|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. ? 3 ส.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 5 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 ก.ค. ? 3 ส.ค. 66 นี้ไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
เพนกวินนับพัน เกยตื้นตายปริศนา! เกลื่อนหาดที่อรุกวัย สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานกรณีพบนกเพนกวินมาเจลแลน ประมาณ 2,000 ตัว เกยตื้นตายบนชายหาดของอุรุกวัยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2023 ซึ่งจากการตรวจซากพบภายในท้องว่างเปล่า ลำตัวค่อนข้างซูบผอมเนื่องจากขาดอาหาร ส่วนสาเหตุหลักยังเป็นการคาดการณ์ว่าเกี่ยวข้องกับภาวะอุณหภูมิต่ำ พายุ หรือจากการตกปลามากเกินไปในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ หรือจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จนทำให้เพนกวินขาดอาหารจนเสียชีวิต "นี่คือการตายในน้ำ" คาร์เมน ไลซาโกเยน ซึ่งทำงานในกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอุรุกวัย บอกกับเอเอฟพี "90% ของซากเพนกวิน พบขนาดร่างกายที่เล็กกว่าปกติ ไม่มีไขมันสำรองและในท้องก็ว่างเปล่า" Carmen Leizagoyen เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอุรุกวัยกล่าว ยังไม่ทราบสาเหตุของการตายจำนวนมาก แต่นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมีส่วนทำให้เพนกวินสายพันธุ์นี้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 2004 ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณานกเพนกวินมาเจลแลน (Spheniscus magellanicus) ว่าเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ 'ใกล้ถูกคุกคาม' และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นกหลายร้อยตัวมักตายบนชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาใต้ เป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ ตัวอย่างเช่น ในปี 2010 เพนกวินมากกว่า 550 ตัวเสียชีวิตจากความอดอยากบนชายหาดของบราซิล สองปีต่อมา นกเพนกวินอีก 745 ตัวเกยตื้นตายบนชายฝั่งของประเทศ ที่น่าสนใจคือการเสียชีวิตจำนวนมากเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน ในบางปี ภัยคุกคามหลักอาจมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น ในปี 2019 เมื่อเพนกวิน 354 ตัวเสียชีวิตในอาร์เจนตินาที่แหล่งทำรังของพวกมันจากคลื่นความร้อนจัด ส่วนในปีอื่นๆ สาเหตุหลักอาจเกี่ยวข้องกับภาวะอุณหภูมิต่ำ พายุ หรือความอดอยากมากกว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่านกเพนกวินเหล่านี้อยู่ที่ไหนในการอพยพ ปกตินกเพนกวินมาเจลแลนทำรังทางตอนใต้ของอาร์เจนตินาเกือบตลอดฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม ในฤดูหนาว พวกมันเดินทางขึ้นเหนือเพื่อหาอาหารและน้ำอุ่น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เพนกวินวัยเยาว์จะเสียชีวิตระหว่างการเดินทางครั้งนี้ แต่ยอดผู้เสียชีวิตครั้งล่าสุด มีจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญสงสัยว่าพายุไซโคลนกึ่งเขตร้อนนอกชายฝั่งอุรุกวัยอาจทำให้ประชากรเพนกวินที่อดอยากอยู่แล้วอ่อนแอลง นกทะเล เต่า และสิงโตทะเลตัวอื่น ๆ ก็พบว่าเกยตื้นตายในบริเวณโดยรอบเช่นกัน ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีนี้ นกที่ตายเกลื่อนกลาดตามชายหาดของอุรุกวัยได้ตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกเป็นลบ แต่ท้องของพวกมันว่างเปล่ามาหลายวันแล้ว และขนของพวกมันก็ขาดไขมันอย่างน่าประหลาดใจ (ขนช่วยขับไล่น้ำและป้องกันจากอุณหภูมิที่เย็นจัด) การบรรจบกันของปัจจัยร้ายแรงอาจมากเกินไปสำหรับนกเพนกวินอายุน้อยที่จะรับมือได้ "การขาดแคลนอาหารอันเป็นผลมาจากการหาประโยชน์มากเกินไปจากการตกปลาในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อกระแสน้ำนอกชายฝั่งอาจเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ที่น่าเศร้านี้" องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ SOS Rescate de Fauna Marina อธิบาย "ส่วนสมมติฐานที่ว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับพายุก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่จริงๆ แล้ว การขาดพลังงานของพวกมันเป็นปัจจัยกระตุ้นให้พวกมันไม่สามารถต้านทานพายุได้" นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าเพนกวินมาเจลแลนมีปัญหาในการหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่ปี 1990 แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้แน่ใจว่าปลาแองโชวี ปลาซาร์ดีน และอาหารอื่น ๆ มีความยั่งยืนจากการประมง ในปี 2009 เพนกวินมาเจลแลนคู่ผสมพันธุ์ในอาร์เจนตินาได้ลดลง เหลือเพียง 200,000 ตัว จากจำนวนประชากร 300,000 ตัวในปี 1990 เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลง การตายหมู่ของสัตว์ชนิดนี้อาจกลายเป็นเหตุการณ์ประจำปีได้ ถ้าเรายังไม่ทำอะไร การตายหมู่ของสัตว์ชนิดอาจกลายเป็นเหตุการณ์ประจำปีที่น่าเศร้าต่อไป การตกปลามากเกินไปเป็นปัจจัยสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศก็เช่นกันจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สามารถเปลี่ยนแปลงการกระจายของเหยื่อในมหาสมุทรที่สำคัญได้ https://mgronline.com/greeninnovatio.../9660000068706 ****************************************************************************************************** กรมทรัพยากรทางทะเลฯ สำรวจพบแพลงก์ตอนบลูม 5 จุด ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์น้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ตรวจสอบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณหาดตาแหวน เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี 5 บริเวณ ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์น้ำ หลังจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณหาดตาแหวน เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ตามที่ได้รับทราบข่าวจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "เรารักพัทยา" โดยเจ้าหน้าที่ได้สำรวจจุดแจ้งเหตุและบริเวณใกล้เคียง พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี 5 บริเวณ ได้แก่ ทางเดินเรือระหว่างเกาะล้าน-พัทยาใต้ หาดหน้าบ้าน หาดตาแหวน และหาดเทียนในพื้นที่เกาะล้าน และเกาะสาก เบื้องต้นพบว่าน้ำทะเลมีสีเขียว มีกลิ่นเหม็น จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นมีค่าอุณหภูมิ 30.1-31.2 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30.9-31.8 ส่วนในพันส่วน ความเป็นกรดและด่าง 8.16-8.31 และออกซิเจนละลาย 4.20-7.69 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการ ทั้งนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ จากการจำแนกชนิด ทราบว่าเกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctiluca scintillans ซึ่งแพลงก์ตอนพืชชนิดนี้ไม่สร้างสารชีวพิษ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป แพลงก์ตอนบลูม หรือขี้ปลาวาฬ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยใน 1 ปี จะเกิดขึ้น 2-3 วัน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเล โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์มาจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล และมักเกิดในช่วงฤดูฝน หากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและมีคลื่นลมแรงเป็นเวลาหลายวันจะไปชะล้างธาตุอาหารที่อยู่ในพื้นดินบริเวณชายฝั่งลงสู่ท้องทะเล จนทำให้แพลงก์ตอนได้รับสารอาหารและเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อออกซิเจนในน้ำทะเลหมดลง แพลงก์ตอนก็จะตายจนทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีต่างๆ เช่น น้ำตาล สีแดง สีเขียว หรือสีดำขุ่น ในการนี้ รรท.อทช. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ศวทอ. เฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และชาวประมงในพื้นที่ พร้อมฝากถึงพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวประมง ว่าอย่าปล่อยหรือทิ้งของเสียลงแม่น้ำ ให้ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ หากใครพบเห็นปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี พบสัตว์ทะเลเกยตื้น และการทำประมงผิดกฎหมาย สามารถแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบ และช่วยเหลือได้ทันท่วงที ต่อไป https://mgronline.com/travel/detail/9660000068556
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|