#15
|
||||
|
||||
มหันตภัยจาก "สายน้ำ" วิกฤติน้ำท่วมหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ "ปากีสถาน" กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ซ้ำเติมความทุกข์เข็ญของประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้มากมายสุดคณานับ แม้ยอดผู้เสียชีวิตเป็นทางการจะอยู่ที่ราว 2,000 ศพ แต่จริงๆน่าจะสูงกว่านี้มาก ส่วนผู้ได้รับผลกระทบสูงถึง 20 ล้านคน บ้านเรือนกว่า 1.2 ล้านหลังถูกทำลาย พื้นที่ 1 ใน 5 ของประเทศ หรือเท่าๆกับประเทศอิตาลีจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ความช่วยเหลือยังล่าช้าและไม่พอเพียง รัฐบาลปากีสถานประเมิน ค่าความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างน้อย 43,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีปี 2552-2553 ธนาคารโลกต้องอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินช่วยเหลือถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ไอเอ็มเอฟอีก 450 ล้านดอลลาร์ ยังไม่นับความช่วยเหลือจากยูเอ็น เอดีบี และอื่นๆ แต่ก็ดูเหมือนจะ "จิ๊บจ๊อย" ไปถนัด เมื่อเทียบกับความสูญเสียซึ่งต้องใช้เวลานานนับสิบปีในการฟื้นฟู จะว่าไปแล้ว ปากีสถานต้องต่อสู้กับปัญหาเรื่อง "น้ำ" มาตลอด ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจาก "ความแห้งแล้ง" ปริมาณฝนตามฤดูกาลไม่เพียงพอกับการเกษตร ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็น 23% ของจีดีพี แต่เมื่อใดที่น้ำมากเกินไปก็จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงดังที่เห็น เรียกว่าตกเป็นเหยื่อ "น้ำ" ทั้งขึ้นทั้งล่อง ปากีสถานมีเครือข่าย "แม่น้ำ" สายใหญ่ น้อยยุ่บยั่บซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ "อินดุส" และ "สินธุ" แม่น้ำใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของประเทศ อุทกภัยครั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอินดูสทางภาคใต้ ซึ่งเอ่อล้นฝั่งจนเขื่อนและทำนบกั้นริมฝั่งแม่น้ำแตก เพราะท้องแม่น้ำสายนี้เต็มไปด้วยโคลนเลนและตะกอนจึงดูดซับน้ำเร็วมาก ถ้าฝนตกหนักในฤดูมรสุมแค่ไม่ถึง 2 เดือนน้ำก็ล้นฝั่งแล้ว ด้วยเหตุที่มีแม่น้ำเยอะ การเกษตรถึง 80% ของปากีสถานจึงต้องพึ่งพาน้ำจากเครือข่าย "ชล-ประทาน" แต่ระบบชลประทานกลับไร้ประสิทธิภาพสุดๆ เพราะคูคลองส่งน้ำตื้นเขินอุดตัน หรือน้ำซึมลงดินเร็วเกินไป น้ำที่ผ่านระบบชลประทานจึงตกถึงพื้นที่เกษตรกรรมแค่ราว 1 ใน 3 เท่านั้น การปฏิรูประบบชลประทานเพื่อรับมือกับทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งจึงเป็นความท้าทาย สูงสุด แม้แต่แผนช่วยเหลือปากีสถานของสหรัฐฯ มูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ ยังต้องยกเรื่องนี้เป็นแกนหลัก ปากีสถานยังกลัวว่าน้ำท่วมครั้งล่าสุดจะหนักหนาสาหัสกว่านี้ ถ้า "อินเดีย" คู่อริ ระบายน้ำที่ท่วมอินเดียเช่นกันลงมาสู่ปลายน้ำ ทั้งที่ปกติจะกักเก็บน้ำไว้ซะเองจนมีกรณีพิพาทแย่งชิงน้ำกันมาตลอด เพราะแม่น้ำหลายสายมี "ต้นน้ำ" จากอินเดีย จนต้องทำข้อตกลงกันตั้งแต่ปี 2503 เพื่อแบ่งปันน้ำในแม่น้ำหลัก 6 สาย ขณะที่อินเดียมักกล่าวหาว่าปัญหาเกิดจากระบบชลประทานที่ย่ำแย่ของปากีสถาน อุทกภัยครั้งนี้นอกจากจะซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจของปากีสถานซึ่งถึงขั้นวิ่งโร่ไปขอ กู้เงินจากไอเอ็มเอฟถึง 11,300 ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้แล้ว ยังจะส่งผลกระทบด้านการเมืองและความมั่นคงอย่างรุนแรง ขณะที่กำลังต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงซึ่งโยงใยกับกลุ่มตาลีบันและอัลเคดาในอัฟกานิสถาน เป็น "วิกฤติ" รอบด้าน ซึ่งรัฐบาลปากีสถานผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และ "อภิมหาพันธมิตร" สหรัฐฯ หนักใจอย่างที่สุด!!! จาก .......... ไทยรัฐ วันที่ 6 กันยายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|