#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนบางแห่งในระยะนี้ อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณหัวเกาะสุมาตรา มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นและจะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ซึ่งจะส่งผลทำให้คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2563 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 6 - 9 พ.ค. 63 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลทำให้มีบริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 10-11 พ.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณหัวเกาะสุมาตราจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 6 ? 9 พ.ค. 63 และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ส่งผลทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 10-11 พ.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งฟ้าผ่าไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในช่วงวันที่ 6 ? 9 พ.ค. 63
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ทะเลได้พักผ่อน เผยภาพฉลามหูดำว่ายหากินที่เกาะยูง แนวปะการังฟื้นตัวสวยมาก อช.หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เผยคลิปใต้น้ำ ฉลามหูดำว่ายหากินที่เกาะยูง พบมากสุดถึง 5 ฝูง ขณะเดียวกันยังพบปะการังฟื้นตัวอย่างดี สวยงาม ไม่ได้รับความเสียหายจากการฟอกขาว เมื่อวันที่ 5 พ.ค.63 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เผยคลิปขณะกำลังดำน้ำสำรวจแนวปะการังที่เกาะยูง ใกล้กับเกาะไม้ไผ่ ในหมู่เกาะพีพี อ.เมืองกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำขึ้นชื่อ และมีแนวปะการังจำนวนมาก ซึ่งทางกรมอุทยานฯ สั่งปิดห้ามเข้ามานานกว่า 3 ปี เพื่อเป็นแหล่งศึกษาความสมบูรณ์ของปะการังในพื้นที่ โดยได้ทำการติดตั้งกล้องบันทึกภาพไว้ใต้น้ำเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ช่วงเวลา 15.00-16.00 น. พบว่ามีฉลามหูดำว่ายผ่านหน้ากล้องจำนวนหลายสิบตัว รวมทั้งปลาหลากหลายชนิด นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หน.อุทยานฯ เผยว่า จากการตรวจสอบปะการังในบริเวณเกาะยูง ซึ่งกินพื้นที่ยาวกว่า 500 เมตร พบว่ามีการฟื้นตัวดี สวยงาม ไม่ได้รับความเสียหายจากการฟอกขาว ส่วนการสำรวจและติดตามกลุ่มฉลามหูดำ ซึ่งเป็นสัตว์ห่วงโซ่อาหารบนสุดนั้น พบว่ามีมากกว่า 5 ฝูง แต่ละฝูงมีจำนวนตั้งแต่ 50?100 ตัว สาเหตุที่สัตว์น้ำหายากเข้ามาอาศัยและหากินในพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่อ่าวมาหยาและเกาะยูง รวมถึงการที่ฉลามรวมฝูงได้มากขึ้นนั้น เพราะช่วงนี้ไม่มีการท่องเที่ยว ทะเลได้พักผ่อนจากสถานการณ์โรคโควิด-19. https://www.thairath.co.th/news/local/south/1837381 ********************************************************************************************************************************************************* ตื่นตา! เปิดคลิปใต้ท้องทะเลไทย สัตว์หาชมยาก เริงร่าได้บ้านคืน
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
'ปะการัง' เกาะยูงเมืองกระบี่ ฟื้นตัว70% หลังห้ามทำธุรกิจท่องเที่ยว 5 พฤษภาคม 2563 นายวรพจน์ ล้อมลิ้มหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่าเมื่อช่วงวันที่ 2 - 3 พฤษภาคม 2563 เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาวิจัยอุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี ได้ลงสำรวจแนวปะการังเกาะยูง พื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลอ่าวนางอำเภอเมือง เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี ที่ระดับความลึกของน้ำทะเลประมาณ 3 เมตร พบมีปะการังปกคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 70 โดยพบปะการังเขากวางเป็นชนิดเด่น ปลาชนิดเด่นในแนวปะการังได้แก่ปลาสลิดหินลายบั้ง สัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังชนิดเด่นได้แก่ หอยมือเสือ เม่นหนามยาว และผลการตรวจสอบยังไม่พบปะการังฟอกขาว ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ใต้ทะเลเกาะยูงได้พื้นตัวสวยงาม เนื่องจากอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี ได้ ประกาศปิดเกาะยูง ต่อเนื่องมาเกือบ 4 ปี ไม่มีกิจกรรมท่องเที่ยว เพื่อการฟื้นฟูปะการังฟอกขาว และระบบนิเวศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการนำเที่ยวเป็นอย่างดี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่ได้ทำการฟื้นฟูและคอยดูแล มาอย่างต่อเนื่อง https://www.naewna.com/likesara/490935
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
#SAVE 'ชายหาด' ม่วงงาม เมื่อกำแพงกั้นคลื่นเปลี่ยนชีวิตคน 'ภาคใต้' ความเปลี่ยนแปลงที่ชายหาดม่วงงาม จ.สงขลา ภาพสะท้อนของการซ้ำเติมปัญหา "ชายหาด" ที่กำลังเกิดกับคน "ภาคใต้" และอีกหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเล ภาพแท่งเหล็กต้นแล้วต้นเล่าที่ปักกินผิวทรายลงไปในทะเลดูจะไม่ต่างจากสิ่งแปลกปลอมในสายของชาวบ้าน พอๆ กับแท่งคอนกรีตที่วางกองกันอยู่ริมถนนใกล้ๆ ชายหาด สิ่งที่เกิดขึ้นกับหาดม่วงงาม อีกหาดสวยงามของภาคใต้ เป็นก้าวแรกของโครงการกำแพงกันคลื่น ที่เริ่มมาตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ของ เครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามที่คัดค้านการสร้างกำแพงดังกล่าว เนื่องจากมองว่า ชายหาด ไม่ได้มีสภาพที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง อีกทั้งการดำเนินการโครงการฯ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย และไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะผลกระทบกับทะเลที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง ภาพจากเฟซบุ๊ก : มังกร ราชสีห์ ชายหาดม่วงงาม ตั้งอยู่ด้านทิศใต้หาดสทิงพระห่างจาก จ.สงขลา 20 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขต ต.ม่วงงาม อ.เมือง จ.สงขลา จากถนนสายสงขลา-สทิงพระ ลักษณะเป็นชายหาดทรายขาวยาว 3 กิโลเมตร เสียงจากชาวบ้านม่วงงามรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ชาวม่วงงามส่วนใหญ่มีชีวิตผูกโยงกับทะเล ภาคใต้ไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ ระแวกนี้ ชายหาดสำหรับชาวม่วงงามตีความได้หลากหลายมิติ ทั้งเป็นแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงชีวิต เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ กระทั่งเป็นลานวัฒนธรรมของชาวเลที่ได้มาเอาแรงร่วมมือร่วมไม้กัน โครงสร้างแข็ง หรือกำแพงกันคลื่น ที่กำลังจะมาทับบนผิวทรายจึงดูเป็นอะไรที่ค่อนข้างแปลกแยก เหตุผลหลักที่ ทางเทศบาลเมืองม่วงงามได้ร่วมกับกองโยธาธิการและผังเมืองเข้ามาจัดการพื้นที่ เนื่องมาจาก เอกสารและงานวิจัยย พบว่า บริเวณชายหาดถูกทะเลกัดเซาะไปมาก และในอนาคตบริเวณนี้จะเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 5-10 จะกัดเซาะเข้าไปจากเดิมเป็น100 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน เมื่อเริ่มมีการตั้งคำถาม ทวงถามเหตุผล ทำให้วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะของผู้ว่าฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งให้ทางเทศบาลส่งข้อมูลให้กับทางจังหวัดเพื่อนำไปสู่การพิจารณารายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมอีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น เครื่องยนต์ที่กำลังทำงานอยู่ทุกวัน และไม่ได้มีท่าทีว่าจะมีการชะลอการก่อสร้าง ยิ่งทำให้ชาวบ้านหลายๆ คนมองว่า นี่คือความจริงใจของเจ้าหน้าที่ในการแก้ปัญหาแน่หรือ กระทั่งคำถามทำนองว่า เรื่องนี้มีอะไรที่ลึกกว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นหรือเปล่า ใครบางคนชวนตั้งคำถามสั้นๆ ง่ายๆ - เรื่องแรก เมื่อแนวกันคลื่นแบบขั้นบันได ได้ลงเสาเข็มตามแนวหาดทรายแบบนี้ ถึงหน้าลมมรสุมกันคลื่นได้ แล้วด้านข้างจะเป็นอย่างไร? - เรื่องที่สอง เมื่อมีการถ่ายโอนสู่เทศบาล งบซ่อมแซมมีพอหรือไม่ - เรื่องที่สาม เมื่อคลื่นมากระทบแนวกั้น ส่วนหน้าที่เป็นหาดทรายจะเหลืออยู่แค่ไหน - เรื่องสุดท้าย เมื่อถึงวันที่ไม่เหลือหาดทราย งานนี้ทางใครทางมันใช่ไหม "ภาพแห่งความสุขจะเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าเราช่วยกันปกป้องผืนทรายผืนนี้เอาไว้ แต่ถ้าวันนี้ เราปล่อยให้หาดทรายถูกปู้ยี่ปู้ยำ ด้วยน้ำมือคนของรัฐ ที่ยัดเยียดขืนใจพวกเรา ในสิ่งที่เราไม่ต้องการ ภาพทั้งหลายเหล่านี้ จะกลายเป็นแค่เรื่องเล่าและเลือนหายไปในที่สุด" ใครอีกคนช่วยเสริม นอกจากนั้น พวกเขายังได้ยกตัวอย่าง หาดทรายเเก้ว ต.ชิงโค อ.สิงหนคร จ.สงขลา พร้อมชวนตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ ชายหาดที่เคยขึ้นชื่อในเว็บไซต์ของราชการว่า เป็นหาดทรายที่ขาวสะอาดอีกแห่งของภาคใต้ แต่เมื่อมีการทำโครงการกำแพงกันคลื่น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากแนวกำแพงคอนกรีตเสร็จสิ้นก็คือ สภาพชายหาดที่หายไป และเกิดการกัดเซาะตามมาบริเวณด้านเหนือของแนวกำแพง จนทำให้ต้องมีการสร้างกำแพงต่อไปเรื่อยๆ กำแพงกันคลื่นกลายเป็นความตายของชายหาด และหายนะของทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่ซ้ำเติมความรุนแรงของปัญหากัดเซาะชายฝั่งจริงหรือ "ผมเคยพยากรณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2561 ว่า กำแพงบันไดนี้จะสร้างความเสียหายให้กับชายหาดม่วงงาม" ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ในฐานะที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบายรายละเอียดว่า ก่อนหน้านี้ เทศบาลม่วงงาม ได้ส่งหนังสือถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เรื่อง ขอให้ทบทวนผลการศึกษาการประมวลข้อมูลสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2560 เพื่อประสานงานดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งจากปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ หลังจากตนได้ลงทำการสำรวจพื้นที่ และประมวลผลการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่กองบริหาร จัดการพื้นที่ชายฝั่งร่วมกับการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เปรียบเทียบย้อนหลังพบว่า