#1
|
||||
|
||||
กัลปังหาใต้ทะเลลึก
กัลปังหาใต้ทะเลลึก ......................... โดย วินิจ รังผึ้ง เมื่อตอนดำน้ำใหม่ๆ ผมมักตื่นตาตื่นใจกับปะการังอ่อนที่มีสีสันสดใสสวยงาม ทั้งสีแดง สีชมพู สีม่วง สีเหลือง มีทั้งแบบต้นเล็กๆ ที่ติดกับผนังหินไปจนกระทั่งปะการังอ่อนพันธุ์ต้นใหญ่อวบอิ่มสูงเกือบเมตร ซึ่งล้วนเป็นสีสันให้กับท้องทะเลด้วยรูปทรงของปะการังอ่อนที่ส่วนใหญ่จะมีโครงลำต้นอวบน้ำ มีโครงสร้างที่คล้ายกิ่งก้านแตกแขนงออกไป ปะการังอ่อนแต่ละต้นจึงมองดูเหมือนต้นไม้ และเป็นต้นไม้แห่งสีสันอันสวยงามราวกับใครมาจัดสวนเอาไว้ใต้ท้องทะเลลึก ซึ่งแท้ที่จริงปะการังอ่อนกลับไม่ใช่ต้นไม้แต่เป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับปะการังแข็งที่แม้จะมีโครงสร้างกิ่งก้านที่แข็งแตกแขนงออกไป แต่มันก็ล้วนเป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยปะการังแต่ละตัวแต่ละชีวิต หรือที่เรียกว่า 1 โพลิปนั้น จะมีขนาดเล็กจิ๋ว มีหนวด 6 หนวดใช้เป็นแขนสำหรับจับอาหารที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำลำเลียงเข้าสู่ปาก ปะการังขนาดเล็กๆแต่ละตัวจะช่วยกันสร้างโครงสร้างหินปูนขึ้นมาเป็นบ้านขนาดใหญ่ที่มีตัวปะการังเล็กๆนับพันนับหมื่นอาศัยอยู่ร่วมกัน และก็แทบไม่น่าเชื่อว่าตัวปะการังที่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว จะสามารถสร้างแนวปะการังผืนใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง เกรท แบริเออร์ รีฟ ที่มีความยิ่งใหญ่และมีความยาวถึง 2,500 กิโลเมตรเลยทีเดียว นอกจากปะการังอ่อนที่มีสีสันสดใสงดงามทำให้ผมหลงใหลแล้ว กัลปังหาก็เป็นสิ่งตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่งสำหรับผมและเพื่อนๆนักดำน้ำ เพราะเมื่อเราดำน้ำผ่านไปพบกัลปังหาเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นต้นเล็ก ต้นใหญ่ ก็มักจะดำดิ่งเข้าไปชื่นชมความงาม เข้าไปถ่ายรูปเก็บภาพกัน ด้วยโครงสร้างของกัลปังหานั้นมีขนาดใหญ่กว่าปะการังอ่อน แม้นจะไม่มีจำนวนมากมายเป็นผืนเป็นป่าเหมือนลานปะการังอ่อน แต่กัลปังหาพัดขนาดใหญ่ๆบางต้นนั้นก็มีขนาดความกว้างกว่า 2 เมตร มีความสูงถึง 3 เมตรเลยทีเดียว และกัลปังหาพัดส่วนใหญ่ก็จะมีสีเหลืองส้ม ทำให้สามารถมองเห็นโดดเด่นตั้งแต่ในระยะไกลด้วยใต้ท้องทะเลนั้นยิ่งลึกลงไปสีสันก็จะยิ่งถูกดูดกลืน โดยสีแดงจะถูกดูดกลืนไปมากที่สุด สีเหลืองนั้นจะถูกดูดกลืนน้อยกว่าจึงสามารถจะมองเห็นได้อย่างเด่นชัด และโครงสร้างของกัลปังหานั้นก็ยิ่งดูเหมือนต้นไม้มากขึ้นไปอีก เพราะมีแกนกลางหลักขนาดใหญ่คล้ายเป็นลำต้น มีกิ่งก้านสาขาแตกแขนงแยกออกไป มีช่อคล้ายกลีบดอกไม้ขนาดเล็กๆมากมายเต็มไปหมดทั่วทุกกิ่งก้าน ดูๆไปแล้วกัลปังหานั้นคล้ายกับต้นไม้มากกว่าปะการังอ่อนเสียอีก แต่กัลปังหาก็ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่พืช แต่กลับเป็นสัตว์ทะเล โดยเป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการังนั่นเอง แม้นปะการังและกัลปังหาจะเป็นญาติใกล้ชิดกัน โดยเป็นชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นโคโลนี มีการติดต่อเชื่อมโยงกัน ร่วมกันสร้างโครงสร้างหลักที่เหมือนเป็นลำต้นเดียวกัน แต่จะมีความแตกต่างกันทางโครงสร้าง เช่นปะการังแต่ละตัว แต่ละโพลิปนั้น จะมีหนวด 6 หนวด ในขณะที่กัลปังหาแต่ละตัว แต่ละโพลิปนั้นจะมี 8 หนวด และปะการังแข็งส่วนใหญ่จะสร้างโครงสร้างหลักจากหินปูน แต่กัลปังหาจะมีโครงสร้างหลักจากสารประกอบพวก gorgonin ที่มีความแข็งและเหนียว ไม่แข็งแต่เปราะแบบปะการัง ซึ่งกัลปังหาพัดต้นขนาดใหญ่แต่ละต้นจะประกอบด้วยกัลปังหานับหมื่นนับแสนตัวเลยทีเดียว กัลปังหานั้นแม้นมีรูปทรงหลักส่วนใหญ่แผ่ออกเป็นแผ่นลักษณะรูปพัด ผู้คนจึงเรียกว่ากัลปังหาพัด (Sea fan) แต่ก็ยังมีกัลปังหาอีกหลากหลายรูปทรง เช่นลักษณะเป็นเส้นยาวเส้นเดียวลักษณะเหมือนแซ่ที่เรียกว่า แซ่ทะเล (Sea whip) มีลักษณะเป็นเส้นเรียงกันแบบหวีที่เรียกว่าหวีทะเล และสีสันของกัลปังหาก็มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีม่วง สีขาว ด้วยกัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่มีโครงสร้างยึดติดอยู่กับที่ ไม่สามารถเคลื่อนไหวย้ายที่ไปไหนมาไหนได้ มันจึงต้องอยู่อาศัยและเจริญเติบโตในบริเวณที่มีกระแสน้ำพัดแรงไหลผ่าน เพื่อให้กระแสน้ำเป็นผู้พัดพาเอาอาหารที่เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กๆ ล่องลอยมาให้กัลปังหาจับกิน โดยในช่วงที่น้ำนิ่งกัลปังหาก็จะหุบแขนหรือหนวดทั้งแปดไว้ เราจึงดูเหมือนกัลปังหาเป็นต้นไม้ที่มีแต่กิ่ง เหมือนต้นไม้ที่ทิ้งใบเหี่ยวเฉา แต่เมื่อมีกระแสน้ำไหลพัดแรง กัลปังหาก็จะกางหนวด กางแขนผลิบานออกมาจากโครงสร้าง เพื่อใช้หนวดจับกินอาหารที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำ ในช่วงกระแสน้ำแรงเราจึงดูเหมือนกัลปังหางดงามผลิบานมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง กัลปังหาสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่ต้องอาศัยเพศ โดยกัลปังหาแต่ละโพลิบจะมีการแลกเปลี่ยนเซลสืบพันธุ์ระหว่างกัลปังหาจากต่างโคโลนี โดยแต่ละโคโลนีจะมีเซลสืบพันธุ์เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เมื่อผสมพันธุ์แล้วก็จะเกิดกัลปังหารุ่นต่อไป ในขณะที่ท้องทะเลกว้างอาจจะมีความยุ่งยากในการและเปลี่ยนเซลสืบพันธุ์ระหว่างกัลปังหาด้วยกัน