#24
|
||||
|
||||
มันจะมากับ 'น้ำท่วม' 'ภัยสัตว์พิษ' ไม่เท่าทัน...อันตราย!! นอกจากภัย “ไฟช็อต-ไฟดูด” ที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” เป็นสื่อแรกๆที่นำเสนอแจ้งเตือนแล้ว ในช่วงที่เกิด ’น้ำท่วม“ นั้น ภัยซ้อนภัยอีกรูปแบบที่ก็ต้องระวังให้จงหนักคือ ’ภัยสัตว์พิษ“ เช่น... งู, ตะขาบ, แมงป่อง หรือแม้แต่ มด บางชนิดก็มีพิษภัยไม่ธรรมดา สัตว์พิษต่างๆ มักจะมาสู่บ้านเรือนในช่วงน้ำท่วม ต้องระวังให้ดี ’ต้องป้องกัน“ และ ’ต้องรู้เท่าทันถึงอันตราย“ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วมแต่ก็อยู่ใกล้กับพื้นที่น้ำท่วม พื้นที่ที่น้ำกำลังท่วมอยู่ พื้นที่ที่น้ำท่วมและน้ำลดแห้งแล้ว จะอย่างไรก็วางใจ “ภัยสัตว์พิษ” ไม่ได้ ซึ่งก็ลองมาดูคำแนะนำในเรื่องนี้ จากข้อมูลในเว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม ข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสรุปนั้น มีดังนี้คือ... พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์มีพิษ เช่น งู มด ตะขาบ แมงป่อง ด้วงน้ำมัน ฯลฯ มักจะหนีน้ำจากที่ต่างๆ เช่น ใต้ดิน พุ่มไม้ ท่อระบายน้ำ กองหิน กองวัสดุ เข้าสู่บ้านเรือนของมนุษย์ ซึ่งการป้องกันนั้น ต้องเก็บของบริเวณที่อยู่อาศัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะบริเวณใต้ตู้ รองเท้า เสื่อ ผ้าเช็ดเท้า อย่ากองวัสดุรกรุงรัง เพราะอาจจะเป็นแหล่งหลบซ่อนของสัตว์พิษเหล่านี้ และต้องอุดรูประตู หน้าต่าง ผนังบ้าน ท่อน้ำทิ้งอ่างล้างจาน อ่างล้างหน้า ท่อระบายน้ำในห้องน้ำ หรือรูตามพื้นบริเวณบ้าน ด้วยวัสดุ เช่น ปูนขาว ปูนซีเมนต์ หรือวัสดุอุดยาแนวอื่นๆ ซึ่งก็จะสามารถป้องกันสัตว์พิษไม่ให้เข้าอาคารบ้านเรือนได้ในระดับหนึ่ง ต้อง ’อุดรู“ ต่างๆ และกรณีที่น้ำยังไม่ท่วมถึงตัวบ้าน ถ้าเป็นไปได้ให้ ’โรยปูนขาว“ ล้อมรอบบ้าน จะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษมิให้เข้ามาในบริเวณบ้าน กรณีน้ำท่วมเข้าบ้านแล้ว ให้ ’ใช้น้ำมันก๊าดราด“ รอบที่พักอาศัย จะทำให้สัตว์ไม่เข้ามาใกล้ และควร ’เตรียมยาฆ่าแมลง“ ไว้ใช้ไล่สัตว์มีพิษด้วย สำหรับนอกบ้าน... กรณีต้องลุยน้ำท่วมออกไป ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มิดชิด หนาๆ และรัดกุม หาไม้มาใช้ตีหรือกระทุ้งน้ำให้น้ำกระจายขณะเดินลุยน้ำ จะทำให้สัตว์ตกใจและหนีไป การออกไปลุยน้ำนั้น สัตว์ที่ต้องระวังอีกชนิดคือ ปลิง ควรใช้ถุงพลาสติกหุ้มเท้าทับปลายขากางเกงแล้วรัดด้วยเชือกหรือยางเพื่อป้องกันมิให้ปลิงเข้าไปในกางเกง ซึ่งปลิงเล็กๆ ยังอาจจะหลุดเข้าร่างกายได้ทั้งทางจมูก ปาก หรือแม้แต่ทางตา ซึ่งจะเกิดอันตรายร้ายแรง จะทำลายอวัยวะภายในให้ฉีกขาดและเสียเลือดมาก และยังอาจได้รับอันตรายจากสารพิษ สารเคมี เชื้อโรค และพยาธิด้วย จุดนี้ก็ต้องระวังให้ดี และถ้าถูกปลิงดูดกัด ห้ามดึงออกทันทีเพราะจะเกิดแผลฉีกขาดและเลือดหยุดยาก ให้ใช้น้ำมะนาว หรือน้ำมะกรูด น้ำเกลือเข้มข้น น้ำแช่ยาฉุนหรือยาเส้นไส้บุหรี่ ราดที่ตัวปลิง จะทำให้หลุดออกง่าย แล้วรีบล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ หรือน้ำต้มสุก และควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อที่หากมีอาการแพ้ แพทย์จะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทั้งนี้ กรณีถูกสัตว์พิษอย่างตะขาบ แมงป่อง หรือแมงมุมกัด คำแนะนำการปฐมพยาบาลแผลที่ถูกกัดคือ... ใช้ผ้าหรือเชือกรัดเหนือบาดแผลเพื่อป้องกันพิษซึมเข้ากระแสเลือด ถ้าถูกกัดที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้าให้รัดตรงโคนนิ้ว รัดประมาณ 5 นาทีจึงคลายออก หลังบีบหรือดูดเอาพิษออก หรืออาจใช้เหล็กเผาไฟจี้แผล หรือผ่าแผลให้กว้างแล้วใช้เกล็ดด่างทับทิมใส่ ใช้น้ำแข็งวางบริเวณที่ถูกกัดหรือต่อยประมาณ 2 ชั่วโมง โดยแขนหรือขาข้างที่ถูกกัดหรือต่อยควรจะวางต่ำกว่าส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งแผลบริเวณที่ถูกกัดนั้นให้ล้างด้วยด่างทับทิม ถ้ามีเหล็กในของสัตว์ที่กัดติดอยู่ก็ให้คีบออก แล้วทาแผลด้วยแอมโมเนีย โซดาไบคาร์บอเนต น้ำเกลือ หรือน้ำปูนใส เพิ่มเติมกรณีสัตว์ที่กัดมีเหล็กใน เช่น ผึ้ง แตน ต่อ ให้รีบเอาเหล็กในออกจากแผล ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผลเพื่อระงับอาการปวดและช่วยลดการซึมซาบของพิษ ถ้าถูกสัตว์กัดต่อยบริเวณหน้า คอ แล้วมีอาการบวมหายใจไม่ออก รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยด่วน เพราะอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้!! กรณีถูกงูพิษกัด ลักษณะรอยเขี้ยวจะเป็นแผลลึก 2 รอย บาดแผลจะเขียวช้ำ การถูกงูพิษกัดอาจมีอาการแตกต่างกันไปตามชนิดของงูพิษ ซึ่งมีอาการเกิดขึ้นได้ 3 แบบคือ พิษต่อประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ และที่สำคัญคือทำให้หยุดหายใจ, พิษต่อโลหิต เช่น งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้เลือดออก เช่น เลือดออกจากผิวหนัง ปัสสาวะเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด, พิษต่อกล้ามเนื้อ เช่น งูทะเล ทำอันตรายต่อเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างมาก และอาจถ่ายปัสสาวะเป็นสีดำ สำหรับคำแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับแผลที่ถูกงูกัดคือ... ให้ใช้สายยาง หรือเชือก หรือผ้า หรือวัสดุอื่น ๆ รัดบริเวณเหนือแผลให้แน่น โดยรัดระหว่างแผลกับหัวใจ และรีบไปหาแพทย์นำส่งแพทย์โดยด่วน ซึ่งถ้าสามารถบอกชนิดของงูที่กัดได้ก็จะสะดวกในการฉีดเซรุ่มแก้พิษ ทั้งนี้ ระหว่างทางไปพบแพทย์ ถ้ามีด่างทับทิมแก่ ๆ ก็ควรนำไปล้างแผลหรือใช้ปิดที่ปากแผล ต้องพยายามอย่าหลับ อย่าให้ผู้ถูกงูกัดหลับ และที่สำคัญห้ามใช้ยาที่กระตุ้นหัวใจ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษงูเข้าสู่หัวใจเร็วขึ้น ที่ว่ามาก็เป็นคำแนะนำที่เกี่ยวกับ ’ภัยสัตว์มีพิษในช่วงน้ำท่วม“ ไม่เกี่ยวกับ ’พฤติกรรมเป็นพิษต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม“ นะ!!!. จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 27 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|