|
#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย ในขณะที่มีแนวสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และการระบายอากาศในบริเวณดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 28-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 24 ? 25 เม.ย. 67 มีแนวสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 26 ? 30 เม.ย. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ประเทศไทย และทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 24 ? 25 เม.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ทะเลเดือด ความร้อนพุ่งสูง อ่าวไทยเสี่ยงปะการังฟอกขาว ประมงต้นทุนเพิ่ม ปะการัง ในอ่าวไทยเสี่ยงฟอกขาวครั้งใหญ่ หลังอุณหภูมิน้ำทะเลพุ่งสูงกว่าทุกปี หวั่นลุกลามไปถึงแนวปะการังในทะเลอันดามัน ส่งผลต่อเม็ดเงินการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน ชาวประมงต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น เนื่องจากปลาบางส่วนอพยพหนีน้ำทะเลร้อน ไปในเขตน้ำลึก เสี่ยงจะทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลหนักกว่าทุกปี "ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง" อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของทะเลไทย กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลไทย มีความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ต้นปี 2567 จึงมีผลทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรมีความเปลี่ยนแปลง "ช่วงต้นปีเราจะเจอสัตว์จากทะเลลึก ขึ้นมาในพื้นที่น้ำตื้น ซึ่งคนที่ไปดำน้ำที่สิมิลัน หรือชาวประมงในพื้นที่ จ.สตูล จะเจอปลาที่อยู่ในเขตน้ำลึกขึ้นมาน้ำตื้น และทำให้หลายคนตื่นตกใจ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน เนื่องจากกระแสน้ำเย็นลอยขึ้นมาสูงมากขึ้น และนำพาสิ่งมีชีวิตในน้ำลึก และแร่ธาตุต่างๆ ขึ้นมาตามมวลน้ำ" สิ่งที่ตามมาตอนนี้คือ เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้นเนื่องจากความร้อนของสภาพอากาศ ทำให้เห็นปรากฏการณ์ "แมงกะพรุนลอดช่อง" ลอยขึ้นมาเต็มทะเลอันดามัน ตั้งแต่ จ.สตูล ไปจนถึง จ.ระนอง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบางอย่างขยายพันธุ์มาก และการเพิ่มของแมงกะพรุนจำนวนมาก ก็อาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิตประเภทอื่นลดลง อีกผลกระทบจากความร้อนของน้ำทะเล ทำให้หญ้าทะเลทยอยตาย โดยเฉพาะต้นหญ้าทะเลขนาดใหญ่ แถบเกาะลิบง จ.ตรัง เนื่องจากปีนี้น้ำทะเลแห้งเป็นเวลานานกว่าปกติ เมื่อน้ำทะเลลดทำให้หญ้าทะเลที่อยู่บนผิวดิน ถูกแดดเผา จนเหง้าที่อยู่ใต้ดินตายไปด้วย การที่หญ้าทะเลทยอยตาย ส่งผลต่อพะยูน ในทะเลอันดามัน ที่กินหญ้าทะเล เพราะจากผลสำรวจจากจำนวนพะยูน ในปีก่อนมีอยู่กว่า 180 ตัว แต่พอปีนี้พบพะยูนในพื้นที่เพียง 30?40 ตัว ซึ่งมีสมมติฐานว่า พะยูนบางส่วนอาจเสียชีวิตจากการขาดแหล่งอาหาร ขณะที่อีกบางส่วนอพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ "การที่แหล่งหญ้าทะเลลดลง มีผลมาถึงสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของมนุษย์ เพราะพื้นที่หญ้าทะเลเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สิ่งนี้ทำให้ชาวประมง หาปลาทะเลได้ลดลง จนส่งผลกระทบต่อรายได้ และบางรายต้องขึ้นฝั่งไปทำงานบนบก ขณะเดียวกันชาวประมงชายฝั่ง ก็ต้องออกเรือไปไกลจากฝั่งมากขึ้น เนื่องจากปลาไม่มีแหล่งอนุบาล และอุณหภูมิของน้ำทะเลในช่วงน้ำตื้นร้อนกว่าจุดที่เป็นน้ำลึก ทำให้ชาวประมงมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม และอาจเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกับเรือหาปลาขนาดใหญ่ได้ในอนาคต เช่นเดียวกับผู้บริโภค ก็มีแนวโน้มที่ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาสูง" อุณหภูมิทะเลพุ่งสูง กระตุ้นปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ "ศักดิ์อนันต์" เล่าต่อถึงผลกระทบของอุณหภูมิในน้ำทะเลที่พุ่งสูงจะส่งผลกระทบให้เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในทะเลไทย และทั่วโลก เหมือนในปี 2540 เพราะตอนนี้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าเดิมประมาณ 1.5-2 องศา และน่าสนใจว่าอุณหภูมิจะพุ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งปกติอุณหภูมิในน้ำทะเลประมาณ 30 องศา ก็ถือว่าร้อนมาก โดยสัตว์น้ำแค่อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแค่ 1 องศา ก็เริ่มจะอพยพไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ หรือตายได้ง่าย คาดว่าถ้าเกิดปะการังฟอกขาว จะเกิดในช่วงเดือน พ.ค. 67 โดยเฉพาะปะการังในเขตน้ำตื้น แถบฝั่งอ่าวไทย ที่มีอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นมากแล้ว ขณะที่โซนทะเลอันดามัน เนื่องจากต้นปีมีกระแสน้ำเย็นลอยขึ้นมา ทำให้ความร้อนของน้ำทะเล ยังมีอุณหภูมิต่ำกว่า ประกอบกับทะเลอันดามันมีความลึกของน้ำกว่าโซนอ่าวไทย ผลกระทบที่ตามมาจากปะการังฟอกขาว จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกิจกรรมดำน้ำเพื่อดูปะการังจะต้องหยุด ซึ่งปกติฝั่งอันดามัน จะไม่มีกิจกรรมดำน้ำตั้งแต่ 15 พ.ค. ของทุกปี แต่ปีนี้อาจจะมีคลื่นลมนิ่ง ทำให้มีคนที่ฝ่าฝืนได้ "แนวปะการังที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวคือ เกาะช้าง สมุย พะงัน แต่ก็ยังมีความคาดหวังว่า ปะการังในทะเลไทย จะมีความอดทนต่ออุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ โดยปะการังที่ฟอกขาว ถ้าได้รับผลกระทบแต่ยังไม่ตายภายใน 1?2 เดือน ก็จะฟื้นขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ปะการังตาย จะไม่สามารถคืนสภาพได้ และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น นอกจากจะส่งผลต่อสัตว์น้ำแล้ว มนุษย์ก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชาวประมงที่หาปลา ขณะเดียวกันแนวทางช่วยเหลือ ที่ไม่ให้ปะการัง หรือสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบได้รับการรบกวนจากมนุษย์ คือต้องไม่ไปซ้ำเติม ด้วยการปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะลงทะเล เช่นเดียวกับหน่วยงานของภาครัฐ จะต้องมีการเข้าไปดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิดทันที. https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2780450
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
พบซากเรือใบ ลอยติดโขดหินริมทะเลเนินนางพญา จ. จันทบุรี จันทบุรี ? พบซากเรือใบ ลอยติดโขดหินริมทะเลเนินนางพญา จ. จันทบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นายายอาม คาดเป็นซากเรือที่ลอยมาจากที่อื่นเนื่องจากไม่พบข้อมูลการรับแจ้งเหตุเรืออับปางในพื้นที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (24 เม.ย.) เจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างกตัญญูธรรมสถานจันทบุรี ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นายายอาม จ.