#1
|
||||
|
||||
คืนความสงบสู่ชายหาด ต่อชีวิต"เต่าทะเล"ก่อนสูญพันธุ์
คืนความสงบสู่ชายหาด ต่อชีวิต"เต่าทะเล"ก่อนสูญพันธุ์ (รายงานพิเศษ) “เต่าทะเล”…..ในน่านน้ำไทยลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่สภาวะ “เสี่ยง” ต่อการ “สูญพันธุ์” ซึ่งปัจจัยเร่งต่อภาวะดังกล่าว หนีไม่พ้นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมือง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเกินขอบเขต โดยไม่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ และ “รุกคืบ” เข้าทำลายชายหาดอันเป็น “แหล่งวางไข่” ที่สำคัญของ “เต่าทะเล” เมื่อ “ชายหาด” ที่เคยเงียบสงบถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีจำนวนของเต่าทะเลที่กลับคืนมาวางไข่ในชายหาดของไทย จึงลดลง!!! ย้อนไปตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นอกจาก “เต่าทะเล” จะถูกคุกคามเรื่องของสถานที่วางไข่แล้ว ในหลายพื้นที่ยังต้องเผชิญกับ “ภัยจากมนุษย์” ทั้งปัญหาการลักลอบขโมยเก็บไข่เต่าทะเล เพื่อนำไปบริโภคและจำหน่าย ตลอดจนปัญหาการทำประมงที่ไม่เจตนา อาทิ อวนลาก อวนรุน อวนลอยและเบ็ดราว สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การกลับขึ้นมาวางไข่ของ เต่าทะเลลดจำนวนลง และนับวันปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ถ้า “เต่าทะเลสูญพันธุ์” ไป ทะเลจะขาดความ “สมดุล” ทันที แต่หลายคนยังคงมองข้าม และไม่เคยให้ความสำคัญ ทั้งยังทำลายแหล่งวางไข่ จนเต่าทะเลถึงขั้น “วิกฤติสูญพันธุ์” เต็มที “วิชาญ ทวิชัย” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า ปัจจุบันเต่าทะเลในน่านน้ำไทยมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่าหญ้า เต่ากระ และเต่าหัวฆ้อน จัดเป็นสัตว์ทะเลที่หายาก และมีภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก และจำเป็นต้องเร่งรณรงค์ปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้องให้ชุมชนในพื้นที่เห็นความ สำคัญของการปกป้อง และฟื้นฟูแหล่งวางไข่เต่าทะเลให้กลับคืนสู่ชายหาดของไทย เพราะผลการศึกษาวงจรชีวิตของเต่าทะเล ยืนยันว่า เต่าทะเลจะกลับคืนสู่แหล่งกำเนิดแรกของมันในการวางไข่ในครั้งต่อๆ ไป ยกเว้นกรณีที่สถานที่แห่งนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศอย่าง รุนแรง หรือสูญเสียความเงียบสงบที่เหมาะสมต่อการวางไข่ไป เต่าทะเลก็จะไม่ “หวนคืน” กลับมาวางไข่ในสถานที่นั้นๆอีก “เต่าทะเลแต่ละตัวไม่ได้ขึ้นมาวางไข่ติดต่อกันทุกปี แต่อาจจะเว้นไป 1-3 ปีต่อครั้ง โดยลูกเต่าแรกเกิดจะมีความทรงจำต่อแหล่งกำเนิดเป็นอย่างดี จากนั้นเมื่อโตจนถึงวัยที่เหมาะสมก็จะกลับมาวางไข่ที่แหล่งกำเนิดของมัน แต่ขณะนี้สถานการณ์ของเต่าทะเลไทยน่าเป็นห่วงมาก” โดยเฉพาะ “เต่ามะเฟือง” ที่ขณะนี้มีแหล่งวางไข่ที่เหมาะสมเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ส่วน “เต่าหัวฆ้อน” ก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงเช่นกัน ซึ่งขณะนี้มีแหล่งวางไข่ในต่างประเทศบางแห่งเท่านั้น อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ทางกรมฯได้ประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมประมง กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ “แนวทางการจัดการแหล่งวางไข่เต่าทะเล” ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและมีทิศทางเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนา ฟื้นฟู และปกป้องแหล่งวางไข่เต่าทะเลที่ยังมีศักยภาพทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ หาดทะเลนอก-หาดประพาส จ.ระนอง , เกาะระ-เกาะพระทอง เกาะคอเขา , อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน(เกาะ 1, 2 และ 3) อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต , อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตรุเตา เกาะโกยเล็ก อ.เมือง จ.สตูล , เกาะคราม เกาะอีร้า เกาะจาน และเกาะใกล้เคียงในอ่าวสัตหีบ หรือศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ จ.ชลบุรี และเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้แนวทางการจัดการแหล่งวางไข่เต่าทะเลที่จะจัดทำขึ้นนั้น จะกำหนดหลักเกณฑ์ และข้อเสนอแนะเพื่อควบคุม ป้องกัน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณแหล่งวางไข่เต่า โดยมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งการทำประมง การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในทะเลช่วงฤดูวางไข่ รวมทั้งกิจกรรมบนหาด และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอย่างเหมาะสมกับระบบนิเวศ และวงจรชีวิตของเต่าทะเลเอาไว้ อีกแนวทางหนึ่งในการ “รักษ์เต่าทะเล” คือ การปล่อยลูกเต่าติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมลงทะเล เพื่อศึกษาวิจัยและติดตามการดำรงชีวิตและการเดินทางของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ชนิดนี้ โดย “สมชาย มั่นอนันต์ทรัพย์” นักวิชาการประมงระดับชำนาญการพิเศษ ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า ลูกเต่าทะเลที่จะนำไปปล่อยนั้นเป็นลูกเต่าทะเลที่อนุบาลในบ่อเลี้ยงจนมีอายุ 1 ปี ซึ่งติดเครื่องหมาย “ไมโครชิพ” ทุกตัว ในจำนวนนี้ได้ทำการติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมบนกระดองหลังลูกเต่า เพื่อติดตามการเดินทางภายหลังจากการปล่อยสู่ทะเล ภารกิจนี้ นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามรอยเบื้องพระ ยุคลบาทแก่ประชาชนผู้สนใจ รวมทั้งองค์กรเอกชนในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และศึกษาวิจัยและติดตามการดำรงชีวิตและการเดินทางของเต่าทะเลด้วยเครื่องส่ง สัญญาณผ่านดาวเทียม นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ที่ มีการอพยพย้ายถิ่นกับนักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย แต่เนื่องจากเต่าทะเลเป็นสัตว์ที่มีอุปสรรคมากมายในการแพร่ขยายพันธุ์ เริ่มตั้งแต่ไข่ของเต่าทะเลมักถูกมนุษย์และสัตว์อื่นขุดขึ้นมาเป็นอาหาร ลูกเต่าก็มักตกเป็นเหยื่อของปลาและสัตว์ขนาดใหญ่ในธรรมชาติได้ง่าย นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าจากไข่เต่าจำนวน 1,000 ฟอง จะฟักออกมาเป็นตัว และเหลือรอดลงทะเลจนกระทั่งสืบพันธุ์หรือวางไข่ได้เพียง 1-2 ตัวเท่านั้น ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง จึงมีการอนุบาลลูกเต่าไว้ระยะเวลาหนึ่งก่อน เพื่อปล่อยเสริมลงสู่ธรรมชาติต่อไป “การติดตามการดำรงชีวิตของเต่าในธรรมชาติ ยังเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก การใช้อุปกรณ์ติดตามตัวเต่า เช่น เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการเดินทางของ ลูกเต่าทะเลหลังจากปล่อยคืนสู่ทะเล เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับวางแนวทางอนุรักษ์เต่าทะเลที่กำลังจะสูญพันธุ์ต่อ ไป” สมชาย กล่าว ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้ คือ หนึ่งในวิธี “รักษ์เต่าทะเล” ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ซึ่งคงหวังพึ่งเฉพาะหน่วยงานราชการมิได้ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดความร่วมมือของประชาชนน่าจะช่วย “ต่อชีวิต” ให้กับ “เต่าทะเล” ได้อย่างยั่งยืน จาก : แนวหน้า วันที่ 19 สิงหาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|