เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #21  
เก่า 21-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว ''น้ำเป็นภัย!!'' ต่อไปไทยยิ่งจมหนัก?



หากมีสิ่งมีชีวิตนอกโลกจับตาความเป็นไปของมนุษย์โลกอยู่ ในระยะหลังๆและในช่วงนี้ ก็คงจะเห็นชัดเจนถึง ’ความโกลาหลอลหม่านของชาวโลก“ ในหลายประเทศ และรวมถึงในประเทศไทย ’อันเนื่องจากภัยน้ำ“ รูปแบบต่างๆ ทั้งน้ำทะเลสูง คลื่นยักษ์สึนามิ พายุฝน ซึ่งความโกลาหลนี้ดูผิวเผินเป็นเพราะธรรมชาติ

แต่พิจารณาลึกๆแล้ว...มนุษย์เองมีส่วนอย่างสำคัญ

มนุษย์ทำลายธรรมชาติมาก...ธรรมชาติก็พิโรธมาก!!

’หากมองโลกในภาพรวม ต้องยอมรับว่าระดับน้ำบนโลกสูงขึ้น ซึ่งอาจจะสูงขึ้นไม่กี่เซนติเมตร แต่ไม่กี่เซนติเมตรนี่ก็มีความหมาย“ ...นี่เป็นการระบุของนักวิทยาศาสตร์อาวุโส รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุปตระกุล

กับระดับน้ำบนโลกสูงที่ขึ้นนั้น นักวิทยาศาสตร์ไทยรายนี้บอกว่า... สาเหตุหนึ่งมาจาก “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งยุคนี้ทุกๆคนต่างก็พอจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าภาวะโลกร้อนนั้นเกิดมาจากอะไรบ้าง และมีอีกหนึ่งความเห็นจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ ที่บอกว่า... เกิดจาก “รังสีคอสมิก ที่มาจากดวงอาทิตย์ และกาแล็กซี”

ความคิดเห็นประการหลังนี่ก็กำลังดังขึ้นมา

ทั้งนี้ ภาวะ ’น้ำมาก-น้ำหลาก-น้ำท่วม“ นั้น ในยุคปัจจุบันไม่ได้เกิดกับประเทศไทยที่เดียวในโลก แต่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ ส่วนกับประเทศไทยนั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกว่า... จากการติดตามเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่คราวนี้ พบว่าเป็นอีกปีที่ปริมาณน้ำที่มาจากทางเหนือเยอะมาก และภาคกลางก็มีฝนตกมาก แต่โชคดีของประเทศไทยอย่างหนึ่งคือ ฝนไม่ได้ตกต่อเนื่องอย่างหนัก 6-7 วันติดต่อกัน เหตุการณ์จึงไม่เลวร้ายหนักไปกว่านี้

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ระบุว่า... น้ำท่วมปีนี้ระดับน้ำมากกว่าปี 2485 ซึ่งน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ แต่ภาพในปี 2485 นั้นรุนแรงกว่าปีนี้ นั่นเพราะปัจจุบันระบบการป้องกัน การระบายน้ำ ดีกว่าในอดีต จึงทำให้ดูไม่รุนแรงกว่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ ในเมื่อทราบว่าเหตุหนึ่งของการเกิดภัยจากน้ำคือภาวะโลกร้อน ประชาชนทุกคนก็ต้องช่วยกันในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยกันรักษาสภาวะแวดล้อม ไม่ตัดไม้ทำลายป่า

’และสิ่งที่จะป้องกันไม่ให้น้ำท่วมซ้ำซากต่อไปคือ การมีกระบวนการแก้ไขปัญหาน้ำจากการรู้จริง เข้าใจจริง อย่างเป็นระบบ การมีระบบผังเมืองที่ถูกต้อง การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบซึ่งสำคัญที่สุด“ ...นักวิทยาศาสตร์อาวุโสรายนี้กล่าว ซึ่งอย่างหลังนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐ แต่ก็เกี่ยวพันถึงประชาชน

ด้าน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส อดีตนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา ระบุถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นว่า... ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เพราะฉะนั้นน้ำจากมหาสมุทรจะระเหยออกมามากขึ้น ซึ่งกลายเป็นความชื้นและเมฆ เมื่อมีความชื้นและมีเมฆมาก จึงทำให้มีความชื้นตลอดปี และเป็นเหตุทำให้สภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปหมด ซึ่งก็จะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานหลายปีหากไม่ลดภาวะโลกร้อนให้ได้ผล และก็จำเป็นต้องพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ ปรากฏการณ์ธรรมชาติใหม่ๆ เกิดจากภาวะโลกร้อน และไม่ใช่เกิดกับประเทศไทยที่เดียว แต่เกิดกับทั่วโลก เท่าที่มองโดยทั่วไปสถานการณ์ในอนาคตจะยังไม่ดีขึ้น เพราะสภาวะความชื้นจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง สึนามิ แผ่นดินไหว ก็จะเกิดขึ้นบ่อย เพราะเปลือกโลกเคลื่อนไหว”

ดร.อาจอง ระบุอีกว่า... มนุษย์มีการก่อสร้างที่ส่งผลถึงเรื่องน้ำ ในไทยก็ยกตัวอย่างเช่น สนามบินสุวรรณภูมิ แทนที่พื้นที่จะเป็นแก้มลิงรับน้ำ กลับกลายเป็นสนามบิน ก็เสี่ยงมากขึ้นที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ

กรณีภาวะโลกร้อน ดร.อาจอง บอกว่า... ที่จะส่งผลกับประเทศไทยโดยตรงมี 2 อย่างคือ ผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้น้ำท่วมมากขึ้น และการที่เปลือกโลกเริ่มเคลื่อนไหวจนเกิดรอยร้าว ซึ่งจะทำให้ เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยมากขึ้น นี่คือ 2 อย่างการเปลี่ยนแปลงที่ไทยเราต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี

เรื่องน้ำทะเลสูงขึ้น ถ้าไม่สร้างเขื่อนกั้นตรงอ่าวไทย ก็ต้องคิดย้ายเมืองหลวงภายใน 6 ปี เพราะอีก 15 ปีข้างหน้าน้ำจะเริ่มท่วมกรุงเทพฯ ?? สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องสร้างเขื่อนกั้นไว้ก่อน รัฐบาลต้องคิดและวางแผนตั้งแต่วันนี้ ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ ต้องวางแผนล่วงหน้า 10 ปี ต้องวางแผนให้ดี เพื่อไม่ให้สูญเสียสถานที่สำคัญไป

“จะกลายเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราพูดถึงภัยอันตรายส่วนรวมแล้วมนุษย์เลิกทะเลาะกันเสียที เรามีภัยธรรมชาติเป็นศัตรูร่วมกัน ถ้าไม่ป้องกันอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปกรุงเทพฯและภาคกลางหลายจังหวัดจมน้ำแน่?? ฉะนั้นรัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจ คนไทยต้องเลิกทะเลาะกัน คนไทยต้องสามัคคีกัน และปฏิบัติธรรมให้มากๆ ถ้าเราช่วยกัน เราก็จะอยู่ร่วมกันได้ และ ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย คนไทยเราก็จะอยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง ท่ามกลางความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในโลก ในอนาคตอันใกล้” ...ดร.อาจอง ระบุ

ใครจะเชื่อ-ไม่เชื่อเรื่องน้ำทะเลสูงท่วมกรุงเทพฯ...สุดแท้แต่

แต่...ในไทยก็คล้ายจะมีบทพิสูจน์ว่า ’ภัยน้ำกำลังถล่มโลก“

และ ’ทางรอด“ คนไทย...คือ ’ต้องพอเพียง-ต้องสามัคคี!!“.




จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 21 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #22  
เก่า 31-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ขั้วโลกละลาย...น้ำทะเลเพิ่มสูง หนึ่งชนวนวิกฤติ 'น้ำท่วมกรุง'!?



นาทีนี้หากใครติดตามข่าวสารมาโดยตลอดจะทราบว่าคงไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ เพราะทั่วโลกในหลายๆประเทศต่างก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน แต่อาจจะมากหรือน้อยแตกต่างไป และนี่อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างถึงความผิดปกติของโลกของเราในวันนี้ เพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น แล้วปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลนี้จะท่วมโลกหรือไม่อย่างไร...?!?

ถ้าหากเป็นเช่นนี้จริงก็เหมือนว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาอันหนักอึ้งและใหญ่หลวงมากหลายล้านเท่าหรือจะเป็นไปได้ว่าโลกของเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ยุคเมื่อ 10,000 ปีแล้วก็อาจเป็นได้…!!

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลย้อนกลับไปว่า เมื่อประมาณ 12,000 ปีที่แล้วโลกอยู่ในยุคน้ำแข็ง บริเวณอ่าวไทยมีสภาพเป็นพื้นดินที่มีแม่น้ำไหลผ่าน เนื่องจากระดับน้ำทะเลในขณะนั้นมีระดับต่ำกว่าปัจจุบันเป็นอย่างมาก จวบจนสิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อ 10,000 ปีที่ผ่านมา โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นและไหลท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำโดยรอบอ่าวไทย

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกร้อนและถึงจุดสูงสุดเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำทะเลมีระดับสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 4 เมตร และน้ำทะเลได้ท่วมเข้าไปไกลสุดถึงบริเวณตอนบนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการตกทับถมของตะกอนจากน้ำทะเลเป็นชั้นดินโคลนสีดำเนื้อนิ่ม และมีซากเศษหอยทะเลปนอยู่ทั่วไป อย่างเช่น เปลือกหอยนางรมยักษ์ที่พบอยู่ที่วัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ต่อมาระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยขยับตัวขึ้นลงตามสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน จนกระทั่งเมื่อ 1,000 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลได้ลดลง ทำให้เกิดพื้นที่ชายฝั่งเช่นในปัจจุบัน

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลนั้นมีมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะในช่วงที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้นตามไปด้วย และในช่วงที่โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งระดับน้ำทะเลก็จะลดลง ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางกรมทรัพยากรธรณีได้มีการศึกษาและติดตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ แต่จากการศึกษาเรื่องระดับน้ำทะเลในประเทศไทยนั้น เราพบว่ามีปัญหาเรื่องของการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกและทรุดตัวของพื้นดินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการปรับกระบวนการวัดระดับน้ำทะเลเพื่อหาค่าระดับที่แท้จริงของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมบูรณ์ ซึ่งจากข้อมูลการตรวจวัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี และนำมาประมวลผล เราพบว่าระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นประมาณ 4 มิลลิเมตรต่อปี

นอกจากปริมาณน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในส่วนของการทรุดตัวของพื้นดินของที่ราบลุ่มภาคกลางนั้น มีอัตราแตกต่างกัน แล้วแต่บริเวณโดยมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งความหนาของชั้นดินโคลนทะเล การลดระดับของน้ำบาดาล และการพัฒนาพื้นที่ ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาพื้นดินที่ราบลุ่มภาคกลางติดชายทะเลมีอัตราการทรุดตัวของพื้นดินประมาณ 2-5 เซนติเมตรต่อปี โดยพื้นที่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีอัตราการทรุดตัวน้อยกว่าทางด้านตะวันออก ตามความหนาของชั้นดินโคลนทะเล ซึ่งจะมีความหนามากที่สุดอยู่ทางตะวันออกของกรุงเทพฯ ในเขตลาดกระบัง และหนองจอก และต่อเนื่องไปจนถึงอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โดยชั้นดินโคลนทะเลในบริเวณดังกล่าวมีความหนามากกว่า 18 เมตร อัตราการทรุดของพื้นดินในบริเวณดังกล่าวจะลดลง เนื่องจากชั้นดินโคลนทะเลมีการเกาะตัวกันแน่นขึ้น

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอ่าวไทยตอนบน เป็นผลมาจากการทรุดตัวของพื้นดินมากกว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมบูรณ์ ซึ่งบางคนอาจไม่ทราบว่าบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ติดกับชายทะเล พื้นดินทรุดตัวลงจนกระทั่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบในหลายด้านดังที่พบเห็นในปัจจุบัน เช่น การกัดเซาะชายฝั่ง การท่วมขังของน้ำทะเลในพื้นที่ลุ่มต่ำ และมีผลต่อระบบการระบายน้ำลงทะเลทำได้ยากขึ้น

ปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากลักษณะธรณีสัณฐานของพื้นที่ภาคกลางมีลักษณะค่อนข้างลุ่มต่ำมีความลาดชันน้อยมาก เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประกอบกับพื้นดินทรุดตัว จึงส่งผลให้เหตุการณ์น้ำขึ้นน้ำลงประจำวันของทะเลมีอิทธิพลต่อพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางมากขึ้นทุกวัน และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลและสองฝั่งแม่น้ำ

ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ทางด้านเหนือของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการระบายน้ำตามแม่น้ำสายหลัก ซึ่งได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง หากระดับน้ำทะเลมีระดับสูงกว่า น้ำก็ไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง และต้องกระทำด้วยความรอบคอบ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อปกป้องเมืองหลวงของพวกเราให้รอดพ้นจากพิบัติภัยธรรมชาติครั้งนี้ให้ถึงที่สุด

วิกฤติมหาอุทกภัยร้ายแรงในปี พ.ศ. 2554 นี้ น่าจะเป็นบทเรียนที่เราต้องนำมาศึกษาหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์อันชอกช้ำนี้เกิดขึ้นมาซ้ำรอยได้อีกในอนาคต…!!.

.....................

แนวคิดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ดินแดนแห่งกังหันลมมีสภาพปัญหาใกล้เคียงกับพื้นที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทย คือตั้งอยู่บนพื้นที่ปากแม่น้ำสายใหญ่ มีพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำทะเลรุกเข้ามาในแผ่นดิน และในอดีตเคยประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่มานับครั้งไม่ถ้วน สร้างความสูญเสียทั้งทางด้านชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นคนฮอลแลนด์จึงมีความคิดที่จะสร้างคันกันน้ำทะเลมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งปี ค.ศ.1918 โครงการสร้างคันกั้นน้ำทะเลขนาดใหญ่จึงได้รับการอนุมัติ และเริ่มสร้างจนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อปี 1932 โดยคันกั้นน้ำหลักมีชื่อว่า Afsluitdijk ตัวคันกว้าง 90 เมตร ยาว 32 กิโลเมตรและสูงกว่าน้ำทะเล 7.25 เมตร เมื่อกั้นเสร็จแล้วพื้นที่ด้านในได้กลายเป็นทะเลสาบปิดขนาดใหญ่ มีชื่อว่า Ijsselmeer หลังจากนั้นจึงเริ่มวิดน้ำออก ทำให้ระดับน้ำลดลง พื้นที่บางส่วนโผล่พ้นน้ำ ปัจจุบันประเทศเนเธอร์แลนด์ได้พื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมกลับคืนมาแล้ว จึงได้นำพื้นที่ดังกล่าวมาทำเป็นพื้นที่การเกษตรเป็นหลัก และบางส่วนสร้างเป็นเมืองใหม่.




จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 31 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #23  
เก่า 04-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


มหาอุทกภัย !...น้ำเปลี่ยนเมือง



กรุงเทพธุรกิจ Green Report ฉบับที่ 6 สรุปบทเรียนอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศในครั้งนี้ ส่งผลให้หลายหน่วยงานกำลังหาวิธีการจำกัดการขยายตัวของเมืองที่ขวางทางน้ำ

มหาอุทกภัยที่คนไทยเผชิญหน้ามาหลายเดือนติดต่อกัน ได้สร้างบทเรียนให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในพื้นที่กทม.และปริมณฑลที่เป็นใจกลางเศรษฐกิจและการติดต่อการค้าของประเทศรวมถึงมีชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ทั้งคอนโดมิเนียมกลางเมือง และโครงการบ้านจัดสรรชานเมืองและในปริมณฑล ที่ยังขยายตัวเป็นดอกเห็ด สาเหตุจากการตัดถนนใหม่ๆ และโครงการรถไฟฟ้า ทำให้การคมนาคมสะดวกรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่งการขยายตัวกลับไม่คำนึงถึงความเสี่ยงของอุทกภัย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้กทม.ต้องกลับมาทบทวนข้อกำหนดให้สิทธิประโยชน์การพัฒนาที่ดิน 500 เมตร เกาะแนวรถไฟฟ้า เกรงหากปล่อยให้ขยายตัวในเส้นทางชานเมือง ยิ่งเร่งให้เกิดหมู่บ้านจัดสรร และชุมชนหนาแน่น เพิ่มความเสี่ยงปัญหาน้ำท่วมมากในอนาคต

ม.ร.ว.เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร กล่าวว่ากทม.อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวมฉบับใหม่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหันมาทบทวนเรื่องการให้สิทธิประโยชน์บางพื้นที่ เพื่อให้เมืองขยายสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้น โดยเฉพาะร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปัจจุบันที่อนุญาตให้ที่ดินที่อยู่ในรัศมี 500 เมตร จากแนวรถไฟฟ้าสามารถพัฒนาโครงการประเภท ทาวน์เฮาส์ บ้าน ตึกแถว อาคารพาณิชย์ พื้นที่พาณิชยกรรม อาคารอยู่อาศัย รวมไม่เกิน 1,000 ตารางเมตรได้ แม้เส้นทางรถไฟฟ้าเหล่านั้นจะวิ่งผ่านพื้นที่ผังสีเดิม ซึ่งกำหนดให้สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว จึงอาจเปิดช่องให้เกิดโครงการหมู่บ้านจัดสรรใหม่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากแนวรถไฟฟ้ามุ่งหน้าออกสู่พื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯในหลายเส้นทาง ที่เกิดขึ้นแล้วคือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่ บางบัวทอง

"ในอนาคตจะเกิดโครงการรถไฟฟ้าหลายสาย เชื่อมไปถึงจังหวัดในเขตปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี ซึ่งหลายพื้นที่ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม หากผังเมืองรวมอนุญาตให้สร้างหมู่บ้านได้ ในรัศมี 500 เมตรจากรถไฟฟ้า อาจเกิดโครงการหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก ในเขตพื้นที่บางใหญ่ และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะกลายเป็นการพาประชาชนไปเจอน้ำท่วมได้ เราจึงต้องทบทวนกันใหม่" ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกล่าว

อย่างไรก็ดี การพัฒนาที่อยู่อาศัยในรัศมีรถไฟฟ้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผังเมืองรวม กทม. เพียงผังเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงผังเมืองจังหวัดปริมณฑลในพื้นที่ต่อเนื่องด้วย และล่าสุด สำนักผังเมืองฯได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ในการวางผังเมืองของจังหวัดในปริมณฑลแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งต้องประชุมร่วมกันต่อไป

“ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ผังเมืองรวมแต่ละจังหวัด มีผลบังคับใช้คนละช่วงเวลากัน บางผังอยู่ในช่วงร่างใหม่พร้อมๆกับของ กทม. แต่บางผังก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้นการปรับรายละเอียดในผัง จำเป็นต้องทำร่วมกันเพื่อให้ครอบคลุมในระยะยาว “

ส่วนการปรับผังสี ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ม.ร.ว.เปรมศิริ กล่าวว่า ในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนในส่วนของสีในแต่ละพื้นที่มากนัก แม้จะมีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ก็ตาม เพราะร่างผังเมืองรวม กทม. (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ได้กำหนดให้พื้นที่วงแหวนรอบนอก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในปัจจุบัน เช่น เขตทวีวัฒนา บางบอน บางขุนเทียน คลองสามวา มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง เป็นพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) และสีเขียวลายขาว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) ซึ่งหมายถึงกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว

ส่วนความต้องการของเอกชน ที่ต้องการให้ปรับอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio หรือ FAR) จากร่างผังเมืองรวมปัจจุบันที่กำหนดให้อยู่ที่ 10 เท่า เพิ่มเป็น 15 เท่า และความต้องการของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องการให้เหลือเพียง 8 เท่า ม.ร.ว.เปรมศิริ กล่าวว่า หากให้ปรับเหลือ 8 เท่าจะยินดีมาก แต่หากให้ปรับเพิ่มเกินกว่า 10 เท่า คงทำไม่ได้ เพราะการปรับเพิ่มในส่วนนี้ จะทำให้มีคนอยู่อาศัยในอาคารหนึ่งอาคารมากขึ้น เมื่อมีคนมากก็จะมีรถมาก มีปัญหาเรื่องที่จอดรถและปัญหาการจราจรภายในซอยและบนท้องถนนตามมา

กรณีที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้ขยายรัศมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรัศมีรถไฟฟ้าจาก 500 เมตร เป็น 1,000 เมตร เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูกในบริเวณใกล้รถไฟฟ้าได้มากขึ้น ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ต่อให้ขยายพื้นที่รัศมีออกไปเป็น 1,000 เมตร ก็ไม่น่าจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ เพราะเชื่อว่าโครงการที่ได้ชื่อว่าใกล้รถไฟฟ้า ถึงอย่างไรก็คงขายแพง ต่อให้เป็นรัศมีที่ห่างออกไปอีกก็ตาม

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ให้คณะกรรมการพิจารณา 300 ความเห็นที่เสนอมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับแก้ต่อไป ซึ่งหากเป็นไปได้ ต้องการให้ผังเมืองฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในปี 2555 แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถออกบังคับใช้ได้ทัน เพราะในขั้นตอนการจัดทำผังนั้น ยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน โดยเมื่อสรุปความเห็นแล้ว ยังต้องส่งเรื่องไปยังคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกทม. และอาจยังต้องมีการปรับแก้ผังเมืองรวมเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหากผังเมืองรวมเสร็จไม่ทันเดือนพ.ค. 2555 ทางสำนักฯ จะต่ออายุผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันครั้งที่ 2 เพื่อยืดอายุผังเมืองฉบับปัจจุบันออกไปอีก 1 ปี

ขณะที่นักวิชาการมองว่าสอดคล้องกันว่าถึงเวลาที่ร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ จะต้องควบคุมการพัฒนาไม่ให้หนาแน่น เนื่องจากพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ไม่สามารถฝืนธรรมชาติ หากปล่อยให้การใช้ที่ดินไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศต่อไป และมีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ จะส่งผลให้ภัยพิบัติสร้างความเสียหายซ้ำรอยเดิม

รุจิโรจน์ อนามบุตร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน คณะทำงานผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร บอกว่า กทม.กำลังร่างผังเมืองรวมที่ประกาศใช้ในปี 2555-2559 ซึ่งจะกำหนดลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยในเขตอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมจะอยู่ชั้นใน เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ ถัดออกมาจะเป็นเขตพาณิชยกรรม เช่น สีลม สยาม และถัดออกมา เป็นที่อยู่อาศัยในเขตเมือง และจากนั้นเป็นชานเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม เช่น มีนบุรี พุทธมณฑล ทวีวัฒนา ซึ่งขณะนี้ ได้รับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว อยู่ระหว่างประมวลคำร้องของผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยผู้ร้องมีทั้งเจ้าของที่ดินและผู้พัฒนาที่ดิน ซึ่งส่วนมากเห็นว่าการทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จำกัดสิทธิการพัฒนาที่ดินของผู้ประกอบการมากเกินไป

โดยจุดเปลี่ยนของผังเมืองใหม่มี 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งจะกำหนดพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์พาณิชยกรรมชานเมือง ที่เป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าและรถเมล์เพื่อให้ผู้อาศัยอยู่ชานเมือง ไม่ต้องเข้ามากลางเมืองเพื่อซื้อสินค้า ซึ่งจะรองรับการสร้างศูนย์การค้า ร้านอาหารและโรงมหรสพได้มาก โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการพบว่าค่อนข้างพอใจ

2.พื้นที่กลางเมืองจะให้อาคารมีความสูงมากขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยและทำให้ไม่ต้องขยายออกมาชานเมืองมากนัก

3.พื้นที่ชานเมือง เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย จะรักษาให้ไม่ให้หนาแน่น หรือกระจายตัวมาก เพราะหากหนาแน่นจะต้องลงทุนโครงสร้างมาก

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครนี้ ต้องสามารถรองรับปัญหาน้ำท่วมได้ เป็นเป้าหมายที่รุจิโรจน์ บอกว่า แนวคิดให้พื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ มีการพัฒนาที่เบาบางลง และให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้ ซึ่งการยกร่างผังเมืองครั้งนี้ก็จะสอดคล้องกับแนวทางนี้ โดยต้องการให้พื้นที่ดังกล่าว ไม่ต้องมีการก่อสร้างมาก และให้บ้านชายเมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งนี้ผู้อยู่ในเขตชานเมืองต้องยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในข่ายที่น้ำจะท่วม

"หากผังเมืองไม่มากำหนดเช่นนี้ และปล่อยให้ทุกคนพัฒนาที่ดินตามใจชอบ จะทำให้มีอาคารเต็มไปหมด ซึ่งความจริงแล้วภาครัฐควรเข้มงวดการพัฒนาที่ดินในเขตเกษตรกรรมมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาสังคมพูดถึงสิ่งแวดล้อมน้อย จึงผ่อนปรน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่าเมื่อเกิดวิกฤติธรรมชาติแล้วสร้างความเสียหาย จึงเป็นเรื่องถูกต้องที่ผังเมืองจะมองเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องมากขึ้น โดยคำนึงว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องมีน้ำหลาก แม้จะมีการร้องคัดค้านว่า พื้นที่ชานเมืองที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ควรอนุญาตให้พัฒนาที่ดินได้มากขึ้น แต่หากผังเมืองปล่อยให้สร้างได้มาก จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและเจ้าของที่ดินจะเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ของผู้วางผังเมือง ที่จะกำหนดว่าเขตดังกล่าว เป็นทางน้ำหลากตามธรรมชาติที่ฝืนไม่ได้ "

ขณะเดียวกันรุจิโรจน์ ยังกล่าวถึงพฤติกรรมของการซื้อขายที่ดินว่า ที่ผ่านมาผู้พัฒนาที่ดินจะซื้อที่ดินน้ำท่วมที่มีราคาถูก แล้วนำดินมาถม จึงเกิดปัญหาขวางทางน้ำ ซึ่งในกทม.มีจุดขวางทางน้ำหลายแห่ง รวมถึงในปริมณฑล เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ในอดีตเป็นหนองงูเห่า เป็นแหล่งซับน้ำ ดังนั้นหากมีน้ำเข้ามามากก็มีโอกาสที่สนามบินจะถูกน้ำท่วม จึงควรมีการออกแบบให้น้ำไหลผ่านได้ ดังนั้นผู้พัฒนาที่ดินในเขตน้ำท่วม ควรร่วมกันรับผิดชอบ เช่น ชี้แจงให้ผู้ซื้อทราบ หรือการทำบ่อหน่วงน้ำ เพื่อให้น้ำค่อยๆ ระบายออกจากพื้นที่ ซึ่งการก่อสร้างอาคารที่เบาบางจะทำให้มีช่องว่างให้ดินซับน้ำฝนที่ตกลงมา

"ปัญหาน้ำท่วมในกทม.เกิดจากการไม่ดูสภาพภูมิประเทศให้เหมาะสมกับการใช้ที่ดิน เช่น การถมที่ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศตามใจชอบ แบบไม่ดูผลกระทบและมองเฉพาะผลกำไรทางธุรกิจ ซึ่งหลายพื้นที่มีการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม เช่น พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ลุ่ม ไม่เหมาะกับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็มีการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมมานาน" รุจิโรจน์กล่าว

อย่างไรก็ตามวิกฤติน้ำท่วมในปัจจุบัน จะเป็นโอกาสที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า ปัญหาเกิดจากอะไร หากสภาพภูมิประเทศอยู่ติดริมแม่น้ำ ก็ต้องยอมรับว่าจะมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ 10 ปี 1 ครั้ง และต้องมีระบบชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการน้ำ โดยต้องมีการถกเถียงกันว่า จะเก็บน้ำหรือปล่อยน้ำกันอย่างไรเพราะบาง พื้นที่ปลูกข้าวได้ปีละ 4 ครั้ง แต่บางพื้นที่ปลูกข้าวได้ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งหัวใจสำคัญต้องมองเรื่องความเสมอภาคทางสิ่งแวดล้อม

"การบริหารจัดการน้ำที่โปร่งใส และเสมอภาค แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการชี้แจงความจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำ เพราะอาจกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้ง แต่เชื่อว่าหากมีความโปร่งใสจะไม่เกิดปัญหาขัดแย้งเหมือนประชาชนจังหวัดชัยนาทกับสุพรรณบุรีที่เริ่มมีความขัดแย้งกัน เพราะไม่มีระบบบริหารจัดการ และไม่มีการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบที่ยอมรับได้ ทำให้มีการใช้อำนาจมาบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเท่ากับให้ผู้ที่มีพวกมากมากำหนดแผนการจัดการน้ำ "รุจิโรจน์ สรุป




จาก ....................... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #24  
เก่า 16-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


กทม.เสี่ยงต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอีก 50 ปี


ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ แนะ กทม. อาจทรุดต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี หากยังไม่มีมาตรการรับมือที่เตรียมพร้อม

สำนักข่าวเอเอฟพี วิเคราะห์ว่า กทม. อาจเผชิญความเสี่ยงภัยต่อการเกิดอุทกภัยมากกว่าเดิม 4 เท่า ในอนาคต เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น และการทรุดของกรุงเทพฯ ที่ยังคงลดต่ำลง และถ้าหากยังไม่มีการวางแผนที่ป้องกันที่ดีพอ อาจทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทย จะสูงขึ้น 19- 29 ซ.ม. ภายในปี ค.ศ.2050 เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งทรุดตัวต่ำลงอยู่แล้ว จากการสูบน้ำใต้ดิน เผชิญความเสี่ยงในการถูกน้ำท่วมสูงกว่าเดิม นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หากยังไม่มีมาตรการเตรียมพร้อมที่ดีเพียงพอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ อาจลดต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน50 ปี

ทั้ง นี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ oecd ยังได้จัดให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองติด 10 ลำดับสูงสุดในโลก ที่เสี่ยงต่อผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2070 ด้วย

เอเอฟพียังได้อ้างคำสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส ว่า ในระยะยาวแล้ว กรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเมื่อใด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคน ได้แนะว่า ทางการไทยจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาการวางแผนและใช้ที่ดินให้เหมาะสม และคำนึงถึงการย้ายโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมออกไปจากพื้นที่ ที่เสี่ยง ต่อการน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังระบุว่า หากกรุงเทพฯ ต้องการที่จะไม่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมอีกเลย กรุงเทพฯ อาจจะต้องย้ายทั้งเมืองไปอยู่ที่ใหม่ในพื้นที่ที่อยู่สูง

อย่างไรก็ ตาม หากกรุงเทพฯ ยังคงจะตั้งอยู่ที่เดิม ก็จำเป็นต้องมีมาตรการตั้งรับภัยพิบัติที่ดีกว่านี้ในอนาคต โดยนักวิชาการด้านวิศวกรแหล่งน้ำชายทะเล จากมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ยังคาดการณ์ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ จะทำให้มีการลงทุนด้านการป้องกันภัยพิบัติอย่างหนักอีกตลอด 10-20 ปีข้างหน้า




จาก ..................... สำนักข่าว inn วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #25  
เก่า 18-06-2012
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default กทม.-ปริมณฑล"ระทึก! "เสรี"เตือนเสี่ยง"น้ำท่วม" ชี้มาเร็ว-แรง! เผยแนวฟลัดเวย์3เส้นทาง

มติชน






สถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมในหลายจังหวัด ตอนนี้ทำให้ชาวกรุงเทพมหานครและปริมณ ฑลเริ่มหวั่นไหว ใจคอไม่ค่อยดี ลุ้นกันว่าปีนี้น้ำจะมาอีกหรือไม่


ทาง"มติชนออนไลน์"จึงตามไปสอบถามกูรูผู้เชี่ยวชาญมาไขความกระจ่างในเรื่องนี้กับรองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต


ทำให้ได้ทราบข้อมูล และมีเรื่องน่าตกใจ และกังวลใจไม่น้อย ในหลักการบริหารจัดการภัยพิบัติ ไม่มีคำว่า"เอาอยู่" ไม่มี"พิมพ์เขียว"สำหรับการบริหารจัดการภัยพิบัติ


เพราะเป็นการบริหารความเสี่ยง เพราะฉะนั้นพิมพ์เขียวที่ได้วันนี้ พรุ่งนี้อาจใช้ไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ในหลายพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำนอง และแนวทางระบายน้ำ(ฟลัดเวย์ )แต่ชาวบ้านหลายพื้นที่ยังงง !!




ปีนี้น้ำจะท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณหรือไม่



โอกาสกรุงเทพมหานคร และปริมาณมณฑลมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมไม่เกิน 20% หากถามว่า เมื่อไหร่จะชัดเจนว่า น้ำจะท่วมกทม.และปริมฑลหรือไม่ ต้องรอปลายเดือนกรกฎาคม 2555 ข้อมูลถึงจะชัดเจน เพราะจะมีข้อมูลเรื่องฝนได้แม่นย้ำขึ้น ดูพายุเข้า และความรุนแรงของร่องมรสุม



ปริมาณน้ำจะมามาก หรือมาน้อย


มาในระดับปี 2549 อาจจะน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ความรุนแรงอาจจะถึงปี 2554 น้ำอาจจะมาเร็วขึ้น และปริมาณน้ำไม่จำเป็นต้องมาเท่าเดิม ปริมาณน้ำอาจน้อยกว่าเดิม แต่ความรุนแรงมากขึ้นก็ได้ เพราะพอเรากั้นน้ำก็สูงขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ความเสี่ยงจะอยู่ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑลมาก เพราะเมื่อพื้นที่จังหวัดด้านบนไม่เอาน้ำ นิคอุตสาหกรรม 30,000 ไร่ไม่เอาน้ำ ชุมชนเทศบาลต่าง ๆ ป้องกันหมด ยกคันขึ้นสูง 50 เซนติเมตรเกือบหมด นั่นหมายถึง น้ำต้องลงมาด้านล่าง อยุธยาจะรุนแรงขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ



โครงการทำแนวป้องกันน้ำถึงวันนี้จะช่วยได้เพียงใด


ปีนี้ได้งบประมาณในการดำเนินโครงการ 120,000 ล้านบาท และได้มีการแจ้งว่า ใช้ไปไม่ถึง 20,000 ล้านบาทหรือประมาณ 18% ขณะที่เหลือเวลาอีก 5 เดือน ทำให้เรากังวล โดยแบ่งได้ 3 ประการ 1) บางแห่งทำสำเร็จแล้ว 2)บางแห่งกำลังทำอยู่ 3)บางแห่งทำไม่ได้ เมื่อไหร่จะทำได้ ก็ไม่รู้ การประเมินยากมากตอนนี้ เช่น

พื้นที่รับน้ำนอง 2 ล้านไร่ไปถามชาวบ้าน หลายพื้นที่ประชาชนยังไม่ทราบว่า ที่ดินของตัวเองอยู่ในพื้นที่รับน้ำนอง ข้อมูลไปไม่ถึงชาวบ้าน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจริงใจมากมีการประกาศชัดเจน แต่พอลงไปข้างล่าง ไม่มีการสานต่อหลายที่ ข้าราชการในพื้นที่ไม่อยากไปเผชิญปัญหา




คณะกรรมการแก้ปัญหาน้ำท่วมเอง ก็ไม่ได้เห็นสอดคล้องกันหลายเรื่อง


แน่นอน เพราะเวลาจะตัดสินไม่ได้มีการประเมินแนวทางที่เข้าใจ เข้าถึง และค่อยพัฒนา ยกตัวอย่างการทำคันป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ 300 กิโลเมตรไม่มีใครเห็นด้วย เพราะไม่ได้ประเมิน แต่เมื่อตัดสินใจไปอย่างนั้น เราก็อยากให้เกิด แต่ทำไม่ได้ ขณะนี้มีความขัดแย้งสูงในพื้นที่ ประเด็นตรงนี้ รัฐบาลควรจะแจ้งประชาชนให้เตรียมตัว ถ้าทำไม่ได้ แล้วไม่บอกประชาชน ปัญหาจะหนักขึ้น เพราะประชาชนไม่ได้เตรียมอะไรเลย คิดว่า โครงการของภาครัฐทำได้ จะเห็นว่า ทำไมนครปฐมถึงไม่เอาฟัดเวย์ เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานในท้องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า รัฐบาลมีนโยบายอย่างนี้แล้ว



การเตรียมการเรื่องฟลัดเวย์ไปถึงไหน


ฟลัดเวย์เป็นแผนระยะยาว ที่รัฐบาลออกพระราชกำหนด 350,000 ล้าน เป็นฟลัดเวย์ถาวรทางฝั่งขวา และฝั่งซ้าย 2 เส้นทาง หากถามว่า เส้นทางอยู่ทางไหน เขา

ยังเก็บอยู่เป็นความลับกลัวว่า จะมีปัญหาการเก็งกำไร แต่ไม่ต้องห่วงการเก็งกำไร เพราะนักการเมืองซื้อหมดแล้ว



ฟลัดเวย์ 350 กิโลเมตรที่ว่าเป็นแผนอย่างไร ตรงจุดไหน


ปีนี้เองก็มีฟลัดเวย์น้ำ ทำเป็นคันชั่วคราวยาวประมาณ 350 กม.พื้นที่จะป้อง คือ พื้นที่ในเมืองตั้งแต่แม่น้ำป่าสัก ลงมาคลองพระยาบันลือ จะผ่าน 3 เส้นทาง จุดแรกจะลงมาแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำคันกั้นริมน้ำทั้งหมด ตั้งแต่อยุธยาลงมาถึงปทุมธานี ถ้าใครอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาต้องสังเกตว่า ทางราชการได้ไปเสริมถมถนนหรือยัง จุดที่ 2 จะทำคันดินริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำท่าจีน จะลงทุนป้องพื้นที่อุตสาหกรรม ส่วนปล่อยฝั่งขวาเป็นไปตามธรรมชาติ

และจุดที่ 3 ทางด้านฝั่งตะวันออก จะมีการทำคันจากคลองระพีพัฒน์ลงไปคลอง 13 และลงไปคลองด่าน เพราะฉะนั้นคนฝั่งซ้ายของคลองแปดริ้วน้ำจะท่วมสำหรับปีนี้


วันนั้นผมเดินทางลงพื้นที่ คนนครปฐมไม่ต้องการฟลัดเวย์ ขึ้นป้ายเต็มเลย ไม่ใช่แนวคิดเรา เป็นแนวคิดที่ออกมาแล้ว เราก็รู้ว่า ทำไม่ได้ เพราะผมบอกแต่แรกว่า จะได้รับการต่อต้านจากประชาชนสูงมาก ก็เรื่องจริง เงิน 120,000 ล้านบาท เบิกไปใช้เพียง 20,000 ล้านบาท เพราะไปตรงจุดไหน ไม่มีใครอยากให้ทำคันกั้น


สมมุติเราบ้านอยู่ฝั่งนี้ แล้วไปทำคันดินกั้น เห็นชัดเจนว่า ฝั่งนี้น้ำจะท่วม อีกฝั่งน้ำไม่ท่วม มันเป็นไปได้อย่างไร อันนี้หลักคิด การบริหารจัดการมันผิดหลักคิดแล้ว อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง ปัญหาคือ ทำไม่เสร็จทำไม่ได้ เพราะความขัดแย้งสูง โหว่วเป็นจุด ๆ น้ำก็ทะลักอีก ในที่สุดถ้าน้ำมาเหมือนเดิม ผมคิดว่าก็ท่วมเหมือนเดิม แต่อาจจะหนักด้านท้ายน้ำ เพราะคันป้องไม่มีทางเสร็จทัน เหลือเวลาอีกเพียง 3-4 เดือน ถ้าคิดในแง่หลักความจริง เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร สุดท้ายคงตัวใครตัวมัน




สิ่งที่อาจารย์กังวล และพยายามเตือนรัฐบาลมาตลอด แต่รัฐบาลไม่ฟัง


จริง ๆ ฟัง แต่ปัญหาในท้องถิ่นมีอะไรบ้าง ผู้บริหารข้างบนไม่ค่อยรู้ นี่คือปัญหาหลักในการบริหารจัดการ เวลานางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีลงไปดูในพื้นที่ มันคนละเรื่องกับผมลงไปดูในพื้นที่ หลายพื้นที่ยังไม่สามารถทำคันกันน้ำได้ และมีปัญหามาก พอนายกรัฐมนตรีลงไป คนข้าง ๆ กับพูดแต่ว่า "ดีครับนาย ได้ครับผม" บ้านเราก็เป็นอย่างนี้ ทั้งที่ปัญหามันต้องแก้ไข ต้องให้ข้อเท็จจริง


ณ ขณะนี้ "ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ" การตัดสินที่จะสู้กับมัน ด้วยวิธีการอย่างนี้ แต่ไม่ศึกษา "อันตราย" ความจริงผมประชุมกับนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนมกราคมและบอกว่า ก่อนที่จะออกมาเป็นแผนแม่บท ขอให้นายกประเมินขั้นต้นก่อน แต่ไม่มีการประเมินมา จนกระทั่งปัจจุบันผ่านมา 6 เดือน บางอันถึงลงไปปฏิบัติไม่ได้ พอปฏิบัติไม่ได้ก็เกิดคำถามขึ้นมา


ผมเพิ่งกลับจากพิษณุโลก สุโขทัย ข้อมูลก็เพี่ยนอีก บางระกำโมเดล ทุกคนบอกป้องกันน้ำท่วมได้ พอมีบางระกำแล้ว สบายใจ แต่ตอนนี้น้ำท่วมบางระกำเต็มไปหมดเลย นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้น บางระกำโมเดล พื้นที่บ่อน้ำมี 30 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำอยู่ในพื้นที่บางระกำ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร มันไม่ใช่ ความเข้าใจ มันต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้นรอบ ๆ ด้านนายกรัฐมนตรีอันตรายมาก น่ากลัว เราเลยต้องพึ่งวิทยาศาสตร์ เราจะทำอย่างไรให้เกิดข้อเท็จจริง เกิดข้อมูลส่งให้นายกรัฐมนตรีกลั่นกรอง อย่างนี้ดีที่สุดจึง "ทุบโต๊ะ"



ข้อมูลที่ให้ผู้บริหารตัดสินใจจะต้องได้รับการกลั่นกรองว่า ทิศทางเป็นเช่นนี้แล้ว ต้องทุบโต๊ะ สังเกตปีที่แล้วจะเห็นว่า บางอย่างมันซื้อเวลา ปีที่แล้วจะขอเปิดประตูน้ำแห่งนี่ 1.20 เมตร บอกขอเวลาดู 2 วัน นั่นคือ ซื้อเวลาแล้ว "หายนะไม่สามารถจะขอได้" "ขอหายนะดู 2 วันได้หรือไม่"



นอกจากนี้ "แผนเผชิญเหตุ" เวลาออกมาบอกรัฐบาลได้ทำแผนเผชิญเหตุเสร็จแล้ว เวลาเราประชุมก็ถาม แผนเผชิญเหตุเป็นอย่างไร สมมุติมีชาวบ้านออกมาขัดค้าน 1,000 คน มีตำรวจมา 10 คน ข้ราชการบอก"หนี" นี่คือ แผนเผชิญเหตุหรือเปล่า ผมบอกหนี ผิดคำสั่งผู้บังคับบัญชา คำสั่งคือ ให้ปิดประตูน้ำตัวนี้ แต่พอชาวบ้านที่อยู่เหนือประตูน้ำมาอีก 1,000 คน บอกให้เปิดประตูน้ำ ข้าราชการบอกผิดก็ผิด ดีจะได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น เขาบอกอย่างนั้น




โครงการป้องกันน้ำท่วม1.2 แสนล้านบาทต้องมาทบทวนความเป็นไปได้


ถูกต้อง ขณะนี้ต้องรีบประเมิน และนายกรัฐมนตรีกำลังจะทำการประเมิน ผมเรียนท่านนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วว่าต้องรีบประเมิน ปัญหามันจะเกิด ก็เกิดจริง ๆ ปัญหามันไม่ไปถึงท้องถิ่น ตอนนี้ประเด็นปัญหาเริ่มสะท้อนกลับมาว่า ตกลงปีนี้ น้ำจะมาเหมือนเดิม จะท่วมหรือไม่ท่วม ขณะนี้ยังไม่มีใครตอบได้ ถ้าน้ำ

มาเหมือนเดิม จะท่วมหรือไม่ท่วม เพราะว่า มาตรการที่ลงไป ยังไม่สามารถสร้างเป็นรูปธรรมได้



ต้องทำประชาพิจารณ์ก่อนลงมือทำโครงการในพื้นที่ด้วยหรือไม่


ขึ้นกับขนาดโครงการ ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องทำประชาพิจารณ์ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ แต่ถ้าเป็นโครงการธรรมดา ก็เพียงแต่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งว่า แผนเป็นแบบนี้เอาหรือไม่

__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 18-06-2012 เมื่อ 13:28
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #26  
เก่า 18-06-2012
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

การที่นิคมสร้างเขื่อนป้องกันถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ทางวิทยาศาสตร์


ผมว่า ถูกต้อง นิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ที่สำคัญ ความเสียหายปีที่แล้วในพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท การทำถูกต้อง เพียงแต่ทำแล้วไม่บอกกับประชาชนว่า น้ำจะไปหาประชาชนหรือเปล่า คือ การประเมิน เพราฉะนั้นก็เกิดความขัดแย้ง และใครก็ไม่กล้าไปเผชิญความขัดแย้ง ท้องที่เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น พื้นที่รอบ ๆ นิคมอุตสาหกรรมมีความขัดแย้งเกิดขึ้น




รัฐบาลควรต้องมีเงินชดเชยค่าตอบแทนให้กับประชาชนที่ต้องแบกรับน้ำแทนนิคมอุตสาหกรรม


ถูกต้อง ถ้าประเมินแล้วชาวบ้านไม่มีปัญหาเลย น้ำเพิ่มขึ้นมา 2 เซนติเมตรก็บอกประชาชนไป แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครบอก ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ ต้องใช้หลักวิชาการบอก ถ้ารัฐบาลทำตั้งแต่เดือนมกราคมอยากที่ผมบอก ตอนนี้ทุกอย่างออกมาจบไปแล้ว




ตอนนี้ข้าราชการมีปัญหาเรื่องการประสานงานเหมือนปีที่แล้ว


ใช่ครับ หน่วยราชการเองยังประสานงานกันเองไม่ลงตัว ยังไม่ดี ขณะที่การประสานงานกับประชาชนยังไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจอย่างถูกต้อง หลายเรื่องซึ่งอันตราย ยกตัวอย่างปีที่แล้ว ตรงประตูน้ำพระยาสุเรนทร์ปีที่แล้วมีปัญหา ตอนนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะมาตกลงกัน เรียกว่า การบริหารจัดการ ก่อนเกิดเหตุ จะเปิดเท่าไหร่ หากน้ำมาเท่านี้ อีก


อีกกรณีหนึ่งสุพรรณบุรีกับชัยนาท ปีที่แล้วในสุพรรณบุรีมีข้อตกลงกันว่า หลัง 15 กันยายนให้รีบเก็บเกี่ยว น้ำเข้าทุ่งแน่นอน แต่คนชัยนาทไม่รู้ข้อตกลงตัวนี้ น้ำเข้าท่วมตลาดวัดสิงห์หนัก ขณะที่สุพรรณบุรีน้ำในทุ่งยังไม่มี มีการไปพังประตูน้ำ เพื่อให้น้ำเข้าเร็ว ๆ แต่ในที่สุดจังหวัดสุพรรณบุรีก็ถูกน้ำท่วมหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นความขัดแย้งจะบานปลายถ้าเราไม่แก้ปัญหาตัวนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภัยพิบัติในทุกภาคส่วนต้องมาคุยกัน




พื้นที่รับน้ำนองประชาชนยังไม่ทราบว่า อยู่ตรงไหน


พื้นที่ 2 ล้านไร่ ผมรู้ว่า ตรงนี้เมื่อผมลงไปในพื้นที่ประชาชนยังไม่ทราบ รัฐบาลไม่ประกาศ เพราะมาตรฐานการจ่ายเงินมันต่างกัน ถ้าประกาศความขัดแยังจะเพิ่มขึ้นมาอีก คนนี้ได้ 2,200 บาท พอเป็นพื้นที่รับน้ำนองได้ 7,000 บาท ประชาชนอีกแห่งบอก เขาอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทำไม ไม่ได้บรรจุอยู่ในพื้นที่รับน้ำนอง มันไม่ชัดเจน ไปถึงมีแต่ความขัดแย้ง



เรามีการเตรียมตัวรับกับอุทกภัยเหล่านั้นสักกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว


ถ้าวัดในเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ที่ไปทำ ยอมรับว่า วัดได้ยากจริง ๆ เพราะตอนนี้เกิดในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเอาตัวรอด เพราะฉะนั้นเราไม่รู้ว่า ชุมชนนี้จะป้องสูงระดับไหน ประชาชนในพื้นที่จะบอกว่า ปีที่แล้วน้ำท่วมหนัก เขาจะทำเขื่อนขึ้นมาสูงเท่านั้นเท่านี้ จะทำได้หรือไม่ งบประมาณอยู่ที่ไหน เราก็ไม่รู้อีก จะมีกรณีอย่างนี้เต็มไปหมด



และแน่นอนปริมาณน้ำเหล่านี้จะไหลลงข้างล่าง คนกรุงเทพ และปริมณฑลมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้นคนที่ถูกน้ำท่วมปีที่แล้วจะเข็มแข็งขึ้น เพราะจะปกป้อง แต่คนที่ไม่โดนปีที่แล้ว จะไม่ทำอะไร เพราะถือว่า ผ่าเหตุการณ์ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ถูกท่วมปีที่แล้วก็จะท่วมปีนี้ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว


อยากน้อยฟังข้อมูลแล้ว...จะสู้หรือจะหนี คงต้องตัดสินใจเตรียมตัวกันเอง !!


เรื่องโดย : กฤษณา ไพฑูรย์





ขอบคุณ...มติชนออนไลน์...http://www.matichon.co.th/news_detai...catid&subcatid

__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 18-06-2012 เมื่อ 13:31
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
เก่า 27-03-2017
moon1245
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายน้ำ.
เก่า 29-09-2021
bantonmai
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
เก่า 30-09-2021
somuchforfunalot
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:19


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger