เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #41  
เก่า 23-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


การแก้ไขต้องเริ่มต้นจากความรู้และปัญหาที่แท้จริง .................. โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย



ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สำนักงานงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรรมการบริหาร รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)

กว่าจะแนะนำตัวผู้มีส่วนสำคัญต่อการจัดการความรู้เพื่อค้นหาปัญหาของพื้นที่อ่าวไทยตอนบนจบ ต้องใช้เวลานานทีเดียว นี่เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเท่านั้น เพราะหากจะให้พูดถึงทุกตำแหน่งที่ดร.อานนท์มี อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายนาที พอๆกับการไล่รายชื่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่เป็นผลมาจาก การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ซึ่ง ดร.อานนท์เชื่อว่ามีมากกว่า 100 หน่วยงานเลยทีเดียว

ความมากมายที่พูดถึงไม่ใช่ความหลากหลายทางชีวภาพที่ส่งผลดีต่อการจัดการ ปัญหาใดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาระดับประเทศที่กำลังเริ่มต้นกันอย่างจริงจังอีกครั้งในวันนี้ ดร.อานนท์ ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการ 360 ํ ถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในฐานะที่ต้องดูแลด้านการจัดการความรู้เพื่อค้นหาและระบุพันธกิจที่จะมีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงในพื้นที่เป้าหมาย โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการศึกษาเพื่อกำหนดเป้าหมายด้านการจัดการพื้นที่อ่าวไทยตอนบนนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำหนังสือถึงเอกอัคร ราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเมื่อประมาณ 1 ปีก่อนหน้านี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยที่มี สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หน่วยงานที่เข้าร่วมในครั้งนี้ประกอบด้วยคณะผู้แทนและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานร่วมจัดงานทั้งฝ่ายไทยและเนเธอร์แลนด์ ผู้บริหารระดับนโยบาย ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นของหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนและผู้เชี่ยวชาญภาควิชาการและสถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน


การศึกษาเพื่อกำหนดเป้าหมายฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ ลงพื้นที่ที่ผ่านมาทำอะไรกันบ้าง

7 วันที่ผ่านมา ประชุมแค่ 2 วัน ที่เหลือเราลงพื้นที่บินถ่ายภาพ เราเรียกว่าเป็น Identification Mission ไม่ใช่การประชุมหรือปฏิบัติการอะไร สิ่งที่เราต้องการคือการค้นหาปัญหาที่มากกว่าการกัดเซาะชายฝั่งหรือเรื่อง น้ำท่วม ซึ่งในมุมของผมปัญหาเหล่านี้คือเรื่องเล็ก เพราะปัญหาใหญ่ที่เป็นต้นเหตุของทุกปัญหาเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

เรามีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่มากมายอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

งานวิจัยไม่ใช่ความรู้ งานวิจัยเรื่องเดียวกันคนทำวิจัย 10 คนก็ได้ผล 10 อย่าง สิ่งสำคัญอยู่ที่เราจะตัดสินใจว่าความรู้จะเกิดขึ้นจากงานวิจัยได้อย่างไร การทำ Identification Mission เราจึงไม่มีการปักธงไว้ก่อนว่าจะทำเพื่อแก้ปัญหาเรื่องใด เพราะลำดับความสำคัญของปัญหาแต่ละอย่างมีผลต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน เช่น ปัญหาการกัดเซาะอาจจะกระทบคนชายฝั่งแถวบางขุนเทียน แต่คนกรุงเทพฯชั้นในอาจจะกลัวเรื่องน้ำท่วม หรือน้ำประปากลายเป็นน้ำเค็มมากกว่า

ปัญหารวมๆที่เราเห็นอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการตั้งปัญหาเท่านั้น แต่เรายังไม่ได้เข้าถึงปัญหา เราเพิ่งอยู่ในขั้นตอนของการจัดการความรู้เพื่อแยกแยะปัญหาหรือการจัดการความรู้เพื่อระบุปัญหาที่จะนำไปปฏิบัติ ซึ่งจะต่างจากการระบุปัญหาที่ผ่านมาของสังคมไทย ที่พิจารณาแบบเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาก็เลยเป็นแบบระยะสั้นไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งพอน้ำท่วมที ก็แก้กันที ผ่านไปไม่กี่ปีก็กลับมาท่วมอีก

เรามักจะมองเหตุการณ์ที่เคยเกิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ว่าไม่เกี่ยวกัน ทั้งที่มันเกี่ยว อาจจะเป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ พอมองว่าไม่เกี่ยววิธีการแก้ปัญหาก็ไม่ถูก เหมือนเราคิดว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งหนึ่ง จบตรงที่รัฐจ่ายชดเชยให้ชาวบ้านไปซ่อมแซมบ้าน อยู่กันต่อไปได้พักหนึ่ง พอกระบวนการเกิดใหม่ การแก้ปัญหาก็เริ่มนับหนึ่งใหม่อีก นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้มองถึงระยะยาวกว่านั้นว่าต้องทำอย่างไร การแก้ปัญหาของบ้านเราส่วนใหญ่เลยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และอารมณ์ของผู้เสีย หายตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร ต้องการอะไรมากกว่า


อย่างนี้แล้วจะมีวิธีระบุปัญหาอย่างไร

ทุกคนต้องไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่อย่างนั้นการลำดับความสำคัญของปัญหาจะบิดเบี้ยวมาก ถามผมว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาใหญ่ไหม บ้านผมอยู่อโศก ผมจะเดือดร้อนอะไร ผมกลัวน้ำท่วมมากกว่า คนชายฝั่งเขาไม่กลัวน้ำท่วม แต่ถ้าปัญหากัดเซาะเป็นปัญหาใหญ่ของคนชายฝั่งเพราะระบบนิเวศเขาอยู่ตรงนั้น แล้วเขาแก้ได้แบบเบ็ดเสร็จโดยไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เสียภาษีกันเอง แก้แล้วไม่กระทบคนนอกพื้นที่ก็ทำได้ แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้และไม่เคยมีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ไหนที่ไม่กระทบไปถึงข้างหน้า ฉะนั้น การระบุปัญหาก็ต้องมองคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงทางอ้อม การระบุปัญหาจึงต้องพิจารณาและจัดกลุ่มทั้งในเชิงประเด็นปัญหาเชิงพื้นที่และเวลา ปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ บางปัญหาเกิดทุกพื้นที่แต่เฉพาะบางเวลา บางปัญหาเกิดเฉพาะบางคนบางเวลาหรือตลอดเวลา ต้องระบุออกมาให้เห็น

ถ้าอย่างนั้นกรณีของเนเธอร์แลนด์ที่เข้ามาศึกษาปัญหาในบ้านเรา เขามีอะไรที่ทำให้เขาจัดการปัญหาและวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวได้นานถึง 100 ปีข้างหน้าได้

บทเรียนของเขามาจากการมองพื้นฐานว่า พื้นที่ต้องแห้ง เงื่อนไขสำคัญที่เขาพูดในครั้งนี้เลย เพราะเนเธอร์แลนด์หน้าหนาวมันหนาว ถ้าหนาวแล้วชื้นด้วยถึงตาย เป็นความเดือดร้อนร่วมกัน ปัญหาน้ำท่วมจึงเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน แต่บ้านเราเป็นเมืองร้อนมันเปียกได้ ในอดีตเวลาเข้าบ้านเราถึงต้องถอดรองเท้าแต่ฝรั่งพื้นเขาแห้งใส่เข้าบ้านก็ไม่เลอะ แต่พอเรารับเอาวิถีชีวิตแบบตะวันตกเข้ามา คนเมืองก็ติดกับวิถีชีวิตแบบแห้ง เราใส่รองเท้าเข้าในอาคารทั้งที่วัฒนธรรมเดิมเราถอดรองเท้าล้างเท้าก่อนเข้าบ้าน วิถีชีวิตที่หลากหลายทำให้ปัญหาร่วมก็แตกต่าง เพราะวิถีชีวิตให้ระดับความเดือดร้อนของแต่ละปัญหาไม่เท่ากัน


ประเทศไทยผิดพลาดตั้งแต่การพัฒนาตัวเองแล้วใช่ไหม

ถูก การพัฒนาที่เกิดขึ้นเท่าที่ผ่านมาหรือแม้แต่ตอนนี้เป็นการพัฒนาที่ไม่เคยเอา พื้นที่มาเป็นตัวกำหนดเลย เรามองเฉพาะผิวเผินว่าอันนี้สะดวก เอาสบายเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้มองเลยไปว่าในระยะยาวมีผลอะไร บางอันนี่เป็นผลกระทบเชิงลึกกับวิถีความเชื่อต่างๆเยอะแยะไปหมด เพราะระบบไม่ได้รองรับ เรานำเฉพาะบางส่วนของตะวันตกมา แต่เราไม่ได้เอาโครงสร้างทั้งหมดมา อย่างเรารับวิธีแต่งตัวเข้ามา แต่ไม่รู้เหตุผลข้างในว่าทำไมเขาต้องแต่งแบบนั้น คือไม่มีความเข้าใจหรือรับมาไม่หมด เป็นสิ่งที่สร้างปัญหาที่รวมไปถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นทั่วไปด้วย


แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นไหม หรือควรจะมองที่การแก้ปัญหาในอนาคตต่อไปเลย

ไม่มีทางย้อนกลับ ต้องมองอนาคตว่าจะเดินไปทางไหนและแก้ปัญหาอะไร แต่ต้องรู้ว่ามันไม่มีทางที่จะได้ทุกอย่าง วิธีการแก้ปัญหาโดยหลักการคือให้มีผลลบน้อยที่สุดในภาพรวมและต้องเป็นธรรม ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้ประโยชน์หมดทุกคน ให้มีคนเดือดร้อนน้อยที่สุด การจัดการอาจจะไม่ได้มีแค่ทางเดียวและทุกอย่างต้องเกิดขึ้นตามแผน


ทีมเนเธอร์แลนด์มองปัญหาในบ้านเราอย่างไร

ผมว่าเขาได้เปิดหูเปิดตาเยอะ แรกๆมาธงคือเรื่องอุทกวิทยาเรื่องการจัดการน้ำ ด้วยความที่ทีมไทยเรามีพันธมิตรที่เชิญมาเข้าร่วมหลายหน่วยงาน ทำให้มุมมองของทีมจากเนเธอร์แลนด์เปลี่ยน ผมว่าเขาศึกษาอย่างเป็นกลางจริงๆ เห็นปัญหาหลายอย่างที่ซับซ้อน ตัวปัญหาก็ซับซ้อน แถมยังมีปัญหาที่สำคัญคือมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะมาก แล้วทุกหน่วยงานตระหนักปัญหาในมุมของตัวเองหมด ถ้าไม่ตระหนักเลยอาจจะดีเสียกว่า เพราะแต่ละหน่วยงานต่างก็มีมิชชั่นของตัวเอง แต่การแก้ปัญหาที่ดีไม่ใช่หน่วยงานไหนนึกอยากจะทำอะไรก็ทำ โดยไม่เชื่อมโยงกันเลย หรืออย่างน้อยก็ทำให้คนอื่นมองเห็นมีการมอนิเตอร์ซึ่งกันและกันบ้างก็ยังดี ซึ่งปัญหานี้ทำให้เราต้องหันไปพึ่งเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงและมอนิเตอร์ ข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งหมด อย่างน้อยให้รู้ว่าใครทำอะไรที่ไหนก็ยังดี


อย่างนี้แล้วเราจะมีจุดเริ่มต้นหรือแนวโน้มที่จะสรุปเพื่อระบุปัญหากันเองได้ไหม หรือต้องรอบทสรุปจากเนเธอร์แลนด์

ไม่ต้องรอ ตอนนี้ผมก็เริ่มขยายต่อในระดับประเทศไทยทำควบคู่ไปกับที่เนเธอร์แลนด์ทำ เมื่อเราเห็นปัญหาว่ามีหน่วยงานและคนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรให้ แต่ละฝ่ายมาแชร์กันได้ ตอนนี้ผมแจกโจทย์ให้ทีมงานไปคิดแล้ว ใช้ทีมงานของศูนย์จัดการความรู้ฯเป็นตัวยืนก่อน จากนั้นต้องสร้างแพลตฟอร์มให้ทุกคนสามารถเข้ามาได้และอยากเข้ามา ขาดไม่ได้คือต้องมีสื่อมวลชนมาช่วยมอนิเตอร์ให้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้ว เราต้องการความเห็นจากข่าวไม่ใช่ให้มาโต้แย้งกัน โดยหวังว่าความเห็นที่เข้ามาจะช่วยเสริมข้อมูลให้เราเก็บรวบรวม จากนั้นก็จะจัดกลุ่มว่าหน่วยงานมีเท่านี้ หน่วยงานไหนทำอะไร มอนิเตอร์ว่าเกิดอะไรขึ้น ดูย้อนหลังและต่อเนื่องไปในอนาคตและดูทุกหน่วยงาน

ย้ำเลยว่าต้องระบุปัญหาให้ได้ก่อนจะตกลงว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ไม่ใช่พูดกันอยู่ 3-4 ปัญหา น้ำท่วม กัดเซาะ ระบบนิเวศเสื่อมโทรม คุณภาพน้ำ ทั้งที่ปัญหาใหญ่และมากกว่านี้อีกมาก หลังจากนั้นมาดูคนที่เกี่ยวข้องทั้งคนที่เป็นต้นเหตุ คนที่ได้รับผล และคนที่มีหน้าที่บริหารจัดการ


ปัญหาคือคนต้นเหตุไม่ค่อยรู้ตัว

ไม่รู้หรอก อย่างปัญหาใหญ่ของคุณภาพน้ำในบ้านเราเกิดจากผงซักฟอกกับส้วม โดยเฉพาะส้วมซึมแบบเก่า เดี๋ยวนี้เป็นถังระบบปิดค่อยยังชั่ว แต่ในกรุงเทพฯ 80% ยังเป็นส้วมซึมอยู่ ส่วนผงซักฟอกทุกคนเทลงในที่สาธารณะ ไขมันอีก เพราะคนไม่รู้จริงๆ ก็มี แต่บางคนรู้ยังทำ


แผนการดำเนินงานที่อาจารย์คิดไว้คร่าวๆ ส่วนของประเทศไทยจะเริ่มไอเดนติฟายปัญหาได้เมื่อไร

ก็ทำคู่ขนานกันไป วิธีการทำงานของผม ผมพยายามจะไม่รอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แล้วค่อยไปขั้นที่สอง แต่ผมจะทำเป็นโครงให้เห็นคอนเซ็ปต์ตั้งแต่ต้นจนจุดสุดท้ายให้ได้ก่อน แล้วค่อยหาแนวร่วมระหว่างทางไปเรื่อยๆ เหมือนสร้างตึก 10 ชั้น มีโครงเสร็จถึง 10 ชั้นเลย แต่พื้น ผนัง เพดานอาจจะยังไม่ครบ เราค่อยเติมให้เต็ม เพื่อให้เดินไปได้บางเรื่องอาจจะจัดการได้เลยโดยที่เราไม่จำเป็นต้องรอ เราไอเดนติฟายปัญหา ไอเดนติฟายกลุ่มคน สรุปออกมาอาจจะจบที่ปัญหาที่หยิบยกกันมาบ่อยๆก็ได้ จุดที่สำคัญคือแนวร่วมที่จะเข้ามานี้เราต้องมีเวทีหรือพื้นที่เพื่อรับฟังทุกอย่างจากทุกฝ่ายอย่างเป็นกลาง


ปัญหาฮิตส่วนใหญ่เห็นชัด ก็จะมาก่อน

ใช่ แต่ว่าอีกห้าร้อยปัญหาก็ต้องมา


ที่สุดแล้วการแก้ปัญหาที่ดีควรจะเป็นอย่างไร

การแก้ปัญหาจะต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่าเป็น Climate Adaptation ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาที่ปรับให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ หรือเป็น Weather Event เท่านั้น เช่นกรณีอุโมงค์ยักษ์ของกรุงเทพมหานคร นี่ก็เป็นแค่การแก้ปัญหาสำหรับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะออกแบบ การแก้ปัญหาในระยะเวลาสั้นๆ อย่างเนเธอร์แลนด์เขาออกแบบการแก้ปัญหาที่มี Return period เป็นร้อยหรือห้าร้อยปี


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #42  
เก่า 23-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


การแก้ไขต้องเริ่มต้นจากความรู้และปัญหาที่แท้จริง


เท่ากับอาจารย์มองเรื่องภูมิอากาศเป็นหมวกใหญ่ของปัญหาทั้งมวลที่มีอยู่

ใช่ เพราะฉะนั้น Climate Adaptation ถ้าแยกออกว่าข้อมูลอยู่ตรงไหนก็ง่าย ส่วนเรื่องกระบวนการวิธีการจะนำไปอย่างไร มันมีโครงสร้างอยู่แล้วระดับหนึ่ง และ Climate Adaptation ที่ดีไม่ควรเป็นการไปยกเครื่องทั้งหมดแต่ต้องดูจากโครงสร้างที่มีในปัจจุบัน แล้วเสริมให้มันดีขึ้น เช่น เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกให้คนชายฝั่งย้ายหนีการกัดเซาะแล้วทำนาแทนแบบนี้

ในภาพรวมของการแก้ปัญหา ผมอยากจะบอกให้ชุมชนแต่ละแห่งปรับโครงสร้างของระบบนิเวศเพื่อให้เขาอยู่กับ ระบบนิเวศในท้องถิ่น เช่น ปลูกต้นไม้ก็เป็นการป้องกันระดับชุมชน แต่จะให้เป็นระดับ Climate Adaptation ต้องมีกองทุนให้ชุมชน เพราะสิ่งที่ผมสนใจคือ Climate Adaptation ซึ่งไม่ใช่งานของชุมชนเพราะเขาทำกันไม่ไหวหรอก


มีกลไกอะไรที่จะทำให้ชาวบ้านยกระดับการแก้ปัญหาไปสู่ระดับที่เป็น Climate Adaptation ได้

ตอนนี้ที่ชาวบ้านทำอยู่คือทำตามโอกาส แต่การแก้ปัญหา เขาต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างนี้ ความรู้ ทุน กฎระเบียบ กรณีเรื่องสภาพภูมิอากาศ ถ้าคนในพื้นที่มีความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเขาก็จะรู้ว่าเขาควรจะใช้ทรัพยากรอะไรอย่างไรได้ดีขึ้น แต่ถ้าเขารู้อย่างเดียวเขาก็จะใช้อยู่อย่างเดียว ส่วนเรื่องทุน เชื่อแน่ว่าไม่มีใครออกเงินเองเพื่อแก้ไขปัญหา ฉะนั้นต้องมีกองทุนหรือมีช่องทางให้เขาหาทุนไปดำเนินการ เหมือนที่ชาวบ้านทำแนวไม้ไผ่ก็ต้องใช้เงินซื้อ ส่วนเรื่องกฎระเบียบไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหรือมีกฎหมายรองรับ การที่ผมบอกว่ากรณีของชาวบ้านที่แก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะอยู่ทุกวันนี้ยังไม่ได้เข้าสู่ Climate Adaptation ก็เพราะพวกเขาแค่ทำตามทางเลือกที่มีอยู่ คนในชุมชนเป็นแค่เครื่องมือและแรงงานที่ลงไปทำ แต่ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาในภาพใหญ่


ถ้าถามแบบไม่ต้องให้คิดมาก ภายใต้ประเด็นของ Climate Change โดยส่วนตัวแล้วปัญหาเร่งด่วนของอาจารย์คือเรื่องอะไร

คือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือที่เราเรียกว่าความตระหนัก ทุกคนสร้างความตระหนักเรื่อง Climate Change มาก แต่คลาดเคลื่อนไปมากขึ้นทุกทีและค่อนข้างจะน่ากังวล การที่เราพูดเรื่องการปรับตัวระดับชุมชน (Community base adaptation) แล้วไปโยงกับสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่ผมย้ำตลอดว่าผมไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะว่าชุมชนไม่ได้ปรับตัวกับภูมิอากาศเสียทีเดียว หรือว่าสิ่งที่เขาอยากจะปรับแต่เขามักจะปรับไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มันใหญ่มาก สาเหตุเพราะชุมชนที่เกิดในยุคปัจจุบัน ไม่ได้มีภูมิอากาศเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนเหมือนในอดีต ถ้าเป็นสมัยกรุงสุโขทัยนี่อาจจะใช่ ชุมชนโบราณถ้าปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศไม่ได้ก็สูญพันธุ์ ประเทศไทยเราพัฒนาโดยปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศและท้องถิ่นมาตลอด แต่พอระบบเศรษฐกิจพัฒนาแบบพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เลยเป็นตัวแปรให้สังคมไทยพัฒนาตัวเองในรูปแบบที่ละเลยการปรับตัวเข้ากับ ธรรมชาติ จนกระทั่งประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2503 ที่เราเริ่มผลักดันให้การพัฒนาหลุดออกจากธรรมชาติ เกิดระบบสังคม ที่เรียกว่าแทบจะไม่อิงกับสภาพธรรมชาติในพื้นที่เลย มีตลาดเป็นตัวกำหนด และเป็นจุดที่ทำให้ชุมชนระดับฐานรากของไทยหลุดจากความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม


แต่หลายชุมชนก็เริ่มย้อนกลับไปสู่อดีต

ก็พยายามกัน แต่การย้อนกลับจะเป็นแบบ Passive หรือให้กลับมาเองเป็นไปไม่ได้ ต้องอัดทรัพยากรลงไปช่วยด้วย คราวนี้ก็จะเข้าประเด็นเรื่องความเป็นธรรม กลุ่มค้าขายในระบบเศรษฐกิจที่โตไปอย่างนี้ก็จะได้ประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน ต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ว่า ป่าไม้ถูกทำลายไม่ใช่แค่ดินเสื่อมคุณภาพ แต่ทำให้ชุมชนอ่อนไหวเปราะบางกับภูมิอากาศมากขึ้น อันนี้ก็เป็นต้นทุน แต่เป็นต้นทุนที่ไม่เคยถูกเอามาคิด


อย่างนี้อาจารย์มองว่าการแก้ปัญหาของชุมชนซึ่งยังไม่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศก็ยังไม่ถูกต้อง

ถูก คือถามว่าชุมชนอยากจะปรับอะไร ผมคิดว่าถ้าเผื่อเขามีความรู้ เขามีทรัพยากร เขามีสิทธิ มีอำนาจมีโอกาสทางกฎหมายที่จะทำ เขาทำทั้งนั้นแหละ แต่นี่ส่วนใหญ่เขาไม่มีความรู้เพราะไม่มีเวทีไม่มีระบบอะไรจะให้ความรู้ อยู่ดีๆจะให้เขาคิดความรู้ขึ้นมาเองก็ไม่ได้ แต่พอมีความรู้แล้วกฎระเบียบก็ไม่เอื้อให้เขาอีก ในที่สุดเขาก็เลือกว่าเอาอย่างนี้ดีกว่า ก็อยู่ไปวันๆ อย่างน้อยขายข้าวได้ก็มีเงินกินชั่วคราว แต่เงินมันติดลบไปทุกวัน รอวันดีคืนดีรัฐบาลมาล้างหนี้ให้ทีหนึ่ง


ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีการวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวระดับสัก 50-100 ปีไหม

ไม่มี แผนพัฒนาก็แค่ 5 ปี เพิ่งมีสภาพัฒน์ทำวิสัยทัศน์ประเทศ 2570 ก็เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็แค่ 20 ปี


ทำไมทำไม่ได้ อย่างเนเธอร์แลนด์ทำไมวางแผนระยะยาวได้เป็นหลายร้อยปี

มัน 2 ระดับ ที่เขาดูไปข้างหน้าได้ เพราะในปัจจุบันเขาโอเคแล้ว แต่ของเราปัจจุบันยังไม่โอเคเลย ถึงแม้ได้ปัญหาโครงสร้างก็ยังไม่ได้เอื้อ ความเป็นธรรมก็ยังไม่เกิด อย่าเพิ่งไปมองอนาคตเลย เอาแค่เรื่องภูมิอากาศ เอาแค่ Climate กับ Climate Adaptation ให้ได้ก่อน ยังไม่ต้องว่ากันถึง Climate Change ซึ่งเป็นภาคต่ออีกว่าเราจะต้องคิดว่ามันจะเปลี่ยนไปในอนาคตอย่างไร


ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ที่พูดกันทุกวันคือปัญหาเดิมเพียงแต่ว่ารุนแรงมากกว่า 10-20 ปี แสดงว่าการแก้ปัญหาของเราไม่คืบหน้าไปไหน

ยกตัวอย่างน้ำท่วมหาดใหญ่ มันรุนแรงขึ้นกว่าเดิมขนาดน้ำท่วมคราวก่อนมีการแก้ไปตั้งเยอะ ถ้าไม่แก้อะไรเลยไม่ยิ่งแย่ไปกว่านี้หรือ ตอนนั้นทุกคนมองว่าได้ชดเชยแล้ว สอง ดูเหมือนว่ามีการป้องกันจากการขยายคลอง ขยายสะพาน คนเห็นว่ามีการก่อสร้าง แต่ไม่มีการประเมินว่า สิ่งที่สร้างขึ้นมามี Capacity พอหรือเปล่า น้ำจะมากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า นี่คือตัวอย่างที่เห็นชัด ความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าหาดใหญ่น้ำท่วมแล้ว เสียหายน้อยกว่าเดิมก็ถือว่าแก้ได้สำเร็จระดับหนึ่ง นี่แสดงว่าปัญหาเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่ากระบวนการรับมือที่เราสร้าง


อย่างเนเธอร์แลนด์มีจุดร่วมเปียกไม่ได้ ประเทศไทยหาจุดร่วมอะไรสักนิดไม่ได้เลยหรือ

ยังไม่เห็นเลย คือจุดร่วมมันจะร่วมกันเฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ว่าคนอีกกลุ่มไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาและกลายเป็นสิ่งที่แย่กว่านั้นคือ ปัญหาของคนบางกลุ่มอาจจะเป็นประโยชน์ของคนอีกกลุ่มก็ยังมีเลย


สรุปมิชชั่นครั้งนี้อย่างน้อยก็ถือว่ามีแววดีขึ้นมาอีกนิดได้ไหม

ใช่ คือเป็นตัวอย่างการมองภาพรวมและแก้ปัญหาที่ผมมองว่าจะนำไปสู่เรื่องของ Climate Adaptation 3 เรื่องที่เขาสรุปมาเป็นข้อเสนอแนะ ไม่มีอันไหนที่พูดถึงการรับมือกับ Weather Event เลย ไม่ได้พูดปัญหาจุดใดจุดหนึ่งว่าเป็นเรื่องน้ำเสีย น้ำเน่า น้ำท่วม หรือปัญหาระยะสั้นอย่างที่เรามองกัน

ข้อแรกเป็นเรื่องปัญหาโครงสร้างองค์กร สอง เรื่องการดีไซน์ที่บอกว่าจะต้องมองระยะยาว และสาม Return Period ต้องยาว ทั้งหมดเป็นแนวทางการปรับปรุงภาพใหญ่ซึ่งจะกระทบหลายส่วนงาน ไม่ได้เจาะจงปัญหาใดปัญหาหนึ่ง อย่างน้อยเขาก็สรุปปัญหาที่เกี่ยวโยงกับต้นเหตุที่แท้จริงได้ถูกต้อง




จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #43  
เก่า 09-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเพื่อการอนุรักษ์หาดทรายธรรมชาติของไทย

โดย โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ :กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์


วัตถุประสงค์หลัก

เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายการใช้ประโยชน์ การอนุรักษ์หาดทรายอย่างยั่งยืน และการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับสมดุลทางธรรมชาติ รวมถึงการเสนอทางเลือกที่เป็นธรรมในการดูแลประชาชนชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะหาดทรายเนื่องจากโครงการของรัฐ


มาตรการเร่งด่วน (ทำได้ในเวลาไม่เกิน 1 ปี)

เพื่อรักษาหาดทรายในพื้นที่ข้างเคียงเขื่อนริมทะเล ไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้ ต้องดำเนินการเร่งด่วนดังนี้

1. หยุด ก่อสร้างสิ่งที่รุกล้ำชายฝั่งทะเล ได้แก่ เขื่อนกันทราย เขื่อนกันคลื่น กำแพงชายฝั่ง ทุกชนิด

2. รื้อถอนสิ่งก่อสร้างของรัฐที่รุกล้ำชายฝั่งทะเลทุกชนิด ในจุดที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วออกไป เพื่อให้หาดทรายคืนสู่ความสมดุลตามธรรมชาติ

3. หยุดการขุดเอาทรายออกไปจากชายฝั่งทะเล เพราะจะทำให้หาดทรายเสียสมดุลทันที

4. ให้ถ่ายเททรายที่ถูกดักไว้ตามเขื่อนริมทะเลต่างๆ ไปสู่บริเวณที่ถูกกัดเซาะ

5. บริเวณที่ไม่มีเขื่อนริมทะเลแต่มีการกัดเซาะชายหาดอยู่บ้าง ให้เพิ่มทรายแก่พื้นที่ส่วนนั้น

6. รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนโดยเร่งด่วน ถึงความสำคัญและคุณค่าของหาดทราย สมดุลของหาดทรายตามธรรมชาติ และสร้างบทเรียนว่าด้วยหาดทรายไว้ในหลักสูตรการศึกษา เช่นเดี่ยวกับป่าชายเลน และปะการัง

7. ตั้งกลุ่มหรือเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์หาดทรายให้ทั่วพื้นที่ที่ติดชายฝั่งทะเล และหารือกันถึงมาตรการรักษาชายหาดที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่

8. มีองค์กรเฉพาะในการดูแลรักษาหาดทราย เช่นเดียวกับที่ทำในต่างประทศ เช่น Beach Protection Authority หรือที่ฝรั่งเศส


สำหรับหาดทรายที่กำลังประสบปัญหาการกัดเซาะ

ต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมดังนี้

1. กำหนดระยะถอยร่นและมาตรการกำกับแนวถอยร่นของแต่ละพื้นที่

2. กำหนดโซนการใช้ประโยชน์ พื้นที่เพื่อการสงวนและการอนุรักษ์ในแต่ละพื้นที่ให้มีความชัดเจนทั้งในและนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

3. ปรับปรุงและออกกฎหมายคุ้มครองชายหาดประเภทต่างๆ เช่นเดียวกับป่าชายเลนและปะการัง และบทลงโทษให้มีความเหมาะสม

4. เวนคืนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากภาครัฐ




จาก ....................... beachconservation.wordpress.com
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #44  
เก่า 10-05-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


รมว.ทส.ชี้แก้ปัญหากัดเซาะต้องแก้เรื่องกระแสน้ำในอ่าวไทย


จับมือนานาชาติบูรณาการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ United Nations Environment Programme/Coordinating Body on the Seas of East Asia (UNEP/COBSEA) เปิดเวทีระดมสมอง จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการกัดเซาะชายฝั่ง บูรณาการความร่วมมือกับนานาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Dr.Hak-So Kim ประธานสถาบันทางทะเล สาธารณรัฐเกาหลี และ Dr.Young-Woo Park ผู้แทนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมเป็นประธานการเปิดสัมมนา ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัญหาการเพิ่มระดับน้ำของมหาสมุทร จากการสูงขึ้นของอุณหภูมิโลกนับเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน แต่สาเหตุสำคัญของปัญหานี้ก็คือมนุษย์ จากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ถูกวิธี ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งได้รับผลกระทบ เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการชะล้างหน้าดิน ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ได้ย้อนกลับมาหามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงชายฝั่ง และการท่องเที่ยว ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพชีวิต ระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศด้วย

การจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ที่จัดขึ้นในครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ทำให้มองเห็นว่าในแต่ละประเทศมีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งเรื่องของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในมหาสมุทรด้วย เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับสภาพปัญหาของประเทศไทย

รมว.ทส. กล่าวต่อว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะเมื่อเราแก้จุดหนึ่งแล้วก็ยังสามารถส่งผลกระทบไปอีกจุดหนึ่งได้ และจากที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่ พบว่าสิ่งก่อสร้างที่ยื่นลงไปในทะเลได้ส่งผลกระทบมากมายต่อระบบนิเวศ และการเกิดการไหลเวียนของตะกอนทราย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่รู้จักจบสิ้น

การพัฒนาในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นระบบ และไม่มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จะทำให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในเรื่องของผลกระทบดังกล่าว แต่ก็ยังเป็นการทำ EIA เฉพาะที่ แต่ในระยะยาวหากยังไม่ดูแลในเรื่องของกระแสน้ำในอ่าวไทย ปัญหานี้ก็จะไม่จบสิ้น ตัวอย่างที่แหลมตะลุมพุกที่ได้มีการเรียกร้องที่จะอพยพโยกย้ายออกมาจากพื้นที่ ซึ่งต้องการให้ทางรัฐบาลจัดการแก้ไขให้

“การปักไม้ไผ่เพื่อการแก้ไขปัญหาก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดทำ ในเรื่องของการปลูกป่าชายเลนเทียมที่เราไม่มุ่งเน้นการปลูกป่าชายเลนในลักษณะแบบเป็นแถวเป็นแนวเพราะไม่สามารถป้องกันได้ และต้นไม้ที่เพิ่งปลูกก็จะล้มไปด้วย และมันจะทำให้เกิดการกัดเซาะอยู่ดี ฉะนั้นการปลูกป่าชายเลนเทียมต้องปลูกแบบผสมผสานกันระหว่างการปักไม้ไผ่ และการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนคือปลูกในรูปแบบธรรมชาติ ไม่เป็นแถวเป็นแนวเพื่อที่จะทำให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัวขึ้นมา แต่หัวใจสำคัญคือเรื่องการใช้ที่ดินชายฝั่ง เพราะตะกอนจากปากแม่น้ำนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ผมจึงได้พูดในที่ประชุมว่าเราต้องไม่มองเฉพาะชายฝั่งแต่เราต้องมองไปยังกลางน้ำและต้นน้ำด้วย การสัมมนาครั้งนี้ก็เท่ากับว่าได้นำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านมารวมกันแล้วนำมาหาคำตอบในภาพรวมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุวิทย์กล่าว

ด้านนายเกษมสันต์ จิณณวาสโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวต่อว่า การสัมมนาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 เรื่องแนวทางการบูรณาการการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของประเทศ เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการจัดประชุมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อเป็นเวทีระดมสมองและนำเสนอข้อมูลวิชาการ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี มาตรการ และวิธีการใหม่ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานการปักไม้ไผ่เพื่อเร่งการตกตะกอนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และการช่วยเหลือกล้าไม้ขนาดเล็ก ณ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และการดำเนินการสร้างเขื่อนกันคลื่น (Breakwater) รอดักทราย (Groin) หน้าชายฝั่งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และเขื่อนกันทรายปากร่องน้ำ (Jetty) บริเวณปากคลองบางตราน้อย ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

นอกจากนี้ ทช.ยังได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาวิชาการนานาชาติด้านการกัดเซาะชายฝั่งเมื่อ วันที่ 28-29 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งใน และต่างประเทศ การสัมมนากลุ่มย่อยจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีผู้เข้าประชุมประกอบด้วย กลุ่มประเทศสมาชิก COPSEA อาทิ ออสเตรเลีย กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม ประเทศละ 2 คน และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ประมาณ 250 คน
สำหรับเป้าหมายของการจัดการประชุมเพื่อเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของทั่วโลก และนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาจัดทำนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในสถานการณ์ต่างๆสำหรับประเทศไทย และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการการกัดเซาะชายฝั่ง และบริหารจัดการในแนวทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป




จาก ....................... บ้านเมือง วันที่ 9 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #45  
เก่า 05-07-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


“เขื่อนดักตะกอน” จากเสาไฟ เพิ่มพื้นดินให้กลับคืน ป้องไทยเสียดินแดน โดยไม่รู้ตัว


ประเทศไทยกำลังจะเสียดินแดน!!!

ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่าไทยจะเสียดินแดนกรณีพิพาทชายแดนไทย-เขมร แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะปัญหาชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ ซึ่งกลืนกินพื้นที่ไปไม่น้อยในแต่ละปี และจะรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต

คลื่นรมที่แรงขึ้นมีการกัดเซาะชายฝั่งที่ยาว 2,815 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด พบว่าอ่าวไทยมีพื้นที่วิกฤตที่มีการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี

จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ติดอ่าวไทยตอนบน มีความยาวของชายฝั่งทะเลประมาณ 45 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงไปแล้วกว่า 30 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 67% ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งหมด โดยเฉพาะแหลมสิงห์ ที่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา น้ำทะเลได้กัดเซาะพื้นดินหายไปนับสิบกิโลเมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต หากปล่อยไว้พื้นดินก็จะถูกกัดเซาะหายไปเรื่อยๆ

การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ซึ่งมีพื้นที่รับชอบการจ่ายไฟให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตระหนักในปัญหาภาวะโลกร้อนและมีความห่วงใยในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมโดยเฉพาะป่าชายเลน จึงได้จัดกิจกรรมสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนมาโดยตลอด

โครงการ “กฟน. รวมพลังคนพันธุ์อา...ปลูกป่าชายเลน” คือ โครงการล่าสุดที่ กฟน. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยการสนับสนุนให้ เยาวชน นักเรียน และนักศึกษา มีส่วนร่วมในการปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูและรักษาชายฝั่งทะเล

นายสมศักดิ์ ศรีทองวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนลดจำนวนลงอย่างมาก อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง กฟน. จึงได้จัดโครงการ “กฟน. รวมพลังคนพันธุ์อา...ปลูกป่าชายเลน” นี้ขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรม csr ที่จะมุ่งเน้นเยาวชนให้มีจิตสำนึก ตระหนัก และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งให้ความรู้โดยการศึกษาจากธรรมชาติ สร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนแบบบูรณาการจากประสบการณ์จริง และสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่

ปี 2554 เป็นปีที่ 4 ของการจัดโครงการ โดยได้นำเยาวชนจำนวน 2,000 คน ซึ่งเป็นนักเรียนอาชีวศึกษาในสังกัดพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยแบ่งเป็น 10 รุ่นๆ 200 คน เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ที่บริเวณป้อมประจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ ซึ่งจากผลการประเมินป่าชายเลนที่ปลูกไว้ สามารถอยู่รอดได้มากกว่า 60%

การปลูกป่าชายเลนเป็นวิธีการหนึ่งที่จะคืนธรรมชาติคืนสู่ท้องทะเลไทย และยังช่วยเพิ่มพื้นดินใหม่อีกด้วย ซึ่งการเพิ่มพื้นดินนี้ยังมีอีกแนวทางหนึ่ง ที่ กฟน. ได้จัดทำขึ้น ด้วยการใช้วัสดุ อุปกรณ์ของ กฟน. มาใช้ให้เกิดประโยชน์ นั่นคือ เสาไฟฟ้า เสาไฟฟ้า สามารถนำมาสร้างเป็นเขื่อนดักตะกอนเพื่อป้องกันการกัดเซาะและเพิ่มพื้นดินให้กลับคืนมาได้

กฟน. มีโครงการก่อสร้าง “เขื่อนดักตะกอน” เพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเล และนำพื้นดินกลับมา โดยเป็นการต่อยอดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการใช้เสาไฟฟ้าหัก ชำรุด ไม่สามารถใช้ได้มาแทนไม้ไผ่ และใช้ยางรถยนต์เก่าสวมเข้ากับเสาไฟฟ้า นำไปปักบริเวณที่ชายฝั่งที่มีปัญหาด้านการกัดเซาะ

นายสมศักดิ์กล่าวว่า จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะแรกตั้งแต่ ต.ค.2548 จนถึงปี 2551 พบว่า เขื่อนดักตะกอนที่สร้างขึ้นจากเสาไฟฟ้า มีประสิทธิภาพลดทอนความแรงของคลื่น และเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำได้ถึง 80% ดินโคลนจะถูกซัดขึ้นมาค้างกลายเป็นตะกอนอยู่หลังเสาไฟฟ้า ซี่งจะกลายเป็นพื้นดินต่อไปในอนาคต สูงขึ้นจากเดิม 60 ซม.

นอกจากนี้แล้ว กฟน. ยังได้วิเคราะห์และวิจัย มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อให้เขื่อนดักตะกอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งเรื่องของระยะห่างระหว่างชายหาดกับแนวเสาไฟฟ้า ระยะห่างระหว่างเสาไฟฟ้าแต่ละต้น และวิธีการปักเสาไฟฟ้าอีกด้วย

ผลของการปลูกป่าชายเลนไปแล้วกว่า 200 ไร่ และโครงการปักไฟฟ้าทำเขื่อนดักตะกอน ณ วันนี้ สามารถฟื้นฟูป่าชายเลน สร้างแหล่งอาหารและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ คืนธรรมชาติกลับคืนมา รวมไปถึงการได้ผืนดินกลับมาในอนาคตอีกด้วย

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลให้พื้นดินถูกทลายลงหายไปกับน้ำทะเล แน่นอนว่าหากปล่อยปะละเลยไป โดยไม่มีการป้องกัน แผ่นดินไทยก็จะสูญหายไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากการที่ประเทศไทยเสียดินแดนโดยไม่รู้ตัว นั่นเอง




จาก ........................... แนวหน้า วันที่ 5 กรกฎาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #46  
เก่า 30-09-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ถมชายหาดพัทยาก่อนจมหายใน 4 ปี


จุฬาฯ ได้ข้อสรุปวิธีแก้ปัญหากัดเซาะชายหาดพัทยา ใช้วิธีเติมทรายเพิ่มความกว้าง 35 เมตร ป้องกันคลื่นกลืนหาดพัทยาจมหายได้ 10-14 ปี เผย 8 เดือนทำเสร็จ ชี้แบบจำลองช่วงน้ำลงหาดพัทยากว้างได้ถึง 106 เมตร ขณะนี้กว้างเฉลี่ย 3 เมตรเท่านั้น เผยนำทรายจากปากแม่น้ำระยองเหมาะสมที่สุด ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่าตั้งงบรอ 387 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยผลสรุปโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายชายหาดพัทยาว่า ขณะนี้ได้ศึกษาวิจัยแนวทางแก้ปัญหากัดเซาะชายหาดพัทยาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใช้วิธีนำทรายจากปากแม่น้ำระยองจำนวน 369,035 ลูกบาศก์เมตร มาเติมชายหาดพัทยาจนได้ความกว้าง 35 เมตร เท่ากับความกว้างในอดีตเมื่อปี 2495 แต่ปัจจุบันชายหาดพัทยามีความกว้างเฉลี่ย 3 เมตร ช่วงน้ำขึ้นสูงสุด พัทยาเหนือและใต้ไม่มีชายหาด ผู้ประกอบการต้องใช้วิธีใช้กระสอบทรายกั้นแล้วโกยทรายมาใส่ในบริเวณเตียงผ้าใบ แต่ไม่มีทางเดินหาดทรายแล้ว หากปล่อยไว้โดยไม่รีบแก้ไขก็จะส่งผลให้ชายหาดพัทยาถูกกัดเซาะจมหายภายใน 4-5 ปีข้างหน้า

ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าวว่า สำหรับการศึกษาออกแบบและขั้นตอนเสริมทรายเสร็จสมบูรณ์แล้ว วิธีนี้ถือเป็นโครงสร้างแบบอ่อนที่นิยมทำในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งมักจะใช้โครงสร้างแบบแข็ง เช่น เขื่อนกันคลื่น การเติมทรายเป็นวิธีที่ทำยาก ต้องใช้องค์ความรู้หลายสาขาวิชาเข้ามาบูรณาการ ต้องศึกษารูปแบบการกัดเซาะชายฝั่ง ทิศทางการเคลื่อนไหวของทราย กระแสคลื่นและลม รวมทั้งความเหมาะสมของแหล่งทราย ที่สำคัญคือ ต้องไม่มีผลต่อกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ให้ทรายฟุ้งกระจายทำให้น้ำขุ่น ก่อนหน้านี้พัทยาเคยแอบเติมทรายมาแล้ว แต่ใช้ทรายเม็ดเล็กทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะเร็วขึ้น

"วิธีเติมทรายไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล แต่อย่างไรก็ตาม จะหารือกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่าโครงการเติมทรายนี้เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ด้วยหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็พร้อมที่จะยื่นรายงานได้ทันทีและไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะเป็นข้อสรุปจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน" ศ.ดร.ธนวัฒน์เผย

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการดังกล่าว โดยตั้งงบประมาณไว้ 387 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มทำได้ในปี 2555 โดยขั้นตอนการเติมทรายมีระยะเวลาทั้งสิ้น 8 เดือน จากการวิเคราะห์หาดสมดุลจากแบบจำลองทางวิศวกรรมชายฝั่ง หลังจากเสริมทรายชายหาดกว้าง 35 เมตร พบว่า ชายหาดพัทยาจะใช้เวลาในการปรับสภาพเข้าสู่สภาพสมดุลใน 3 ปีแรก เมื่อผ่านปีที่ 3 ไปแล้วความกว้างชายหาดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในกรณีน้ำขึ้นสูงสุดชายหาดจะกว้าง 40 เมตร กรณีน้ำลงต่ำสุด ชายหาดจะมีความกว้าง 106 เมตรนับตั้งแต่แนวกำแพงทางเดินชายฝั่งถึงระดับน้ำทะเล

นอกจากการเติมทรายแล้วยังมีการสร้างแนวกันชนโดยใช้ถุงทรายทำจากใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติทนต่อแสงแดดและการกัดกร่อนของน้ำทะเล ถุงทรายนี้ฝังไว้ใต้พื้นทราย 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการกัดเซาะที่รุนแรงจากคลื่นลมที่ผิดปกติ และช่วงที่มีพายุไต้ฝุ่นเข้าหาดพัทยา ระยะแนวกันชนได้ออกแบบไว้ห่างจากแนวกำแพงริมทางเดินชายหาดประมาณ 15 เมตร เพื่อเตือนว่าอีก 10-14 ปีข้างหน้าจำเป็นต้องซ่อมแซมชายหาดด้วยวิธีเสริมทรายใหม่ โครงการนี้จะดำเนินการเสริมหาดทรายยาว 2,785 เมตร ตั้งแต่หาดพัทยาเหนือถึงหน้าหาดพัทยาใต้บริเวณทางเข้าวอล์กกิ้งสตรีท

"จากแบบจำลองแสดงให้เห็นว่า หลังจากที่เติมทรายชายหาดพัทยาแล้วจะถูกกักเซาะด้วยอัตรา 0.8 เมตรต่อปี โดยในอีก 10-14 ปีข้างหน้า การกัดเซาะจะถึงแนวกันชนที่ได้สร้างไว้ จึงจำเป็นต้องมีการเติมทรายใหม่ทุกๆ ระยะเวลา 10-14 ปีในอนาคต อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการซ่อมแซมชายหาดในอนาคตอาจจะไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีเสมอไป อาจจะเร็วกว่าที่กำหนดแค่ 5-7 ปี หากมีคลื่นลมทางตะวันตกที่รุนแรงผิดปกติเหมือนปี 2553 หรือมีไต้ฝุ่นพัดเข้ามาเป็นต้น" หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผย

สำหรับแหล่งทรายจากปากแม่น้ำระยองที่นำมาเติมชายหาดพัทยานั้น ได้ผ่านขั้นตอนการเก็บตัวอย่างทรายจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย ชายหาดพัทยาเหนือใต้ จำนวน 11 ตัวอย่าง แหล่งทรายจากสันดอนทรายปากแม่น้ำระยอง จำนวน 42 ตัวอย่าง และแหล่งทรายจากนอกชายฝั่งอ่าวพัทยา จำนวน 23 ตัวอย่าง ซึ่งนำมาวิเคราะห์การคัดขนาดของตะกอนพบว่า ทรายจากปากแม่น้ำระยองมีความเหมาะสมและมีคุณภาพดีที่สุดโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม.




จาก ........................ ไทยโพสต์ วันที่ 30 กันยายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
เก่า 11-07-2012
mildkoid
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
เก่า 27-03-2017
moon1245
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายน้ำ.
เก่า 09-12-2018
Pattaxoxo
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
เก่า 22-03-2019
Johnwick88
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:10


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger