เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 09-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้

สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "โคอินุ" ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงแล้ว คาดว่าในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. 66 จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลง และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 9 ? 14 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน โดยมีบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "โคอินุ" คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 8-9 ต.ค. 66 หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. 66 จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ย ซึ่งจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปสชันตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางไว้ด้วย


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ "โคอินุ" ฉบับที่ 8 (269/2566)

เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (9 ต.ค. 66) พายุไต้ฝุ่น "โคอินุ" ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ
100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เคลื่อนที่ทางตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. 66 จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 09-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ทำได้ด้วยเหรอ สระว่ายน้ำรุกพื้นที่ชายหาดนาจอมเทียน ชาวบ้านสงสัย วอนตรวจสอบ

ชาวบ้านร้อง กรมเจ้าท่าและเทศบาลนาจอมเทียน เร่งตรวจสอบ หลังพบว่ามีนายทุนก่อสร้างสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ รุกพื้นที่ชายหาด สงสัยทำได้ด้วยเหรอ



เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณชายหาดนาจอมเทียน ม.1 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน (ไม่ขอแสดงตัว) ผ่านไปยังกรมเจ้าท่าและเทศบาลนาจอมเทียน หลังพบว่ามีนายทุนก่อสร้างสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ยื่นลงมาชายทะเล

จากการลงพื้นที่ พบว่าบริเวณที่ชาวบ้านให้ตรวจสอบเป็นชายหาดอยู่ระหว่างหลังร้านอาหารลุงไสว กับชายหาดต้นหาด ตรวจสอบพบว่าเป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างบนชายหาดยื่นออกมาถึงชายทะเล ซึ่งหากมองโดยทั่วไปสร้างยื่นมากว่าพื้นที่บริเวณข้างทั้ง 2 ข้าง ซึ่งสถานที่ดังกล่าวคล้ายเป็นโรงแรม หรือที่พักที่ยังไม่มีการเปิดให้ใช้บริการ โดยมีป้ายติดว่า "พื้นที่ส่วนบุคคลห้ามบุกรุก" ส่วนตัวสระว่ายน้ำนั้น คล้ายเพิ่งสร้างที่หลังตัวอาคาร เพราะยังอยู่ในสภาพสะอาด

นอกจากนั้น ทางผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบทาง Google Map ที่แสดงให้เห็นว่าเพิ่งสร้างสระว่ายน้ำได้ประมาณ 2 ปี จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมเจ้าท่าลงพื้นที่ตรวจสอบว่าการสร้างนั้นถูกต้องหรือไม่ และสร้างในที่สาธารณะหรือในที่ตัวเอง ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวจึงสงสัย เพราะก่อนหน้านี้ ทางกรมเจ้าท่าได้มีหนังสือให้ชาวบ้านที่ทำมาหากินอาชีพประมงพื้นบ้าน รื้อสิ่งปลูกสร้างกว่า 10 ราย


https://www.thairath.co.th/news/local/east/2731428

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 09-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เมื่อความเคลื่อนไหวเริ่มปรากฏ ............... โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี




Summary

- การเปิดเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา รอบใหม่ก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องปรับปรุงคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Joint Technical Committee) กันใหม่เสียก่อน

- การเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ที่เคยออกแบบตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันปี 2544 นั้น จะต้องมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคของสองประเทศ

- สิ่งที่รัฐมนตรียังไม่ได้พูดคือ แนวนโยบายและจุดยืนในการเจรจาจะเป็นอย่างไร น้ำหนักของการเจรจาจะอยู่ที่ใดระหว่างการแบ่งเขตทางทะเลและการจัดทำระบอบพัฒนาร่วม

- ข้อพิพาทเหล่านี้ จึงเป็นวังวนที่เกี่ยวพันกัน ไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน แต่หากมีใครบ้าจี้ไปปลุกวาทกรรมเสียดินแดนขึ้นมา เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ


ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ บอกกับนักข่าวหลังจากร่วมคณะนายกรัฐมนตรีไปเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านว่า ฝ่ายกัมพูชาได้ยกปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันทางทะเลระหว่างสองประเทศที่คาดว่าจะเป็นพื้นที่พัฒนาแหล่งพลังงานมูลค่านับแสนๆ ล้านบาทร่วมกันขึ้นมาหารือ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า มีการพูดคุยกันไปมากน้อยเพียงใด

คำพูดเพียงแค่นี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ก็ดูเหมือนจะสร้างความหวังให้กับผู้คนจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในพม่า ซึ่งเป็นแหล่งอุปทานก๊าซธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย ได้ส่งแรงกดดันต่อความมั่นคงทางพลังงานของไทยอย่างมาก อีกทั้งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในพื้นที่ส่วนของไทยเองเริ่มร่อยหรอลงไปอย่างมาก หลายแหล่งก็แห้งขอดไปแล้ว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานทั้งหลายจึงมีความหวังว่าหากไทยสามารถเปิดการเจรจาเพื่อพัฒนาแห่งพลังงานร่วมกันในพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนในอ่าวไทยได้ในเร็ววันนี้ จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อความมั่นคงทางพลังงานของไทยได้พอสมควร


ย้อนดูการเจรจาสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ในอดีต

ที่จริงความหวังแบบนี้มีมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว นับแต่สองประเทศเริ่มตื่นตัวเรื่องพลังงานใต้ท้องทะเลจนมีกรณีพิพาทกัน มีการเปิดเจรจากันครั้งแรกในปี 2513 เมื่อครั้งที่สองประเทศยังไม่ได้ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปกัน จนถึงการบรรลุข้อตกลงในการทำบันทึกความเข้าใจในปี 2544 กระทั่งปัจจุบันอาจจะเรียกได้ว่าความหวังนั้นยังไม่เข้าใกล้ความจริงเลย เพราะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมายทั้งภายในของแต่ละประเทศและระหว่างสองประเทศ

แม้ทั้งไทยและกัมพูชาจะเพิ่งได้รัฐบาลใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่กันไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทั้งของไทยคือ เศรษฐา ทวีสิน และของกัมพูชาคือ ฮุน มาเนต มีโอกาสพบปะแนะนำตัวสร้างความคุ้นเคยกันไปแล้ว แต่การเปิดเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลรอบใหม่ก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องปรับปรุงคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Joint Technical Committee) กันใหม่เสียก่อน อันเนื่องมาจากเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลและอาจจะเปลี่ยนนโยบายในรัฐบาลทั้งสอง

โครงสร้างการเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ได้มีการออกแบบตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันปี 2544 นั้น จะต้องมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคของสองประเทศ และภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ แต่ละประเทศจะมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคของตัวเอง ส่วนของไทยจะต้องมีคณะทำงานย่อยอีกสองชุดคือ คณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล และคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม

แม้คณะกรรมการชุดนี้จะมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ แต่ประธานและกรรมการจำนวนหนึ่งจะมาจากฝ่ายการเมือง จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาโดยตลอด คณะกรรมการเทคนิคฝ่ายไทยเมื่อแรกตั้งตามบันทึกความเข้าใจฉบับปี 2544 นั้นมีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประธาน ในเวลานั้นคือ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ต่อมาได้เปลี่ยนให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเป็นประธานเพราะตกลงกับกัมพูชาได้ว่าให้เน้นการเจรจาเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานเป็นหลัก

แต่เนื่องจากในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ระบุไว้ในข้อ 2 ว่า ให้ดำเนินการเจรจาสองเรื่องต่อไปนี้พร้อมกันคือ 1) จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลีย ซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วม (ตามสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม) และ 2) ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต (ตามแผนภูมิประกอบ)

ในบางยุค เช่น สมัยรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงดึงให้คณะกรรมการชุดนี้มาอยู่ในความดูแลของกระทรวงต่างประเทศ เพราะมีความชำนาญเฉพาะในเรื่องเขตแดนอยู่แล้ว บางเวลา รัฐมนตรีว่าการฯ ทำหน้าที่เป็นประธานเอง บางเวลาแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยหรือผู้ช่วยรัฐมนตรีหรือข้าราชการชั้นสูงในกระทรวงต่างประเทศให้ทำหน้าที่ประธาน


การเจรจา และการบอกเลิกเจรจา

ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยกระดับโดยมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งในเวลานั้นคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจา แต่เนื่องจากเกิดปัญหาขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างสองประเทศ เพราะเหตุที่ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาในเวลานั้น แต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นปรึกษาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ทำในสมัยทักษิณ จึงประกาศบอกเลิกบันทึกความเข้าใจนี้ไปเสีย คณะกรรมการชุดนี้จึงสลายไป