ธรรมชาติก็ได้สร้างสรรค์ทางเลือกด้วยการสืบสายเผ่าพันธุ์โดยการแยกตัวหรือการแตกหน่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการดำรงอยู่แห่งเผ่าพันธุ์ ซึ่งการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์กัลปังหานั้นก็มีประโยชน์ต่อสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ เช่นเรามักจะพบปลาน้อยใหญ่ เข้าไปแอบอิงอยู่กับกัลปังหาพัดขนาดใหญ่ เช่นฝูงปลากะพงเหลือง เพราะมันสามารถจะใช้แผ่นกัลปังหาเป็นที่ป้องกันภัยที่จะจู่โจมเข้ามาทางด้านหลังได้ หรือหากเป็นปลาขนาดเล็กอย่างปลาเหยี่ยวกับปลาบู่ทะเลบางชนิด มันก็จะใช้กิ่งก้านกัลปังหาเป็นบ้านอันแสนอบอุ่นเสียเลย นอกจากนั้นเรามักจะพบหอยเบี้ย ปูแมงมุมขนาดเล็ก เกาะอยู่ตามกิ่งก้านของกัลปังหา หรือแม้แต่ม้าน้ำแคระตัวเท่าหัวไม้ขีด ก็มักจะอาศัยอยู่บนกิ่งกัลปังหา และพัฒนาตัวเองให้มีสีสันและรูปทรงมองดูคล้ายกับกิ่งก้านกัลปังหาเสียเลย แม้นกัลปังหาจะมีโครงสร้างที่แข็งและเหนียวกว่าปะการังแข็ง แต่หากถูกนักดำน้ำที่ไม่ระมัดระวังไปเตะไปโดนเข้า กิ่งก้านมันก็อาจจะหักเสียหายลงได้ หรือแม้นแต่มันยืนต้นท้าทายทัดทานกระแสน้ำอันเชี่ยวกราดมาได้อย่างยาวนานจนมีโครงสร้างลำต้นขนาดใหญ่ แต่เมื่อต้องเจอกันปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรงอย่างเช่นเมื่อครั้งเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547 ก็ทำให้กัลปังหาพัดขนาดใหญ่บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน ถูกความรุนแรงของคลื่นยักษ์พัดจนหักพังลงไปนับร้อยต้นเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง แม้นจะมีความพยายามจากนักวิชาการ นักดำน้ำอาสาสมัครผู้รักและห่วงใยท้องทะเล พยายามช่วยกันพลิกพื้นเยียวยาซ่อมแซม โดยจับตั้งขึ้นแล้วดามด้วยวัสดุต่างๆ แต่ก็แทบจะไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ หรือเมื่อเหตุการณ์น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา อันส่งผลให้ปะการังทั่วท้องทะเลไทยตายไปเป็นบริเวณกว้าง กัลปังหาบางส่วนก็ตายลงไปพร้อมกับปะการังด้วย นั่นยังไม่รวมถึงบรรดาพวกคลั่งไคล้เครื่องรางของขลังที่ทำจากแกนกัลปังหา ก็มีส่วนในการทำลายกัลปังหาอีกทางหนึ่ง นั่นจึงทำให้สถานการณ์ของกัลปังหาสัตว์ทะเลแสนสวยในท้องทะเลไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกวัน จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ภาพสวย...แถมได้ความรู้อีก ขอบคุณน้องวินิจมากค่ะ...ที่กระตุ้นให้อยากไปดำน้ำเร็วๆ...
__________________
Saaychol |
#3
|
|||
|
|||
ผมก็ชอบครับ กัลปังหา มันทำให้รู้สึกว่าทะเลมีชีวิตชีวามากขึ้น แถมมีอะไรเกาะแกะเยอะแยะให้น่าค้นหา
|
|
|