เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 31-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนหรือฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. ? 1 ส.ค. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 2 ? 5 ส.ค. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ประชาชนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 31-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


"PTTEP Ocean Data Platform" แพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืนของทะเลไทย



บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ ปตท.สผ. หรือ PTTEP Ocean Data Platform เพื่อเติมเต็มคลังข้อมูลทางทะเลในอ่าวไทย ส่งเสริมความยั่งยืนของท้องทะเล

ปัจจุบัน ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลมีอยู่ไม่มากนัก และยากต่อการค้นหา เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลในพื้นที่ไกลฝั่ง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งมีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่กลางทะเลที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองซึ่งต้องดูแล รักษา และปกป้อง จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ ปตท.สผ. หรือ PTTEP Ocean Data Platform ( https://oceandata.pttep.com ) เพื่อเติมเต็มคลังข้อมูลทางทะเลในอ่าวไทย ส่งเสริมความยั่งยืนของท้องทะเล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDG 14: Life Below Water) รวมถึงเป้าหมายในระดับประเทศและองค์กรอีกด้วย

ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทย การจัดทำแผนอนุรักษ์และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งระบบเตือนภัยต่าง ๆ การตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ การศึกษากระแสน้ำที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการฟอกขาวและการฟื้นตัวของปะการัง เป็นต้น รวมทั้ง ยังมีข้อมูลโครงการและกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทยและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ซึ่ง ปตท.สผ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลภายใน PTTEP Ocean Data Platform มาจากการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต เช่น สถานีตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร (Telemetry Marine Monitoring Station) ที่สามารถตรวจวัดและส่งข้อมูลการตรวจวัดตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Data) เช่น ความเร็วและทิศทางลม อุณหภูมิอากาศ และข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ (Oceanographic Data) เช่น ความเร็วและทิศทางกระแสนํ้า และอุณหภูมินํ้า เป็นต้น โดยมีการเก็บข้อมูลที่ระดับความลึกต่าง ๆ จนถึง 30 เมตรจากผิวน้ำ และมีการจัดทำข้อมูลฐานและการตรวจติดตามปริมาณไมโครพลาสติก โดยมีการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลทั้งบริเวณใกล้ฝั่ง และไกลฝั่ง เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติก รวมถึง ระบุชนิดและแหล่งที่มาของพลาสติกที่ตรวจพบ

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลจากกล้องใต้นํ้าและซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่ติดตั้งใต้แท่นผลิตปิโตรเลียม ซึ่งสามารถตรวจติดตามและระบุชนิดสัตว์ทะเลบริเวณขาแท่นฯ เพื่อการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวใต้นํ้าดังกล่าว จะทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถระบุสายพันธุ์สัตว์ทะเลได้ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 85

การจัดทำและพัฒนา PTTEP Ocean Data Platform ดังกล่าว ปตท.สผ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ และภาควิชาการ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านโครงการและการดำเนินงานต่าง ๆ ครอบคลุมการศึกษา วิจัย ตรวจวัด และเผยแพร่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ปตท.สผ. มีแผนที่จะขยายการเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์และสุขภาพทางทะเลให้ครอบคลุมแหล่งผลิตอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อสนับสนุนการต่อยอดโครงข่ายข้อมูลของทะเลและมหาสมุทรให้มีมากขึ้น อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมหรือค้นหาข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ทะเลจาก PTTEP Ocean Data Platform หรือ แพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ ปตท.สผ. ได้ที่ https://oceandata.pttep.com... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/3684809/


https://www.dailynews.co.th/news/3684809/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 31-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ธารน้ำแข็ง "ไอซ์แลนด์" ละลาย มวลน้ำไหลท่วมถนน - สะพาน รถวิ่งได้แค่เลนส์เดียว


SHORT CUT

- กรมอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ เปิดเผยว่าธารน้ำแข็ง M?rdalsj?kul ละลายอย่างหนัก ทำให้กระแสน้ำปริมาณมหาศาลไหลท่วมถนน Ring Road

- น้ำท่วมในครั้งนี้นับว่ารุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดมาในอดีต เคราะห์ดี ที่ยังไม่มีรายงานถึงผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

- ถนนถูกเปิดให้รถสัญจรได้แค่เลนส์เดียวเท่านั้น โดยจะให้รถจากฝั่งตะวันออกไปก่อน ซึ่งกินเวลาประมาณ 20-30 นาที จากนั้น จึงอนุญาตให้รถจากฝั่งตะวันตกผ่านไปได้




