เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 11-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก บางแห่ง เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 28-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 11 - 13 พ.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 16 พ.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น เนื่องจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 11 - 13 พ.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมทั้งฟ้าผ่าไว้ด้วย



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563)" ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2563

ในช่วงวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า

สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้


ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอนเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี อุทัยธานี และสุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด


ในช่วงวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 11-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นาทีระทึก หนุ่มฝรั่งเศสหวิดโดนฉลามขย้ำ ชกสองหมัด หนีสุดชีวิตที่ออสเตรเลีย

หนุ่มฝรั่งเศสหัวใจจะวาย รอดตายหวุดหวิดจากการโดนฉลามเขมือบ ปล่อยหมัดชกเข้าที่หน้าฉลามไปสองหมัด ตะโกนลั่นขณะหนีสุดชีวิต โชคยังดีมีนักเล่นเซิร์ฟในพื้นที่ช่วยพากลับฝั่ง



เมื่อ 10 พฤษภาคม 63 เว็บไซต์เดลี่เมล รายงานนาทีสุดระทึก หนุ่มนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส ดีลอง นาคาสส์ วัย 23 รอดตายอย่างหวุดหวิดจากการถูกฉลามเขมือบ ขณะกำลังเล่นเซิร์ฟบอร์ดในทะเล นอกชายหาดเบล เมืองทอร์เควย์ รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยดีลอง นาคาสส์ต้องตกใจสุดขีด หลังจากถูกฉลามกัดเข้าที่ขาข้างหนึ่ง ทำให้เขาหาทางเอาชีวิตรอดด้วยการชกเข้าที่ใบหน้าของฉลามสองหมัด และพยายามใช้เซิร์ฟบอร์ดว่ายน้ำหนี ขณะเดียวกันก็ตะโกนร้องเสียงดังลั่นด้วยความตกใจอย่างหนัก

ดีลอง ยังโชคดีที่ขณะนั้น แมทธิว เซดูนารี นักเล่นเซิร์ฟในพื้นที่ กำลังเล่นเซิร์ฟอยู่ใกล้ๆ เมื่อได้ยินเสียงตะโกนร้องของดีลอง ทำให้เขารีบเข้ามาช่วยเหลือ และทั้งสองสามารถกลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย ขณะที่ดีลองได้รับบาดเจ็บไม่มากนักจากการถูกฉลามกัดเข้าที่บริเวณหัวเข่า

แมทธิว เผยกับนักข่าวทีวีช่อง Nine News ว่า ตอนแรกเขาไม่คิดว่าสถานการณ์จะร้ายแรง คิดว่าเสียงที่ได้ยินคงแค่เสียงหัวเราะกับเพื่อนๆ แต่ก็เข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นจึงเห็นครีบฉลาม และพยายามกลับเข้าฝั่งให้เร็วที่สุด ขณะที่ฉลามยังคงว่ายวนเวียนอยู่บริเวณนั้นสักระยะ

สำหรับเหตุการณ์ระทึกนี้ เกรแฮม เบลด ได้เห็นเหตุการณ์และถ่ายคลิปวิดีโอไว้ได้ ขณะที่เขากำลังถ่ายคลิปให้กับเพื่อนอีกคนที่กำลังเล่นเซิร์ฟบอร์ดอยู่ แต่เมื่อได้ยินเสียงคนตะโกนร้องด้วยความตกใจ จึงหันกล้องไปยังที่มาของเสียง และพยายามจะถ่ายฉลามที่ว่ายตามหลังนักเล่นเสิร์ฟคู่นี้ขณะมุ่งหน้าเข้าฝั่ง.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1840638

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 11-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


อุทยานฯ เกาะพีพี อวดภาพฉลามหูดำโผล่ว่ายน้ำ อ่าวมาหยา-เกาะไม้ไผ่-เกาะปอดะ ชี้ธรรมชาติสมบูรณ์ขึ้น

อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เผยวิดีโอฉลามหูดำโผล่ว่ายโชว์ ทั้งที่อ่าวมาหยา เกาะไม้ไผ่ และเกาะปอดะ เชื่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น



วันนี้ 10 พ.ค. เพจเฟซบุ๊ก "อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี" เผยวิดีโอฉลามหูดำถึง 3 วิดีโอคลิป พร้อมระบุว่า "โชว์ครีบงามๆ ฉลามหูดำ พบวันนี้เวลา 07.30 น. บริเวณเกาะไม้ไผ่ ประมาณ 20 ตัว ขณะที่อ่าวมาหยาวันนี้เช่นกันพบฉลามหูดำก็ออกมาว่ายโชว์ไม่น้อยกว่า 10 ตัว และยังมาแหวกว่ายเล่นน้ำที่เกาะปอดะซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่ง เพียงเพราะทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19"

ทั้งนี้ ฉลามหูดำ หรือฉลามครีบดำ (Blacktip Shark) มีลักษณะนิสัยที่ไม่ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาฉลามชนิดอื่นๆ นิยมอยู่รวมเป็นฝูงบริเวณใกล้ชายฝั่ง กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยพบบ่อยขึ้นหลังจากการปิดอ่าวมาหยาเพื่อทำการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์


https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000048684

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 11-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


ตื่นตา! 'ฉลามวาฬ' ทักทายครูดำน้ำสำรวจใต้ทะเลเกาะเต่า



10 พฤษภาคม 2563 นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี ได้นำคณะสำรวจเดินทางไปยังตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสำรวจใต้สภาพทั่วไปและสัตว์ทะเลเกาะเต่า พร้อมเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปะอาชา) ได้สั่งการผ่านอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(นายโสภณ ทองดี)มายังสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่4 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีข่าวในสังคมออนไลน์ ว่าหลังจากที่มีการเปิดให้มีกิจกรรมการดำน้ำในแหล่งดำน้ำที่ขึ้นชื่อของเกาะเต่า แล้ว พบว่าปลาชนิดต่างๆลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย

ดังนั้น สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 จึงได้ร่วมกับนักวิชาการประมงศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลอ่าวไทยตอนกลาง พร้อมทีมครูสอนดำน้ำเกาะเต่า ชมรมรักเกาะเต่าได้ร่วมกันออกสำรวจสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้านต่างๆ โดยแบ่งทีมงานสำรวจเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กองหินใบ ในชั้นความลึกของน้ำตั้งแต่ 12-30 เมตร จากการสำรวจพบว่าพบกลุ่มปะการังกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ประมาณ20เปอร์เซ็นต์ ปะการังชนิดเด่นได้แก่ปะการังโขด Porites lutea และปะการังชนิดอื่นปนอยู่ประปราย ส่วนอีก30 เปอร์เซ็นต์ เป็นดอกไม้ทะเล กัลปังหา ฟองน้ำ และพบเศษปะการังตายประมาณ10เปอร์เซ็นต์ สำหรับปลาจากการสำรวจพบ 17 จำพวก 49 ชนิด ตั้งแต่ปลาตัวเล็กถึงขนาดใหญ่ ชนิดเด่นเป็นจำพวกปลาสลิดหิน และพบฉลามวาฬขนาดใหญ่ที่กองหินเขียวอีกด้วย และมีการตรวจพบพบเครื่องมือประมงจำพวก อวน ลอบ อยู่ในแนวปะการังอยู่บ้าง

สำหรับข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้ว่า ปริมาณปลาในแหล่งดำน้ำดังกล่าวลดลงไปมาก อาจเป็นได้หลายสาเหตุ เช่น ช่วงเวลาที่ลงดำน้ำ อาจไปตรงกับช่วงที่ปลาว่ายมา ระยะเวลาในการลงดำน้ำอาจสั้นเกินไป หรือ การแตกตื่นของฝูงปลา เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางราชการห้ามกิจกรรมใต้ทะเลอย่างเด็ดขาดซึ่งกินเวลาเดือนเศษ ที่กลุ่มปลาไม่ได้พบเจอมนุษย์ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมลงไปในทะเล จึงว่ายน้ำหนีห่างออกไป

