|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ในขณะที่ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลาง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมในบริเวณดังกล่าวมีกำลังอ่อนลง และการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 26 ? 27 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 28 มี.ค. ? 1 เม.ย. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 26 ? 27 มี.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง กับลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
สถานการณ์สายพันธุ์ ท้องถิ่นทะเลเอเดรียติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสัญจรทางทะเลที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยทำให้สัตว์ต่างๆเดินทางไปสู่ถิ่นที่อยู่ใหม่ เมื่อจำนวนมากขึ้นก็รุกรานสายพันธุ์ท้องถิ่นเดิม เช่น ปลานกแก้วและสายพันธุ์ใหม่ราว 50 ชนิดได้แพร่กระจายไปยังทะเลเอเดรียติก ทางตอนเหนือสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อปัญหาคุกคามประชากรปลาพื้นเมือง ซึ่งปลานกแก้วถูกพบเห็นครั้งแรกในทางตอนใต้ของทะเลเอเดรียติกเมื่อราว 15 ปีที่แล้ว คนท้องถิ่นแถบนั้นก็ไม่ชอบบริโภคปลาชนิดนี้ เมื่อเร็วๆนี้ นักวิจัยของสถาบันวิจัยทางทะเลและชายฝั่งในเมืองดูบรอฟนิค ซึ่งเป็นเมืองโบราณของโครเอเชีย เผยว่าปริมาณปลาในทะเล เอเดรียติกได้ลดลงเพราะการทำประมงที่มากเกินไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบุกรุกของสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งการที่ทะเล เอเดรียติกเริ่มอุ่นขึ้นทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆปรากฏตัว ทั้งปลา แพลงก์ตอน สาหร่าย ตามข้อมูลในปี 2566 จากสำนักงานเทคโน โลยีใหม่ พลังงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแห่งชาติของอิตาลี ระบุว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกำลังกลายเป็นทะเลที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก ปลาสายพันธุ์ใหม่ เดินทางจากทะเลแดงผ่านคลองสุเอซ เข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลเอเดรียติกที่น้ำอุ่นขึ้น โดยมาพร้อมกับถังอับเฉาที่อยู่ตรงท้องเรือหรือส่วนของฐานทุ่นลอย กลายเป็นอันตรายต่อการอยู่รอดของปลาพื้นเมืองประมาณ 460 สายพันธุ์ นักวิจัยเผยว่าปลาชนิดใหม่บางชนิดเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เช่น ปลาสิงโต หรือปลาหินที่มีพิษ ซึ่งหากินอยู่ตามพื้นทะเล รวมถึงปูสีน้ำเงิน ที่เป็นสายพันธุ์รุกรานในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมานานถึง 20 ปี ทำให้ปูเขียวที่เป็นปูท้องถิ่นมีจำนวนลดลงอย่างมาก. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2773109
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
เสียดายงบ 95 ล้านโครงการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า-อาคารปลากระเบน เกาะล้าน พังไม่เป็นท่า ศูนย์ข่าวศรีราชา -เสียดายงบ 95 ล้านบาท เมืองพัทยาใช้พัฒนาฟาร์มกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า และอาคารปลากระเบน บนเขานมสาว เกาะล้าน สุดท้ายพังไม่เป็นท่าทั้งถูกปล่อยทิ้งร้าง ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้ชาวบ้านไม่ได้ จากกรณีที่เมืองพัทยาได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์บนเขานมสาว หน้าหาดแสม ชุมชนบ้านเกาะล้าน จ.ชลบุรี จำนวน 45 ชุด เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 200 กิโลวัตต์จ่ายเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียและไฟแสงสว่างหาดแสม เพื่อลดการใช้พลังงานในพื้นที่ และได้ตกลงเซ็นสัญญาว่าจ้างในลักษณะรัฐต่อรัฐ ภายใต้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 95 ล้านบาท โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.2549 เป็นเวลา 300 วัน ซึ่งได้มีการก่อสร้างอาคารเพื่อควบคุมการทำงานของระบบ 1 หลัง และอาคารปลากระเบนอีก 1 หลังเพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจัดนิทรรศการ แต่ปัจจุบันโครงการพัฒนา "ฟาร์มกังหันลม" บนเนินนมสาว และอาคารปลากระเบนที่มีหลังคาเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีเป้าหมายป้อนกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในชุมชนบ้านเกาะล้าน รวม 489 หลังคาเรือน กลับไม่ค่อยมีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพการทำงานออกสู่สังคมมากนัก หลังเมืองพัทยาอ้างว่าเป็นโครงการดังกล่าวเป็นโครงการพลังงานสะอาดโครงการแรกของไทย และการก่อสร้างเสร็จในระยะที่ 1 แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่เมื่อระยะเวลามา 5 ปีจนถึงปัจจุบัน กังหันลมกลับไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจากการสอบถามผู้ชำนาญการทราบว่า "ฟาร์มกังหันลม" จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดูแลและซ่อมบำรุง แต่เมืองพัทยากลับคิดเพียงว่าเมื่อผลิตกระแสไฟไม่ได้ก็ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นจุดถ่ายภาพแทน แต่สุดท้ายกลับปล่อยทิ้งให้เป็นซากวัสดุ เพื่อเตือนใจประชาชนว่างบประมาณกว่า 95 ล้านบาท ที่นำไปสร้างกังหันลมและอาคารปลากระเบนเป็นไปอย่างไม่สมประโยชน์ ทั้งยังปล่อยให้ผุพังจนไม่สามารถปรับปรุงและซ่อมแซมได้ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และล่าสุดผู้สื่อข่าวยังได้รับแจ้งว่า ในเร็วๆ นี้ทั้ง ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโครงการว่ามีความผิดปกติ หรือมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ ซึ่งผลจะออกมาเป็นเช่นไรจะได้มีการนำเสนอข่าวต่อไป https://mgronline.com/local/detail/9670000026722
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
เจ้าของโรงแรมเกาะช้างแกรนด์วิว ยอมรื้อถอนแท่นปูนคอนกรีตรุกหาดทรายขาว ตราด - เจ้าของโรงแรงเกาะช้างแกรนด์วิว ยอมรื้อถอนแท่นปูนคอนกรีตรุกล้ำพื้นที่หาดทรายขาวในส่วนที่เกินจากเอกสารสิทธิแล้ว ยันไม่มีเจตนาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ เพียงแต่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันคลื่นทะเลกัดเซาะชายหาดเท่านั้น เผยจุดรุกล้ำไม่ใช่เขตพื้นที่ทหาร จากกรณีที่มีชาวบ้านในพื้นที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ร้องเรียนต่อ นายวันรุ่ง ขนรกุล กำนันตำบลเกาะช้าง ว่าพบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในทะเลด้านหน้าโรงแรมเกาะช้างแกรนด์วิว จนนำสู่การรายงานต่อ นายนริศ ปาลวงศ์ ณ อยุธยา นายอำเภอเกาะช้าง ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเกาะช้าง ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยพบเป็นแท่นปูนคอนกรีตสูง 5 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร ทอดเป็นทางยาวกว่า 12 เมตรลงไปในทะเล และพื้นที่ด้านข้างยังพบว่ามีการทำบันไดลงไปหาดทรายขาว และคาดว่าแท่นปูนดังกล่าวน่าจะก่อสร้างมานานกว่า 6 เดือนแล้ว เนื่องจากมีทั้งหอยและสัตว์ทะเลเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่เจ้าท่าตราด ได้ออกคำสั่งให้รื้อถอนในทันทีนั้น วันนี้ (26 มี.ค.) นางภิรญาพัณณ์ วงษ์มณีกิจชัย เจ้าของโรงแรมเกาะช้างแกรนด์วิว ได้เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ทำธุรกิจโรงแรมบริเวณดังกล่าวมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งในครั้งแรกที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมยังเป็นพื้นที่ติดหาดทรายขาวที่มีโขดหินยื่นลงไปในทะเล และทุกครั้งที่เข้าสู่หน้ามรสุมจะมีคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้ามากระทบหน้าชายหาดเป็นประจำ จนทำให้พื้นที่ชายหาดฝั่งหน้าโรงแรมเกิดการกัดเซาะ จนต้องตัดสินใจทำเขื่อนกันคลื่น ซึ่งในครั้งแรกยังไม่ได้จัดทำเป็นแท่นปูนดังภาพที่เห็นตามสื่อต่างๆ กระทั่งได้มีการหารือกับช่างรับเหมาและผู้ออกแบบ จึงได้ก่อสร้างแท่นปูนขนาดใหญ่เพื่อกั้นคลื่นทะเลเท่านั้นและไม่ได้มีเจตนาอื่นใด หรือเพื่อต้องการให้เป็นจุดเช็กอินเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวตามที่เป็นข่าว "ยอมรับว่าในครั้งแรกที่จัดทำเขื่อนกันคลื่นยังเป็นการจัดทำในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ แต่เมื่อทำการก่อสร้างเขื่อนใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้มีบางส่วนเกินจากพื้นที่ที่ครอบครอง ทั้งนี้ ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอเกาะช้าง เข้าตรวจสอบระวางว่าเกินพื้นที่ไปเท่าไร และทางเรายินดีที่จะรื้อถอนออกไปและจะไม่ทำอะไรเพิ่มเติมอีก" อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ น.ท.อธิวัฒน์ แสงสว่าง เสนาธิการ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด (ฉก.นย.ตราด) และ น.ท.ภาคภูมิ บูรณะเหตุ หัวหน้าชุด ศรภ.ทร.เกาะช้าง และชุดเฝ้าตรวจเกาะช้าง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดโรงแรมแกรนด์วิว รีสอร์ท อ.เกาะช้าง จ.ตราด โดยมี นางภิรญาพัณณ์ วงษ์มณีกิจชัย เจ้าของโรงแรมให้การต้อนรับ และได้สรุปข้อมูลโรงแรมให้เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว สรุปได้ดังนี้ 1.ที่ตั้งของโรงแรมแกรนด์วิว รีสอร์ท อยู่นอกพื้นที่รับผิดชอบของที่ดิน ทร. โดยเป็นพื้นที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินเกาะช้าง และเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลเกาะช้าง และตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2525 และปัจจุบันพื้นที่โรงแรมมีเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก. 2.สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำชายหาดเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ และปลูกสร้างก่อนปี 2554 3.เจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง และสำนักงานเจ้าท่าตราด รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง และเทศบาลเกาะช้าง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 4.เจ้าของพื้นที่ยินดีที่จะทำการทุบทำลายในส่วนที่เกินจากพื้นที่ตามเอกสารสิทธิที่ตนครอบครอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการรังวัดขอบเขตพื้นที่จริงตามเอกสารสิทธิ 5.การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.ตราด (ส่วนแยกแหลมงอบ) ในการเข้าทำการรังวัดชี้พิกัดพื้นที่ที่ถูกต้องตามเอกสารสิทธิ และ 6.เมื่อทำการรังวัดและชี้พิกัดขอบเขตพื้นที่จริงตามเอกสารสิทธิเรียบร้อยแล้ว เจ้าของจะทำการทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างที่อยู่นอกเขตเอกสารสิทธิต่อไป https://mgronline.com/local/detail/9670000026778
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
โลกเดือด! น้ำแข็งละลายเร็ว น้ำท่วมมากขึ้น ธรรมชาติเอาคืนมนุษย์ ........... โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ตอนที่ 2) Climate Change มีผลต่อชีววิทยาทางธรรมชาติอีกมาก อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชอีกมากมายหลายชนิด แต่ผมขอแยกประเด็นนี้ออกไปก่อน เพราะซับซ้อนมากเกินกว่าจะอธิบายเพิ่มในพื้นที่จำกัดนี้ แต่ขอโฟกัสมาสู่การบันทึกว่าบัดนี้เราค้นพบว่าโลกที่ร้อนขึ้นนำเราไปสู่อะไรแล้วบ้าง อย่างแรก การละลายของน้ำแข็งทั้งโลกเกิดขึ้นรวดเร็ว ดังนั้นน้ำจากที่สูงจะไหลลงไปรวมที่มหาสมุทร ระดับน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ และมนุษย์ฝังรากทางอารยธรรมอยู่ชายฝั่งเป็นส่วนมาก เมืองท่าค้าขาย เมืองเพื่อการผลิต เมืองการอยู่อาศัย เมืองเพื่อการท่องเที่ยว ล้วนมีระดับสูงจากทะเลปานกลางน้อยมากๆ ส่วนเมืองเกษตรกรรมที่มักอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มักอยู่ได้ด้วยลำน้ำจืดไหลผ่าน ซึ่งมีลำน้ำสาขาแผ่กระจาย จึงเป็นชลประทานธรรมชาติที่ทำให้มีนามีสวน น้ำทะเลที่เพิ่ม อาจไม่ท่วมเหนือแผ่นดินลึกเข้าไปมากก็จริง แต่ก้นของแม่น้ำนั้นมักอยู่ในระดับสูงกว่าระดับทะเลปานกลางน้อยยิ่งกว่าเมืองชายฝั่งเสียอีก แถมหลายสายจะต่ำกว่าทะเลปานกลางด้วย ดังนั้น นิเวศน้ำจืดจำนวนมากจะถูกรุกล้ำด้วยน้ำเค็มเข้าลึกไปในแผ่นดิน เมืองไทยน้ำเค็มมีแนวโน้มจะบุกลึกใต้แม่น้ำไปถึงอ่างทอง นี่คือสิ่งที่อธิบดีกรมชลประทานเคยคาดการณ์ไว้ ยิ่งเมื่อมีภาวะภัยแล้ง หรือเมื่อน้ำแข็งยอดเขาละลายจนหมด ลำน้ำจืดจะไม่เหลือพลังดันน้ำเค็มอย่างที่เคยทำได้ตลอดปี ในหน้าแล้งเขื่อนและฝายจะกักเก็บน้ำไว้ น้ำจืดไหลลงร่องน้ำมาน้อยลง แปลว่าน้ำทะเลจะเอ่อเข้าลำน้ำในแผ่นดินไปทำลายนิเวศน้ำจืดของการเพาะปลูกจำนวนมากได้อย่างเงียบๆ เพราะชาวบ้านสูบน้ำมาเข้าสวนเข้านาปกติไม่มีใครสำรวจหรือชิมว่าน้ำมันเค็มหรือยัง จะรู้อีกทีก็ใบเหลืองเค็มจนเฉาแล้วทั้งสวน ความมั่นคงทางอาหารจะถูกสั่นคลอนอย่างร้ายแรง น้ำแข็งที่ว่าละลายนั้น ก็ให้ปรากฏการณ์ใหม่แก่มนุษย์อีก เพราะเมื่อน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรของกรีนแลนด์และที่ขั้วโลกใต้ละลาย มันได้กลายเป็นทะเลสาปทีละหย่อมเรียงรายไปสุดลูกตา ทะเลสาปเหล่านั้นค่อยๆกัดกร่อนน้ำแข็งต่อเพื่อหย่อนให้น้ำเหลวๆใสๆสามารถลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงได้ เกิดสภาพคล้ายสว่านหมุนเกลียวเจาะลงสู่เบื้องล่าง แล้วทำให้กลายเป็นโพรงรูพรุนคล้ายชีส เยอะไปหมด เมื่อน้ำไหลได้ มวลของมันจะส่งพลังการกระแทกเบียดกับผนังน้ำแข็งภายในโพรงราวน้ำตกกระแทกก้อนหิน ซึ่งย่อมเปราะบางกว่าหินมาก การกร่อนของภูเขาน้ำแข็งจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นถ้ำน้ำลอดเต็มไปหมด รูโพรงเหล่านี้ทำให้อากาศไหลเข้าไปด้านใน และนำความอุ่นไปรบกวนน้ำแข็งในระดับโครงสร้างเพิ่มเข้าไปอีก มนุษย์จึงตกใจว่าธารน้ำแข็งและแผ่นทวีปแอนตาร์กติกาและน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังแตกตัวออกตามที่ต่างๆในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ใช่มันละลาย แต่เพราะโครงสร้างถูกลมอุ่นมุดเข้าไปเจาะภายในราวกับรังปลวกบุกกินไม้อย่างตะกละตะกลาม ในขณะเดียวกัน น้ำแข็งที่ละเลายที่เกาะกรีนแลนด์ ได้ปล่อยน้ำจืดมหาศาลลงทะเลแอตแลนติกตอนบน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบเครื่องปรับอากาศของโลก ที่เคยเป็นจุดตั้งต้นของสายพานใต้ทะเลส่งความเยือกเย็นจากขั้วโลกให้ถูกน้ำทะเลพาไปไหลเวียนในทุกมหาสมุทรฟรีๆมานับล้านปี ทำให้ตะกอนแร่ธาตุผงธุลีใต้ทะเลที่รับมาจากแม่น้ำบนฝั่งสามารถเดินทางไปไหลเวียนท้่วท้องมหาสมุทร เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่สารพัดชีวิตใต้ผืนมหาสมุทร เมื่อการแปลงสภาพน้ำทะเลจากของเหลวไปเป็นน้ำแข็ง เกิดขึ้นมากที่สุดที่ข้างเกาะกรีนแลนด์ เพราะที่นี่ทะเลกว้างและลึกมาก ต่างจากจุดเชื่อมของทะเลแปซิฟิกกับขั้วโลกเหนือที่ทั้งแคบและตื้น เฉลี่ยความลึกของแปซิฟิกตอนบนนั้น ตื้นกว่าอ่าวไทยเสียอีก เพราะที่นั่นลึกเพียง50 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยลึกเฉลี่ย68เมตร แต่ที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั้น ทะเลลึกหลายๆพันเมตร ในการกลายสภาพจากน้ำไปสู่การเป็นน้ำแข็ง กฏทางธรรมชาติของฟิสิกส์จะทำให้โมเลกุลน้ำเท่านั้นที่กลายเป็นน้ำแข็ง ดังนั้นน้ำแข็งธรรมชาติทั้งมวลจึงจืด เพราะที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั่นเองที่น้ำปริมาณมหาศาลกำลังกลายเป็นน้ำแข็ง ทั้งวันทั้งคืนมันจึงเกิดน้ำตกใต้ทะเลของผงตะกอนแร่ธาตุโดยเฉพาะเกลือที่ร่วงลงมา แล้วถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงมันจมลงสู่ก้นทะเลอันลึกล้ำ แรงจมของเกลือปริมาณมหาศาลทุกวินาทีตลอดวันตลอดคืนนี้เองที่กลายเป็นแม่ปั้มธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ดันส่งกระแสน้ำใต้สมุทรจากจุดนี้ให้ไหลดันตามกันไปจนเมื่อเเรงกดส่งตะกอนไปถึงก้นทะเลแล้วยังดันกันต่อไปจนเดินทางลงใต้ไปกระทบกับกับแผ่นดินของขั้วโลกใต้ ซึ่งก็เย็นจัดเช่นกัน แล้วจึงไหลเข้าสู่ก้นมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก นำพาความเย็นจากสองขั้วโลกเข้าสู่ใต้สมุทรทั้งหลาย จากนั้นน้ำทะเลที่ไหลนี้จึงเริ่มมีน้ำหนักเบาขึ้น และค่อยๆสะสมการรับแดดในเขตศูนย์สูตรแล้วเดินทางต่อจนกลับมายังแอตแลนติกข้างเกาะกรีนแลนด์เหมือนเดิม หนึ่งรอบวงจรนี้ ใช้เวลาราวพันปี วงจรนี้เรียกว่า The Great Conveyor Belt ของโลกที่ส่งความเยือกเย็นจากสองขั้วโลกให้ไหลไปถึงใต้ชายฝั่งทะเลทั้งหลาย ภูมิอากาศของโลกจึงถูกระบบนี้กำกับให้มาโดยตลอด แต่เพราะน้ำจืดที่ละลายลงมาที่กรีนแลนด์ ทำให้ม่านความเค็มใต้ทะเลที่จุดเริ่มต้นการเดินทาง เจือจางลงมาก ทำให้สารละลายขาดน้ำหนักเพียงพอที่จะจมลงในอัตราที่เคยเป็น แรงดันใต้มหาสมุทรให้เป็นกระแสธารของความเยือกเย็นจึงอ่อนลงเรื่อยๆ รายงานจากงานวิจัยชี้ว่าอ่อนลงกว่า15%และยังคงอ่อนลงเรื่อยๆ ระบบปรับอุณหภูมิของใต้สมุทรจึงกำลังค่อยๆพังทลายลง และพลังการส่งสารอาหารให้เดินทางไปทั่วผืนสมุทรจึงกำลังหมดลงด้วยอากาศเหนือชายฝั่งจึงต้องถูกกระทบ หมู่ปลาและสัตว์ทะเลจะปั่นป่วนเพราะธาตุอาหารที่เคยไหลผ่านจางลงจนอาจหายไป แล้วมนุษย์ซึ่งพึ่งพาทั้งเกษตรบนแผ่นดินและโปรตีนจากทะเลจะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องคลี่คลายให้ได้ก่อนที่จะถึงวันที่หลายระบบจะล่มลงหรืออ่อนลงจนธรรมชาติเอื้อมส่งวงจรทางนิเวศกันไม่ถึง ปี 2030 เป็นเสมือน Tipping Points ชุดแรกที่บอกเราได้ ว่าลูกบอลที่ชื่อนิเวศของโลกใบนี้จะตกบันไดที่น่าจะกู่ไม่กลับแล้ว และถ้ายังปล่อยไปหรือเบรคไว้ไม่แรงพอ ปี 2050 คือชุดบันไดยาวๆที่ลูกบอลแห่งระบบนิเวศนี้จะร่วงหล่นกลิ้งเป็นลูกขนุนตกเขา แม้มีเงินมีเศรษฐกิจชนิดไหน ณ ที่ใดของโลก ทุกระบบก็จะกระเด็นกระดอนจนพังพินาศทั้งหมด There is no healthy business on a collapsing planet โลกใบนี้มีมานานก่อนมนุษย์คนแรกกลุ่มแรกจะปรากฏตัวขึ้น และโลกใบนี้จะอยู่ได้สบายด้วย แม้ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยหลังจากนั้นแล้ว แต่มนุษย์ต่างหากที่จะสาปสูญ ถ้าระบบธรรมชาติของโลกถูกรบกวนมากเกินไป บทความนี้ถูกเขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อยืนยันว่า ทุกระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบการเมืองใดๆก็ไม่อาจอยู่ได้ ถ้าระบบนิเวศธรรมชาติของโลก เอาคืนหรือไม่เอื้อให้ระบบมนุษย์อยู่กันได้อีกต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ทุกความพยายามที่จะรื้อฟื้น คืนทุนให้ระบบธรรมชาติ ผ่านกลไกเศรษฐกิจสีเขียว การค้าสีเขียว การลงทุนสีเขียว และสังคมที่ระดมให้ทุกชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ https://mgronline.com/greeninnovatio.../9670000026112
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
เกาะกาลาปากอส ขึ้นค่าธรรมเนียมครั้งแรกในรอบ 26 ปี หวังนำไปสนับสนุนด้านการอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยัง "หมู่เกาะกาลาปากอส" เตรียมจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็น 2 เท่า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกำลังสร้างแรงกดดันต่อจุดหมายปลายทางที่ระบบนิเวศมีความเปราะบาง กระทรวงการท่องเที่ยวของประเทศเอกวาดอร์ประกาศเตรียมขึ้นค่าธรรมเนียมใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน มรดกโลกอย่างหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2024 นี้ การขึ้นค่าธรรมเนียมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ค่าธรรมเนียมแรกเข้าอยู่ระหว่าง 100 - 200 ดอลลาร์สำหรับพลเมืองจากเกือบทุกประเทศ ยกเว้นสมาชิกกลุ่มการค้า Mercosur ในอเมริกาใต้ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และเปรู ที่จ่ายเงิน 100 ดอลลาร์ต่อคน เพิ่มขึ้นจาก 50 ดอลลาร์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีสามารถเข้าชมได้ฟรี โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ "หมู่เกาะกาลาปากอสไม่เพียงแต่เป็นสมบัติของชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นสมบัติระดับโลก เป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการปกป้องและรักษาระบบนิเวศที่ไม่มีใครเทียบได้นี้สำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคต" นีลส์ โอลเซ่น รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของเอกวาดอร์กล่าวในแถลงการณ์ Galapagos Conservation Trust โอลเซ่น กล่าวเสริมว่าค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำไปสนับสนุนการอนุรักษ์หมู่เกาะต่างๆ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่เอกวาดอร์ออกไปราว 1,000 กิโลเมตร สำหรับหมู่เกาะกาลาปากอสเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติขององค์การยูเนสโกที่ประกอบด้วยเกาะมากกว่า 100 เกาะ เกาะเหล่านี้ได้รับการขนานนามว่า "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" เป็นที่ตั้งของพืชพรรณและสัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ เกาะแห่งนี้เป็นแรงบันดาลใจสู่การกำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการของ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเกิดขึ้นในหมู่เกาะนี้เรื่อยมา โดยนักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบแนวปะการังที่ไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุหลายพันปีเมื่อปีที่แล้วนี่เอง หมู่เกาะมีประชากรประมาณ 30,000 คนอาศัยอยู่ แต่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 170,000 คนมาเยือนในแต่ละปี ทำให้ Galapagos Conservation Trust องค์กรการกุศลที่จดทะเบียนในสหราชอาณาจักรซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการอนุรักษ์และความยั่งยืนบนเกาะต่างๆ ได้เตือนถึงผลกระทบทางนิเวศวิทยาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น "ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่เกาะเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวทางบกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว" คำแถลงระบุบนเว็บไซต์ "ปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นระบบการจัดการขยะให้ถึงขีดจำกัด ทำให้น้ำและอาหารเกิดความไม่มั่นคงรุนแรงขึ้น และเพิ่มภัยคุกคามต่อสัตว์ที่ถูกรุกราน" ในปี 2021 ยูเนสโกได้ออกรายงานเกี่ยวกับหมู่เกาะต่างๆ และสถานะของความพยายามในการอนุรักษ์ รายงานดังกล่าวยกย่องรัฐบาลเอกวาดอร์ที่ลดการประมงผิดกฎหมายและควบคุมการแพร่กระจายของสายพันธุ์ที่รุกราน แต่ได้ขอให้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมภายในปีนี้ และการขึ้นค่าธรรมเนียมชมเกาะ ก็อาจเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ https://mgronline.com/travel/detail/9670000026304
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|