#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 1 เมษายน 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 1 - 4 เม. ย. 63 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 เม. ย. 63 บริเวณประเทศจะมีอากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคกลาง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้มีฝนลดลง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 1 - 4 เม.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 - 4 เมษายน 2563)" ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 01 เมษายน 2563 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้ ในช่วงวันที่ 1-2 เมษายน 2563 ภาคเหนือ: จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ในช่วงวันที่ 3-4 เมษายน 2563 ภาคเหนือ: จังหวัดพะเยา น่าน แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
การถอยของธารน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันออก Credit : NASA เคยมีความคิดกันว่าธารน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันออกนั้นถูกคุกคามน้อย แต่เมื่อธารน้ำแข็งอย่างเดนแมน (Denman) ถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากกลุ่มวิทยาศาสตร์หิมะภาค (cryosphere) ก็เริ่มเห็นหลักฐานของความไม่แน่นอนของแผ่นน้ำแข็งทางทะเลที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ และห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การนาซา ในสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยพบว่าธารน้ำแข็งเดนแมนสูญเสียมวลน้ำแข็งไป 268,000 ล้านตัน ระหว่างปี พ.ศ.2522-2560 และยังพบว่าธารน้ำแข็งของแอนตาร์กติกาตะวันออก ได้ถอยห่างออกไป 5 กิโลเมตรในรอบ 22 ปีที่ผ่านมา ทำให้สร้างความกังวลว่ารูปร่างของพื้นผิวดินที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็งอาจอ่อนแอมากขึ้นต่อการล่มสลายของสภาพภูมิอากาศ ที่น่าห่วงตามมาก็คือหากธารน้ำแข็งเดนแมนละลาย จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งการตรวจสอบอย่างละเอียดที่สุดในธารน้ำแข็งและบริเวณโดยรอบทำให้รู้เบาะแสที่น่าตกใจเกี่ยวกับสภาวะภายใต้ภาวะโลกร้อน. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1808269
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
ชาวโคราชฮือฮา'นกฟลามิงโก' โผล่หากินเขื่อนลำตะคอง ชาวโคราชสุดฮือฮา "นกฟลามิงโก" นกประจำถิ่นทวีปแอฟริกา โผล่ท้ายเขื่อนลำตะคอง ร่วมหากินกลุ่มนกน้ำประเทศไทย นักอนุรักษ์คาด อาจหลุดมาจาก "สวนสัตว์-หลงฝูงอพยพ" เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณท้ายเขื่อนลำตะคอง บ้านท่างอย ถนนมิตรภาพสายเก่า ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะนี้ในช่วงเข้าสู่ฤดูแล้งที่อากาศร้อนจัด ส่งผลระดับน้ำในเขื่อนลดลงจนเห็นท้ายเขื่อน หลงเหลือน้ำในลักษณะเป็นแอ่ง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝูงนกน้ำมาลงหากินเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยกลุ่มนกยาง และนกปากห่าง แต่เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ภายหลัง นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ นายอำเภอปากช่อง มีคำสั่งขอความร่วมมืองดประชาชนเดินทางมาพักผ่อนยังสถานที่แห่งนี้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส "โควิด-19" ปรากฏว่ามี นกฟลามิงโก นกน้ำจำพวกหนึ่ง ซึ่งตามธรรมชาติจะอาศัยอยู่มากในทวีปแอฟริกา บินมาลงหากินยังเขื่อนแห่งนี้ด้วย 1 ตัว ออกหากินอยู่รวมกับนกน้ำในกลุ่มนกยางและนกปากห่างที่มีอยู่ของประเทศไทย ถือเป็นปรากฏการณ์สร้างความตื่นเต้นแก่ชาวบ้านในพื้นที่และผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ด้าน นายปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน นักอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่ารุ่นใหม่ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.ปากช่อง และเป็นผู้ถ่ายภาพนกฟลามิงโก้ได้ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา มีชาวประมงในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า พบเห็นนกตัวใหญ่ชนิดหนึ่ง มีสีสันสวยงาม ปลายปีกออกเป็นสีชมพูและไม่เคยพบเห็นมาก่อนในพื้นที่ และขอให้ช่วยไปตรวจสอบ จึงออกไปดูก็พบเป็นนกฟลามิงโกตัวใหญ่ 1 ตัว ซึ่งนกชนิดนี้ไม่ได้อาศัยในธรรมชาติประเทศไทย แต่กลับมาหากินร่วมกับนกน้ำชนิดอื่นๆ ซึ่งในข้อเท็จจริง ยังไม่แน่ชัดว่านกฟลามิงโกตัวนี้มาจากสถานที่แห่งใด อาจเป็นไปได้ทั้งในส่วนหลุดออกมาจากสวนสัตว์ หรืออาจบินอพยพหลงฝูงมาจากต่างประเทศ แต่จากการสังเกตพบว่า นกตัวนี้มีความระวังภัยสูงมาก และมีปฏิกิริยาตื่นคนเป็นอย่างมากซึ่งแตกต่างจากนกที่ปรากฏอยู่ในสวนสัตว์ จึงเชื่อว่าอาจจะมีการอพยพหลงฝูงมา ?? สำหรับ นกฟลามิงโก ได้ชื่อว่าเป็นนกที่มีขนสีชมพูจนได้รับชื่อว่า นกฟลามิงโกสีชมพู ปกติอยู่เป็นฝูงขนาดใหญ่ สถานที่ๆ พบมากที่สุดในโลกคือ ทะเลสาบนากูรู ในอุทยานแห่งชาติทะเลสาบนากูรู ทางตอนเหนือของประเทศเคนยา จัดเป็นนกที่บินได้เป็นระยะทางที่ไกลและมักบินในเวลากลางคืน ในทวีปเอเชียสามารถพบได้ที่ทุ่งหญ้าสเตปป์แถบตอนเหนือของคาซัคสถานในภูมิภาคเอเชียกลางเท่านั้น https://www.dailynews.co.th/regional/766292 ********************************************************************************************************************************************************* เตือนโตเกียวจะเป็นอัมพาต หากภูเขาฟูจิระเบิดครั้งใหญ่ คณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ทำการศึกษาวิจัย กล่าวเตือนว่า การปะทุระเบิดครั้งใหญ่ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ของภูเขาไฟฟูจิ อาจพ่นเถ้าถ่านเป็นห่าฝน ปลิวร่วงฝังกลบกรุงโตเกียว จนระบบการคมนาคมทั้งรถไฟและรถยนต์กลายเป็นอัมพาต ภายในเวลา 3 ชั่วโมง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่า คณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้ง จากสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า การจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นว่า การระเบิดของภูเขาไฟฟูจิ หากเกิดขึ้น ปริมาณเถ้าถ่านที่พ่นออกจากปากปล่องเพียงแค่ 1 นาที สามารถขัดขวางการวิ่งบนรางของรถไฟโดยสาร ในกรุงโตเกียว ซึ่งอยู่ห่างจากภูเขาไฟฟูจิ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 100 กม. และเถ้าถ่านที่ปลิวร่วงหล่นยังจะส่งผลกระทบต่อระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าด้วย ภูเขาไฟฟูจิ ขนาดความสูง 3,776 เมตร เกิดการปะทุระเบิดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย เมื่อกว่า 300 ปีก่อน ปัจจุบันยังมีพลังและเกิดการสั่นสะเทือนเป็นระยะ ?นายโตชิสึกุ ฟูจิอิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ มหาวิทยาลัยโตเกียว หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญ เขียนในรายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (31 มี.ค.) ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเตรียมมาตรการ ทั้งการตอบสนองฉุกเฉิน และการฟื้นฟูในระยะยาว และต้องรีบดำเนินการในขณะนี้ เพราะหากรอให้เกิดการระเบิดก็จะสายเกินไป ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด มากที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2557 เกิดภัยพิบัติจากภูเขาไฟครั้งเลวร้ายสุดในรอบกว่า 90 ปี จากการระเบิดอย่างกะทันหันของภูเขาไฟออนทาเกะ บนเกาะฮอนชู ขณะที่มีนักไต่เขาจำนวนมากปีนขึ้นไปอยู่ใกล้ปากปล่อง การระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 63 คน ญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่มีพลังทั่วประเทศ 110 ลูก ประมาณครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ รวมถึงภูเขาไฟฟูจิ ถูกทางการเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชม. https://www.dailynews.co.th/foreign/766284
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
"โควิด-19" ช่วยธรรมชาติฟื้นตัว นากทะเลโผล่เล่นน้ำหาดในหาน ภูเก็ต - ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี โควิด-19 ช่วยธรรมชาติฟื้นตัว สุดทึ่ ! นากทะเลโผล่เล่นน้ำ หลังปิดหาดในหาน จ.ภูเก็ต ธรรมชาติได้หยุดพักหลังถูกทำลายมายาวนาน https://mgronline.com/news-clips/dopcLf7e5sE ********************************************************************************************************************************************************* นับถือใจ "โตโน่" ทุ่มสุดตัว ว่ายน้ำข้าม 12 เกาะ สุราษฎร์-สมุย เพื่อทะเลไทย "โครงการ ONE MAN & THE SEA หนึ่งคนว่าย หลายคนช่วย" ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่ต้องการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล ลงมือช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ที่นำทีมโดย "โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์" กับภารกิจว่ายน้ำข้าม 12 เกาะ สุราษฎร์ธานี-สมุย รวมระยะทาง 82 กม. ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. - 5 เม.ย. 63 โดยระหว่างว่ายน้ำได้เปิดให้ผู้สนใจร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์และเครื่องมือแพทย์ให้แก่สัตว์ทะเลและโรงพยาบาลริมชายฝั่ง หลังหนุ่ม "โตโน่-ภาคิน" ทำดีที่สุดแล้ว พิชิตได้ถึงเกาะที่ 9 ก่อนจำเป็นต้องยกเลิกภารกิจชั่วคราว หลังมีประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขอบคุณน้ำใจคนไทยที่ร่วมบริจาคมากกว่า 2.4 ล้าน เชื่อคงได้พบกันใหม่ https://mgronline.com/travel/detail/9630000032901 ********************************************************************************************************************************************************* ราว "ธานอส" ดีดนิ้ว...ผลพวงมนุษย์เก็บตัวหนีโควิดฯ ทะเลอินเดียสะอาดขึ้น เต่าหญ้าเกือบครึ่งแสนขึ้นวางไข่รอบ 2 ไม่เพียงแค่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เท่านั้น หากแต่การเก็บกักตัวอยู่กับบ้านของผู้คนหลาย ๆ ประเทศในช่วงนี้ยังถือเป็นการเยียวยาธรรมชาติไปในตัวอีกด้วย ก่อนหน้านี้สื่อต่างประเทศหลายๆ เจ้า อาทิ รอยเตอร์, ซีเอ็นบีซี ฯลฯ ได้รายงานถึงสภาพน้ำในคลองเมืองเวณิส ที่กลับมาใสสะอาดขึ้น ภายหลังจากที่อิตาลีได้ออกมาตรการปิดเมืองและขอให้ผู้คนอยู่กับบ้าน ล่าสุดสื่ออินเดียได้รายงานว่า ตอนนี้ชายหาด ของรัฐ Odisha ไม่ว่าจะเป็น Gahirmatha และ Rushikulya ได้มีเต่าหญ้าทะเล Olive Ridley พากันขึ้นมาวางไข่ครั้งที่สองกันหลายหมื่นตัว ตามรายงานระบุว่าปีที่ผ่านมา เต่าหญ้าทะเล Olive Ridley แทบจะไม่กลับขึ้นมาวางไข่ครั้งที่สองเลย เนื่องมาจากชายหาดที่ากปรกและการรบกวนจากนักท่องเที่ยว กระทั่งในปีนี้การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้คนอินเดียเก็บตัวอยู่กับบ้าน ชายหาดหลายแห่งมีเวลาฟื้นตัวจนสะอาดกระทั่งบรรดาเต่าพากันขึ้นมาวางไข่รอบสอง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อุทยานระบุว่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา มีเต่าประมาณ 72,142 ตัวที่ขึ้นมาวางไข่บนชายฝั่งของอิเดีย ซึ่งเฉพาะที่ Rushikulya ที่เดียวน่าจะมีเต่าอย่างน้อย 475,000 ตัวมาวางไข่เป็นจำนวนกว่า 60 ล้านฟองเลยทีเดียว โดยระยะฟักตัวของเต่าหญ้านั้นจะอยู่ที่ 45 วันซึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ทางเจ้าหน้าที่จะจัดเวรยาม อาสาสมัครเพื่อเฝ้าระวังไข่เต่าจากทั้งสุนัขและเรือเพื่อให้การฟักตัวผ่านไปด้วยดี สำหรับเต่า Olive Ridley ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ พบได้ในเขตน้ำอุ่นบริเวณมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และเซาท์แอตแลนติก มีขนาดตัวอยู่ที่ 0.6-0.8 เมตร และมีน้ำหนักสูงถึง 45 -50 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยจะมีอายุประมาณ 50 ปี https://mgronline.com/entertainment/.../9630000033114
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 01-04-2020 เมื่อ 03:52 |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ช่องโหว่ชั้นโอโซนฟื้นตัว ปิดแคบลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเปลี่ยนทิศทางลมกระแสหลักของโลกกลับเป็นปกติ Image copyrightGETTY IMAGES ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องโรคระบาดที่กำลังถาโถมเข้ามา ยังมีข่าวดีด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง โดยมีรายงานว่าช่องโหว่ในชั้นโอโซนของบรรยากาศโลกยังคงมีแนวโน้มจะปิดแคบลงเรื่อย ๆ และมีการฟื้นคืนสภาพมากพอ จนเริ่มส่งผลดีต่อระบบภูมิอากาศของโลกโดยรวม ผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากแคนาดา สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่าการหนาตัวขึ้นของชั้นโอโซนที่เคยได้รับความเสียหาย ทำให้กระแสลมกรดซีกโลกใต้ (Southern Jet Stream) พัดกลับคืนสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น จนหลายภูมิภาคในซีกโลกใต้ไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้งเหมือนเดิม ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่พบว่า ช่องโหว่ในชั้นโอโซนส่งผลรบกวนต่อสภาพอากาศโดยรวมของโลกได้ โดยการใช้สารเคมีจำพวกคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) ซึ่งมักใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตสเปรย์ต่าง ๆ เป็นตัวการทำลายชั้นโอโซนให้บางลง อย่างไรก็ตาม พิธีสารมอนทรีออลที่นานาประเทศลงนามเมื่อปี 1987 ได้จำกัดการใช้สารซีเอฟซีอย่างได้ผล ทำให้ช่องโหว่ของชั้นโอโซนขนาดมหึมาเหนือขั้วโลกใต้เริ่มหดแคบลง โดยภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเดือนก.ย.ของปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าช่องโหว่ดังกล่าวมีขนาดลดลงมาอยู่ที่ 16.4 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นขนาดเล็กที่สุดนับแต่ปี 1982 ดร. อันทารา บาเนอร์จี ผู้นำทีมวิจัยจากองค์การบริหารงานด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) บอกว่าก่อนช่วงปี ค.ศ. 2000 กระแสลมกรดซีกโลกใต้ ซึ่งเป็นลมพัดเร็วกระแสหลักสายหนึ่งของระบบไหลเวียนในบรรยากาศโลก ได้เริ่มเบี่ยงทิศทางลงมายังด้านทิศใต้มากขึ้น โดยมีความเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยที่ราว 1 องศาละติจูดในทุก 10 ปี ทำให้หลายพื้นที่ในซีกโลกใต้ต้องพบกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน Image copyrightAFP แต่หลังจากเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา ทีมผู้วิจัยพบว่ากระแสลมกรดซีกโลกใต้หยุดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว และเริ่มพัดกลับไปในทิศทางเดิม ทำให้คาดการณ์ได้ว่าออสเตรเลียจะไม่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงมากเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสลมกรดซีกโลกใต้จะไม่ผลักเอาพายุฝนออกไปห่างชายฝั่งอีกต่อไป ส่วนประเทศแถบอเมริกาใต้ตอนกลาง เช่นปารากวัย อุรุกวัย บราซิลตอนใต้ และอาร์เจนตินาตอนเหนือ อาจมีปริมาณฝนลดลง แต่ภูมิภาคแถบพาตาโกเนียอย่างชิลีและอาร์เจนตินาตอนใต้จะมีฝนตกมากขึ้น และจะมีระดับความเข้มของรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายลดลงด้วย "แต่ข่าวดีนี้อาจยังไม่ดีพอ หากเรายังไม่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะไปบั่นทอนผลดีที่เกิดจากการฟื้นฟูชั้นโอโซนให้ลดลง นอกจากนี้ เรายังคงไม่ทราบว่าชั้นโอโซนที่หนาตัวขึ้น จะช่วยชะลอการละลายของธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาได้ด้วยหรือไม่" ดร. บาเนอร์จีกล่าว https://www.bbc.com/thai/international-52068333
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|