ด้านนายโกศล พงศ์ผดุงเกียรติ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์เกาะเต่า ระบุกรณีมีข่าวว่ามีกลุ่มชาวประมงต่างถิ่นมาลักลอบทำการประมง ในแหล่งและใกล้ๆแหล่งปะการังนั้นอาจมีบ้าง เพราะช่วงคุมเข้มการระบาดโรคโควิ-19 ท้องทะเลว่างเปล่าขาดการสัญจรไปมาของผู้คน แต่ตนเองได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐได้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี และกรมประมงให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจตราเป็นระยะๆ ประกอบกับคนเกาะเต่าก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และเปลี่ยนค่านิยม ในการเก็บปลาเป็นๆที่มีชีวิตให้แหวกว่ายอยู่ในระบบนิเวศน์ปะการัง สร้างประโยชน์มากมายมหาศาลประเมินค่าไม่ได้ดีกว่าจับปลาไปขายหรือใช้ประกอบอาหารซึ่งได้ประโยชน์ระยะสั้นถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์คลิปขณะที่ฉลามวาฬตัวใหญ่ว่ายเข้ามาทักทายครูดำน้ำเกาะเต่า บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า "คนหยุดสัตว์มา คำนี้ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เพราะวันนี้ทีมครูดำน้ำเกาะเต่าออกสำรวจสภาพแนวปะการังตามกองหินต่างๆ เจอน้องฉลามวาฬตัวใหญ่ว่ายเข้ามาทักทาย สำหรับความคืบหน้าแผน new normal ทะเลไทย ทราบว่ากระทรวงทรัพยากรฯ กำลังเดินหน้าเต็มที่ ท่านรมต.ตั้งเป้าว่าจะเป็นรูปเป็นร่างในเดือนพฤษภาคม งานนี้ช่วยกันทุกฝ่าย ตั้งแต่ใต้น้ำถึงในกระทรวง เยี่ยมครับ ขอบคุณทุกคนที่เกาะเต่าที่ช่วยกันดูแลทะเลแทนพวกเราด้วยครับ"


https://www.naewna.com/likesara/491970

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 11-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


New Normal ป่าและทะเลไทย I Green Pulse



คลิปฉลามหูดำล่าสุดที่เกาะยูง ในบริเวณหมู่เกาะพีพี,โลมาปากขวดฝูงใหญ่กว่าร้อยตัวที่สิมิลัน, และข่าวการพบพะยูนที่บ้านเพ จังหวัดระยองในช่วงอาทิตย์นี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการปรากฏตัวอย่างต่อเนื่องของสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิดที่เป็นสัตว์หายากและแทบไม่เคยพบในพื้นที่

นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ ที่ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลง ซึ่งนั่นหมายถึงการหยุดการรบกวนสัตว์ต่างๆไปด้วย

ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลอย่าง ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การปรากฏตัวของสัตว์ป่าหายากต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเล กำลังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ธรรมชาติต้องการ และการจัดระเบียบกิจกรรมมนุษย์ที่เกี่ยวข้องใหม่ไม่ต่างจากกิจกรรมประเภทอื่นๆ หรือ New Normal ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผู้จัดทำนโยบายหลายคณะได้ทำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องการเพียงการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังให้เห็นผล ดังที่กำลังปรากฏจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในขณะนี้


พาเหรดสัตว์ป่า

นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา การรายงานการพบเห็นสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆทั่วประเทศที่ปิดตัวลง โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลมีมากขึ้น ซึ่งปลาฉลามหูดำ นอกจากจะพบที่เกาะยงแล้ว ยังปรากฏตัวตามบริเวณน้ำตื้นที่เกาะห้อง ไปจนถึงเกาะสุรินทร์และเกาะตาชัยอีกด้วยในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมานี้อีกด้วย

นอกจากปลาฉลามหูดำแล้ว ยังมีปลาวาฬเพชรฆาตดำในบริเวณอุทยานแห่งชาติเกาะลันตา ซึ่ง ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ไม่มีการรายงานการพบเห็นมานาน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้รายงานว่า ในปลายเดือนเมษายน ขณะนั่งเรือออกไปลาดตระเวนตามปกติ ได้พบเจอฝูงวาฬเพชฌฆาตดำฝูงใหญ่ 10-15 ตัว ความยาวประมาณ 3-4 เมตร ว่ายน้ำบริเวณอ่าวหินงาม เกาะรอก ในเขตอุทยานฯ ห่างจากฝั่งเพียง 400 เมตร โดยถือว่าเป็นฝูงใหญ่ และเป็นครั้งแรกที่มีการพบเจอวาฬเพชฌฆาตดำนี้ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

ที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลไม่น้อยไปกว่ากันคือ การปรากฏตัวของพะยูนในบริเวณบ้านเพ จังหวัดระยองในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา โดย ดร.ธรณ์ อธิบายว่า พะยูนในภาคตะวันออกมีเหลือเพียงกลุ่มเล็กๆ กระจายกันไป และแทบไม่มีใครพบเห็นมานานพอสมควร จากประชากรทั้งหมดที่สำรวจพบในปีที่แล้ว 261 ตัว ในพื้นที่ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย 13 พื้นที่

มีเพียงราว 24 ตัวที่พบในอ่าวไทย โดยอยู่ในพื้นที่ืทะเลภาคตะวันออกประมาณ 20 ตัว และอีก 4 ตัวที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี บางพื้นที่ของฝั่งอ่าวไทย ไม่มีรายงานการพบพะยูนอีกแล้ว เช่น ปัตตานี และชุมพร แม้จะเคยมีรายงานในอดีต โดยสมัยอดีตย้อนไปประมาณ 60ปีที่แล้ว แหล่งที่ใหญ่ที่สุดของพะยูนภาคตะวันออกคือ คุ้งกระเบน โดยมีรายงานการพบถึง 40 ตัวขึ้นไป และในช่วง 20-30 ปีต่อมาก็ยังพอพบแหล่งพบพะยูนมากอยู่คือ ปากน้ำประแสร์ จังหวัด ระยอง ซึ่งมีการพบพะยูนฝูงใหญ่กว่า 20 ตัวว่ายอยู่ในบริเวณดังกล่าว

"เมื่อเรือหยุด พะยูนจึงกลับมาหากินหญ้าทะเลตามชายฝั่ง เช่น แถวบ้านเพ ก็มีหญ้าทะเลอยู่บ้าง" ดร. ธรณ์ ตั้งข้อสังเกต



ในพื้นที่ที่มีประชากรพะยูนมากที่สุดในประเทศเองอย่างอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพะยูนลูกกำพร้าที่เป็นที่รักของผู้คนคือมาเรียม พะยูนฝูงใหญ่ที่ไม่ค่อยถูกพบเห็นก็ปรากฏตัวขึ้นเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ฯ พบพะยูนฝูงใหญ่กว่า 30 ตัว ออกหากินหญ้าทะเลบริเวณแหลมจูโหย ในขณะที่เขาบาตูที่มาเรียมเคยถูดอนุบาลอยู่ก็พบฝูงพะยูน5-6 ตัวเป็นประจำในช่วงนี้ กลุ่มพิทักษ์ดูหยง ซึ่งช่วยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแลพะยูนรายงาน

นอกจากปลาทะเลหายากชนิดต่างๆ เต่ามะเฟืองซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์สงวนชนิดใหม่ของไทยก็พบมีการขึ้นมาวางไข่และทำรังมากที่สุดในรอบ 20 ปี โดยมีการพบถึง 11 รัง ตามหาดต่างๆ ของฝั่งอันดามันซึ่งครั้งหนึ่งคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว อาทิ หาดบ่อดาน หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา หรือหาดทรายแก้ว หาดไม้ขาว หาดในทอน จังหวัดภูเก็ต

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ช่วงที่ผ่านมาว่า ลูกเต่ามะเฟืองจะทยอยฟักออกมาและพากันคลานลงสู่ทะเลตรงกับช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดหนักไปทั่วประเทศ โดยลูกเต่าเกิดใหม่ในฤดูนี้มีปริมาณมากกว่าฤดูอื่น ในรอบกว่า2ทศวรรษ

ทางกรมฯ ยังไม่ได้เก็บข้อมูลที่ชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพชายหาดและระบบนิเวศทางทะเลหลังจากเกิดการระบาดฯ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง แต่โดยหลักการแล้วปริมาณนักท่องเที่ยวที่น้อยลง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งน้อยลง น้ำเน่าเสีย ของเสีย และขยะต่างๆ ก็ลดลงตามไปด้วย จึงมีโอกาสที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากได้พักและฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง

"การลดลงของนักท่องเที่ยวน่าจะมีผลดีต่อระบบนิเวศทางทะเล," นายโสภณกล่าว


New Normal ด้านอนุรักษ์

ดร.ธรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดช่วงหยุดพักของพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ น่าจะเป็นโอกาสที่ดำเนินการสิ่งที่เขาเรียกว่า "แผน 5 ขั้น" ที่จะช่วยขับเคลื่อนงานที่ได้วางนโยบายและแผนมาแล้ว



ดร.ธรณ์แนะนำให้หน่วยงาน "การ์ดอย่าตก" ซึ่งหมายถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งอาจยิ่งจำเป็นที่จะต้องให้มีความเข้มงวดมากกว่าเดิมเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการดูแล และที่สำคัญ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ไม่ควรมีการดึงงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์โควิด เพราะพื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้คือพื้นที่ที่สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวจากการที่ต้องปิดตัวมากพออยู่แล้ว และควรได้รับการสนับสนุนทดแทนรายได้เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงาน

ดร.ธรณ์ ชี้ว่า สถานการณ์โควิดทำให้เกิดสภาพการณ์ที่สะท้อนหลักการสำคัญในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และทรัพยากรธรรมชาติ คือการจำกัดการรบกวน เช่นการจำกัดจำนวนคนและการรักษาระยะห่าง ซึ่งแผนต่างได้ระบุไว้เช่นกัน อาทิ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวและยานพาหนะต่างๆในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งยังมีการบังคับใช้น้อยมากในความเป็นจริง

ในจำนวนพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล 26 แห่ง มีเพียงไม่กี่แห่งที่บังคับใช้หลักการ "ความสามารถในการรองรับ" หรือ carrying capacity ของพื้นที่, ดร. ธรณ์กล่าว

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดในครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสให้แผนถูกนำไปปฏิบัติได้จริงตามเงื่อนไขของพื้นที่จริง และนั่นหมายถึง การเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยทำแผนในพื้นที่ให้เชื่อมโยงกับแผนระดับชาติและนำไปปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งเป็น แผนขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 ที่เขาเสนอสำหรับ New Normal ของพื้นที่อนุรักษ์

และแผนขั้นที่ 5 คือ การผลักดันแผนงานใหญ่ๆที่ครอบคลุมภาพรวมของพื้นที่ อาทิ โครงการอันดามันมรดกโลกที่ถูกออกแบบและผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อกำกับทิศทางงานอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ในภาพรวมอย่างจริงจังเสียที

"คีย์เวิร์ดเหล่านี้แหละจะช่วยได้ แต่มันก็ขึ้นกับความเป็นจริงว่าเราอยากเดินไปข้างหน้าไหม ผู้รับผิดชอบหรือผู้เกี่ยวข้อง อยากเห็นโลกใหม่ๆ หรือเปล่า"

"บอกว่า รัก แค่นั้นไม่พอ อยาก แค่นั้นไม่ไปไหน เราต้องลงมือทำ" ดร.ธรณ์ ทิ้งท้ายถึงการทำงานอนุรักษ์หลังยุคโควิด หรือ New Normal ด้านอนุรักษ์จากนี้ไป


https://www.bangkokbiznews.com/news/...m_campaign=eco

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 11-05-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ค้านกองทัพเรือใช้ที่ดินป่าสงวนฯ ระยอง 4,600 ไร่ อ้างปกป้องอีอีซี

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์ ค้านกองทัพเรือใช้ที่ดินป่าสงวนฯ ใน 3 ตำบล ของ จ.ระยอง อ้างเพื่อจัดทำโครงการป้องกันภัยทางอากาศ ในพื้นที่อีอีซี



วันนี้ (10 พ.ค.2563) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์ ค้านกองทัพเรือใช้ที่ดินป่าสงวนฯ จ.ระยอง ระบุว่า คัดค้านการยกพื้นที่ป่าสงวนฯ 4,600 ไร่ ไปเอื้อประโยชน์ให้กองทัพเรือ

ตามที่กองทัพเรือทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ เพื่อขอใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาห้วยมะหาด, ป่าเขานั่งยอง และป่าเขาครอก พื้นที่เขาโกรกตะแบกและเขาเนินกระปรอก ในท้องที่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง และ ต.สำนักท้อน ต.บ้านฉาง ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อจัดทำโครงการป้องกันภัยทางอากาศในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และบริเวณใกล้เคียง และเป็นที่ตั้งหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 4,600 ไร่

แถลงการณ์ระบุต่อว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งทรัพยากรป่าไม้พื้นถิ่น ที่ประชาชนโดยรอบพื้นที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์เสมือนเป็นป่าชุมชน ในการเก็บเห็ด เก็บสมุนไพร ฯลฯ รวมทั้งใช้เป็นแหล่งสันทนาการ ที่เป็นกำแพงกรองมลพิษในวิถีชนบทของคนระยองเสมอมา

"การที่กองทัพเรือจะขอใช้พื้นที่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นจาก 2,558 ไร่ เป็น 4,600 ไร่ โดยอ้างการป้องกันอีอีซีและนิคมมาบตาพุดนั้น กองทัพเรือเข้าใจอะไรผิดไปหรือไม่ เพราะพื้นที่เหล่านี้อยู่บนบก ไม่ใช่พื้นที่ชายแดนหรือชายทะเล และไม่เคยมีปัญหาด้านความมั่นคง"

เป็นพื้นที่เศรษฐกิจไม่ใช่พื้นที่สงครามความขัดแย้ง ที่จะมีข้าศึกที่ไหนบุกมายึดอีอีซีหรือนิคมมาบตาพุด จนต้องมีค่ายทหารมาคอยปกป้อง หากจะมีปัญหาก็มีแต่ปัญหาอาชญากรรมธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจไม่ใช่ทหาร

และที่สำคัญกองทัพเรือก็มีฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมากมายเกินพออยู่แล้ว และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองทัพเรือก็มีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนหลายพื้นที่มาโดยตลอด ทั้งที่ชุมชนแสมสาร หรือที่ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว

"การรุกคืบเข้ามาขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จ.ระยอง ดังกล่าว หรือเพียงแค่ต้องการขยายฐานอำนาจ ขยายตำแหน่งของเหล่าทหารเรือ หรือต้องการขอเพิ่มงบประมาณจากภาษีของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นกันแน่"

กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องมีจุดยืนในการปกป้องป่าไม้ตามแนวนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2562 ซึ่งเน้นการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปกป้องดูแลป่า แต่ถ้ายกพื้นที่ป่าดังกล่าวให้กองทัพเรือไปใช้ประโยชน์ได้ตามคำขอ แนวนโยบายป่าไม้แห่งชาติก็จะไร้ความหมายและควรฉีกทิ้งไปเสีย แล้วให้กองทัพเรือไปยกร่างเขียนใหม่ แล้วนำไปบังคับใช้กันเองตามสะดวก แต่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวระยองจะไม่ยอมศิโรราบกับกรณีดังกล่าว โดยจะขอพึ่งอำนาจศาลปกครองเป็นประการต่อไป


https://news.thaipbs.or.th/content/292283

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:23


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger