เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 03-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "ขนุน" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ตอนใต้ของจังหวัดโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น และตอนบนของสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ประเทศจีนในช่วงวันที่ 2?5 ส.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 2 ? 3 ส.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 8 ส.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 2 ? 3 ส.ค. 66 นี้ไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 04-08-2023 เมื่อ 02:35
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 03-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


เข้าสู่ยุคโลกเดือด มนุษยชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร .......... โดย ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย




Summary

- อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ยุคของภาวะโลกร้อน ได้สิ้นสุดลงแล้ว และมาถึงยุคภาวะโลกเดือด หลังกรกฎาคมกำลังจะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

- สุลต่าน อัล จาเบอร์ ประธาน COP28 ปี 2023 ระบุว่า การลดเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็น และทำแผน COP28 ที่จะตั้งเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม 3 เท่า และใช้เทคโนโลยีการดักจับ และกักเก็บคาร์บอน (CCS)

- ผศ.แคทเธอรีน ฮอร์นบอสเทล และทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก พัฒนาการดักจับคาร์บอนในมหาสมุทรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่าย


ด้วยความร้อนระอุที่ทั่วโลกกำลังประสบ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Ant?nio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ยุคของภาวะโลกร้อน (global warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และมาถึงยุคของ ภาวะโลกเดือด (global boiling) ทั่วโลก หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเดือนกรกฎาคมกำลังจะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

ตามรายงานของ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสังเกตการณ์โลกโดย โคเปอร์นิคัส (Copernicus) ของโครงการอวกาศสหภาพยุโรป ระบุว่า อุณหภูมิโลกในเดือนนี้ทำลายสถิติ เพราะได้รับผลกระทบจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล และสภาพอากาศที่รุนแรง รวมถึงอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากมลพิษที่ทำหน้าที่เหมือนเรือนกระจกครอบโลก ทำให้สภาพอากาศเลวร้ายขึ้นอย่างสุดขั้ว

นอกจากนี้ ตามการวิเคราะห์จากเครือข่าย World Weather Attribution ระบุว่า มลพิษก๊าซเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิของคลื่นความร้อนที่อันตรายถึงชีวิตใน 3 ทวีปในเดือนนี้ อีกทั้งมีการศึกษาพบว่า มนุษยชาติทำให้คลื่นความร้อนในยุโรปตอนใต้ อเมริกาเหนือ และจีน ร้อนขึ้น 2.5 องศาเซลเซียส, 2 องศาเซลเซียส และ 1 องศาเซลเซียส ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปีนี้จะร้อนกว่าปกติ เนื่องจาก 'เอลนีโญ' ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของลมและน้ำที่ทำให้โลกร้อน ผลกระทบดังกล่าวพร้อมกับมลพิษจากก๊าซเรือนกระจก ทำให้ WMO คาดการณ์ว่ามีโอกาส 2 ใน 3 ที่ 1 ใน 5 ปีข้างหน้าจะมีอุณหภูมิร้อนกว่าก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส


เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?

เมื่อปัญหาเหล่านี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ทันที และเป็นสิ่งที่น่ากังวล ที่ล่าสุดประเทศสมาชิก G20 อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน เป็นต้น ไม่มีข้อตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า ภายในปี 2573 และมีฉันทามติที่จะไม่ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

สุลต่าน อัล จาเบอร์ (Sultan Al Jaber) ผู้บริหารบริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี (Abu Dhabi National Oil Company) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประธานการประชุมสุดยอดรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงประจำปี 2023 หรือ COP28 ที่จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม 2023 ได้ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว The Guardian ว่า การลดเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็น

"สิ่งที่ผมพยายามพูดคือคุณไม่สามารถถอดระบบพลังงานปัจจุบันออกจากของโลกก่อนที่คุณจะสร้างระบบพลังงานใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลา"

อัล จาเบอร์ จะจัดทำแผนสำหรับ COP28 โดยมีแนวโน้มรวมเป้าหมายของการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่า ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนาให้การสนับสนุน นอกจากนี้จะเน้นย้ำเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ COP28 โดยมีแผนเพิ่มตัวแทนของกลุ่มเยาวชน ภาคประชาสังคม ชนพื้นเมือง และผู้หญิงมากขึ้น

ทั้งนี้ แผนสำคัญอีกประการหนึ่งคือการรวมบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้าร่วมการเจรจา COP28 โดยบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลบางแห่งได้จัดตั้ง 'พันธมิตรระดับโลก' ซึ่งให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับสภาพอากาศ รวมทั้งเดินหน้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่จะอาศัยวิธีการลดการปล่อยมลพิษจากการผลิต เทคโนโลยีการดักจับ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) เป็นกระบวนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากการทำงานของภาคอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้า ซึ่งกำลังจะถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วนำคาร์บอนไดออกไซด์นั้นฉีดลึกลงไปใต้ดิน เพื่อกักเก็บไว้อย่างปลอดภัย


มหาสมุทรแหล่งดูดซับคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากเทคโนโลยี CCS แล้ว ขณะเดียวกันมีอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่สำคัญในการช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ 'การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากทะเล'

ด้วยโลกของเรามีส่วนประกอบของทะเลอยู่ 3 ใน 4 ส่วน เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งยังมีประโยชน์สำคัญคือทะเลสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ หรือที่เรียกว่า บลู คาร์บอน (Blue Carbon) และเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือเรียกว่า Oceanic Carbon Sink ที่ดูดคาร์บอนได้มากกว่า 1 ใน 4 ที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

จากข้อมูลของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า ค่า pH เฉลี่ยของมหาสมุทรปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8.1 หรือเป็นด่างเล็กน้อย แต่หากมหาสมุทรยังคงดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ค่า pH ก็ยิ่งจะลดลง และมหาสมุทรจะมีความเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น หอยนางรม หอยเม่น ปะการัง เพราะแคลเซียมคาร์บอเนตลดลง ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญต่อการสร้างเปลือกและโครงสร้าง ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลอ่อนแอเสี่ยงสูญพันธุ์

การดักจับคาร์บอนในมหาสมุทรโดยตรง (DOC) เป็นรูปแบบหนึ่งของเทคโนโลยีที่มีข้อได้เปรียบกว่าเทคโนโลยีบนบก หรือคือการดักจับทางอากาศโดยตรง เนื่องจากจากดักจับทางอากาศไม่สามารถทำได้ทุกพื้นที่ แต่การดักจับคาร์บอนในมหาสมุทรสามารถทำงานได้อย่างสะดวก ควบคู่กับแหล่งพลังงานอย่าง ลมนอกชายฝั่งทะเล (offshore wind) และแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์นอกชายฝั่ง (offshore carbon dioxide storage)

ผศ.แคทเธอรีน ฮอร์นบอสเทล (Katherine Hornbostel) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและวัสดุศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กสาขาวิศวกรรม (University of Pittsburgh Swanson School of Engineering) มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ที่ร่วมงานกับ ผศ.ตักโบ เนียปา (Tagbo Niepa) จากภาควิชาวิศวกรรมเคมีและปิโตรเลียมของมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก เพื่อพัฒนาการดักจับคาร์บอนในมหาสมุทรที่เป็นนวัตกรรมใหม่

โดยมีเผยแพร่เอกสาร 2 ฉบับ ในวารสารวิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering Journal) คือ การสาธิตการดักจับคาร์บอนในมหาสมุทรโดยตรงโดยใช้ตัวทำละลายห่อหุ้ม (Demonstration of direct ocean carbon capture using encapsulated solvents) และ การสาธิตการจับคาร์บอนในมหาสมุทรโดยตรงโดยใช้คอนแทคเตอร์เยื่อใยกลวง (Demonstration of direct ocean carbon capture using hollow fiber membrane contactors)

ผศ.แคทเธอรีน กล่าวถึงหลักการทำงานว่า คอนแทคเตอร์เมมเบรน หรือกระบวนการแยกก๊าซ เป็นเหมือนสิ่งที่นำของเหลว 2 ชนิดมาสัมผัสกัน คือน้ำทะเล และตัวทำละลาย

"ทีมวิจัยได้ทดสอบเมมเบรนคอนแทคเตอร์ 2 ชนิด ได้แก่ เส้นใยกลวง และตัวทำละลายที่ห่อหุ้ม ความแตกต่างที่ชัดที่สุดระหว่าง 2 วิธีนี้คือ ?รูปร่าง? แม้ว่าคอนแทกเตอร์เยื่อใยกลวงจะดูเหมือนหลอดดูดน้ำ แต่ตัวทำละลายที่ห่อหุ้มจะดูเหมือนไข่ปลาคาเวียร์ แต่ทำงานเหมือนกันทุกประการ"

ผศ.แคทเธอรีน อธิบายต่อว่า แนวคิดของทั้ง 2 วิธีนี้คือ การมีพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างน้ำทะเลกับตัวทำละลาย ยิ่งมีพื้นที่ผิวมาก อัตราการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น เมื่อน้ำทะเลสัมผัสกับตัวทำละลายที่ทำจากโซเดียมคาร์บอเนต คาร์บอนไดออกไซด์จะทำปฏิกิริยา และแยกตัวออกจากน้ำทะเล ซึ่งวิธีนี้จะต้องหมุนเวียนซ้ำ เพื่อให้กระบวนการมีความคุ้มค่ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาโลกเดือดในยุคนี้ อาจยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญคือการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างทันที แต่ยังคงมีวิธีการที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้ อย่างเช่น การดักจับคาร์บอนบนบก และโดยเฉพาะในมหาสมุทรที่มีเทคโนโลยีใหม่เพื่อประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่าย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังหาทางออกในการเพิ่มขีดจำกัดการดูดคาร์บอนไดออกไซด์ของมหาสมุทร เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อ้างอิง: theguardian.com (1,2) , datacenter.deqp.go.th , sciencedaily.com , energyfactor , sdgmove.com, Thai PBS


https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/103532

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 03-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


หาดูยาก วาฬ 3 ตัวกระโดดขึ้นจากน้ำพร้อมกัน !!!


(เครดิตภาพจากเอพี)

มีหลายสิ่ง หลายอย่างในโลกนี้

ที่ต่อให้ 'มีเงินเป็นพันล้าน' ก็หาซื้อไม่ได้ หาดูไม่ได้

เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่ขึ้นอยู่กับดวง และ จังหวะ มากกว่า

ล่าสุด โรเบิร์ต แอดดี ชายอเมริกันที่ชอบออกทะเลจับปลามานานหลายปี

บอกเลยว่านี่เป็น 'ครั้งแรก' ในชีวิตที่เขา

ได้เห็น 'วาฬหลังค่อม 3 ตัว' กระโดดขึ้นจากน้ำพร้อมกันราวกับนัดหมาย !!!

โรเบิร์ตเล่าว่า วันนั้นเขาพาลูกสาว และลูกเขยนั่งเรือออกไปจับปลา

แถวชายฝั่งทะเลในเมืองโพรวินซ์ทาวน์รัฐแมสซาชูเชตส์ สหรัฐอเมริกา

แล้วก็ ว้าว ว้าว ว้าว เมื่อเจอ วาฬ วาฬ วาฬ กระโดดขึ้นมาจากน้ำพร้อมกัน

ซึ่งโชคดีที่โรเบิร์ต ตั้งกล้องถ่ายวิดีโอตั้งแต่เริ่มออกทะเลแล้ว

จึงจับภาพน่าตื่นตา ตื่นใจนั้นได้

ฟิลิป แฮมิลตัน นักวิชาการอาวุโสที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำนิวอิงแลนด์

