|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านภาคเหนือด้านตะวันออกเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน คาดว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นนี้ จะแผ่เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือ ในวันนี้(21 ก.พ. 65) ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นโดยอุณหภูมิจะลดลงในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคอื่นๆ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกัน และระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 20 - 21 ก.พ. 65 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 5-9 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 22 ? 26 ก.พ. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 24 ? 26 ก.พ. 65 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 20 ? 21 ก.พ. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนในวันที่ 22 -26 ก.พ. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย และชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565)" ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนได้เคลื่อนผ่านภาคเหนือด้านตะวันออก เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน คาดว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นนี้จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือในวันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2565) ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยมีอุณหภูมิจะลดลง ในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระวังอันตรายจากลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
นักวิทยาศาสตร์เตือน ก๊าซมีเทนพุ่งสูงในอัตราความเร็วที่อันตราย ท้าทายเป้าหมายลดโลกร้อน Summary - เมื่อปีที่ผ่านมา ความเข้มข้นของก๊าซมีเทนที่สะสมในชั้นบรรยากาศที่พุ่งทะลุ 1,900 ส่วนในพันล้านส่วนโมเลกุลอากาศ (1,900 ppb) ทำให้เกิดความกังวลเรื่องโลกร้อนที่กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราความเร็วในระดับที่นักวิทยาศาสตร์มองว่า 'อันตราย' - อัตราการปล่อยก๊าซมีเทนเคยลดลงในปี 2000 แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร มีความพยายามศึกษาหลายๆ แบบ และมีการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภาวะโลกร้อนเองทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับที่ทำให้มีเทนถูกปล่อยออกมามากขึ้น - นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ระดับก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเป้าหมายของโลกที่จะควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เวลาพูดถึงปัญหาโลกร้อน เรามักได้ยินการพูดถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะมันเป็นตัวสำคัญที่สุดในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ขณะที่ทั่วโลกกำลังตั้งเป้าหมายที่จะลดคาร์บอน ก็ยังมีก๊าซชนิดอื่นที่ประกอบกันเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นๆ ซึ่งอีกตัวที่กำลังสร้างความกังวลก็คือก๊าซมีเทน เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนกันเกี่ยวกับความเข้มข้นของก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศที่พุ่งทะลุ 1,900 ส่วนในพันล้านส่วนโมเลกุลอากาศ (1,900 ppb) เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเรื่องสถานการณ์โลกร้อนที่กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราความเร็วในระดับที่นักวิทยาศาสตร์มองว่า 'อันตราย' ข้อมูลจากองค์การด้านมหาสมุทรและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (US National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า อัตราความเข้มข้นของมีเทนดังกล่าวนั้นสูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเกือบ 3 เท่า นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของคำมั่นสัญญาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP 26) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อัตราการปล่อยก๊าซมีเทนเคยลดลงในปี 2000 แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดว่าเป็นเพราะอะไร มีการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นภาวะโลกร้อนเองที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับที่ทำให้มีเทนถูกปล่อยออกมามากขึ้น ซึ่งจะยากต่อการควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิของโลก อวน นิสเบต (Euan Nisbet) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรอยัลฮอลโลเวย์แห่งลอนดอน (Royal Holloway, University of London) สหราชอาณาจักรกล่าวว่า ระดับก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเป้าหมายที่จะควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นเวลามากกว่าทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาข้อมูลต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ก๊าซมีเทนเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถระบุต้นตอของมันได้อย่างแน่ชัด ซึ่งเหตุผลที่เป็นไปได้มีทั้งการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น การถมขยะ และการปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในพื้นที่ชุ่มน้ำ นักวิทยาศาสตร์พยายามใช้ความรู้เกี่ยวกับไอโซโทปโมเลกุลของก๊าซมีเทนเป็นกุญแจไขข้อสงสัย ก๊าซมีเทนนั้นประกอบด้วยคาร์บอนและไฮโดรเจน โดยองค์ประกอบในส่วนที่เป็นคาร์บอน ส่วนใหญ่เป็นไอโซโทปคาร์บอน-12 และอีกเล็กน้อยเป็นคาร์บอน-13 ทั้งนี้ ก๊าซมีเทนที่เกิดจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในพื้นที่ชุ่มน้ำและมูลสัตว์จากการปศุสัตว์จะมีค่าคาร์บอน-13 น้อยกว่ามีเทนที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล เมื่อนำความรู้เหล่านี้ไปศึกษาเปรียบเทียบการสะสมของก๊าซมีเทนในแกนน้ำแข็งและหิมะในช่วงหลายสิบหรืออาจหลายจะร้อยปีที่ผ่านมา รวมถึงการสะสมมีเทนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งพบว่าในช่วง 2 ศตวรรษหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม สัดส่วนก๊าซมีเทนที่มีค่าคาร์บอน-13 เพิ่มขึ้น แต่ช่วงหลังจากปี 2007 ที่การปล่อยก๊าซมีเทนกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก กลับพบก๊าซมีเทนที่มีค่าคาร์บอน-13 ในสัดส่วนลดน้อยลง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งสมมติฐานว่า ในช่วงหลังปี 2007 ที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซมีเทนส่วนใหญ่มาจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์มากกว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ชิน หลาน (Xin Lan) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์เฝ้าสังเกตโลกของ NOAA ใช้ข้อมูลค่าคาร์บอน-13 ประเมินคาดการณ์ว่า จุลินทรีย์เป็นสาเหตุหลักถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของการเพิ่มก๊าซมีเทนในช่วงหลังปี 2007 และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุรองลงมา อย่างไรก็ตาม การค้นหาต้นตอที่ก่อให้เกิดการย่อยสลายของจุลินทรีย์ได้มากขนาดนี้ไม่ใช่งานง่าย หลานและทีมงานจึงต้องพยายามตั้งสมมติฐานหลายๆ แบบเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และคำถามสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยคือว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนเองหรือเปล่า ที่เป็นตัวเร่งการเกิดก๊าซมีเทน แต่ถึงอย่างนั้น มนุษย์ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้น การศึกษาแนวโน้มไอโซโทปของก๊าซมีเทน โดยทีมงานของหลานพบว่า ก๊าซมีเทนที่เกิดจากการปศุสัตว์ ของเหลือจากการเกษตร การถมขยะ และการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล คิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการเกิดก๊าซมีเทนทั้งหมดในช่วงปี 2007- 2016 ไรลีย์ ดูเรน (Riley Duren) จากหน่วยงานเพื่อการกุศล Carbon Mapper ในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งใช้ดาวเทียมเพื่อระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซมีเทนกล่าวว่า ด้วยสาเหตุของการเกิดก๊าซมีเทนที่มาจากมนุษย์ แสดงว่ายังมีหลายอย่างที่มนุษย์เราสามารถทำได้เพื่อชะลอปรากฏการณ์โลกร้อน และนักวิทยาศาสตร์เองก็พร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลต่างๆ ในการชี้เป้าแหล่งที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Carbon Mapper และ Environmental Defense Fund หน่วยงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจากมหานครนิวยอร์ก ได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า แหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 30 แห่งในทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซมีเทนรวมกันสูงถึง 100,000 ตัน ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับผลกระทบจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลของรถยนต์ถึง 500,000 คัน ซึ่งแหล่งผลิตน้ำมันเหล่านี้สามารถลดก๊าซมีเทนได้ง่ายๆ โดยการป้องกันไม่ให้มีก๊าซรั่วไหลออกมา ในที่ประชุม COP26 ที่นครกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ผ่านมา กว่า 100 ประเทศได้ร่วมลงนามใน แผนลดการปล่อยก๊าซมีเทนของโลก (Global Methane Pledge) ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซมีเทนราว 30 เปอร์เซ็นต์ ในระหว่างปี 2020-2030 ดูเรนแห่ง Carbon Mapper กล่าวเน้นย้ำเรื่องนี้ว่า ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน รวมทั้งประเทศยากจนและประเทศที่มีฐานะปานกลางด้วย "การแก้ปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซมีเทนอาจจะเป็นโอกาสเดียวที่จะช่วยให้เราซื้อเวลาต่อไป" เพื่อจะแก้ปัญหาที่ท้าทายและยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อ้างอิง : Nature, NOAA https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/101130
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|