#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 6 กรกฏาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 6 ? 7 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับในช่วงวันที่ 6 - 7 ก.ค. 63 จะมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 8 ? 11 ก.ค. 63 บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ช็อก หนุ่มออสเตรเลีย วัย 36 โดนฉลามกัด ดับสลด รายที่ 4 ของปีนี้ หนุ่มหาปลาชาวออสเตรเลีย วัย 36 เคราะห์ร้าย โดนฉลามกัด ใกล้เกาะเฟรเซอร์ ในรัฐควีนส์แลนด์ จนสิ้นชีพ นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 4 ที่ตกเป็นเหยื่อฉลามในออสเตรเลีย เมื่อ 5 ก.ค.63 ตำรวจออสเตรเลียแถลง เกิดเหตุการณ์สุดสลด ชายชาวออสเตรเลีย วัย 36 ปี ถูกฉลามกัดทำร้ายจนเสียชีวิต ขณะไปหาปลาที่บริเวณใกล้ชายหาดเกาะเฟรเซอร์ รัฐควีนส์แลนด์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จนนับเป็นผู้เสียชีวิตจากการถูกฉลามกัดในออสเตรเลีย เป็นรายที่ 4 ของปีนี้ จอร์จซ ซีมัวร์ นายกเทศมนตรีเมืองเฟรเซอร์ โคสต์ โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจทางเฟซบุ๊กว่า นับเป็นวันที่เศร้าสลดอย่างยิ่งสำหรับชุมชนของเรา พร้อมกับขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนๆ ของชายที่ถูกฉลามทำร้ายจนเสียชีวิต บีบีซีรายงานว่า ชายที่ตกเป็นเหยื่อฉลาม ใกล้เกาะเฟรเซอร์ ได้เสียชีวิตหลังจากถูกฉลามกัดทำร้ายเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง และมีแพทย์และพยาบาลได้พยายามช่วยปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเมื่อทีมแพทย์ฉุกเฉินมาถึง จากนั้นร่างของเขาได้ถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากเกาะเฟรเซอร์ไปยังเมืองชายทะเล ฮาร์วีย์ เบย์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งเกิดเหตุชายวัย 60 ปีรายหนึ่งเสียชีวิตหลังจากถูกฉลามขาว ลำตัวยาวประมาณ 3 เมตร ทำร้ายขณะเล่นเซิร์ฟในทะเล ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ในออสเตรเลีย และก่อนหน้าในเดือนเมษายน ได้มีเจ้าหน้าที่กองอุทยานแห่งชาติทางทะเลรัฐควีส์แลนด์ ถูกฉลามทำร้ายจนเสียชีวิตที่บริเวณแนวปะการัง 'Great Barrier Reef' และเมื่อมกราคม 63 นักประดาน้ำวัย 57 ปีถูกฉลามขย้ำนอกชายฝั่งรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ในขณะที่เมื่อปี 2562 ไม่มีรายงานมีผู้เสียชีวิตจากการถูกฉลามทำร้าย. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1882779
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
ลูกฉลามถูกอวนรัดตายเกยหาดบางแสน จ.ชลบุรี พบลูกฉลามถูกอวนรัดเกี่ยวบาดทั่วตัวและเหงือก ดิ้นรนก่อนสิ้นใจตายเกยหาดบางแสน จ.ชลบุรี รอส่งผ่าพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริงวันที่ 8 ก.ค.63 วันนี้ (5 ก.ค.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เวลาประมาณ 11.10 น. เจ้าหน้าที่สื่อสารฉลามขาวนำโดย นายกิตติพงษ์ ไตรบุญ ประธานชมรมกู้ชีพทางทะเลฉลามขาว จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งจากเครือข่ายประจำหอระวังภัยที่ 3 ชายหาดบางแสน แจ้งว่า มีนักท่องเที่ยวพบฉลามเข้ามาเกยตื้นตายมีเศษอวนพันอยู่บริเวณลำคอโดยนักท่องเที่ยวได้นำเศษอวนออกพร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ฉลามขาวเข้าตรวจสอบ นายกิตติพงษ์ ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเป็นฉลามเพศเมียวัยเด็ก คล้ายฉลามพันธุ์หัวบาตร วัดขนาดความยาว 60 ซม. รอบหัวขนาด 30 ซม.