#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน อ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนน้อย ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้ อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและลาวตอนบน ในวันนี้ (21 ตุลาคม 2564) และจะเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในเวลาต่อไป ทำให้ในช่วงวันที่ 21 - 23 ต.ค. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นฝนจะลดน้อยลง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 21 ? 22 ต.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 26 ต.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นฝนจะลดน้อยลง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนขอให้ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วย และระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 21 ? 23 ต.ค. 64
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ตะลึง'เรือผี'ญี่ปุ่นโผล่เหนือน้ำ หลังจมก้นทะเล ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 'เรือผี' ซากเรือลำเลียงพล กว่า 20 ลำของกองทัพญี่ปุ่นในอดีต ลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ หลังถูกกองทัพสหรัฐฯ โจมตีในสมรภูมิรบอิโวจิมะ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 Cr ภาพจาก @ANNnewsCH เมื่อ 20 ต.ค. 64 เดลี่เมล รายงานว่า 'เรือผี' ซึ่งเป็นซากเรือลำเลียงพลลำใหญ่ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในอดีต 24 ลำ ซึ่งถูกกองทัพสหรัฐฯ โจมตีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สมรภูมิรบอิโวจิมะ ลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำทะเล หลังจมสู่ก้นมหาสมุทรแปซิฟิกมาตั้งแต่ปี 1945 โดยเรือผีเหล่านี้ได้ลอยขึ้นเหนือน้ำ จากแรงสั่นสะเทือนของภูเขาไฟซูริบาจิ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอิโวจิมะ และถือเป็นภูเขาไฟอันตรายที่สุดลูกหนึ่งของญี่ปุ่น ภาพถ่ายดาวเทียมโดยสำนักข่าว All Nippon News แสดงให้เห็นซากเรือลำเลียงพล 24 ลำลอยอยู่บนผิวน้ำ หลังจากเรือเหล่านี้ได้จมลงก้นมหาสมุทรแปซิฟิกมายาวนานนับ 76 ปี นับตั้งแต่ถูกกองทัพสหรัฐฯ โจมตีในสมรภูมิรบอิโวจิมะ ซึ่งถือเป็นสมรภูมิรบที่ดุเดือดที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมากองทัพสหรัฐฯ สามารถยกพลขึ้นบกยึดเกาะภูเขาไฟแห่งนี้ได้ในที่สุด เพื่อต้องการใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ ลงจอดของเครื่องบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรายงานว่า ท้องทะเลในบริเวณนี้ได้เริ่มขยับยกตัวสูงขึ้นจากแรงสั่นสะเทือนของภูเขาไฟซูริบาจิ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ทางตะวันตกของเกาะอิโวจิมะ ซึ่งเป็นเกาะที่ไม่มีประชาชนอาศัยอยู่ มีความเป็นไปได้ที่ภูเขาไฟบนเกาะอิโวจิมะอาจเกิดการปะทุใหญ่ โดยตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยรัฐโอเรกอนในสหรัฐฯ ได้ตรวจพบว่า ภูเขาไฟบนเกาะอิโวจิมะได้เกิดการปะทุอย่างน้อย 10 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 1982 ในขณะที่ท้องทะเลบริเวณนี้ได้ยกตัวขึ้นอย่างน้อย 10 เมตร นับตั้งแต่ปี 1952. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2223596 ********************************************************************************************************************************************************* ถึงเวลาต้องตื่นตัว อ.ธรณ์ เผยผลกระทบ "ไมโครพลาสติก" ในท้องทะเลไทย อ.ธรณ์ ให้ความรู้ปัญหา "ไมโครพลาสติก" ในท้องทะเลไทย มีโอกาสย้อนกลับมาหามนุษย์ แนะคนตื่นตัวช่วยกันรณรงค์เก็บขยะ วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับ "ไมโครพลาสติก" ในท้องทะเลไทยและในแม่น้ำ โดยระบุว่า นับจากเริ่มเกิดโควิด ปริมาณขยะใช้แล้วทิ้ง/ขยะติดเชื้อของเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อฝนตกน้ำท่วมหลายพื้นที่ กองขยะหลายแห่งก็ลอยไปกับน้ำ ก่อนลงมาสู่ทะเลในที่สุด การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย แต่อย่างน้อยหลายฝ่ายก็พยายามช่วยกันรณรงค์ หรือจัดกิจกรรมเก็บขยะดูแลโลกเท่าที่ทำได้ วันนี้ผมจึงอยากนำเรื่อง "ไมโครพลาสติกในทะเลไทย" มาเล่าให้ฟัง เผื่อจะนำไปใช้ประโยชน์หรือเป็นข้อมูลพื้นฐานได้ครับ เริ่มจาก "ขยะพลาสติก" จะมีการแตกตัว กลายเป็นพลาสติกจิ๋วที่รู้จักในนาม "ไมโครพลาสติก" (เล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร) ไมโครพลาสติกพบได้ทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะในทะเล ในแม่น้ำก็มี และมีเยอะด้วย เพราะปริมาตรน้ำในแม่น้ำมีน้อยเมื่อเทียบกับทะเล จึงไม่น่าแปลกใจที่การศึกษาทั่วโลกพบข้อมูลสอดคล้องกัน หากนับจำนวนชิ้นต่อลูกบาศก์เมตร หรือต่อพื้นที่ตารางกิโลเมตร ในแม่น้ำมีมากกว่าในทะเล เมื่อขยะพลาสติกลอยลงทะเล การแตกตัวก็แตกต่างกัน ในบริเวณชายฝั่ง ขยะโดนคลื่นปะทะกับพื้น การแตกตัวย่อมมีสูงขึ้น นอกจากนี้ หากเป็นแพขยะ เช่น แพใหญ่ๆ ของโลกทั้ง 5 แห่ง ขยะจะชนกันไปมา ปริมาณไมโครพลาสติกตามแพขยะจะมีสูงกว่าพื้นที่น้ำทะเลรอบๆ อย่างเห็นได้ชัด ยังรวมถึงขยะและไมโครพลาสติกบางส่วนที่จมลงบนพื้น เกิดการสะสมเพิ่มขึ้นตามเวลาผ่านไป แม้แต่ในทะเลลึกหลายพันเมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบขยะพลาสติกเช่นกัน เมื่อสัตว์น้ำกินไมโครพลาสติกเข้าไป จะเข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหาร และย้อนกลับเข้ามาหาเรา ผลที่เกิดขึ้นอาจมีหลายประการ เช่น การสะสมโลหะหนักในไมโครพลาสติก ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังศึกษากันอยู่ สำหรับในเมืองไทย คณะประมง มก. ได้รับความสนับสนุนจากบริษัท GC จัดทำหน่วยต่อต้านขยะทะเล ตั้งแต่ก่อนโควิด เราเน้นเรื่องการวิเคราะห์ไมโครพลาสติกทั้งในน้ำ ในดินตะกอน และในสัตว์น้ำ เราทำงานวิจัยกับหลายหน่วยงาน วิเคราะห์ไมโครพลาสติกด้วยเครื่อง FTIR ไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นตัวอย่าง เรียกได้ว่ามากสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ยังรวมถึงการทำงานร่วมกับ Ocean for Life (ปตท.สผ.) ศึกษาไมโครพลาสติกในพื้นที่ห่างไกลฝั่ง เราขอแรงพี่ๆ เจ้าหน้าที่ตามแท่นผลิตปิโตรเลียม 3 แหล่งในอ่าวไทย เพื่อเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติกอย่างต่อเนื่อง ผลสุดท้ายคือแผนที่ซึ่งผมนำมาแสดงให้ดู ยังลงรายละเอียดเป็นจำนวนตัวเลขไม่ได้ เพราะหลายโครงการอยู่ระหว่างการนำเสนอเปเปอร์ทางวิชาการ แต่เอาแค่แผนที่นี้คงพออธิบายภาพรวมให้เข้าใจ และนำไปบอกต่อได้บ้าง เริ่มจากช่วงเวลา นี่คือข้อมูลช่วงปี 62-64 จะใช้เป็นฐานข้อมูลต่อไปในอนาคต เรื่องขยะทะเลต้องมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มันคล้ายกับเรื่องโลกร้อน จะรีบเร่งทำหนเดียวตอบได้ทุกอย่าง คงเป็นไปไม่ได้ การเก็บข้อมูลใช้เครื่องมือ Manta ที่เคยได้รับความสนับสนุนจากเพื่อนธรณ์ โดยใช้วิธีเก็บ/วิเคราะห์แบบเดียวกัน คราวนี้มาถึงผลบ้าง จุดแดงในแผนที่มีอยู่แห่งเดียวคือแม่น้ำเจ้าพระยา หลายหน่วยงานทำในพื้นที่นี้ ข้อมูลที่ได้สอดคล้องกันคือในแม่น้ำมีมากกว่าในทะเลเยอะเลย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ของเราใกล้เคียงแม่น้ำในยุโรป จะมากกว่าก็นิดหน่อย แต่น้อยกว่าแม่น้ำในจีนบางแห่งอยู่ค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ทราบว่าหลายหน่วยกำลังศึกษาในแม่น้ำอื่น เช่น ม.แม่ฟ้าหลวงทำที่แม่โขง เอาไว้สักวันคงมีโอกาสประชุมเรื่องขยะ/ไมโครพลาสติกในแม่น้ำร่วมกัน ในส่วนที่ลงทะเล จุดเหลืองคือทะเลชายฝั่ง ฝั่งตะวันออกคือชลบุรี ฝั่งตะวันตกคือชุมพร อันดามันคือตรัง อันที่จริง เราทำไว้มากกว่านี้ แต่ผมเอามาเฉพาะที่วิเคราะห์แล้ว ชายฝั่งเป็นพื้นที่ซึ่งขยะพลาสติกแตกตัวเยอะเพราะคลื่นลม ยังรวมถึงไมโครพลาสติกที่ไหลลงมาตามแม่น้ำลำคลอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ชายฝั่งมีมากกว่าตามเกาะห่างฝั่ง ยิ่งมากกว่าแท่นปิโตรเลียมกลางทะเล แต่ฝั่งตรังมีน้อยกว่าพื้นที่อื่น อาจเป็นเพราะกระแสน้ำมีส่วน อีกทั้งบริเวณที่เราเก็บอยู่บนรอยต่อกระบี่/ตรังที่ไม่มีเมืองใหญ่ และเหตุผลอื่นๆ ที่ต้องตามศึกษาต่อไป มาถึงสีเขียว เกาะเต่ากับโลซินใกล้เคียงกัน ถือว่ามีน้อยเพราะไกลฝั่งไกลแหล่งกำเนิดขยะพลาสติก แม้เกาะเต่าจะเป็นเกาะท่องเที่ยว แต่ปริมาณยังน้อย หากช่วยกันบริหารจัดการขยะให้ดี โดยเฉพาะช่วงเริ่มฟื้นการท่องเที่ยว ที่นี่ยังเป็น Green Tourism ได้อย่างดี โดยมีข้อมูลวิชาการประกอบเพื่อยืนยัน สุดท้ายคือแท่นผลิตปิโตรเลียม อยู่ไกลฝั่งไมโครพลาสติกน้อยแน่นอน แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่ในแปซิฟิก บอกได้ว่าเยอะกว่ากลางมหาสมุทรครับ (ยกเว้นตามแพขยะ) ว่าง่ายๆ คือไม่มีที่ใดในทะเลไทยที่รอดพ้นไมโครพลาสติก ขยะทะเลส่งผลไปถึงจุดไกลชายฝั่งมากสุด แต่อย่างน้อย เมื่อผมลองเทียบข้อมูลไทยกับต่างประเทศ พอบอกได้ว่ายังไม่ถึง Red Alert ปัญหาสำคัญคือขยะพลาสติกต้องใช้เวลาแตกตัว ขยะทะเลที่ลงไปในช่วงโควิด/ช่วงนี้/ช่วงต่อไป ยังไม่ปรากฏผลชัดเจนในรูปแบบไมโครพลาสติก เพราะฉะนั้น เรายังวางใจอะไรไม่ได้เลย อันที่จริง เป็นช่วงที่เราควรจะต้องรีบเร่งแก้ไขในทุกทางจึงนำเรื่องนี้มาบอกเล่ากัน เผื่อวันนี้พรุ่งนี้ จะช่วยลดขยะใช้แล้วทิ้ง ช่วยกันแยกขยะหาทางรีไซเคิลเท่าที่ทำได้ ยังอยากเขียนเพื่อให้กำลังใจหลายต่อหลายคน ผู้ยังพยายามจัดกิจกรรมหาทางลดขยะอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในช่วงโควิดที่ทำลำบาก ขอบคุณทุกการกระทำ ผลอาจไม่เห็นกับตาในวันนี้ แต่มีผลแน่นอนในวันหน้า ส่งกำลังใจให้ทุกท่านที่ช่วยกัน ตั้งแต่ระดับนโยบายลงมาจนถึงเด็กน้อยผู้เก็บขยะสักชิ้นกับคุณพ่อคุณแม่ครับ. ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat https://www.thairath.co.th/news/local/2223555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|