|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 14 กันยายน 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 64 ร่องมรสุมพาดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ก.ย. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร สำหรับในช่วงวันที่ 13 ? 14 ก.ย. 64 บริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 19 ก.ย. 64 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 64 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 14 ก.ย. 64
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
"ทะเลเปลี่ยนสี" สภาพสาหัส! อาจาย์ธรณ์ เปิดภาพบริเวณอ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันออก เขต EEC ภาพถ่ายเมื่อเช้าวานนี้ (13 ก.ย.2564) อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันออก เขต EEC ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ภาพ "น้ำทะเลเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้น" บนเพจเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat ยิ่งช่วงฤดูฝนเกิดบ่อยทุกสัปดาห์ สาเหตุสำคัญ คือ มลภาวะดั้งเดิม โลกร้อนหนักขึ้น + ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด จึงเรียกเป็นเหตุโดน 2+1 เด้ง อาจารย์ธรณ์ อธิบายจากภาพถ่ายที่ได้รับเมื่อเช้าวานนี้ (13 กันยายน 2564) บริเวณอ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันออก เขต EEC ไว้ดังนี้ นี่คือภาพความเปลี่ยนแปลงอันน่าเศร้าของอ่าวไทยตอนใน ทุกครั้งที่ผมเห็นภาพเช่นนี้ ได้แต่ปลอบตัวเอง อาจารย์ธรณ์เป็นคนเข้มแข็ง เจออะไรแย่ๆ มาเยอะ ก็ยังแค่นยิ้มได้ แต่บางเรื่องมันยิ้มไม่ไหว มันอยากร้องไห้ เพราะคิดเท่าไหร่ก็ไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสี ขี้ปลาวาฬ แพลงก์ตอนบลูม ฯลฯ จะเรียกชื่อไหนตามใจเถิดแต่การเกิดเหมือนกัน เมื่อธาตุอาหารมหาศาลจากแผ่นดินไปตามแม่น้ำลำคลอง ไหลลงสู่ทะเล แพลงก์ตอนบางชนิดเพิ่มจำนวนพรวดพราด น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว บางทีก็สีน้ำตาล ตามแต่ชนิดแพลงก์ตอน ออกซิเจนในน้ำลดต่ำ บางแห่งบางเวลากลายเป็นศูนย์ ไม่เหลือเลยสัตว์น้ำตาย ที่พอหนีได้ก็ไปให้ไกลจากบริเวณนั้น ชาวประมงเดือดร้อน ไม่มีสัตว์น้ำให้จับ โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านที่ไปได้แค่ใกล้ฝั่ง คนเลี้ยงสัตว์น้ำเดือดร้อน ดูจากภาพเห็นกระชังมากมายในทะเลสีประหลาด เพื่อนธรณ์คงเข้าใจ แม้แพลงก์ตอนไม่มีพิษ แต่น้ำแบบนั้นทำให้สัตว์โตช้า หรือไม่ก็ตายหมดในเวลาอันสั้น ความตายในฉับพลัน มันอาจหมายถึงสิ้นเนื้อประดาตัว จะส่งเสริมสนับสนุนอย่างไร SME ก็ไปไม่รอด ผลกระทบยังไปถึงการท่องเที่ยว ใครก็อยากเห็นทะเลน้ำใส มาเจอทะเลสีแบบนี้ แถมบางทีมีกลิ่นแปลกๆ ใครจะอยากไปเล่น น้ำเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง โดยเฉพาะในช่วงหน้าน้ำ เกิดแทบทุกสัปดาห์ น้ำฝนพาตะกอนลงมา พาธาตุอาหารจากแผ่นดิน และที่สำคัญคือปุ๋ยเคมี ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าดินเมืองไทยกว่า 150 ล้านไร่ หรือเกือบ 47% มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทำให้เราต้องใช้ปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก ปี 63 นำเข้าถึง 5.14 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครึ่งปีแรกของปี 64 เรานำเข้า 3.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 37.8% เมื่อเทียบกับปี 63 (2.56 ล้านตัน) ปุ๋ยเหล่านั้นเมื่อลงมาถึงทะเล โดยเฉพาะในเขตอ่าวไทยตอนใน แพลงก์ตอนพืชร้องเย้ แพลงก์ตอนบลูม เราก็ได้ภาพเช่นนี้ ยังรวมถึงน้ำทิ้งจากชุมชน อุตสาหกรรม ฯลฯ ที่เราบำบัดได้ไม่ถึง 30%แค่ 2 สาเหตุนี้ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ "เปลี่ยนสี" ของน้ำทะเลได้ครบถ้วน Eutrophication เป็นปัญหาร้ายแรง หลายองค์กรระบุว่า นี่คือปัญหาติด Top5 ที่ส่งผลต่อทะเลโลก และเป็นปัญหาสาหัส แก้ไขยากสุดๆ สำหรับเมืองไทย เราพยายามแก้ตรงจุดด้วยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กว่าล้านไร่ ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์หลายสิบแห่ง แต่เมื่อดูตัวเลขแล้ว มันยังห่างไกลจากการจบปัญหาห่างมากเลย ห่างจนคิดไม่ออกว่า ต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี แต่คิดออกว่าโลกร้อนกำลังแรงขึ้น ฝนตกหนักขึ้น น้ำท่วมบ่อยยิ่งพาธาตุอาหารลงมา ภัยแล้งยิ่งทำลายคุณภาพดิน ต้องใช้ปุ๋ยเพิ่มการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ต้องผลิตเยอะๆ เพื่อส่งออก ยิ่งกระตุ้นผลผลิตการเกษตร มันจึงเป็น 2+1 เด้ง มลภาวะดั้งเดิม โลกร้อนหนักขึ้น + ฟื้นหลังโควิด กลายเป็นปัญหาขนาดยักษ์ เป็นความเสี่ยงสุดๆ ของทะเลอ่าวไทยตอนใน ความเสี่ยงต่อการทำมาหากินของผู้คนโดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย ทั้งประมงทั้งท่องเที่ยว ที่จะเจอกับผลกระทบอย่างหนักและดูไปข้างหน้า มีแต่หนักกับหนัก ในพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเขต EEC ชายฝั่งที่เราปรารถนาจะให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยั่งยืน/ย่อยยับ มีเส้นบางๆ ขีดขั้นไว้ ปัญหาคือเส้นนั้นกำลังจากหายไปทางออกสุดท้ายเป็นเหมือนคำตอบกำปั้นทุบดิน เกษตรอินทรีย์ ลด/บำบัดน้ำทิ้ง ฯลฯ เริ่มจริง เร่งเครื่องทำ หวังผลอีก 10-15 ปีหน้า มิฉะนั้น อีกไม่นาน เราจะเข้าสู่ยุคทะเลบางแห่งกลายเป็น Dead Zone ทำมาหากินอะไรไม่ได้เลยเดดโซนในทะเลทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอ่าวไทยตอนในคือหัวใจของทะเลไทย หากเธอตาย? หมายเหตุ EEC ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor หรือชื่อภาษาไทยเรียกว่า "โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ในครั้งนี้สำนักงานเพื่อการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ) มีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริม การลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้ เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี, ระยอง, และ ฉะเชิงเทรา https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000090957
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก
คลิปแฉ "วาฬเพชฌฆาตโดดเดี่ยวที่สุดในโลก" พุ่งหัวชนผนังสระ หดหู่ไม่เหลือใคร นักเคลื่อนไหวเปิดคลิปใจสลาย "วาฬเพชฌฆาตโดดเดี่ยวที่สุดในโลก" เอาหัวพุ่งชนผนังแทงค์น้ำ ทำร้ายตัวเอง หลังอยู่โดดเดี่ยวสิ้นเชิงมาร่วม 10 ปี ทั้งคู่และลูก ๆ ตายกันหมด จี้คืนวาฬสู่ธรรมชาติ (ภาพปก TWITTER/@WALRUSWHISPERER ) ฟิล เดเมอร์ส นักเคลื่อนไหวต่อต้านการกักขังสัตว์ แชร์คลิปความยาว 30 วินาที แสดงให้เห็น "คิสกา" (Kiska) ที่โครงการ Whale Sanctuary ตั้งฉายาว่าเป็น "วาฬเพชฌฆาตโดดเดี่ยวที่สุดในโลก" เอาหัวพุ่งชนผนังสระน้ำขนาดใหญ่ที่กักขังมันซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน่าเวทนา ในสวนน้ำมารีนแลนด์ นครออนตาริโอ ประเทศแคนาดา เดเมอร์ส ซึ่งเคยทำงานที่สวนน้ำแห่งนี้ก่อนหันมาเป็นนักรณรงค์ ระบุว่า เขาเข้าไปในมารีนแลนด์ และบันทึกคลิปเมื่อ 4 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อสังเกตความเป็นอยู่ของ "คิสกา" วาฬออร์กา หรือวาฬเพชฌฆาต ที่ยังมีชีวิตรอดตัวสุดท้ายในสวนน้ำแห่งนี้ พร้อมระบุว่า ความทารุณโหดร้ายต้องยุติลงเสียที กับติดแฮชแทก #FreeKiska เรียกร้องปลดปล่อยคิสกา ต่อมา เดเมอร์ โพสต์คลิปที่แสดงภาพระยะใกล้กว่าเดิม เห็นชัดเจนว่า ออร์กา อายุ 44 ปี พุ่งชนผนังสระน้ำอย่างแรงจนน้ำกระจาย และว่า "นี่เป็นพฤติกรรมทำร้ายตัวเองและอันตราย คิสกาอยู่ในภาวะหดหู่" เขาอยากเห็นคิสคาถูกย้ายไปอยู่ในสถานที่ชั่วคราวกับวาฬออร์กาตัวอื่น ๆ ก่อน จนกว่าโครงการสร้างแหล่งอนุรักษ์วาฬ ในแคว้นโนวาสโกเทียจะแล้วสร็จ คิสกา เกิดนอกชายฝั่งไอซแลนด์ ถูกกักขังตั้งแต่ปี 2522 และอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาตั้งแต่ปี 2554 หลังจากคู่ของมันตายไปก่อน ตามด้วยลูกของมัน 5 ตัว มูลนิธิช่วยเหลือวาฬออร์กา ระบุว่าเป็นเวลากว่า 40 มาแล้ว ที่คิสคาต้องทรมานกับการสูญเสียอิสรภาพ ลูกของมัน และคู่ทุกตัว โดยเฉพาะในช่วง10 ปีที่ผ่านมา ตกอยู่ในสภาพตัดขาดสังคมอย่างสิ้นเชิง และนี่คือผลจากความโดดเดี่ยวและการกักขัง ร็อบ ล็อตต์ นักรณรงค์ต้านการกักขัง จากองค์กรอนุรักษ์วาฬและโลมา กล่าวกับสำนักข่าว iNews ว่าพฤติกรรมที่เห็นในคลิป คือผลโดยตรงจากความเครียด คิสกาถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมเทียมและคอนกรีตมานาน 40 ปี น่าเศร้าว่าพฤติกรรมทำร้ายตัวเองอย่างที่คิสกาแสดงออกมานั้น สามารถพบเห็นในวาฬออร์กาตัวอื่น ๆ ที่ถูกขังในแทงค์เหมือนกัน ความเครียดเรื้อรัง อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันและสภาพจิตใจของวาฬแย่ลง และอาจก่อโรคภัยไข้เจ็บหรือตายได้ https://www.komchadluek.net/news/483534
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
ยูเนสโกเตรียมประกาศ "ดอยเชียงดาว" เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ยูเนสโกเตรียมประกาศ "ดอยเชียงดาว" จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล คาดส่งเสริมประโยชน์ต่อชุมชนหลายมิติ วันนี้ (13 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดการประชุมสภาประสานงานระหว่างชาติ ว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme : MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 13-17 ก.ย.2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย ในการประชุมครั้งนี้ มีตัวแทน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีการพิจารณารับรองการเสนอพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ จำนวน 22 แห่ง ในวันที่ 15 ก.ย.2564 โดยมีพื้นที่ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของประเทศไทย เป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่จะมีการพิจารณาบรรจุในบัญชีรายชื่อพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ของปี ค.ศ. 2021 โดยยกความสำคัญของพื้นที่ ประกอบด้วย สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ของจีน ภูมิประเทศเขาหินปูน ภูมิปัญญาเหมืองฝาย ตัวอย่างกลไกการจ่ายแทนคุณระบบนิเวศ ในพื้นที่บ้านปางมะโอ พื้นที่แกนกลาง ที่ได้รับการดูแลโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มาเป็นเวลากว่า 40 ปี และศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ โดยมีการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เข้มข้น โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาว พื้นที่ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูนโดดเด่น มีดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสาม ของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี เป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ พื้นที่ดอยเชียงดาว มีความพร้อมที่เอื้อต่อการวิจัยในพื้นที่ เนื่องจากมีสถานีวิจัยในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว มีประสบการณ์โดดเด่นในการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะความสำเร็จในการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีสถานีวิจัยต้นน้ำ และสถานีวิจัยเกษตรพื้นที่สูง ในส่วนของการจัดการเชิงพื้นที่ พื้นที่ดอยเชียงดาว มีพื้นที่รวม 85,909.04 เฮกแตร์ หรือ 536,931 ไร่ ซึ่งเป็นการกำหนดเขตเพื่อการส่งเสริมให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน โดยไม่กระทบกับการบังคับใช้กฎหมาย และการปกครองที่มีอยู่ พื้นที่แกนกลางและพื้นที่กันชนจัดการโดยใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ในส่วนของพื้นที่รอบนอก การบริหารจัดการจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของส่วนราชการภูมิภาคและท้องถิ่น ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลในอนาคต การจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น หลายด้าน อาทิ การถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม การส่งเสริมการพัฒนาการให้บริการที่เป็นมืออาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยว และการศึกษาธรรมชาติ การเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการที่ผลิตในพื้นที่นำเสนอ ด้วยการควบคุมคุณภาพของสินค้า ภายใต้การเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี และความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ประชาชน เกิดการบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตอบสนองเป้าหมายร่วม ทำให้พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศ การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของชุมชน และการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ไปยังเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลอื่นๆ ทั่วโลก และ เป็นความภาคภูมิใจในถิ่นฐานที่ได้รับความสำคัญในระดับสากล https://news.thaipbs.or.th/content/307865
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|