เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

 
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
Prev คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป Next
  #22  
เก่า 03-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


"อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา" "ลานิญา" ยังอยู่ อย่าไว้ใจสภาพอากาศปี 54




จากอุบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝนตกผิดฤดู หิมะตกหนัก อากาศร้อนจัด ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบตลอดปี 2553 จากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล นักวิชาการหลายสำนักมองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติภัยทางธรรมชาติมาจาก "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

อย่างไรก็ตาม ตัวการที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ถึงมุมมองและความเห็นในเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตลอด ปี 2553 ที่ผ่านมา พร้อมกับประเมินสภาพภูมิอากาศในปี 2554


ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปี 2553

ตลอดปี 2553 สภาพอากาศมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง ตั้งแต่ต้นปีเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ เกิดภาวะภัยแล้งทั่วประเทศ พอช่วงปลายปีเดือนสิงหาคม-ตุลาคมคาดว่าปรากฏการณ์เอลนิโญจะคลี่คลาย แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ลานิญาเข้ามาแทนที่ ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องมากกว่าทุกปี เกิดน้ำท่วมกระจายไปยังจังหวัดต่างๆหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้พื้นที่การเกษตร บ้านเรือนเสียหายประเมินมูลค่าหลายแสนล้านบาท มีผู้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุบัติที่เกิดขึ้นกว่า 200 คน

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะโทษปัจจัยภายนอก หรือโทษว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวคงไม่ใช่ ส่วนหนึ่งมาจากเราไม่ได้ตระหนักและเตรียมการรองรับ ทั้งยังไม่ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เป็นการประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป หรือไม่ได้ประเมินความเสี่ยงเลย เช่นที่โคราชน้ำท่วมหนักเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เพราะไม่คิดว่าฝนจะตกหนัก เพราะช่วงเวลา 20-30 ปีไม่เคยตกหนักขนาดนี้ ผมคิดว่าประเมินระยะสั้นเกินไป ถ้ามองย้อนหลังไปอีกถึงปี 2520 คิดว่าน่าจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ้าง


สาเหตุหลักที่เกิดภัยธรรมชาติ

ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ "การแปรปรวนสภาพอากาศ" เกิดจากการแกว่งตัวของมวลอากาศมาสู่แนวปะทะที่เส้นศูนย์สูตรแกว่งตัวมาเจอกัน ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่าน มีฝนตกหนัก เกิดปรากฏการณ์ลานิญาในช่วงเดือนกันยายน

เท่ากับปี 2553 เกิดขึ้นทั้ง 2 ปรากฏการณ์ เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นแต่ก็เคยขึ้นมาแล้วไม่ใช่ไม่เคยเกิด ถ้ารัฐบาลประเมินย้อนหลังไปมากกว่า 30 ปี ก็คิดว่าจะเตรียมรับมือได้ทัน ผมคิดว่าการประเมินความเสี่ยงของการแปรปรวนสภาพอากาศในรอบ 60 ปีเหมาะสมที่สุด 20-30 ปีนั้นสั้นไป ประเมินได้แค่วงรอบเดียวเท่านั้น ข้อมูลย้อนหลังทำได้ไม่ครอบคลุม ถ้าประเมินระยะยาวคงจะดีกว่านี้ ทั้งหมดนี้ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น


ปี 2554 จะเกิดเหตุรุนแรงหรือไม่

นักวิชาการหลายสำนักมองในแง่ดีว่าสภาพอากาศประเทศไทยในปี 2554 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ร้อน ฝนตก หนาวไม่รุนแรง แต่ผมยังไม่ปักใจเชื่อทั้งหมด เพราะจากการคาดการณ์โมเดลของปี 2553 ก็ผิดทั้งหมด จากที่ต้นปีเกิดภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิโญ และคิดว่าจะคลี่คลายช่วงปลายปีแต่ผลกลับไม่ใช่ มีฝนตกหนักทั่วประเทศ ดังนั้นสภาพอากาศในปีนี้จึงยังวางใจไม่ได้

เพราะสภาพหนาวช่วงปลายปี คล้ายกับช่วงปลายปี 2552 ประกอบกับปรากฏการณ์ลานิญายังไม่แกว่งตัวกลับ หรือยัง "ไม่คืนตัว" ดูได้จากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางอุณหภูมิน้ำทะเลยังเย็นอยู่ แสดงให้เห็นว่าลมตะวันออกที่พัดมาทางตะวันตกยังแรงอยู่ เพราะฉะนั้นจึงคาดการณ์ว่าฝนยังตกต่อเนื่องจากนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน ปริมาณฝนก็ยังมีมากพอสมควร แต่ปรากฏการณ์ของลานิญาจะค่อยๆเบาลงเรื่อยๆ คิดว่าจะคาดการณ์ได้ชัดเจนอีกทีในช่วงเดือนมกราคม


จะเตรียมรับมือได้อย่างไร

ถ้าเป็นอย่างนั้นเราไม่เรียกว่าคาดการณ์แต่เรียกว่าการสมมติ เพราะการคาดการณ์จะใช้หลักวิชาการ หลักฟิสิกส์มาประเมินพิสูจน์ได้ ซึ่งก็อาจจะผิดได้ แต่ไม่ใช่การ สมมติ เพราะการสมมติไม่จำเป็นต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ หรือหลักฟิสิกส์ใดๆมาประกอบการประเมินเลย

ปรากฏการณ์เอลนิโญ ลานิญาอาจไม่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพราะความแปรปรวนของสภาพอากาศ 2 คำนี้แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงหมายถึงเหตุการณ์จะเกิดถี่ขึ้น 2 หรือ 3 ปีเกิดขึ้น 1 ครั้ง แต่ถ้าแปรปรวนอาจจะมีระยะเวลานานมากกว่าจะย้อนกลับมาเกิดเหตุการณ์ ดังเช่นในปี 2553 ที่เกิดขึ้นปรากฏการณ์เอลนิโญและลานิญาในปีเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุบังเอิญ นานๆเกิดขึ้นที แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถ้าในปี 2554 เกิดขึ้นอีก ก็น่าจะเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ที่เป็นข้อสังเกตคือ สภาพอากาศในขณะนี้ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อย่างในฤดูหนาวยังมีฝนตก ซึ่งคนทั่วไปอาจจะเห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบและเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องจับตามองจากฤดูฝนไปสู่ฤดูหนาว เกิดการแกว่งตัว ลอยตัวของมวลอากาศมหาสมุทรอาร์กติก ใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งเป็นเหตุชี้สัญญาณเบื้องต้นที่จะเกิดความรุนแรงในอนาคต


ความกังวลเกี่ยวกับประเมินความเสี่ยง

ผมเป็นห่วงมากที่หลายฝ่ายเอาเรื่องเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปผสมกับการแปรปรวนของสภาพอากาศ การรับมือจะไม่สอดคล้องกัน น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ซึ่งทำให้หลงประเด็นหลัก ทุกสิ่งทุกอย่างอ่อนไหวไปกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ตัวชี้นำตัวหลักที่จะมากระทบยังมาไม่ถึง

ขนาดเรื่องของแปรปรวนเรายังรับมือไม่อยู่ ไม่มีจุดประเมินที่แท้จริงและนิ่งพอ ก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย ความเสียหายที่ผ่านมาประเทศไทยต้องจำไว้เป็นบทเรียน ปรับมาตรการรับมือให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะปัจจุบันการออกมาตรการบางทีก็ใหญ่ บางทีเล็กเกินไป จากประเมินความเสี่ยงคลาดเคลื่อน ซึ่งระยะสั้นในปัจจุบันยังพอมีมาตรการอยู่ ยังใช้ได้ ยังไม่มีความจำเป็นปรับเปลี่ยนอะไรมาก ที่ต้องทำมากกว่าเดิม คือ ต้องประเมินความเสี่ยงรอบการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติให้ยาวนานขึ้น

เพราะความเสี่ยงไม่ใช่แค่ทางกายภาพอย่างเดียว บางพื้นที่น้ำท่วมได้ บางพื้นที่แม้จะท่วมก็แค่ตาตุ่ม ท่วมแค่วันเดียว ก็ไม่ได้เอาปัจจัยมาดูทั้งพื้นที่ เพราะฉะนั้นต้องฉายให้เห็นภาพโดยรวมทั้งหมด นำมาเป็นหลักการในการตัดสินใจ เพื่อทำแผนปฏิบัติการ พยายามพลิกวิกฤตการณ์ต่างๆให้เป็นโอกาส ปรับตัวให้ได้ เมื่อน้ำท่วมก็คิดให้ได้ว่าจะใช้ประโยชน์จากน้ำท่วมได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น อาจจะเป็นโจทย์ยาก แต่ก็ต้องค้นหาคำตอบ เพราะเราไม่สามารถเลือกได้ว่าปรากฏการณ์เอลนิโญ หรือลานิญาจะเกิดเมื่อใด อาจจะเกิดโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว จึงต้องเตรียมรับมือไว้เสมอ




จาก .................. ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
 


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:35


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger