#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลาง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในวันที่ 15 ? 16 มี.ค. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 21 มี.ค. 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และอากาศร้อนไว้ด้วยตลอดช่วง ในวันที่ 15 ? 16 มี.ค. 66 ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
สุดทึ่ง! นักวิจัยพบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานทะเลเก่าแก่ที่สุดในอาร์กติก ทีมนักวิจัยขุดพบฟอสซิลที่มีอายุประมาณ 250 ล้านปีก่อน บนเกาะสปิตส์เบอร์เกน ในหมู่เกาะสฟาลบาร์ แถบมหาสมุทรอาร์กติกที่ห่างไกลและทุรกันดารของนอร์เวย์ ซึ่งมันให้ข้อมูลเชิงลึกอันน่าประหลาดใจเกี่ยวกับ ?อิกทิโอซอร์? สัตว์เลื้อยคลานในทะเล ซึ่งมีขนาดใหญ่รองจากวาฬสีน้ำเงินในปัจจุบัน เครดิตภาพ : REUTERS สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ว่า นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขาพบฟอสซิลของอิกทิโอซอร์ ที่รู้จักกันในยุคแรกสุด ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2 ล้านปี หลังการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ที่เป็นจุดสิ้นสุดของยุคเพอร์เมียน โดยการค้นพบกระดูกสันหลังส่วนหาง 11 ชิ้น บ่งชี้ว่า สัตว์ตัวนี้มีความยาวประมาณ 3 เมตร ทำให้มันเป็นสัตว์นักล่าอันดับต้น ๆ ของโลก เช่นเดียวกับวาฬ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร อิกทิโอซอร์มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์บรรพบุรุษบนบกที่ย้ายมาอาศัยในทะเล นักวิจัยคิดว่าอิกทิโอซอร์ ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 250 ล้านปีก่อนจะเป็นรูปแบบดึกดำบรรพ์ ที่ไม่ค่อยแตกต่างจากสัตว์บรรพบุรุษบนบก อีกทั้งฟอสซิลที่ยังไม่ได้รับชื่อวิทยาศาสตร์นี้ แสดงให้เห็นว่า มันค่อนข้างมีความก้าวหน้าทางกายวิภาค และอาจเป็นไปได้ว่า ต้นกำเนิดของอิกทิโอซอร์เกิดขึ้น ก่อนเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ถึง 20 ล้านปี ทั้งนี้ สถานที่พบฟอสซิลเป็นภูมิประเทศอาร์ติกแบบทั่วไป ด้วยภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมตามแนวชายฝั่งของฟยอร์ดลึก โดยซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้ โผล่ตามร่องแม่น้ำที่หิมะละลายตัดผ่านชั้นหิน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโคลนที่ก้นทะเล แม้ในทุกวันนี้ เกาะสปิตส์เบอร์เกนจะมีหมีขั้วโลกและวาฬเบลูกาอาศัยอยู่ แต่สำหรับ 250 ล้านปีก่อน ทะเลแห่งนี้เต็มไปด้วยปลา, ปลาฉลาม, สัตว์จำพวกหอยทะเลคล้ายหมึกที่มีกระดอง หรือแอมโนนอยด์ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในทะเลคล้ายจระเข้ที่เรียกว่า เทมโนสปอนดิล จนถึงขณะนี้ สมาชิกเก่าแก่ที่สุดของสายพันธุ์อิกทิโอซอร์ คือ ?คาร์โตรินคัส? สิ่งมีชีวิตที่มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อราว 248 ล้านปีก่อนในจีน. https://www.dailynews.co.th/news/2101784/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
กัมพูชาตั้งเขตอนุรักษ์สกัดทำประมงผิดกฎหมาย ปกป้องโลมาแม่น้ำโขงให้รอดพ้นสูญพันธุ์ เอเอฟพี - ฝูงโลมาอิรวดีหายากแหวกว่ายไปตามลำน้ำสีขุ่นของแม่น้ำโขงเรียกเสียงฮือฮาจากบรรดานักท่องเที่ยวที่เฝ้ารอดูพวกมันโผล่พ้นผิวน้ำจากเรือที่ลอยลำอยู่ใกล้ๆ ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้อาจกลายเป็นเพียงความทรงจำในไม่ช้า เนื่องจากจำนวนประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้สูญพันธุ์นี้กำลังลดลงเรื่อยๆ แม้จะมีความพยายามที่จะรักษาพวกมันไว้ก็ตาม กัมพูชาได้ประกาศข้อจำกัดใหม่ที่เข้มงวดขึ้นกับการจับปลาในแม่น้ำโขงอันกว้างใหญ่แห่งนี้เพื่อพยายามลดจำนวนโลมาที่ตายเพราะอวนจับปลา แต่ในประเทศที่มีทรัพยากรทางการเงินจำกัด นับเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวงในการบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวกับแม่น้ำที่กว้างหลายร้อยเมตร และเต็มไปด้วยเกาะแก่งและพุ่มไม้หนา "เรากลัวว่าจะปกป้องคุ้มครองพวกมันไม่ได้" พล พะโรง หนึ่งในผู้ตรวจตราแม่น้ำกล่าวระหว่างลาดตระเวนค้นหาอวนผิดกฎหมาย อวนติดตาเป็นตาข่ายแนวตั้งที่ทิ้งไว้ในน้ำเป็นเวลานานใช้ดักจับปลาแบบไม่เลือก และเป็นสาเหตุหลักของการตายของโลมาในแม่น้ำโขง ตามการระบุของนักอนุรักษ์ พะโรงเป็นหนึ่งในผู้เฝ้าตรวจตราแม่น้ำกว่า 70 คน ที่ออกลาดตระเวนตามลำน้ำโขง ที่มีระยะทาง 120 กิโลเมตร จากจ.กระแจะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึงชายแดนลาว ผู้ตรวจตราแม่น้ำเหล่านี้กล่าวว่าความพยายามของพวกเขาถูกขัดขวางจากทรัพยากรที่มีจำกัด และการข่มขู่ของแก๊งจับปลา ม็อก พลล็อก เจ้าหน้าที่จากกรมประมงที่เป็นหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์โลมาในจ.กระแจะ กล่าวว่าหน่วยของเขามีผู้ตรวจตราแม่น้ำ 44 คน ที่คอยเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายในแม่น้ำเป็นระยะทาง 85 กิโลเมตร แต่หากจะให้การทำงานมีประสิทธิภาพต้องใช้คนอย่างน้อย 60 คน และหากไม่มีคนเหล่านี้ พวกเขาก็กำลังพ่ายแพ้ให้กับคนจับปลาในแม่น้ำ "ถ้าเราออกลาดตระเวนตอนกลางคืน คนจับปลาก็จะไม่ออกมา พอเรากลับเข้าฝั่ง พวกเขาก็ไปที่แม่น้ำ" พะโรง กล่าว นอกจากจำนวนคนที่ไม่เพียงพอแล้ว ค่าจ้างต่ำยังหมายความว่าผู้ตรวจตราแม่น้ำถูกบังคับให้ต้องทำงานพิเศษบนบกเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้พวกเขาต้องละหน้าที่ลาดตระเวน ผู้ตรวจตราแม่น้ำแต่ละคนได้รับเงินประมาณ 65 ดอลลาร์ต่อเดือนจากรัฐบาล ขณะที่ WWF ให้เงินอีก 5 ดอลลาร์สำหรับวันที่ออกลาดตระเวน โลมาอิรวดี สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กขี้อาย หน้าผากปูดกลมและจงอยปากสั้น ครั้งหนึ่งเคยว่ายผ่านแม่น้ำโขงไปจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเวียดนาม การทำประมงผิดกฎหมายและขยะพลาสติกคร่าชีวิตโลมาไปเป็นจำนวนมาก และที่อยู่อาศัยของโลมาก็ลดลงเนื่องจากเขื่อนต้นน้ำและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระดับน้ำในแม่น้ำ ประชากรโลมาในแม่น้ำโขงลดลงจาก 200 ตัว เมื่อครั้งดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกในปี 2540 เหลือเพียง 89 ตัวในปี 2563 สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่ในแม่น้ำอีก 2 สายเท่านั้น คือแม่น้ำอิรวดีของพม่า และแม่น้ำมาฮากัมในอินโดนีเซีย ตามการระบุของ WWF โลมาในแม่น้ำทั้ง 3 สายนี้ถูกระบุว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โลมาอิรวดีที่พบได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม มีจำนวนมากกว่าเล็กน้อยในพื้นที่ชายฝั่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ แม้ว่าพวกมันจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ก็ตาม อย่างไรก็ตาม มีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของโลมาแม่น้ำโขง เนื่องจากประมาณ 70% ของประชากรโลมาในตอนนี้อยู่ในวัยที่แก่เกินกว่าจะขยายพันธุ์ ในช่วงปีที่ผ่านมา มีโลมาแม่น้ำโขงตายถึง 11 ตัว และเฉพาะในเดือนธ.ค. พบโลมาวัยผสมพันธุ์สุขภาพดี 3 ตัว ติดอวนและแหตายภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ เหตุการณ์ที่ยิ่งทำให้นักอนุรักษ์วิตกกังวลมากขึ้น "มันเป็นสัญญาณที่น่ากังวลอย่างยิ่ง" ผู้อำนวยการ WWF กัมพูชา กล่าวกับเอเอฟพี "เราต้องดำเนินการอีกมากเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้จะอยู่รอดในแม่น้ำโขง" ผู้อำนวยการ WWF กัมพูชากล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลระดมทรัพยากรมากขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองโลมา ในปลายเดือนก.พ. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ออกกฎหมายใหม่กำหนดเขตคุ้มครองที่ห้ามจับปลา ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกจำคุกสูงสุด 1 ปี จากการใช้อวนจับปลา และจำคุกสูงสุด 5 ปี จากการจับปลาด้วยไฟฟ้าในพื้นที่อนุรักษ์ ในพื้นที่อนุรักษ์แห่งหนึ่งรอบหมู่บ้าน Kampi มีผู้ตรวจตรา 24 คน ออกลาดตระเวนไปตามแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่ขนาด 22 ตารางกิโลเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง "ถ้าพวกเขาวางอวนในเขตอนุรักษ์ เราจะจับกุมพวกเขา ถ้าพวกเขาใช้วิธีช็อตไฟฟ้า พวกเขาจะถูกจับตัวส่งศาล ไม่มีความปรานีใดๆ ทั้งสิ้น" พลล็อก กล่าว จนถึงตอนนี้ แรงผลักดันที่เพิ่มขึ้นดูเหมือนจะได้ผล ไม่มีโลมาตาย และเริ่มมีแสงแห่งความหวัง "เราได้รับข่าวจากผู้ให้บริการเรือท่องเที่ยวว่ามีลูกโลมาเกิดใหม่เมื่อไม่กี่วันก่อน" พลล็อก กล่าว ชาวบ้านหลายคนที่เลี้ยงชีพด้วยการพานักท่องเที่ยวไปดูโลมาหรือขายของที่ระลึกยังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับอนาคตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้เช่นกัน "ถ้าโลมาหายไป เราก็จบสิ้นเพราะรายได้ของเรามาจากโลมา เมื่อก่อนนี้มีโลมาเยอะมาก แต่ตอนนี้พวกมันเริ่มหายไปแล้ว ฉันรู้สึกกังวลมาก" มาส แมรี อายุ 53 ปี ที่มีรายได้วันละ 15 ดอลลาร์จากการล่องเรือ กล่าว. https://mgronline.com/indochina/detail/9660000024481
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
แปลก!! 'หอยนางรม' โผล่เต็มพื้นทรายหาดเภตรา ชาวบ้านแห่จับไปขาย น้ำทะเลบ้านเพ จ.