|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 2 ? 7 มิถุนายน 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก สำหรับในช่วงวันที่ 2 ? 3 มิ.ย. 67 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 7 มิ.ย. 67 บริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง พายุโซนร้อน "มาลิกซี" บริเวณมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันออกเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับในระยะต่อไป ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
หาดไทย ของใคร? พื้นที่สาธารณะ สมบัติแผ่นดิน ทำไมต้องจ่ายเงินค่าเข้า ภูเก็ต เกาะสวรรค์แห่งอันดามัน ชื่อนี้ไม่เกินจริง มีทั้งหาดทรายสวย น้ำใส เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 10 ล้านคน แม้จะมีหาดทรายสวยๆ ยาวตั้ง 200 กิโลเมตรรอบเกาะ แต่หาดหลายที่ก็ไม่สามารถเข้าไปเที่ยวกันง่ายๆ เป็นคนไทยแท้ๆ ต้องจ่ายเงินเพื่อลงไปเที่ยว 20-40 บาท หรือจ่ายค่าบำรุง 100 บาท บางหาดอย่างหาดยามู ก็ไม่มีทางลง ถ้าจะลงหาดต้องไปที่ถนนลาดยางแล้วเลี้ยวขึ้นไปที่โรงแรม แบบนี้ไม่ผิดกฎหมายหรือ? ทั้งๆ ที่หาดทรายเป็นที่สาธารณะเป็นสมบัติของแผ่นดิน ทุกคนสามารถไปเที่ยวได้ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ควรมีใครถือสิทธิครอบครองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง จะมีวิธีจัดการอย่างไรได้บ้าง ทำไมต้องเสียเงิน ใครจะมาตั้งโต๊ะเก็บเงินค่าเข้าหาดได้หรือไม่ กับอีกหลายๆ คำถามคาใจ อะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ติดตามในภารกิจ see true ให้คุณเห็นความจริง ในการเดินทางสำรวจหาดทรายหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ต ว่าจะมีที่ไหนเข้ายาก เข้าง่าย หรือเข้าไม่ได้เลย พื้นที่สาธารณะ ไม่ควรมีใครถือสิทธิครอบครอง หาประโยชน์ เริ่มจากหาดพาราไดซ์ หาดเล็กๆ เงียบสงบเสมือนหาดส่วนตัว ขึ้นชื่อเรื่องน้ำทะเลใสและหาดทรายขาว ห่างจากหาดป่าตองเพียง 4 กิโลเมตร แม้เขียนป้ายเข้าหาดฟรี แต่มีกล่องให้ใส่เงิน ทั้งในรถรับส่งและทางเข้า โดยพนักงานเก็บค่าเข้าบอกว่า แล้วแต่จะให้ 20-40 บาท เพราะตอนนี้ไม่บังคับ มีโปรโมชั่นฟรี 1 เดือนในช่วงวันเกิดบอส ขณะที่บริเวณริมหาดมีเตียงตั้งเรียงราย และนักท่องเที่ยวเข้ามาเล่นน้ำบริเวณหาด แต่ได้ข้อมูลมาว่าในช่วงเวลาปกติ มีการเก็บค่าบริการนักท่องเที่ยวคนละ 200 บาท อ้างว่าเป็นค่าบริการรถรับส่ง ซึ่งมีระยะทางราว 400 เมตร และกั้นรั้วไม่ให้รถจากที่อื่นเข้ามา ส่วนค่าบริการอื่นๆ อย่างเตียงและร่ม ราคาตั้งแต่ 800 ถึง 1,500 บาท มีบริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงมีสระว่ายน้ำติดทะเล แม้ไม่ใช้บริการ แต่แค่จะลงมาเดินที่หาดแห่งนี้ เพื่อดูความสวยงาม ก็ต้องเสียเงิน จากนั้นไปสำรวจอีกหนึ่งหาดลับ แค่เห็นทางเข้าก็แทบจะถอดใจ กว่าจะเดินไปถึงหน้าหาดนุ้ย อยู่ระหว่างจุดชมวิวหาดกะรนและหาดในหาน เป็นหาดลับที่ไม่ลับสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็มีพนักงานออกมาต้อนรับในทันที และอธิบายว่าถ้าจะลงหาดฟรี ก็เดินลงทางนี้แล้วไปหน้าหาด แต่ให้อยู่เฉพาะบริเวณหน้าหาด หากต้องการใช้พื้นที่โดยรอบ ใช้บริการห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ พื้นที่ถ่ายรูป และใช้ไวไฟ ก็ให้ช่วยค่าบำรุงสถานที่คนละ 100 บาท เมื่อสังเกตป้ายหน้าทางเข้าหน้าหาดนุ้ย มีอยู่หลายภาษา แปลความได้ว่านักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายค่าสถานที่ที่อ้างว่าเป็นหาดส่วนตัว 100 บาท และ 200 บาท ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จ่ายเงินค่าเข้าจะได้ริสแบนด์ผูกข้อมือ สามารถใช้พื้นที่โดยรอบได้ สำหรับรถรับส่ง หรือถ้าขับรถมาเองคิดค่าจอด รถจักรยานยนต์ 20 บาทและรถยนต์ 50 บาท หลายหาดภูเก็ต เก็บค่าเข้า ถูกยึดทำคาเฟ่ ปิดทางเข้าออก แล้วมีหาดไหนในภูเก็ต ไม่เสียเงิน เริ่มที่หาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง หาดยอดฮิตชายหาดยาวที่สุดในภูเก็ต นักท่องเที่ยวต้องเข้ามาถ่ายรูปสวยๆ กับเครื่องบิน ซึ่งคนในพื้นที่เรียกกันว่า หาดสนามบิน แต่เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่โรงแรมก็บอกว่า ถ้าจะเข้าทางนี้ไปดูเครื่องบิน เข้าไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้เป็นโรงแรม ให้ออกจากซอยนี้แล้วเลี้ยวซ้ายเลยร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะเห็นซอยอยู่ซ้ายมือ ประมาณ 100 เมตร ชาวบ้านขับวินรถสามล้อพ่วงข้างรายหนึ่ง บอกว่า โรงแรมก็ไม่ได้ปลื้มที่มาวิ่งรถสามล้อพ่วงข้างแบบนี้ แต่ทางอุทยานฯ ก็น่าจะบอกโรงแรม เพราะจับจองเป็นที่ส่วนตัวไม่ได้ เช่นเดียวกับชาวบ้านอีกคนระบุว่า ราว 10 ปีก่อนยังสามารถเข้าออกได้ตามปกติ แต่พอโรงแรมมาสร้างก็ปิดทาง ทำให้ต้องอ้อมมาไกลมากขึ้น จากนั้นได้ไปสำรวจหาดกะตะน้อย น้ำทะเลใส หาดทรายขาวละเอียด ยาวกว่า 700 เมตร แต่เข้าไปไม่ง่าย เพราะมีการ์ดหน้าหาด หาดยาวขนาดนี้แต่เข้าไม่ได้ เพราะว่ามีโรงแรมขวางอยู่เกือบตลอดทั้งแนวหาด ทางเข้าแต่ละที่ ก็ห่างกันหลายร้อยเมตร โดยเฉพาะทางขึ้นลงที่เป็นบันไดสูงมาก ขึ้นลงแต่ละทีต้องระวังไม่ให้ลื่นตกลงมา นอกจากนี้ยังตระเวนไปอีกหลายหาดรอบเกาะภูเก็ต ทั้งหาดบางเทา หาดเลพัง และหาดไตรตรัง มีปัญหาเหมือนกันเพราะโดนปิดทางลงหาด จากโรงแรม หมู่บ้าน ย่านธุรกิจ จนทำให้หาทางลงหาดได้ยากมากๆ ทั้งเก็บเงินค่าเข้า ทั้งยึดหาดทำคาเฟ่ ทั้งปิดทางเข้าออก บุกรุกสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่แค่ภูเก็ต ระวังเจอคดีอาญา นำไปสู่คำถาม ทำแบบนี้ผิดกฎหมายหรือไม่? และได้คำตอบจาก "มงคล ศรีสว่าง" ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุชัด ที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ช. ประกาศหวงห้ามของกระทรวงมหาดไทย ว่า ที่หินที่กรวดที่ทรายถือเป็นที่หวงห้าม จะไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ อันนี้ต้องไปดูลักษณะหวงกัน และการหวงกันถือเป็นการรบกวนการใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ หากใช้สิทธิหวงกันพื้นที่สาธารณประโยชน์สำหรับตัวเอง เป็นการบุกรุกสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นคดีอาญา ปัญหาการบุกรุกชายหาดสาธารณะ ไม่ใช่แค่ในจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว แล้วเราจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร? ?นิวัติไชย เกษมมงคล? เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ต้องมาไล่ดูว่ามีการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ถูกต้องในแปลงใดบ้าง อะไรที่ยังอยู่ในอายุความ ก็ดำเนินคดีอาญา แต่หากเกินอายุความ 20 ปีไปแล้ว จะแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามหน้าที่ตามอำนาจ เพิ่มดำเนินการเพิกถอน ในสิ่งที่มีการอนุมัติ และอนุญาตที่ไม่ชอบ หรือมีการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบ เพราะพื้นที่สาธารณะเป็นของเราทุกคน ไม่ควรมีใครถือสิทธิครอบครองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และไม่ใช่แค่หาดทรายเท่านั้น ยังรวมถึงการทวงคืนพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่มีการครอบครอง หรือออกเอกสารสิทธิที่ไม่ถูกกฎหมาย เพื่อให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติอีกครั้ง จากนี้ก็จะเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งเพิกถอนสิทธิการครอบครอง ยึดพื้นที่คืน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเอาพื้นที่ส่วนรวมคืน ซึ่งก็ยึดคืนมาได้หลายที่แล้ว ตั้งแต่ต้นปี มีกรณีเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ และทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่ ป.ป.ช ชี้มูลความผิดไปแล้วหลายคดี เฉพาะจังหวัดภูเก็ต ขณะนี้มีคดีที่กำลังไต่สวนมากกว่า 20 คดี และกำลังจะมีการชี้มูลความผิดเร็วๆ นี้ ซึ่งคนที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตรองผู้ว่าฯ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น บางคดีมีการตัดสินจำคุกไปแล้ว และจ.เชียงใหม่หนักสุด ศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิตไปแล้ว ก็ต้องรอผลการสอบสวนและเอาผิดกันต่อไป ติดตาม #ข่าวแสบเฉพาะกิจ รายการวาไรตี้ข่าวสุดแสบ จะพิสูจน์ ตรวจสอบ พร้อมลงทุกพื้นที่ ขยี้ทุกความจริง ทุกวันเสาร์ 6 โมงเย็น ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32. https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2790035
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
พิษโลกรวน ไทยเสี่ยง ร้อนแรง-แล้งนาน คนไทยรายได้หด ท่องเที่ยวกระทบ เกษตรเสียหายหนัก 2.85 ล้านล้าน Summary "ภาวะโลกรวน" หรือ Climate Change ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกคนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ Thairath Money ชวนส่องผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจไทย การท่องเที่ยว การเกษตร การผลิต กระทบแค่ไหน ความเป็นอยู่ของคนไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร วันนี้อากาศร้อน สภาพอากาศแปรปรวน จากภาวะ "โลกรวน" ไม่ได้เรื่องเป็นไกลตัวที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ หรือสุขภาพอีกต่อไป แต่ทุกคนกำลังรู้สึกถึงผลกระทบที่ใกล้ตัวมากในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างชัดเจน วันนี้เราจึงได้เห็นทั่วโลกตื่นตัวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ภายในปี 2593 เร่งผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคธรุกิจ ดำเนินงานด้วยความยั่งยืน เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่แม้จะประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ช้ากว่าประเทศอื่น แต่ล่าสุดกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Act) ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ทันกลางปี 2568 จากการสรุปเนื้อหาบรรยาย PIER Research Brief หัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับ เศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy)" โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา พบว่า จากการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 1960 ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศา อุณหภูมิของประเทศ ในอนาคตจากการจำลองฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด หากประเทศไทยไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ภายในสิ้นศตวรรษนี้ มีโอกาสที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีก 4 องศาขึ้นไป ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเจอกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากจำนวนวันที่ฝนตกในแต่ละปีน้อยลง จึงทำให้เวลาที่ฝนตกแต่ละครั้ง ฝนตกหนักขึ้น ในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอุณหภูมิที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนมากขึ้นและร้อนนานขึ้นด้วย ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถส่งผ่านผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) ความเสียหายที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามด้านภูมิอากาศที่เห็นได้ด้วยตา เช่น การประมงนอกชายฝั่งได้รับผลกระทบจากพายุที่รุนแรงและถี่ขึ้น, ห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risk) คือความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย เทคโนโลยี และรสนิยมผู้บริโภค เช่น ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นจากภาษีคาร์บอน เปิดผลกระทบโลกรวนต่อเศรษฐกิจไทย ภาคเกษตร เนื่องจากภาคเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่กินสัดส่วนการจ้างงานมากที่สุดในประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่มีความเปราะบางสูง เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม ภาวะโลกรวนคาดว่าจะสร้างความเสียหายสะสมต่อภาคเกษตร ระหว่างปี 2554-2588 เป็นมูลค่า 0.61-2.85 ล้านล้านบาท โดยมีความเสี่ยงทางกายภาพ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น - สภาพอากาศที่แปรปรวน สร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพาราลดลง ทำให้ผลผลิตน้อยลง กระทบความสามารถการส่งออก - พายุที่รุนแรงและถี่ขึ้นส่งผลกระทบต่อการประมงนอกชายฝั่ง และห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าได้รับผลกระทบ - ต้นทุนสูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากทั้งนโยบายรัฐบาลและมาตรการจากประเทศคู่ค้า - ความต้องการสินค้าลดลงจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาคการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับภาคเกษตร การท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก ก็ต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจึงมีความเปราะบางมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้อากาศที่ร้อนมากขึ้นจะทำให้นักท่องเที่ยวลดลง หรือมาท่องเที่ยวในระยะเวลาที่สั้นลง โดยมีความเสี่ยงทางกายภาพ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น - ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวหลายประเภท ทั้งแหล่งท่องเที่ยวประเภทสวนสาธารณะ/อุทยาน แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ - อากาศร้อนส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการใช้ระบบปรับอากาศเพิ่มขึ้น - ปัญหาปะการังฟอกขาวและกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์ทะเลซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว - ต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจการ การก่อสร้างอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม - ความต้องการของการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดลง ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ภาคการผลิตถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายหมื่นล้าน โดยมีความเสี่ยงทางกายภาพ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น - ภัยแล้งมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตที่ใช้น้ำมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่พึ่งพาน้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต เช่น ใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ใช้ในกระบวนการทำความเย็น (cooling) ตลอดจนใช้ในการผลิตพลังงานและความร้อน - อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและผลิตภาพของแรงงานที่ลดลง เนื่องจากในกระบวนการผลิต ต้องอาศัยการควบคุมอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม -หากมีการกำหนดภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการคิดต้นทุนตามปริมาณคาร์บอนที่แฝงอยู่ในสินค้า ราคาคาร์บอนที่สูงขึ้น อาจเพิ่มต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก และส่งผลให้ผลกำไรลดลง ครัวเรือนไทยเสี่ยงหนี้เพิ่ม รายได้หด สุขภาพจิตเสียจากโลกรวน ภาคครัวเรือนในประเทศไทยมีความเปราะบางสูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากพึ่งพารายได้จากภาคเกษตร แรงงานในภาคเกษตรของไทยมีจำนวนมากถึง 12.62 ล้านคน หรือ 34.1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ หากพิจารณาลักษณะของพื้นที่ทำการเกษตรจะพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินถือครองไม่มาก มีการศึกษาน้อย และมีครัวเรือนเกษตรเพียง 26% ที่เข้าถึงระบบชลประทาน ปริมาณน้ำฝน และสภาพอากาศที่แปรปรวนสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้ครัวเรือนไทยมีรายได้ลดลง และแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเดินทางสูงขึ้น ซ้ำเติมภาระหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ซึ่งกระทบความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงกดดันภาวะความตึงเครียดทางการเงิน แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยปัญหาด้านสุขภาพจิตและความเครียดของคนไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ อีกทั้งเหตุการณ์สภาวะอากาศสุดขั้วยังส่งผลทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ (trauma) ในกลุ่มผู้ที่ประสบภัย และกระทบต่อการดำเนินชีวิต พ.ร.บ.Climate Change ความหวังใหม่ เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน ในแง่ของการกำกับของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Net Zero ภายในปี 2608 รัฐบาลมีความพยายามที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2568 ซึ่งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพิ่งเสร็จสิ้นการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวไปเมื่อ 14 กุมภาพันธ์?27 มีนาคม ที่ผ่านมา ดร.กรรณิการ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกลไกสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลภาคบังคับ ซึ่งกำหนดให้ภาคธุรกิจเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และผลิตภัณฑ์ของตนเอง ปัจจุบันการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคำนวณจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน ทำให้ยังไม่มีปริมาณที่แท้จริงว่าแต่ละธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร พ.ร.บ.ฯ นี้ จึงเป็นรากฐานข้อมูล สำหรับการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระบบภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ลดก๊าซเรือนกระจกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น https://www.thairath.co.th/money/sus...rategy/2789977
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
คลี่ปม "สันเขื่อนกันคลื่น" สะเทือนฮุบ "เกาะกูด"? เร่งคลายปม OCA ไทย-กัมพูชา ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเตรียมเดินทางไปเยือนกัมพูชาของ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มี "เรื่องใหญ่" อยู่สองเรื่องที่จะต้องไปเจรจาความเมือง หนึ่งคือกรณีกัมพูชาสร้าง "สันเขื่อนกันคลื่น" ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเขตแดนทางทะเล ส่วนอีกเรื่องคือการเจราเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หรือ OCA ที่มีหลายประเด็นต้องคลี่ปม ก่อนจะนำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาแหล่งพลังงานปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองชาติที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ประเด็นเรื่อง "สันเขื่อนกันคลื่น" นั้น เป็นเรื่องที่เกิดมาก่อนหน้านี้ยาวนานตั้งแต่ปี 2541 หรือกว่า 30 ปีมาแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการรื้อฟื้นกันเรื่องการปักปันเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเขตแดนทางบก ดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2543 ส่วนเขตแดนทางทะเล ดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2544 เหตุที่เป็นเรื่องขึ้นมา ด้วยว่าการปักปันเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้เป็นที่ชัดเจน มีเพียงแค่ MOU ปี 2544 ที่เป็นหมุดหมายว่าจะมีการเจรจากันเท่านั้น และที่ผ่านมา การเจรจายังเป็นเพียงแค่เริ่มต้น ยังไม่ไปไหนมาไหน มีเพียงการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่และชุดเล็ก เพื่อเจรจากันสองเรื่องหลักสำคัญ คือ เรื่องเขตแดนทางทะเล กับเรื่องการพัฒนาแหล่งพลังงาน ดังนั้น เมื่อการปักปันเขตแดนทางทะเลยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่กัมพูชากลับไปลงมือ "สร้างสันเขื่อน" โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะริมตลิ่ง จึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมา ที่น่าสังเกตก็คือ การสร้างสันเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะริมตลิ่ง ปกติต้องสร้างให้ขนานกับชายฝั่ง แต่กัมพูชากลับสร้างสันเขื่อนตั้งฉากกับชายฝั่งยื่นลงไปในทะเลอ่าวไทย โดยใช้หลักเขต 73 ที่กัมพูชาขีดเส้นขึ้นเอง จึงทำให้เกิดความปริวิตกในสังคมไทยว่าจะมีผลต่อเส้นเขตแดนทางทะเล และจะทำให้ "เกาะกูด" ตกเป็นของกัมพูชา หรือไม่ อย่างไร อย่างไรก็ดี ทางการไทย ทั้งกองทัพเรือ และกระทรวงการต่างประเทศ หาได้เพิกเฉยต่อกรณีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เรื่องนี้ พลเรือตรี วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ ไขความว่า กรณีที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ฝ่ายกัมพูชาสร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่งอาจส่งผลให้กัมพูชาอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับอาณาเขตทางทะเลของไทย นั้น การสร้างเขื่อนกันคลื่นของฝ่ายกัมพูชา ได้เริ่มก่อสร้างจากพื้นที่ฝั่งด้านกัมพูชา ในช่วงปี พ.ศ. 2540 - 2541 โดยหน่วยงานของกองทัพเรือในพื้นที่ ตรวจพบและรายงานขึ้นมา กองทัพเรือ จึงให้กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ตรวจสอบ พบว่า มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นจริง จึงได้แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศ ทราบ หลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นบันทึกช่วยจำ และทำหนังสือประท้วงฝ่ายกัมพูชา พร้อมกับขอให้รื้อถอนเขื่อนกันคลื่นดังกล่าวออกไป โดยมีหนังสืออย่างเป็นทางการออกไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2541 ครั้งที่สอง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 และครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือทักท้วงกรณีดังกล่าวไป ทางกัมพูชาได้หยุดการก่อสร้าง และไม่มีการสร้างเพิ่มเติมแต่อย่างใด ขณะที่ "บิ๊กทิน" สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับเล่นบท "โยนกลอง" โดยยอมรับว่าในส่วนกองทัพยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน พร้อมกับโยนกระทรวงการต่างประเทศว่า เป็นผู้ที่จะเข้าไปดูแลและพิจารณาหรือมีเป้าหมายในเรื่องนี้อย่างไร กองทัพจะเป็นฝ่ายฝ่ายปฏิบัติ เรื่องนี้เป็นสถานการณ์ชายแดนระหว่างประเทศ กองทัพยังไม่ต้องไปออกหน้า ขอให้รอฟังผลที่กระทรวงการต่างประเทศ จะพูดคุยกับทางกัมพูชา อย่างไรก็ดี ถึงแม้กัมพูชา จะหยุดก่อสร้างสันเขื่อนกันคลื่นไปแล้ว แต่จนบัดนี้ ยังไม่มีการรื้อถอนแต่ประการใด กลายเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกับทางฝ่ายกัมพูชา ในการเตรียมไปเยือนกัมพูชาในเร็ววันนี้ "เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ .... ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีมาก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามสื่อ เมื่อถามว่า จะใช้ความสัมพันธ์อันดีรื้อสันเขื่อนหรือไม่ มาริษ ตอบว่า "ขอดูระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะเรื่องความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา เป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่ว่าจะไปขอเขาอย่างเดียว ก็ต้องดูว่าเรามีอะไรที่จะไปแลกเปลี่ยนเขาได้" ประเด็นที่ว่าต้องมีอะไรไปแลกเปลี่ยน กลายเป็นเรื่องที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แสดงความแปลกประหลาดใจในทำนอง ทำไมต้องมีของแลกเปลี่ยน? ธีระชัย แปลเจตนาของกัมพูชาในการสร้างสันเขื่อน ว่ากัมพูชาทำเพื่อให้มีผลต่อเขตแดน ย่อมไม่ถูกต้องตามหลักกติกาสากล และไทยย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้กัมพูชารื้อสันเขื่อน โดยไม่ต้องเสนออะไรเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ก่อนหน้านี้ พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในสภาฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 เรียกร้องให้รัฐบาลทำหนังสือประท้วงกัมพูชา กรณีสร้างสันเขื่อนยื่นตั้งฉากลงไปในทะเลอ่าวไทยใกล้หลักเขตที่ 73 ติดกับบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เนื่องจากกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ ปี 1982 (UNCLOS 1982) ข้อ 11 ระบุว่า ?สิ่งก่อสร้างถาวรตอนนอกสุดของเขตท่า ซึ่งประกอบเป็นส่วนอันแยกออกมิได้ของระบบการท่านั้น ให้ถือว่าประกอบเป็นส่วนของฝั่งทะเล? นั่นหมายถึงว่า การมีสันเขื่อนยื่นตั้งฉากลงไปในทะเลดังกล่าว จะทำให้องศาของเส้นแบ่งอาณาเขตเปลี่ยนไป ทำให้กัมพูชาสามารถอ้างเขตแดนทางทะเลได้กว้างขึ้น คลายปม MOU 2544 ? ตั้ง JTC ชุดใหม่ สำหรับการเตรียมเจรจาเขตทับซ้อนทางทะลไทย-กัมพูชา หรือ OCA มีเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนใหม่ ต้องคลี่คลายปมก่อนเดินหน้าสานต่อตามนโยบายที่ผู้นำทั้งสองชาติ เศรษฐา ทวีสิน และ ฮุน มาเนต เคยปรึกษาหารือกันเอาไว้ ตั้งแต่คราวพบปะกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ปมร้อนล่าสุด อยู่ตรงปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบันทึกความเข้าใจ ปี 2544 (MOU 2544) ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันในทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่ง ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันนั้น ยกขึ้นมาเป็นประเด็นร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า บันทึกความเข้าใจนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีบทที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรืออำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน ที่รัฐธรรมนูญทั้งในอดีตและปัจจุบันกำหนดว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นผู้ถูกร้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องพิจารณาและนำเสนอทางออกต่อคณะรัฐมนตรีว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร จะขอให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลถอนคำร้องนั้นออกไปเสีย หรือปล่อยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการต่อไปจนจบกระบวนการ หรือจะนำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อให้มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี การที่จะเอา MOU 2544 เข้าไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในตอนนี้ อาจไม่ใช่ทางเลือก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า MOU ไม่ได้มีบทบังคับอะไร หรือเป็นสนธิสัญญา และปัจจุบันเรายังไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย และยืนยันอีกครั้งว่า MOU 2544 ไม่ได้ส่งผลต่อเขตแดนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา นอกเหนือจากประเด็นเรื่อง MOU 2544 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ถูกมัดปมเข้ามาเพิ่มแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังมีการบ้านที่ต้องทำต่อจากนโยบายที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงระหว่างการเยือนของนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต แห่งกัมพูชา ที่ว่าให้กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบการดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และการร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน นั่นหมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องพิจารณาว่าโครงสร้างของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) หรือ JTC ตามที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เตรียมการเอาไว้นั้น ครอบคลุมเพียงพอต่อการผลักดันการเจรจาหรือไม่ ซึ่งองค์ประกอบเดิมที่ทำเอาไว้นั้น คณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค จะมีทั้งฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาณาเขตทางทะเล ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน และการจัดทำระบอบพัฒนาร่วม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเป็นคณะทำงานอีกอย่างน้อยสองชุด คือ ชุดแรก นำโดย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาและเจรจาเรื่องการแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ ซึ่งบันทึกความเข้าใจกำหนดว่าจะต้องแบ่งกัน (กับกัมพูชา) ส่วน ชุดที่สอง นำโดย อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เพื่อรับผิดชอบในเรื่องการจัดทำระบอบพัฒนาร่วม การแบ่งปันผลประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกับกัมพูชา สำหรับเรื่องการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อผลักดันเรื่อง OCA นั้น มาริษ ให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังจาก ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาเยือนไทย ยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อผลักดันเรื่องนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราต้องพิจารณาให้ชัดเจน เรื่องผลประโยชน์อยู่ตรงไหน สิ่งที่ มาริษ กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ คือ หารือเป็นการภายในกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเคลียร์ทุกประเด็น และกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งใจจะให้ข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ดี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จการหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท ในโอกาสเยือนญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า บริษัท Mitsui & Co., Ltd. มีการสอบถามเรื่องการเจาะหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับ OCA ว่า ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฯ ขึ้นมาสานต่อความร่วมมือ (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
คลี่ปม "สันเขื่อนกันคลื่น" สะเทือนฮุบ "เกาะกูด"? เร่งคลายปม OCA ไทย-กัมพูชา ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส ................ ต่อ ราคาน้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด ดีเซลปรับขึ้นอีก ขณะที่การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่จากการเจรจาเขตทางทะเลทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ เป็นไปอย่างเชื่องช้า ราคาพลังงานในตลาดโลกกลับพุ่งทะยานไม่หยุด ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนคนไทยที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และล่าสุด กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการอุดหนุน ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเป็น 32.44/ลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (OPEC+) มีกำหนดจัดการประชุมในวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมัน ขณะที่เทรดเดอร์และนักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า โอเปกพลัส จะยังคงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยสมัครใจ นักวิเคราะห์จาก UBS คาดการณ์ว่า โอเปกพลัสอาจจะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในระดับปัจจุบันต่อไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัท Ritterbusch and Associates ประเมินว่า ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง รวมทั้งการคาดการณ์ ว่าที่ประชุมโอเปกพลัสอาจจะลงมติขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ขณะที่ตลาดคาดว่าอุปสงค์น้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการขับขี่รถยนต์ของสหรัฐฯ หลังวันหยุด Memorial Day หรือวันรำลึกถึงผู้พลีชีพเพื่อชาติ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ราคาสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปรับตัวขึ้น ปิดที่ระดับ 79.83 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.11 ดอลลาร์ฯ หรือ +2.71% โดยได้รับแรงหนุนจากคาดการณ์ว่าโอเปกพลัส จะยังคงนโยบายปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อไปที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน หรืออาจขยายระยะเวลาในนโยบายดังกล่าวออกไป ลดทอนอุปทานส่วนเกิน หนุนทิศทางราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ อีกทั้งยังคงมุมมองความหวังอุปสงค์น้ำมันในจีนที่มีโอกาสฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หนุนทิศทางราคาน้ำมัน และหุ้นในกลุ่มพลังงานฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะสั้น ฝ่ายวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ (BRENT) และสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ยังปรับตัวขึ้นต่ออีกจากการเข้าสู่ฤดูการขับขี่รถยนต์ของสหรัฐฯ และอิสราเอลรุกคืบเข้าสู่ใจกลางเมืองราฟาห์ ทำให้กำลังการผลิตหายไป ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของสหรัฐฯ ทำให้ความคาดหวังว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะทยอยมากขึ้นตามลำดับ ขณะที่โอเปกพลัสยืนยันจะปรับลดกำลังการผลิตต่อ ฝ่ายวิจัย คาดทิศทางราคาน้ำมันจะยังทรงตัวได้ในระดับสูงต่อเนื่องจากเหตุผลข้างต้น และคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบระยะยาวตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปอยู่ที่ 80 เหรียญฯ/บาร์เรล (ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน) ขณะที่หากพิจารณาในเชิงราคา จะเห็นได้ว่า 3 วันทำการที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้น 4.3% ขณะที่ราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น การอุดหนุนภายในประเทศของไทย กลับลดลงเนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบมโหฬาร โดย วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติลดอัตราเงินชดเชยประเภทน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จาก 1.94 บาท/ลิตร เป็น 1.40 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกประเภทน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาท/ลิตร เป็น 32.44 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป นี่ย่อมไม่ใช่ข่าวดีของคนไทยและภาคธุรกิจที่แบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นทั้งในปัจจุบันขณะ และอนาคต ยิ่งถ้าหากการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ยังติดหล่ม ย่อมนำมาซึ่งการเสียโอกาสของทั้งสองชาติ https://mgronline.com/daily/detail/9670000047009
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
พบไมโครพลาสติกในทุกตัวอย่างน้ำ ที่สุ่มเก็บน้ำในการแข่งขัน The Ocean Race 2022 - 23 แม้แต่พื้นที่ห่างไกลจากอารยธรรมมนุษย์มากที่สุดในโลกก็ยังพบ การแข่งขัน The Ocean Race เป็นการแข่งขันเรือยอชต์รอบโลกที่เดินทางกว่า 62,000 กิโลกเมตร ไปในพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลก โดยเป็นการแข่งขันเพื่อร่วมมือกับสถาบันทางวิทยาศาสตร์ ที่มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลระหว่างการแข่งขัน เพื่อช่วยพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับโลกใต้ทะเลและภัยคุกคามที่ต้องเผชิญ ข้อมูลที่ลูกเรือเก็บรวบรวมทำให้องค์กรวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้รับข้อมูลแบบเรียลไทม์ และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับมหาสมุทรได้แม่นยำยิ่งขึ้น Victoria Fulfer นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมจากมหาวิทยาลัยร็อดไอแลนด์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งชาติ (National Oceanography Centre, NOC) สหราชอาณาจักร กล่าวว่า การแข่งขันใน The Ocean Race 2022 - 23 นี้ ทำให้ได้รู้ว่าความเข้มข้นของไมโครพลาสติกในน้ำมีระดับที่สูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับข้อมูลในปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของมลพิษที่เพิ่มขึ้น. ไมโครพลาสติกที่พบในตัวอย่างน้ำทุกตัวอย่างที่นำมาระหว่างการแข่งขันโอเชียนเรซ บทความนี้มีอายุมากกว่า 11 เดือน ความเข้มข้นของพลาสติกในการแข่งขันรอบโลกผ่านสภาพแวดล้อมในมหาสมุทรที่ห่างไกลพบว่าสูงกว่าการแข่งขันครั้งก่อนถึง 18 เท่าในปี 2017 ? 2018 ข้อมูลที่ได้ในปีนี้ ถือเป็นการย้ำถึงความรุนแรงของปัญหามลพิษจากพลาสติกและ ความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการจัดการกับมลพิษจากพลาสติกและนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รวมถึงความร่วมมือกันของรัฐบาลและ ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกด้วย นักเดินเรือทำการสุ่มตรวจน้ำระหว่างการแข่งขัน Ocean Race และพบว่า ทุกตัวอย่างน้ำที่สุ่มตรวจนั้น พบอนุภาคไมโครพลาสติกมากถึง 1,884 อนุภาคต่อน้ำทะเลหนึ่งลูกบาศก์เมตรในบางพื้นที่ ซึ่งสูงกว่าการทดสอบที่คล้ายกันระหว่างการแข่งขันโอเชี่ยนเรซครั้งล่าสุดซึ่งสิ้นสุดในปี 2018 ถึง 18 เท่า แม้แต่น้ำจาก Point Nemo พื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นจุดที่ห่างไกลจากอารยธรรมมนุษย์มากที่สุดในโลกและไม่เคยมีผู้คนอาศัยอยู่ ก็ยังตรวจพบไมโครพลาสติกได้ ตัวอย่างถูกเก็บในช่วงเริ่มแรกของการแข่งขันซึ่งเริ่มในเดือนมกราคมและสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2023 โดยผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ใกล้กับสถานที่ที่ถือว่าอยู่ห่างจากพื้นดินมากที่สุดในโลก ตัวอย่าง 45 ตัวอย่างที่รวบรวมจากเลกที่สอง ซึ่งวิ่งจากเมืองกาโบ แวร์เด ไปจนถึงแอฟริกาใต้ แสดงให้เห็นความเข้มข้นของไมโครพลาสติกที่ 92-1,884 ในขณะที่เลกที่ 3 ระหว่างเมืองเคปทาวน์และเมืองอิตาจาอิ ประเทศบราซิล มีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 160-1,492 ต่อลูกบาศก์เมตร ตัวกรองบนเรือสามารถดักจับอนุภาคพลาสติกที่มีขนาดระหว่าง 0.03 มม. ถึง 5 มม. ตัวอย่างจะถูกส่งทุกวันไปยัง NOC เพื่อทำการวิเคราะห์ โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยโรดไอส์แลนด์ ไมโครพลาสติกที่มีความเข้มข้นสูงสุดพบได้ใกล้กับชายฝั่งและเขตเมือง เช่น การอ่านค่า 816-1,712 ต่อลูกบาศก์เมตรนอกชายฝั่งแอฟริกาใต้ และยังพบในบริเวณ "แผ่นขยะ" ในทะเล ซึ่งกระแสน้ำทำให้พลาสติกสะสม . ความเข้มข้นระหว่างการแข่งขันโอเชียนเรซปี 2017-18 อยู่ระหว่าง 50-100 ต่อ ลูกบาศก์เมตร ตัวอย่างที่ถ่ายใกล้กับพื้นที่ห่างไกลที่สุดในโลก Point Nemo ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นดิน 2,688 กม. (1,450 ไมล์ทะเล) ในทุกทิศทาง เผยให้เห็นอนุภาคไมโครพลาสติก 320 ชิ้นต่อลูกบาศก์เมตร เทียบกับ 9-41 ในการแข่งขันครั้งล่าสุด สารเคมีที่มีมากที่สุดในพลาสติกคือโพลีเอทิลีน ซึ่งใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว ถุงพลาสติก และภาชนะต่างๆ เช่น ขวด ฟูลเฟอร์แสดงความตกใจเมื่อมีความเข้มข้นสูงใกล้ฝั่งมากขึ้น และเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากเพราะพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำการประมง ข้อมูล ? รูปอ้างอิง -theoceanracescience.com -www.theguardian.com/environment -worldexplorer.co.th
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|