เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

 
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
Prev คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป Next
  #11  
เก่า 23-01-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สารพัดภัยพิบัติทุกมุมโลก : กรณีศึกษาที่คนไทยควรใส่ใจ ตอนที่ 1



เหตุการณ์ธรณีพิโรธ “แผ่นดินไหว” ระดับ 7 ริคเตอร์ ซึ่งเกิดที่ประเทศเฮติ โดยมีศูนย์กลางการเกิดอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์เมืองหลวง ทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 16 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนอาหาร เป็นแสนๆ คน .....นี่ไม่เพียงเป็นภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปีของเฮติ แต่ยังเป็นแผ่นดินไหวที่เขย่าขวัญผู้คนทั่วทุกมุมโลกและสำหรับเมืองไทย-คน ไทยก็อย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว !!

ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการองค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย หรือเอดีพีซี ได้ออกมาเตือนสติคนไทยว่า เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับประเทศไทย ในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาแผ่นดินไหว โดย ดร.พิจิตตยังได้ระบุถึงเรื่อง “รอยเลื่อน” ซึ่งเกี่ยวโยงกับแผ่นดินไหว-กับเขื่อน ที่อาจสร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในไทย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาของผู้สันทัดกรณีด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้ชี้เตือนไว้ เช่น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยระบุไว้หลังการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงประมาณ 7.8 ริคเตอร์ เขย่ามณฑลเสฉวนและพื้นที่ใกล้เคียงในประเทศจีน เมื่อบ่ายวันที่ 12 พ.ค. 2551 ซึ่งเพียงถึงเช้าวันที่ 13 พ.ค. ก็มีรายงานตัวเลขพบร่างผู้เสียชีวิตกว่า 9,200 ศพ สูญหายกว่า 60,000 คน อาคาร-ที่พักอาศัยพังถล่มกว่า 500,000 หลังสะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้จุดศูนย์กลางจะห่างจากไทย แต่การสั่นของรอยเปลือกโลกก็ส่งผลทำให้เกิดการกระตุ้นที่ตะแกรงรอยเลื่อนของเปลือกโลก หรือที่เรียกกันว่าแอ๊คทีฟ ฟอลท์ (Active Fault) ย่อมส่งผลกระทบกับภูมิศาสตร์กายภาพของหลายประเทศได้ด้วย ซึ่งสำหรับไทยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ คือพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นดินอ่อน มีโอกาสยุบตัวง่าย และลักษณะทางกายภาพดังว่านี้...ก็รวมถึง “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของไทยด้วย ดังนั้น เหตุแผ่นดินไหวในประเทศอื่นๆ ไทยจึงต้องให้ความสนใจ!

ในด้านลักษณะของบ้านเรือน หรือตึกอาคารต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหว แต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ค่อยมีการคำนึงถึงระเบียบปฏิบัติในการออกแบบก่อสร้างเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหวมากนัก เพราะในไทยมีประวัติเกิดแผ่นดินไหวไม่มาก ดังนั้นในเมืองไทย “บ้านยุคเก่า-ตึกยุคเก่า” จึง อยู่ในข่ายที่ต้องระวัง รวมทั้งอาคารสูงยุคใหม่ถ้ามีการคอร์รัปชั่นงบก่อสร้างก็น่าห่วงเช่นกัน !! และปัจจุบัน วิศวกรที่จบปริญญาตรีกว่า 95% ก็ไม่ได้เรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหวลึกซึ้ง ความรู้เรื่องนี้จะบรรจุอยู่ในหลักสูตรระดับปริญญาโทเท่านั้น

ซึ่งเรื่องนี้ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีก่อสร้าง-การก่อสร้างยุคใหม่ อย่างนายชาติชาย สุภัควนิช บอกว่า การก่อสร้างโครงสร้างอาคารในบ้านเราที่ผ่านๆมา มักใช้ความรู้ความชำนาญที่เป็นการคำนวณด้วยมือ จากการดูแบบพิมพ์เขียว ซึ่งการรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้นจะใช้แต่ประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ของวิศวกรอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการคำนวณโครงสร้างอาคารด้วย จึงจะมีประสิทธิภาพ

นายชาติชายยัง ระบุด้วยว่า หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทย อาคารที่เป็นตึกสูงที่ออกแบบโดยวิศวกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มักจะไม่ค่อยมีปัญหา

“ในเมืองไทยนั้น ที่มักได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมาก มักจะเป็นอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกไม่สูง สรุปก็คือโครงสร้างอาคารบ้านเรือนคนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมรับแรงสั่นสะเทือนการเกิดแผ่นดินไหวอย่างมีประสิทธิภาพ”

ความน่าเป็นห่วงนี้ ยังอาจรวมถึง “สึนามิจากแผ่นดินไหว” อย่างที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เคยเผยแพร่เป็นบทความเกี่ยวกับ “แผ่นดินไหว-สึนามิ” ไว้ในเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติบางช่วงบางตอนว่า...

“ได้ทำการวิเคราะห์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ใหญ่ (9 ริคเตอร์) ในทะเลอันดามัน (บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์) และอ่าวไทย (บริเวณทิศตะวันตกหมู่เกาะฟิลิปปินส์) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิด ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ชายฝั่งอันดามันจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547”

แต่สิ่งที่ผู้สันทัดกรณีฝากเตือนกับคนไทยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรจะมีการเตรียมการที่ดี มีแผนจัดการในภาวะฉุกเฉินรองรับภัยธรรมชาติ...และสิ่งที่คนไทยควรจะทำคือ ต้องเตรียมรับมือไว้ให้พร้อม โดยศึกษาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ควรเป็นไปในลักษณะการตื่นตัวแต่ไม่ใช่ตื่นตระหนกตกใจจนเกินไป และ“แผ่นดินไหว”ที่เฮติ...ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดี

ในตอนหน้าติดตามการพยากรณ์แผ่นดินไหวในภาวะปัจจุบัน และการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่ต้องพึงระวัง



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 22 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
 


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:11


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger