เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ภาคเหนือตอนบนมีฝนตกต่อเนื่องหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนภาคเหนือ และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดช่วง ประกอบกับในช่วงวันที่ 22 - 24 ส.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 27 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ผลศึกษาชี้ ไมโครพลาสติกในทะเลสาบเจนีวา "อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง"

นักวิจัยพบว่า ระดับมลพิษในทะเลสาบเจนีวา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมาจากไมโครพลาสติก อยู่ในระดับที่สูงมากถึง 7,600 อนุภาคต่อตารางเมตร


เครดิตภาพ : GETTY IMAGES

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่างานวิจัยดังกล่าวได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องน่านน้ำทะเลสาบเจนีวา (ไซเพล) และดำเนินการโดยสมาคมฝรั่งเศส-สวิตเซอร์แลนด์เพื่อการปกป้องทะเลสาบเจนีวา (เอเอสแอล) ระหว่างปี 2564-2565

ผู้เชี่ยวชาญเก็บตัวอย่างจากชายหาด 25 แห่งจากทะเลสาบเจนีวา ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตกและทอดยาวระหว่างฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ผลการทดสอบเผยให้เห็นว่า ร้อยละ 60 ของอนุภาคเป็นเส้นใยพลาสติกสังเคราะห์ขนาดเล็กที่รั่วไหลลงไปในน้ำจากซักล้างเสื้อผ้า และความเสียหายตามธรรมชาติ

ขณะที่อีกร้อยละ 40 เป็นไมโครพลาสติกขนาดเล็กกว่า 2.5 มม. ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยบรรจุภัณฑ์อาหาร, ก้นบุหรี่ และเม็ดพลาสติกอุตสาหกรรม เป็นขยะซึ่งพบได้บ่อยที่สุด

อย่างไรก็ดี ชายหาดครึ่งหนึ่งมีปริมาณขยะลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน รายงานของไซเพลระบุว่า มีการสะสมของไมโครพลาสติกจำนวนมากในปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบเจนีวา อนุภาคดังกล่าวรวมถึงโลหะหนักและมลพิษอินทรีย์ ที่ทำให้เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำมากขึ้น

ทั้งนี้ ไซเพลและเอเอสแอลมองว่า การให้ความรู้แก่ประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น เกี่ยวกับการป้องกันการปนเปื้อนของพลาสติกในทะเลสาบและจากน้ำฝนถือเป็นสิ่งสำคัญ

แม้องค์กรต่าง ๆ จะชี้ให้เห็นถึงมาตรการเชิงรุกของสหภาพยุโรป (อียู) เช่น การกำหนดให้เครื่องซักผ้าต้องใช้แผ่นกรองเบื้องต้นภายในปี 2568 แต่รัฐบาลสวิสกลับปฏิเสธความริเริ่มที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน โดยเชื่อว่า การซักด้วยอุณหภูมิต่ำ, เลือกใช้ถุงซักผ้าไมโครไฟเบอร์ และใช้สิ่งทอที่ยั่งยืนและมีคุณภาพสูง อาจมีส่วนช่วยลดการปล่อยไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม.


https://www.dailynews.co.th/news/3777653/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง! 'เปลือกหอยนางรม' แปลงเป็น 'ขนสัตว์ทะเล' สุดมหัศจรรย์



"เอ็ดดี หวัง" ชาวไต้หวันที่เติบโตมาบนชายฝั่งตะวันตกของเกาะ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยที่ได้รับความนิยม เคยเห็นวิธีการเปลี่ยนเปลือกหอยนางรมที่ถูกทิ้งเหมือนกับขยะทั่วไป ให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ใช้สอย ซึ่งความทรงจำนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า "ขนสัตว์ทะเล" (Seawool)

หวังจำได้ว่า ชาวเมืองในเทศมณฑลหยุนหลิน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา ใช้เปลือกหอยนางรมที่ถูกทิ้งเกลื่อนถนนในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เป็นฉนวนกันความร้อนสำหรับบ้านของพวกเขา

"พวกเขาเผาเปลือกหอย และทาสีทับเศษตกค้างบนผนัง หลังจากนั้น บ้านก็จะอบอุ่นในฤดูหนาว และเย็นสบายในฤดูร้อน ซึ่งมันทำให้ผมสงสัยว่า ทำไมเปลือกหอยนางรมถึงมีความสามารถอันน่าอัศจรรย์เช่นนี้ได้" หวัง วัย 42 ปี กล่าว

บริษัท ครีเอทีฟ เทค เท็กซ์ไทล์ ของหวัง ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2553 ผลิต "ผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ซึ่งเป็นวัสดุโพลีเอสเตอร์ที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล แต่เขากลับรู้สึกว่าเนื้อผ้านั้น "ธรรมดาไปหน่อย"

ด้วยเหตุนี้ หวังจึงเริ่มทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยแห่งหนึ่ง เพื่อทดลองผลิตผ้าจากเศษเปลือกหอยนางรม กระทั่งในปี 2556 เขาก็ได้คิดค้นสูตรที่เหมาะสม ในการผลิตวัสดุที่คล้ายคลึงกับขนสัตว์ได้สำเร็จ

ปัจจุบัน โรงงานของหวังในไต้หวัน ใช้เปลือกหอยนางรมประมาณ 100 ตันต่อปี เพื่อผลิตขนสัตว์ทะเลประมาณ 900 ตัน ซึ่งมีเครื่องหมายการค้า และได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ เนื้อผ้าและเสื้อผ้าที่ผลิตจากขนสัตว์ทะเล สร้างรายได้ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ไต้หวันต่อปี (ราว 217 ล้านบาท) โดยผู้สั่งซื้อส่วนใหญ่เป็นแบรนด์เสื้อผ้ากลางแจ้ง และเสื้อผ้าเพื่อความยั่งยืน ในยุโรปและสหรัฐ

"ผ้าที่ผลิตในไต้หวันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีวัฒนธรรมการทำฟาร์มหอยนางรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะ และอุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถพบได้ที่อื่นในต่างประเทศ" หวัง กล่าวเพิ่มเติม

แม้ไต้หวันมีความต้องการหอยนางรมเป็นอย่างมาก และสามารถเก็บเกี่ยวหอยนางรมได้ประมาณ 200,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ความนิยมดังกล่าวทำให้มีเปลือกหอยนางรมถูกทิ้งประมาณ 160,000 ตันต่อปี ซึ่งเปลือกหอยที่กองอยู่ตามท้องถนน ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา เนื่องจากมันส่งกลิ่นคาว และกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง

ที่โรงงานของหวัง เปลือกหอยนางรมจะถูกบดให้เป็น "นาโนบีด" และผสมเข้ากับเส้นด้ายที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล

"เปลือกหอยนางรมเป็นวัสดุที่นำความร้อนตํ่า รวมถึงสามารถดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ อีกทั้งการเปลี่ยนเปลือกหอยให้เป็นขนสัตว์ทะเล ไม่ต้องใช้นํ้า นั่นจึงทำให้มันเป็นผลิตภัณฑ์คาร์บอนตํ่า" หวัง ระบุ

นอกเหนือจากโรงงานของหวัง บริษัท ไต้หวัน ชูการ์ คอร์ปอเรชัน (ทีเอสซี) ก็มีโรงงานบดเปลือกหอยที่ถูกทิ้ง ให้กลายเป็นผงที่ใช้ในการผลิตของใช้ในครัวเรือนต่าง ๆ เช่น ธูป ซึ่งผงเหล่านี้ช่วยลดควันและสารเคมีที่เป็นพิษ ที่ถูกปล่อยออกมาจากการจุดธูป

"เราหวังว่า เปลือกหอยนางรมสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งบริษัทที่สนใจ ก็สามารถใช้มันเป็นวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้เช่นกัน" เฉิน เว่ย-เหริน รองหัวหน้าฝ่ายธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ของทีเอสซี กล่าวทิ้งท้าย


https://www.dailynews.co.th/news/3771690/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ที่ราบสูงทิเบต "หอเก็บน้ำแห่งเอเชีย" อุ่นขึ้น เสี่ยงเกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว ธารน้ำแข็งละลายครั้งใหญ่


ธารน้ำแข็งซึ่งกำลังละลายทำให้เห็นการขยายตัวของพืชพรรณบนที่ราบสูงทิเบต - ภาพ: ซินหัว

ที่ราบสูงทิเบตได้รับการขนานนามว่าเป็น "หอเก็บน้ำแห่งเอเชีย" เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสายของทวีปเอเชีย รวมถึงแม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา แม่น้ำโขง แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเหลือง

ในรายงานการค้นพบโดยสังเขป ซึ่งได้จากการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ของคณะนักวิจัยนำโดยสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบตแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีนเมื่อวันอาทิตย์ (18 ส.ค.) ระบุว่า ที่ราบสูงทิเบตจะเข้าสู่ช่วงที่อบอุ่นและชื้นเป็นพิเศษ ซึ่งจะเห็นธารน้ำแข็งในบางพื้นที่ละลายมากกว่าครึ่งหนึ่ง และระดับน้ำในทะเลสาบจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เมตร (33 ฟุต) ภายในสิ้นศตวรรษนี้ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน

สอดคล้องกับคำเตือนก่อนหน้าของสำนักอุตุนิยมวิทยาของจีน ซึ่งระบุว่า พื้นที่ธารน้ำแข็งทั้งหมดบนที่ราบสูงทิเบตอาจลดลงร้อยละ 40 ภายในปี 2593 ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดพายุรุนแรงและน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ตอนล่าง

นอกจากนั้น ในรายงานยังชี้ว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดทุ่งหญ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และป่าไม้เพิ่มขึ้นร้อย 12 บนที่ราบสูงแห่งนี้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาก็จริง แต่ในระยะยาวภาวะโลกร้อนจะทำให้ลมที่พัดผ่านตามฤดูกาลในเอเชียเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางและความแรงครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนและมีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาพอากาศแบบสุดขั้วเพิ่มขึ้นในประเทศจีน

นายเหยา ถานตง ผู้นำนักวิจัยคณะดังกล่าวเคยระบุในรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์เมื่อปี 2565 ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนที่ราบสูงทิเบตจะทำให้ลุ่มแม่น้ำสินธุและแม่น้ำคงคา ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรในอินเดียและปากีสถานมีระดับน้ำลดลง

รายงานการค้นพบโดยสังเขปยังระบุด้วยว่า คณะนักวิจัยค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า มนุษย์ในยุคแรกๆ ซึ่งอาศัยบนที่ราบสูงทิเบตอาจย้อนกลับไปในอดีตไกลถึง 190,000 ปี

ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์


https://mgronline.com/china/detail/9670000076807


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


กรมทะเล เผยสถานการณ์ 'ปะการังฟอกขาว' เตรียมฟื้นฟูตามความเหมาะสมของพื้นที่

'กรมทะเล' เผยสถานการณ์ปะการังฟอกขาว เตรียมฟื้นฟูตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง



เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในปี พ.ศ. 2567 ว่า ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียว (Zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังแบบพึ่งพากัน (Symbiosis) และเป็นแหล่งพลังงานหลักของปะการัง ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และอาจตายได้ในที่สุดหากอยู่ในสภาวะเครียดเป็นเวลานาน สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการฟอกขาวเป็นวงกว้างคือ ภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น จนปะการังเครียดและสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลีในเนื้อเยื่อให้ปะการังจนเห็นโครงสร้างหินปูนสีขาว นอกจากอุณหภูมิน้ำที่ร้อนขึ้นแล้ว น้ำจืด รวมทั้งสารเคมี และมลพิษต่างๆ ที่ไหลลงสู่ทะเล ล้วนส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการฟอกขาวของปะการัง

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยในปีนี้ สถานการณ์ปะการังฟอกขาวค่อนข้างรุนแรง โดยฝั่งอ่าวไทยเริ่มมีรายงานพบปะการังฟอกขาวในช่วงกลางเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ฝั่งทะเลอันดามันเริ่มเริ่มมีรายงานพบปะการังฟอกขาวในช่วงกลางเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ฝั่งทะเลอันดามันเริ่มมีรายงานปะการังฟอกขาวในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมและสูงสุดในเดือนมิถุนายน สำหรับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวโดยภาพรวมของประเทศไทย มีอัตราการฟอกขาวประมาณ 60-80% หลังจากนั้นปะการังที่ฟอกขาวค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น 60% และมีบางส่วนตายไป 40%


จากการสำรวจพบปะการังน้ำตื้นโซนแนวราบ คือ บริเวณโผล่พ้นน้ำหรือปริ่มน้ำ


ในช่วงเวลาน้ำลงสุดฟอกขาวเฉลี่ยมากกว่า 80% แบ่งเป็น

ฝั่งอ่าวไทยมากกว่ากว่า 90%
ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 60-70%


ปะการังที่ตายจากการฟอกขาวเฉลี่ย 50% แบ่งเป็น

ฝั่งอ่าวไทยมากกว่า 90%
ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 20-30%


นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า พื้นที่น้ำลึกบริเวณปะการังแนวลาดชันที่มีระดับความลึก

มากกว่า 3 เมตร พบการฟอกขาวเฉลี่ย 60% แบ่งเป็น

ฝั่งอ่าวไทยอยู่ระหว่าง 80-90%
ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 40-50%


ปะการังที่ตายจากการฟอกขาวเฉลี่ย 30% แบ่งเป็น

ฝั่งอ่าวไทยอยู่ระหว่าง 30-40%
ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 15-25%


นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามพบแนวปะการังในบางพื้นที่ที่ไม่พบปะการังฟอกขาว ประมาณ 10% โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ จากการสำรวจเบื้องต้นพบชนิดปะการังที่เสียหายและตายลงเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora spp.) และปะการังผิวยู่ยี่ (Porites rus)

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า สำหรับสถานภาพปะการังมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากมีปะการังตายเพิ่มขึ้น การฟื้นฟูแนวปะการังจึงอาจมีความจำเป็นและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น พร้อมกับติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การฟอกขาวของปะการังที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย

"เราทุกคนควรตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีจิตสำนึกที่ดีต่อระบบนิเวศทางทะเล และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยเริ่มต้นที่ตัวเราและส่งต่อถึงคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว ไม่ทิ้งขยะ น้ำเสีย หรือสิ่งปฏิกูลลงในทะเล เพื่อลดปัจจัยทำให้เกิดการฟอกขาว และลดมลภาวะทางทะเลได้อีกด้วย" ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4748348

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


จาก "โลกร้อน" ถึง "โลกเดือด" สำนึกมนุษยชาติกับบทบาทที่รอไม่ได้
......... โดย รศ.ดร.รุ่งรัตน์ ชัยสำเร็จ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา



อาหารเหลือ 1 คำ อาจมิได้ทำให้โลกร้อนขึ้นในทันที ทิ้งขวดน้ำพลาสติค 1 ใบ ฟาสต์แฟชั่น 1 ชิ้น โดยสารเครื่องบิน 1 เที่ยว ก็คงไม่ทำให้ผู้คนสัมผัสได้ในทันใดถึงภัยต่อสภาพภูมิอากาศที่มองไม่เห็น

แม้กระนั้นปฏิกิริยาเล็กๆ จากผู้คนทั้งโลกล้วนเกี่ยวพันกันจนก่อตัวขึ้นเป็น ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ภาวะคุกคามในอันดับต้นๆ ที่กำลังกลืนกินทรัพยากรและบั่นทอนความเป็นปกติสุขของมนุษยชาติ ดังปรากฏหลักฐานที่สะสมมานานนับร้อยปี และรุนแรงเป็นทวีคูณในศตวรรษนี้

ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก ซึ่ง Global Climate Risk Index คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยความเปราะบางของลักษณะทางภูมิศาสตร์และสภาพเศรษฐกิจสังคม ไทยจะได้รับความเสียหายครอบคลุมในวงกว้างทั้งภาคเศรษฐกิจการเกษตร การท่องเที่ยว และการค้า

หลายจังหวัดของไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ออุณหภูมิความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายพื้นที่ก็เสี่ยงต่อภัยจากน้ำท่วมฉับพลันที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างคาดไม่ถึง

"โลกร้อน" (Global Warming) เป็นคำที่ได้ยินกันอย่างหนาหูในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวสากลเมื่อ พ.ศ.2558 ที่ประชุมภาคีสมาชิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ในการประชุม COP 21 ได้เห็นชอบร่วมกัน

จนเป็นที่มาของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มุ่งควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียสและพยายามจำกัดไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โดยให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมๆ กับที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศได้รับรอง 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อบรรลุภายใน พ.ศ. 2573

ในที่สุดก็เข้าสู่ภาวะ "โลกเดือด" (Global Boiling) เมื่อบันทึกข้อมูลอุณหภูมิโลกบ่งชี้ระดับความร้อนที่พุ่งสูงสุดในช่วง 1-23 ก.ค.2566 ถึง 3 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน

นายอันโตนิอู กุแตเรช (Ant?nio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ปลุกเร้าทุกฝ่ายให้ตื่นขึ้น "ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว ยุคโลกเดือดได้มาถึงแล้ว"

เรียกร้อง 3 ประเด็นสำคัญ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องถูกควบคุมให้ลดลงทั่วทั้งโลกและด้วยความรวดเร็ว บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องมุ่งสู่พลังงานสะอาดโดยการเปลี่ยนผ่านตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และต้องยุติการฟอกเขียว จะต้องไม่มีการหลอกลวงอีกต่อไป


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ประจักษ์ได้เมื่อระดับอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ปรากฏการณ์ที่ส่งผลรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว 2 ลักษณะ เอลนิญโญ (El nino) และลานิญญา (La nina)

ดังที่คนไทยรู้สึกได้ถึงความผิดปกติของอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนที่สูงกว่า 42-44.6 ?c ในหลายพื้นที่ สลับกับความถี่ของพายุ ระเบิดฝนและน้ำท่วมฉบับพลัน

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีทั้งอัตราการเสียชีวิตจากภาวะโลกร้อนและผลพวงสืบเนื่อง ดังเช่นการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและอุ่นขึ้น การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์หลายชนิดทั้งบนบกและในทะเล การขาดความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน คุณภาพชีวิตและความปลอดภัย รวมถึงโรคอุบัติใหม่และการระบาดทั่ว

เป้าหมายของประเทศไทย มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ดังที่รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุม COP 26 เมื่อ พ.ศ. 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์

การรับมือกับโลกเดือดเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย จำต้องพึ่งพา 2 มาตรการหลักควบคู่กัน เพื่อให้สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิด Climate Resilience ที่ดีพอ นั่นคือ มาตรการบรรเทา (Mitigation) มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดจากทุกแหล่ง ดังที่ประเทศไทยกำลังพยายามขับเคลื่อน

โดยมียุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นระบบและเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูเพื่อคืนชีวิตใหม่ให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบในการผลิต ควบคู่กับการลดปริมาณการปล่อยของเสีย ขยะ ให้ก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลงมากที่สุดจนถึงเป็นศูนย์ โดยอาศัยกลไกการออกแบบกิจกรรมตามหลัก Rs รวมถึงมาตรการภาษีคาร์บอนเพื่อกดดันการเปลี่ยนแปลง

ที่จำเป็นอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่งคือ มาตรการปรับตัว (Adaptation) อาศัยหลักการออกแบบใหม่ (Re-design) ทั้งกระบวนการและวิธีปฏิบัติ ตั้งแต่การเลือกถิ่นฐาน อาคารบ้านเรือน เครื่องแต่งกาย พฤติกรรมการเดินทาง การบริโภค และวิถีการดำรงชีวิตอื่น ๆ เพื่อเอื้อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตและพัฒนาต่อเนื่องได้ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น เช่น เกษตรในทะเลทราย โปรตีนจากพืช น้ำทะเลดื่มได้

อาหารเหลือ 1 คำ ขวดพลาสติค 1 ใบ และอื่น ๆ อีกมากมาย จากประชากรโลกกว่า 8 พันล้านคนจึงมิอาจรอคอยเพียงบทบาทการขับเคลื่อนผ่านข้อตกลงจากเวทีโลก คลื่นยักษ์ที่ถาโถมสู่โลกใบนี้ต้องการ "มือแห่งการเปลี่ยนแปลง" โดยเร่งด่วน วันนี้ และเดี๋ยวนี้

"ราชบัณฑิตยสภา" ในฐานะแหล่งสรรพปัญญา จะร่วมประสานพลัง สู่เป้าหมายอุณหภูมิโลกที่จะคงเกื้อกูลดุลยภาพของระบบนิเวศ ปักธงการขับเคลื่อนผ่านบทบาทการสร้างความตระหนักรู้และการร่วมมือกันจากทุกองค์กร ทุกชุมชน และทุก ๆ คน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวพร้อมรับมือกับโลกเดือด

เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเนื่องในการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีราชบัณฑิตยสภา เรื่อง "ราชบัณฑิต มองไกล นำวิจัย ปรับตัวรับมือโลกร้อน" โดย รศ.ดร.รุ่งรัตน์ ชัยสำเร็จ กรรมการฝ่ายวิชาการ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันที่ 6-7 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1141240

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:23


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger