#11
|
||||
|
||||
สารพัดภัยพิบัติทุกมุมโลก : กรณีศึกษาที่คนไทยควรใส่ใจ ตอนที่ 1 เหตุการณ์ธรณีพิโรธ “แผ่นดินไหว” ระดับ 7 ริคเตอร์ ซึ่งเกิดที่ประเทศเฮติ โดยมีศูนย์กลางการเกิดอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์เมืองหลวง ทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 16 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนอาหาร เป็นแสนๆ คน .....นี่ไม่เพียงเป็นภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปีของเฮติ แต่ยังเป็นแผ่นดินไหวที่เขย่าขวัญผู้คนทั่วทุกมุมโลกและสำหรับเมืองไทย-คน ไทยก็อย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว !! ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการองค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย หรือเอดีพีซี ได้ออกมาเตือนสติคนไทยว่า เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับประเทศไทย ในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาแผ่นดินไหว โดย ดร.พิจิตตยังได้ระบุถึงเรื่อง “รอยเลื่อน” ซึ่งเกี่ยวโยงกับแผ่นดินไหว-กับเขื่อน ที่อาจสร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในไทย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาของผู้สันทัดกรณีด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้ชี้เตือนไว้ เช่น รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยระบุไว้หลังการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงประมาณ 7.8 ริคเตอร์ เขย่ามณฑลเสฉวนและพื้นที่ใกล้เคียงในประเทศจีน เมื่อบ่ายวันที่ 12 พ.ค. 2551 ซึ่งเพียงถึงเช้าวันที่ 13 พ.ค. ก็มีรายงานตัวเลขพบร่างผู้เสียชีวิตกว่า 9,200 ศพ สูญหายกว่า 60,000 คน อาคาร-ที่พักอาศัยพังถล่มกว่า 500,000 หลังสะท้อนให้เห็นว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้จุดศูนย์กลางจะห่างจากไทย แต่การสั่นของรอยเปลือกโลกก็ส่งผลทำให้เกิดการกระตุ้นที่ตะแกรงรอยเลื่อนของเปลือกโลก หรือที่เรียกกันว่าแอ๊คทีฟ ฟอลท์ (Active Fault) ย่อมส่งผลกระทบกับภูมิศาสตร์กายภาพของหลายประเทศได้ด้วย ซึ่งสำหรับไทยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ คือพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นดินอ่อน มีโอกาสยุบตัวง่าย และลักษณะทางกายภาพดังว่านี้...ก็รวมถึง “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของไทยด้วย ดังนั้น เหตุแผ่นดินไหวในประเทศอื่นๆ ไทยจึงต้องให้ความสนใจ! ในด้านลักษณะของบ้านเรือน หรือตึกอาคารต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหว แต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ค่อยมีการคำนึงถึงระเบียบปฏิบัติในการออกแบบก่อสร้างเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหวมากนัก เพราะในไทยมีประวัติเกิดแผ่นดินไหวไม่มาก ดังนั้นในเมืองไทย “บ้านยุคเก่า-ตึกยุคเก่า” จึง อยู่ในข่ายที่ต้องระวัง รวมทั้งอาคารสูงยุคใหม่ถ้ามีการคอร์รัปชั่นงบก่อสร้างก็น่าห่วงเช่นกัน !! และปัจจุบัน วิศวกรที่จบปริญญาตรีกว่า 95% ก็ไม่ได้เรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหวลึกซึ้ง ความรู้เรื่องนี้จะบรรจุอยู่ในหลักสูตรระดับปริญญาโทเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีก่อสร้าง-การก่อสร้างยุคใหม่ อย่างนายชาติชาย สุภัควนิช บอกว่า การก่อสร้างโครงสร้างอาคารในบ้านเราที่ผ่านๆมา มักใช้ความรู้ความชำนาญที่เป็นการคำนวณด้วยมือ จากการดูแบบพิมพ์เขียว ซึ่งการรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้นจะใช้แต่ประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ของวิศวกรอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการคำนวณโครงสร้างอาคารด้วย จึงจะมีประสิทธิภาพ นายชาติชายยัง ระบุด้วยว่า หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทย อาคารที่เป็นตึกสูงที่ออกแบบโดยวิศวกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มักจะไม่ค่อยมีปัญหา “ในเมืองไทยนั้น ที่มักได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมาก มักจะเป็นอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกไม่สูง สรุปก็คือโครงสร้างอาคารบ้านเรือนคนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมรับแรงสั่นสะเทือนการเกิดแผ่นดินไหวอย่างมีประสิทธิภาพ” ความน่าเป็นห่วงนี้ ยังอาจรวมถึง “สึนามิจากแผ่นดินไหว” อย่างที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เคยเผยแพร่เป็นบทความเกี่ยวกับ “แผ่นดินไหว-สึนามิ” ไว้ในเว็บไซต์ของศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติบางช่วงบางตอนว่า... “ได้ทำการวิเคราะห์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ใหญ่ (9 ริคเตอร์) ในทะเลอันดามัน (บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์) และอ่าวไทย (บริเวณทิศตะวันตกหมู่เกาะฟิลิปปินส์) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิด ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ชายฝั่งอันดามันจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547” แต่สิ่งที่ผู้สันทัดกรณีฝากเตือนกับคนไทยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรจะมีการเตรียมการที่ดี มีแผนจัดการในภาวะฉุกเฉินรองรับภัยธรรมชาติ...และสิ่งที่คนไทยควรจะทำคือ ต้องเตรียมรับมือไว้ให้พร้อม โดยศึกษาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ควรเป็นไปในลักษณะการตื่นตัวแต่ไม่ใช่ตื่นตระหนกตกใจจนเกินไป และ“แผ่นดินไหว”ที่เฮติ...ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดี ในตอนหน้าติดตามการพยากรณ์แผ่นดินไหวในภาวะปัจจุบัน และการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่ต้องพึงระวัง จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 22 มกราคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|