จันทบุรี เพื่อขอกำลังชุดปฏิบัติการเข้าสนับสนุนการค้นหาผู้สูญหายในน้ำ พร้อมเรือท้องแบน จำนวน 1 ลำ เพื่อตรวจสอบวัตถุไม่ทราบชนิดที่ลอยมาติดโขดหิน บริเวณเนินนางพญา หมู่7 ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี หลังรับแจ้งจึงรีบเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดประดาน้ำ 4 นายและเรือท้องแบน 1 ลำ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ชุดประดาน้ำ จำนวน 4 นายได้ดำน้ำตรวจสอบวัตถุที่คว่ำหน้าอยู่บริเวณโขดหิน กระทั่งพบว่ามีลักษณะคล้ายเรือใบ เนื่องจากมีอุปกรณ์ภายในเกี่ยวกับเรือ แต่ไม่พบวัตถุอื่นๆ เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ จึงได้ทำการดึงซากเรือขึ้นจากโขดหิน เพื่อนำส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. นายายอาม ทำการตรวจสอบ ขณะที่ พ.ต.อ.พลภัทร ธรรมะสนอง ผกก.สภ.นายายอาม เผยว่าเมื่อช่วงค่ำวานนี้ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบซากเรือลอยมาติดโขนหินบริเวณเนินนางพญา จึงประสานไสำนักงานเจ้าท่า จันทบุรี ให้ตรวจสอบเหตุเรืออับปางในพื้นที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่พบข้อมูลการรับแจ้ง จึงคาดว่าน่าจะเป็นซากเรือที่ลอยมาจากพื้นที่อื่น " เบื้องต้นยังไม่พบข้อสงสัยที่จะสามารถเชื่อมโยงกับคดีใดได้ เจ้าหน้าที่จึงเก็บรักษาซากเรือไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน ต.สนามไชย อ.นายยายอาม จ.จันทบุรี เพื่อรอการตรวจสอบต่อไป" ผกก.สภ.นายายอาม กล่าว https://mgronline.com/local/detail/9670000035602
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
สุดสลด "โลมาปากขวด" แสนรู้โดนยิงจมกระสุนเจาะสมอง-กระดูกสันหลัง-หัวใจ ตายสงบคาหาดรัฐหลุยเซียนา NOAA ออกรางวัลนำจับด่วน 20,000 ดอลลาร์ เอเจนซีส์ ? โลมาปากขวดวัยรุ่นตัวหนึ่งพบเป็นศพถูกยิงจมกระสุนที่หาด West Mae?s Beach รัฐหลุยเซียนา เมื่อวันที่ 14 มี.ค ที่ผ่านมา องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ NOAA ทนไม่ไหวออกรางวัลนำจับคนใจบาปด่วน 20,000 ดอลลาร์ สภาพสุดสลดโดนยิงกระสุนเจาะเข้าสมอง กระดูกสันหลัง และหัวใจ นิวยอร์กโพสต์รายงานวันอังคาร(23 เม.ย)ว่า โลมาปากขวด (bottlenose dolphin) ตัวที่เสียชีวิตเชื่อว่ากำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น พบเป็นศพอยู่บนหาด West Mae?s Beach ในเมืองคาเมรอน พาริช (Cameron Parish) รัฐหลุยเซียนา เมื่อวันที่ 14 มี.คก่อนหน้า เจ้าหน้าที่องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ NOAA คาดว่าโลมาตัวดังกล่าวน่าจะเสียชีวิตจากการทนพิษบาดแผลไม่ไหวหลังพบกระสุนเจาะที่บริเวณสมอง กระดูกสันหลัง และหัวใจ ทั้งนี้องค์กร Audubon Aquarium Rescue ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรของ NOAA ค้นพบโลมาปากขวดตัวดังกล่าวก่อนที่จะส่งไปยังสถาบันธรรมชาติออดูบอน (Audubon Nature Institute) ในเมืองนิวออร์ลีนเพื่อทำการชันสูตรพลิกศพและต้องตกตะลึงเมื่อพบกระสุนปืนเจาะไปที่อวัยวะหลายแห่งของโลมาแสนรู้ นิวยอร์กโพสต์รายงานว่า แผนกบังคับใช้กฎหมายของ NOAA กำลังสอบสวนการตายของโลมาปากขวดวัยรุ่นตัวนี้อย่างเร่งรีบพร้อมกับเสนอรางวัลเพื่อเบาะแสไปสู่การนำจับเป็นจำนวน 20,000 ดอลลาร์สำหรับมือปืนที่ก่อเหตุอุกอาจเย้ยกฎหมายขั้นร้ายแรงเช่นนี้ https://mgronline.com/around/detail/9670000035659
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
การสูบน้ำบาดาลจนแผ่นดินทรุดตัว มหันตภัยร้ายเสี่ยงทำเมืองชายทะเลของจีนจมน้ำ นักวิจัยของจีนและสหรัฐฯ พบว่า ประชากรจีนราว 1 ใน 3 ใน 82 เมืองอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่แผ่นดินทรุดตัวเร็วกว่า 3 มิลลิเมตรต่อปี และร้อยละ 7 อาศัยในบริเวณที่แผ่นดินทรุดตัวเร็วกว่า 10 มิลลิเมตรต่อปี - ภาพรอยเตอร์ มหาวิทยาลัยของจีนและสหรัฐอเมริกาเผยผลการศึกษาชิ้นใหม่ซึ่งทำร่วมกัน โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของน้ำบาดาลและน้ำหนักของอาคารสิ่งก่อสร้างมีความเชื่อมโยงกับการเกิดแผ่นดินทรุดตัว และหากไม่มีการป้องกันแล้ว การทรุดตัวของแผ่นดินประกอบกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะทำให้พื้นที่ชายฝั่ง 1 ใน 4 ของจีนจมใต้ระดับน้ำทะเลภายในหนึ่งศตวรรษ หรือภายในปี พ.ศ.2663 และประชาชนหลายร้อยล้านคนเสี่ยงถูกน้ำท่วม นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ชาวจีนราว 270 ล้านคนอาศัยอยู่บนแผ่นดินที่กำลังทรุดตัวมากเกือบเท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรยุโรป และ 67 ล้านคนอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่แผ่นดินกำลังทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว มากเท่ากับประชากรทั้งหมดในฝรั่งเศส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในจีน รวมถึง มหาวิทยาลัยเซาท์ไชน่านอร์มอลและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ตลอดจนมหาวิทยาลัย 2 แห่งในสหรัฐฯ ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้วใน วารสารไซแอนซ์ (Science) เมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) นักวิจัยเหล่านี้ระบุว่า การดำเนินการควบคุมอย่างต่อเนื่องในระยะยาวในการสูบน้ำบาดาลคือกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาแผ่นดินทรุดตัว โดยจำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือกันระหว่างผู้กำหนดนโยบาย นักวิจัยและวิศวกรโยธา เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับยกตัวอย่างนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในจีนและพื้นที่ใกล้เคียงมีการควบคุมการสูบน้ำบาดาลในระยะยาวอย่างแข็งขัน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงสังเกตเห็นการทรุดตัวที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ที่นั่น การทรุดตัวทำให้เกิดรอยแยกของพื้นดิน สร้างความเสียหายให้อาคาร และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินยุบตัวในประเทศจีนทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บหลายร้อยคน และก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงกว่า 7,500 ล้านหยวนต่อปีในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในการศึกษาครั้งนี้ทีมวิจัยได้จัดทำแผนที่การทรุดตัวของเมืองทั่วประเทศระหว่างปี พ.ศ.2558 ถึง 2565 โดยอาศัยดาวเทียมถ่ายภาพเรดาร์ เซนติเนล-1 (Sentinel-1) ขององค์การอวกาศยุโรป เพื่อวัดการเคลื่อนที่ของพื้นดินในแนวตั้งโดยใช้เรดาร์พัลส์วัดการเปลี่ยนแปลงของระยะทางระหว่างดาวเทียมกับพื้นผิวดิน นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์เมืองใหญ่มีประชากรกว่า 2 ล้านคน ทั้งหมด 82 แห่ง คิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของประชากรในเมืองจำนวน 920 ล้านคนในจีน และพบว่า ราว 1 ใน 3 ของประชากรในเมือง 82 แห่งนี้อาศัยในภูมิภาคที่มีการทรุดตัวเร็วกว่า 3 มิลลิเมตรต่อปี และประชากรร้อยละ 7 อาศัยในบริเวณที่มีการทรุดตัวเร็วกว่า 10 มิลลิเมตรต่อปี โดยนครเทียนจินทางภาคเหนือและกรุงปักกิ่งอยู่ในจุดที่มีการทรุดตัวอย่างรวดเร็วเหล่านี้ ที่มา : "China's 'sinking' big coastal cities at risk of floods as sea levels rise, study warns" ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ https://mgronline.com/china/detail/9670000034660
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
รู้จัก "ปะการังฟอกขาว" หายนะครั้งใหญ่จากความร้อนในมหาสมุทร และครั้งนี้อาจรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจาก องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) และโครงการริเริ่มแนวปะการังนานาชาติ (International Coral Reef Initiatives : ICRI) ประกาศว่า โลกกำลังประสบสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass Bleaching) เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา และได้เผยว่าในปัจจุบันนี้ 54 ประเทศทั่วโลก กำลังประสบปัญหาสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำในพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น MGROnline Science จึงขอพาไปทำความรู้จักกับการฟอกขาวของปะการัง ที่ทำให้ปะการังสีสันสวยงาม กลายมาเป็นสีขาวซีดจนน่าหดหู่ใจ ตามที่ได้มีการบันทึกไว้ สภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ระดับโลกนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการเกิดขึ้นมาแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 ครั้งที่สอง ปี 2553 และครั้งที่สาม ระหว่างปี 2557 ถึงปี 2560 จะเห็นได้ว่าการเกิดปะการังฟอกขาวเป็นช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งที่ 3 และ 4 ห่างกันไม่ถึง 10 ปี และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรง และมีความถี่ในการเกิดบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) คือ สภาวะที่ปะการังมีสีซีดจางลง จนมองเห็นเป็นสีขาว มีสาเหตุมาจากการสูญเสีย "สาหร่ายซูแซนเทลลี" (Zooxanthellae) สาหร่ายขนาดเล็กที่ดํารงชีวิตอยู่ร่วมกับปะการัง ในวงจรชีวิต "แบบพึ่งพากัน" (mutualism) ปกติแล้วในเนื้อเยื่อของปะการังไม่ได้มีสีสันสวยงาม มันเป็นเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เท่านั้น ส่วนสีที่เราเห็นในปะการังล้วนเป็นสีที่ได้รับมาจากสาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งอาจจะเป็นสีแดง สีส้ม สีเขียว หรือน้ำตาลก็ขึ้นอยู่กับชนิดของซูแซนเทลลีที่เข้าไปอาศัยอยู่ในตัวปะการัง สาหร่ายซูแซนเทลลีจะทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร ช่วยเร่งกระบวนการสร้างหินปูน รวมถึงการสร้างสีสันให้แก่ตัวปะการัง ส่วนปะการังก็ให้ที่อยู่แก่สาหร่ายเป็นการใช้ชีวิตที่เกื้อกูลกันและกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในแนวปะการังเกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 30-31 องศาเซลเซียส ติดต่อกันประมาณ 3-4 สัปดาห์ ค่าความเค็มของน้ำทะเลเปลี่ยนไปจากเดิม หรือมลพิษในน้ำทะเล สาหร่ายซูแซนเทลลีจะไม่สามารถดำรงชีวิตในปะการังในบริเวณนั้นได้ และมีการออกจากเนื้อเยื่อปะการังเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ปะการังเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ และจะเห็นเป็นสีขาวของโครงสร้างหินปูนที่อยู่ภายใน เหตุนี้จึงเรียกกันว่า "ปะการังฟอกขาว" การที่ปะการังจะกลับมามีสีสันเหมือนเดิมนั้น จะต้องรอสภาพแวดล้อมในแนวปะการังกลับมาสมดุลเหมือนเดิม สาหร่ายซูแซนเทลลีก็จะกลับเข้ามาอาศัยในเนื้อเยื่อปะการังตามเดิม สภาวะปะการังฟอกขาวก็จะหายไปและปะการังก็จะกลับมาสีสันสวยงามเหมือนเดิมอีกครั้ง ขอบคุณข้อมูล ? รูปอ้างอิง - www.science.navy.mi.th - www.noaa.gov องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ https://mgronline.com/science/detail/9670000034169
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|