#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว ลักษณะเช่นนี้จึงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ สำหรับภาคใต้ มีฝนตกต่อเนื่องจากลมตะวันออกที่พัดปกคลุม ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสมในระยะนี้ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณหัวเกาะสุมาตรา มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ซึ่งจะส่งผลทำให้คลื่นลมในทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 2 - 7 พ.ค. 63 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง จึงมีฝนลดลง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ในช่วงวันที่ 3 ? 5 พ.ค. 63 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณหัวเกาะสุมาตราจะมีกำลังแรงขึ้น และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ส่งผลทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
หุ่นยนต์ใต้น้ำช่วยการค้นพบในมหาสมุทร Credit : AIMS หุ่นยนต์ใต้น้ำส่วนใหญ่มักถูกใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ เพื่อตรวจสอบและบำรุงรักษาโครงสร้างที่นอกชายฝั่ง แต่การศึกษาใหม่จากนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ นำโดยสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (Australian Institute of Marine Science-AIMS) เตรียมปรับใช้หุ่นยนต์ใต้น้ำให้รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น การวิจัยนี้กำลังกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างภาคอุตสาหกรรมและนักวิทยาศาสตร์ ที่จะใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ใต้น้ำให้ได้มากที่สุด คาดหวังว่าข้อมูลที่รวบรวมได้นั้นจะเพิ่มความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล การสร้างประโยชน์สำหรับการจัดการระบบนิเวศ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ก่อนหน้านี้มีการใช้ยานพาหนะใต้น้ำที่ดัดแปลงให้ตรวจสอบประชากรปลารอบ ๆ ภูมิภาคแหล่งน้ำมันและก๊าซทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย และในเดือน พ.ค.นี้ ทีมวิจัยจาก AIMS มีแผนขยายการศึกษาโดยใช้หุ่นยนต์ ROVs (remotely operated vehicles) ไปสำรวจสิ่งมีชีวิตในทะเลน้ำตื้น ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในระยะยาว. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1834301 ********************************************************************************************************************************************************* สร้างเมฆสดใสเพื่อปกป้องแนวปะการัง ภาพจาก AFP แนวปะการังถือเป็นแหล่งอาหารของโลก และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทางทะเลหลายชนิด เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นเนื่องจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ได้ทำลายสุขภาพของแนวปะการังและส่งผลต่อบรรดาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เปรียบเหมือนป่าใต้ทะเล แต่ปะการังก็มีกลไกการรับมือกับสภาวะโลกร้อน มีการวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าแนวปะการังสามารถสร้างเมฆเพื่อลดความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ลงได้ แนวปะการังเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นระบบนิเวศแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่ามีการปล่อยก๊าซกลุ่มไดเมทิลซัลไฟล์ (Dimethyl sulphide-DMS) ช่วยในการก่อตัวของเมฆเมื่อก๊าซนี้ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ เมฆที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่ออุณหภูมิของน้ำบริเวณแนวปะการัง แต่แนวปะการังดังกล่าวเกิดการฟอกสีเพราะความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมหาสมุทร ทำให้พวกมันขับไล่สาหร่ายที่ให้สีสดใสแก่ตนเองไป นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น ครอสส์ ในออสเตรเลีย พยายามทดลองสร้างเมฆสดใสสำหรับกับแนวปะการังแห่งนี้ โดยทำให้น้ำเย็นขึ้นรอบๆแนวปะการัง และทำให้เมฆสะท้อนแสงอาทิตย์มากขึ้นจากการติดตั้งกังหันขนาดใหญ่หลายต้นที่จะช่วยพัดพาก๊าซที่ปะการังปล่อยออกมา ซึ่งหวังไว้ว่าอาจลดความเครียดการฟอกสีลงได้ประมาณ 70%. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1834294
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
เร่งผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับพื้นที่อีอีซี มาบตาพุด-พัทยา ฤดูแล้งปี 2563 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้ความสนใจการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แผนบริหารจัดการน้ำเดิมของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีศักยภาพ เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำเดิม การสูบและผันน้ำให้ภาคเอกชน จัดหาแหล่งน้ำเข้าระบบและรวมทั้งผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) คร่าวๆ เพื่อให้เห็นภาพการจัดการน้ำในพี้นที่อีอีซีในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ในส่วนของอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง มีการปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกดลงในคลองวังโตนด จ.จันทบุรี สูบเข้าอ่างฯ ประแสร์ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสร้างระบบสูบกลับชั่วคราวจากคลองสะพานขึ้นสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ 0.15 ล้าน ลบ.ม./วัน อ่างฯ หนองปลาไหล จ.ระยอง ผันน้ำจากอ่างฯ ประแสร์ ลงอ่างฯ หนองปลาไหล 0.60 ล้าน ลบ.ม./วัน สูบผันน้ำจากอ่างฯ คลองใหญ่ ลงอ่างฯ หนองปลาไหลเพิ่มเติม 3 ล้าน ลบ.ม. นิคมอุตสาหกรรม. มาบตาพุดใช้น้ำจากคลองหู เพื่อลดการใช้น้ำอ่างฯ หนองปลาไหล 0.05 ล้าน ลบ.ม./วัน อ่างฯ บางพระ จ.ชลบุรี สูบผันน้ำจากอ่างฯ คลองหลวงรัชชโลทร จ.ชลบุรี 4.8 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำจากอ่างฯ นฤบินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ลงแม่น้ำบางปะกง แล้วสูบผันน้ำไปลงอ่างฯ บางพระ 0.18 ล้าน ลบ.ม./วัน นอกจากนั้น ยังหาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้าระบบ 7 ล้าน ลบ.ม. ลดการใช้น้ำในพื้นที่และนิคมอุตสาหกรรม 10% และลดการใช้น้ำจากโรงไฟฟ้า "ถึงกระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงความไม่แน่นอนของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ที่ยังมีความเสี่ยงบางโครงการ ทำให้ สทนช. ต้องเร่งปรับแผนการบริหารจัดการน้ำพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดให้เร็วขึ้น" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว โดยในส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 13 โครงการได้ขยับให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เช่น โครงการก่อสร้างอ่างฯ คลองวังโตนด จ.จันทบุรี อ่างฯ คลองโพล้ จ.ระยอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังทบทวนแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรีเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรมควบคู่กันไปด้วย ขณะเดียวกัน เร่งรัดโครงการผลิตน้ำจืด โดยสะกัดเกลือจากน้ำทะเล (Desalation) เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจืดเข้าระบบ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้ สทนช. และ สกพอ. ศึกษาวิจัยโครงการผลิตน้ำจืดดังกล่าว ทั้งนี้ กำหนดพื้นที่ดำเนินการ 2 แห่ง ประกอบด้วย มาบตาพุด และพัทยา กำลังผลิตน้ำจืด 70 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรตามลำดับ โดยคาดว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้เอกชนลงทุนในรูปสัมปทาน "เริ่มดำเนินการศึกษาทันทีในปี 2563-2564 คาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ภายในปี 2565" เลขาธิการ สทนช. กล่าว นอกจากนั้น การผันน้ำนอกพื้นที่เข้าสู่อีอีซี สทนช. ยังมีแนวคิดว่า น่าจะกำหนดมาตรการการสูบและผันน้ำเพิ่มเติม มากกว่าดำเนินการแค่ในช่วงฤดูฝนเพียงอย่างเดียว เพราะการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นปัญหาใหญ่ ที่ผ่านมา สทนช. เองปรับการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้อยู่เช่นกัน ทั้งในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ตลอดจนระบบการเพาะปลูกอยู่แล้ว เพื่อให้เห็นถึงมาตรการบริหารจัดการทั้ง 2 ด้าน คือเพิ่มปริมาณน้ำในระบบ ขณะเดียวกันลดการใช้ลง ภาพการเคลื่อนไหวของแผนการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแผนที่มีความยืดหยุ่นและติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งหาคำตอบให้ใกล้เคียงความจริงที่สุดของ สทนช. การบริหารจัดการน้ำอีอีซี น่าจะเป็นแม่แบบบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอื่นที่มีความซับซ้อนได้เช่นกัน https://mgronline.com/business/detail/9630000045760
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
'ทุ่งแสลงหลวง' คืนสู่ธรรมชาติที่สมบูรณ์พบฝูงสัตว์ออกหากินเพียบหลังปิด อช.ช่วงโควิด อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง นำภาพสัตว์ป่าออกหากินมาเผยแพร่ พบครอบครัว "หมูป่า" วิ่งไปทั่วหลังกรมอุทยานฯสั่งปิดกว่า 1 เดือนช่วงสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งยังพบกระทิง หมี กวาง หมาจิ้งจอก ฯลฯ ออกหากินที่ "ทุ่งนางพญา" เส้นทางไปหน่วยพิทักษ์ฯหนองแม่นา "หน.ทุ่งแสลงหลวง" เผยตลอด 1 เดือนได้ตั้งกล้องพบเห็นสัตว์หายาก เหตุธรรมชาติฟื้นตัวได้เร็ว วันที่ 1 พ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีหนังสือคำสั่งประกาศปิดห้ามคนเข้าในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ฯลฯ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 เป็นต้นไปนั้น นายวิทูร เดชประมวลพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) เปิดเผยว่า หลังมีคำสั่งปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทางมาเที่ยว ถือเป็นครั้งแรกที่ป่ารอบๆ ทุ่งแสลงหลวงไม่มีใครรบกวน ทำให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง "ผืนป่าและทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อาศัยและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ในอาณาเขตของผืนป่านามว่า "ทุ่งแสลงหลวง" ในช่วงที่ปิดแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ได้เกิดการฟื้นตัวของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เช่น กระทิง หมี กวาง สุนัขจิ้งจอก เก้งหม้อ เม่น และหมูป่า สรรพสัตว์เหล่านั้นได้ออกล่า หาอาหารตามวิถีทางการดำรงชีพและออกมายลโฉมให้พบเห็นช่วงการปิดแหล่งท่องเที่ยวในช่วงนี้" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง กล่าว พร้อมกล่าวต่อว่า หลังจากปิดอุทยานฯไป 1 เดือนเศษๆ พบว่าสัตว์ป่าได้ใช้ชีวิตออกหากินตามธรรมชาติ โดยเฉพาะครอบครัวหมูป่าที่มีลูกน้อย ออกมาวิ่งเล่น เป็นจำนวนมาก บริเวณทุ่งโล่งใกล้แหล่งน้ำ เนื่องจากไม่มีกลิ่นและเสียงของมนุษย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เปิดดูกล้องที่ตั้งไว้อัตโนมัติพบว่าสามารถบันทึกภาพสัตว์ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนจำนวนมาก จุดที่พบสัตว์เห็นครั้งนี้คือบริเวณ "ทุ่งนางพญา" ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อยู่ไม่ห่างจาก "ทุ่งหญ้าสะวันนา" มากนัก ซึ่งเป็นเส้นทางไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 (หนองแม่นา) อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ "นอกจากนี้ตามเส้นทางตรวจป่าจากที่ทำการทุ่งแสลงหลวง กม.80 เส้นทางไปหน่วยพิทักษ์ฯหนองแม่นาประมาณ 25 กิโลเมตร สองฝากเส้นทางตัดผ่านนั้นก็เป็นป่าเบญจพรรณจะพบสัตว์ป่าออกมาหากินตามข้างทาง และลึกเข้าไปจึงเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา ทุ่งหญ้าเมืองเลน ทุ่งโนนสนและทุ่งนางพญา นอกจากนี้ยังพบพันธุ์ไม้ดอกกำลังผลิจำนวนมาก และเป็นช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องเข้าฤดูฝน ป่าเริ่มเป็นสีเขียว ทำให้สัตว์ออกมาใช้ชีวิตกินอยู่บริเวณทุ่งหญ้าต่างๆ" นายวิทูร กล่าว อนึ่ง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ได้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ กระทั่งปี พ.ศ. 2503 ตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของประเทศ ถือเป็น "ทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งเมืองไทย" เนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ ครอบคลุม อ.วังทอง อ.นครไทย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ อ.เขาค้อ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ชื่อของอุทยานฯ สันนิษฐานว่า พันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง คือ ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้นขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงตั้งชื่อว่า "ทุ่งแสลงหลวง" มีป่าหลายชนิดและสัตว์ป่าชุกชุม ประกอบด้วย 1.ป่าดิบเขา 2. ป่าดิบชื้น 3. ป่าดิบแล้ง 4. ป่าสนเขา 5. ป่าเบญจพรรณ 6. ป่าเต็งรัง 7. ทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้าง จึงมักพบสัตว์ป่าที่ อาทิ ช้างป่า กระทิง ลิงกัง ค่างแว่นถิ่นเหนือ กวางป่า หมูป่า กระต่ายป่า กระแต กระรอก กระเล็น หนูท้องขาว นกและ งู หลากหลายชนิด https://www.naewna.com/likesara/490158
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
"หาดบางแสน" ปิดยาว ลดความเสี่ยงรวมตัวช่วง COVID-19 เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ระบุ ขณะนี้ยังคงปิดชายหาดบางแสนไม่มีกิจกรรมต่าง ๆ และการท่องเที่ยวต่อไปอีกระยะ เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 วันนี้ (1 พ.ค.2563) นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่บางแสน เปิดเผยว่า การนำรั้วเหล็กมาปิดล้อมถนนเส้นทางหลักเลียบชายหาดขณะนี้จะผ่อนปรนโดยขยับแนวรั้วเหล็กซึ่งมีความยาวจากช่วงวงเวียนบางแสนไปถึงแหลมแท่นประมาณ 7 กิโลเมตร ร่นเข้าไปอยู่บริเวณทางเท้าเลียบชายหาดเพื่อเปิดทางให้รถยนต์สัญจรได้โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้จะเป็นการทดลองดูว่า การเปิดถนนแล้วจะทำให้มีประชาชน หรือ นักท่องเที่ยวมารวมตัวกันมากเกินไปหรือไม่ หากพบว่ายังเป็นการรวมตัวกันจะเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอขยับปิดถนนตามแนวเดิมที่ทำอยู่ในปัจจุบัน พร้อมยืนยันว่ายังไม่อนุญาตให้ร้านค้า หรือ ร้านอาหาร ประเภทตั้งโต๊ะหรือ หรือ รถเข็น ทุกประเภทกลับมาขายเพื่อต้องการให้ลดความเสี่ยงการรวมตัวกินอาหารหรือสังสรรค์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ขณะที่นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ ขับรถมาแวะเวียนมาสังเกตการณ์ดูบรรยากาศบางแสนในช่วงนี้มากขึ้นหลายคนบอกว่า มาดูในวันที่ไม่เคยเห็นบางแสนเงียบสงบและเป็นธรรมชาติเช่นนี้โดยมองว่า สถานการณ์ช่วง COVID-19 ระบาดอย่างน้อยได้ช่วยปรับเปลี่ยนให้ชายหาดให้สวยงามเป็นธรรมชาติ หากเป็นไปได้ก็ต้องการให้ฝ่ายเกี่ยวข้องในวิกฤตCOVID-19 ช่วงนี้นำไปสู่การจัดระเบียบชายหาดต่าง ๆ ไปด้วย https://news.thaipbs.or.th/content/291975
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|