#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 23 ? 26 เม.ย. 63 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงฟ้าผ่า และลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนคลายความร้อนลง ส่วนช่วงในวันที่ 27 - 28 เม.ย. 63 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น ในช่วงวันที่ 25-28 เม.ย. 63 กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 23 ? 26 เม.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ในช่วงวันที่ 25-28 เม.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง และชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบถึงวันที่ 26 เมษายน 2563)" ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 23 เมษายน 2563 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่เข้าปกคลุมภาคกลาง และภาคตะวันออกในวันนี้ (วันที่ 23 เมษายน 2563) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ส่งผลทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ซึ่งจะมีผลกระทบถึงวันที่ 26 เมษายน 2563 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันที่ 25-26 เมษายน 2563 กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ และคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้ วันที่ 23 เมษายน 2563 ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด วันที่ 24 เมษายน 2563 ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ในช่วงวันที่ 25-26 เมษายน 2563 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ภาคกลาง: จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ดร.ธรณ์สุดดีใจ! อวดภาพฝูงฉลามหูดำ-วาฬเพชฌฆาตเพิ่ม ย้ำมนุษย์หายไป ทะเลยิ่งใหญ่จริงๆ ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลได้เผยภาพฝูงฉลามหูดำที่มาหยาและ ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่ลันตา ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งอวดภาพฝูงพะยูนที่จังหวัดตรังไป ระบุเป็นการปิดท้ายสำหรับ The Great Earth Day อย่างยิ่งใหญ่ในปีนี้ ซึ่งทั้ง 3 ภาพถ่ายภายในวันนี้วันเดียว วอนคนไทยดูแลทะเลแบบนี้อยู่กับเราต่อไปนานๆ วันนี้ (22 เม.ย.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพน่าปิติอีก 2 ชุดคือภาพ ฝูงฉลามหูดำที่มาหยากว่า 30 ตัว ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่ลันตา 10-15 ตัว โดยก่อนหน้านี้ได้โพสต์ภาพฝูงพะยูนที่จังหวัดตรัง ร่วม 30 ตัวโดยย้ำว่านี่แค่วันเดียววันนี้ แเฉพาะที3 อุทยานใน 2 จังหวัดกระบี่และจังหวัดตรัง โดยระบุเนื้อหาโพสต์ว่า "ปิดท้ายอย่างยิ่งใหญ่สำหรับ The Great Earth Day ในปีนี้ ด้วยฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่อุทยานหมู่เกาะลันตา ขึ้นมาอาบแสงอาทิตย์อัสดง บอกแบบฟันธงเลยว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีเอิร์ธเดย์ปีไหนสะใจเท่าปีนี้ ทั้งพะยูน ทั้งฉลาม ทั้งวาฬ มากันท่วมทะเล ผมลงโพสต์แรกก่อนเที่ยง ยิงยาวถึงตอนนี้ 4 โพสต์รวดไม่มีหยุด ทบทวนกันอีกที หนึ่งวันเจออะไรบ้าง ฝูงพะยูนที่ตรัง ร่วม 30 ตัว ฝูงฉลามหูดำที่มาหยา 30+ ตัว ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่ลันตา 10-15 ตัว เน้นย้ำว่านี่แค่วันเดียว และเฉพาะที่ 3 อุทยานใน 2 จังหวัด กระบี่และตรังเมื่อมนุษย์หายไป ทะเลยิ่งใหญ่จริงๆ อยากเห็นทะเลแบบนี้อยู่กับเราต่อไปนานๆ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการอยู่ร่วมกับเธอ เราต้องรักเธอให้มากกว่าเดิม ขอบคุณภาพจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาครับ" ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ ได้ให้รายละเอียดวาฬเพชฌฆาตดำ วาฬเพชฌฆาตดำ (false killer whale) ไม่ใช่วาฬ แต่เป็นโลมาขนาดใหญ่ อาจมีความยาวได้ถึง 6 เมตร แต่ปรกติเล็กกว่านั้น ในไทยที่เคยพบ ส่วนใหญ่ยาว 3-4 เมตร อย่างไรก็ตาม เรายังคงเรียกว่าวาฬ เหมือนวาฬออร์ก้าหรือ วาฬเพชฌฆาต ที่เป็นโลมาขนาดใหญ่เช่นกัน คำว่า false killer whale มาจากขนาดที่ใหญ่เกือบเท่าวาฬเพชฌฆาต อีกทั้งมีโครงกระดูกคล้ายคลึงกัน แม้รูปร่างและสีจะแตกต่างเห็นชัด มีพฤติกรรมรวมฝูงแนบแน่น บางฝูงอาจมีจำนวนนับร้อย แต่ที่พบในไทยส่วนใหญ่อยู่ระดับ 10-20 ตัว พบได้ทั่วโลก ในไทยพบตามทะเลเปิดหรือน้ำลึกหรือเกาะห่างไกล เช่น เกาะสิมิลัน เกาะเต่า เกาะราชา ฯลฯ ในอดีตเคยมีวาฬชนิดนี้เกยตื้นที่เกาะราชา (พ.