#11
|
||||
|
||||
หลายคำถามกับปะการังฟอกขาว (2) (ต่อ) รัฐบาล - ผลักดันให้แผนยุทธศาสตร์ปะการังแห่งชาติออกมาเป็นภาคปฏิบัติให้เร็วที่สุด (แผนนี้ใช้เวลาจัดทำหลายปี ครอบคลุมทุกประเด็นไว้หมดแล้ว แต่พอทำเสร็จก็อยู่บนหิ้ง ตอนนี้เข้าใจว่าคงอยู่ที่หิ้งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) - กำชับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลพื้นที่ต่างๆของแนวปะการัง ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ และองค์การต่างๆในส่วนจังหวัด ให้ตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดทางกฎหมาย โดยเฉพาะการลักลอบทำประมงในพื้นที่หวงห้าม และปัญหาเรื่องน้ำเสียและดินตะกอนที่มาจากการเปิดหน้าดินบนเกาะ - ประสานงานกับภาคเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรมต่างๆในด้านการฟื้นฟูปะการัง เช่น ปะการังเทียม แหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น - วางแผนด้านการขยายงานขององค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทะเล ให้มีศักยภาพมากขึ้นต่อการรับมือต่อปัญหาต่างๆในอนาคตอันใกล้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - ร่วมมือกับนักวิจัยเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์แนวปะการังตามพื้นที่ต่างๆอย่างละเอียด วางแผนในการปิด-เปิดจุดดำน้ำในพื้นที่ ตลอดจนวางแผนด้านการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ และนำมาปฏิบัติให้เป็นจริง (มีอยู่แล้วทั้งนั้นในแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง) - ร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาทางจัดการแนวปะการังร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาด้านน้ำเสียในเขตอุทยานที่ห่างไกลชายฝั่ง เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน ตลอดจนข้อควรปฏิบัติของนักท่องเที่ยวทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่นักดำน้ำ และการนำบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการที่ติดแบล็คลิสต์ให้คนทั่วไปมีโอกาสรับทราบ - จัดการระบบเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงค่าธรรมเนียนการดำน้ำลึกในอุทยานฯให้โปร่งใส มีสื่อเว็บไซต์หรือบอร์ดชี้แจงชัดเจนว่างบประมาณนำไปใช้ทำอะไร ? ตรงต่อวัตถุประสงค์หรือไม่ ? (ผมเป็นคนร่างวัตถุประสงค์ของการเก็บค่าธรรมเนียมแบบนี้ตั้งแต่แรก ระบุไว้ชัดเจนว่า 50% จะนำไปใช้เป็นค่าทุ่นจอดเรือ ค่าศึกษาวิจัยสถานการณ์ในแนวปะการัง และค่าดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล แต่ไม่เคยเห็นว่ามีการปฏิบัติตามนั้น) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง - ติดตามสถานการณ์แนวปะการังในพื้นที่นอกเขตอุทยานฯ ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดและท้องถิ่น เพื่อหาทางอนุรักษ์และจัดการแนวปะการังร่วมกัน - ประสานกับนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน จัดการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ กรมประมง - รวบรวมข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมง โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน ขอความสนับสนุนจัดทำปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้แนวปะการังเป็นอันดับแรก กองทัพเรือ - ให้ความสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมถึงการจัดทำแหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น อุทยานใต้ทะเล และโครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดผลกระทบจากการดำน้ำในแนวปะการัง เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเลให้มากขึ้น และอนุรักษ์ทรัพยากรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ - ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านการฟื้นฟูแนวปะการัง โดยเฉพาะปะการังเทียมรูปแบบใหม่ๆ แหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น และการปลูกปะการัง - ผลิตบุคลากรที่มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับแนวปะการัง ตลอดจนการศึกษา การจัดการ และวิธีการฟื้นฟูแนวปะการัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย - วางแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ประสานงานกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว - ส่งเสริมการท่องเที่ยวดำน้ำในแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อลดผลกระทบในแนวปะการัง หน่วยงานอื่นๆ เช่น สถาบันการศึกษาทั่วไป - ศึกษาข้อมูลจากกรณีปะการังฟอกขาว เพื่อนำไปสอนนักเรียนนิสิตนักศึกษา เพื่อให้เข้าใจกับปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน - ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างชัดเจน กลุ่มนักดำน้ำและอาสาสมัคร - สร้างบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในรูปแบบต่างๆ - สร้างเครือข่ายและตรวจสอบสถานการณ์ตลอดจนปัญหาที่เกิดในพื้นที่ จัดทำกิจกรรมดีๆตามหลักวิชาการ หน่วยงานเอกชน - ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูแนวปะการังที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ประชาชนทั่วไป - เข้าร่วมในการช่วยอนุรักษ์แนวปะการัง เช่น แจ้งข้อมูลให้ภาครัฐทราบ เลือกใช้บริการผู้ประกอบการที่ดี - รักแนวปะการังให้มากกว่าความสนุกหรือความสะดวกสบายของตัวเอง กระทรวงท่องเที่ยวฯ - กำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มาก เช่น ในด้านการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว นายทะเบียนผู้ประกอบการ ฯลฯ จาก ................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|