

จากนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพฯเสด็จกลับมา ทรงรับสั่งให้มีดำเนินการค้นคว้า วินิจฉัย ฟื้นฟู และป,กป่าชายเลนแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าหลังจากนั้นไม่นานบนพื้นที่เสื่อมโทรมแห้งแล้งมีแต่ดินทรายก็ได้มีความเขียวขจีของป่าชายเลน Man Made แห่งแรกของโลกตามมา

พูดถึงความน่าสนใจของป่าแห่งนี้ คงต้องยกให้องค์ความรู้ในการปลูกป่าถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุผลหลักที่ป่าชายเลนคนปลูกแห่งแรกของโลกนี้ประสบความสำเร็จอยู่ที่ การวางแผน บริหารจัดการผืนป่าเป็นสำคัญ โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกป่าบก และป่าชายหาดให้เชื่อมต่อกัน ต่อด้วยการปลูกป่าชายเลนก็ต้องเลือกพืชพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับ

หลังการเพียรปลูกป่าที่เริ่มต้นจากศูนย์มาร่วมสิบปี ปัจจุบันป่าที่นี่แม้จะยังไม่รกครึ้ม ไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุม แต่ว่ามันได้แสดงพัฒนาการแบบเกินคาดให้เห็น ด้วยการมี ปู ปลา หอย นก เข้ามาอยู่อาศัยมากมาย ส่วนมนุษย์ก็ได้อาศัยผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ นับเป็นความสำเร็จของป่าชายเลนคนปลูกที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง


“ป่าชายเลนหงาว” ระนอง

“ป่าชายเลนหงาว” หรือ “ศูนย์วิจัยป่าชายเลน จังหวัดระนอง” ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง เป็นหนึ่งในผืนป่าที่มีระบบนิเวศหลากหลายและอุดมสมบูรณ์มาก จนองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็น "พื้นที่เขตสงวนชีวมณฑล" ใน พ.ศ. 2540

ป่าชายเลนหงาว มีเนื้อที่กว่า 122 ,000 ไร่ ขึ้นกระจายตัวอยู่บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ซึ่งเป็นแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและพม่า ป่าชายเลนแห่งนี้น่าสนใจไปด้วยวิถีการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยของสัตว์พืชในป่าชายเลนและป่าดิบเขา โดยมีจุดน่าสนใจหลักอยู่ 2 จุดด้วยกัน

จุดแรก คือ สวนรุกขชาติป่าชายเลนที่ทำเป็นสะพานคอนกรีตระยะทางประมาณ 850 เมตรเดินชมทิวทัศน์ พร้อมป้ายสื่อความหมายเป็นระยะๆ ระหว่างทางสามารถมองเห็นสภาพของป่าอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมมีสะพานข้ามคลอง สวยๆเท่ๆให้ถ่ายรูป ชมวิว และสัตว์นานาชนิดอย่าง ลิง ปูแสม ปูทะเล ปลาตีน นาก ตะกวด และนกชนิดต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวสอดส่ายสายตามองหากัน

จุดที่สอง คือบริเวณป่าชายเลนหาดทรายขาว ที่เต็มไปด้วยป่าโกงกางขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะกับไฮไลท์อย่างต้นโกงกางยักษ์ อายุ 200 ปี มีเส้นรอบวง 2 เมตร สูง 25 เมตร ที่ถือเป็นปู่ทวดแห่งโกงกาง ซึ่งน่าจะเป็นต้นโกงกางที่มีอายุเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ในบริเวณนี้ยังมีเส้นทางล่องเรือชมความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าลายเลนและชมวิถีชีวิตหมู่บ้านชาวเล ที่น่าสนใจไปด้วย การทำประมงพื้นบ้าน การเลี้ยงหอย ปู ปลาในกระชัง และวิถีความเป็นอยู่อันเป็นเอกลักษณ์


และนั่นก็เป็นผืนป่าชายเลนน่าเที่ยว 5 แห่ง ที่น่าไปสัมผัสเที่ยวชม ซึ่งที่ผ่านมาป่าชายเลนถือเป็นป่าอีกประเภทหนึ่ง ที่ถูกมนุษย์รุกรานทำลายมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสียง สร้างโรงงานอุตสาหกรรม การตัดไม้ป่าโกงกางไปเผาถ่าน และโดยเฉพาะการทำนากุ้งที่ถือเป็นการฆาตรกรรมผืนป่าชายเลนอย่างเลือดเย็น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องช่วยกันปกป้องอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนเอาไว้ รวมถึงผืนป่าบกและผืนป่าธรรมชาติอื่นๆด้วย

เพราะถ้าโลกนี้ไม่มีป่า ไม่มีต้นไม้

คนก็อยู่ไม่ได้




จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
เก่า 27-03-2017
moon1245
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายน้ำ.
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:14


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger