#1
|
||||
|
||||
ปลานวลจันทร์ทะเลเลี้ยงในบ่อดินได้
ปลานวลจันทร์ทะเลเลี้ยงในบ่อดินได้ นางสาวจินตนา นักระนาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เล่าให้ฟังว่าปลานวลจันทร์ทะเล หรือปลาดอกไม้ หรือปลาทูน้ำจืด เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ จีน และไต้หวัน เนื่องจากมีรสชาติดี เลี้ยงง่ายโตเร็ว สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำทะเล น้ำกร่อย และน้ำจืด มีความทนทานโรคค่อนข้างสูง กินอาหารได้หลากหลาย เช่น ตะไคร่น้ำ ไรน้ำ รำ รวมทั้งอินทรีย์สารตามพื้นบ่อและผิวน้ำ หรือสามารถให้อาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงแบบหนาแน่น ในประเทศไทยมีการสำรวจพบลูกปลานวลจันทร์เป็นครั้งแรกที่บริเวณชายฝั่งทะเล คลองวาฬ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ลูกปลาวัยอ่อนจะเข้ามาอาศัยหากินในบริเวณชายฝั่ง พบเป็นจำนวนมากในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และพบอีกช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ผลจากที่มีการสำรวจพบแหล่งลูกปลานวลจันทร์ทะเลที่ตำบลคลองวาฬ จึงได้มีการก่อตั้งสถานีประมงขึ้นในปี 2496 เพื่อรวบรวมและศึกษาทดลองเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล ในวันที่ 26 เมษายน ปีพุทธศักราช 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระบรมวงศา นุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรลูกปลานวลจันทร์ทะเลจากบ่ออนุบาลที่สถานี ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก็คือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมี ความสนพระราชหฤทัยในการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล และเคยมีพระราชดำริให้นำลูกปลานวลจันทร์ทะเลไปปล่อยเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำเขา เต่า อำเภอหัวหิน เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นอาหารและเพิ่มรายได้ในการยังชีพ ด้วยเป็นปลากินพืช เลี้ยงง่าย ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ได้รวบรวมลูกปลานวลจันทร์ ทะเลจากธรรมชาติมาทดลองเลี้ยงไว้ในบ่อดินเพื่อรวบรวมไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ มาตั้งแต่ก่อนปี 2530 พร้อมทั้งร่วมกับกองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ปลานวลจันทร์ทะเลในรูปแบบต่าง ๆ เช่นปลานวลจันทร์ทะเลรมควัน ปลาก้างนิ่ม ปลาต้มเค็ม-ต้มหวานบรรจุกระป๋อง ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีรสชาติดี และสะดวกต่อการบริโภค การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลต้องใช้ระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 5-6 ปี ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ได้คัดเลือกปลานวลจันทร์ทะเล ที่มีขนาดใหญ่สำหรับใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์จากบ่อดินขึ้นขุนเลี้ยงในบ่อคอนกรีต เพื่อการเพาะขยายพันธุ์นับตั้งแต่ก่อนปี 2540 ปลามีการวางไข่แต่มีจำนวนไม่มาก และอัตราการฟักและอัตราการรอดตายต่ำ ในปี 2545 ได้ทำการทดลองฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการวางไข่ของปลาเพศเมีย แต่พบว่ามีอัตราการผสมต่ำมากเนื่องจากพ่อแม่พันธุ์ยังขาดความสมบูรณ์ ต่อมาในปี 2548 พ่อแม่พันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลมีการผสมพันธุ์วางไข่ในบ่อคอนกรีต และสามารถอนุบาลลูกปลาได้เป็นผลสำเร็จ แต่ในระยะแรกลูกปลายังมีอัตราการฟักและอัตราการรอดตายต่ำ และตั้งแต่ปี 2551 มาจนถึงปัจจุบัน ทางกรมประมงมีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลอย่าง จริงจัง โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาอาหาร สำหรับพ่อแม่พันธุ์ พัฒนาเทคนิคการเพาะฟักและอนุบาล โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ผลิตไข่และลูกปลาแรกฟัก แจกจ่ายให้แก่ศูนย์และสถานีอื่น ๆ นำไปทดลองอนุบาล ในที่สุดก็สามารถอนุบาลลูกปลานวลจันทร์ทะเลจนได้ขนาดความยาวกว่า 2 ซม. ซึ่งพร้อมนำลงปล่อยธรรมชาติ หรือนำลงสู่บ่อเลี้ยงได้แล้วเป็นจำนวนไม่น้อย. จาก : เดลินิวส์ วันที่ 27 สิงหาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|