#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคใต้ตอนล่าง โดยยังคงมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นเป็นปานกลาง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณตอนบนของประเทศเมียนมาและประเทศลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมามีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 11 ? 16 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังปานกลาง ประกอบกับมีร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 11 ? 15 ส.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ปะการัง 'เกาะโลซิน' ยังน่าห่วง หลายพื้นที่ยังคงขาวโพลน วันที่ 10 สิงหาคม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่องสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ที่แม้จะสิ้นสุดฤดูร้อนแล้ว แต่บางพื้นที่สถานการณ์ปะการังฟอกขาวยังไม่กลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ โดย มีเนื้อหาว่า ปะการังโลซินยังน่าห่วง หลายพื้นที่ยังคงขาวโพลน คณะประมงร่วมกับปตท.สผ. ติดตามปะการังฟอกขาวทั้งใกล้ฝั่งและไกลฝั่งทั่วอ่าวไทย จึงนำข้อมูลล่าสุดจากโลซินมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ทราบ โลซินเป็นเกาะจิ๋วกลางทะเลปัตตานี ถือเป็นแนวปะการังห่างฝั่งมากที่สุด เป็นตัวชี้วัดของไกลฝั่งอ่าวไทย น้ำเย็นลงแล้ว อุณหภูมิ 29-30 องศา เป็นปกติของช่วงนี้ ทว่า น้ำเย็นไม่ได้หมายความว่าปะการังหายฟอกขาว ยังมีปัจจัยต่างๆ อีกเยอะ อย่างแรกคือชนิดของปะการัง หากเป็นปะการังพุ่ม (Pocillopora) สถานภาพตอนนี้คือเกือบทั้งหมดตาย (ตายไม่ใช่ยังฟอกขาว ตายคือตายสนิท) โชคดีที่ปะการังกลุ่มนี้ขนาดเล็ก ขึ้นแซมตามจุดต่างๆ ไม่ได้เป็นปะการังขนาดใหญ่อยู่รวมเป็นพื้นที่กว้าง โชคร้ายที่เป็นปะการังที่มีกุ้งปูขนาดเล็กอาศัยเยอะ อาจส่งผลต่อความหลากหลายในอนาคต ความลึกยังอาจเกี่ยวข้อง เราพบว่าปะการังในที่ตื้นเริ่มฟื้น แต่ในที่ลึกลงไปหน่อยยังขาวโพลน ปะการังก้อนใหญ่ๆ ยังมีบางส่วนเริ่มตาย แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดที่ฟอกขาวอยู่ตอนนี้ต้องตาย ส่วนใหญ่อาจฟื้นตัวช้าๆ ที่น่าสงสัยคือทำไมที่ตื้นดูดีกว่า ? แม้อาจไม่มากแต่ดูดีกว่า ลักษณะเช่นนี้คล้ายที่อื่น เช่น มัลดีฟส์ (คณะประมงมีโครงการติดตามปะการังที่นั่น) แสงอาจเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะที่ตื้นมีแสงมากกว่า ในช่วงฟอกขาว ที่ตื้นอาจซวยเพราะแดดซ้ำเติมและเร่งให้ฟอกขาว ขณะที่ลึกฟอกยากกว่า แต่ถ้าฟอกทั้งหมดเพราะน้ำร้อนจัด เมื่อถึงตอนฟื้น ที่ตื้นได้แสงดีกว่า สาหร่ายเพิ่มเร็วกว่า อาจทำให้ฟื้นเร็วกว่า หรือที่ตื้นอาจฟอกบ่อยกว่า (มีการฟอกขาวย่อยๆ หลายครั้งก่อนหน้า) ทำให้ที่ตื้นทนทานและปรับตัวดีกว่า เมื่อเทียบกับที่ลึกที่ต้องโหดจริงถึงฟอก จึงบอบบาง เน้นย้ำว่า ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงสมมติฐาน การติดตามปะการังฟอกขาวครั้งนี้ เราพบอย่างน้อย 3 เรื่องที่น่าสนใจ พัทยาทำไมฟอกน้อย ? แนวใกล้ฝั่งกับไกลฝั่งฟื้นตัวต่างกัน (อ่าวไทย) โลซิน/เกาะเต่า ที่ตื้นดูแล้วฟื้นเร็วกว่าที่ลึก ยังมีอีกหลายคำถามที่ยังตอบไม่ได้ แต่ทั้งหมดนั้นเน้นย้ำถึงความสำคัญว่า ทำไมเราต้องติดตามสถานการณ์แบบนี้ในระยะยาว หลังฟอกขาวเป็นไง ปลากลับมาไหม ความหลากหลายเป็นไงบ้าง ฯลฯ เพราะยิ่งรู้มากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งรับมือได้ดียิ่งขึ้นแค่นั้น และทะเลเดือดกว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ตราบใดที่โลกยังร้อนระเบิดเถิดเถิงขึ้นทุกที จะมารายงานเพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ครับ หมายเหตุ ? ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกหน่วยงานที่ไปสำรวจโลซินร่วมกัน กรมทรัพยากรทางทะเลฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยบูรพา และมูลนิธิเอ็นไลฟ ขอบคุณ ปตท.สผ. ที่สนับสนุนคณะประมงในการสำรวจติดตามปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่องครับ https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4730264
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|