|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 2 สิงหาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะ1-2วันนี้ อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "ขนุน" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ตอนใต้ของจังหวัดโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น และตอนบนของสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ประเทศจีนในช่วงวันที่ 2?3 ส.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 2 ? 3 ส.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 7 ส.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 2 ? 3 ส.ค. 66 นี้ไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
Blue Carbon แหล่งกักเก็บคาร์บอนทรงอานุภาพ สำคัญไม่แพ้ "Green Carbon" รู้จัก "บลูคาร์บอน" (Blue Carbon) คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง แหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูงกว่า "Green Carbon" (กรีนคาร์บอน) เป็นที่รู้กันว่า ต้นไม้ ป่า และผืนดินที่ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ นั้น ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช ทั้งยังช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับอากาศ และช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ ทำให้มีการรณรงค์ช่วยกันปลูกต้นไม้ ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า แต่ขณะเดียวกัน บลูคาร์บอน (Blue Carbon) ก็มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน โดยมีระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เช่น แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทำหน้าที่เหมือนเครื่องฟอกอากาศของโลก กล่าวได้ว่า บลูคาร์บอน เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะกักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไว้ในรากและตะกอนดิน ซึ่งคาร์บอนเหล่านี้จะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในกรณีที่ไม่ถูกรบกวน ขณะที่กรีนคาร์บอนกักเก็บคาร์บอนไว้ในชีวมวลและปล่อยกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ทำให้บลูคาร์บอนสามารถกักเก็บคาร์บอนสูงกว่า กรีนคาร์บอน (Green Carbon) หรือป่าไม้ถึงเกือบ 10 เท่า นอกจากช่วยดูดซับคาร์บอนแล้ว "ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล" ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ เป็นที่หลบภัยของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ช่วยลดความรุนแรงของคลื่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นแหล่งอาหารของคนและสัตว์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นดินตามแนวชายฝั่งให้อีกด้วย ป่าชายเลนในประเทศไทย จากการสำรวจสังคมพืชป่าชายเลนโดยส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2564 ได้ดำเนินการสำรวจโครงสร้างป่าชายเลนในพื้นที่ 7 จังหวัด พบว่าความหนาแน่นของต้นไม้ต่อพื้นที่ จ.จันทบุรี มีความหนาแน่นมากที่สุดเท่ากับ 373.84 ต้นต่อไร่ รองลงมา คือ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.กระบี่ มีค่าความหนาแน่น 264.11 และ 217.78 ต้นต่อไร่ ตามลำดับ จังหวัดที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุด คือ จ.ระยอง มีค่า 98.13 ต้นต่อไร่ สำหรับผลผลิตมวลชีวภาพของต้นไม้ป่าชายเลนของ จ.จันทบุรี จ.ระยอง จ.นครศรีธรรมราช จ.นราธิวาส จ.กระบี่ จ.ตรัง และ จ.สตูล มีค่ารวมเฉลี่ยเท่ากับ 33.65 ตันต่อไร่ แบ่งเป็นมวลชีวภาพเหนือดิน เท่ากับ 22.89 ตันต่อไร่ และมลชีวภาพใต้ดิน เท่ากับ 10.76 ตันต่อไร่ โดยจังหวัดที่มีมวลชีวภาพสูงสุด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช มีมวลชีวภาพรวมเฉลี่ยเท่ากับ 49.77 ตันต่อไร่ รองลงมา ได้แก่ จ.ตรัง และ จ.ระยอง มีมวลชีวภาพรวมเฉลี่ยเท่ากับ 42.37 และ 35.07 ตันต่อไร่ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีมวลชีวภาพน้อยสุด ได้แก่ จ.นราธิวาส มีค่าเท่ากับ 13.82 ตันต่อไร่ เมื่อนำค่าผลผลิตมวลชีวภาพมาคำนวณหาปริมาณการกักเก็บคาร์บอน พบว่ามีค่ารวมเฉลี่ย 15.79 ตันคาร์บอนต่อไร่ แบ่งเป็นคาร์บอนเหนือพื้นดิน เท่ากับ 10.73 และ คาร์บอนใต้ดิน เท่ากับ 5.06 ตันคาร์บอนต่อไร่ ซึ่งปริมาณการกักเก็บคาร์บอนมีค่าแปรผันตามผลผลิตมวลชีวภาพ โดย จ.นครศรีธรรมราช มีการกักเก็บคาร์บอนเฉลี่ยต่อพื้นที่มากที่สุด 23.38 ตันคาร์บอนต่อไร่ รองลงมา ได้แก่ จ.ตรัง และ จ.ระยอง มีการกักเก็บคาร์บอนเท่ากับ 19.90 และ 16.42 ตันคาร์บอนต่อไร่ ตามลำดับ บลูคาร์บอนในไทย สำหรับการเคลื่อนไหวเรื่องบลูคาร์บอนในไทยนั้น เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (Worldview Climate Foundation) ลงนามในพิธีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โดยมีนโยบายและความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะฟื้นฟู ป้องกัน และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยบริเวณปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับบลูคาร์บอน (Blue Carbon) อีกทั้งการลดความเสี่ยงของพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะ อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น แหล่งหญ้าทะเล จากข้อมูลของ bluecarbonsociety ระบุว่า แหล่งหญ้าทะเล คือ ระบบนิเวศที่ดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด มีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันแหล่งหญ้าทะเลกลับเป็นระบบนิเวศที่ถูกคุกคามมากที่สุดของโลก ในแต่ละปีพื้นที่หญ้าทะเลจะลดลงถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ และยังพบว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แหล่งหญ้าทะเลทั่วโลกได้ตายลงไปแล้วกว่า 29 เปอร์เซ็นต์ สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจครั้งล่าสุดของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่าเมื่อปี 2015 ประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเล 256 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ที่ตอนนั้นมีพื้นที่เพียง 190 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องขอบคุณอุปกรณ์การสำรวจที่ดีขึ้น ที่ทำให้การสำรวจสามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งมีสภาพดีขึ้น แต่บางแห่งก็ยังคงถูกคุกคามจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน ท่าเรือ รีสอร์ต การพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง รวมทั้งการทำประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็ล้วนมีส่วนที่ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง. ข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), bluecarbonsociety, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2713820
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
โลกใต้ทะเลเกาะพีพีสุดสวย แต่หวั่นปะการังถูกทำลาย วอนติดตั้งทุ่นผูกเรือเพิ่ม กระบี่ -สวยเกินบรรยาย! โลกใต้ทะเลเกาะพีพี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังสวยไร้ที่ติ แต่หวั่นถูกทำลาย หลังพบทุ่นผูกเรือไม่พอ กลัวคนมักง่ายทำปะการังเสียหาย ระบุเก็บค่าเข้าอุทยานปีละเป็น 100 ล้าน เชื่อจัดซื้อทุ่นเพิ่มทำไม่ยาก หลังผ่านสถานการณ์โควิดระบาด ทะเลที่ได้รับการพักผ่อนได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะโลกใต้ทะเลที่เกาะพีพี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดกระบี่ พบว่ากลับมามีสภาพที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์ บริเวณปะการังเทียม ฟื้นคืนสภาพอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ได้มีการเผยแพร่ภาพโลกใต้ทะเลซึ่งเป็นภาพที่ผู้ประกอบท่องเที่ยวรายหนึ่งของเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ได้ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศที่สวยงาม ในช่วงวันหยุดยาวได้มีนักท่องเที่ยวได้ลงไป เที่ยวเกาะพีพี และลงดำน้ำดูปะการังที่สมบูรณ์ ผู้ประกอบการดำน้ำรายดังกล่าว และเป็นเจ้าของคลิปเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตอนนี้ปะการังเทียมได้ฟื้นตัวอย่างมาก ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่มีสัตว์น้ำหลายชนิดได้อาศัยอยู่ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่และระบบนิเวศที่กลับคืนมาแล้วของทะเลเกาะพีพี แต่อย่างไรก็ตาม เกรงว่าปะการังดังกล่าวจะถูกทำลาย จึงอยากเรียกร้องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำทุ่นจอดเรือเพิ่ม เนื่องจากนักท่องเที่ยวเข้ามามาก จุดจอดเรือไม่พอ มีทุ่น 4 ลูก มีแค่หน้าถ้ำไวกิ้ง 1 ลูก ปิเละลากูน 2 ลูก ปิดะนอก 1 ลูก ในขณะที่เรือนำเที่ยวนำนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยววันละเป็น 100 ลำ นักท่องเที่ยวไม่ต่ำวันละ 3,000 คน ในแต่ละเดือน แต่ละปี ทางอุทยานฯ ได้จัดเก็บรายได้นับ 100 ล้านบาท การจัดซื้อทุ่นมาผูกให้เรือจอดเพียงพอกับจำนวนเรือคงจะทำได้ไม่ยาก เกรงว่าจะมีการลักลอบทิ้งสมอเรือทำให้ปะการังเสียหายได้ ขณะที่นายโรเจอร์ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวสเปน ที่ได้ล่องเรือใบเข้ามาท่องเที่ยวทะเลเกาะพีพี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังระดับโลกจึงไม่มีทุ่นให้นักท่องเที่ยวได้ผูกเรือ หรือมีก็น้อยมาก เห็นอยู่เพียง 1-2 ทุ่นเท่านั้น อยากให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวนำทุ่นมาผูกให้มากกว่านี้ เพื่อรองรับกับจำนวนเรือที่มีจำนวนมาก https://mgronline.com/south/detail/9660000069108 ****************************************************************************************************** ปรากฎการณ์ "แมงกะพรุน" จำนวนมากไหลเข้าชายฝั่งสกอตแลนด์ ตัวชี้วัดอุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้น สกอตแลนด์เป็นประเทศล่าสุดในยุโรปที่พบ "แมงกะพรุน" ไหลเข้าชายฝั่งเป็นจำนวนมากซึ่งบ่งชี้ถึงระดับอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้น ด้านยูเอ็นให้ข้อมูลว่า ปี 2022 พบสัตว์ทะเลที่ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองมากกว่า 1,000 ชนิด ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สมาคมอนุรักษ์ทางทะเล (MSC) ออกประกาศพร้อมคาดการณ์ว่าเป็นปรากฎการณ์ "ปีกันชน" สำหรับการพบเห็นสัตว์ทะเลชนิดนี้บ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริเวณที่ราบสูงสกอตติช เกาะเวสเทิร์น และไอร์เชอร์ ได้รายงานการพบแมงกะพรุนจำนวนมาก แม้ว่า Catherine Gemmell เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของ MSC Scotland กล่าวว่า "ยังเร็วเกินไปที่จะบอก" หากคำว่า 'กันชนปี' จะเกิดขึ้นจริง MSC ได้รายงานเกี่ยวกับแมงกะพรุนมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว และสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นรายงานการพบเห็นแมงกะพรุนด้วยตัวเองผ่านทางเว็บไซต์ เนื่องจาก "แมงกะพรุน" ถือเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในมหาสมุทรและเป็นกุญแจสำคัญในการติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในน่านน้ำของประเทศ สิ่งมีชีวิตในทะเลทั่วยุโรปเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? สกอตแลนด์ไม่ใช่ที่เดียวที่ประสบกับการบุกรุกของแมงกะพรุน ในรอบสัปดาห์ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่ทะเลเมดิเตอเรเนียนทำลายสถิติอุณหภูมิพื้นผิวร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยสูงถึง 28.7 องศาเซลเซียส นี่อาจเป็นสาเหตุให้พบเห็นแมงกะพรุนมากกว่าปกติ เนื่องจากแมงกะพรุนชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในน้ำอุ่นที่ปราศจากออกซิเจน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อาณานิคมหลายพันแห่งถูกพัดพาขึ้นฝั่งที่ชายฝั่งมอลตาและโกโซ สร้างความประหลาดใจให้กับคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว และทำให้ไม่สามารถว่ายน้ำในอ่าวยอดนิยมหลายแห่งได้ เช่นเดียวกับที่ประเทศสเปนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักท่องเที่ยวที่ชายหาดต้องหยุดชะงักจากการพบเห็น Man-o-war ของโปรตุเกส สิ่งมีชีวิตคล้ายแมงกะพรุนที่มีหนวดยาวถึง 50 เมตร และมีคนถูกต่อยสร้างความเจ็บปวดมาก สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถูกพบนอกชายฝั่งใกล้กับชายหาดหลายแห่งตามแนวชายฝั่งทางตอนเหนือ รวมทั้งในเมืองซานเซบาสเตียนที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นกำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตและการเคลื่อนที่ของสัตว์ทะเล ในปี 2565 กรณีศึกษาของสหประชาชาติเปิดเผยว่ามีการพบสัตว์ทะเลที่ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองมากกว่า 1,000 ชนิดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยกว่าครึ่งได้ตั้งถิ่นฐานถาวร ซึ่งรวมถึงปลาปักเป้า แมงกะพรุน ปลาสิงโต และกุ้ง เป็นต้น อ้างอิง https://www.euronews.com/green/2023/...ring-bumper-ye https://mgronline.com/greeninnovatio.../9660000069252
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
ออสเตรเลียเฮ! แนวปะการังหลุดรายชื่อบัญชีมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย คณะกรรมการมรดกโลก ตัดสินใจไม่เสนอขึ้นบัญชีแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ของออสเตรเลีย ไว้ในบัญชีมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย แต่เตือนว่า มีภัยคุกคามขั้นรุนแรงจากมลพิษและมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น การตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ความพยายามมานานหลายปี ที่จะไม่ให้แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ถูกจัดอยู่ในบัญชีแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย ( List of World Heritage in Danger) เพราะอาจทำให้สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สร้างรายได้ 6,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และสร้างงาน 64,000 ตำแหน่งหลุดจากสถานะเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อปีที่แล้ว องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ออกรายงานพร้อมคำแนะนำให้เพิ่มแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟในรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในอันตราย หลังจากเกิดการฟอกขาวบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ในรายงานที่ยูเนสโก เผยแพร่ในวันจันทร์(31ก.ค.) เสนอแนะให้เลื่อนการตัดสินใจเรื่องนี้ออกไปอย่างน้อย 1 ปี หลังจากพบว่าตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียมีความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการคุ้มครองแนวปะการัง แต่ยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อดูแลระบบนิเวศปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้เอาไว้ ร่างข้อเสนอแนะนี้จะได้รับการตัดสินใจในการประชุมประจำปีของคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้ และกำหนดให้รัฐบาลออสเตรเลีย นำเสนอรายงานความคืบหน้าภายในเดือนก.พ.ปี 2567 ด้านนายกรัฐมนตรีแอนโทนี แอลบานีส ของออสเตรเลีย แถลงในวันนี้ (1 ส.ค.) โดยสัญญาว่า รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อปกป้องปะการัง ระงับการให้เงินสนับสนุนการสร้างเขื่อน และไม่อนุมัติการทำเหมืองถ่านหิน ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำบริเวณแนวปะการัง https://www.bangkokbiznews.com/world/1081410
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย
ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันเคลื่อนจากจุดติดตั้ง กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ. เผย ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันของไทยเคลื่อนจากจุดติดตั้ง เตรียมส่งทีมเก็บกู้ ส่วนทุ่นที่ติดตั้งในมหาสมุทรอินเดียยังทำงานเป็นปกติ ย้ำที่ผ่านมา บำรุงรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิเป็นประจำทุก 2 ปี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ได้ตรวจสอบพบข้อมูลการทำงานของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของไทยทางหน้าเว็บไซต์ National Data Buoy Centre พบว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เวลา 03.00 น. ทุ่นที่ได้ติดตั้งในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ไม่รายงานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงความดันน้ำ ต่อมาเวลา 01.23 น. ของวันนี้ (1 ส.ค.) ได้ตรวจสอบการระบุตำแหน่ง (GPS) ของทุ่น พบว่า ทุ่นเคลื่อนที่ออกจากจุดติดตั้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 44 กิโลเมตรจากจุดติดตั้งและห่างจากเกาะสุรินทร์ 198 กิโลเมตร จึงเตรียมส่งทีมไปเก็บกู้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิกลับมาโดยเร็ว ทั้งนี้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ปภ. ติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ 2 ทุ่นได้แก่ ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตรหรือเรียกว่า ทุ่นตัวใกล้ซึ่งหลุดจากตำแหน่งดังกล่าว ส่วนทุ่นอีกตัวติดตั้งในมหาสมุทรอินเดียที่สถานี 23401 หรือเรียกว่า ทุ่นตัวไกล ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร โดยทุ่นตัวไกลนี้ยังทำงานเป็นปกติ พร้อมยืนยันว่า บำรุงรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก 2 ปีตามมาตรฐานการบำรุงรักษาขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สำหรับทุ่นตัวใกล้ในทะเลอันดามันนั้น พบว่า เคยส่งข้อมูลผิดปกติแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ทำให้ NOAA ปิดการแสดงผลข้อมูลทางหน้าเว็บไซต์ National Data Buoy Centre เป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบสาเหตุการส่งข้อมูลผิดปกติ แต่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ตรวจสอบในเวลาต่อมา พบว่า ทุ่นที่สถานี 23461 ยังคงทำงานและส่งข้อมูลการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำได้เป็นปกติ จึงขอให้ NOAA แสดงผลข้อมูลทุ่นในเว็บไซต์ National Data Buoy Centre ดังเดิม ส่วนทุ่นตัวไกลในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ได้หลุดลอยออกจากตำแหน่งรัศมีการติดตั้งและหยุดส่งสัญญาณ ซึ่งได้ส่งทีมไปเก็บกู้ทุ่นคืนได้ จากนั้นผู้ผลิตและติดตั้งทุ่นได้นำทุ่นใหม่มาติดตั้งทดแทนของเดิมที่หลุดไปในเดือนพฤศจิกายน 2565 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยย้ำถึงภารกิจติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสึนามิว่า ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure : SOP) ด้านการแจ้งเตือนภัยสึนามิฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งนำข้อมูลจากต่างประเทศมาใช้มาประกอบการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการเกิดสึนามิ ติดตามข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจะเกิดสึนามิอย่างรอบด้านบนฐานข้อมูลเชิงวิชาการ รวมถึงได้มีการวางระบบเตือนภัยสึนามิให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งสามารถกระจายข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนสึนามิได้แม่นยำผ่านหลากหลายช่องทางให้เข้าถึงระดับพื้นที่ รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยสึนามิได้อย่างทันท่วงที. https://tna.mcot.net/environment-1216445
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|