ระยองลดจนเห็นหอยนางรมโผล่เต็มพื้นทราย ชาวบ้านแห่เดินจับหรือเก็บไปขาย สร้างรายได้ เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 15 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณชายหาดเภตรา ม.2 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง พบมีน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวลดลงทำให้เห็นพื้นทรายเป็นบริเวณกว้าง และมีหอยนางรมโผล่ให้เห็นตามพื้นทรายเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีชาวบ้าน และชาวประมงในพื้นที่ ต่างแห่ได้ลงไปเก็บหอยนางรมหลากหลายขนาด เพื่อมาขายและปรุงเป็นอาหารกัน ขณะบางรายเก็บหอยนางรมมาแล้วพบบางตัวมีขนาดเล็ก ก็จะนำไปเพาะเลี้ยงต่อ เพื่อให้ได้ขนาดที่พอจะขายได้ต่อไป สำหรับบริเวณหาดเภตราดังกล่าว ที่พบเห็นน้ำลดลงเป็นบริเวณกว้างจนสามารถเดินลงไปได้กว่า 100 ม.มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้เป็นประจำ ซึ่งบรรดาชาวบ้าน ชาวประมงและพ่อค้าแม่ค้าขายอาหารในพื้นที่ ก็จะอาศัยช่วงเวลาดังกล่าว มาลงจับหอยนางรมไปขายเป็นรายได้ต่อไป. https://www.naewna.com/likesara/717604
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
บราซิลพบ "หินพลาสติก" สะท้อนมลภาวะฝีมือมนุษย์ นักวิจัยในบราซิลพบหินที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ที่เกาะตรินดาจี ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าตนุและอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่เป็นพันกิโลเมตร ย้ำชัดว่ามลพิษจากฝีมือมนุษย์ไปทั่วถึงทุกหนแห่งและเป็นเครื่องเตือนใจให้รีบแก้ไขสถานการณ์ ก้อนหินที่มีบางส่วนเป็นสีเขียวสด คือ หินที่มีพลาสติกละลายปะปนเป็นส่วนหนึ่งของก้อนหินไปด้วย ถูกพบที่เกาะตรินดาจี ที่เป็นเกาะภูเขาไฟในบราซิล นักวิจัยเรียกสิ่งนี้ว่า plastiglomerates คำนิยามคือ เป็นหินชนิดใหม่ที่สมาคมธรณีวิทยาอเมริกาค้นพบตั้งแต่ปี 2013 ก่อตัวจากพลาสติกเมื่อถูกความร้อนและละลายรวมตัวกับทราย หิน เปลือกหอย และปะการัง ซึ่งพลาสติกจะยึดเอาเศษวัสดุต่าง ๆ เชื่อมติดไว้ด้วยกัน เกาะแห่งนี้ที่พบตั้งอยู่ห่างจากรัฐ Espirito Santo ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลไปกว่า 1,140 กิโลเมตร ทำให้การค้นพบครั้งนี้สะท้อนถึงระดับความรุนแรงจากมลภาวะที่มนุษย์ก่อขึ้นบนส่งและกำลังแผ่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ จนกลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรทางธรณีวิทยา จากการตรวจสอบพบว่า พลาสติกที่พบหลัก ๆ มาจากแห ซึ่งเป็นขยะที่พบได้ปกติตามหาดบนเกาะนี้ เพราะกระแสน้ำมักพัดพาเอาเศษแหอวนมาสะสมบนหาด และเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น พลาสติกจึงละลาย จนหลอมกลายเป็นเนื้อเดียวกับวัสดุในธรรมชาติบนชายหาดของเกาะนี้ ขณะที่เกาะแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับการอนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะแต่ละปีจะมีเต่าตนุหลายพันตัวว่ายมาวางไข่ที่เกาะ และบนเกาะยังปลอดภัยเพราะไม่มีประชาชนอาศัยอยู่ มีเพียงทหารจากกองทัพเรือบราซิลจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ตั้งฐานอยู่บนเกาะเพื่อดูแลเต่าเหล่านี้ และตัวอย่างพลาสติกต่าง ๆ ที่นักวิจัยพบก็อยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่เต่าวางไข่ https://www.thaipbs.or.th/news/content/325607
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
นักวิทยาศาสตร์เฝ้าติดตามภูเขาน้ำแข็งยักษ์ขนาดเท่าลอนดอน ภูเขาน้ำแข็ง A76a มีขนาดใหญ่กว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร ทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษเฝ้าติดตามภูเขาน้ำแข็งยักษ์ 2 ลูกอย่างใกล้ชิด ในขณะที่มันกำลังเคลื่อนเข้าสู่บริเวณที่อาจส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ การประมง และสัตว์ทะเล ภูเขาน้ำแข็งยักษ์ดังกล่าวประกอบไปด้วย ภูเขาน้ำแข็งชื่อ A81 ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากรุงลอนดอน ส่วนอีกลูกชื่อ A76a มีขนาดใหญ่กว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับมณฑลคอร์นวอลล์ อีกทั้งมีรูปทรงยาวคล้ายโต๊ะรีดผ้าเหมือนกัน ภูเขาน้ำแข็งทั้งสองอาจใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะละลายหมดไป และเมื่อถึงตอนนั้นก็จะทำให้น้ำจืดปริมาณมหาศาลไหลสู่มหาสมุทร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลแถบนั้น อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะเมื่อน้ำแข็งละลายตัวก็จะปล่อยแร่ธาตุในยุคโบราณที่ติดอยู่ในน้ำแข็งลงสู่ทะเล ตะกอนและแร่ธาตุเหล่านี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในทะเล ศาสตราจารย์ เกอไรนต์ ทาร์ลิง ซึ่งทำงานวิจัยในทวีปแอนตาร์กติกากำลังโดยสารเรือวิจัย Royal Research Ship Discovery เพื่อเดินทางกลับอังกฤษพร้อมทีมงาน ขณะนั้นเองเรือได้แล่นเข้าใกล้ภูเขาน้ำแข็ง A76a ที่ถูกกระแสน้ำพัดออกจากทะเลเวดเดลล์ ในแอนตาร์กติกาเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงถือโอกาสในการสำรวจภูเขาน้ำแข็งยักษ์ลูกนี้ ด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำแข็งมาศึกษาโดยใช้ท่อชนิดพิเศษที่ไม่มีการปนเปื้อน ก่อนจะล่องลอยอยู่กลางทะเล ภูเขาน้ำแข็ง A76a ได้แตกออกจากหิ้งน้ำแข็งฟิลช์เนอร์-รอนน์ (Filchner-Ronne Ice Shelf) ในเดือน พ.ค. 2021 จากนั้นก็ถูกกระแสคลื่นลมพัดพาขึ้นเหนือมุ่งหน้าสู่บริเวณช่องว่างระหว่างหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ และเกาะเซาท์จอร์เจีย ดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้อาจลอยไปติดอยู่บริเวณน้ำตื้นใกล้กับเกาะเซาท์จอร์เจีย หรือหมู่เกาะขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงที่เรียกว่า "แชกร็อคส์" หากเป็นเช่นนั้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลในท้องถิ่น และต่อผู้คน เนื่องจากอาจส่งผลต่อการทำประมงและการเดินเรือ ส่วนภูเขาน้ำแข็ง A81 แตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งบรันต์ (Brunt Ice Shelf) เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์จะคาดการณ์ว่ามันจะแยกตัวออกมาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน คาดว่าภูเขาน้ำแข็งขนาดเท่ากรุงลอนดอนลูกนี้จะมีชะตากรรมเดียวกับ A76a โดยจะเคลื่อนที่เข้าสู่เส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ทีมนักวิจัยอังกฤษได้มีโอกาสบินสำรวจเหนือภูเขาน้ำแข็งลูกนี้มาแล้วในขณะที่มันกำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้สถานีวิจัยฮาลลีย์ ซึ่งตั้งอยู่ส่วนปลายสุดของซีกโลกใต้เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว https://www.bbc.com/thai/international-64957497 ****************************************************************************************************** ทำไมวาฬเพชฌฆาตจึงฆ่าฉลามเพื่อกินแต่ตับ ซากฉลามเจ็ดเหงือกที่ถูกกัดกินเอาแต่ตับบนชายหาดประเทศแอฟริกาใต้ วาฬเพชฌฆาต 2 ตัวได้ออกล่าเหยื่ออย่างบ้าคลั่งอีกครั้ง โดยล่าสุดได้ฆ่า ?ฉลามเจ็ดเหงือก? (broadnose sevengill shark) ไป 19 ตัวในวันเดียว เพื่อมุ่งกินแต่ตับ แล้วทิ้งร่างเหยื่อให้เน่า ก่อนที่จะถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งทางตอนใต้สุดของประเทศแอฟริกาใต้ ซากฉลามที่ปรากฏได้กระตุ้นความสนใจของ ดร.อลิสัน ค็อก นักชีววิทยาทางทะเลประจำสำนักอุทยานแห่งชาติแอฟริกาใต้ ที่ทวีตเรื่องราวของสองคู่หูวาฬเพชฌฆาตเพศผู้ที่ชื่อ "พอร์ต" และ "สตาร์บอร์ด" บอกเล่าการล่าเหยื่ออย่างบ้าระห่ำของพวกมันเมื่อ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับวาฬเพชฌฆาตคู่นี้ เพราะเมื่อปี 2017 มีรายงานว่าพวกมันได้ฆ่าฉลามขาวไปอย่างน้อย 8 ตัว โดยในจำนวนนี้ 7 ตัวมีร่องรอยถูกกัดกินเอาแต่ตับ แล้วทิ้งร่างที่เหลือให้เน่าเปื่อยในทะเล พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมวาฬเพชฌฆาตสองตัวนี้จึงมุ่งกินแต่ตับของปลาฉลาม ดร.ค็อก ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าววิทยาศาสตร์ Live Science ว่า ?พวกมันน่าจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตอนที่ได้ล่าเหยื่อชนิดใหม่เป็นครั้งแรก? นี่หมายความว่า เมื่อวาฬเพชฌฆาตรู้ตำแหน่งของตับในร่างกายฉลาม ?พวกมันจะจดจำได้ตลอดไป และกลายเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น? ดร.ค็อก อธิบายว่า ตับฉลาม "มีคุณค่าทางสารอาหารมาก โดยอุดมไปด้วยไขมัน และวิตามินต่าง ๆ? ดังนั้น ?วาฬเพชฌฆาตอาจได้เรียนรู้ว่าการกินตับฉลามทำให้พวกมันได้รับพลังงานและสารอาหารปริมาณมาก" นอกจากนี้ ตับฉลามยังมีขนาดใหญ่และลอยตัวได้ ดังนั้นเมื่อฉลามตาย ตับก็จะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำทำให้วาฬเพชฌฆาตสังเกตเห็นและเข้ากินได้โดยง่าย ต่างจากอวัยวะภายในชนิดอื่น ๆ ที่อาจจมลงสู่ก้นทะเล วาฬเพชฌฆาตมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ เพื่อให้สามารถหลอกล่อและต้อนเหยื่อให้จนมุม วาฬเพชฌฆาตมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อเป็นกลุ่ม หรือเป็นคู่ เพื่อให้สามารถหลอกล่อและต้อนเหยื่อให้จนมุม ซึ่งเป็นพฤติกรรมสำคัญที่ช่วยให้พวกมันได้เปรียบเหยื่อ ดร.ค็อก บอกว่า วาฬเพชฌฆาตตัวหนึ่งอาจทำหน้าที่หลอกล่อเหยื่อ ส่วนอีกตัวรับหน้าที่ในการสังหาร "กลยุทธ์การล่าแบบนี้ต้องใช้ความชาญฉลาดสูง และความร่วมมือกันในหมู่วาฬเพชฌฆาต" เธออธิบายว่า วาฬเพชฌฆาตอาจใช้หางขนาดใหญ่ในการฟาด หรือทำให้ฉลามพลิกคว่ำ แล้วตกอยู่ในภาวะอัมพาตชั่วคราว ซึ่งพฤติกรรมการล่าเหยื่อลักษณะนี้ของวาฬเพชฌฆาตพบได้ทั่วโลก เช่น อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะพบการล่ากินตับฉลามขาวและฉลามเจ็ดเหงือกเกิดขึ้นบ่อยครั้งในแอฟริกาใต้ ดร.ค็อก ชี้ว่าการพบฉลามซึ่งเป็นสัตว์นักล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหารตายหลายตัวภายในเวลาเพียง 1 วันถือเป็นเรื่องน่ากังวลว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น https://www.bbc.com/thai/articles/cxwjl0384zlo
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|