เป็นชายหาดที่มีการ เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลไม่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง แต่อาจมีทรายหน้าหาดหายไป เล็กน้อย เนื่องจากทรายถูกกักไว้บริเวณท่าเรือทางทิศใต้ของพื้นที่ ตัวอย่างที่เขาหยิบมาสะท้อนผลกระทบของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายหาดหลายแห่งในภาคใต้ก็คือ ถนนเลียบทะเลหลายเส้น ตั้งอยู่บนเนินทรายชายฝั่ง เนินทรายชายฝั่ง เป็นบริเวณที่เหมือนแนวกันชนระหว่างทะเลกับบก เป็นบริเวณที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากคลื่นทะเล โดยทะเลจะพาทรายขึ้นมา โดยมีลมช่วยเป่าทรายที่แห้งขึ้นมาเสริมในช่วงฤดูที่คลื่นลมสงบ บางช่วงเวลา ที่คลื่นลมจัดในแต่ละปี ถ้าเป็น ภาคใต้ แถวสงขลา นครศรีธรรมราช ก็คือ ช่วงเดือนธันวาคม มกราคม บริเวณตีนเนินทรายด้านทะเลอาจจะถูกกัดออกไป มีลักษณะชัน ทางวิชาการเรียกว่า Beach scarp แต่พอถึงช่วงก่อนลมสงบ จะมีคลื่นเดิ่ง หรือคลื่นแต่งหาด (ทางวิชาการ คือ คลื่นที่มีความยาวคลื่นมาก) จะหอบเอาทราย ที่กองอยู่หน้าหาด กลับขึ้นมา เมื่อลมสงบ เปลี่ยนทิศหาดทรายจะกว้างใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่ทรายแห้ง ลมทะเลจะค่อยๆ พัดทรายแห้งขึ้นมากองสะสม เป็นเนินทราย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โคก ขยายขนาดเพิ่มมากขึ้นรุกทะเลออกไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ในกระบวนการทางวิวัฒนาการของชายหาด ใต้ทะเล ขนานกับแนวชายฝั่ง ตลอดคาบสมุทรสทิงพระ ยังมี ?ดอนทราย? (Sand bar) ทอดตัวยาวอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 50 เมตร ชาวบ้านแถวคาบสมุทรสทิงพระ เรียกว่า ?หาดสอง? ดอนทรายนี้ขยับเข้าออกจากฝั่งได้ ตามอิทธิพลของคลื่นทะเล บางช่วงเวลามันก็โผล่พ้นน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี หรือเป็นร้อยปี ดอนทรายใต้น้ำเหล่านี้เอง จะสะสมยกตัวสูงขึ้นเหนือน้ำทะเล กลายเป็นเนินทรายชายฝั่งลูกใหม่ ทำให้แผ่นดินคาบสมุทรสทิงพระ งอกออกไปเรื่อยๆ ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา พอเริ่มมีการพัฒนาเส้นทาง เลียบทะเล ถนนแทบทุกเส้นที่เลียบชายฝั่งภาคใต้ ล้วนตั้งอยู่บนโคก หรือเนินทรายชายฝั่ง แม้แต่ที่หาดม่วงงาม "ชาวบ้านบอกผมเองว่า ที่มันกัดเซาะชายฝั่ง เพราะถนนหน้าหาดม่วงงามทั้งเส้น มันตั้งอยู่บนโคก เมื่อถนนตั้งอยู่บนโคก เนินทรายชายฝั่ง ต้องรับน้ำหนักจากทั้งถนน และรถที่วิ่งไปมา อยู่ไปนานเข้า เนินทรายก็เตี้ยลง โคกที่ชาวบ้านบอกว่า สูงท่วมหัว ทุกวันนี้ มันแทบจะราบเสมอกับชายหาด" นั่นก็เพราะ เมื่อสร้างถนนใหม่ๆ เนินทรายยังสูง น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง โดยวัฏจักรธรรมชาติดั้งเดิม คลื่นจะมาถึงตีนเนินทรายชายฝั่ง แต่เมื่อเนินทรายเตี้ยลง บางฤดูที่คลื่นลมแรง น้ำทะเลยกตัวสูง ก็เอ่อเข้ามาที่ถนน "คนที่เพิ่งมาอยู่ทะเล ก็ไม่เข้าใจ ก็พากันไปบอกว่า โลกร้อน คลื่นลมแรงผิดปกติ น้ำทะเลจะท่วมโลก อ้างโลกร้อนไปโน่น ยิ่งมีนักวิชาการที่ไม่รู้จักเรื่องราวสัณฐานชายฝั่ง และกระบวนการชายฝั่ง ได้โอกาสก็มาเสริมว่า น้ำจะท่วมโลก เห็นไหม แต่ก่อนไม่เคยท่วมถนน ตอนนี้ ท่วมถนนแล้ว รีบเอางบมาสร้างกำแพงกันคลื่นโดยด่วน" เขาบอก สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่แต่เฉพาะที่ ชายหาดม่วงงาม ในพื้นที่ ภาคใต้ เท่านั้น หากแต่กำลังเกิดขึ้นกับหลายๆ พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยในขณะนี้ ความเปลี่ยนแปลงของชายหาดจากผู้ร้ายที่ชื่อว่า กัดเซาะชายฝั่ง และทำให้หาดทรายกลายเป็นคอนกรีตโดยไม่รู้ตัว https://www.bangkokbiznews.com/news/...mpaign=topnews
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย
คลิปฉลามหูดำอ่าวมาหยา 21 วิ ว่ายผ่าน 3 ตัว หลังทะเลสงบ กระบี่ 5 พ.ค.-โควิด-19 ทำทะเลสงบ ไม่มีนักท่องเที่ยวรบกวน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เผยคลิปฉลามหูดำ ว่ายผ่านกล้อง 3 ตัว ภายใน 21 วินาที วันนี้ Facebook Thon Thamrongnawasawat ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แชร์คลิปภาพจาก อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี คลิปนี้ ซึ่งเก็บภาพใต้น้ำบริเวณ ใกล้กับเกาะไม้ไผ่ ในหมู่เกาะพีพี อ.เมืองกระบี่ จะเห็นว่ามีฉลามหูดำ ว่ายผ่านกล้องไปถึง 3 ตัว ติดกันภายในเวลา 21 วินาที อ.ธรณ์ได้บอกไว้ในสเตตัสว่า "#3ฉลามใน 21 วินาที นี่คืออีกหลักฐานที่เราเห็นมาตลอด 3-4 สัปดาห์ ที่มนุษย์หยุดไปทะเล เมื่อทีมงานคับข่าวฯ ไปดูใน facebook ของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ได้โพสต์คลิป ตามแนวชายหาดของอ่าวมาหยา ซึ่งปรากฏได้พบฝูงฉลามหูดำ ประมาณ 100 ตัว เข้ามาแหวกว่ายเพื่อหากินลูกปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก สร้างความตื่นเต้นยินดีให้กับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก และถือเป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมตามชายฝั่ง เหตุการณ์ฉลามครีมดำรวมฝูงหากิน เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลบริเวณดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ มีมาตรการเข้มงวดในปิดอ่าวมาประมาณ 3 ปีแล้ว สำหรับฉลามหูดำสามารถพบได้ทั่วไปตามแถบชายฝั่งที่มีกระแสน้ำอุ่นทั่วโลก จึงมักพบมันอยู่ใกล้กับผู้คน เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดความยาวประมาณ 2-2.45 เมตร น้ำหนัก 30-100 กิโลกรัม เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ตามชายฝั่ง น้ำกร่อยแนวป่าชายเลน แนวปะการัง และชายฝั่งน้ำตื้นบริเวณปากแม่น้ำในช่วงฤดูร้อน มีนิสัยไม่ดุร้ายเท่าฉลามชนิดอื่น อยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณใกล้ชายฝั่ง มีนิสัยเชื่องคน สามารถว่ายเข้ามาขออาหารได้จากมือ เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ที่นิยมการดำน้ำ พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พวกนิยมการบริโภคแบบเปิดพิศดารมักจับฉลามชนิดนี้ไปทำอาหาร ปัจจุบันฉลามครีบดำถูกล่าเพื่อกินและจับเป็นเพื่อเลี้ยงมากขึ้นในประเทศไทย และยังมีแนวโน้มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้อยู่ระหว่างการผลักดันให้เป็นสัตว์คุ้มครอง. https://www.mcot.net/viewtna/5eb1835ce3f8e40af44440ab
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ประชากรโลก 3 พันล้านคนอาจต้องพลัดถิ่นฐาน อพยพหนีอากาศร้อนเหมือนทะเลทรายในอีกครึ่งศตวรรษข้างหน้า หากมนุษย์ยังไม่อาจตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่บนผืนแผ่นดินเกือบ 20% ของโลกภายในปี 2070 ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรราว 3 พันล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของมนุษย์ทั้งหมด ต้องตกอยู่ในสภาพอากาศร้อนระอุเหมือนทะเลทรายซาฮารา คำพยากรณ์ข้างต้นมาจากผลการศึกษาด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ซึ่งจัดทำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากจีน สหรัฐฯ รวมทั้งหลายชาติในยุโรป และเพิ่งลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PNAS เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการนำข้อมูลประวัติศาสตร์และข้อมูลสภาพอากาศย้อนหลังไป 6,000 ปีมาวิเคราะห์ จนพบว่ามนุษยชาติสามารถดำรงชีวิตและประสบความสำเร็จในการสร้างอารยธรรมได้ดีในสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบ แต่ในปัจจัยเรื่องอุณหภูมิแล้ว ดูเหมือนว่าสภาพอากาศที่มนุษย์จะดำรงชีวิตได้ดีที่สุดนั้น จะต้องมีอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งปีอยู่ในช่วง 11-15 องศาเซลเซียส หรือที่เรียกว่า "ภูมิอากาศจำเพาะของมนุษย์" (human climate niche) ผลคำนวณที่นำเอาข้อจำกัดทางอุณหภูมิดังกล่าวมาพิจารณาด้วยระบุว่า ภาวะโลกร้อนที่ยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการยับยั้ง หรือที่เรียกว่าสภาพการณ์ RCP8.5 จะทำให้หลายภูมิภาคของโลกสูญเสียภูมิอากาศจำเพาะของมนุษย์ไป ภายในช่วงครึ่งศตวรรษหรือ 50 ปีข้างหน้า เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดสภาพอากาศแบบเดียวกับทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งของโลกที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งปีสูงกว่า 29 องศาเซลเซียส ภัยแล้งและอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงในออสเตรเลีย สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งอย่างสุดขั้ว จะทำให้เกิดทุพภิกขภัยและมีผู้เสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนจำนวนมาก จนในที่สุดมนุษย์อาจต้องอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ เพื่อไปยังภูมิภาคที่อุณหภูมิยังคงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ซึ่งเหมือนกับที่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในวารสาร Environmental Research Letters ได้ทำนายไว้เมื่อปีที่แล้วว่า มนุษย์อาจต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานกันที่ไซบีเรีย ภายในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ แผนที่คาดการณ์สภาพอากาศในอนาคตที่ทีมวิจัยสร้างขึ้นชี้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของบราซิลจะไม่สามารถใช้อยู่อาศัยได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับบางส่วนของตะวันออกกลางและอินเดียซึ่งจะถูกปกคลุมด้วยอากาศร้อนสุดขั้วเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาทางตอนใต้ บางส่วนของยุโรปในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน บางส่วนของออสเตรเลียก็จะได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน แผนที่คาดการณ์สภาพอากาศดังกล่าวชี้ว่า บรรดาประเทศในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้มากที่สุด ส่วนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น คาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นมาก จนอาจจะเกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ของประชากรจำนวนมหาศาล https://www.bbc.com/thai/international-52548543
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|