#1
|
||||
|
||||
หอยตะเภา
จาก .............. ไทยรัฐ วันที่ 4 กันยายน 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
หอยท้ายเภา...หอยของเราที่ต้องดูแล อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้แวะเวียนไปเยี่ยมพี่น้องประมงพื้นบ้านฝั่งอันดามันที่สตูล ทะเลไม่ปกตินักเพราะมีคลื่นลมแรง ฝนกระหน่ำตลอดเส้นทาง พอฝนซาเม็ดเว้นเป็นช่วงๆ ทำให้พอมีเวลาเดินดูพื้นที่ตามหมู่บ้าน ตามท่าเรือเล็กๆของชุมชน ภาพที่เห็นเบื้องหน้าหนุ่มพ่อค้าชาวมาเลย์กำลังยืนคุยกับพ่อค้าในหมู่บ้าน ชี้มือชี้ไม้เหมือนกำลังต่อรองราคาอะไรสักอย่าง ผมเดินเข้าไปดูใกล้ๆก็พบว่า เขากำลังพูดกันถึงเรื่องราคาของหอยเภา หรือหอยท้ายเภา หอยที่พูดกันว่าเทียบชั้นได้กับหอยเป๋าฮื้อ หรือพูดกันง่ายๆ หอยท้ายเภาในวันนี้ก็คือ เป๋าฮื้อแห่งเมืองสตูลก็ไม่ผิด คาดว่ามีคนไทยจำนวนไม่มากนักที่จะได้มีโอกาสได้ลิ้มรสอันหวานนุ่ม ปราศจากกลิ่นคาวของหอยท้ายเภา หรือหอยตะเภาที่ชาวบ้านเรียกขานกัน เพราะวันนี้หอยท้ายเภา เป็นหอยที่มีความต้องการของตลาดสูงมากๆ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศอย่างมาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง ทำให้คนไทย หรือชาวบ้านทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่ชาวประมงซึ่งต้องเป็นชาวประมงฝั่งอันดามันเท่านั้นที่มีโอกาสได้กินหอยชนิดนี้ เส้นทางเดินของหอยท้ายเภา นอกจากข้ามเขตแดนสู่ฝั่งมาเลย์แล้ว ก็ออกจากพื้นที่ภาคใต้สู่สนามบินสุวรรณภูมิ และมุ่งหน้าสู่ไต้หวันและฮ่องกงเป็นหลัก คนในเมืองหลวงก็ยากที่จะมีโอกาสได้ลิ้มรส ในทางวิชาการ หอยท้านเภา หรือหอยตะเภา เป็นหอยสองฝาขนาดใหญ่ (ยาวประมาณ 5-10 ซม.) ผิวนอกของเปลือกมีสีเขียวเหลือง บางตัวสีค่อนข้างคล้ำ รูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยมท้ายงอนขึ้นคล้ายท้ายเรือสำเภา ชาวบ้านในบางท้องถิ่นจึงเรียกกันว่า “หอยท้ายเภา” หรือ “หอยท้ายสำเภา” เปลือกฝาซ้ายและขวาเท่ากัน และฝาทั้งสองข้างประกบกันสนิท เปลือกด้านในจะมีสีม่วงอ่อน ฝังตัวอยู่ใต้พื้นทรายซึ่งเป็นทรายปนโคลนตามบริเวณชายหาดที่มีพื้นที่ลาดชันเล็กน้อย จะมีท่อน้ำซึ่งอยู่ตอนท้ายยื่นยาวขึ้นมาเหนือพื้นทรายเพื่อหายใจ และกินอาหาร จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับหอยเสียบ การเก็บหอยตะเภาสามารถทำได้ 2 ช่วง คือ เดือนตุลาคม-ธันวาคม และเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม แต่จะพบมากในช่วงเดือนธันวาคม พื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสตูล โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.แหลมสน อ.ละงู จะเป็นพื้นที่ที่พบหอยท้ายเภาจำนวนมาก ส่วนในพื้นที่ของจังหวัดอื่นๆ เช่น กระบี่ ตรัง มีบ้างแต่มีน้อย หอยท้ายเภาเป็นหอยธรรมชาติ กรมประมงเองก็ยังไม่สามารถขยายพันธุ์เพื่อใช้ในทางพาณิชย์ได้ ในขณะที่เป็นความต้องการของตลาดสูงเพราะมีรสชาติอร่อย จึงทำให้มีการมุ่งจับกันจนสถานการณ์ของหอยท้ายเภามีโอกาสจะสูญพันธุ์เป็นไปได้สูงมาก ในอดีต ชาวบ้านที่งมหอยท้ายเภาจะมีรายได้ดี เก็บได้ 5-10 กิโลกรัมต่อวัน ขนาดที่ขายราคาดีตก 15-20 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาส่งพ่อค้าคนกลางจะอยู่ที่ประมาณ 130-150 บาทต่อกิโลกรัม พ่อค้าคนกลางของเมืองไทยส่งจากสตูลผ่านสนามบินหาดใหญ่ไปสุวรรณภูมิ ไปยังฮ่องกง ไต้หวัน ขายกิโลกรัมละประมาณ 350-400 บาท ชาวบ้านในบ้านบุโบย ต.แหลมสน อ.ละงู มีอาชีพงมหอยกันหลายครอบครัว เพราะสามารถสร้างรายได้ให้หลายร้อยบาทต่อวัน ทำให้มีการนำเครื่องมือดำน้ำอย่างสนอร์เกิล หรือเครื่องมือประยุคอื่นๆ เช่น ใช้ถังลมที่จะทำให้ดำอยู่ใต้น้ำได้นาน พันธุ์หอยท้ายเภาจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว พ่อค้าคนกลางบอกว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่รวบรวมหอยท้ายเภาในแถบนี้เพื่อการส่งออก เขาบอกว่า คนไต้หวัน ฮ่องกงนิยมทานกันมากมีเท่าไหร่เขาก็รับหมดโดยเฉพาะในตลาดไต้หวันที่มีความต้องการสูงถึง 2 ตันต่อวันก็ไม่พอ ส่วนฮ่องกงมีความต้องการไม่มากประมาณ 300-500 กิโลกรัมต่อวัน ผมถามว่ามันจะมีหอยท้ายเภาส่งให้เขาได้ตลอดเหรอ เขาตอบว่า “ตลาดที่นั่นต้องการอาหารทะเลสดๆ เป็นๆ จากเราอีก 3-4 ชนิด เช่น กุ้งมังกร ปูม้า กั้ง และปลาเก๋า ทะเลอันดามันจึงเป็นเสมือนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เลี้ยงผู้คนจำนวนมากแต่ปลอดจากมลพิษใดๆ เป็นโรงงานที่ผลิตในสิ่งที่เป็นความต้องการของผู้คน ที่ไม่มีวันเบื่อหน่าย หรือล้าสมัยเพราะมันคืออาหารทะเลที่สดๆ และหลากหลายชนิด” ผมฟังแล้วชื่นใจสุดๆ “ผมอยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมประมงได้เข้ามาดูแลการใช้ประโยชน์จากทะเลอันดามันให้มากกว่านี้ เพราะวันนี้มีการทำลายทะเลกันมาก เรืออวนลาก อวนรุน ยังมีอยู่จำนวนมากที่เข้ามารุกล้ำพื้นที่ชายฝั่ง อย่างกรณีหอยท้ายเภาผมคิดว่าในประเทศอื่นเขาอาจจะไม่มี หรือมีแต่ไม่มากเท่าเรา ถ้าดูแลดีๆ หอยท้ายเภาจะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ หอยท้ายเภาหอยของเราที่ใครๆ ก็อยากได้กิน” เขาสรุปด้วยแววตาเป็นประกาย ผมทราบมาว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมสนได้รณรงค์ให้ชาวบ้านเก็บหอยแต่เฉพาะที่มีขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ มีการห้ามใช้สนอร์เกิล หรือเครื่องมือทุ่นแรงใดๆ ที่จะทำให้ดำน้ำอยู่ได้นานในการงมหอยท้ายเภาในพื้นที่ นับเป็นการเริ่มต้นเป็นตัวอย่างที่ดี แต่การผลักดันให้มีการขยายไปในทุกพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีหอยท้ายเภาในอีกหลายอำเภอ เช่น อำเภอทุ่งหว้า อำเภอเมือง ถ้านายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือประมงอำเภอ ประมงจังหวัดได้เข้ามาหนุนเสริมให้ประชาชน องค์กรบริหารส่วนตำบลในทุกพื้นที่ได้ตระหนัก และมีปฏิบัติการอนุรักษ์อย่างตำบลแหลมสน หอยท้ายเภา...หอยของเราก็มีโอกาสอยู่คู่กับทะเลสตูลไปอีกนานเท่านาน จาก ..............ผู้จัดการออนไลน์ คอลัมน์ฝ่าเกลียวคลื่น วันที่ 4 กันยายน 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|