#1
|
||||
|
||||
การเพาะพันธุ์เห็ดทะเลเชิงพาณิชย์
การเพาะพันธุ์เห็ดทะเลเชิงพาณิชย์ เห็ดทะเลเป็นสัตว์ทะเลสวยงามชนิดหนึ่ง ที่ผู้นิยมเลี้ยงปลาทะเลทั้งหลายนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เห็ดทะเลจึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ของผู้เลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงาม แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว เห็ดทะเลนับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกตาและไม่คุ้นเคย จนบางครั้งหลายคนอาจเกิดความสับสนว่าเห็ดทะเลเป็นดอกไม้ทะเลชนิดหนึ่ง นักชีววิทยาทางทะเลได้จัดเห็ดทะเลไว้ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) ซึ่งเป็นพวกเดียวกับ ปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล และแมงกะพรุน นอกจากนี้เห็ดทะเลยังเป็นสัตว์ทะเลที่ยังไม่ถูกห้าม เลี้ยงโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกด้วย เป็นเหตุให้ปัจจุบันเห็ดทะเลถูกจับขึ้นมาจากแหล่งธรรมชาติ เพื่อนำมาเลี้ยงในตู้ปลาทะเลเป็นจำนวนมาก จนอาจเสียสมดุลของระบบนิเวศน์ได้ เห็ดทะเลเป็นสัตว์กลุ่มที่มีลักษณะเด่น คือ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยเมื่อถูกตัดส่วนใดส่วนหนึ่งไป เห็ดทะเลสามารถที่จะเจริญเติบโตเป็นตัวใหม่ได้ซึ่งจากการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการ และระบบต้นแบบในการผลิตเห็ดทะเล ก็สามารถผลิตเห็ดทะเลได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นให้ได้ปริมาณเหมาะสมกับการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้เพราะการผลิตเห็ดทะเลให้มีจำนวนมากเพียงพอต่อการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องมีระบบการเลี้ยงที่เหมาะสม ดังนั้น สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จึงสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการขยายพันธุ์เห็ดทะเลสายพันธุ์ของประเทศไทยและสายพันธุ์ต่างประเทศซึ่งเป็นที่นิยมในระดับเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งพัฒนาระบบการเลี้ยงและศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่ออัตรารอดและการเจริญเติบโตของเห็ดทะเล เพื่อผลิตเห็ดทะเลที่ได้จากการขยายพันธุ์ให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังเป็นแนวทางในการช่วยอนุรักษ์พันธุ์เห็ดทะเลในธรรมชาติได้อีกด้วย ถิ่นที่อยู่อาศัยของเห็ดทะเล เห็ดทะเลดำรงชีวิตอยู่ตามแนวปะการังทั่วไป มักพบอาศัยอยู่ในแนวปะการังน้ำตื้น (Fringing reef) ของเขตร้อนทั่วโลก เห็ดทะเลอาศัยและเจริญเติบโตบนก้อนหินหรือซากปะการังที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตอยู่กับที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายหรืออาจมีการเคลื่อนที่เล็กน้อยเพื่อความอยู่รอดและการขยายพันธุ์ การกินอาหารของเห็ดทะเล ในเนื้อเยื่อตามร่างกายของเห็ดทะเลจะมีสาหร่ายเซลล์เดียวที่ชื่อว่า ซูแซนทาลี่ (Zooxanthallae) อาศัยอยู่และเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพา (Symbiosis) เห็ดทะเลจะได้รับสารอาหารจากการสังเคราะห์แสงของซูแซนทาลี่เป็นหลัก บางครั้งพบว่าซูแซนทาลี่ที่เจริญ เติบโตมีจำนวนมากเกินไปเห็ดทะเลก็สามารถกรองกินซูแซนทาลี่นั้นได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น นอกจากนี้ เห็ดทะเลบางชนิดยังสามารถจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกินเป็นอาหาร เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นต้น ซึ่งเป็นการกินอาหารของเห็ดทะเลอีกวิธีหนึ่ง การสืบพันธุ์ของเห็ดทะเล เห็ดทะเลมีความสามารถในการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้ดีมาก ส่วนมากที่พบคือการแตกหน่อ เห็ดทะเลจะใช้ฐานเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากตำแหน่ง เดิมแต่จะทิ้งเนื้อเยื้อส่วนหนึ่งไว้เล็กน้อย เนื้อเยื่อเหล่านี้จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นเห็ดทะเลตัวใหม่ได้ พบว่าเห็ดทะเลบางชนิดที่มีความสมบูรณ์สามารถแตกหน่อได้ถึง 5-6 หน่อในระยะเวลา 1 ปี อีกวิธีหนึ่งที่พบเห็นทั่วไป คือ เห็ดทะเลจะปล่อยตัวเองออกจากวัสดุยึดเกาะ และล่องลอยไปกับกระแสน้ำเมื่อไปตกในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เห็ดทะเลเหล่านั้นจะสามารถเจริญเติบโตต่อไป สำหรับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลที่ สวก. สนับสนุน เป็นการพัฒนาการเลี้ยงเห็ดทะเลที่ได้จากการนำพันธุ์เห็ดทะเลมาผ่าหรือตัดแบ่งชิ้นส่วนของเห็ดทะเลออก แล้วนำมาอนุบาลจนชิ้นส่วนของเห็ดทะเลฟื้นตัว และเริ่มเกาะติดวัสดุอย่าง เช่น เปลือกหอย (ใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน) จากนั้นจึงเริ่มนำชิ้นส่วนของเห็ดทะเลที่เกาะติดกับเปลือกหอยมาติดกับก้อนวัสดุหรือหินมีชีวิตอีกครั้ง แล้วนำมาเลี้ยงอนุบาลต่อจนเห็ดทะเลสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเลี้ยงในบ่อเลี้ยงซึ่งใช้ระบบน้ำหมุนเวียน หรือ ระบบปิดที่มีการบำบัดน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงผ่านระบบการบำบัดทางกายภาพ ด้วยการกรองผ่านชั้นกรองต่างๆ เช่น เส้นใยผ้า เปลือกหอย เป็นต้น จากนั้นจึงผ่านไปยังระบบการบำบัดทางชีวภาพ ด้วยการพักในบ่อ ปรับสภาพที่มีสาหร่ายหรือพืชน้ำซึ่งช่วยกำจัดของเสียต่างๆในระบบได้ แล้วหมุนเวียนน้ำที่ผ่านการบำบัดและปรับสภาพแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในระบบการเลี้ยง ระบบการเลี้ยงเห็ดทะเลแบบปิด ประโยชน์ของการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเห็ดทะเล โดยใช้ระบบน้ำหมุนเวียน สามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิต และเป็นตัวอย่างในการจัดการระบบการเลี้ยง ทำให้สามารถใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งสามารถเพิ่มโอกาสให้ผู้สนใจที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำทะเลสามารถพัฒนาหรือนำแนวทางมาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงเห็ดทะเลในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายในระยะแรกๆเป็นประชาชนทั่วไปที่สนใจในการเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงาม หรือเลี้ยงประดับตู้ปลาทะเล และเมื่องานวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็สามารถขยายผลไปยังกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ โดยหลังจากมีการใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว ในปัจจุบันและในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามจะเป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ที่สนใจสามารถนำไปใช้ส่วนตัวเองหรือพัฒนาต่อไป สู่การดำเนินการในเชิงพาณิชย์ต่อๆไปได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้อีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากร ที่มีในธรรมชาติให้คงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไปได้ จาก ................. แนวหน้า วันที่ 9 สิงหาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 20-03-2024 เมื่อ 07:11 |
|
|