#30
|
||||
|
||||
คม ชัด ลึก 8-07-15 ต้องหยุดประมงทำลายล้างเด็ดขาด ...................... สัมภาษณ์พิเศษ บรรจง นะแส บนสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมประมงไทยกำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ ด้านหนึ่งถูกกดดันจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่บังคับให้เราต้องทำประมงตามกฎเกณฑ์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับถูกต่อต้านจากกลุ่มเรือประมงที่ยังปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จนกลายสภาพเป็นเรือผิดกฎหมาย ทำให้คนไทยต้องจมอยู่กับความตื่นตระหนกว่าอาหารทะเลจะขาดแคลนมานานกว่า 1 สัปดาห์ ในมุมมองของนักอนุรักษ์ธรรมชาติ มองวิกฤตินี้อย่างไร บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเล ถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์ไว้น่าสนใจยิ่ง 0 มองสถานการณ์ประมงไทยภายใต้กฎหมายใหม่อย่างไร ผมว่าเป็นกลไกการต่อรองปกติที่ทุกสาขาอาชีพพยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ที่ผ่านๆ มากลุ่มประมงพาณิชย์เคยชนะมาแล้วอย่างน้อยก็ 5 ครั้ง ในการกดดันให้รัฐต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตัวเอง คือนิรโทษกรรมให้แก่การทำการประมงผิดกฎหมาย ประเทศเราเลยแก้ปัญหาการทำการประมงที่เกินศักยภาพของทะเล (over fishing) ไม่ได้เสียที ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเล ความล่มสลายของอาชีพชุมชน ประมงชายฝั่งจึงปรากฏแก่สายตาของเราอยู่ทุกวันนี้ แต่ครั้งนี้มีปัจจัยที่เหนือกว่ากลไกการเมืองและระบบราชการ คือการกดดันจากมาตรการของอียู ซึ่งกระทบต่ออีกกลุ่มที่มีผลประโยชน์ที่ก้ำกึ่งกัน คือธุรกิจส่งออกอาหารทะเลไปตลาดอียู ซึ่งบางกลุ่มไม่ได้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มประมงพาณิชย์ เพราะพวกเขาจะสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลหากอียูให้ใบแดงและพวกเขาจะไม่ยอมเด็ดขาด นี่ต่างหากที่ทำให้กลุ่มประมงพาณิชย์ที่กำลังหยุดเรือประท้วงอยู่อาจจะไม่มีกำลังมากพอที่จะกดดันรัฐบาลได้เหมือนในอดีตที่ผ่านๆ มา และอาจจะต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด 0 เครื่องมือทำลายล้างแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อทรัพยากร แต่อีกแง่มุมอาจมองว่า มันคือ เศรษฐกิจ เราต้องมองให้กว้างว่า เศรษฐกิจ ในระดับไหน และมองไปในอนาคตว่า เราจะเอาอย่างไร จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด หรือผ่าตัดเพื่อสิ่งที่ดีและยั่งยืน สำหรับประเทศในอนาคต ปัญหาหนึ่งที่สำคัญสำหรับสังคมเราคือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ว่านั้น มันได้กระจายอย่างเป็นธรรมต่อผู้คนในสังคม กรณีเรื่องประมงที่ใช้ฐานทรัพยากรจากทะเลร่วมกัน เราจะพบว่า 85% คือชาวประมงพื้นบ้าน ส่วนที่ประท้วงกันอยู่เป็นประชากรแค่ 15% ของชาวประมง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยพวกเขา เพียงแต่โอกาสนี้เป็นโอกาสของการปฏิรูปประเทศที่สังคมไทยมีปัญหาหมักหมมหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นต้องเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงที่รอบด้านออกมาหงาย ไม่ว่าข้อมูลทางฐานทรัพยากร สถิตการนำเข้า ส่งออก ธุรกิจต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการประมง เมื่อทุกอย่างถูกหงายขึ้นมาก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ว่าการคำนึงถึงเศรษฐกิจเฉพาะหน้ากับการจะต้องเสียสละเพื่อการตั้งหลักสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนจะเลือกอย่างไหน 0คุณค่าของประมงพื้นบ้านกำลังถูกเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เครือข่ายประมงพื้นบ้านควรรักษาตัวตนของเขาอย่างไร อาชีพประมงพื้นบ้านก็เหมือนกับเกษตรกรอื่นๆ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน แต่สังคมให้ความสำคัญน้อยและถูกรุกคืบ แย่งพื้นที่ หรือความอยู่รอดในการสืบทอดวิถีของตัวเองให้เข้มแข็ง ให้มีศักดิ์ศรี มันถดถอยลงไปทุกวัน การจัดตั้งคือหัวใจที่จะทำให้อาชีพของตัวเองอยู่ได้ ในชุมชนประมงพื้นบ้าน สมาคมรักษ์ทะเลไทยร่วมทำงานกันมากว่า 30ปี เราพบว่าการจัดตั้งองค์กรของเขาให้เข้มแข็ง ให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ให้ผู้นำสามารถนำเสนอปัญหาและทางออกของปัญหาที่เขาเผชิญหน้าอยู่ต่อส่วนต่างๆ ในสังคมได้ ในขณะเดียวกันก็มีปฏิบัติการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร การทำบ้านปลา ธนาคารปู ปลูกป่าชายเลน สร้างเขตอนุรักษ์ เป็นต้น ตอนนี้ประมงพื้นบ้านขยับตัวสู่การเชื่อมต่อกับผู้บริโภคจากจุดเล็กๆและขยายพื้นที่มากขึ้น เรามีร้านคนจับปลาหลายสาขา มีแพปลาชุมชนที่เกิดจากระดมทุนกันเองภายในชุมชน การรักษาตัวตนของอาชีพประมงพื้นบ้านที่กำลังก่อตัวและขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ การรักษาตัวตนของเขาก็คือการรักษาฐานอาชีพและพัฒนาองค์กรของเขาให้เข้มแข็งและขยายพื้นที่ออกไปให้ครอบคลุมพี่น้องชุมชนชายฝั่ง ซึ่งมีหัวอกเดียวกันในทั่วชายฝั่ง นี่คือทิศทางครับ 0 อียูมีอิทธิพลต่อทิศทางการประมงไทย เห็นอะไรอยู่ในเรื่องนี้ อียู ด้านหนึ่งเขาก็พยายามสร้างอิมเมจว่าตลาดเขาต้องคลีน มีธรรมาภิบาล ดังนั้นมาตรการนี้ก็มีสองด้าน ทั้งในแง่การกีดกันทางการค้าหรือการเมืองในระดับสากล เพราะก็มีเสียงนินทาให้ฟังอยู่บ่อยเช่น สมาชิกอียูอย่างสเปน แอฟริกาใต้ ก็ไปทำการประมงแบบทำลายล้าง แต่กรณีที่เขานำมาตรการ ไอยูยู ฟิชชิ่ง ใช้กับประมงบ้านเรา ผมมองว่าเป็นผลบวกต่อการแก้ไขปัญหาทรัพยากรในทะเลไทยมากกว่าด้านลบ เพราะเราเผชิญปัญหานี้มานาน จนการเมืองไทยไม่สามารถแก้ไขได้ "ผมมองว่า งานนี้ถ้าอียูไม่ออกมาตรการนี้ สังคมไทยก็คงไม่มีโอกาสรับรู้กันกว้างขวางถึงขนาดนี้ว่าประเทศนี้ปล่อยปละละเลยให้มีการทำการประมงแบบทำลายล้างมาอย่างยาวนานแค่ไหน" 0รัฐบาลควรดำเนินการต่อไปอย่างไร ตอนนี้รัฐบาลยังมองแค่ปรับกลไกในการทำการประมงเพียงแค่การปลดล็อกจากอียูเป็นหลัก เพราะพลังของธุรกิจส่งออกมีอำนาจเหนือพี่น้องประมงพาณิชย์ที่กำลังจอดเรือประท้วงอยู่มากนัก โดยเฉพาะรัฐก็กลัวลุกลามไปสู่ธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ไม่ว่าธุรกิจอาหารสัตว์ที่นำปลาเล็กปลาน้อยที่จับด้วยเครื่องมืออวนลาก/อวนรุนที่ผิดกฎหมายและจะถูกแบนลุกลามไปยังไก่ หมู หรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องกันกับการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ยังไม่ได้มองถึงปัญหาเสื่อมโทรมของทรัพยากรในทะเลที่อยู่ในภาวะที่เรียกว่า โอเวอร์ ฟิชชิ่ง ออกทะเบียนให้เรือเถื่อน/เรือสวมทะเบียน แล้วเรือก็ออกทำการประมงแบบทำลายล้างดังเดิม วิกฤติทะเลก็จะดำรงอยู่ คิดว่ารัฐจะต้องบริหารบนฐานของข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ถ้าเพื่อความยั่งยืนของอาชีพประมงและความมั่นคงทางอาหาร รัฐบาลต้องหาทางยกเลิกการทำการประมงแบบทำลายล้าง 3 ชนิด คือ อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ทันที เราอาจจะต้องหาทางชดเชยในบางระดับต่อเรือที่ถูกกฎหมาย ผมเชื่อว่า ถ้าเราหยุดเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง 3 ชนิดนี้ภายในไม่เกิน 1 ปี ทะเลไทยจะฟื้นตัวและเป็นทั้งแหล่งอาหาร/อาชีพให้คนในสังคมในปริมาณที่มากกว่าที่มีกันอยู่ในปัจจุบันนี้แน่นอน 0 ประมงขนาดใหญ่ควรทบทวนการทำประมงของตัวเองไหม ประมงขนาดใหญ่ที่ไม่ทำการประมงด้วยเครื่องมือลาก รุน หรือ ปั่นไฟ ก็ปรับตัวมาจับสัตว์น้ำที่โตเต็มวัยชนิดต่างๆ ได้ปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ในระยะแรกอาจต้องรอให้พันธุ์สัตว์น้ำเติบโตก่อน เพราะที่ผ่านๆ มาเราทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนตัวเล็กๆ ทุกชนิดมายาวนาน อีกส่วนหนึ่งคือ พี่น้องที่ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำ รัฐบาลอาจจะต้องแสวงหาแหล่งทำการประมงกับประเทศอื่นๆ ให้มากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ประมงพาณิชย์ต้องช่วยตัวเองเช่นที่ผ่านมา เช่น กรณีไปติดสินบนทหารในอินโดนีเซีย ไปร่วมลงทุนทำประมงแบบลวกๆ เมื่อเขาเอาจริงเพื่อรักษาทะเลของเขา เราก็ไปไม่ได้ ขาดทุนล้มละลายกันอยู่นี่ไง ส่วนหนึ่งก็เบนหัวเรือมาถล่มทะเลไทย ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติอยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก โดยสรุปรัฐบาลอย่ามีแต่มาตรการปราบปราม แต่หนุนช่วยให้เขาได้มีโอกาสไปทำการประมงแบบถูกต้องในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ทะเลไทยด้วย 0สมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นกำลังหลักของประมงพื้นบ้าน ขอความมั่นใจให้แก่พี่น้องว่าเราจะอยู่กับประมงพื้นบ้านต่อไป สมาคมรักษ์ทะเลไทยเป็นองค์กรเล็กๆ แต่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี แต่เรามีจุดอ่อนเหมือนองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ คือ ต้องอาศัยงบประมาณจากหน่วยงานของรัฐบ้าง ต่างประเทศบ้าง และมีระยะการทำงานไม่ต่อเนื่อง หลายๆ ครั้งเจ้าหน้าที่ไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าเดินทาง แต่เราก็ทำงานกันเท่าที่ศักยภาพที่เรามี เป้าหมายหลักของเราคือ สร้างองค์กรของพี่น้องประมงให้เข้มแข็ง เมื่อแต่ละพื้นที่มีองค์กรของพวกเขาแล้ว บทบาทของสมาคมก็จะลดลงหรือเจ้าหน้าที่ของเราก็ปรับตัวไปเป็นลูกจ้างของพี่น้องชาวประมงในอนาคตก็ได้
__________________
Saaychol |
|
|