เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 11-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ด้านตะวันตกของประเทศไทย ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 11 - 12 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง

ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 16 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 12- 14 มิ.ย.หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศฟิลิปปินส์คาดว่าจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนบนและจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 14 - 16 มิ.ย. 63 ขอให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 11-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


"อ่าวมาหยา" สวรรค์อันดามันฟื้นตัว หลังปิดครบ 2 ปี

ครบ 2 ปี ปิดอ่าวมาหยา สวรรค์อันดามันทยอยฟื้นตัว ธรรมชาติร่วมสร้างปรากฏการณ์ชวนทึ่งส่งสัตว์ทะเลมากหน้าหลายตาเข้ามาในอ่าว โดยเฉพาะสัตว์หายากฝูงฉลามหูดำเกือบ 100 ตัว ยืนยันประสิทธิผลของการปิดอ่าวมาหยา

ไปดูเรื่องราว 2 ปีของการปิดอ่าวมาหยา กับการกลับคืนมาของธรรมชาติ และสัตว์ทะเลต่าง ๆ ซึ่งเป็นดังดัชนีชี้วัดประสิทธิผลของการปิดอ่าว เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ธรรมชาติก็หวนคืน สัตว์ต่างๆ พากันเริงร่า




https://mgronline.com/travel/detail/9630000060049


*********************************************************************************************************************************************************


ฝูงนกเงือก! เข้ายึดพื้นที่ "เกาะพะลวย" หลังปิดเกาะป้องกันโควิด-19 ธรรมชาติฟื้นตัว-บรรยากาศเงียบสงบ



สุราษฎร์ธานี - ปิดเกาะพะลวย ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาด ไร้เงานักท่องเที่ยว ทำให้ธรรมชาติฟื้นตัว บ่งบอกถึงบรรยากาศอันเงียบสงบ ฝูงนกเงือกกว่า 20 ตัว เข้ายึดพื้นที่แทนนักท่องเที่ยว

เกาะพะลวย เป็นเกาะบริวารของเกาะสมุย เดินทางด้วยทางเรือทางเดียว ประมาณ 1 ชั่วโมง ระยะการเดินทางห่างจาก อ.ดอนสัก ประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายหลังที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ใช้มาตรการปิดแหล่งท่องเที่ยว จากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธรรมชาติไม่ถูกรบกวน เกิดปรากฏการณ์ของระบบนิเวศ และธรรมชาติสมดุลได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง พบนกเงือก ฝูงใหญ่กว่า 20 ตัว บินลงจากภูเขาสูงจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ลงมาหาอาหาร และนอนคลุกฝุ่นอาบแดด เป็นภาพที่สวยงามไม่ค่อยพบเห็นกันบ่อยนัก

นายสุพจน์ พรหมเมศ เจ้าของร้านอาหารบนเกาะพลวย ชื่อ "นัมเบอร์วันซีฟู้ด" หมู่ 6 ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เกาะพะลวย ได้ปิดเกาะตามมาตรการของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้ธรรมชาติบนเกาะพะลวยเหงียบเหงา แต่มีสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับโรคโควิด-19 หลายอย่าง เช่น ระบบนิเวศกลับฟื้นตัวรวดเร็ว หลังไม่มีนักท่องเที่ยวไปรบกวน และเกิดปรากฏการณ์สิ่งดีๆ มีนกเงือก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ?นกแก๊ก? ซึ่งเป็นนกเงือกที่มีขนาดตัวไม่เล็กไม่ใหญ่ มีความยาวประมาณ 70-90 เซนติเมตร มีขนสีดำสนิท และเหลืองเขียวแซมขาว มีจะงอยปากและโหนกสีขาวงาช้าง มีสีดำแต้มด้านหน้าของโหนก ทั้งนี้ นกเงือกเป็นตัวบ่งชี้ว่า ที่พื้นเกาะพะลวย ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากเกิดสถานการแพร่ระบาดของโควิด-19

จึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ประการหนึ่ง เนื่องจากนกเงือกจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น นกเงือกมีพฤติกรรมกินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้าง และยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ในป่าได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้ชนิดต่างๆ ได้ถึง 300 ชนิด และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ
โดยนกเงือกได้บินลงมาจากยอดภูเขาสูงในอุทยานหมู่เกาะอ่างทอง ที่อาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ประมาณ 20 ตัว บินลงมาหาอาหารตามแนวชายทะเล และมาเกาะอยู่ที่กิ่งต้นสน บริเวณหน้าร้านอาหารนัมเบอร์วันซีฟูด ที่หน้าร้านของตน ซึ่งตนได้นำกล้วยไปแขวนเอาไว้ บางครั้งตนยังนำกล้วยไปป้อนให้กิน แต่มีท่าทางหวาดระแวง ขณะเดียวกัน ในช่วงสายของทุกวัน นกเงือกกลุ่มนี้จะบินลงมาทั้งฝูง และลงไปนอกเกลือกกลิ้งคลุกฝุ่นบนถนนลูกรังอย่างสนุกสนาน เป็นภาพที่ไม่ค่อยให้ได้เห็นกันมากนัก

นายสุพจน์ เปิดเผยอีกว่า ตน และ ด.ต.ชนะ เที่ยวแสวง ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สภ.เกาะสมุย ซึ่งประจำอยู่บนเกาะพะลวย ได้ช่วยกันขับเคลื่อน พร้อมเชิญชวนชาวบ้านมาร่วมกันดูแลและช่วยกันป้องกันห้ามไม่ให้ประชาชน และนักท่องที่ยวไปทำร้ายนก เพื่อให้นกเงือก และธรรมชาติบนเกาะพะลวยอยู่ร่วมกันได้ เพื่อต้องการให้เกาะพะลวย เป็นแลนด์มาร์ก รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์นกเงือก เตือนใจนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเองให้เห็นความสำคัญของนกเงือกและทรัพยากรธรรมชาติ

โดยต้องคอยเฝ้าระวัง พร้อมทำความเข้าใจไม่ให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสหรือจับตัวนกเด็ดขาด และยังคอยดูแลสอดส่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครไปรบกวนนกเงือก เพื่อให้นกเงือกเหล่านี้อยู่คู่กับเกาะพะลวยต่อไป เกาะพะลวยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง อ.เกาะสมุย และ อ.ดอนสัก ระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ทั้ง 2 ฝั่งสามารถนั่งเรือโดยสารประมาณ 1 ชั่วโมง เกาะพะลวยมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายไม่ต่างจากเกาะอื่นๆ มีธารน้ำจืดไหลมาจากหุบเขา ให้ชาวบ้านได้อาศัยใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเกาะ


https://mgronline.com/south/detail/9630000060005

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 11-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


แคนาดาสูญเสียวาฬหลังค่อม ช็อกเพิ่งว่ายมาอวดโฉม คาดถูกเรือชนดับ



แคนาดาสูญเสียวาฬหลังค่อม - วันที่ 10 มิ.ย. เอเอฟพี รายงานว่า วาฬหลังค่อมที่ว่ายน้ำหลงเข้ามาในแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ใกล้เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ของแคนาดา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และสร้างความตื่นเต้นต่อผู้คนจำนวนมาก อาจตายลงแล้ว สร้างความสลดใจแก่ชาวแคนาดาทั้งประเทศ

หลังกรมประมงแคนาดาใช้เครนขนาดยักษ์ลากซากวาฬหลังค่อมตัวหนึ่งขึ้นมาบนฝั่ง ที่ได้รับเบาะแสจากคนขับเรือสินค้าพบในแม่น้ำขณะล่องเรือผ่านแม่น้ำ เจ้าหน้าที่เครือข่ายหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลรัฐควิเบก (RQUMM) กล่าวว่า อาจเป็นตัวเดียวกับข้างต้น

วาฬหลังค่อมตัวดังกล่าวอายุ 2-3 ปี มีสุขภาพแข็งแรง ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะว่ายน้ำกลับไปปากแม่น้ำและอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ ห่างออกไปมากกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อออกทะเลไปอีกครั้ง สำหรับผลการชันสูตรซากวาฬด้วยความร่วมมือระหว่าง RQUMM กรมประมง และมหาวิทยาลัยสัตวแพทย์มอนทรีออล ในเบื้องต้นไม่พบโรคใดๆ


Ivanoh Demers/Radio-Canada

สื่อท้องถิ่นตั้งข้อสงสัยโดยอ้างผู้เชี่ยวชาญว่า วาฬหลังค่อมตัวนี้อาจถูกเรือสินค้าชน หรือว่ายน้ำมาเกยบนพื้นดินตื้นในน้ำตื้น ขณะที่ RQUMM ระบุว่า วาฬหลังค่อมตัวนี้อาจว่ายน้ำหลงทางเข้ามาขณะล่าเหยื่อ หรือความผิดพลาดในการนำทาง นอกจากนี้ เป็นวาฬหลังค่อมตัวแรกที่ถูกพบในแม่น้ำแห่งนี้ เพราะก่อนหน้ามีรายงานการค้นพบวาฬมิงก์และวาฬเบลูกา

ทั้งนี้ วาฬหลังค่อมอาศัยใกล้ทั้งอาร์กติกและแอนตาร์กติกา ตัวเต็มวัยมีความยาวถึง 17 เมตร และน้ำหนักถึง 40 ตัน จะใช้เวลาในฤดูร้อนใกล้ขั้วโลก และว่ายน้ำไปพื้นที่เขตร้อนในซีกโลกระหว่างฤดูหนาวเพื่อผสมพันธุ์


https://www.khaosod.co.th/around-the...s/news_4290851

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 11-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


เต่าทะเลนับหมื่นโผล่วางไข่นอกฝั่งออสเตรเลีย

นักวิจัยออสซี่จับภาพฝูงเต่าตนุนับหมื่นตัวแห่วางไข่ บนเกาะอนุรักษ์ใกล้เกรตแบร์ริเออร์รีฟ



ทีมนักวิจัยและนักอนุรักษ์ของออสเตรเลียสามารถจับภาพของฝูงเต่าตนุ (Green sea turtle) จำนวนนับหมื่นตัว ขณะว่ายน้ำอพยพจากแหล่งที่อยู่บริเวณพืดหินปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) มายังเกาะเรน (Raine Island) เขตอนุรักษ์นอกชายฝั่งทางเหนือของประเทศเพื่อวางไข่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์

ทีมนักวิจัยและนักอนุรักษ์ภายใต้โครงการ Raine Island Recovery Project ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลของออสเตรเลีย ได้ใช้โดรนขึ้นบินเพื่อจับภาพของเต่าทะเลซึ่งมักพากันอพยพมาวางไข่กันบริเวณเกาะเรนเป็นประจำช่วงฤดูผสมพันธุ์ เพื่อง่ายต่อการประเมินจำนวนประชากรเต่าที่อาศัยในแถบปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ โดยภาพจากโดรนทีมวิจัยประเมินว่าอาจมีเต่าตนุมาถึง 64,000 ตัว ว่ายน้ำอพยพมาเป็นระยะทางนับร้อยกิโลเมตร เพื่อขึ้นฝั่งไปวางไข่บริเวณเกาะเรนและพื้นที่ใกล้เคียง



ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้พยายามนำจำนวนประชากรเต่าที่จะขึ้นมาวางไข่ด้วยการใช้สีที่ไม่เป็นอันตรายทาเพื่อนับจำนวน แต่ก็มีความคลาดเคลื่อนสูง กระทั่งมีการใช้โดรนพร้อมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวน จึงทำให้ง่ายต่อการประเมินจำนวนประชากรเต่า ซึ่งการที่นักวิจัยสามารถนับจำนวนเต่าได้ครั้งนี้ทำให้พบว่า มีจำนวนเต่ามากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าถึง 1.73 เท่า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักวิจัยยังห่วงคือเปอร์เซ็นอัตราการรอดชีวิตของเต่าที่เกิดใหม่ยังคงสูงอยู่ ขณะที่ทีมยังต้องใช้ความพยายามในฟื้นฟูเกาะเรนเพื่อให้เต่าเหล่านี้สามารถขึ้นมาวางไข่ได้ทุกปี รวมถึงพยายามสร้างรั้วเพื่อป้องกันศัตรูทางธรรมชาติที่อาจมารบกวนฤดูวางไข่ของพวกมัน


https://www.posttoday.com/world/625702

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 11-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


ตื่นตา ภาพฝูงเต่าทะเลทำรัง สุดอลังการ

ออสเตรเลีย 10 มิ.ย. - เป็นใครก็ต้องตื่นตา ทำท่าตะลึงแทบลืมหายใจ เมื่อได้เห็นภาพถ่ายจากโดรนของนักวิจัยที่จับภาพเต่าทะเลฝูงใหญ่ทำรังวางไข่ใกล้กับแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก



สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ภาพที่ถ่ายด้วยโดรน โดยทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลียถ่ายเอาไว้ เป็นภาพเต่าทะเลจำนวนนับพันนับหมื่นตัวทำรังวางไข่บนเกาะแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับ "เกรตแบร์ริเออร์รีฟ" (Great Barrier Reef) หินปะการังหรือแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย

ทีมนักวิจัยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย บอกว่า เทคโนโลยีโดรนช่วยเพิ่มความแม่นยำในการสำรวจจำนวนเต่าทะเลที่ทำรังวางไข่บนเกาะเรน ( Raine Island) เกาะปะการังที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาศัยของฝูงเตาตนุที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเกาะเรนนี้ ตั้งอยู่บนขอบด้านนอกของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ



เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทีมนักวิจัยออสเตรเลียใช้โดรนบินวนเหนือบริเวณเกาะเรน เพื่อสำรวจจำนวนฝูงเต่าตนุ สัตว์ทะเลที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ผลที่ได้คือภาพถ่ายของเต่าทะเลที่กำลังพากันเดินต้วมเตี้ยมๆ ขึ้นฝั่งเพื่อทำรังวางไข่ ซึ่งนับจำนวนได้มากถึง 64,000 ตัว

เมื่อก่อนในการนับจำนวนเต่า นักวิจัยจะใช้วิธีระบายสีเป็นแถบสีขาวลงบนกระดองเต่าแล้วก็นับจำนวน โดยนักวิจัยนั่งอยู่บนเรือลำเล็กๆ วนล่องไปตามชายฝั่ง มองดูหลังกระดองเต่า ทั้งที่มีแถบสีขาวและไม่มี ก็นับกันไป นับได้ตามจำนวนที่มองเห็น แต่คราวนี้มีเทคโนโลยีโดรนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจับภาพและนับจำนวน ทำให้ทีมนักวิจัยสามารถวิเคราะห์ภาพแต่ละเฟรมในห้องแล็บและคำนวณจำนวนประชากรเต่าทะเลได้อย่างแม่นยำมากขึ้นหลายเท่า



แนวปะการัง "เกรตแบร์ริเออร์รีฟ" ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 348,000 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่เลื่องชื่อของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2524 เป็นสถานที่ที่บรรดานักดำน้ำทั่วโลกยกให้เป็นแหล่งธรรมชาติทางทะเลที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก.


https://www.mcot.net/viewtna/5ee0ce05e3f8e40af945486f

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 11-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


สัตว์ป่า: การลักลอบค้าตัวนิ่มอาจลดลงหลังจากจีนยกระดับความคุ้มครองและปลดจากตำรายาจีน ................. โดย กุลธิดา สามะพุทธิ


เจ้าหน้าที่อุ้มตัวนิ่มที่ยึดได้จากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าในแอฟริกาเมือเดือนเมษายน 2563 องค์กรอนุรํกษ์สัตว์ป่า WWF ระบุว่าตัวนิ่มในแอฟริกาจำนวนมากถูกล่าเพื่อส่งขายประเทศจีน Image copyright GETTY IMAGES

รายงานการพบเชื้อไวรัสโคโรนาในตัวนิ่มและข้อสันนิษฐานว่ามันอาจเป็นพาหะตัวกลางที่นำเชื้อโรคโควิด-19 จากค้างคาวมาสู่คน อาจช่วยชีวิตสัตว์ป่าชนิดนี้จากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและการถูกนำเกล็ดของมันมาผสมเป็นยาตามตำรับยาแพทย์แผนจีน

กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าจากหลายประเทศ รวมทั้ง WWF ประเทศไทยต่างแสดงความยินดีที่ทางการจีนยกระดับสถานะของตัวนิ่ม (pangolin) จากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ซึ่งได้รับความคุ้มครองระดับสูงสุดตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของจีนเมื่อต้นเดือน มิ.ย.นี้

ล่าสุดสื่อจีนรายงานเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) ว่า ทางการจีนได้ถอนเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำรับยาแพทย์แผนโบราณด้วย เนื่องจากกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของจีนห้ามบริโภคหรือใช้ประโยชน์ใด ๆ จากสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1

กลุ่มอนุรักษ์เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้การลักลอบค้าตัวนิ่มซึ่งจัดเป็น "อาชญากรรมข้ามชาติ" ลดลง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจีนจะบังคับใช้กฎหมายจริงจังแค่ไหน


ตัวนิ่มกับโควิด-19

แม้จะยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าตัวนิ่มเป็นพาหะตัวกลางที่นำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์หรือไม่ เนื่องจากตัวนิ่มใช้ลิ้นกวาดกินแมลงตามพื้นดิน ทำให้อาจติดเชื้อโรคโควิด-19 จากมูลค้างคาวมาได้ แต่กลุ่มอนุรักษ์เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลที่ทางการจีนลุกขึ้นมาเปลี่ยนสถานะของตัวนิ่มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และลบเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำราแพทย์แผนจีน

"จะเรียกว่าเป็นข่าวดีของตัวนิ่มก็ได้" เจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย WWF Greater Mekong ให้ความเห็นกับบีบีซีไทย

"การขึ้นบัญชีตัวนิ่มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และถอนตัวนิ่มออกจากตำรับยาแพทย์แผนจีนเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังก็จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร"

เขาบอกว่าที่ผ่านมาทางกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าได้พยายามผลักดันให้ทางการจีนยกระดับสถานะตัวนิ่มไปอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 มานานหลายปี แต่ไม่สำเร็จ


Image copyright REUTERS

"ผมหวังว่าทางการจีนจะใช้วิกฤตครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะการบริโภคสัตว์ป่าในเมืองจีนเป็นความเชื่อและประเพณีที่ฝังรากลึกมาก หวังว่าโควิด-19 จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในเรื่องนี้"

นายเจษฎาให้ข้อมูลว่า ตามตำรับยาจีน เกล็ดของตัวนิ่มมีสรรพคุณในการขับน้ำนม จึงนิยมนำมาบดผสมกับยาจีนให้แม่ลูกอ่อนรับประทาน ส่วนเนื้อของมันคนจีนก็นิยมรับประทานโดยเชื่อว่าเป็นอาหารอันโอชะ

เดิมที ตัวนิ่มจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ซึ่งกฎหมายระบุว่าสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นสัตว์คุ้มครองประเภท 1 แล้วจะห้ามการใช้และบริโภคในทุกกรณี

"ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริง ๆ ก็จะลดทั้งอุปทานในตลาด ทำให้ของหายากขึ้น เมื่อหายาก ความต้องการซื้อก็จะลดลง เมื่อความต้องการลดลง การลักลอบนำเกล็ดตัวนิ่มเข้าไปเมืองจีนก็จะลดลง และการลักลอบนำตัวนิ่มเข้าจีนก็จะยากขึ้นอย่างแน่นอน" นายเจษฎาวิเคราะห์


เกล็ดอันมีค่าของตัวนิ่ม

เจ้าหน้าที่ WWF อธิบายว่าตัวนิ่มมีอยู่ 8 สายพันธุ์ทั่วโลก โดย 4 สายพันธุ์อยู่ในเอเชียและอีก 4 สายพันธุ์อยู่ในแอฟริกา ตามตำรับยาแพทย์แผนจีนต้องใช้ตัวนิ่มสายพันธุ์เอเชีย แต่เนื่องจากประชากรตัวนิ่มลดลงมาก จึงเริ่มมีการลักลอบค้าตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกาแทน โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกใช้เป็นทางผ่านในการลักลอบขนตัวนิ่มจากแอฟริกาส่งไปจีน


ตัวนิ่มเป็นสัตว์ที่ถูกลักลอบซื้อขายมาที่สุดในโลก Image copyrightAFP/GETTY IMAGES

ช่วงก่อนปี 2560 เจ้าหน้าที่ไทยยึดตัวนิ่มของกลางจากกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าได้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ส่งตรงมาจากประเทศในแอฟริกาอย่างเคนยาและไนจีเรียมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือส่งมาที่มาเลเซียแล้วลักลอบขนผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซียทางถนน ส่งต่อไปลาวหรือเวียดนามเข้าจีน

นอกจากนี้ยังมีตัวนิ่มที่ถูกล่าจากป่าในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เข้าไทยส่งไปจีนด้วย

หลังจากถูกนานาประเทศและกลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากดดันอย่างหนัก ทางการไทยได้ปรับปรุงมาตรการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า รวมทั้งตัวนิ่มอย่างจริงจัง มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมศุลกากรและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้การลักลอบค้าสัตว์ป่าในไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2561-2562 ไม่มีการจับกุมการลักลอบค้าตัวนิ่มในไทยเลย นายเจษฎาให้ข้อมูล

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการลักลอบค้าตัวนิ่มหมดไป

"โดยลักษณะของอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ จะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อย ๆ ถ้าประเทศไหนที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ก็จะมีการเปลี่ยนเส้นทางไป ในกรณีของตัวนิ่ม เราพบว่ามีการย้ายเส้นทางการลับลอบขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและลาวแทน"

จากรายงานของ Wildlife Justice Commission พบว่าในปี 2562 มีการยึดเกล็ดตัวนิ่มในเวียดนามได้มากถึงเกือบ 60,000 กิโลกรัม ส่วนประเทศไทย ปี 2559 มีการยึดเกล็ดตัวนิ่มได้รวม 5,800 กิโลกรัม แต่ระหว่างปี 2560-2562 ไม่มีบันทึกการยึดของกลาง

อย่างไรก็ตาม นายเจษฎาบอกว่าขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าการยกสถานะความคุ้มครองและการถอนจากตำรับยาจะทำให้การลักลอบค้าตัวนิ่มลดลงขนาดไหน แต่ปลายปีนี้น่าจะเห็นสถานการณ์ชัดขึ้น


"ก้าวสำคัญของการอนุรักษ์ตัวนิ่ม"

กลุ่มอนุรักษ์นานาชาติต่างมีความหวังว่าการล่าและฆ่าตัวนิ่มเพื่อเอาเกล็ดและเนื้อจะลดลงจากการยกระดับความคุ้มครองและถอนออกจากตำรับยาจีนในครั้งนี้

พอล ทอมสัน จากกลุ่ม Save Pangolins บอกว่านี่เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์สัตว์ป่ารอคอยมานาน

"การถอนเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำรับยาแผนโบราณของจีนจะเป็นผลดีอย่างใหญ่หลวงต่อการอนุรักษ์ตัวนิ่ม และนี่เป็นสิ่งที่เราเฝ้ารอกันมานาน" ทอมสันกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการจีนเดินหน้าต่อด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และรณรงค์เพื่อเปลี่ยนความเชื่อและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าของประชาชน

แคทเธอรีน ไวส์ นักรณรงค์เพื่อสวัสดิภาพสัตว์บอกว่านี่เป็น "ข่าวดีมาก ๆ" แต่เธอบอกว่าแค่ยกระดับการปกป้องตัวนิ่มยังไม่พอ ทางการจีนต้องคุ้มครองสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ในระดับสูงสุดด้วย เพราะสัตว์ป่าเหล่านี้ต่างถูกล่าจากป่า จับยัดในกรงแคบ ๆ มาขาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการทารุณกรรมสัตว์แล้ว พวกมันยังอาจเป็นพาหะที่นำเชื้อโรคมาสู่มนุษย์อีกด้วย


https://www.bbc.com/thai/thailand-52995364

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:16


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger