#23
|
||||
|
||||
"โรคเครียด" จาก "น้ำท่วม" จิตแพทย์แนะ "ทำใจ" กว่า 2 สัปดาห์ที่อุทกภัยครั้งใหญ่พัดพาน้ำไหลบ่าเข้าท่วมเกือบทุกหัวระแหงของประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง มวลน้ำมุ่งเข้าโจมตีเมืองหลายแห่งจนฝาย เขื่อน คันกั้นน้ำพังทลาย น้ำก้อนใหญ่ทะลักเข้าท่วมตัวเมือง แผ่ขยายทั่วอาณาบริเวณ หลายพื้นที่กลายเป็นทะเลในชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านค้าขนาดเล็กและบ้านเรือนประชาชนล้วนได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ไร้ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เครื่องอุปโภคบริโภค หยุดงาน ขาดรายได้ ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยไปจนถึงรายใหญ่แทบสิ้นเนื้อประดาตัวไปตามๆกัน เนื่องจากขนย้ายสิ่งของหนีน้ำไม่ทัน หรือย้ายทันแต่ไม่รู้จะขนไปเก็บไว้ที่ไหน ก็ได้แต่นั่งมองข้าวของค่อย ๆ จมน้ำ บางคนต้องสูญเสียคนที่รัก สัตว์ที่เลี้ยง เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพรากพวกเขาจากไปอย่างไม่มีวันกลับมา ต่างกับกระแสน้ำที่ยังท่วมขังและไม่รู้ว่าน้ำจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ หลายชีวิตต้องอาศัยพื้นถนนหลับนอน ศูนย์อพยพหลายแห่งมีผู้คนเข้าไปพักพิงจนแน่น นี่คือสภาพน้ำท่วมในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2554 ผู้ประสบภัยย่อมเกิดความเครียด สิ้นหวัง หดหู่ จากการสูญเสียครั้งนี้ ยากที่จะทำใจรับได้ในทันทีทันใด ขณะที่ชาวเมืองหลวงผู้รับข่าวสารจากทุกทาง ตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำที่กำลังมุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯแบบนาทีต่อนาที หลายครอบครัวเร่งกักตุนสินค้า วิ่งหาที่ปลอดภัยจอดรถกันให้วุ่น จนอาคารสูงหลายแห่งเต็มจนล้นเกือบทุกแห่ง ภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทุกหย่อมหญ้า เกิดความเครียดสะสม...จนถึงระดับคิด "ฆ่าตัวตาย" ทั้งหมดขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภัยพิบัติที่แต่ละคนได้รับและรับได้ ฉะนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะเกิดความเครียด จิตตก วิตก กังวล ซึ่งควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันเหตุที่ไม่คาดคิด กลุ่มเสี่ยง "วัยทำงาน-คนแก่" น.พ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า กลุ่มคนที่มีอาการเครียดเพราะน้ำท่วมเป็นกลุ่มคนที่กรมสุขภาพจิตเฝ้าระวังคือ คนที่เครียดมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีภาวะทางจิตเวชมาก่อน "สำหรับคนทั่วไปที่ประสบอุทกภัย ในเวลานี้ยังไม่ถึงเวลาที่เค้าอยากจะฆ่าตัวตาย แต่จะเกิดหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปซักระยะหนึ่งแล้ว ฉะนั้นเราต้องเฝ้าดูคนเหล่านั้น ถ้าเขาไม่สนุกสนาน ร่าเริง แยกตัว บางครั้งก็พูดเรื่องความตาย ฝากลูกฝากหลาน พูดทำนองที่ว่า ถ้าเขาไม่อยู่แล้วจะทำอย่างไร รวมทั้งคนที่พอเครียดแล้วก็ดื่มเหล้า เครียดแล้วก็ดื่มเหล้า คนเหล่านี้ก็อาจทำร้ายตัวเองได้" เจ้าหน้าที่จำต้องเข้าไปดูเป็นพิเศษในพื้นที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ทำแบบประเมินแนวโน้มการฆ่าตัวตาย และเจ้าหน้าที่ทุกคนมีแบบประเมินในพื้นที่มีปัญหาก็จะเลื่อนตามระดับน้ำลงมาเรื่อยๆ น.พ.อภิชัยบอกว่า โรคเครียดเกิดขึ้นได้กับหลายช่วงอายุ แต่ที่เฝ้าระวังคือ คนที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 75-85 ปี กับกลุ่มวัยแรงงานอายุ 25-45 ปี โดยกลุ่มผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ขณะที่คนวัยทำงานจะมีจำนวนการฆ่าตัวตายมากที่สุดจึงต้องดูแลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ "ผู้สูงอายุจะเกิดอาการซึมเศร้า ห่วงบ้าน ห่วงข้าวของเครื่องใช้ ส่วนกลุ่มคนทำงานก็กังวลเรื่องรายได้ ครอบครัว อนาคตเพราะกำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ทุกอย่างต้องจมหายไปกับน้ำ ทำให้สองกลุ่มนี้อาจเกิดภาวะเครียดจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว ฉะนั้นขอให้ทุกคนมีความหวัง ให้เวลาเยียวยาทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น ขอเพียงแค่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ทางบรรเทาทุกข์ น.พ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ตอนนี้คนที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมต้องเผชิญปัญหาหลายด้านพร้อมกัน ความไม่สะดวกในการดำรงชีวิต ความเสียหายของบ้าน รถยนต์ และทรัพย์สินเงินทอง พื้นที่ทำการเกษตรที่เสียหาย มีภาระหนี้สิน หรือบางคนเกิดการเจ็บป่วย สูญเสียญาติพี่น้อง ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง วิตกกังวล และป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ "แต่ละคนสามารถรับมือกับความเครียดได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนพื้นฐานด้านจิตใจแต่ละคนว่าแข็งแรงแค่ไหน" ความเครียดสามารถแสดงอาการออกมาได้หลายรูปแบบ เบื้องต้นมักแสดงออกมาในรูปของความไม่สบายทางกาย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ใจสั่น หายใจไม่ออก ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน บางรายถ้าอาการรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้จะเกิดอาการกลัว วิตกกังวลอย่างรุนแรง มีอาการตื่นตระหนก หายใจเร็วกว่าปกติ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เกร็งตามมือและเท้า กลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย "แรงปะทะจากเหตุการณ์อันเดียวกันบางคนล้ม บางคนไม่ล้ม คนที่ไม่โดนน้ำท่วมก็อาจจะเอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านที่เดือดร้อน มีบ้านชั้นเดียวมาอาศัยให้ใช้ห้องน้ำ ห้องครัว มีอะไรก็แบ่งปันกันไป หรือไม่ก็ให้เวลารับฟังปัญหา ความรู้สึก ความคับข้องใจและเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน เราทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกัน เป็นผู้ร่วมชะตากรรม จำเป็นต้องช่วยเหลือดูแลเอาใจใส่กัน" "ไม่ใช่เราคนเดียวที่ถูกน้ำท่วม ธรรมชาติไม่ได้คิดที่จะทำร้ายเราคนเดียว และทุกอย่างก็ต้องมีเวลาสิ้นสุด เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เมื่อเห็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เราจะเห็นว่าเขาได้รับทุกข์ที่ใหญ่กว่า" พ.ญ. ขนิษฐา อุดมพูนสิน แพทย์ประจำแผนกจิตเวช โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน กล่าว 4 วิธีรับมือวิกฤต 1.ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจและยอมรับ ภัยพิบัติไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้เคราะห์ร้ายอยู่คนเดียว ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกมาก อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง "ท้อแท้ได้ แต่อย่านาน และต้องลุกขึ้นเดินต่อ" 2.จัดลำดับความสำคัญของปัญหา พยายามนั่งพักให้จิตใจนิ่งแล้วรวบรวมสติมองปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เช่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่ การกิน การนอน เรื่องการขับถ่าย 3.พยายามใช้ชีวิตเรียบง่าย คนที่ประสบกับปัญหาจะต้องปรับวิธีคิด และปล่อยวางเรื่องทรัพย์สินสิ่งของนอกกาย อนาคตยังมีโอกาสหาใหม่ได้ พยายามใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อลดความรู้สึกเครียดลงบ้าง บางคนห่วงทรัพย์สินจนไม่ยอมอพยพ ควรมีการชั่งน้ำหนัก "ชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า" 4.เอาใจใส่ ดูแลกันและกัน คนที่แข็งแรงต้องช่วยคนที่อ่อนแอ ต้องคอยให้กำลังใจกับคนที่รู้สึกหมดแรง ท้อแท้ ได้ระบายความรู้สึก แล้วก็ให้กำลังใจกัน วิกฤตครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่รุนแรงมากในประวัติศาสตร์ของประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้สำเร็จ ต้องใช้เวลายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ตั้งหลัก ตั้งสติให้ได้ "ทุกคนต้องร่วมมือกัน...เพื่อฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้" ระวังภัย 5 โรคที่มากับน้ำ กระทรวงสาธารณสุขแจ้งเตือนประชาชนเรื่องโรคระบาด ต้องเฝ้าระวังในเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม คือเรื่องขยะ สิ่งขับถ่าย รวมถึงน้ำดื่มต้องสะอาด โรคระบาดที่มากับน้ำท่วมต้องเฝ้าระวัง 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ไข้หวัด ตาแดง และไข้เลือดออก ส่วนโรคที่ป่วยกันมากคือ โรคน้ำกัดเท้า ให้ดูแลอย่าให้มีบาดแผลที่เท้า และให้ล้างเท้าให้สะอาดหลังจากลุยน้ำแล้วทุกครั้ง จาก ...................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|