แต่การบอกเลิกบันทึกความเข้าใจในครั้งนั้นเป็นแค่การแสดงท่าทีทางการเมือง ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการบอกเลิกจริงๆ จึงทำให้การบอกเลิกไม่มีผล รัฐบาลต่อมาภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกัมพูชา จึงยืนยันดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจต่อและมอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศ ในเวลานั้นคือ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นผู้รับผิดชอบ และมี พิชัย นริพทะพันธุ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ทันได้ดำเนินการอะไรเป็นเรื่องเป็นราวรัฐบาลนั้นก็โดนประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจไปเสียก่อน

แต่ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2014 โดยไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดความก้าวหน้าได้เลยจนกระทั่งปี 2564 เมื่อรัฐบาลใกล้จะหมดอายุเต็มทีนั่นแหละจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ขึ้นมาโดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างประเทศเป็นรองประธาน นอกจากนั้นก็มีผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 คน และภายใต้คณะกรรมการชุดนี้มีคณะทำงานอีกสองชุด คือ คณะทำงานแบ่งเขตทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาเป็นประธาน และคณะทำงานระบอบพัฒนาร่วมมีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน


ความคืบหน้าล่าสุด ในการเจรจา ไทย-กัมพูชา

ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลประยุทธ์สู่รัฐบาลปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศได้พบปะกัน 2-3 ครั้ง แต่ก็เพื่อทำความรู้จักและคุ้นเคยกันเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการเจรจาอะไรกันได้เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

ก่อนที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะเดินทางเยือนกัมพูชาหนึ่งสัปดาห์ เชิดเกียรติ อัตถากร ทูตไทยประจำกัมพูชาได้พบกับ แก้ว รัตนะ (Keo Rattanak) รัฐมนตรีเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชาที่กรุงพนมเปญเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเล หรืออีกนัย เพื่อขอรับทราบท่าทีของรัฐบาลใหม่กัมพูชาด้วยว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ในลักษณะใด ซึ่งรัฐมนตรีแก้วก็ได้บอกกับทูตไทยว่า ทางฝ่ายกัมพูชายินดีจะเปิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาค้างคาระหว่างกัน จึงเป็นที่มาของการนำขึ้นสู่การหารือในระดับรัฐบาลเพื่อรับรองในเชิงหลักการว่าจะสืบต่อการเจรจาเพื่อแบ่งเขตทางทะเลและจัดทำระบอบการพัฒนาร่วมในพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกัน

รัฐมนตรีต่างประเทศปานปรีย์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ภาระหน้าที่ของรัฐบาลไทยตอนนี้ คือจัดทำโครงสร้างคณะกรรมการทางด้านเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ใหม่เสียก่อนจึงจะพร้อมเจรจา แต่สิ่งที่รัฐมนตรียังไม่ได้พูดคือ แนวนโยบายและจุดยืนในการเจรจาจะเป็นอย่างไร น้ำหนักของการเจรจาจะอยู่ที่ใด ระหว่างการแบ่งเขตทางทะเลและการจัดทำระบอบพัฒนาร่วม ซึ่งบันทึกความเข้าใจบอกว่าให้ทำไปพร้อมกันจะแบ่งแยกมิได้ แต่ในทางปฏิบัติสามารถตกลงกันได้ว่าจะให้น้ำหนักส่วนใดมากกว่ากัน


ปัญหาและอุปสรรค ในการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

นอกจากที่กล่าวมา ยังมีประเด็นปัญหาบางประการที่อาจจะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการเจรจาดังต่อไปนี้

ประการแรก กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพลังงานซึ่งเคยเป็นคู่สำคัญในการดำเนินการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนและการพัฒนาร่วมนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีจากต่างพรรคการเมืองกัน กล่าวคือ รัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ เป็นคนของพรรคเพื่อไทยในขณะที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาครัฐมนตรีพลังงานมาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ การเจรจาคงจะมีปัญหาไม่น้อยหากทั้งสองกระทรวงมีความเห็นหรือแนวทางในการทำงานแตกต่างกัน

ประการที่สอง วุฒิสมาชิกในสายอนุรักษ์นิยมเริ่มมีความเห็นในเชิงคัดค้านการสืบต่อการเจรจาและต้องการให้รัฐบาลขอทบทวนเนื้อหาในบันทึกความเข้าใจปี 2544 เสียใหม่ เพราะเห็นว่าไทยเสียเปรียบ เฉพาะอย่างยิ่งอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ

ถ้าความสัมพันธ์ภายในรัฐบาลยังดีอยู่ ปัญหาข้อแรกอาจจะสามารถข้ามพ้นไปได้ ส่วนประเด็นที่สองนั้น หากไม่มีฝ่ายใดปลุกวาทกรรมเสียดินแดนไปขยายความก็อาจจะสามารถทำความเข้าใจกันได้ แต่อนาคตข้างหน้ายังไม่แน่นักว่า จะมีกลุ่มพลังฝ่ายใดอยากจะล้มรัฐบาลแล้วลุกขึ้นมาจุดประเด็นชาตินิยมอ้างความรักชาติรักแผ่นดินบีบบังคับให้รัฐบาลไทยไปทะเลาะเบาะแว้งกับกัมพูชา จนเป็นเหตุให้มีการบอกเลิกเอกสารฉบับนี้กันอีก

หวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย


https://plus.thairath.co.th/topic/po...0wJnJ1bGU9MA==

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 09-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


วิกฤติ! 41% ของสายพันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในโลก มีแนวโน้มเผชิญกับอันตรายทางสายพันธุ์ เนื่องจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย, โรค และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยในปัจจุบัน สัดส่วนสายพันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำประมาณ 41% เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์



สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ว่า การค้นพบจากการประเมินระดับโลกครั้งใหม่ เกี่ยวกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 8,011 สายพันธุ์ ซึ่งเปิดเผยโดยกลุ่มนักอนุรักษ์ เมื่อวันวันพุธที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า สัตว์กลุ่มนี้อยู่ในสถานะที่เลวร้ายกว่าการประเมินครั้งแรก ในปี 2547

กิจกรรมของมนุษย์ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำลายสมดุลที่ละเอียดอ่อนของโลก จนทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชพรรณและสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำได้รับผลกระทบมากที่สุด ในบรรดาสัตว์มีกระดูกสันหลัง

ทั้งนี้ การประเมินสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำดังกล่าว เป็นความร่วมมือทั่วโลกของผู้สันทัดกรณีมากกว่า 1,000 คน ซึ่งการค้นพบสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นั้น หมายความว่า สัตว์เหล่านั้นได้รับการประเมินว่าเป็น สิ่งมีชีวิตที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์, ใกล้สูญพันธุ์ หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใน "บัญชีแดง" ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)

"โดยส่วนใหญ่ การระบุพื้นที่คุ้มครอง และการวางแผนอนุรักษ์ มุ่งเน้นไปที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก ส่งผลให้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร" นางเจนนิเฟอร์ เลิดท์เก นักอนุรักษ์ในโครงการ Re:wild, ผู้ประสานงานร่วมของสำนักงานบัญชีแดงของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในไอยูซีเอ็น และผู้เขียนนำของงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature กล่าว

ขณะที่ น.ส.เคลซีย์ นีอัม นักอนุรักษ์ในโครงการ Re:wild และผู้เขียนร่วมของงานศึกษา ระบุเสริมว่า สิ่งที่จำเป็นในตอนนี้คือ ความเคลื่อนไหวระดับโลก เพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

อนึ่ง การทำลายและความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์และพืชผล ยังคงเป็นอันตรายที่พบบ่อยที่สุดสำหรับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ อีกทั้งนักวิจัยยังพบว่า สัดส่วนของสายพันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ตกอยู่ในอันตรายจากโรค และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน


https://www.dailynews.co.th/news/2790059/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 09-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


เรือประมงต่างชาติเหิม พากองเรือลอบจับปลาในทะเลภูเก็ต



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทัพเรือภาค 3 จับเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย

ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ว่า ตรวจพบกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ทางทิศตะวันตกจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 7 ต.ค.

หล้งรับแจ้ง พล.ร.ท.สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 จึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 จัดเครื่องบินลาดตระเวนแบบที่ 1 (DO-228) สนับสนุน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ขึ้นบินลาดตระเวน ตรวจสอบกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียดังกล่าว ให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ จังหวัดภูเก็ต แจ้งศูนย์ PIPO ภูเก็ต เพื่อแจ้งเรือประมงไทยที่ทำการประมงในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์และติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย รวมทั้งให้หมวดเรือเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 จัดเตรียมเรือหลวงแกลง ให้พร้อมออกเรือปฏิบัติภารกิจ เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม

ต่อมาเวลา 11.50 วันเดียวกัน เครื่องบินลาดตระเวนได้ตรวจพบเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 1 ลำ ทางทิศตะวันตกจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ระยะประมาณ 55 ไมล์ทะเล เรือหลวงแกลง จึงออกเรือตรวจสอบตามข้อมูลที่ได้รับรายงาน

จนกระทั่งวันนี้ (8 ต.ค.) เรือหลวงแกลงเข้าตรวจค้นและจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ ทางทิศตะวันตก จากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ระยะประมาณ 70-80 ไมล์ทะเล ประกอบด้วย ลำที่ 1 ชื่อ KM.RAHMATJAYA พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 12 คน ลำที่ 2 ชื่อ KM.IKHLASBARU พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 16 คน และลำที่ 3 ชื่อ KAMBIASTA พร้อมลูกเรือ รวมจำนวน 12 คน จึงได้ควบคุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย พร้อมลูกเรือกลับเข้าฝั่ง ณ ท่าเรือรัษฎา จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำส่งให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรฉลอง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สำหรับการจับกุมเรือประมงต่างชาติที่มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขต เศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลอันดามันที่ผ่านมานั้น ได้มีการจับกุมมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งได้แจ้งให้สำนักงานผู้ช่วยทูตทหารเรือประจำประเทศอินโดนีเซีย เพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนเรือประมงของประเทศอินโดนีเซียว่าอย่าได้รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศไทย ทั้งนี้ หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของไทยอย่างเคร่งครัด

โดยในปีงบประมาณ 2564ได้ทำการจับกุม จำนวน 1 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2565 ได้ทำการจับกุม จำนวน 3 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2566 ได้ทำการจับกุม จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งการลักลอบเข้ามาทำการประมงของเรือประมงต่างชาตินั้นเป็นการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติสัตว์น้ำในพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ชาวประมงไทยทำการจับสัตว์น้ำได้น้อยลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคประมงโดยตรง

นอกจากนี้ เรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงบางครั้งมีการลักลอบขโมยหรือตัดทำลายอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ได้วางไว้ ซึ่งสร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำ เป็นมูลค่ามากกว่า 40,000 บาท/อุปกรณ์ การดำเนินการจับกุมเรือประมงต่างชาติข้างต้นนั้นเป็นไปตามนโยบายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2567 ของ พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล นั้นได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานได้มีการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและปรามปรามการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ท้องทะเลไทยเกิดความมั่นคง ยั่งยืนและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมั่นคงตลอดไป


https://mgronline.com/south/detail/9660000090804


******************************************************************************************************


"หมอแล็บ" ไขปริศนา? ตัวประหลาดในปลาทูที่แท้คือ ไอโซพอด ทานได้ถ้าสุกแล้ว

หมอแล็บแพนด้า ตอบข้อสงสัย ตัวประหลาดที่มักแฟงตัวอยู่ในปลาทู ที่แท้คือตัวอะไรทาน เฉลยคือไอโซพอด หรือเป็นปรสิตในช่องปากของปลาทะเล กินได้ไม่มีพิษภัย หากปรุงสุกแล้ว



วันนี้ (8 ต.ค.) เพจ "หมอแล็บแพนด้า" หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้ออกมาไขข้อข้องใจของประชาชน ระบุข้อความว่า?มีแฟนเพจสอบถามมาว่า เจอตัวประหลาดในปลาทู มันคือตัวอะไร อันนี้มันคือตัว "แมลงสาบทะเล" หรือ "ไอโซพอด" (Isopod) ที่เราเจอในปลา ก็เพราะว่ามันเป็นปรสิตในช่องปากของปลาทะเล บางคนก็เรียกตัวกัดลิ้น เป็นสัตว์จำพวก กุ้ง ปู กั้ง ถึงหน้าตามันจะไม่ได้น่ารักอะไร แต่มันไม่มีพิษมีภัยครับ ถ้าสุกแล้วสามารถกินได้

แมลงสาบทะเลมีตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดยักษ์ พวกขนาดยักษ์จะไม่ค่อยล่าอาหารเอง แต่จะรอกินซากปลาที่ตกลงมาก้นทะเล เพราะว่าไอโซพอดยักษ์มีน้ำหนักเยอะเลยเคลื่อนไหวได้ช้ามาก ล่าสุดก็มีบางร้านเอาพวกมันมาทำเมนูแปลก เช่น ราเม็งหน้าแมลงสาบทะเลยักษ์ ถ้าใครไปเจอไอโซพอดในหัวปลาทูแล้วอยากกิน ก็ลองกินได้ ปลอดภัยครับ เพราะน้องสุกแล้ว"


https://mgronline.com/onlinesection/.../9660000090814
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 09-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


รูโหว่ชั้นโอโซนเกิดใหม่ ใหญ่กว่าทวีปแอนตาร์กติกาสองเท่า


ภาพจำลองรูโหว่ชั้นโอโซนขนาดยักษ์ ที่ค้นพบล่าสุดเหนือทวีปแอนตาร์กติกา
ที่มาของภาพ,ESA / CS / DLR


ข้อมูลล่าสุดจากดาวเทียมคอเปอร์นิคัส เซนทิเนล (Copernicus Sentinel) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) พบว่าเกิดรูโหว่ใหม่ขนาดยักษ์ในชั้นโอโซนของบรรยากาศโลก โดยรูโหว่นี้อยู่เหนือขั้วโลกใต้ ทั้งมีขนาดใหญ่กว่าทวีปแอนตาร์กติกาถึงสองเท่า

นี่คือหนึ่งในรูโหว่ของชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากเหตุภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดที่ประเทศตองกา เมื่อช่วงต้นปี 2022

บรรยากาศชั้นโอโซนอยู่ที่ระดับความสูง 15-30 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ประกอบไปด้วยโมเลกุลของก๊าซที่มีอะตอมของธาตุออกซิเจน 3 ตัว (O3) ซึ่งช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลกจากอันตรายของรังสีอัลตราไวโอเล็ต (ยูวี) จากดวงอาทิตย์

ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 มีการค้นพบรูโหว่ขนาดยักษ์ในชั้นโอโซนแถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทำให้ประชาคมโลกร่วมกันทำอนุสัญญาห้ามการใช้สารซีเอฟซี (Chlorofluorocarbons - CFCs) ซึ่งส่งผลให้รูโหว่ในชั้นโอโซนบางแห่งปิดตัวและหลายแห่งมีขนาดเล็กลง

ทว่ามวลอากาศเย็นของฤดูหนาวในแต่ละปี ทำให้เกิดเมฆบางชนิดที่ทำลายก๊าซโอโซนได้ จนในปัจจุบันยังคงเกิดรูโหว่ตามฤดูกาลในชั้นโอโซนเหนือขั้วโลกทั้งสองแห่งอยู่

อย่างไรก็ตาม รูโหว่ชั้นโอโซนเหนือขั้วโลกใต้และทวีปแอนตาร์กติกาในปีนี้ มีขนาดใหญ่โตจนน่าตกใจ โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา รูโหว่ดังกล่าวได้ขยายขนาดขึ้นใหญ่สุดถึง 26 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าทวีปอเมริกาเหนือ และคิดเป็นสองเท่าของพื้นที่ทวีปแอนตาร์กติกาเอง

รูโหว่ในชั้นโอโซนของปีนี้ ยังมีความกว้างใหญ่เทียบได้กับประเทศจีนและประเทศรัสเซียรวมกัน ทั้งยังมีขนาดเป็น 3 เท่าของพื้นที่ประเทศบราซิลอีกด้วย

ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (ECMWF) ระบุว่ารูโหว่ในชั้นโอโซนเหนือขั้วโลกใต้ของปีนี้ ก่อตัวขึ้นเร็วกว่าปกติตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ซ้ำยังขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นเพราะการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ Hunga Tonga-Hunga Ha'apai ที่ประเทศตองกา เมื่อช่วงต้นปี 2022 โดยเหตุการณ์นี้จัดว่าเป็นการระเบิดที่ทรงพลัง ยิ่งกว่าระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา 100 ลูกรวมกัน และยังทำให้เกิดกลุ่มควันที่พวยพุ่งขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์โลก

นักวิทยาศาสตร์ของ ECMWF สันนิษฐานว่า การปะทุอย่างรุนแรงของภูเขาไฟใต้น้ำที่ตองกา ได้ดันให้โมเลกุลน้ำถึง 50 ล้านตันลอยขึ้นสู่บรรยากาศชั้นบนของโลก ทำให้มีไอน้ำเพิ่มขึ้นในบรรยากาศถึง 10% ทันที ซึ่งไอน้ำที่แตกตัวเป็นอนุภาคมีประจุสามารถจะทำลายชั้นโอโซนได้ เช่นเดียวกับสารซีเอฟซี

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญของ ECMWF ประเมินว่า การเกิดรูโหว่ยักษ์ในชั้นโอโซนตามฤดูกาลเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่น่าวิตก และมันน่าจะปิดลงได้เองภายในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนแนวโน้มการเยียวยารูโหว่ในชั้นโอโซนทั่วโลกนั้น หากปริมาณของสารซีเอฟซีที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศยังคงต่ำอยู่เช่นนี้ คาดว่ารูโหว่จะปิดตัวลงได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2050


https://www.bbc.com/thai/articles/c3gl1enjerko
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:24


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger