#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
เรือบรรทุกน้ำมันฟิลิปปินส์ล่มในอ่าวมะนิลา จนท.เร่งคุมน้ำมันรั่วไหล เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติฟิลิปปินส์ที่บรรทุกน้ำมันกว่า 1.4 ล้านลิตร อับปางนอกชายฝั่งมะนิลา เจ้าหน้าที่ต้องแข่งกับเวลาเพื่อควบคุมการรั่วไหลลงสู่ทะเล เรือเอ็มที เทอร์รา โนวา เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติฟิลิปปินส์ที่บรรทุกน้ำมันมาราว 1.4 ล้านลิตร ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองอิโลอิโล ประสบอุบัติเหตุอับปางลงบริเวณอ่าวมะนิลา ใกล้กับเมืองหลวงของประเทศ โดยเริ่มเห็นคราบน้ำมันลอยออกจากตัวเรือเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ด้านพลเรือตรีอาร์มันโด บาลิโล โฆษกหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ ระบุในระหว่างการแถลงข่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ รวมทั้งหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล กำลังเร่งทำงานกับเวลาและปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อสกัดการรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้ โดยหากมีการรั่วไหลเกิดขึ้นจริง จะนับเป็นการรั่วไหลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติฟิลิปปินส์ และจะเกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อชายฝั่งมะนิลา ขณะที่นายเจมี เบาติสตา รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ลูกเรือ 16 จาก 17 คนบนเรือได้รับการช่วยเหลือแล้ว ในจำนวนนี้มี 4 คนที่ต้องรักษาพยาบาล และกำลังเร่งค้นหาลูกเรือที่สูญหาย แต่กระแสลมแรงและคลื่นสูงเป็นอุปสรรคในปฏิบัติการค้นหา ซึ่งทางการกำลังเร่งสอบสวนว่า สภาพอากาศแปรปรวนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้หรือไม่ เนื่องจากขณะเกิดเหตุเป็นช่วงไล่เลี่ยกับที่ไต้ฝุ่นแคมีพัดเข้าถล่มมะนิลาและภูมิภาคใกล้เคียง ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เคยเผชิญกับเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งเลวร้ายที่สุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 เมื่อเรือขนส่งน้ำมันที่บรรทุกน้ำมันอุตสาหกรรมราว 800,000 ลิตร ล่มในทะเลทางตอนกลางของเกาะมินดาเนา ทำให้น้ำมันดีเซลจากเรือปนเปื้อนในน้ำและชายหาด ในจังหวัดโอเรียนทัล มินโดโร สร้างความเสียหายให้แก่การทำประมงและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว. ที่มา : channelnewsasia https://www.thairath.co.th/news/foreign/2803145
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
"พัชรวาท" ห่วงใยสัตว์ทะเลหายาก มอบ "กรมทะเล" เร่งสำรวจ พบพะยูน?เต่าทะเล-โลมา วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทรัพยากรทางทะเล เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเล ปะการัง พื้นที่ชายฝั่ง สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนสัตว์ทะเลหายากที่นับวันใกล้สูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทย จึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก ในการนี้ ตนได้สั่งการให้ทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของกรม ทช. เร่งลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยาน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ออกสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน อาทิ จังหวัดสตูล กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง ด้วยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้อากาศยานปีกตรึง 9 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect ระหว่างเดือนมิถุนายน ? กรกฎาคม พื้นที่จังหวัดกระบี่ อ่าวนาง อ่าวท่าเลน อ่าวน้ำเมา เกาะลันตา เกาะศรีบอยา เกาะจำเกาะปู และบริเวณแนวหญ้าทะเลใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดกระบี่ สำรวจพบพะยูน จำนวน 26 ตัว เป็นพะยูนคู่แม่ลูกอย่างน้อย จำนวน 1 คู่ เต่าทะเล จำนวน 31 ตัว และโลมาไม่ทราบชนิด จำนวน 1 ตัว พื้นที่จังหวัดพังงา อ่าวพังงา เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ ปากคลองมะรุ่ย เกาะหมากน้อย หมู่เกาะระ-เกาะพระทอง พื้นที่จังหวัดภูเก็ต อ่าวป่าคลอก อ่าวมะขาม แหลมพันวา พื้นที่จังหวัดระนอง หมู่เกาะช้าง เกาะพยาม เกาะกำน้อยและเกาะกำใหญ่ สำรวจพบพะยูน จำนวน 10 ตัว เต่าทะเล จำนวน 21 ตัว โลมาหัวบาตรหลังเรียบ จำนวน 6 ตัว โลมาไม่ทราบชนิด จำนวน 1 ตัว และพื้นที่จังหวัดสตูล เกาะลิดี เกาะตันหยงอุมา เกาะสาหร่าย และหมู่เกาะใกล้เคียงพื้นที่จังหวัดสตูล สำรวจพบ พะยูน จำนวน 3 ตัว เต่าทะเล จำนวน 3 ตัว โลมาหลังโหนก จำนวน 6 ตัว และโลมาไม่ทราบชนิด จำนวน 7 ตัว อย่างไรก็ตาม กรม ทช. ได้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ตามข้อสั่งการของ รมว.ทส. เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมของทุกกระบวนการ ทั้งการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเล ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อการจัดการแบบเต็มรูปแบบ รวมถึงการใส่ใจ ดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องชุมชนชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน และผู้ประกอบต่างๆ ในการช่วยกันเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งลำพังเจ้าหน้าที่กรม ทช. มีไม่เพียงพอต่อทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ดังนั้น หากพบการกระทำผิดกฎหมาย บุกรุก ทำลายทรัพยากรทางทะเล หรือพบเจอสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งมีชีวิตและตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรม ทช. ในพื้นที่ เพื่อจะได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที หรือแจ้งมาที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง "ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย" https://www.dailynews.co.th/news/3683198/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
เกลื่อนหาด! คลื่นซัดคราบน้ำมันสีดำเกยชายหาดคึกคักจำนวนมาก ส่งผลกระทบนักเล่นเซิร์ฟ พังงา ? คลื่นซัดคราบน้ำมันสีดำขึ้นมาเกยหาดแมมโมรี่ ต.คึกคัก จ.พังงา เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่มาเล่นเซิร์ฟและทำกิจกรรมบนชายหาด เจ้าหน้าเร่งเก็บกวาดนำไปกำจัด วันนี้ (25 ก.ค.) นายสิริธร บัวแก้ว รองนายกเทศมนตรีตำบลคึกคัก ลงพื้นที่ตรวจสอบคราบน้ำมันดิบลอยมาเกยหน้าหาดแมมโมรี่บีช ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบก้อนน้ำมันสีดำถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนชายหาด เป็นทางยาว ซึ่งก้อนคราบน้ำมันส่งผลกระทบต่อนักเล่นเซิร์ฟ ขณะที่เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเทศบาล ต.คึกคัก ช่วยประสานทีมงานเก็บกวาดคราบน้ำมันหน้าหาด และเทศบาล ต.คึกคัก เข้าเก็บกวาดนำไปกำจัดเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน และนักท่องเที่ยวที่มาเล่นเซิร์ฟ เล่นน้ำ และทำกิจกรรมบนชายหาด https://mgronline.com/south/detail/9670000063204
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
นักวิจัยอึ้ง พบ 'โคเคน' ในตัว 'ฉลาม' หวั่นยาเสพติดทำลายชีวิตสัตว์น้ำ .......... โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล นักวิจัยพบ "โคเคน" ในตับและกล้ามเนื้อของ "ฉลาม" ที่ประเทศบราซิล ตอกย้ำผลกระทบถึงยาเสพติดที่มีต่อชีวิตสัตว์น้ำ การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment พบร่องรอยของโคเคนในฉลามหัวแหลมที่อาศัยอยู่นอกชายฝั่งบราซิล ทั้งในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อและตับ โดยฉลามเหล่านี้มีทั้งสิ้น 13 ตัว ถูกจับโดยเรือประมงนอกชายฝั่งรัฐรีโอเดจาเนโรทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลระหว่างเดือนกันยายน 2564 - สิงหาคม 2566 ฉลาม 13 ตัว แบ่งออกเป็นตัวผู้ 3 ตัวและตัวเมีย 10 ตัว มีโคเคนทั้งสิ้น นักวิจัยไม่ทราบแน่ชัดว่าฉลามสัมผัสกับยาได้อย่างไร แต่พวกเขาสงสัยว่าโคเคนอาจถูกปล่อยลงแม่น้ำและคลองในเมือง แล้วไหลลงสู่ชายฝั่ง อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือ ฉลามอาจจะไปกัดโดนแพ็คโคเคนที่แก๊งลักลอบขนยาเสพติดที่นำไปลอยในน้ำ "ไม่ว่ายามาจากไหน แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีการซื้อขายและเคลื่อนย้ายโคเคนอย่างแพร่หลายในบราซิล" เอนริโก เมนเดส ซากจิโอโร ผู้ประสานงานการศึกษาจากสถาบันออสวัลโด ครูซ กล่าว นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า โคเคนมีครึ่งชีวิตต่ำในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่พบโคเคนในสัตว์ประเภทนี้ หมายความว่ามียาเสพติดจำนวนมากเข้าสู่สิ่งมีชีวิต นักวิจัยกล่าวว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบโคเคนในฉลามตามธรรมชาติ และการค้นพบในครั้งนี้ ?ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการมียาเสพติดผิดกฎหมายในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ? อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโคเคนส่งผลอย่างไรต่อฉลาม แต่โคเคนมุ่งเป้าไปที่สมอง และเคยมีบันทึกพฤติกรรมผิดปกติในสัตว์อื่น ๆ มาแล้ว การพบสารเสพติดในสัตว์ป่าตามธรรมชาติเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่นเมื่อปี 1985 ได้คนพบโครงกระดูกของหมีดำน้ำหนัก 500 ปอนด์ จากรัฐจอร์เจีย ของสหรัฐ ที่แสดงว่ามันได้รับโคเคนเกินขนาด โดยสันนิษฐานว่ามันเสพโคเคนที่กลุ่มผู้ลักลอบขนยาเสพติดโยนลงมาจากเครื่องบิน และเรื่องราวของหมีตัวนี้ได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง "Cocaine Bear" (2023) ขณะที่การศึกษาก่อนหน้า พบว่ายาเสพติดทั้งที่ผิดกฎหมายและที่ถูกกฎหมายกำลังสะสมอยู่ในน่านน้ำทั่วโลก รวมถึงในรัฐเซาเปาโล ของบราซิล ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการปนเปื้อนของโคเคนกำลังก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อระบบนิเวศต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมถึงหอยแมลงภู่และหอยนางรม ก่อนหน้านี้นักวิจัยพบว่าระดับโคเคนในน้ำรอบ ๆ เซาเปาโล ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของบราซิล มีระดับใกล้เคียงกับปริมาณคาเฟอีนในกาแฟและชา ซึ่งมีความเข้มข้นสูง นอกจากนี้ยังตรวจพบในน้ำดื่มของรัฐด้วย เช่นเดียวกับในอังกฤษ ที่นักวิจัยพบว่าในกุ้งน้ำจืดสัมผัสกับโคเคนและยาอื่น ๆ ในแม่น้ำมาตั้งแต่ปี 2019 ขณะที่ในปี 2021 นักวิจัยพบว่าปลาเทราต์สีน้ำตาลอาจติดยาบ้าได้ หากมีสารสะสมอยู่ในน้ำจำนวนมาก "ปลาไวต่อผลข้างเคียงของยาออกฤทธิ์ทางระบบประสาทหลายชนิด ตั้งแต่แอลกอฮอล์ไปจนถึงโคเคน และสามารถพัฒนาไปสู่ขั้นติดยาได้เหมือนกับกับมนุษย์" พาเวล ฮอร์กี้ นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตแห่งปราก บอกกับ CNN ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาการบริโภคโคเคนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดย 22% ของผู้เสพโคเคนอยู่ในอเมริกาตาย และบราซิลเป็นหนึ่งในผู้บริโภคยารายใหญ่ที่สุดในทวีปนี้ โดยนักวิจัยกล่าวว่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและโครงสร้างพื้นฐานในการบำบัดน้ำเสียที่ไม่ดีทำให้ระดับโคเคนในทะเลสูงขึ้น ทั้งนี้นักวิจัยชาวบราซิลเลือกศึกษาฉลามหัวแหลม เนื่องจากมีขนาดเล็ก และอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนเป็นอย่างมาก ทำให้ฉลามสายพันธุ์นี้ถูกเรียกว่าเป็น "ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม" เนื่องจากฉลามหัวแหลมเป็นหนึ่งในอาหารของชาวบราซิล ดังนั้นนักวิจัยจึงเป็นกังวลว่าโคเคนที่อยู่ในฉลามอาจจะสามารถส่งผ่านมาถึงมนุษย์ได้ หากินมันเข้าไป นักวิจัยยังพบว่า ระดับโคเคนในกล้ามเนื้อสูงกว่าในตับถึงสามเท่า และฉลามตัวเมียมีความเข้มข้นของโคเคนในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อสูงกว่าเมื่อเทียบกับตัวผู้ ปริมาณโคเคนและสารเบนโซอิลเอคโกนีน (Benzoylecgonine) ซึ่งเป็น สารที่เกิดจากการย่อยสลายของโคเคนที่พบในฉลาม เกินระดับที่ระดับที่เคยพบในปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำอื่น ๆ มากถึงสองเท่า ขั้นต่อไป ทีมงานวางแผนที่จะวิเคราะห์ฉลามสายพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงปลากระเบนที่อาศัยอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำ รวมถึงวางแผนที่จะประเมินปลาอพยพ เช่น ปลากระบอก เพื่อตรวจสอบว่าพฤติกรรมการย้ายถิ่นส่งผลต่อการสะสมโคเคนหรือไม่ ที่มา: CNN, The Guardian, The Washington Post https://www.bangkokbiznews.com/environment/1137254
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ค้นพบ "ออกซิเจนมืด" เกิดจากก้อนโลหะก้นมหาสมุทร ........... โดย วิกตอเรีย กิลล์ ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การผลิตออกซิเจนบนโลกไม่อาจเป็นไปได้หากขาดแสงอาทิตย์ที่มาของภาพ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ "ออกซิเจนมืด" (dark oxygen) ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติในส่วนลึกของมหาสมุทรที่ปราศจากแสงอาทิตย์ โดยออกซิเจนเหล่านี้มาจากก้อนโลหะที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นตรงก้นมหาสมุทร ไม่ใช่ออกซิเจนที่เกิดจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชในทะเลตามปกติ กว่าครึ่งของออกซิเจนในอากาศที่เราหายใจเข้าไปมาจากมหาสมุทร แต่ก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ออกซิเจนเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) ของพืชในทะเลเท่านั้น แต่ล่าสุดกลับมีการค้นพบออกซิเจนที่ระดับความลึกถึง 5 กิโลเมตรใต้ผิวน้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่มืดมิดเพราะแสงอาทิตย์ส่องลงไปไม่ถึง ทั้งยังพบว่า ?ออกซิเจนมืด? นั้นมาจากก้อนโลหะกลมเล็ก ๆ ที่สามารถแยกองค์ประกอบของน้ำ (H2O) ให้กลายเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนได้ ขณะนี้มีบริษัทเหมืองแร่หลายแห่ง ต้องการจะเก็บเอาก้อนโลหะดังกล่าวไปทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหวั่นเกรงกันว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ใต้ทะเลอาจรบกวนกระบวนการสร้างออกซิเจนมืดตามธรรมชาติได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสัตว์ในทะเลลึกหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาออกซิเจนมืดในการดำรงชีวิต ศาสตราจารย์แอนดรูว์ สวีตแมน ผู้นำทีมวิจัยจากสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งสกอตแลนด์ บอกกับบีบีซีว่า "อันที่จริงผมพบออกซิเจนมืดครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 แต่กลับไม่ให้ความสนใจกับมันในตอนนั้น เพราะเราทุกคนถูกสอนมาว่า โลกนี้มีเพียงออกซิเจนที่เกิดจากการสังเคราะห์ด้วยแสง" "แต่หลายปีต่อมา ผมตระหนักได้ในที่สุดว่า ตัวเองมองข้ามสิ่งที่อาจเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่มานาน" ศ.สวีตแมนกล่าว ทีมวิจัยของศ. สวีตแมน ทำการศึกษาในพื้นที่บริเวณก้นมหาสมุทรลึก ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหมู่เกาะฮาวายและประเทศเม็กซิโก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของพื้นก้นสมุทรอันกว้างใหญ่ที่มีก้อนโลหะผลิตออกซิเจนกระจัดกระจายอยู่ทั่ว โดยพบว่าก้อนโลหะเหล่านี้เกิดขึ้นจากแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในน้ำทะเล เข้าจับตัวสะสมบนเศษเปลือกหอยหรือวัตถุขนาดเล็กเป็นเวลานานหลายล้านปี แต่การที่ก้อนโลหะเหล่านี้มีแร่ธาตุอย่างลิเทียม, โคบอลต์, และทองแดง ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี ทำให้บริษัทเหมืองแร่หลายแห่งเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อเก็บเอามันขึ้นมาจากก้นมหาสมุทรลึก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของศ. สวีตแมนและคณะ ซึ่งเพิ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature Geoscience ได้จุดประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่น่าห่วงกังวล เกี่ยวกับก้อนโลหะที่เป็นแหล่งกำเนิดของออกซิเจนมืดดังกล่าว โดยพวกเขาค้นพบว่าการที่มันผลิตออกซิเจนได้ ก็เพราะมีกลไกคล้ายแบตเตอรีอยู่ในก้อนโลหะประหลาดนั่นเอง "หากคุณนำแบตเตอรีลงไปแช่น้ำทะเล จะมีฟองอากาศเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรีทำหน้าที่แยกองค์ประกอบของน้ำทะเลให้กลายเป็นก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจน เราคิดว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติกับก้อนโลหะเหล่านั้น" ศ. สวีตแมนอธิบาย "กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเป็นแบบเดียวกับที่เกิดจากถ่านไฟฉาย หากคุณใส่ถ่านแค่ก้อนเดียวไฟฉายจะไม่สว่างขึ้น แต่ถ้าใส่ลงไปสองก้อนจะเกิดแรงดันไฟฟ้ามากพอจนไฟฉายส่องสว่างได้ ก้อนโลหะที่ก้นมหาสมุทรก็เช่นกัน เมื่อมันเรียงตัวแบบแนบชิดติดกันเป็นจำนวนมาก ก็เหมือนกับแบตเตอรีหลายก้อนทำงานพร้อมกัน" มีการทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานข้างต้น โดยทีมวิจัยของศ. สวีตแมน นำก้อนโลหะกลมขนาดเท่าหัวมันฝรั่งจากก้นสมุทรดังกล่าวมาไว้ในห้องปฏิบัติการ แล้ววัดแรงดันไฟฟ้า (voltage) บนผิวของก้อนโลหะแต่ละก้อน เพื่อให้ทราบถึงความแรงของกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น จนพบว่ามันมีค่าแรงดันไฟฟ้าเกือบจะเท่ากับแบตเตอรีชนิด AA ที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดเลยทีเดียว นั่นหมายความว่า ก้อนโลหะที่ก้นมหาสมุทรอันมืดมิดเหล่านี้ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอที่จะสลายพันธะของโมเลกุลน้ำ ตามกระบวนการที่เรียกว่าอิเล็กโทรไลซิส (electrolysis) หรือการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า อันเป็นกระบวนการเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการนำไปใช้ผลิตออกซิเจน สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในห้วงอวกาศหรืออาณานิคมต่างดาว โดยไม่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์หรือกระบวนการทางชีวภาพใด ๆ เข้าช่วย คำบรรยายภาพ,การทดลองวัดแรงดันไฟฟ้าที่ผิวของก้อนโลหะจากก้นมหาสมุทร บริเวณที่เรียกว่า "เขตคลาเรียน-คลิปเปอร์ตัน" (The Clarion-Clipperton Zone) คือจุดที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบออกซิเจนมืดในครั้งนี้ แต่น่าเป็นห่วงว่าพื้นที่เดียวกันก็เป็นเป้าหมายในการสำรวจค้นหาแร่ธาตุของบริษัทเอกชนจำนวนมาก ซึ่งต่างกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตน เพื่อเก็บและลำเลียงเอาก้อนโลหะก้นมหาสมุทรขึ้นมาสู่เรือขนส่งที่ลอยลำอยู่บนผิวน้ำ องค์การบริหารกิจการด้านมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) ได้ออกคำเตือนว่า การทำเหมืองแร่ก้นสมุทรอาจจะ ?ส่งผลกระทบให้เกิดการทำลายล้างสิ่งมีชีวิต รวมทั้งที่อยู่อาศัยของพวกมันตรงก้นมหาสมุทร ในเขตพื้นที่การทำเหมืองแร่ได้? ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกว่า 800 ราย จาก 44 ประเทศ ได้ร่วมกันลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการทำเหมืองแร่ที่ก้นทะเลลึกทันที เพราะมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมอยู่หลายประการ รวมทั้งการทำลายแหล่งผลิตออกซิเจนที่ใช้ในการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลในเขตที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ ๆ ในเขตมืดมิดดังกล่าวอยู่เรื่อย ๆ ทั้งยังมีความลับอีกมากมายเกี่ยวกับระบบนิเวศก้นมหาสมุทรที่มนุษย์ยังไม่รู้ ศาสตราจารย์เมอร์เรย์ โรเบิร์ตส์ นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องข้างต้น บอกกับบีบีซีว่า "มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า หากทำเหมืองแบบเปิดกับทุ่งก้อนโลหะก้นทะเลลึก มันจะทำลายระบบนิเวศลึกลับที่เราแทบจะไม่มีความรู้ความเข้าใจเลยในตอนนี้" "เนื่องจากทุ่งก้อนโลหะดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่มากบนโลกของเรา การดื้อดึงจะผลักดันอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก้นทะเลต่อไปจึงเป็นเรื่องบ้าบอไร้สติสิ้นดี เพราะรู้ทั้งรู้ว่ามันอาจเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญของโลก" แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ศ. สวีตแมน หัวหน้าทีมวิจัยผู้ค้นพบออกซิเจนมืดกลับแสดงความเห็นว่า ?ผมไม่คิดว่าการค้นพบครั้งนี้จะเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดว่า เราควรระงับการทำเหมืองแร่ก้นสมุทร? "เราจำเป็นจะต้องสำรวจและตรวจสอบต่อไปอีก เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลที่เป็นรายละเอียด และใช้ข้อมูลที่รวบรวมได้ในอนาคตให้เป็นประโยชน์ หากจะต้องลงมือทำเหมืองแร่ก้นสมุทรกันจริง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถทำมันด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" https://www.bbc.com/thai/articles/cjr4pv51rrwo
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
คำสั่งเพิ่มเติม | |
เรียบเรียงคำตอบ | |
|
|