ศ.2551) จำนวน 30 ตัว มีอาสาสมัครไปช่วยกันพาวาฬออกจากฝั่ง แต่มีบ้างที่จากไป และเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 62 เพิ่งพบหลงเข้ามาที่เกาะกูด จากนั้นก็เกยตื้นที่พัทยา แต่น้องอำลาจากไปในที่สุด วาฬพวกนี้ชอบอยู่เป็นฝูง เป็นสัตว์สังคม หลงฝูงไปรอดยากมากครับมีรายงานล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่สิมิลัน และพบอีกครั้งในวันนี้ที่ลันตา ไม่ค่อยมีรายงานในอุทยานหมู่เกาะลันตาวาฬเพชฌฆาตดำถือเป็นสัตว์คุ้มครองของไทย และภาพ ฝูงฉลาดหูดำนั้น ดร.ธรณ์ได้แชร์มาจาก เพจ"อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี" ทางเพจระบุเนื้อหาโพสต์ว่า "เช้าวันนี้เวลาประมาณ 7.00 น. พบฉลามหูดำฝูงใหญ่มากกว่า 70 ตัว เข้ามาแหวกว่ายหากินอยู่ในบริเวณอ่าวมาหยา" https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000042316
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
สงครามที่ยืดเยื้อกับขยะพลาสติก โลกจะเอาชนะได้จริงหรือ! จากนี้ไปการติดตามความคืบหน้าในการลดปริมาณขยะพลาสติก จะไม่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เมื่อนานาประเทศทั่วโลกตื่นตัวในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ตามรายงานของ www.worldpoliticsreview.com ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การทำสงครามกับขยะพลาสติก ความใส่ใจต่อมาตรการลดปริมาณขยะพลาสติก เริ่มตั้งแต่กันยายน 2018 ที่คลอดโปรแกรม The Ocean Cleanup project launched System 001 เป็นทุ่นกั้นลอยน้ำเพื่อกันขยะพลาสติกออกไปกระทบมหาสมุทรแปซิฟิก และมาตรการที่ฝรั่งเศสริเริ่ม The Great Pacific Garbage Patch แม้ว่าผลการติดตามพบว่าไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ พอมาปี 2019 ยังมีโปรแกรมขยายผลเป็น System 001/B เมื่อเดือนมิถุนายน และยังมีอีกหลายโปรแกรมริเริ่มเพิ่มเติมขึ้นเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าผลการติดตามโดยรวมจะพบว่ามีสัญญาณเพียงส่วนน้อยและไม่ชัดเจนที่สะท้อนความสำเร็จของสงครามสู้รบกับขยะพลาสติกจากโปรแกรมทั้งหลายที่จัดทำไปแล้ว ทำให้ขยะพลาสติกยังคงทะลักลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ ขณะเดียวกัน การออกนโยบายรัฐใดๆ ที่จะเป็นการจำกัดการใช้พลาสติกแต่แรกเพื่อกันการสร้างขยะพลาสติกในระยะต่อไป ยังคงเป็นเรื่องการเมืองที่ก่อให้เกิดประเด็นร้อนแรง และยังไม่มีแนวทางอื่นทดแทน ส่วนการที่จีนประกาศปิดประเทศจากการเป็นเป้าหมายปลายทางของขยะพลาสติกทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศเจริญแล้ว ทำให้ขยะพลาสติกยังทับถมบนผืนดินอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญที่ผู้ศึกษาได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจ คือ ประการแรก การเติบโตของตลาดรีไซเคิลพลาสติก ยังคงขึ้นอยู่กับระดับราคาตลาดของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในสภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมากและต่อเนื่องเช่นนี้ ผู้ประกอบการที่ทำการผลิตพลาสติก มีแนวโน้มที่จะหวนกลับไปใช้โพลีเมอร์ใหม่ ที่มีราคาถูกกว่าเหมือนเดิม ความกระตือรือร้นของประชาคมและสังคม ตลอดจนนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ได้ริเริ่มแนวความคิดต่าง ๆ ไว้แต่แรก รวมทั้งการผลักดันให้แบนการใช้พลาสติก ดูเหมือนว่าแผ่วลง เมื่อพบว่ามีประเด็นสุ่มเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ความใส่ใจกับการตอบสนองทางการเมืองลดลงไป นั่นทำให้สงครามเพื่อกำจัดขยะพลาสติกพลอยแผ่วตามไปด้วย ประการที่สอง กระนั้นก็ตาม ความพยายามในการหยุดยั้งขยะและมลภาวะจากพลาสติกก็ยังคงมีอยู่ โดยมาในรูปแบบของการทุ่มเงินในงานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้โซลูชั่นที่ดีกว่าเดิม ซึ่งน่าเสียดายว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีเทคนิคใดที่จะทำให้ได้วัสดุอื่นๆ มาทดแทนพลาสติกได้อย่างคุ้มค่าในเชิงของ Cost-benefit analysis นั่นจึงทำให้วัสดุทดแทนพลาสติกยังมีอัตราการเติบโตไม่มากนัก ขณะที่ความพยายามยังคงดำเนินต่อไป ประการที่สาม การใช้พลาสติกในรูปแบบ "Compostable plastics" ให้ผลออกมาไม่น่าพอใจ ทำให้ความพยายามยังคงเน้นไปที่การแสวงหาเทคโนโลยีก้าวหน้าใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาอัตราการรีไซเคิลและคุณภาพการรีไซเคิล ตลอดจนเน้นไปที่ความพยายามจะหาตลาดแหล่งใหม่ของขยะพลาสติกทดแทนจีน หรือปรับปรุงยกระดับวิธีการรีไซเคิลปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอื่น ที่ลดผลผลิตคุณภาพต่ำในกระบวนการรีไซเคิลให้คงเหลือแต่คุณภาพระดับสูงเท่านั้น อย่างเช่น การรีไซเคิลทางเคมี ในประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นทางสองแพร่ง ระหว่างทางเลือกให้หาทางทำกระบวนการรีไซเคิลให้ดีขึ้น หรืออีกทางเลือก การกำจัดการใช้พลาสติกโดยการตัดขาด ไม่ให้มีที่ยืนอยู่ในตลาด ผ่านกรอบ Zero Waste Plastic ประการที่สี่ สงครามในส่วนของการกำจัดขยะพลาสติกในทะเล การกลั่นปิโตรเคมี และการกำจัดพลาสติกออกไปจากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีแนวโน้มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยการริเริ่มโครงการ มาตรการในระดับโลกยังคงมุ่งไปที่มลภาวะจากขยะพลาสติกในทะเล ทำให้ผลงานในส่วนนี้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังค่อนข้างเชื่องช้า แบบค่อยเป็นค่อยไป สวนทางกับผลผลิตพลาสติกที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่าจะเป้นที่ตระหนักรู้ในผลกระทบด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม ความสำเร็จต่อการทำสงครามกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastics) มีความชัดเจนในชัยชนะในแถบยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณพลาสติกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในหลายเมืองหลักในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ตามปริมาณการบริโภค ประการที่ห้า พลาสติกยังคงชนะทุกประเทศในโลก ณ วันนี้ คือ ภาชนะและหีบห่อที่เป็นพลาสติก รวม 38% ของพลาสติกทั้งหมด ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค และงานก่อสร้างมีลำดับความสำคัญรองลงมา ซึ่งทำให้คาดว่าในราวปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะพลาสติกจากวัสดุใช้งานเหล่านี้จะเกินกว่า 34,000 ล้านตัน ประการที่หก ประเด็นเชิงนโยบายของภาครัฐทั่วโลก ยังไม่เคยทิ้งนโยบายในการพยายามลดจำนวนของขยะและมลภาวะจากพลาสติก ทำให้บทบาทภาครัฐยังเป็นความหวังสำคัญของมวลมนุษย หากในอนาคตความสามารถทางเทคโนโลยีให้คำตอบที่น่าพอใจ โอกาสที่จะมีชัยชนะในสงครามการจัดการพลาสติกยังมีอยู่ แต่อาจจะยังอีกนานและห่างไกล จนไม่อาจจะประเมินช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000041976
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE
หรือโรคระบาดเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ? .... โดย Lia Patsavoudi ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัย เวสท์ แอทติกา และอาสาสมัครของกรีนพีซ กรีซ ตอนนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และยังมีแนวโน้มว่าโรคระบาดครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียมากมายให้กับทุก ๆ ภาคส่วน เนื้อหาโดยสรุป - สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) สามารถเพิ่มการแพร่กระจายของพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งทำให้อากาศชื้น และส่งผลให้เชื้อโรคและพาหะ (มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ)พัฒนาตัวเอง อยู่รอด และแพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม - การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรอุตสาหกรรม การทำเหมือง ไม่ได้เป็นแค่สาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แต่ยังทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นมนุษย์เองที่บังคับให้พวกมันอพยพมาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และใกล้ชิดกับคน เมื่อคนกับสัตว์พาหะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มการระบาดของโรคอย่างมีนัยยะสำคัญ - หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้ พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติจะเป็นเหมือนกำแพงที่แยกที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ป่าออกจากกัน มนุษย์จะปลอดภัยจากโรคระบาดและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์ Lia Patsavoudi ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเวสท์ แอทติกา ในประเทศกรีซ และยังเป็นอาสาสมัครกับกรีนพีซ ได้เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึงผลกระทบของโรคระบาดต่อชีวิตของเราทุกคน ด้วยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอีกหลาย ๆ ท่านที่ต่างเชื่อว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นและกิจกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมแปรปรวนมีส่วนทำให้ไวรัสปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้รุนแรงขึ้นเช่น COVID ? 19 อธิบายง่าย ๆ คือวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นมีความเชื่อมโยงกับการแพร่กระจายของเชื้อโรค โลกที่ร้อนขึ้นอาจทำให้โรคระบาดแพร่กระจายบ่อยขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นบวกกับความถี่จากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events) คาดว่าเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ฤดูกาล และความรุนแรงของโรคติดเชื้อ ในปี พ.ศ.2562 เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนในฤดูร้อน ? Soojung Do / Greenpeace อุทกภัย (ที่เป็นหนึ่งในสภาพอากาศสุดขั้ว) สามารถเพิ่มการแพร่กระจายของพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะยิ่งทำให้อากาศชื้น และส่งผลให้เชื้อโรคและพาหะ (มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ)พัฒนาตัวเอง อยู่รอด และแพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม สัตว์พาหะที่ว่าก็อย่างเช่นยุงและแมลงต่าง ๆ เป็นตัวนำพาโรคระบาด อาทิ โรคมาลาเรีย เป็นต้น นอกจากนี้โรคระบาดเช่นโรคไข้เลือดออก และโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus) ยังมีโอกาสไปแพร่กระจายในไปยังพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่า เพราะปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว สำหรับโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์นั้น เกิดระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ทางตอนเหนือของมหานครนิวยอร์กหลังสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานานและเกิดฝนตกหนัก ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด อิริน มอร์เดอไค ระบุเอาไว้ว่า ?ประชากรในประเทศที่มั่งคั่งอย่างสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว? การที่มนุษย์แทรกแซงสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก ภาพลิงกำลังถือขวดพลาสติกที่คุ้ยได้จากกองขยะในแหล่งท่องเที่ยว Batu Cave มาเลเซีย ? Han Choo / Greenpeace จากข้อมูลขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development) ชี้ว่าราวร้อยละ 75 ของโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งนั้นมาจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน โดยโรคที่มีลักษณะการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนที่เรารู้จักกันเช่น ซาร์ส (SARS), ไข้หวัดนก (H5N1 avian flu) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1 influenza virus) ในขณะเดียวกัน จำนวนของสัตว์พาหะนำโรคที่เพิ่มขึ้นนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอพยพไปยังพื้นที่ใหม่เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย จากปรากฎการณ์ข้างต้น บวกกับการหาแหล่งอาหารเพื่อความต้องการของมนุษย์เรา กลับเพิ่มโอกาสที่ให้มนุษย์ใกล้ชิดกับสัตว์พาหะและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ มนุษย์เราสร้างความปั่นป่วนให้กับสิ่งแวดล้อม ดังเช่นการทำลายผืนป่าแอมะซอนซึ่งไม่ได้เป็นแค่สาเหตุที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง แต่ยังทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นมนุษย์เองที่บังคับให้พวกมันอพยพมาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และใกล้ชิดกับคน เมื่อคนกับสัตว์พาหะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นจึงทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มการระบาดของโรคอย่างมีนัยยะสำคัญ การฟื้นฟูระบบนิเวศจะช่วยหยุดการแพร่กระจายของโรคระบาด พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติจะเป็นเหมือนกำแพงที่แยกที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ป่าออกจากกัน มนุษย์จะปลอดภัยจากโรคระบาดและสัตว์ก็จะปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์ ภาพค้างคาวสายพันธุ์ท้องถิ่นบินเหนือเกาะ Um ในโซโรง ปาปัวตะวันตก (West Papua) ? Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้ เมื่อใดที่ระบบนิเวศแปรปรวน เมื่อนั้นมนุษย์จะมีความเสี่ยงต่อโรคภัยมากขึ้น ภาพถ่าย The Gran Chaco ผืนป่าที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากป่าแอมะซอนในแอฟริกาใต้ ซึ่งอาร์เจตินาสูญเสียผืนป่าไปถึง 8 ล้านเฮกตาร์ในระยะเวลาเพียง 30 ปี ผืนป่าเหล่านั้นถูกนำไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และเกษตรอุตสาหกรรม ? Martin Katz / Greenpeace "การรุกล้ำผืนป่าโบราณด้วยการตัดไม้ ทำเหมือง และการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นการพามนุษย์เข้าไปใกล้ชิดกับสายพันธุ์สัตว์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน" ? เคท โจนส์ ประธานสถาบันนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยลอนดอนคอลเลจ "มนุษย์บุกรุกทั้งป่าฝนเขตร้อนและพื้นที่ธรรมชาติเป็นวงกว้าง ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นเป็นบ้านของสัตว์หลากสายพันธุ์รวมทั้งพืชหลายชนิด และสัตว์ป่าที่หลากหลายนั้นมีไวรัสที่เราไม่รู้จักแฝงอยู่อีกมาก เราตัดต้นไม้ เราฆ่าสัตว์ เราขังและขายพวกมันไปยังตลาด เราทำให้ระบบนิเวศปั่นป่วนและเราปล่อยไวรัสให้เล็ดรอดออกมาจากสัตว์พาหะ เมื่อไวรัสต้องการพาหะใหม่ แน่นอนว่าก็คือพวกเรา" องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization) รายงานรูปแบบการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องศึกษาถึงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบที่สลับซับซ้อน และใช้ข้อมูลที่ได้มาปรับใช้เพื่อประเมินผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ต่อการแพร่ระบาดกับการคาดการณ์รูปแบบการแพร่กระจาย และความเป็นได้ที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรายังมีโอกาสสร้างโลกที่เราอยากให้เป็นหลังวิกฤตครั้งนี้ แม้ว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสนี้เราจะต้องรักษาระยะห่างจากกัน แต่มาตรการ "การรักษาระยะห่างทางกายภาพ" นี้กำลังทำให้เราเสียสละบางอย่าง เพื่อสิ่งที่ดีกว่า เราได้เห็นความร่วมมือของชุมชนอย่างจริงจังขึ้น และได้เห็นการแบ่งปันของผู้คนในยามจำเป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้เคยประกาศไปยังมีความเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกเนื่องจากวิกฤตสถานการณ์การเงินของโลกหลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจังเพื่อโลกที่เราอยากเห็นหลังผ่านวิกฤตครั้งนี้ ในช่วงเวลาที่มืดมนและยากลำบากนี้ สมควรที่จะยกประโยคของคุณ บิล แม็คคิบเบน ที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว CNBC ที่ว่า "ถ้าบทเรียนในครั้งนี้ทำให้เรากลับไปสู่สถานะเดิมที่เป็นอยู่แล้วล่ะก็ บางทีไวรัสอาจจะชะลอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน แต่ถ้าบทเรียนนี้ทำให้เราลงมือปฏิบัติการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้รัฐบาลทำงานได้เร็วขึ้นเพื่อรับมือกับความเสี่ยงโดยเฉพาะในเวลาที่ทั่วโลกไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้เลย" https://www.greenpeace.org/thailand/...limate-change/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็กละเอียด PM2.5 แล้ว บรรยากาศโลกมีฝุ่นหยาบในปริมาณมากกว่าที่คาดไว้ถึง 4 เท่า พายุฝุ่นในชั้นบรรยากาศโลกเหนือทะเลทรายซาฮารา ภาพถ่ายจากมุมมองของสถานีอวกาศนานาชาติ Image copyrightNASA / ALEXANDER GERST นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็กละเอียด PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนเราแล้ว ล่าสุดยังมีผลการศึกษาที่ชี้ว่า อนุภาคของฝุ่นหยาบชนิดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ไมครอนขึ้นไปนั้น มีอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณสูงเหนือความคาดหมายถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มจะทำให้ภาวะโลกร้อนรวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รุนแรงขึ้นไปอีก ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (UCLA) ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์รายงานวิจัยข้างต้นลงในวารสาร Science Advances ระบุว่าผลวิเคราะห์ข้อมูลสังเกตการณ์ปริมาณอนุภาคฝุ่นในอากาศจากหลายสิบประเทศทั่วโลก พบว่าในชั้นบรรยากาศโดยรวมมีฝุ่นหยาบอยู่ราว 17 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 4 ล้านตันมาก ฝุ่นหยาบหรือฝุ่น PM10 มีทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ เช่นกระแสลมพัดฝุ่นดินหรือเถ้าภูเขาไฟ รวมทั้งที่มาจากอุตสาหกรรมบดย่อยหิน การทำเหมืองแร่ การขนส่งวัสดุฝุ่น และการจราจรบนถนนที่ไม่ได้ลาดยาง ฝุ่นหยาบที่รวมตัวกันเป็นเมฆฝุ่นนั้น มีลักษณะคล้ายก๊าซเรือนกระจกที่สามารถกักเก็บความร้อนทั้งจากดวงอาทิตย์และจากพื้นโลกเอาไว้ในชั้นบรรยากาศได้ ดังนั้นการที่มีฝุ่นหยาบอยู่ในปริมาณมากกว่าที่คาดไว้ อาจส่งผลต่อเรื่องของสภาพภูมิอากาศ การก่อตัวของเมฆฝน ปริมาณน้ำฝน และปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของมหาสมุทร ความสามารถกักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ ทำให้ฝุ่นหยาบมีแนวโน้มเป็นสาเหตุหนึ่งที่เร่งการก่อตัวของพายุกำลังแรงเช่นพายุเฮอริเคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเขตร้อนที่พบพายุพลังทำลายล้างสูงมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นทุกขณะ รศ. ดร. แจสเปอร์ คุก และดร. อาเดเยมี อาเบบียี ผู้ร่วมทีมวิจัยของ UCLA บอกว่า การที่ตัวเลขประมาณการปริมาณฝุ่นหยาบในชั้นบรรยากาศคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จะทำให้การคำนวณตามแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ (climate model) เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนไม่ถูกต้อง และจะทำให้ประเมินสภาพการณ์ในอนาคตในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดร. อาเบบียีกล่าวว่า "ที่ไหนที่มีเมฆฝุ่นอยู่ อากาศโดยรอบมีแนวโน้มจะเกิดความปั่นป่วนมากขึ้น ซึ่งก็ยิ่งจะพัดพาฝุ่นหยาบให้ลอยอยู่ในอากาศได้นานเกินคาด และทำให้มันเดินทางไปได้ไกลจากจุดเดิมอีกหลายพันกิโลเมตร" "สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่ตรงกับที่นักวิทยาศาสตร์ระบุไว้ในข้อมูลพื้นฐานของแบบจำลองสภาพภูมิอากาศต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องปรับปรุงข้อมูลในส่วนของฝุ่นหยาบเสียใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อให้แบบจำลองทำงานได้อย่างแม่นยำขึ้น" https://www.bbc.com/thai/international-52382750
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|