#11
|
||||
|
||||
โพสต์ทูเดย์
"แมงกะพรุนพิษ"... ถึงเวลาที่คนไทยต้องตื่นตัว! ............................. โดย วรรณโชค ไชยสะอาด กระเเสเรื่อง "เเมงกะพรุนพิษ" กำลังสร้างความหวาดวิตกไปทั่ว หลังมีนักท่องเที่ยวรายหนึ่งเสียชีวิตจากพิษของแมงกะพรุนกล่องขณะลงเล่นน้ำที่หาดริ้น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี นี่ไม่ใช่เหยื่อรายแรกที่สังเวยชีวิตให้แก่พิษของแมงกะพรุน... จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคระบุว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษขณะเล่นน้ำในทะเลไทยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวนกว่า 900 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 12 ราย คำถามคือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการรณรงค์ให้คนไทยได้รู้เท่าทันเจ้าวายร้ายแห่งท้องทะเลตัวนี้ เฝ้าระวัง 67 จุดเสี่ยง! ความคืบหน้าล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมจัดระบบเฝ้าระวังแมงกะพรุนพิษในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยแล้ว นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อติดตั้งจุดวางน้ำส้มสายชู และกล่องปฐมพยาบาลบริเวณริมหาด สำหรับใช้ยับยั้งพิษของแมงกะพรุน รวมทั้งติดตั้งตาข่ายกันแมงกะพรุนในบางพื้นที่ ประมาณ 67 จุด ใน 9 จังหวัด เช่น ระนอง ตราด ระยอง พังงา ตรัง ภูเก็ต กระบี่ สตูล และจันทบุรี ขณะที่ วรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ย้ำว่า จากนี้ไปจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุก มากกว่าจะตั้งรับป้องกันเพียงอย่างเดียว "ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเชิงรุก ด้วยการทำความเข้าใจกับทางจังหวัดในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่เเละผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทำความเข้าใจเรื่องการติดตั้งป้ายเตือน ติดตั้งจุดบริการน้ำส้มสายชูให้กับนักท่องเที่ยว เพราะชุมชนเเละผู้ประกอบการเขาไม่อยากให้ติดตั้ง เนื่องจากกลัวเสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่สวยงามปลอดภัย กลัวคนจะเข้าใจว่าเป็นพื้นที่อันตราย เเต่ต้องมองว่า ภัยนี้เป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันได้ ยกตัวอย่างประเทศที่พบเเมงกะพรุนจำนวนมากอย่างออสเตรเลียถึงขั้นติดตั้งตาข่ายในทะเล เพื่อป้องกันแมงกะพรุนพิษ" น้ำส้มสายชูแก้พิษได้จริงหรือ? ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า หากสัมผัสกับแมงกะพรุนพิษ อย่าใช้มือปัดป่ายไปมา เพราะจะยิ่งทำให้มือและแขนโดนหนวดแมงกะพรุนมากขึ้น ควรตั้งสติ เดินขึ้นฝั่งและรีบจัดการกับบริเวณร่างกายที่เกิดปัญหา "การนำเศษหนวดและเซลล์เข็มพิษออกจากผิวหนังเป็นเรื่องสำคัญสุด เซลล์เข็มพิษพวกนี้อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าชุดว่ายน้ำและยิงพิษไปเรื่อย เพราะฉะนั้น หาทางถอดชุดพวกนั้นออก อย่าทิ้งไว้คาตัวผู้ป่วย หากมีเศษหนวดติดอยู่ ต้องรีบเอาออก แต่อย่าใช้มือสัมผัสโดยเด็ดขาด ใช้น้ำสาดใส่ หรือใช้กิ่งไม้เศษไม้เขี่ยออก หรือ หากมีเครดิตการ์ด จะใช้ขูดออกก็ได้ ต้องทำอย่างระมัดระวัง" คำถามที่หลายคนสงสัยคือ น้ำส้มสายชูใช้แก้พิษแมงกะพรุนได้จริงหรือ ดร.ธรณ์บอกว่า น้ำส้มสายชูมีฤทธิ์เป็นกรด เข็มพิษของเเมงกะพรุนที่ติดอยู่ตามตัวจะหยุดทำงานเมื่อเจอน้ำส้มสายชู ทั้งนี้ห้ามใช้น้ำจืดหรือน้ำยาอะไรก็ตามโดยเด็ดขาด “ฤทธิ์น้ำส้มสายชูจะไปสกัดไม่ให้เซลล์ยิงเข็มพิษ ที่ผ่านมามีการใช้น้ำส้มสายชูจัดการกับพิษแมงกะพรุนมานานกว่า 30 ปี แต่ปัญหาคือ ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีงานวิจัยข้างเคียงออกมาระบุว่า แม้น้ำส้มสายชูจะหยุดการทำงานของเข็มพิษที่ยังไม่ยิงออกมา แต่จะทำให้พิษของเข็มที่ยิงออกมาแล้วยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอยู่ ฉะนั้นหากเอาให้ชัวร์ที่สุดคือ ใช้น้ำทะเลล้าง แม้น้ำทะเลจะไม่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเข็มพิษ แต่ก็สามารถชะล้างเข็มออกจากตัวเราได้” ดร. ธรณ์ ทิ้งท้ายว่า มาตรการป้องกันที่อยากเห็นคือ การร่วมมือกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และองค์การบริหารท้องถิ่น เข้ามาร่วมกันกำหนดโซนอันตราย เพื่อตั้งจุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งฝึกฝนให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถปฐมพยาบาลฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และในอนาคตอาจมีความจำเป็นต้องกั้นตาข่ายไม่ให้แมงกะพรุนหลุดเข้าไปในบางพื้นที่ด้วย รู้จักเเมงกะพรุนพิษ 10 ชนิดในไทย คู่มือ "เรียนรู้ สู้ภัยแมงกะพรุนพิษ" ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ทั่วโลกมีแมงกะพรุนประมาณ 36 ชนิด แต่ไม่ได้เป็นอันตรายทุกชนิด บางชนิดมีพิษทำให้เกิดอาการเจ็บหรือคัน มีเพียงบางชิดเท่านั้นที่มีพิษรุนแรงทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เช่น คาริบเดีย อะทาลา (Carybdeo atala) หรือ ไคโรเน็กซ์ แฟลคเคอร์ไร (Chironex fleckeri) พบมากในทะเลแถบประเทศออสเตรเลีย แมงกะพรุนชนิดนี้มีขนาดความยาวของหนวด 3-5 เมตร สูง 8-10 เซนติเมตร ถือเป็นเเมงกะพรุนกล่องชนิดที่อันตรายที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ทั้งนี้ จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเเละพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลเเละป่าชายเลน พบว่า เเมงกะพรุนมีพิษในประเทศไทยมีทั้งหมด 10 ชนิด แบ่งเป็นเเมงกะพรุนกล่อง 7 ชนิด เเละแมงกะพรุนไฟ 3 ชนิด 1.เเมงกะพรุนกล่อง sp.A สปีชีส์เอ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Chironex (ไคโรเน็กซ์) พบในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอันดามัน 2.เเมงกะพรุนกล่อง sp.B สปีชีส์บี ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Chironex เช่นเดียวกัน พบในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอ่าวไทย 3. คาริบเดีย ซีวิคคิซี่ (Carybdeo sivickisi) พบในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอ่าวไทย ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "อิรูคันจิ" โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการผิดปกติประมาณ 5-40 นาทีหลังได้รับพิษ ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว 4.ไตรพีดาเลีย ชีสโตฟอรา (Tripdalia cystophora) พบในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอันดามัน 5.มอร์บาคก้า เฟนเนอร์ไร (Morbakka fenneri) พบในทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 6.ไครอบซอยเดส บูเทนดิจกิ (Chiropsoides buitendijki) พบในทะเลฝั่งอันดามันและบางในบางพื้นที่ของทะเลฝั่งอ่าวไทย 7.ไครอบเซลลา (Chiropsella) พบในทะเลฝั่งอันดามัน ยังไม่สามารถระบุชนิดได้ และยังไม่พบรายงานความเป็นพิษที่รุนแรงในสกุลนี้ "แมงกะพรุนกล่องมีหลายชนิด รูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมใส มีสีน้ำเงินจางๆ หรือไม่มีสี จึงสังเกตได้ยากเมื่ออยู่น้ำทะเล มีขนาดแตกต่างกัน อาจกว้างได้ถึง 20 เซนติเมตร แต่ละมุมจะมีคล้ายขายื่นออกมาแล้วแยกออกเป็นสายหนวด โดยแต่ละขาอาจมีหนวดยาวตั้งแต่ 1-15 เส้น แต่ละเส้นยาวได้ถึง 3 เมตร โดยจะมีเข็มพิษอยู่ในถุงพิษที่กระจายอยู่ทุกส่วนของแมงกะพรุนกล่อง โดยเฉพาะที่หนวด ผู้ที่ถูกแมงกะพรุนชนิดนี้ จะเจ็บปวดบริเวณที่ถูกสัมผัสอย่างรุนแรงทันทีทันใด เกิดรอยไหม้ที่ผิวหนัง หากได้รับพิษจำนวนมาก จะมีอาการสับสน หมดความรู้สึก โคม่า และเสียชีวิตซึ่งมักเกิดภายใน 10 นาที เนื่องจากพิษมีผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 นาที มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต และหยุดหายใจ และมีพิษต่อผิวหนัง” นพ.โสภณ กล่าว ขณะที่ วรรณเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่าสามารถพบเห็นแมงกะพรุนพิษได้ในชายฝั่งทะเลแทบทุกแห่ง ตั้งเเต่บริเวณน้ำตื้นจนถึงทะเลลึก โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเเนวปะทะของลมมรสุม ซึ่งพัดพาเหล่าเเมงกะพรุนเข้าหาฝั่ง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ลอยตามกระเเสน้ำ บางชนิดสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนเหตุผลที่พบการเเพร่กระจายบ่อยในช่วงฤดูฝนนั้นเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ น้ำฝนจะชะล้างอาหารธาตุต่างๆ เเละเหล่าสัตว์ขนาดเล็กลงมาสู่ทะเล จนเกิดกระบวนการสร้างอาหารที่เหมาะสมสำหรับการมีชีวิตอยู่ของเเมงกะพรุนนั่นเอง การเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวจากแมงกะพรุนพิษครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องดำเนินการเชิงรุกมากกว่าตั้งรับแค่อย่างเดียวดังเช่นที่ผ่านมา ประชาชนที่สนใจทำความรู้จักกับแมงกะพรุนพิษชนิดต่างๆ และวิธีรักษาอาการบาดเจ็บเบื้องต้นจากพิษของแมงกะพรุน สามารถดาวโหลดคู่มือ"เรียนรู้ สู้ภัยแมงกะพรุนพิษ" ได้ฟรีที่นี่ http://dmcr2014.dmcr.go.th/detailLib...y4Ljo7o3Qo7o3Q .......... จาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 สิงหาคม 2558 http://www.posttoday.com/analysis/report/379991
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|