ยืนยันอีกเสียงว่า การที่วาฬ 3 ตัวกระโดดจากน้ำพร้อมกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากจริงๆ

โรเบิร์ตจึงรู้สึกว่านั่นคือ 'วันวิเศษ' ของครอบครัว

แต่พวกเราก็มีวันวิเศษเหมือนกันนะ ก็ทุกวันที่ยังมีลมหายใจอยู่ไง


https://www.matichon.co.th/foreign/news_4108436

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 03-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


เศร้า! พบซาก 'โลมาหัวบาตรหลังเรียบ' พันธุ์หายาก เกยตื้น



เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 2 ส.ค.66 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นาย ธิติวัฒน์ ชูรัตน์หิรัญโชติ (ผู้ใหญ่หมู) ผู้ใหญ่บ้านหมูที่ 7 ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ว่าพบซากโลมายังไม่ทราบชนิด ลอยน้ำมาเกยตลิ่งดินเลนอยู่ภายในคลองตาเพิ่ม หมู่ที่ 7 ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ จึงเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงบริเวณจุดที่พบซากโลมา พบว่าเป็นซากโลมายังไม่ทราบชนิดคล้ายโลมาหัวบาตร (อิรวดี) ขนาดความยาวสังเกตด้วยสายตาประมาณ 1-2 เมตรอายุประมาณ 5-6 ปีเศษ เสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกล่าว 3-4 วัน ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว ส่วนเพศยังไม่สามารถระบุได้เนื่องจากจะต้องรอเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบซาก บริเวณหางขาดหลุดร่วงคาดน่าจะเกิดจากเน่าเปื่อย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 พ.ค.66 ที่ผ่านมามีผู้พบซากโลมาลอยติดป่าโกงกางบริเวณห่างจุดที่เกิดเหตุไปประมาณ 1 กิโลเมตร นับได้ว่าเป็นตัวที่ 2 ของปีนี้และพบห่างกันแค่ 2 เดือน

จาการสอบถาม นาย ธิติวัฒน์ ชูรัตน์หิรัญโชติ ผู้ใหญ่บ้านหมูที่ 7 ต.แหลมฟ้าผ่า ทราบว่าเมื่อช่วงเย็นวานนี้ 1 ส.ค.66 ตนเป็นคนพบเห็นซากโลมาในขณะที่ตนกำลังแล่นเรือไปส่งนักท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมและท่องเที่ยววัดขุนสมุทรจีน ตนเห็นลอยอยู่ในน้ำห่างจากที่พบซากประมาณ 1 กิโลเมตรและเผป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น หลังจากที่กลับมาจากส่งนักท่องเที่ยวตนจึงตะเวณวิ่งเรือดูแต่ไม่พบและบริเวณดังกล่าวเริ่มมืด จึงได้เดินทางกลับบ้านพร้อมนำภาพถ่ายมาลงเฟสบุ๊คส่วนตัวเพื่อให้คนในชุมชนช่วยกันตามหาหรือพบเห็นให้รีบแจ้ง กระทั่งมีคนมาพบว่าเห็นซากโลมามาเกยตื้นริมตลิ่งดินเลนภายในคลองนี้เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ก่อนที่ตนจะประสาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจเก็บกู้ซากโลมาไปตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าในช่วงเย็นนี้เจ้าหน้าที่จะเดินทางมาถึงบริเวณที่พบซากโลมา

จากการสอบถามเจ้าที่เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทราบว่าโลมาตัวดังกล่าวเป็นโลมาพันธุ์หัวบาตรหลังเรียบซึ่งเป็นโลมาพันธุ์ที่หายากที่สุดในประเทศไทย โดยปัจจุบันเหลือน้อยมาก ซึ่งโลมาที่พบเป็นตัวโตเต็มวัยแต่ยังไม่ทราบเพศเนื่องจากตามลำตัวมีลักษณะเน่าเปื่อยเพราะตามมาหลายวัน บริเวณส่วนปลายหางเน่าเปื่อยจนหลุดลุ่ย โดยหลังจากนี้จะทำการเก็บกู้ซากใส่ถุงดำ ก่อนนำไปผ่าพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงอีกครั้ง

โลมาหัวบาตรหลังเรียบ หรือ โลมาหัวบาตรไร้ครีบหลัง มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับโลมาอิรวดี คือ มีส่วนหัวกลมหลิมเหมือนบาตรพระไม่มีจะงอยปาก แต่ส่วนหลังเรียบไม่มีครีบหลัง ครีบข้างค่อนข้างใหญ่ปลายแหลม และลักษณะฟันในปากจะเป็นตุ่ม ไม่แหลมคม อันเป็นลักษณะเฉพาะของโลมาในวงศ์พอร์พอย์ ซึ่งทั่วโลกพบอยู่ 6 ชนิด ในประเทศไทยพบเพียงชนิดนี้ชนิดเดียว โดยมีชื่อเล่นจากชาวจีนว่า "หมูแม่น้ำ" หรือ"แพนด้าแม่น้ำ" เป็นสัตว์ที่อยู่ในฐานะหวั่นวิตกว่าจะสูญพันธุ์ เนื่องจากมลภาวะสภาพแวดล้อม.


https://www.naewna.com/likesara/747575

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 03-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ประกาศปิด "อ่าวมาหยา-อ่าวโละซามะ" 1 ส.ค.-30 ก.ย.66



อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ประกาศปิดอ่าวมาหยาและอ่าวโละซามะ เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว พร้อมปักธงแดงตามแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล หลังมีฝนตกหนักและคลื่นลมแรงต่อเนื่อง
วันที่ 1 ส.ค. 2566 อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ประกาศปิดการท่องเที่ยวประจำปี บริเวณอ่าวมาหยา และอ่าวโละซามะ ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.2566 เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นตัว รวมทั้งความปลอดภัยในการท่องเที่ยว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูมรสุม

ขณะที่สภาพอากาศบริเวณชายหาด หน้าท่าเทียบเรือเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ มีลมพัดแรง ฝนตกหนัก ทะเลมีคลื่นลมแรง ความแรงของคลื่น พัดเรือหางยาวที่จอดเทียบท่าห่างจากฝั่งประมาณ 50 เมตร พลิกคว่ำจมน้ำ 3 ลำ และยังไม่สามารถกู้ได้ เนื่องจากคลื่นลมแรง ต้องรอให้น้ำทะเลลง

ขณะที่เรือหางยาวอีกนับร้อยลำ ต้องหยุดให้บริการนักท่องเที่ยวชั่วคราว และนำไปหลบคลื่นลมหลังเกาะ ห่างจากท่าเทียบเรือ 500 เมตร

นางรักชนก แพน้อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ช่วงเดือน ส.ค. ไปจนถึงเดือน ก.ย. ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ลมมรสุมพัดเข้ามาปกคลุมพื้นที่ประเทศไทย ส่งผลให้ทะเลมีคลื่นแรง และมีลมพายุพัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการท่องเที่ยวทางทะเล โดยแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของ จังหวัดกระบี่ คือ อ่าวมาหยา บนเกาะพีพีเล จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวกันจำนวนมากในแต่ละวัน จากสภาวะคลื่นลมแรงทำให้เรือที่เข้ามาส่งนักท่องเที่ยวบริเวณด้านหลังอ่าวมาหยา คือ อ่าวโละซามะ ไม่สามารถเข้ามาเทียบท่าได้ และเกรงจะเกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยวได้

ประกอบกับตลอดปีที่ผ่านมา อ่าวมาหยา ต้องเป็นพื้นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้สภาพธรรมชาติ บนอ่าว อาจได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นต้องให้เวลาธรรมชาติได้พักและฟื้นตัวเอง ทางอุทยานฯ จึงกำหนดให้มีการปิดอ่าวมาหยาเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.นี้ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวกลับมาสวยงามอีกครั้ง

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ปักธงแดงบริเวณทุ่น ท่าเทียบเรือ อ่าวโล๊ะซามะ ทางเข้าอ่าวมาหยา ต.อ่าวนาง ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่อ่าวมาหยา ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.

พร้อมแจ้งเตือนผู้ประกอบการนำเที่ยว เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมตามแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เนื่องจากทะเลมีคลื่นลมแรงต่อเนื่อง จากอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่มีกำลังแรงในช่วง 2-3 วันนี้


https://www.thaipbs.or.th/news/content/330227


******************************************************************************************************


เจ้าท่าภูเก็ตเอาผิด "สปีดโบ๊ต" ฝ่าฝืนเดินเรือช่วงคลื่นลมแรง



กรณีเรือสปีดโบ๊ตแล่นฝ่าคลื่นลมแรงจากเกาะพีพี จ.กระบี่ มายัง จ.ภูเก็ต ล่าสุดเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตสั่งเอาผิดกับเรือทั้ง 2 ลำฝ่าฝืนเดินเรือช่วงคลื่นลมแรง
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2566 นักท่องเที่ยวที่อยู่บนเรือสปีดโบ๊ตถ่ายคลิปขณะโดยสารเรือฝ่าคลื่นลมแรงจากเกาะพีพี จ.กระบี่ กลับมายังท่าเทียบเรือใน จ.ภูเก็ต ซึ่งมีนักท่องเที่ยวที่อยู่ในเรือบางส่วนไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ ทำให้หลายคนที่เห็นคลิปนี้ในสื่อออนไลน์แสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย

นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ระบุว่า ทราบเรื่องนี้แล้วและมอบหมายให้เจ้าพนักงานตรวจเรือและเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เรือที่กำลังฝ่าคลื่นลมในคลิปดังกล่าวเป็นเรือขนาด 12.89 ตันกรอส ประเภทเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต หรือเรือเร็ว ใช้บรรทุกผู้โดยสาร โดยวันเกิดเหตุบรรทุกผู้โดยสาร 8 คนและคนประจำเรือ 2 คน ได้ผจญคลื่นลมแรงระหว่างทางกลับจากเกาะพีพี จ.กระบี่ ในวันที่ 1 ส.ค. เวลาประมาณ 14.30 น.

ส่วนเรืออีกลำมีขนาด 18.37 ตันกรอส บรรทุกผู้โดยสาร 44 คนและคนประจำเรืออีก 3 คน ฝ่าคลื่นลมแรงสูงประมาณ 3 เมตรในวันเดียวกัน โดยตัวเรือและเครื่องยนต์มีสภาพพร้อมใช้งานตามที่ระบุในใบอนุญาตใช้เรือ มีอุปกรณ์เดินเรือ สัญญานไฟเดินเรือ อุปกรณ์ดับเพลิงและเสื้อชูชีพครบตามจำนวนที่ได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ตาม เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ได้แจ้งลักษณะการกระทำความผิดของผู้ควบคุมเรือ เข้าข่ายตามมาตรา 291 วรรคแรก กรณีคนประจำเรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการเดินเรือหรือหน้าที่ของตน ซึ่งเจ้าท่ามีอำนาจที่จะสั่งงด ไม่ให้ใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาต มีกำหนดไม่เกิน 2 ปี

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งนัดหมายเชิญผู้ควบคุมเรือและผู้เกี่ยวข้องเข้าไปให้ถ้อยคำ และชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ยังได้ประกาศขอให้นายเรือและผู้ควบคุมเรือเพิ่มความระมัดระวังเดินเรือ หลีกเลี่ยงการเดินเรือห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ควรงดออกจากฝั่ง และเรือที่มีขนาดความยาวน้อยกว่า 10 เมตรห้ามออกจากฝั่งไปยังทะเลเปิด ตั้งแต่วันที่ 2-3 ส.ค.นี้


https://www.thaipbs.or.th/news/content/330245

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:52


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger