#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 7-10 มิ.ย. 63 โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 5 - 6 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบันใกล้กับชายฝั่งประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 11 มิ.ย. 63 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบันจะมีกำลังแรงขึ้น และมีแนวโน้มจะเคลื่อนไปยังอ่าวเบงกอลตอนบน ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะทางด้านรับมรสุม เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนลดลงในช่วงวันที่ 9 - 11 มิ.ย. 63 สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 7 - 11 มิ.ย. 63 สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2563 ปีที่ท้องทะเลไทยฟื้นตัว วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2563 เป็นปีที่หลายพื้นที่ในโลกมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เพราะกิจกรรมหลายอย่างชะงัก หลายสถานที่ปิดตัว เพราะโควิด-19 รวมถึงท้องทะเลไทยที่เริ่มฟื้นตัว นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 78 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดกิจกรรมที่ต้องรวมตัว นับจากวันนั้นเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว และหลายสถานที่สภาพธรรมชาติเริ่มฟื้นตัว อย่างที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่พบการฟื้นตัวของปะการังและสัตว์น้ำน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก รวมถึงฉลามวาฬ ที่มีภาพเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นระยะๆ ว่าได้กลับมาเยือนเพื่อหากินในพื้นที่อีกครั้ง สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ณ ที่แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกกำลังรอเวลาฟื้นกลับมาเป็นปกติ ถือเป็นเวลาของการทบทวนบทเรียน ที่หลายคนเคยท่องเที่ยวกันจนทำให้เกิดความเสียหาย นับจากนี้วิถีการท่องเที่ยวจึงต้องไม่ลืมว่าต้องเที่ยวแบบเคารพธรรมชาติ แล้วธรรมชาติจะตอบแทนเราอย่างดี https://www.thairath.co.th/lifestyle...Pos=5#cxrecs_s
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ชัยชนะยกแรก! กรมโยธาฯ ยอมถอย หยุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล "หาดม่วงงาม" ชั่วคราว ศูนย์ข่าวภาคใต้ ? กรมโยธาธิการและผังเมืองประกาศหยุดการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล "หาดม่วงงาม" เป็นการชั่วคราว หลังชาวบ้านที่ปักหลักรอคำตอบหน้าศาลากลาง จ.สงขลา ยื่นคำขาดจะไปหยุดโครงการด้วยตัวเอง "ผอ.รพ.จะนะ" ชี้เป็นชัยชนะยกแรกของชาวม่วงงาม วันนี้ (5 มิ.ย.) เพจ Beach for life รายงานเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ประสานงานกับ ผวจ.สงขลา เพื่อให้หยุดก่อสร้างโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่ง หมู่ที่ 7 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นการชั่วคราว หลังจากที่ประชาชนชาว ต.ม่วงงาม ได้ปักหลักรอคำตอบที่ด้านหน้าศาลากลาง จ.สงขลา หลังได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการถึงนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เป็นระยะเวลา 4 คืน 5 วัน และได้ยื่นคำขาดในวันนี้เมื่อเวลา 10.30 น. ว่า ภายในเวลา 15:30 น. ต้องได้คำตอบ หากไม่มีคำตอบ ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะไปหยุดโครงการนี้ด้วยตนเอง เพจ Beach for life รายงานพร้อมกับลงคลิป ใจความว่า วันนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล 3 คน ได้มาพบประชาชนชาวม่วงงามหน้าศาลากลาง และได้ไปพูดคุยกับ ผวจ.สงขลา หลังจากนั้น ได้มาแจ้งชาวบ้านว่าได้รับยืนยันจาก ผวจ.สงขลาว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่กรุงเทพฯ โทรศัพท์มาบอกนายผดุงเดช ลือปิยะพาณิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา ว่า ให้หยุดโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลบริเวณหาดม่วงงามชั่วคราว ไม่ตอกเสาเข็ม ไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นแล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่ง ส.ส.พรรคก้าวไกลได้ขอสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว และยังได้รับสำเนาหนังสือจาก ผวจ.สงขลาเกี่ยวกับโครงการนี้ หลังจากได้รับรู้เรื่องราวดังกล่าว ชาวบ้านม่วงงามที่ปักหลักหน้าศาลากลางเกือบ.100 คน ต่างจับมือเเสดงความขอบคุณ รอง ผวจ.สงขลา ส.ส.พรรคก้าวไกล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอบคุณ ในการประกาศชะลอโครงการไปก่อน ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.ร.พ.จะนะ จ.สงขลา ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงการชะลอโครงการดังกล่าวว่า เป็นชัยชนะยก 1 จากการยืนหยัดของชาวบ้านม่วงงาม นี่คือชัยชนะด้วยความยืนหยัดของชาวบ้าน และยังต้องยืนหยัดต่อไปจนยกเลิกโครงการ และถอนเสาเข็ม พื้นฟูชายหาดให้กลับมาเหมือนเดิม เพื่อปกป้องชายหาดม่วงงามและชายหาดทั่วประเทศ https://mgronline.com/south/detail/9630000058463
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Greennews
ส่องชีวิต 'นาก' เมืองกรุง: ตัวแทนความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองใหญ่ แม้ว่าภาพจำของ กรุงเทพมหานคร ในมุมมองของคนส่วนใหญ่คือป่าคอนกรีตสีเทาที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า รถรา และผู้คนมากมาย ที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กลืนกินพื้นที่สีเขียวของพรรณพืชและสัตว์ป่าจนแทบไม่มีที่เหลือ หากแต่ด้วยความพยายามของครูวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ในโรงเรียนท้องถิ่น "นาก" สัตว์ป่าหายาก และสรรพสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ยังคงอยู่อาศัยออกหากินตามธรรมชาติ ในพื้นที่ชุ่มน้ำผืนท้ายๆ ของกรุงเทพฯ ฝูงนากกรุงเทพฯ ออกหาอาหารในบริเวณบ่อปลา ใกล้กับโรงเรียนทวีธาภิเษก 2 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ //ขอบคุณภาพจาก: เอกโชค บูรณอนันต์ ในขณะที่วันนี้ (5 มิถุนายน พ.ศ.2563) ทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลกในธีม "Time for Nature" เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และรณรงค์ให้ประชาคมโลกร่วมกันดูแลรักษาระบบนิเวศให้ยังคงความสมบูรณ์ และธำรงความหลากหลายสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุกมิติ เนื่องในวาระพิเศษนี้ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงถือโอกาสไปพบกับ อ.ศุภณัฐ กาหยี หรือ ครู ?ท๊อฟฟี่? อาจารย์ชีววิทยา ประจำโรงเรียนทวีธาภิเศก บางขุนเทียน และเจ้าของเพจ Bangkok Otter หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพคนสำคัญของกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งเป็นหักหอกในการให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์นากใหญ่ขนเรียบ ตลอดจนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ยังคงอยู่คู่เมืองหลวงของไทย ทำไมต้องอนุรักษ์ 'นาก' กรุงเทพฯ "นากเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะการที่นากจะหาที่อยู่นั้น ไม่ใช่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ได้ แต่ต้องเป็นที่ที่สภาพแวดล้อมรอบข้างเอื้ออำนวยด้วย เช่น คุณภาพน้ำที่ดี และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์" ครูท๊อฟฟี่กล่าว ครูอธิบายว่า นากบริโภคปลามากถึง 2-3 ตัวต่อวัน การที่เจอนากแปลสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่รอบ ๆ ยังอุดมสมบูรณ์ กล่าวคือ มีปลาอาศัยเพียงพอจนเป็นแหล่งอาหารให้กับนากและครอบครัวของมันได้ ครูเล่าว่า "มากไปกว่านั้น การที่นากอยู่ในโรงเรียนยังมีผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้สอนสามารถนำมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมการเรียนการสอนได้ ให้เด็กมาดู เป็นเสมือนโรงเรียนธรรมชาติ ครูพยายามชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญ" ดังนั้น การพบนากในกรุงเทพฯ อาจไม่ได้สร้างเพียงความน่ารักและจรรโลงใจต่อคนเมืองเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญเพราะเป็นสิ่่งซึ่งสามารถสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อีกด้วย 'พฤติกรรม' ของนากที่นี่เป็นอย่างไร "นากที่นี่เป็นนากใหญ่ขนเรียบอาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ พื้นที่ชุ่มน้ำของโรงเรียน มีโพรงอยู่ที่ใต้อาคารหอประชุมใกล้ป่าชายเลน ออกหาอาหาร และผึ่งพุงบริเวณบ่อปลาและบ่อกุ้งของชาวบ้านข้างโรงเรียน" สำหรับวิธีการดูนาก ครูท๊อฟฟี่แนะนำเทคนิคการสังเกตนาก 3 อย่าง ได้แก่ กลิ่น เสียง และวงน้ำ โดยจากที่เราสำรวจ จะเห็นได้ว่า นากมักอาศัยอยู่กันเป็นฝูง มากสุดที่พบพร้อมกัน คือ 9 ตัว แต่ครูท๊อฟฟี่บอกว่า บางครั้งก็พบนากที่มักแยกออกมาเล่นน้ำคนเดียว โดยได้ชื่อว่าเจ้า 'เปรี้ยว' หรือบางครั้งก็โผล่มาเป็นคู่ ซึ่งกำลังจะตั้งชื่อให้ว่า เจ้า 'ดื้อ' กับ เจ้า 'ซน' อุปสรรคและปัญหาในการอนุรักษ์นาคในปัจจุบัน กรณีทุ่งครุก็เป็นปัญหาในการอนุรักษ์นากที่เห็นได้ชัด โดยพื้นที่นั้นมีนากกว่า 200 ตัว และนากเหล่านี้กินปลาของชาวบ้าน จนเกิดการขาดทุนหลักหมื่น และเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านและนากจนหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยหาวิธีช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน การที่นากบริเวณนี้กินอาหารจากบ่อปลา แน่นอนว่าก็ย่อมสร้างความผลกระทบให้กับชาวบ้านเจ้าของบ่อ จึงเคยเกิดความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำมาสู่การจุดประทัดหรือยิงปืนเพื่อขู่นาก แต่ภายหลังมานี้ก็ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก โดยส่วนนึงอาจเป็นผลมาจากการที่ครูท๊อฟฟี่ลองคุยกับชาวบ้านบริเวณนั้น "พอชาวบ้านเข้าใจนากมากขึ้น ก็มีการเอื้อเฟื้อกันค่ะ" ครูระบุ อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้ดูแลบ่อปลาในบริเวณนี้ เองก็อาจจะไม่ได้รับความเสียหายเท่ากรณีทุ่งครุ โดยผู้ดูแลบ่อบริเวณโรงเรียนเคยกล่าวกับครูท๊อฟฟี่ว่า ว่า "ให้มันกินไปเถอะ กินไม่หมดหรอก" อย่างไรก็ตาม ครูท๊อฟฟี่ได้เล่าถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและนาก โดยวางแผนไว้ว่า จะช่วยชาวบ้านขายปลาผ่านเพจ Bangkok Otter เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ของชาวบ้านอีกทาง อีกอุปสรรคหนึ่งของการอนุรักษ์นากที่ครูท๊อฟฟี่ชี้ให้เห็น คือ การหายไปพื้นที่ชุ่มน้ำ การนำพื้นที่ชุ่มน้ำเดิมไปขยายสร้างเมือง เช่น การสร้างหมู่บ้านจัดสรร การสร้างถนน ทำให้นากขนาดที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ทั้งยังได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่ไม่มากพอจากหน่วยงาน พื้นที่ชุ่มน้ำบ่อปลาและพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบโรงเรียนทวีธาภิเษก 2 เป็นที่มั่นแห่งท้ายๆในเมืองหลวงของฝูงนากกรุงเทพฯ //ขอบคุณภาพจาก: Bangkok Otter นาก คนเมือง และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนากที่ชี้ให้เห็นความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่างที่เราสำรวจก็ได้พบนกหลายชนิดบินกันเป็นว่าเล่น เช่น นกอัญชัญคิ้วขาว ที่มักอาศัยตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ในเมืองเจอได้ยาก หรือ นกพริก นกยางเปีย นกเป็ดน้ำ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกระจกสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังคงมีอยู่ในเขตเมือง ครูท๊อฟฟี่ กล่าวว่า เมื่อก่อนพบนกจำนวณมากกกว่านี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองของเราถูกคุกคาม "ในเมืองนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพน้อย ห้องนอนของเราหากเปรียบเทียบแล้ว มันคือทะเลทราย ที่มีสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียวที่รอดได้คือตัวเราเอง" "การแนะนำแนวทางให้คนเมืองตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องยาก ธรรมชาติคนเมืองอาศัยกันอยู่อย่างเป็นปัจเจก และให้ความสำคัญในชีวิตในแง่มุมที่แตกต่างกันไป การที่จะทำให้คนเมืองตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพอาจทำได้ผ่านการชี้ให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวและกระทบเขาจริง ๆ เช่น ฝุ่น PM2.5 หรือ น้ำคลองข้างบ้านที่ไม่สามารถบริโภคได้เลย จะทำให้เกิดการตั้งคำถามกลับว่าอะไรที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเหล่านั้น ซึ่งท้ายที่สุดจะสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นมาเอง" ครูกล่าว ครูตั้งข้อสังเกตและชวนให้คิดตามว่า หากบริเวณบ้านของคนเมืองมีนาก อันเนื่องมากจากความสมบูรณ์และความหมากหลายทางสิ่งแวดล้อม เราก็คงไม่ตื่นเต้นกับนากของที่นี่ ครูท๊อฟฟี่ได้พูดถึงการคัดเลือกสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งอันเป็นผลมาจากนากผู้อยู่ในลำดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นการบริโภคปลาของนากอาจช่วยคัดเลือกปลาให้เหลือแต่ตัวที่แข็งแกร่งที่สุดอีกด้วย กล่าวคือ ปลาตัวที่อ่อนแอจะถูกนากกินได้ง่าย และแน่นอนว่าปลาที่รอดตายจะเป็นปลาที่แข็งแกร่ง โดยอาจนำไปสู่การวิวัฒนาการของสายพันธุ์ปลาในอนาคต และจะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นอีกประโยชน์หนึ่งของนากต่อระบบนิเวศ คนรักสิ่งแวดล้อมสามารถมาทำกิจกรรมดูนากได้ที่โรงเรียน //ขอบคุณภาพจาก: เอกโชค บูรณอนันต์ งานที่ยังรออยู่ในอนาคต "ครูคาดหวังว่าจะมีการวิจัย ที่สำรวจจำนวนประชากรนาก หรือวิจัยตรวจสอบว่านากใช้ชีวิตไปถึงบริเวณไหน เพื่อจะได้เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนากด้วย" เพราะจำนวนนากที่ครูท๊อฟฟี่ทราบในตอนนี้ ไม่ได้เป็นตัวเลขทางการ หากเป็นเพียงตัวเลขที่อาศัยการวัดด้วยสายตาเท่านั้น ทั้งยังไม่แน่ใจถึงผลกระทบที่แน่ชัดว่าอยู่ในระดับใด นอกจากนี้ครูเสนอถึงเรื่องมาตรการในการอนุรักษ์ผ่านระบบการศึกษา ครูบอกว่า "รัฐต้องเห็นความสำคัญ ต้องเตรียมอาวุธให้เด็กรุ่นใหม่เพื่อไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อให้ได้" การปรากฏตัวของนากสะท้อนความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยนากถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุมครองสัตว์ป่า นอกจากนี้ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ยังจัดอันดับให้ นากใหญ่ขนเรียบ เป็นชนิดพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคาม (Vulnerable) อนึ่ง ผู้สนใจสามารถชมความน่ารักของนากเหล่านี้ได้ ณ สถานที่จริงที่ โรงเรียนทวีธาภิเศก บางขุนเทียน โดยหากต้องการไปเยี่ยมชม ให้ติดต่อผ่านเพจ ?Bangkok Otter? https://greennews.agency/?p=21160
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
พบมวลอากาศบริสุทธิ์สะอาดที่สุดของโลกเหนือมหาสมุทรแอนตาร์กติก เรือสำรวจและวิจัยมหาสมุทรแอนตาร์กติกขององค์การ CSIRO แห่งออสเตรเลีย Image copyright CSIRO ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินได้ฟังรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศอยู่บ่อยครั้ง จนดูเหมือนว่าแทบจะไม่หลงเหลือบริเวณที่อากาศยังมีคุณภาพดีเลิศและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อีกต่อไป แต่ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดสเตตของสหรัฐฯ และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลีย ได้ร่วมกันสำรวจบรรยากาศเหนือมหาสมุทรใต้ (Southern Ocean) หรือมหาสมุทรแอนตาร์กติกที่เรารู้จักกันดี จนพบว่ามีมวลอากาศเหนือผิวน้ำทะเลบริเวณหนึ่งที่เรียกได้ว่าบริสุทธิ์สะอาดที่สุดในโลก รายงานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร PNAS ระบุว่า มวลอากาศบริสุทธิ์นี้อยู่เหนือมหาสมุทรส่วนที่คั่นกลางระหว่างเกาะทัสเมเนีย (Tasmania) ของออสเตรเลียและทวีปแอนตาร์กติกา ตรงบริเวณละติจูดที่ 54 - 62 องศา โดยเป็นชั้นของอากาศที่อยู่ในเขตแดนรอยต่อระหว่างผิวน้ำทะเลและกลุ่มเมฆที่ก่อตัวในระดับต่ำ ผลการตรวจวิเคราะห์ละอองลอย (Aerosol) ในอากาศบริเวณดังกล่าวพบว่า ไม่มีอนุภาคของมลพิษปนเปื้อน รวมทั้งไม่มีละอองลอยชีวภาพ (Bioaerosol) ที่ปลิวมาจากส่วนอื่นของโลกและที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์เลยแม้แต่น้อย มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่นในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ Image copyright GETTY IMAGES นอกจากนี้ ผลตรวจวัดปริมาณและชนิดของแบคทีเรียในอากาศเหนือมหาสมุทรแอนตาร์กติกยังพบว่า ยิ่งเดินทางลงใต้ไปมากขึ้นเท่าไหร่ ความหลากหลายของชนิดพันธุ์แบคทีเรียก็ยิ่งลดลง โดยแบคทีเรียในอากาศที่พบจะมาจากละอองน้ำทะเลโดยตรงเท่านั้น การค้นพบมวลอากาศบริสุทธิ์ดังกล่าวนับว่าน่าทึ่งอย่างยิ่ง เนื่องจากตามปกติแล้วระบบไหลเวียนของอากาศทั่วโลกนั้นเชื่อมโยงกันเป็นอย่างดี จนยากที่มลพิษจากบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศจากภาคพื้นทวีป จะไม่แพร่กระจายไปถึง ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยคล้ายกันที่ทำในเขตร้อนและบริเวณซีกโลกเหนือ ซึ่งพบว่ามีการกระจายตัวของจุลินทรีย์ในอากาศไปไกลและผสมปนเปกันจากหลายแหล่งกำเนิดมากกว่า เมื่อเทียบกับกรณีของอากาศเหนือมหาสมุทรแอนตาร์กติก https://www.bbc.com/thai/features-52924565
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
วันสิ่งแวดล้อมโลก : แอมะซอน ผืนป่าสำคัญของโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย ทั้งตัดไม้ ไฟป่า และโควิด-19 Image copyright GETTY IMAGES ป่าฝนแอมะซอน - ป่าซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลภูมิอากาศโลกและช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน กำลังได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีปัจจัยหลายอย่างที่กดดันให้ผืนป่าแห่งนี้ต้องเดินไปสู่ภาวะใกล้ล่มสลาย รวมทั้งการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ การตัดไม้ทำลายป่าใน 4 เดือนแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้คนพากันฉวยโอกาสใช้วิกฤตครั้งนี้เข้าถางป่าอย่างผิดกฎหมาย ก่อนหน้านี้การตัดไม้, การลักลอบทำเหมืองแร่, การบุกรุกถางป่าให้เป็นที่ดินเปล่าและไฟป่า ล้วนแต่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปีอยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเรากำลังขยับเข้าใกล้ "จุดที่ไม่อาจหวนคืน" อย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงจุดนั้น แอมะซอนจะไม่สามารถทำหน้าที่สำคัญของมันได้อย่างที่ควรจะเป็นอีกต่อไป ในบราซิล สถิติการตัดไม้ทำลายป่าในเดือนมีนาคมพุ่งพรวดขึ้นถึง 64% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นนี้ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล (INPE) ทางการบราซิลได้กำหนดให้ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และจำกัดการเดินทางเคลื่อนย้ายผู้คน เพื่อสกัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ภาคสนามซึ่งดำเนินภารกิจปกป้องป่าสงวนมายาวนานต้องถอนกำลังออกไป บราซิลและโบลิเวียเป็น 2 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มสูญเสียพื้นที่ป่าปฐมภูมิ (primary forest) ไปมากที่สุดห้าอันดับแรกในปี 2018 ทั้งยังประสบเหตุไฟป่ารุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วด้วย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้น ดร. อันโตนิโอ โดนาโต นอบรี นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของบราซิลบอกว่าหากเอาแต่อ้างถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพียงอย่างเดียว เวลาที่เราคุยกันเรื่องสาเหตุของการสูญเสียผืนป่าแอมะซอน ผมขอเรียกคำพูดเช่นนี้ว่า โกหกสีเขียวคำโต" จำเป็นต้องนำเอาปัจจัยอื่น ๆ ที่ร่วมกันทำให้ป่าเสื่อมสภาพเข้ามาพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟป่าหรือการลักลอบล่าสัตว์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งสภาพการณ์เหล่านี้ขัดขวางไม่ให้ระบบนิเวศทำหน้าที่ของมันอย่างที่ควรจะเป็น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหากเราไม่สามารถแก้ไขระดับความรุนแรงของการตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของป่าให้เปลี่ยนแปลงไปจากอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปด้วย พื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุม Image copyright REUTERS วิธีวัดความรุนแรงของการตัดไม้ทำลายป่าที่นิยมใช้กันทั่วไปมากที่สุด คือการหาความกว้างของพื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุม (tree cover loss) ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ไม่หลงเหลือพืชพรรณใด ๆ อยู่อีกเลย องค์กรพิทักษ์ป่าโลกหรือ Global Forest Watch รายงานว่าในปี 2018 เพียงปีเดียว ได้เกิดพื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุมในผืนป่าแอมะซอนไปแล้วถึง 40,000 ตร.กม. ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ของป่าปฐมภูมิราว 17,000 ตร.กม. โดยป่าปฐมภูมินั้นคือผืนป่าที่ยังอยู่ในสภาพดั้งเดิมและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร. อันโตนิโอ นอบรี เชื่อว่าการตัดไม้ทำลายป่าเพียงอย่างเดียว ไม่อาจแสดงให้เราเห็นภาพของความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ และเราควรจะต้องนำปัญหาการเสื่อมสภาพของผืนป่าที่แอบแฝงอยู่มาพิจารณาร่วมด้วย จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อต้องสูญเสียป่าไป หากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและป่าเสื่อมสภาพ ยังคงดำเนินต่อไปในระดับเดียวกับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แอมะซอนในฐานะระบบนิเวศเขตร้อนอาจหยุดทำงานลง แม้ป่าบางส่วนจะยังคงมีต้นไม้อยู่ก็ตาม เราอาจเสี่ยงเข้าใกล้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า "จุดพลิกผัน" (tipping point) อย่างน่าหวาดเสียว โดยจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันนี้ จะทำให้ลักษณะทางธรรมชาติของแอมะซอนแปรสภาพไปอย่างสิ้นเชิง การคาดการณ์เช่นนี้จะกลายเป็นจริง หากอัตราการตัดไม้ทำลายป่าแตะถึงระดับ 20%-25% ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ในตอนนั้นแอมะซอนอาจต้องเผชิญกับฤดูแล้งที่ยาวนาน อุณหภูมิภายในผืนป่าสูงขึ้นจนต้นไม้เริ่มตายลง และในที่สุดป่าฝนเขตร้อนก็อาจจะกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าที่แห้งแล้ง คล้ายกับทุ่งหญ้าสะวันนา ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป สามารถจะนำหายนะมาสู่ระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้ การที่อุณหภูมิสูงขึ้นและฝนตกน้อยลงหมายถึงภาวะขาดแคลนน้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอย่างถั่วเหลือง โรคภัยชุกชุมยิ่งขึ้น งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า การตัดไม้ทำลายป่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับโรคภัยที่แพร่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ เช่นไข้มาลาเรียและโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) การที่ป่าเสื่อมสภาพยังทำให้บรรดาแมลงต่าง ๆ ต้องมองหาแหล่งอาหารใหม่ และอาจทำให้พวกมันเริ่มออกหากินเข้ามาใกล้กับเขตเมืองและที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มากขึ้น นอกจากนี้ ดร. เบียทริซ การ์เซีย เด โอลิเวียรา จากเครือข่ายสืบสวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Red-Clima) ของบราซิลยังบอกว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังนำไปสู่การเกิดโรคที่สัมพันธ์กับอวัยวะอย่างหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคของระบบทางเดินหายใจอีกด้วย เราจะหลีกเลี่ยงจุดพลิกผันได้ไหม ศ. คาร์ลอส นอบรี บอกว่ายังพอมีหนทางอยู่ "อันดับแรก เราต้องประกาศนโยบายห้ามตัดไม้ทำลายป่าอย่างสิ้นเชิงในแถบ Panamazonas ทันที รวมทั้งดำเนินโครงการปลูกป่าในทางตอนใต้ ทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ของแอมะซอน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกทำลายมากที่สุด" "หากเราสามารถฟื้นฟูให้ป่ากลับคืนมาได้ราว 60,000 หรือ 70,000 ตร.กม.ในบริเวณอันกว้างใหญ่ที่มีช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้นกว่าเดิมไปแล้วนี้ เราอาจช่วยให้กลไกของป่ากลับมาทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยให้ป่าสามารถปรับตัวทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดีขึ้นด้วย" ศ. นอบรีกล่าว แต่ดูเหมือนว่าแผนการเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ในอนาคตอันใกล้ https://www.bbc.com/thai/features-52924564
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|