|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีแนวลมพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกและอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนหรือฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 1 ? 2 ส.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มีแนวลมพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกและอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 3 ? 6 ส.ค. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ประชาชนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
เผยนาทีสยอง นักเซิร์ฟหนุ่ม โดนฉลามกัดขาขาด ที่ออสเตรเลีย เผยคลิปนาทีสยอง 'ไค แมคเคนซี' นักเซิร์ฟหนุ่มระดับโปร โดนฉลามขาวกัดขาข้างหนึ่งจนขาด ขณะเผชิญหน้ากับฉลามตัวใหญ่มาก นอกชายฝั่งออสเตรเลีย เว็บไซต์ เดอะ ซัน เผยแพร่คลิปนาทีสุดระทึก 'ไค แมคเคนซี' นักเซิร์ฟหนุ่มระดับโปร ชาวออสเตรเลีย วัย 23 ปี ประสบเหตุร้าย โดนฉลามขาวตัวใหญ่กัดจนขาข้างหนึ่งขาด ขณะเล่นกระดานโต้คลื่นในทะเล ใกล้เมือง Port Macquarie ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โชคยังดีที่แมคเคนซีไม่ถึงขั้นเสียชีวิต จากคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นนาทีชีวิต ขณะแมคเคนซีเผชิญหน้ากับฉลามขาวที่จู่โจมทำร้าย ดึงเขาจมลงใต้น้ำทะเล และกัดขาข้างหนึ่งของเขาขาด เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2567 โดยแมคเคนซีเล่าว่า เขาไม่เคยเห็นฉลามตัวใหญ่ขนาดนี้มาก่อนเลยในชีวิต ถึงแม้แมคเคนซีจะสูญเสียขาไปหนึ่งข้างจากการถูกฉลามกัด ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่แมคเคนซียังสามารถใช้กระดานโต้คลื่นพาตัวเองกลับเข้าฝั่ง และได้รับความช่วยเหลือจากคนที่เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งที่รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยห้ามเลือด และแจ้งกู้ภัยให้นำแมคเคนซีส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น ยังเกิดเรื่องที่ก่อให้เกิดความหวัง เมื่อขาของแมคเคนซีซึ่งถูกฉลามกัดขาด ได้ถูกคลื่นซัดมายังชายหาดในเวลาต่อมา ทำให้ชาวบ้านพยายามใช้น้ำแข็งรักษาสภาพของขา และรีบนำไปยังโรงพยาบาล ด้วยความหวังว่าแพทย์อาจผ่าตัดเย็บขา จนทำให้แมคเคนซีสามารถเดินได้ดังเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา หรือเกือบหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป แมคเคนซีได้โพสต์รูปเขาเอง ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลและอัปเดตอาการทางโซเชียลมีเดีย อินสตาแกรม พร้อมกับเขียนแคปชั่นว่า 'สังเกตเห็นอะไรหายไปไหม ฮ่าฮ่า' โดยก่อนหน้านี้ แมคเคนซีได้เขียนถึงเหตุการณ์ถูกฉลามกัดในอินสตาแกรม พร้อมกับบอกว่า การสนับสนุนของผู้คนที่หลั่งไหลมา มีความหมายถึงโลกที่สมบูรณ์แบบ และการอยู่ที่นี่ สามารถโอบกอดความสวยงามก่อนหน้านี้และครอบครัวของเขาได้ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเขา แมคเคนซียังขอบคุณผู้บริจาคเงินช่วยเหลือเขา ผ่านเพจ GoFundMe เพื่อช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อาการบาดเจ็บของเขาจากการถูกฉลามกัดจนขาขาด ซึ่งยอดเงินบริจาคอยู่ที่ 108,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.78 ล้านบาทแล้ว ที่มา : TheSun ,BBC https://www.thairath.co.th/news/foreign/2804547
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
มาตราการ 'คิดค่าถุงพลาสติก' ได้ผลจริง ขยะตามชายหาดในสหราชอาณาจักรลง 80% ............ โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล มาตราการ "คิดค่าถุงพลาสติก" ของสหราชอาณาจักรได้ผลจริง ช่วยลดปริมาณ "ขยะถุงพลาสติก" ตามชายหาดลง 80% แต่ขยะพลาสติกยังมีมาก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมีขยะ "ถุงพลาสติก" ตามชายหาดในสหราชอาณาจักรลดลงถึง 80% แต่นักรณรงค์ยังคงเรียกร้องให้มีการดำเนินการจัดการกับขยะที่ส่งผลกระทบต่อทะเลและชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น ตามข้อมูลจากโครงการทำความสะอาดชายหาดของสมาคมอนุรักษ์ทางทะเล (MCS) องค์กรการกุศลในสหราชอาณาจักรที่ทำงานร่วมกับธุรกิจ รัฐบาล และชุมชนในการทำความสะอาดและปกป้องมหาสมุทร พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วในระยะ 100 เมตรจะพบถุงพลาสติกเพียง 1 ใบ ซึ่งลดลง 80% เมื่อเทียบกับ ปี 2014 ที่พบถุงพลาสติก 5 ใบในระยะ 100 เมตร ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเสียเงินค่าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในราคาตั้งแต่ 5-25 เพนนี (หรือประมาณ 2-11 บาท) ต่อใบ ทำให้ประชาชนลดการใช้ถุงพลาสติกลง โดยผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในเวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และอังกฤษ จะต้องเรียกเก็บเงินสำหรับถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตามกฎหมายที่บังคับใช้ในปี 2011, 2013, 2014 และ 2015 ตามลำดับ สำหรับอังกฤษและสกอตแลนด์ จะเรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้นจาก 5 เพนนีเป็น 10 เพนนีในปี 2021 ขณะที่ไอร์แลนด์เหนือจะคิดราคาที่ 25 เพนนี ส่วนเวลส์ยังคงเก็บค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ 5 เพนนี แต่จะเริ่มแบนถุงเหล่านี้ทั้งหมดภายในปี 2026 แต่ขยะพลาสติกประเภทอื่นยังไม่ได้ลดลง เนื่องจากในปีที่ผ่านมา MCS พบว่า 97% ของขยะตามชายหาดยังคงเป็นพลาสติก และขยะที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม เช่น ขวด กระป๋อง และฝา อาสาสมัครหลายพันคนพบว่าขยะที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 14% ในสกอตแลนด์และ 7% ในอังกฤษ เมื่อเทียบกับปี 2022 โดยรวมแล้ว มีการบันทึกขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 1.2 % ทั่วสหราชอาณาจักร เฉลี่ยแล้วมีขยะ 167 ชิ้น ในระยน 100 เมตร ซึ่งขยะที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ขยะพลาสติกขนาด 2.5-30 ซม., ซองต่าง ๆ เช่น กระดาษห่อแซนวิชและกรอบ, ฝาครอบและฝาปิด, เชือกและเชือกพลาสติก ตลอดจนขวดและภาชนะพลาสติก MCS หวังว่าจะเห็นปริมาณขยะพลาสติกประเภทอื่น ๆ เช่น ช้อนส้อมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ถ้วยโพลีสไตรีน ก้านลูกโป่ง และภาชนะบรรจุอาหาร บนชายหาดลดลงเหมือนกับถุงพลาสติก เนื่องจากอังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์เพิ่งประกาศแบนในช่วงสองปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ MCS ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มประเภทบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ใน ?ระบบมัดจำคืนเงินบรรจุภัณฑ์? (Deposit Return Scheme) หรือ DRS ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น สำหรับ DRS เป็นโครงการเก็บค่ามัดจำสำหรับสินค้าขวดพลาสติก ขวดกระป๋อง โดยจะได้เงินคืนเมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์มาคืนยังร้านค้าหรือตู้บริการที่กำหนด จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรีไซเคิลของผู้บริโภค โดยตามแผนเดิมจะเริ่มใช้ในปี 2027 MCS จัดอีเวนต์ทำความสะอาดตามชายหาดต่าง ๆ ตลอดทั้งปี โดยจะมีงานใหญ่ที่ชื่อว่า "Great British Beach Clean" ทุกเดือนกันยายน ปีนี้จะจัดขึ้นที่หาดไบรตัน ในเทศมณฑลอีสต์ซัสเซกซ์ ของอังกฤษ ซึ่งในกิจกรรมแต่ละครั้ง ทางองค์กรจะให้อาสาสมัครเข้าร่วมงานทำการสำรวจและบันทึกประเภทของขยะที่พบบนชายหาด ในรัศมี 100 เมตร เรื่อยมานับตั้งแต่ปี 1994 แม้แต่ในชายหาดที่มีกิจกรรมทำความสะอาดอยู่เป็นประจำอย่าง ชายหาดไบรตัน อาสาสมัครก็ยังเก็บขยะได้จำนวนมาก มีทั้ง ฝาเครื่องดื่ม ฝาขวด บรรจุภัณฑ์พลาสติก กระดาษชำระ และเสื้อผ้า ลิซซี่ ไพรซ์ ผู้จัดการแผนกดูแลชายหาดในสหราชอาณาจักรที่ MCS กล่าวว่า การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขยะที่เก็บได้ในชายหาด ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันมีขยะประเภทใดที่ยังมีจำนวนมาก และต้องรีบถูกกำจัดออกไป "การรวบรวมข้อมูลทุกครั้งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเรามีข้อมูลมาตลอด 30 ปี หมายความว่าเราสามารถอธิบายปัญหาขยะได้อย่างแท้จริง ตอนนี้เราเห็นถุงพลาสติกบนชายหาดลดลง 80% และก้านสำลีพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติกก็เริ่มลดลง แสดงว่านโยบายของรัฐบาลเริ่มเห็นผลแล้ว" ไพรซ์กล่าวว่า MCS ต้องการให้โครงการ DRS รองรับการมัดจำ ?ขวดแก้ว? ด้วย เพราะหากขวดแก้วแตกสลาย จะสามารถสร้างอันตรายต่อผู้คน สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในท้องทะเลอีกด้วย พร้อมกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราจำเป็นต้องก้าวไปสู่สังคมแห่งการรีไซเคิล ใช้ซ้ำ และซ่อมแซมให้เร็วขึ้น ที่มา: Independent, Standard, The Guardian https://www.bangkokbiznews.com/environment/1138084
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|