ธรรมชาติกำลังบอกใบ้อะไร? ไอซ์แลนด์เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ ธารน้ำแข็ง M?rdalsj?kul ละลายอย่างหนัก มวลน้ำปริมาณมหาศาลไหลท่วมถนน และพานเสียหาย เบื้องต้น รัฐสั่งผู้รับเหมาซ่อมแซมแล้ว

กรมอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ ออกแถลงการณ์ว่าธารน้ำแข็ง M?rdalsj?kul ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ เกิดละลายอย่างหนัก ทำให้กระแสน้ำปริมาณมหาศาลไหลท่วมถนน Ring Road และสะพาน เป็นผลให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้

ทางด้านของกรมอุตุฯ เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ นับว่ารุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดมาในอดีต เคราะห์ดี ที่ยังไม่มีรายงานถึงผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แต่โครงสร้างพื้นฐานของเมืองอย่างสะพาน และถนนเสียหายอย่างหนัก

วิดีโอที่ได้รับการเผยแพร่จากหน่วยยามชายฝั่งของประเทศแสดงให้เห็นว่าน้ำท่วมในครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรง น้ำไหลเชี่ยว ส่งผลให้ถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองวิค และหมู่บ้าน Kirkjub?jarklaustur ต้องปิดชั่วคราว

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก Iceland Review เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางรัฐบาลได้จ้างผู้รับเหมาเดินหน้าซ่อมแซมถนนในส่วนที่ได้รับความเสียหาย ส่วนสะพานที่ตอนแรกคาดการณ์กันว่าไม่น่ารอด แต่ต้านน้ำท่วมได้ดี และไม่ได้รับความเสียหาย

คาดการณ์ว่าการซ่อมแซมถนนจะใช้เวลาหลายวัน ในเบื้องต้น ถนนถูกเปิดให้รถสัญจรได้แค่เลนส์เดียวเท่านั้น โดยจะให้รถจากฝั่งตะวันออกไปก่อน ซึ่งกินเวลาประมาณ 20-30 นาที จากนั้น จึงอนุญาตให้รถจากฝั่งตะวันตกผ่านไปได้

B??var Sveinsson ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยธรรมชาติจากกรมอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ เปิดเผยว่า น้ำท่วมยังคงดำเนินต่อไป แต่ปริมาณน้ำ และความแรงลดลง หรือกล่าวคือสถานการณ์เริ่มทรงตัว ไม่รุนแรงเหมือนที่เกิดในวันที่ 27 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา

ที่มา: volcano discovery, grapevine


https://www.springnews.co.th/keep-th...ronment/851803

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 31-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ทำไมถึงพบโคเคนในฉลามในทะเล?
......... โดย เฟลิเป้ ซูซ่า และ เลอันโดร มาชาโด บีบีซีนิวส์ บราซิล


นักชีววิทยาทางทะเลได้ทดสอบฉลาม 13 ตัวนอกชายฝั่งนครริโอ เดอ จาเนโร ของบราซิล


นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมฉลามนอกชายฝั่งบราซิลจึงมีผลทดสอบโคเคนเป็นบวก

นักชีววิทยาทางทะเลจากมูลนิธิออสวัลโด ครูซ (Oswaldo Cruz Foundation ) ได้ทำการทดสอบฉลาม 13 ตัว (ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ฉลามจมูกแหลมบราซิล) นอกชายฝั่งนครริโอ เดอ จาเนโร และตรวจพบระดับโคเคนที่สูงในกล้ามเนื้อและตับของพวกมัน

งานวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่ตรวจพบโคเคนในฉลาม โดยพบความเข้มข้นของยาเสพติดสูงกว่าที่พบในสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ ประมาณ 100 เท่า

มีหลายทฤษฎีที่ถูกใช้อธิบายว่า โคเคนเข้าไปในร่างกายของสัตว์ชนิดนี้ได้อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า โคเคนอาจเข้าสู่น้ำทะเลผ่านทางห้องทดลองที่ใช้ผลิตยาเสพติดอย่างผิดกฎหมาย หรือไม่ก็ผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะของผู้ใช้ยาเสพติด

"งานวิจัยของเราสันนิษฐานว่า สมมติฐานทั้งสองดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของการตรวจพบโคเคน เช่น การได้สัมผัสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจากการใช้โคเคนของมนุษย์ในริโอเดจาเนโร... [และ] จากห้องทดลองที่ผิดกฎหมาย" ราเชล เดวิส นักชีววิทยาและนักวิจัยที่ห้องปฏิบัติการประเมินและส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่สถาบันออสวัลโด ครูซ และหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยนี้ อธิบาย

นอกจากนี้ หีบห่อโคเคนที่สูญหายหรือถูกทิ้งลงทะเลโดยผู้ค้ายาเสพติดอาจเป็นแหล่งที่มาของยาเสพติดเช่นกัน แต่ผู้วิจัยพิจารณาว่า ความเป็นไปได้น้อยกว่าในประเด็นนี้

"เราไม่ค่อยเห็นการทิ้งหรือการสูญเสียห่อโคเคนในทะเลที่นี่มากนัก ต่างจากที่รายงานในเม็กซิโกและฟลอริดา[ของสหรัฐอเมริกา] ดังนั้นเราจึงเลือกสมมติฐานทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้น [เป็นเหตุผลหลัก]"


'การค้นพบที่น่ากังวล'

ซารา โนไวส์ นักพิษวิทยานิเวศทางทะเลจากศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทางทะเลที่มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งเลอิเรียในโปรตุเกส บอกกับวารสาร Science ว่า การค้นพบนี้ "มีความสำคัญมากและอาจน่าเป็นห่วง"

ฉลามเพศเมียทั้งหมดในการศึกษานี้กำลังตั้งท้อง แต่ยังไม่ทราบว่าโคเคนมีผลกระทบต่อตัวอ่อนในท้องอย่างไร จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อกำหนดว่า ยาเสพติดนี้จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของฉลามหรือไม่

งานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ยาเสพติดอาจส่งผลต่อสัตว์และมนุษย์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน นักวิจัยตรวจสอบเพียงสายพันธุ์ของฉลามเดียว แต่เชื่อว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ในภูมิภาคนี้อาจมีผลทดสอบโคเคนเป็นบวกเช่นกัน

"ฉลามเป็นสัตว์กินเนื้อและเส้นทางการสัมผัสสารเคมีมลพิษหลัก ๆ คือทางอาหาร มีความเป็นไปได้สูงว่าสัตว์ที่ฉลามของเราล่ามา เช่น ครัสเตเชียน หรือกลุ่มสัตว์น้ำ อย่าง กุ้ง กั้ง ปู [และ] ปลาอื่น ๆ จะปนเปื้อน" ราเชล เดวิสกล่าว


เส้นทางการลำเลียงโคเคน

คามิลา นูเนส ดิแอส นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล (USP) และศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยรัฐบาลกลางของ ABC (UFABC) ในบราซิล อธิบายว่า มีโคเคนจำนวนมากในบราซิลเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศทำให้เป็นที่สนใจสำหรับผู้ลักลอบขนยาเสพติดไปยังตลาดผู้เสพอื่น ๆ โดยเฉพาะยุโรปและแอฟริกา

ตามที่เธอระบุ สิ่งนี้ทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์สำหรับอาชญากรในการประสานงานด้านการกระจายสินค้า

"ประเด็นทางภูมิศาสตร์มีความสำคัญเพราะชายแดนด้านตะวันตกของบราซิลติดกับประเทศผู้ผลิตยาเสพติดอย่างเปรู โคลอมเบีย และโบลิเวีย และมีทางเข้าถึงมหาสมุทรแอตแลนติกผ่านท่าเรือหลายแห่ง

"ฉันคิดว่านี่อธิบายได้ว่า ทำไมสินค้าจำนวนมากที่ไปยุโรปและแอฟริกาถึงผ่านบราซิล ประเทศมีขนาดกว้างใหญ่ระดับทวีปและมีตำแหน่งเชิงกลยุทธ์อย่างมาก"


นักดำน้ำทำให้ยาเสพติดกระจายในทะเลได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม นูเนส ดิแอส เชื่อว่าตรงกันข้ามกับที่ผู้เขียนงานวิจัยกล่าว น้ำไม่ได้ปนเปื้อนจากโคเคนที่ถูกสกัดในห้องทดลองในภูมิภาคนั้น เธอเชื่อว่าน่าจะปนเปื้อนจากนักดำน้ำในขณะที่ลำเลียงยาเสพติดไปยังเรือมากกว่า

"เราพบว่า มีกลยุทธ์หลายอย่างที่ใช้ลำเลียงโคเคนขึ้นเรือด้วยการใช้นักดำน้ำ การประเมินของฉันคือคำอธิบายนี้มีเหตุผลมากกว่า" ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นส่วนหนึ่งของ NEV ศูนย์การศึกษาความรุนแรงที่ USP กล่าว

นักสังคมวิทยากล่าวว่าโคเคนเข้ามายังบราซิลผ่านทางแม่น้ำและเส้นทางถนน ก่อนที่จะถูกส่งไปยังยุโรปผ่านท่าเรือและสนามบินหลายแห่งในประเทศ

นูเนส ดิแอส อธิบายว่าโคเคนที่ส่งไปยังสหรัฐฯ นั้นส่วนใหญ่ถูกลำเลียงโดยผู้ค้ายาเสพติดชาวเม็กซิกันและโคลอมเบีย อย่างไรก็ตาม บราซิลก็เป็นศูนย์กลาง[การลำเลียง]สำคัญเช่นกัน

"ท่าเรือทุกแห่งในบราซิลเป็นจุดขาออก การใช้ท่าเรือเหล่านี้ถูกควบคุมโดยกลุ่มอาชญากรต่าง ๆ เช่น PCC (Primeiro Comando da Capital) และ Comando Vermelho" [ไพร์เมย์โร คอมมานโด ดา คาไปตาล และ คอมมานโด แวร์เมลโญ่]


โคเคนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ที่กินเนื้อฉลามได้หรือไม่?

โคเคนที่ปนเปื้อนในฉลามสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านห่วงโซ่อาหารได้ นักวิจัย ราเชล เดวิส กล่าวว่า ยาเสพติดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้จากการบริโภคปลาฉลามในบราซิล

"โคเคนได้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารแล้ว [เพราะ] ฉลามถูกกินโดยมนุษย์ในบราซิลและในหลายประเทศอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เม็กซิโก และอีกหลายประเทศ

"[อาหารนี้] มักจะขายภายใต้ชื่อทั่วไป เช่น ปลาแผ่น หรือ เฟลค (flake) ฟิชแอนด์ชิปส์ ปลาฉลามด็อกฟิช (dogfish) และในชื่อเรียกอื่น ๆ" เดวิสกล่าว

แต่ยังไม่ชัดเจนว่าปริมาณของยาเสพติดที่ถูกบริโภคผ่านการกินสัตว์เหล่านี้สามารถเป็นอันตรายต่อผู้คนได้หรือไม่

เดวิสกล่าวว่า "ความกังวลด้านสุขภาพของมนุษย์ผ่านห่วงโซ่อาหารยังไม่สามารถยืนยันได้ [เพราะ] ยังไม่มีการกำหนดขีดจำกัดเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพเชิงลบ"

ฉลามและปลาชนิดอื่น ๆ ดูดซับน้ำผ่านผิวหนังและเหงือก และเดวิสกล่าวว่า หากโคเคนละลายในน้ำทะเล ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ที่ว่ายน้ำในทะเล

"ในส่วนประเด็นข้อกังวลต่อสุขภาพของมนุษย์จากการสัมผัสสารเสพติดที่ปนเปื้อนจากเส้นทางอื่นและ ผ่านการสัมผัสในน้ำโดยตรง เราเชื่อว่า สิ่งนี้จะมีผลกระทบน้อยมาก"


https://www.bbc.com/thai/articles/cqqlw06yywyo

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 31-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


"แม่น้ำที่บินได้" คืออะไร และเหตุใดมันสร้างการทำลายล้างมากขึ้น ?
........... โดย นาวิน ซิงห์ คัดกา ผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อม บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส


นักวิทยาศาสตร์บอกว่าแม่น้ำในชั้นบรรยากาศทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนเสี่ยงต่อภัยพิบัติน้ำท่วมมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าน้ำท่วมในระดับที่ไม่ธรรมดาซึ่งเกิดขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ล่าสุดในจีนและแคนาดา เป็นเครื่องเตือนใจว่าชั้นบรรยากาศซึ่งกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ในขณะนี้ มีความชื้นมากกว่าในอดีตอย่างมาก

เมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว อิรัก อิหร่าน คูเวต และจอร์แดน ล้วนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมร้ายแรงหลังจากเกิดฝนฟ้าคะนองรุนแรงและพายุลูกเห็บ โดยนักอุตุนิยมวิทยาค้นพบในภายหลังว่าท้องฟ้าทั่วภูมิภาคมีความชื้นสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเคยเกิดเหตุคล้ายคลึงกันเมื่อปี 2005

สองเดือนต่อมา ชิลีถูกถล่มด้วยฝนมากกว่า 500 มิลลิเมตรภายในเวลาเพียง 3 วัน เนื่องจากเกิดฝนตกหนักเหนือเทือกเขาแอนดีสจนทำให้หิมะบางส่วนละลาย ก่อให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ทำลายถนน สะพาน และแหล่งน้ำต่าง ๆ

หนึ่งปีก่อนหน้านี้ บางส่วนของออสเตรเลียก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่นักการเมืองเรียกว่า "ระเบิดฝน" ซึ่งคร่าผู้คนไปมากกว่า 20 ชีวิต และทางการต้องสั่งอพยพประชาชนหลายพันคน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric River) ซึ่งมีความรุนแรงขึ้น มีขนาดยาวและกว้างมากขึ้น และมักสร้างผลทำลายล้างให้กับพื้นที่ต่าง ๆ โดยนาซาบอกว่าปรากฏการณ์นี้กำลังทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกต้องเสี่ยงต่อภัยพิบัติน้ำท่วม


"แม่น้ำบนท้องฟ้า" หรือ "แม่น้ำที่บินได้" เหล่านี้ เป็นชั้นไอน้ำที่ยาวและกว้างมาก ซึ่งมักปรากฏขึ้นบริเวณเขตร้อนและเคลื่อนตัวไปยังขั้วโลก โดยพวกมันลำเลียงไอน้ำราว 90% ของปริมาณไอน้ำทั้งหมดที่เคลื่อนที่ผ่านละติจูดกลางของโลก

โดยเฉลี่ยแล้วแม่น้ำในชั้นบรรยากาศมีความยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 500 กิโลเมตร และมีความลึกเกือบ 3 กิโลเมตร แต่ตอนนี้พบว่ามันกำลังมีความกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบางสายมีความยาวกว่า 5,000 กิโลเมตร

ถึงกระนั้น พวกมันก็ไม่สามารถมองเห็นด้วยสายตาของมนุษย์ เหมือนกับที่เราสามารถมองเห็นเมฆบนฟ้าได้

"พวกมันสามารถถูกมองเห็นได้ด้วยคลื่นความถี่อินฟราเรดและไมโครเวฟ" ไบรอัน ข่าน นักวิจัยด้านบรรยากาศจากห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนไอพ่นของนาซา กล่าว

"นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการสังเกตการณ์ด้วยดาวเทียมจึงมีประโยชน์มากสำหรับการสังเกตไอน้ำและแม่น้ำในชั้นบรรยากาศทั่วโลก"

แม่น้ำในชั้นบรรยากาศที่มีขนาดใหญ่และมีพลังรุนแรง สามารถเคลื่อนย้ายความชื้นได้เป็น 15 เท่าของอัตราการปล่อยความชื้นจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในอเมริกาเหนือ

โดยเฉลี่ยแล้ว พวกมันมีปริมาณน้ำเป็นสองเท่าของสายน้ำแอมะซอนซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หากวัดจากปริมาณที่ปล่อยออกมา

แม้ว่าแม่น้ำในชั้นบรรยากาศเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าภาวะโลกร้อนกำลังสร้างไอน้ำเพิ่มมากขึ้นและควบแน่นเป็นฝนจำนวนมากในช่วงเวลาสั้น ๆ อันทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มรุนแรง

การศึกษาแสดงให้เห็นว่าไอน้ำในชั้นบรรยากาศทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 20% ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอุณหภูมิที่เพิ่มมากขึ้น

การศึกษาล่าสุดโดยสถาบันธรณีศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพ็อทซ์ดัมในเยอรมนี ค้นพบว่าแม่น้ำในชั้นบรรยากาศเหนือเขตร้อนของอเมริกาใต้ แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นยาวนานมากขึ้น

และนั่นอาจหมายถึงฝนจำนวนมากขึ้นที่ตกลงมา พร้อม ๆ กับความเสียหายในภาคพื้นดิน

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วตะวันออกกลางเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2023 จากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคาลิฟาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

"การจำลองความละเอียดสูงของเรา เผยให้เห็นการปรากฏตัวของแม่น้ำในชั้นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดฝนตกหนัก ขณะเคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงจากตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกาไปยังตะวันตกของอิหร่าน"


เกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น

ซารา เอ็ม วัลเลโฮ-เบอร์นัล หนึ่งในคณะผู้ศึกษาของมหาวิทยาลัยพ็อทซ์ดัม บอกว่า ปรากฏการณ์แม่น้ำในชั้นบรรยากาศเกิดขึ้นถี่มากขึ้น

"ตั้งแต่ปี 1940 มีความถี่เพิ่มขึ้นอย่างมากในเอเชียตะวันออก และพวกมันก็มีความรุนแรงมากขึ้นในมาดากัสการ์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น นับตั้งแต่นั้นมา"

การศึกษาในปี 2021 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยธรณีฟิสิกส์ (the Journal of Geophysical Research) พบว่า มากกว่า 80% ของเหตุการณ์ฝนตกหนักทางภาคตะวันออกของจีน เกาหลี และ ทางตะวันตกของญี่ปุ่นในช่วงต้นฤดูมรสุม (มี.ค.-เม.ย.) เกี่ยวข้องกับแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ

ในขณะเดียวกัน นักอุตุนิยมวิทยาในอินเดีย บอกว่า ภาวะโลกร้อนของมหาสมุทรอินเดียกำลังสร้าง "แม่น้ำที่บินได้" และส่งอิทธิพลต่อมรสุมในภูมิภาคนี้ซึ่งเห็นได้ในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ก.ย.

"ด้วยเหตุนี้ จึงมีช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ความชื้นทั้งหมดจากทะเลอุ่น กลายเป็นฝนเทลงมาโดยแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือใช้เวลาถึง 2-3 วัน" ดร.ร็อกซี แมทธิว โคลล์ นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนของอินเดีย กล่าว

"สิ่งนี้นำไปสู่ดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ"

อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมและดินถล่มที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้มีสาเหตุจากแม่น้ำในชั้นบรรยากาศเท่านั้น แต่ยังเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น พายุไซโคลน พายุจากสภาพอากาศ และอื่น ๆ เป็นต้น

แม่น้ำในชั้นบรรยากาศยังเกิดขึ้นในสถานที่ใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์บอกว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นก็คือ รูปแบบกระแสลมและกระแสเจ็ท (Jet stream) ที่เปลี่ยนแปลง (กระแสเจ็ท คือ กระแสอากาศที่ไหลเร็วและแคบมากจากตะวันตกไปตะวันออก ล้อมรอบโลก)

"คลื่นที่เพิ่มขึ้นในลมและกระแสเจ็ท หมายถึงความคดเคี้ยวที่ใหญ่ขึ้นและเบี่ยงเบนไปจากเส้นทางปกติ" เดนิซ บอซเคิร์ท นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยบัลปาราอิโซในชิลี กล่าว

"ส่งนี้อาจทำให้แม่น้ำในชั้นบรรยากาศเดินตามเส้นทางที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเพิ่มระยะของพวกมัน และส่งผลกระทบในภูมิภาคต่าง ๆ"

นอกจากมันจะทำให้ทั่วโลกมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมและดินถล่มรุนแรงมากขึ้นแล้ว แม่น้ำในชั้นบรรยากาศยังถูกแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามขนาดและความแรง เช่นเดียวกับพายุเฮอริเคน

แม่น้ำในชั้นบรรยากาศบางสายไม่ได้สร้างความเสียหาย หากมันมีความหนาแน่นต่ำ และบางครั้งมันอาจเป็นประโยชน์หากมันทำให้เกิดฝนในพื้นที่ที่กำลังทุกข์ทรมานจากความแห้งแล้งมาเป็นเวลานาน

แต่ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า การตรวจสอบแม่น้ำในชั้นบรรยากาศและการคาดการณ์ส่วนใหญ่นั้นยังจำกัดอยู่ที่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการสังเกตผลกระทบมานานหลายสิบปีแล้ว

"การรับรู้และการนำแนวคิดเกี่ยวกับแม่น้ำในบรรยากาศมาผนวกเข้ากับพยากรณ์อุตุนิยมวิทยาในระดับภูมิภาคยังมีอยู่อย่างจำกัด" บอซเคิร์ท จากมหาวิทยาลัยบัลปาราอิโซ บอก

"ความท้าทายหลัก ๆ คือ ข้อมูลที่ขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดแม่น้ำในชั้นบรรยากาศเหนือภูมิประเทศที่มีความซับซ้อน"


https://www.bbc.com/thai/articles/c727g2gk2nro

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:15


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger