#21
|
||||
|
||||
“อย่าประมาท!...โรคมือ เท้า ปาก วายร้ายใกล้ตัว” (ตอน 2) จากสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 12,155 คน ตั้งแต่ 1 ม.ค.-22 ก.ย.54 อัตราป่วยคิดเป็น 19.13 ต่อประชาการแสนคน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อทางปาก ไอ จามรดกัน แม้ความรุนแรงของโรคไม่สูง แต่เนื่องจากติดกันง่ายจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พบว่าต้นเหตุน่าจะเป็นเพราะเด็กเล่นคลุกคลีกันและติดเชื้อ เมื่อเด็กติดเชื้อผู้ปกครองก็ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ เด็กจึงนำเชื้อไปติดเด็กคนอื่น ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย อาหาร ให้มีสุขอนามัยที่ดีเพราะเป็นวิธีการป้องกันโรคนี้ดีที่สุด จากตอนที่ 1 ของเรื่องนี้ได้บรรยายให้ความรู้ไปแล้ว 3 ข้อ ในตอนที่ 2 นี้ จะขอตอบคำถามของโรคนี้ต่อเป็นข้อต่อไปดังนี้ 4.หากติดเชื้อแล้วจะเริ่มแสดงอาการเมื่อใด ส่วนใหญ่อาการป่วยจะแสดงภายใน 3-5 วัน หลังได้รับเชื้อ โดยไข้เป็นอาการแสดงเริ่มแรกของโรค 5.อาการของโรคเป็นอย่างไร เริ่มด้วยมีไข้ (อาจเป็นไข้สูงในช่วง 1-2 วันแรก และลดลงเป็นไข้ต่ำๆ อีก 2-3 วัน) มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากรับประทานอาหาร จะเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดงที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น หัวเข่า ก้น เป็นต้น ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบๆ แดง (maculo-papular vesicles) มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ (ulcer) อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต พบว่าบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (aseptic meningitis) ก้านสมองอักเสบ (brain stem encephalitis) ตามมาด้วยปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระบบหัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สัญญาณอันตราย ได้แก่ ไข้สูง (ไม่ลดลง) ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ 6.ผู้ใหญ่สามารถติดโรคมือ เท้า ปาก จากเด็กได้หรือไม่ ผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้จากการได้รับเชื้อขณะเป็นเด็ก ซึ่งภูมิต้านทานนี้ จะจำเพาะกับชนิดของไวรัสที่เคยได้รับ หากได้รับเชื้อชนิดใหม่ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานก็สามารถเป็นโรคได้อีก ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่เด็กหรือผู้อื่นได้ 7.หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก เสี่ยงติดโรคหรือไม่ ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแสดงว่าการติดเชื้อมีผลต่อการแท้งบุตร ความพิการ หรือเด็กเสียชีวิตในครรภ์ อย่างไรก็ตาม เด็กอาจได้รับเชื้อขณะคลอด หากมารดาป่วยในช่วงใกล้คลอด เด็กแรกเกิดที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง การป้องกันทำได้โดยการปฏิบัติสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ และระหว่างคลอด ข้อมูลจาก แผนกควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลพญาไท 2 http://www.phyathai.com จาก ...................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|