#1
|
||||
|
||||
หมึกกล้วย
หมึกกล้วย .................. โดย วินิจ รังผึ้ง แม้นจะถูกเรียกว่าปลา แต่ “ปลาหมึก” ก็เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มหอยในไฟลั่ม Mollusca ซึ่งมีญาติพี่น้องในกลุ่มเดียวกันสืบสายเผ่าพันธุ์คู่กับท้องทะเลยาวนานกว่า 500 ล้านปีมาแล้ว โดยบรรดาหมึกนั้นอยู่ใน Class Cephalopoda ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินคำว่า “Cephalo” แปลว่า “หัว” และ “Poda” แปลว่า “เท้า” ซึ่งสามารถบ่งบอกลักษณะของสัตว์ชนิดนี้ได้อย่างเด่นชัดว่าเป็นสัตว์ที่มีหัวกับเท้าติดกัน โดยจะเห็นได้ชัดจากรูปร่างของหมึกยักษ์หรือหมึกสาย ที่มีส่วนหัวกับติดกับหนวดที่คล้ายกับเป็นเท้าไม่มีลำตัว โดยพี่น้องตระกูลหมึกนั้นมีด้วยกันมากกว่า 650 ชนิด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มหมึกยักษ์หรือหมึกสาย (Octopus) กลุ่มหมึกหอม (Squid) กับหมึกกล้วย (Loligo) กลุ่มหมึกกระดอง (Cuttlefish) และกลุ่มหอยงวงช้าง ( Nautilus ) แม้นไม่ใช่ปลา แถมยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มหอย แต่หมึกก็จัดเป็นหอยที่มีพัฒนาการสูงสุด เพราะหอยโดยทั่วไปมักจะมีร่างกายเป็นเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มบอบบาง ธรรมชาติจึงสร้างให้หอยมีพัฒนาการโดยการสร้างเปลือกแข็งมาเป็นเกราะห่อหุ่มปิดบังลำตัวไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่ออันโอชะนุ่มปากของบรรดาสัตว์ผู้ล่าทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งประเภทหอยฝาเดียวเช่นหอยสังข์และหอยสองฝาเช่นหอยกาบ หอยแครง หอยแมลงภู่ ซึ่งการมีเปลือกแข็งเป็นเกราะห่อหุ้มลำตัวก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีก็เพื่อความปลอดภัยจากนักล่า เมื่อมีภัยมาก็หดตัวเข้าไปอยู่ในเปลือกปิดฝาปิดประตูลงกลอนเสีย เมื่อปลอดภัยหรือสถานการณ์ดีขึ้นก็ค่อยๆเปิดฝาออกมาดูโลก ในขณะเดียวกันเมื่อฝาที่เป็นเปลือกแข็งมีประโยชน์ มันก็มีน้ำหนักมาก และเป็นตัวถ่วงให้หอยไม่สามารถจะเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่ว จะไปไหนทีก็ต้องค่อยๆคืบคลานแบกฝาอันหนักอึ้งไปด้วยทุกหนทุกแห่ง หนำซ้ำหอยบางชนิดเช่นหอยนางรม หอยมือเสือ และอีกมากมายหลายชนิด ยังฝังผนึกเปลือกของตัวเองติดไว้กับโขดปะการัง ผนังถ้ำ ผาหิน ตรึงแน่นชนิดไม่สามารถจะเคลื่อนที่ไปไหนได้เลยตลอดชีวิต อาศัยเพียงกระแสน้ำที่ไหลผ่านไปผ่านมาพัดพาเอาอาหารมาให้เท่านั้น นี่ถ้าวันใดทะเลไม่มีน้ำขึ้นน้ำลง ไม่มีกระแสน้ำไหลเวียนบรรดาหอย ปะการังและสิ่งมีชีวิตที่ติดแน่นอยู่กับที่ทั้งหลายใต้ท้องทะเล ก็คงไม่สามารถจะมีชีวิตเหลือรอดอยู่ได้อย่างแน่นอน เมื่อฝาหรือเปลือกแข็งอันหนักอึ้งเทอะทะกลายเป็นตัวถ่วงการเคลื่อนไหวไปมาของสัตว์ประเภทหอย ญาติในกลุ่มเดียวกันผู้รักที่จะมีชีวิตอิสระอย่างหมึกทุกชนิดยกเว้นหมึกกลุ่มหอยงวงช้างก็เลยสลัดพันธนาการ พัฒนาตัวเองให้ไม่ต้องมีเปลือกหุ้ม แล้วพัฒนาแผ่นเนื้อเยื่อบางๆข้างลำตัวให้สามารถโบกสะบัดพลิ้วไหว ทำให้หมึกสามารถว่ายน้ำเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวขึ้น เพราะเมื่อไม่มีเปลือกแข็งคอยเป็นเกราะป้องกันตัว มีเพียงผิวเนื้อนุ่มๆ ขาวนวลหอมหวนน่ากินเช่นนั้น มันก็ย่อมจะตกเป็นอาหารอันโอชะของปลาและสัตว์นักล่าอื่นๆได้โดยง่าย ขืนยังคลานต้วมเตี้ยมเชื่องช้าเหมือนแต่ก่อนก็คงต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากท้องทะเลเป็นแน่ หมึกจึงปรับลำตัวให้มีรูปทรงเพรียวน้ำและเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้หมึกยังมีท่อสำหรับดูดน้ำทะเลที่มีออกซิเจนเข้าไปใช้ในการหายใจ และใช้พ่นน้ำออกมา ซึ่งหากหมึกพ่นน้ำออกจากท่อนี้ด้วยความแรง ก็สามารถจะเป็นแรงผลักดันในการเคลื่อนที่ให้ลำตัวพุ่งไปในทางตรงกันข้ามได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นไม้เด็ดในการหลบหนีศัตรูผู้ล่าได้อีกวิธีหนึ่ง นอกจากการเคลื่อนที่ทำได้รวดเร็วขึ้น การมีท่อพ่นน้ำเหมือนจรวดแรงดันน้ำที่เป็นทีเด็ดในการหลบหลีกหนีศัตรูผู้ล่าแล้ว หมึกยังมีดวงตากลมโตที่มีความสามารถในการมองเห็นสูง และมีฝีมือในการพรางตัวได้อย่างยอดเยี่ยม โดยหากเป็นหมึกกล้วย หมึกหอม ก็มักจะมีลำตัวใสเข้ากับสีของมวลน้ำเนื่องจากหมึกในกลุ่มนี้มักจะว่ายน้ำลอยตัวอยู่กลางห้วงน้ำเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มหมึกกระดอง และหมึกยักษ์หรือหมึกสายนั้นมักจะชอบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังหรือพื้นหินปะการังมันจึงมักจะปรับสีสันบนลำตัวให้มีสีสันและลวดลายกลมกลืนเป็นสีน้ำตาลเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่มันอาศัยอยู่ โดยหมึกทุกตัวสามารถจะเปลี่ยนสีสันและลวดลายบนลำตัวได้อย่างรวดเร็วในพริบตา โดยใช้เม็ดสีที่มีอยู่ตามลำตัวหดขยาย โดยจะขับสีใดให้โดดเด่นขึ้นมาหรือจะทำให้ลำตัวกลายเป็นสีขาวซีดในทันทีก็สามารถจะทำได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนสีสันไปมาในทันทีนั้นก็สามารถจะทำให้ศัตรูผู้ล่าที่ขวัญอ่อนตกอกตกใจ หรือเกิดความลังเลไม่กล้าจะจู่โจมทำร้าย ในขณะเดียวกันสีสันบนลำตัวของหมึกก็สามารถจะปรับเปลี่ยนไปตามอารมณ์ความรู้สึก เช่นตอนหมึกหนุ่มหมึกสาวกำลังคลอเคลียกันไปมา ก็จะปรับเปลี่ยนสีสันบนลำตัวไปตามอารมณ์แห่งความรักด้วย เมื่อการปรับสี การพรางตัวเพื่อการหลบซ่อนไม่ได้ผล ศัตรูผู้ล่ายังเดินหน้าเข้ามาจะจู่โจม ทำให้หมึกต้องปรับสีสันบนลำตัวให้วูบวาบเพื่อข่มขู่แต่ก็ยังไม่ได้ผล สุดท้ายหมึกก็ยังมีไม้ตายด้วยการพ่นสารเคมีสีดำขุ่นข้นที่ผู้คนเรียกว่าหมึกออกมาใส่ศัตรูที่จะเข้ามาจู่โจม น้ำหมึกหรือสารเคมีที่พ่นออกมานั้นนอกจากจะมีสีดำ มีลักษณะเป็นเมือกผสมผสานอยู่แล้ว ยังมีรสชาติและกลิ่นที่สามารถทำให้ศัตรูผู้ล่าเกิดอาการมึนงงหรือเมาได้ชั่วขณะ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดอาการชะงักและไม่กล้าเข้าโจมตีต่อ ในช่วงนี้หมึกก็จะพ่นน้ำออกทางท่ออย่างรุนแรง พร้อมกับพุ่งตัวหลบหนีหายไปจากบริเวณนั้น กว่าน้ำหมึกสีดำจะจางหาย กว่าน้ำจะใส หมึกก็สามารถจะว่ายน้ำจากไป หรือหาที่หลบซ่อนตามซอกมุมที่ปลอดภัย ซึ่งหมึกยักษ์หรือหมึกสายนั้นสามารถจะใช้ความยืดหยุ่นของลำตัวแทรกตัวผ่านช่องหรือโพรงหินที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดตัวของมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตามแหล่งดำน้ำในบ้านเรานั้น นักดำน้ำหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับหมึกกระดองกันมากที่สุด เพราะพบเห็นได้ง่ายตามกองหินใต้น้ำ และเป็นหมึกที่เชื่องว่ายน้ำด้วยการลอยตัวแล้วใช้แผ่นบางใสข้างลำตัวพลิ้วไปมา สามารถจะเข้าไปชมเข้าไปถ่ายภาพได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่ตื่นหนีไปไหน และหมึกยักษ์ที่ชอบซุกตัวอยู่ตามโขดปะการังโครงสร้างแข็ง แม้นจะขี้อายและชอบหนีหลบเข้าไปซุกในซอกปะการัง แต่ก็ยังสามารถพบเห็นกันได้บ่อยๆ และการเคลื่อนไหวไปมาอย่างเชื่องช้าก็ทำให้สามารถจะเข้าไปศึกษา เข้าไปถ่ายภาพเจ้าหมึกยักษ์ได้โดยง่ายเช่นกัน ในขณะที่หมึกกล้วยซึ่งเราพบเห็นกันตามสะพานปลา และเป็นหมึกที่ถูกจับขึ้นมาทำอาหารมากที่สุด กลับเป็นหมึกชนิดที่หาดูได้ยาก และถ่ายภาพได้ยากที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะมันชอบว่ายเป็นฝูงอยู่กลางน้ำ นานๆครั้งจึงจะว่ายเข้ามาใกล้กองหินหรือแนวปะการัง มันจึงเป็นหมึกที่หาชมได้ค่อนข้างยากสักหน่อย เพราะเมื่อพบตัวก็มีนิสัยขี้ตื่นกลัว มีสัญชาตญาณในการระวังภัยสูง มันชอบรักษาระยะห่างจากนักดำน้ำมากพอสมควร ไม่ค่อยยอมให้นักดำน้ำเข้าไปใกล้ การถ่ายภาพจึงเป็นเรื่องยาก นอกจากจะพบตอนที่มันกำลังจับคู่วางไข่อยู่ตามซอกหิน หรือสิ่งที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งในช่วงวางไข่นั้นมันจะมุ่งมั่นปฏิบัติการแทบจะไม่สนใจว่ามีนักดำน้ำจ้องมองอยู่เลย หลายคนอาจจะเข้าใจว่าหมึกยักษ์นั้นเป็นหมึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และน่ากลัวที่สุดด้วยรูปร่างหน้าตาและชื่อว่าหมึกยักษ์ของมัน แต่ในความเป็นจริงแล้วหมึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดกลับเป็นหมึกในกลุ่มหมึกกล้วยที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับหมึกกล้วยตัวเล็กๆที่เรากินอยู่นี่แหละ แต่มันกลับมีขนาดใหญ่กว่าตัวคนเสียอีก โดยมีขนาดความยาววัดได้ถึง 14 เมตร มีน้ำหนักกว่า 700 กิโลกรัมเลยทีเดียว ซึ่งหมึกกล้วยยักษ์ประเภทนี้เป็นหมึกน้ำลึกที่อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเลในความลึกมากกว่าพันเมตรลงไป หรือลึกลงไปกว่ากิโลเมตรเลยทีเดียว โดยหมึกโคลอสซัล (Colossal Squid ) หรือหมึกมหึมาชนิดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว โดยดวงตาของมันแต่ละข้างนั้นมีขนาดโตเท่าๆลูกฟุตบอลเลยทีเดียว ด้วยความเป็นหมึกน้ำลึกที่ชอบอาศัยอยู่ใต้ทะเลอันยะเยือกเย็น และมืดสลัวเพราะแสงตะวันจากเบื้องบนส่องลงไปแทบจะไม่ถึง จึงยากจะพบเห็นเจ้าหมึกกล้วยยักษ์ชนิดนี้ แต่นานๆก็จะมีการพบเห็นซากของมันตายลอยขึ้นมาติดอยู่ตามชายฝั่ง หรือบางครั้งก็พบซากของมันในท้องวาฬสเปิร์ม ในขณะที่เมื่อตรวจสอบซากวาฬอย่างละเอียดนักวิทยาศาสตร์ก็พบร่องรอยของบาดแผลจากขอแหลมของปุ่มดูดปลายหนวดของหมึกน้ำลึกชนิดนี้ กับร่อยรอยของฟันปากนกแก้วของหมึกฝากรอยบาดแผลไว้บนหลังของวาฬด้วย ทำให้รู้ว่าวาฬสเปิร์มเป็นนักนักดำน้ำผู้ดำลึกลงไปกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อลงไปล่าหมึกน้ำลึกชนิดนี้ และการล่าแต่ละครั้งก็น่าจะเป็นการต่อสู้ที่ตื่นเต้นเร้าใจไม่น้อยเลยทีเดียว จาก .................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 13 กันยายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|