เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 22-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 22 ? 23 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก หลังจากนั้นฝนจะลดลง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 24 ? 27 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย
เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น โดยฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตลอดช่วง โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง










__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 22-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


'ไมโครพลาสติก' ภัยเงียบซ่อนตัวในมนุษย์

รู้จัก 'ไมโครพลาสติก' และผลกระทบจาก 'ภัยเงียบ' ที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างกายของมนุษย์...



'ไมโครพลาสติก' ได้รับการพูดถึงมากขึ้น และเริ่มแสดงให้เห็นว่า มนุษย์อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป เพราะทุกวันนี้มันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง จนบางครั้งอาจเข้าไปสู่ตัวเราแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจ ราวกับว่าเป็น 'ภัยเงียบ' ที่คืบคลานอยู่ในร่างกาย และรอวันแสดงอาการออกมาก็เท่านั้น...

ไมโครพลาสติก คือ พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร พวกมันก็มีอยู่หลายรูปทรง เช่น เส้นใย, ฟิล์ม, โฟม, ไมโครบีดส์ ฯลฯ ซึ่งความน่ากลัวของมันมีอยู่มากมาย และที่สำคัญ... ด้วยชิ้นที่เล็ก 'จิ๋ว' ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงยิ่งเพิ่มความน่ากลัวเข้าไปอีก

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับ 'ไมโครพลาสติก' ให้มากขึ้น รวมถึงทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ ผ่านการพูดคุยกับ 'ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย' ผู้ประสานงานอุตสาหกรรม (Industrial Liaison) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์! :

ดร.ทัศชา ยืนยันว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พบ 'ไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์' อยู่จำนวนมาก เช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International ศึกษาโดย สูตินรีเวชของโรงพยาบาลในกรุงโรม รายงานว่า พบไมโครพลาสติกในรกเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยพลาสติกดังกล่าวเป็นพลาสติกชนิดพอลิโพรไพลีน (PP) รวมถึงเม็ดสีต่างๆ ที่พบได้ในบรรจุภัณฑ์ทั่วไป หรือ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา และสํานักสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย ที่ พบไมโครพลาสติกในอุจจาระมนุษย์ ที่แตกต่างกันสูงสุด 9 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 50-500 ไมครอน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ ยังไม่มีรายงานว่า 'ไมโครพลาสติก' ทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ประกาศว่าไมโครพลาสติกสามารถขับออกผ่านการขับถ่ายได้ อย่างไรก็ตาม ดร.ทัศชา มองว่าก็ยังมีความน่ากังวลอยู่ดี เพราะหากไมโครพลาสติกถูกขับออกไม่หมด และมีระดับที่เล็กลง ก็อาจคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลต่อมนุษย์ได้หลายอย่างในระยะยาว


ผลกระทบ (ที่อาจเกิด) จากสาร BPA และไมโครพลาสติก :

ไมโครพลาสติกมีสารที่เรียกว่า BPA ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ทำมาจากพลาสติก ที่ผ่านมามีการทดลองในหนู พบว่า BPA เป็นสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งในต่อมลูกหมาก และยังส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายอีกด้วย ดังนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานหรืองานวิจัย ที่สามารถอ้างอิงได้ แต่ ดร.ทัศชา ก็แสดงความกังวลว่า สาร BPA จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์หลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างก็ล้วนมีความน่ากังวลทั้งสิ้น...

เช่น สารนี้อาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทลดลง มีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต ทำให้เป็นหนุ่มสาวเร็วเกินไป และเด็กอาจมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน และไฮเปอร์แอ็กทีฟ

อีกทั้ง ไมโครพลาสติก ยังอาจเข้าไปขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เนื่องจากหลายคนอาจรับไมโครพลาสติกสู่ร่างกายมากกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปี จากการกินอาหารทะเล และดื่มน้ําจากขวดพลาสติก ซึ่งพวกมันมีขนาดเล็กเท่าแบคทีเรีย จึงอาจเข้าสู่กระแสเลือด และปิดกั้นทางเดินเลือดได้ในที่สุด

นอกจากนั้น มันยังอาจกลายเป็นตัวกลางนำสารพิษ เพราะมีคุณสมบัติดูดซับและอุ้มน้ำได้ จึงสามารถเก็บเอาสารพิษ บางประเภทไปด้วย เช่น สารพิษในยาฆ่าแมลง DDT ที่อาจปนเปื้อนในน้ํา นั่นหมายความว่า หากไมโครพลาสติกยิ่งอยู่ในทะเลนานมากเท่าไร ก็จะยิ่งดูดซับพิษไว้มากเท่านั้น เมื่อสัตว์ในทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไปก็จะรับสารพิษนั้นเอาไว้ด้วย และเมื่อคนนำสัตว์เหล่านั้นมากิน ก็จะได้รับสารพิษตกค้างจากสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน


ไมโครพลาสติกมีอยู่ทุกที่ :

ปัจจุบันมีการค้นพบ 'ไมโครพลาสติก' ในทุกพื้นที่ของโลกเรา ตั้งแต่อาหารที่เรากิน ดินที่เราเหยียบ และอากาศที่เราหายใจ! ซึ่ง ดร.ทัศชา ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวฯ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยต่างๆ ซึ่งเราจะแยกออกมาให้เข้าใจเป็นข้อๆ


อาหารที่เรากิน :

นักวิจัยจาก University of Catania ประเทศอิตาลี พบเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กในผลไม้และผักบางชนิด ซึ่งพบไมโครพลาสติกในแอปเปิ้ล 1 กรัม เฉลี่ย 195,500 ชิ้น ในขณะที่ลูกแพร์มีปริมาณไมโครพลาสติกเฉลี่ย 189,500 ชิ้น ต่อ 1 กรัม ส่วนบร็กโคลี และแครอต เป็นผักที่พบไมโครพลาสติกมากที่สุด เพราะพบไมโครพลาสติกในปริมาณมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อผัก 1 กรัม

อย่างงานวิจัยจาก University of Hull และ Brunel University London ของสหราชอาณาจักร ก็ได้เก็บ ตัวอย่างหอยแมลงภู่จากบริเวณอ่าวรอบสหราชอาณาจักร 8 แห่ง และซุปเปอร์มาร์เก็ต 8 แห่ง พบว่า หอยแมลงภู่ที่จับได้ปนเปื้อนไมโครพลาสติก 100% และมีปริมาณไมโครพลาสติกมากถึง 70 ชิ้น ในทุกๆ 100 กรัมของหอยแมลงภู่

หากเข้ามาให้ใกล้ตัวกว่านั้น ก็คือในประเทศไทยนี่เอง ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง ได้นําปลาทูของทะเล ไทยมาสุ่มตรวจ พบไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยพลาสติกลักษณะต่างๆ เช่น เส้นใย ชิ้น แท่ง และกลิตเตอร์


ดินที่เราเหยียบ :

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ปี 2562 สถานีเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติก ได้ทำการศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ในตะกอนดินบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง จํานวน 5 สถานี ได้แก่ หาดบางดี จ.นครศรีธรรมราช, หาดแหลมสนอ่อน จ.สงขลา, หาดสมิหลา จ.สงขลา, หาดตะโละกาโปร จ.ปตตานี และหาดพระ จ.นราธิวาส การศึกษาพบการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในตะกอนดินทั้ง 5 สถานี เฉลี่ย 577 ชิ้น/ตร.ม. โดยประเภทไมโครพลาสติกที่พบมี 6 ชนิด ได้แก่ PET ซึ่งพบมากที่สุด รองลงมา คือ PE, PVC, PP, PS และ PA ตามลำดับ


อาการที่เราหายใจ :

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ 'Environmental Chemistry Letters' ได้ระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่ปีนภูเขาฟูจิและโอยามา เพื่อขึ้นไปเก็บตัวอย่างน้ำจากหมอกที่ปกคลุมบริเวณยอดเขา และใช้เทคนิคถ่ายภาพขั้นสูงตรวจตัวอย่างหมอกที่เก็บมา เพื่อหาคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ทำให้พบไมโครพลาสติกในอากาศ ได้แก่ โพลีเมอร์ 9 ชนิด และยาง 1 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 7.1-94.6 ไมโครเมตร และน้ำจากเมฆในแต่ละลิตร จะมีไมโครพลาสติกอยู่ 6.7-13.9 ชิ้น


ประเภทของไมโครพลาสติก :

ไมโครพลาสติกนั้นมี 2 ประเภท คือ ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary microplastic) และ ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary microplastic) แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น 'ไมโคร' เหมือนกัน แต่ทั้งสองประเภทต่างกันที่ จุดประสงค์การสร้างแรกเริ่ม ดร.ทัศชา ได้อธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจไว้ว่า

ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ จะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน หรือ เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเป็น 'ไมโครพลาสติกโดยกำเนิด' เพราะถูกสังเคราะห์ให้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ตั้งแต่ต้น เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเรียกสั้นๆ ว่า 'เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์? (Nurdle)

หรือหากจะมองให้ใกล้ตัวกว่านั้น ชนิดที่ว่าเป็นสิ่งของในชีวิตประจำวัน ที่เราแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยด้วยซ้ำ นั่นก็คือ เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า, เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน ซึ่งเราจะเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือ เม็ดสครับ

"ไมโครบีดส์พวกนี้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเล็กพอที่จะลงไปในท่อระบายน้ำของอ่างล้างหน้า และของพวกนี้ก็จะกลายเป็นของเสียจากบ้านเรือนโดยตรง ที่สามารถไหลลงสู่แหล่งน้ำ และแหล่งน้ำเหล่านั้นก็ไหลลงไปจบที่ทะเล ทำให้พวกปลากินไมโครพลาสติกเข้าไป เนื่องจากพวกมันเข้าใจว่าเป็นแพลงก์ตอน"

สำหรับ ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ นั้น เป็นไมโครพลาสติกที่แตกออกมาจากพลาสติกชิ้นใหญ่ เช่น การแตกหัก, การผุกร่อน, การย่อยสลาย หรืออื่นๆ จนมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งอาจจะเกิดจากการบดพลาสติก ในกระบวนการรีไซเคิล ที่เรียกว่า การย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) หรือ กระบวนการย่อยด้วยแสง โดยเฉพาะจากรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารที่เคยถูกเติมในพลาสติกเหล่านั้นหลุดออกมา จนส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกแตกตัว กระทั่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร

"อย่างยางรถยนต์ จะมีการผสมไมโครพลาสติกลงไปอยู่แล้ว ดังนั้น เวลายางบดไปกับถนนจนเกิดความร้อน จะทำให้มีพลาสติกชิ้นเล็กๆ หรือไมโครพลาสติกติดอยู่ที่ถนน พอมีฝนหรือน้ำตกลงบนถนน ก็จะไหลพาไมโครพลาสติกเหล่านั้นสู่แม่น้ำ และก็ไหลลงสู่ทะเลต่อไป"


ไบโอพลาสติกก็อันตราย :

ดร.ทัศชา ระบุว่า มีพลาสติกอีก 1 ประเภท ที่เราคิดว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้เป็นมิตรขนาดนั้น ก็คือ 'ไบโอพลาสติก' ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร หรือจากธรรมชาติ เพราะแม้ว่าหลายบริษัทจะเคลมว่า 'ย่อยสลายได้' แต่หากกระบวนการย่อยสลายไม่ถูกวิธี สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี

อย่างพลาสติกที่ทำจากพอลีแลคติคแอซิด (PLA) จะย่อยสลายได้ก็จริง แต่ต้องย่อยสลายในสภาวะเฉพาะ เช่น ถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ จนกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และมวลชีวภาพ ภายใต้อุณหภูมิ 60 องศาขึ้นไป และยังต้องมีความชื้นที่เหมาะสม เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60% หรือนำไปผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพ ภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน

"ถ้าเราใช้ไบโอพลาสติกแล้วจัดการไม่ถูกต้อง มันจะยากกว่าการใช้พลาสติกแล้วแยกให้ถูกต้องเพื่อนำไปรีไซเคิล อย่างขวดน้ำที่เราใช้ดื่มกันทั่วไป ที่เป็นขวด PET (Polyethylene Terephthalate) ถ้าเราแยกแล้วนำไปรีไซเคิลมันก็จะรีไซเคิลได้ง่าย

แต่สมมติว่า การรีไซเคิลขวด PET มีขวดที่เป็นไบโอพลาสติกมาปะปนด้วย จะทำให้การรีไซเคิลนั้นยากขึ้นไปอีก เพราะเป็นพลาสติกคนละชนิด นี่ทำให้เห็นว่า พลาสติกที่เรามองว่าย่อยสลายได้ และเคลมว่ารักโลก ก็ต้องจัดการให้เหมาะสมและถูกวิธี ถึงจะช่วยได้จริงๆ"

ดร.ทัศชา กล่าวเพิ่มเติมว่า "อาจพูดได้ว่า ไมโครพลาสติกเป็นภัยเงียบ ที่มนุษย์อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป แต่เราก็ต้องตระหนักและหาทางป้องกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก สิ่งที่ควรทำที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้มีการทิ้งขยะพลาสติกลงไปในทะเล หรืออาจเริ่มจากอะไรง่ายๆ ใกล้ตัวเรา เช่น ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ คัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี"

"ความจริงแล้วถ้าไม่มีพลาสติก ก็ต้องยอมรับว่าชีวิตพวกเราจะลำบาก ดังนั้น พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย หากเราจัดการมันให้ดี และให้อยู่อย่างถูกที่ถูกทาง"


https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2734197

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 22-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


กรมอนามัยเตือนภัยฝุ่น กทม. 37 พื้นที่กับปริมณฑล ขั้นวิกฤติระดับ 4 สีส้ม



กรมอนามัยออกโรงเตือนคนกรุงเทพฯและปริมณฑล ฝุ่นพิษเข้าขั้นวิกฤติเป็นระดับ 4 สีส้ม เหตุเพราะอากาศนิ่ง เผยเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น แนะติดตามสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ Life Dee รวมทั้งสายด่วนกรมอนามัย 1478 ขณะที่ กทม.ระบุฝุ่นเกินมาตรฐานแล้ว 37 พื้นที่

เตือนคนกรุงเทพฯและปริมณฑลรับภัยฝุ่นพิษ วันที่ 21 ต.ค. พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการ แทนอธิบดีกรมอนามัย เผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนและจะเข้าฤดูหนาว มีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเทจะทำให้ฝุ่นละอองสะสมและเพิ่มสูงขึ้น จากรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จะอยู่ในระดับสีส้มอีก 1-2 วัน เนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง

พญ.อัจฉรากล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงปรับระดับการแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลให้การเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนรวมถึงการดูแลสุขภาพประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำแนะนำในการปฏิบัติตนในแต่ละระดับสีของฝุ่น PM2.5 ดังนี้ 1.สีฟ้า ระดับดีมาก (0-15 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทุกคนทำกิจกรรมได้ตามปกติ 2.สีเขียว ระดับดี (15.1-25 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปยังทำกิจกรรมได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัยกล่าวต่อว่า 3. สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1-37.5 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง กลุ่มเสี่ยงควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง ผู้มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ 4.สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6-75 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไป ควรลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และ5.สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ประชาชนทุกคนงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ในห้องปลอดฝุ่น สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ Life Dee และสายด่วนกรมอนามัย 1478

ต่อมาช่วงเวลา 15.00 น.วันเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 16-54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (?g/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณแขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี, ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด, สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา, สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด, ริมถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, ริมถนนตรีมิตร วงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์, ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน, ริมถนนนราธิวาส เขตบางรัก, ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา, ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา, ริมถนนพหลโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร, ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี, ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน, ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่, ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย, ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน, ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา, ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ, ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม, ริมถนนเอกชัย เขตบางบอน, ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร, ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ, ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร

เช่นเดียวกับศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 25.8-57.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 37 พื้นที่ อาทิ 1.เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า มีค่าเท่ากับ 57.8 มคก./ลบ.ม. 2.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 มีค่าเท่ากับ 56.9 มคก./ลบ.ม. 3.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 มีค่าเท่ากับ 56.9 มคก./ลบ.ม. 4.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา มีค่าเท่ากับ 55.8 มคก./ลบ.ม. 5.เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย มีค่าเท่ากับ 52.6 มคก./ลบ.ม.

6.เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอยถนนเซนต์หลุยส์ มีค่าเท่ากับ 52.0 มคก./ลบ.ม. 7.เขตปทุมวัน หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ มีค่าเท่ากับ 50.3 มคก./ลบ.ม. 8.เขตจตุจักร บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีค่าเท่ากับ 49.5 มคก./ลบ.ม. 9.เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) มีค่าเท่ากับ 48.8 มคก./ลบ.ม. 10.เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีค่าเท่ากับ 48.3 มคก./ลบ.ม.

11.เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์ มีค่าเท่ากับ 47.8 มคก./ลบ.ม. 12.เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ มีค่าเท่ากับ 47.6 มคก./ลบ.ม. 13.เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด มีค่าเท่ากับ 47.3 มคก./ลบ.ม. 14.เขตตลิ่งชัน ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับถนนบรมราชชนนี มีค่าเท่ากับ 47.0 มคก./ลบ.ม. 15.สวนบางแคภิรมย์ เขตบางแค มีค่าเท่ากับ 46.9 มคก./ลบ.ม. เป็นต้น แนะนำควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น


https://www.thairath.co.th/news/local/2734676

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:38


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger