#1
|
||||
|
||||
ไขปริศนาการกำเนิด “ฉลามพันธุ์ใหม่ ” ในโลก!
ไขปริศนาการกำเนิด “ฉลามพันธุ์ใหม่ ” ในโลก! ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวคราวการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ๆ จากทั่วทุกมุมโลกเป็นประจำ และในปี 2012 ก็เช่นกัน โดย “ฉลาม” กลับมาเป็นข่าวฮือฮาอีกครั้งหลังจากออสซี่พบ “พันธุ์ใหม่” ครั้งแรกในโลก ผสมระหว่างครีบดำกับธรรมดา การค้นพบนี้ถือเป็นกระบวนการแต่โบราณ หรือ ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน โอกาสเกิด “ฉลามพันธุ์ผสม” ในประเทศอื่นรวมถึงไทยเป็นไปได้หรือไม่ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศท้องทะเลอย่างไร หรือ ธรรมชาติกำลังจะส่งสัญญาณอะไรถึงมนุษย์ วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” พาไปรู้จักข้อเท็จจริงของเหล่าฉลามกัน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายถึง ลักษณะทั่วไปของฉลาม ว่า เป็นปลาในชั้นปลากระดูกอ่อน แบ่งได้หลายอันดับ หลายวงศ์ และหลายชนิด ปัจจุบันพบประมาณ 400 ชนิดทั่วโลก มีขนาดลำตัวแตกต่างกัน โดยฉลามวาฬใหญ่ที่สุดในโลก ความยาวประมาณ 15 เมตร ส่วนพวกฉลามหนู ฉลามกบ เล็กที่สุด ความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร “ฉลามทุกชนิดกินเนื้อล่าสัตว์น้ำชนิดต่างๆ แต่มีบางพวกกินแพลงก์ตอน เช่น ฉลามวาฬ ทั้งนี้ ฉลามที่มีรายงานว่าทำอันตรายกับมนุษย์มีประมาณ 20 ชนิด จาก 300 กว่าชนิด เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าฉลามทุกตัวจะกินคน เพราะส่วนใหญ่มีขนาด 1-2 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่จริงๆไม่มากนัก ในกรณีอื่นๆ อาจเกิดจากความเข้าใจผิด เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่เหยื่อตามธรรมชาติ ยกตัวอย่าง ฉลามขาว อยู่ในทะเลน้ำเย็น กินแมวน้ำเป็นหลัก เมื่อพบคนมาว่ายน้ำ โดยเฉพาะที่อยู่บนกระดานโต้คลื่น มองจากด้านล่างเห็นเป็นเงาดำ มันจึงเข้าใจว่าเป็นแมวน้ำ เป็นต้น ฉลามส่วนใหญ่ว่ายน้ำในอัตราเร็วคงที่ประมาณ 5 นอต 10 นอต หรือ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่บางจังหวะ เช่น จู่โจม หรือ พุ่งเข้าใส่ อาจจะได้ 20 นอต หรือ 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง นอกจากนั้น ฉลามออกลูก 3 แบบ อย่างแรกคือ ออกลูกเป็นไข่ โดยนำไข่มาติดกับพื้นจนฟักเป็นตัว อย่างที่สองคือ ออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 7 ตัว 10 ตัว 30 ตัว และสุดท้ายคือ ออกเป็นไข่ แต่ไข่อยู่ในท้อง เมื่อฟักเป็นตัวจึงว่ายออกมาจากท้อง ประมาณ 5-10 ใบ กรณีนี้บางครั้งอาจกินกันในท้องด้วย ทั้งนี้ ตัวผู้จะมีเดือย 2 อัน ตรงบริเวณท้อง ใกล้ๆโคนหาง เห็นได้ชัด” สำหรับกรณีพบฉลามพันธุ์ใหม่ครั้งแรกในโลก ในทะเลนอกชายฝั่งทางตะวันออกของออสเตรเลียนั้น ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า พันธุ์ของมันใกล้กันมาก สายพันธุ์นี้คือฉลามครีบดำ ในเมืองไทยก็มี แต่ที่ออสเตรเลียมีทั้งน้ำร้อน และน้ำเย็น บางกลุ่มก็ลงไปอยู่ในเขตหนาว เขตทะเลเย็น ซึ่งอาจจะอยู่เมื่อหมื่นปี สองหมื่นปี หรือ ห้าหมื่นปีก่อน กลุ่มพวกนี้เลยเริ่มมีความผิดแปลกออกจากกลุ่มแรก แต่จริงๆแล้ว รากของมันก็คือชนิดเดียวกัน เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนขึ้น น้ำร้อนเริ่มทับเข้ามาในน้ำเย็น ฉลามร้อนก็มาเจอฉลามเย็น เริ่มเกิดการผสมพันธุ์กัน ทั้งนี้ ปกติแล้วสัตว์ต่างสายพันธุ์จริงๆผสมพันธุ์ไม่มีทางออกลูกได้ หรือ ออกลูกเป็นหมัน แต่กรณีนี้ยังไม่แน่ใจว่าเป็นหมันหรือไม่ เพราะนักวิทยาศาสตร์เขาไม่ได้บอก นอกจากนี้ เขาบอกว่ามัลติเจเนอเรชัน หมายความว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เกิดวันนี้ พรุ่งนี้ เมื่อวานนี้ แต่เกิดมาเป็นร้อยปีแล้ว ในช่วงที่โลกเริ่มเปลี่ยนภาวะ เมื่อใช้ดีเอ็นเอตรวจสอบก็พบว่ามาจาก 2 กลุ่มนี้ จึงเรียก “ไฮบริด” คือฉลามที่มาจาก 2 กลุ่ม เสร็จแล้วเขาก็เลยใช้เป็นคำพูดบอกว่า เพราะฉะนั้น ภาวะโลกร้อนมันก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับสัตว์หลายกลุ่มแล้ว “คำถามว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับระบบนิเวศ มันก็มีทางเป็นไปได้หลายทาง เช่น ฉลามไฮบริดอาจอยู่ได้ทั้งร้อน-เย็น เพราะมาจากพ่อแม่ทั้งร้อน-เย็น เพราะฉะนั้น มันอาจจะว่ายน้ำไปไหนก็ได้ อยู่แถวไหนก็ได้ ฉลามรุ่นพ่อแม่เดิมอาจจะโดนพวกใหม่ยึดพื้นที่ไปหมด นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกิดการคุกคาม หรือ เรียกว่าคุกคามต่อพันธุ์เดิม ก็เป็นไปได้ ซึ่งถ้าเกิดพันธุ์ใหม่มายึดพันธุ์เดิมได้จะเกิดอะไรขึ้น มันเกิดขึ้นได้ล้านแปด เพราะฉลามเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของระบบนิเวศ เป็นตัวควบคุมปลาอื่น ระบบนิเวศก็อาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรืออื่นๆอีกมาก มาถึงคนอาจจะทำให้ปลาในแหล่งหาปลาเดิมแถวนั้นหายไป ไม่มีปลากิน เพราะฉลามพันธุ์นี้มาไล่ ซึ่งอาจจะต่อเนื่องกันได้ เป็นต้น สำหรับฉลามไฮบริดในประเทศไทย เป็นไปได้ว่าคงไม่เกิด เนื่องจากเป็นลักษณะของน้ำร้อน-น้ำเย็น ส่วนโอกาสที่จะพบในสัตว์ หรือพืชพันธุ์อื่นๆนั้น ที่เห็นชัดคือเขตหนาว เพราะความร้อนจะรุกขึ้นข้างบน เขตหนาวจะน้อยลง พวกนั้นจะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่ามันเป็นอีกหนึ่งในสัญญาณที่กำลังบอกว่าโลกกำลังเปลี่ยน และการเปลี่ยนเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนจากพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นพายุแรงขึ้น ฝนตกเยอะขึ้น อุทกภัยมากขึ้น แม้กระทั่งฉลามดันมีไฮบริดชาร์ค เพราะฉะนั้น ภัยภาวะโลกร้อนถามว่ามันน่ากลัวไหม มันไม่ใช่ภาวะที่กำลังจะมา แต่มันเข้ามาแล้ว สิ่งที่ควรจะต้องทำกันตอนนี้ก็คือ วางแผนในการรับมือภัยธรรมชาติ และวิธีการสำคัญที่สุดก็คือ ต้องพยายามหาธรรมชาติมาช่วย อย่างน้อยที่สุดเรามีต้นไม้ มีอะไรอยู่รอบๆ ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย ปล่อยโล่งๆแห้งๆ พายุเข้าเกิดน้ำหลาก ดินถล่มก็ยังมีต้นไม้ช่วยประคอง-ลด มีแต่ธรรมชาติที่กั้นธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้น สิ่งจำเป็นที่ต้องทำเร่งด่วนคือรักษา และฟื้นฟูธรรมชาติ เริ่มง่ายๆ แค่รอบบ้าน รอบหมู่บ้าน หรือ รอบที่ทำงาน แล้วมันก็จะขยายไปเรื่อยๆ ด้วยการนำธรรมชาติมาเป็นเกราะป้องกันธรรมชาติ”. จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|