มีบาดแผลจากอวนรัดรอบบริเวณลำคอใกล้ช่องเหงือกและรอยรัดบริเวณลำตัวจึงนำไปฝากไว้ที่ห้องเย็นเพื่อรอการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย ซึ่งคาดว่า น่าจะผ่าพิสูจน์ได้วันที่ 8 ก.ค.63 นี้ ทั้งนี้ฉลามหัวบาตรจะพบได้ในทะเลบริเวณเกาะศรีชัง บางแสน และปากแม่น้ำบางปะกง นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข เปิดเผยว่า เป็นอีกครั้ง ที่ทะเลไทยเกิดความสูญเสียสัตว์ทะเลจากน้ำมือมนุษย์ไม่ใช่การตายแบบธรรมชาติซึ่งปลาฉลาม หรือ สัตว์ทะเลอย่างเต่าที่ตายก่อนหน้านี้ ล้วนได้รับผลกระทบจากขยะที่มนุษย์ทิ้งลงทะเลไม่ว่าจะทิ้งจากที่ไหนก็ตาม แต่ทำให้เห็นว่าผลจากขยะเหล่านั้นมีผลต่อสัตว์น้ำและหน้ามรสุมจึงส่งผลให้สัตว์ทะเลที่บาดเจ็บอยู่ก่อนแล้วในน้ำถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นบนชายหาดบางแสน https://news.thaipbs.or.th/content/294303
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ฉลามวาฬมีลูกตาหุ้มเกราะ คล้ายฟันซี่เล็กนับร้อยทำหน้าที่แทนเปลือกตา ฉลามวาฬอ้าปากกว้างเพื่อกรองกินแพลงก์ตอน จะสังเกตเห็นดวงตาขนาดเล็กได้ที่ด้านข้างของส่วนหัว ฉลามวาฬหรือยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล นอกจากจะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังมีอวัยวะบางชิ้นที่แปลกประหลาด อย่างเช่นเกราะแข็งภายในลูกตาซึ่งนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบเป็นครั้งแรก ทั้งยังได้ทราบว่าอวัยวะที่ทำหน้าที่แทนเปลือกตาดังกล่าว ประกอบด้วยโครงสร้างคล้ายฟันซี่เล็ก ๆ หลายร้อยซี่อีกด้วย ทีมนักชีววิทยาจากศูนย์วิจัยโอกินาวะชูระชิมะ (OCRC)ของญี่ปุ่น เผยถึงการค้นพบข้างต้นในวารสาร PLOS ONE หลังจากใช้เครื่องซีทีสแกนตรวจดูลูกตาของฉลามวาฬที่ดองเก็บรักษาไว้ รวมทั้งทำการอัลตราซาวด์ดวงตาของฉลามวาฬสองตัวที่ยังมีชีวิตและอาศัยอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโอกินาวะชูระอุมิของญี่ปุ่นด้วย ทีมผู้วิจัยได้พบโครงสร้างแข็งที่ไม่เคยมีผู้พบเห็นมาก่อนในลูกตาของฉลามวาฬ โดยโครงสร้างดังกล่าวเป็นเกล็ดที่มีลักษณะคล้ายฟันซี่เล็กงอกจากผิวหนัง (dermal denticle) ซึ่งฟันขนาดเล็กหลายร้อยซี่นี้เรียงตัวเป็นวงล้อมรอบส่วนสำคัญของลูกตาอยู่ เกล็ดแข็งชนิดพิเศษที่ไม่เหมือนเกล็ดปลาทั่วไปนี้ คือเกราะป้องกันตามธรรมชาติที่พบได้บนผิวหนังของฉลามหลายชนิด ทำให้ทีมผู้วิจัยคาดว่าโครงสร้างเกล็ดแข็งในลูกตาของฉลามวาฬ อาจทำหน้าที่ปกป้องดวงตาของมันจากอันตรายต่าง ๆ คล้ายกับเปลือกตานั่นเอง ซึ่งเกล็ดแข็งในลูกตานี้ถือว่าเป็นกลไกการปกป้องดวงตาแบบใหม่ที่พบในสัตว์มีกระดูกสันหลัง Denticles หรือโครงสร้างคล้ายฟันขนาดเล็กหลายร้อยซี่ (C) อยู่ล้อมรอบดวงตาของฉลามวาฬ (A) ก่อนหน้านี้นักชีววิทยาเคยเชื่อกันว่า การมองเห็นไม่สู้สำคัญกับฉลามวาฬมากนัก เพราะการที่มันกรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารหลัก ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สายตาในการล่าเหยื่อเหมือนฉลามทั่วไป นอกจากนี้ดวงตาของฉลามวาฬยังเล็กมากเมื่อเทียบกับร่างกายที่ใหญ่โต ทั้งยังไม่มีสมองส่วนกลางที่ช่วยในการรับรู้ของประสาทตาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การค้นพบอวัยวะชิ้นใหม่นี้ได้เปลี่ยนแนวคิดที่เคยมีมาอย่างสิ้นเชิง เพราะกลไกปกป้องดวงตาที่มีอยู่ย่อมแสดงถึงความสำคัญของการมองเห็นในการดำรงชีวิตของฉลามวาฬ ซึ่งนักชีววิทยาจะได้ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นนี้กันต่อไป https://www.bbc.com/thai/features-53290494
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|