เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > Main Category > ห้องรับแขก

 
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
Prev คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป Next
  #24  
เก่า 25-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


คู่มือรับวิกฤตอุทกภัย การปฏิบัติตัวหลังน้ำลด



วิกฤตอุทกภัยหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือ อีสาน กลาง และคาดว่าจะไล่ลุกลามเข้าสู่ภาคใต้ด้วยอิทธิพลของพายุต่างๆ

คนไทยต้องตั้งรับ รับมือ สู้กับมหาภัยน้ำท่วมครั้งนี้อย่างไร ข้อมูลจาก "คู่มือรับสถานการณ์น้ำท่วม" ซึ่งจัดทำโดยหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้เอาไว้ดังนี้

เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่น้ำท่วม โดยทางรัฐและหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องกระทำการป้องกันและฟื้นฟู ระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญก่อน อาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนได้อย่างทันที ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีความพร้อมในการเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยที่จะเกิดขึ้นได้


การเตรียมการก่อนน้ำท่วม

การป้องกันตัวเองและความเสียหายจากน้ำท่วม ควรเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพราะหากรอให้เตือนภัยเวลามักไม่เพียงพอ รู้จักกับภัยน้ำท่วมของคุณ สอบถามหน่วยงานที่มีการจัดการด้านน้ำท่วม ด้วยคำถามดังต่อไปนี้

- ภายในละแวกใกล้เคียงในรอบหลายปี เคยเกิดน้ำท่วมสูงที่สุดเท่าไร

- เราสามารถคาดคะเนความเร็วน้ำหรือโคลนได้หรือไม่

- เราจะได้รับการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะมาถึงเป็นเวลาเท่าไหร่

- เราจะได้รับการเตือนภัยอย่างไร

- ถนนเส้นใดบ้างในละแวกนี้ที่จะถูกน้ำท่วมหรือจะมีสิ่งกีดขวาง


การทำแผนรับมือน้ำท่วม

การจัดทำแผนรับมือน้ำท่วม จะช่วยให้คุณนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่จะต้องทำหลังได้รับการเตือนภัยเดินสำรวจทั่วทั้งบ้านด้วยคำแนะนำที่กล่าวมา พร้อมทั้งจดบันทึกด้วยว่าจะจัดการคำแนะนำอย่างไร ในช่วงเวลาที่ทุกๆคนเร่งรีบและตื่นเต้นเนื่องจากภัยคุกคาม สิ่งที่สำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือ หมายเลขโทรศัพท์ต่างๆ ที่สำคัญไว้ในแผนด้วย

ถ้าคุณมีเวลาเล็กน้อยหลังการเตือนภัย สิ่งที่ต้องทำและมีในแผน คือ

- หาทางรับสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉิน และข้อมูลจากสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ที่รายงานสถานการณ์

- จัดทำรายชื่อสถานที่ 2 แห่งที่สมาชิกในครอบครัวสามารถพบกันได้หลังจากพลัดหลงโดยสถานที่แรกให้อยู่ใกล้บริเวณบ้านและอีกสถานที่อยู่นอกพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงระดับการเตือนภัยน้ำท่วม


สิ่งที่ควรทำหลังจากได้รับการเตือนภัยจากหน่วยงานด้านเตือนภัยน้ำท่วม

1.ติดตามการประกาศเตือนภัยจากสถานีวิทยุท้องถิ่น โทรทัศน์หรือรถแจ้งข่าว

2.ถ้ามีการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและคุณอยู่ในพื้นที่หุบเขาให้ปฏิบัติดังนี้

- ปีนขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

- อย่าพยายามนำสัมภาระติดตัวไปมากเกินไป ให้คิดว่าชีวิตสำคัญที่สุด

- อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำหลาก

3.ดำเนินการตามแผนรับมือน้ำท่วมที่ได้วางแผนไว้แล้ว

4.ถ้ามีการเตือนภัยการเฝ้าระวังน้ำท่วมจะยังมีเวลาในการเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม

5.ถ้ามีการเตือนภัยน้ำท่วมและคุณอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง ควรปฏิบัติดังนี้

- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊สถ้าจำเป็น

- อุดปิดช่องน้ำทิ้งอ่างล้างจาน

- ปิดพื้นที่ห้องน้ำและสุขภัณฑ์ที่น้ำสามารถไหลเข้าบ้าน

- ล็อกประตูบ้านและอพยพขึ้นที่สูง

- ถ้าไม่มีที่ปลอดภัยบนที่สูง ให้ฟังข้อมูลจากวิทยุหรือโทรทัศน์เกี่ยวกับสถานที่หลบภัยของหน่วยงาน

6.หากบ้านพักอาศัยของคุณไม่ได้อยู่ในที่น้ำท่วมถึง แต่อาจมีน้ำท่วมในห้องใต้ดิน

- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องใต้ดิน

- ปิดแก๊สหากคาดว่าน้ำจะท่วมเตาแก๊ส

- เคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นข้างบน

- ห้ามอยู่ในห้องใต้ดิน เมื่อมีน้ำท่วมถึงบ้าน


น้ำท่วมฉับพลันคือ น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในบริเวณที่ลุ่มต่ำ ในแม่น้ำ ลำธารหรือร่องน้ำที่เกิดจากฝนที่ตกหนักมากติดต่อกันหรือจากพายุฝนที่เกิดซ้ำหลายครั้ง น้ำป่าอาจเกิดจากที่สิ่งปลูกสร้างโดยมนุษย์ เช่น เขื่อนหรือฝายพังทลาย

- ถ้าได้ยินการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันให้วิ่งไปบนที่สูงทันที

- ออกจากรถและที่อยู่ คิดอย่างเดียวว่าต้องหนี

- อย่าพยายามขับรถหรือวิ่งย้อนกลับไปทางที่ถูกน้ำท่วม


ปลอดภัยไว้ก่อนเมื่ออยู่นอกบ้าน

- ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหล

มีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตจากจมน้ำตายในขณะที่น้ำกำลังมา ความสูงของน้ำแค่ 15 ซ.ม. ก็ทำให้เสียหลักล้มได้ ดังนั้น ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินผ่านที่น้ำไหลให้ลองนำไม้จุ่มเพื่อวัดระดับน้ำก่อนทุกครั้ง

- ห้ามขับรถในพื้นที่ที่กำลังโดนน้ำท่วม

การขับรถในพื้นที่ที่น้ำท่วมมีความเสี่ยงสูงมากที่จะจมน้ำ หากเห็นป้ายเตือนตามเส้นทางต่างๆ ห้ามขับรถเข้าไปเพราะอาจมีอันตรายข้างหน้า น้ำสูง 50 ซ.ม. พัดรถยนต์ จักรยานยนต์ให้ลอยได้

- ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ

กระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งผ่านได้ เมื่อเกิดน้ำท่วมแต่ละครั้งจะมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากไฟดูดมากกว่าสาเหตุอื่นๆ เมื่อเห็นสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหายกรุณาแจ้ง 191 หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


หลังน้ำท่วมผ่านพ้น

3 ขั้นตอนที่ควรทำในวันแรกๆ หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม

ขั้นตอนที่ 1 : เอาใจใส่ตัวเอง

หลังผ่านเหตุการณ์น้ำท่วม คุณและครอบ ครัวอาจเกิดความซึมเศร้า และต้องใช้เวลากลับสู่ภาวะปกติ อย่าลืมว่าเหตุการณ์น้ำท่วมนั้นอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย คุณต้องดูแลตัวเองและครอบครัว พร้อมกับการบูรณะบ้านให้กลับมาเหมือนเดิม อุปสรรคที่สำคัญคือ ความเครียด รวมทั้งปัญหาอื่น เช่น นอนหลับยาก ฝันร้ายและปัญหาทางกาย โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งคุณและครอบครัวควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

1.ให้เวลากับครอบครัวเพราะความอบอุ่นในครอบครัวอาจช่วยเยียวยารักษาได้ดี

2.พูดคุยปัญหากับเพื่อนและครอบครัว ร่วมแบ่งปันความกังวลจะช่วยให้ได้ระบายและผ่อนคลายความเครียด

3.พักผ่อนและกินอาหารที่เป็นประโยชน์ เพราะมีปัญหาทั้งความเครียดและทางกายเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอ

4.จัดลำดับสิ่งที่จำเป็น ต้องทำตามลำดับก่อนหลังและค่อยๆทำ

5.ขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เมื่อเกิดอาการซึมเศร้าจนที่จะรับมือได้

6.ดูแลเด็กๆให้ดี และโปรดเข้าใจเด็กมีความตื่นกลัวไม่แพ้กัน และอย่าตำหนิเด็กที่มีพฤติกรรมแปลกๆหลังจากน้ำท่วม เช่น ฉี่รดที่นอน ดูดนิ้วโป้งหรือเกาะคุณอยู่ตลอดเวลา จำไว้ว่าเด็กเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรงในชีวิต

7.ระวังเรื่องสุขอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่เคยน้ำท่วม


ขั้นตอนที่ 2 : การจัดการดูแลบ้านของคุณ

ที่ผ่านมามีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตเนื่องจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่เกิดจากถูกไฟดูด หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากน้ำลด สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อกลับบ้านคือ การตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนเข้าบูรณะและอยู่อาศัย โดยมีขั้นตอนดังนี้

1.ปรับจูนคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ฟังรายงานสถานการณ์

2.ติดต่อบริษัทประกันภัย เพื่อตรวจสอบความเสียหาย และซ่อมแซมทรัพย์สินต่างๆ

3.เดินตรวจตรารอบๆบ้าน และเช็กสายไฟฟ้า สายถังแก๊ส ถ้าหากเกิดแก๊สรั่วจะสามารถรู้ได้จากกลิ่นแก๊สให้ระวังและรีบโทร.แจ้งร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

4.ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง ตัวบ้าน ระเบียง หลังคา ให้แน่ใจว่าโครงสร้างทุกอย่างปลอดภัย

5.ตัดระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าบ้าน

6.ปิดวาล์วแก๊สให้สนิท หากได้กลิ่นแก๊สรั่วไม่ควรเข้าใกล้บริเวณนั้น

7.เข้าไปในบ้านอย่างระมัดระวัง และอย่าใช้วัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ

8.ถ่ายรูปความเสียหาย เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากประกัน (ถ้ามี)

9.เก็บกู้สิ่งของที่มีค่า และห่อหุ้มรูปภาพหรือเอกสารสำคัญ

10.เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน เปิดหน้าต่างและประตู เพื่อระบายอากาศ และตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งก่อสร้างต่างๆ

11.ซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหาย

12.เก็บกวาดกิ่งไม้ หรือสิ่งปฏิกูลในบ้าน

13.ตรวจหารอยแตกหรือรั่วของท่อน้ำ ถ้าพบให้ปิดวาล์วตรงมิเตอร์น้ำ ไม่ควรดื่มและประกอบอาหารด้วยน้ำจากก๊อกน้ำ จนกว่าจะรู้ว่าสะอาดและปลอดภัย

14.ระบายน้ำออกจากห้องใต้ดินอย่างช้าๆ เนื่องจากแรงดันน้ำภายนอกอาจจะมากจนทำให้เกิดรอยแตกของผนังหรือพื้นห้องใต้ดิน

15.กำจัดตะกอนที่มาจากน้ำ เนื่องจากเชื้อโรคส่วนมากมักจะมาจากตะกอน


การรับมือเหตุน้ำท่วมครั้งต่อไป

1.คาดคะเนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของคุณเมื่อเกิดน้ำท่วม

2.ทำความคุ้นเคยกับระบบการเตือนภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนการอพยพ

3.เรียนรู้เส้นทางการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด จากบ้านไปยังที่สูงหรือพื้นที่ปลอดภัย

4.เตรียมเครื่องมือรับวิทยุแบบพกพา อุปกรณ์ทำอาหารฉุกเฉินแหล่งอาหารและไฟฉาย รวมทั้งแบตเตอรี่สำรอง

5.ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม ควรจะเตรียมวัสดุ เช่น กระสอบทราย แผ่นพลาสติก ไม้แผ่น ตะปู กาวซิลิโคน เพื่อใช้ป้องกันบ้านเรือน และควรทราบแหล่งวัตถุที่จะนำมาใช้

6.นำรถยนต์และพาหนะไปเก็บไว้ในพื้นที่ ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง

7.ปรึกษาและทำข้อตกลงกับบริษัทประกันภัย เกี่ยวกับการประกันความเสียหาย

8.บันทึกหมายเลขโทรศัพท์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและเก็บไว้ตามที่จำง่าย

9.รวบรวมของใช้จำเป็นและเสบียงอาหารที่ต้องการใช้ ภายหลังน้ำท่วมไว้ในที่ปลอดภัยและสูงกว่าระดับที่คาดว่าน้ำจะท่วมถึง

10.ทำบันทึกรายการทรัพย์สินมีค่าทั้งหมด ถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน

11.เก็บบันทึกรายการทรัพย์สิน เอกสารสำคัญและของมีค่าอื่นๆ ในสถานที่ปลอดภัยห่างจากบ้านหรือห่างไกลจากที่น้ำท่วมถึง เช่น ตู้เซฟที่ธนาคาร หรือไปรษณีย์

12.ทำแผนการรับมือน้ำท่วม และถ่ายเอกสารเก็บไว้เป็นหลักฐานที่สังเกตได้ง่าย และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมที่เหมาะสมกับบ้านของคุณ

13.ถ้าคุณคือพ่อแม่ ซักซ้อมและให้ข้อมูลแก่บุตรหลานของคุณ ขณะเกิดน้ำท่วม เช่น ไม่สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำและอยู่ใกล้เส้นทางน้ำ




จาก .......................... ข่าวสด วันที่ 25 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
 


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:42


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger